‘ศธ.’ สั่ง เฝ้าสังเกตอาการนักเรียน-ครู ในพื้นที่เสี่ยง หวั่น ‘สารซีเซียม-137’ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว

(22 มี.ค. 66) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า  ได้เสนอแนะต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีเหตุการณ์ที่วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรี และได้ตรวจพบสารปนเปื้อนชนิดเดียวกันนี้ไปอยู่ที่โรงงานหลอมเหล็กในรูปแบบฝุ่นโลหะ โดยมีความเป็นห่วงอย่างมากและต้องการให้เกิดมาตราการที่เข้มงวด ชัดเจน และเริ่มตั้งแต่ต้นทาง คือ การควบคุมสารกัมมันตรังสีจะต้องมีการตรวจเช็กอยู่ตลอดเวลา ต้องไม่มีการสูญหาย หรือกรณีที่เกิดสูญหายขึ้นมา ระหว่างทางต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าพื้นที่ไหน สถานที่ไหน และบุคคลไหนเกี่ยวข้องและมีความเสี่ยงบ้าง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ขบวนการทำงานของภาครัฐไปมุ่งเน้นที่ปลายเหตุ เช่น ไปตรวจสอบซีเซียมยังไม่ฟุ้งกระจายในอากาศ ยังไม่พบปริมาณรังสีในคนงาน เป็นต้น

รวมไปถึงผู้ที่ได้รับใบอนุญาตครอบครองหรือใช้สารกัมมันตรังสี ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการตรวจตราสารกัมมันตรังสีที่ใช้ไม่ให้เกิดการสูญหาย และหากตรวจพบว่าสูญหาย ต้องมีมาตรการหรือแผนเผชิญเหตุ ว่าจะกระจายไปที่ไหน อย่างไร จากการเคลื่อนย้าย และต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับประชาชน เพื่อให้เขาได้รู้เข้าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเปล่า เพราะคุณสมบัติของสารกัมมันตรังสี คือ มีครึ่งชีวิต (Half Life) ที่ยาวนานเป็นเวลา 30 ปี และอยู่ได้นับ 100 ปี เพราะฉะนั้น มีอันตรายมากหากไม่สามารถตรวจสอบได้

“ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ ทุกคนไปมองที่ปลายเหตุหมด เพราะฉะนั้น ภาครัฐฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตราการที่เข้มงวดไม่เฉพาะกรณีซีเซียม-137 แต่รวมถึงสารกัมมันตรังสีที่มีอันตรายทั้งหมด เริ่มต้นตั้งแต่ผู้ที่รับใบอนุญาตมา และวันนี้ที่ซีเซียม-137 สูญหายระหว่างทางจนไปถึงโรงหลอม ระหว่างทางไปตรงไหนบ้าง ต้องตรวจสอบให้หมด ไม่ใช่ไปดูแค่ปลายทางว่าพบแล้ว และยังไม่มีผู้ได้รับอันตราย ดังนั้นย้ำ ว่าอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนต้องให้ความสำคัญกับต้นเหตุ และต้นตอให้มากที่สุด” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า มีความเป็นห่วงในความปลอดภัยของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู บุคลากรทางการศึกษา ที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยง ให้มีการสังเกตการณ์ตัวเอง ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น อาเจียน หรือท้องเสีย อย่าได้ประมาทจะต้องสงสัยไว้ก่อน ให้รีบไปพบแพทย์ในทันที และอยากเสนอว่า โรงเรียนที่อยู่ในระหว่างเส้นทางและอยู่ใกล้กับโรงหลอมเหล็ก ควรมีมาตราการที่ให้เด็กทุกคนได้ตรวจร่างกายเป็นการเฉพาะ เพราะหากสัมผัสซีเซียม-137 อาจจะไม่มีผลต่อร่างกายที่ชัดเจนในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งและเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ในฐานะที่คุณหญิงกัลยา เป็นนักนิวเคลียร์ ฟิสิกส์ ยังมีมุมมองต่อสารกัมมันตรังสี รู้ถึงความร้ายแรงของสารกัมมันตรังสี ถึงแม้สารกัมมันตรังสีนั้นจะมีประโยชน์มากมาย แต่โทษที่อาจเกิดขึ้นจากรังสีนั้นก็มีมากและหลายระดับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณ ชนิดและระยะเวลาที่ได้รับรังสี ดังนั้น ผู้ที่เป็นผู้อนุญาตและผู้ที่นำไปใช้จึงต้องมีความรับผิดชอบอย่างมาก