Friday, 10 May 2024
กระทรวงศึกษาธิการ

ศธ.จัดทัพการเรียนการสอนใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รองรับเปิดเทอมเพื่อดึงเด็กกลับสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดินหน้าจัดกระบวนการเรียนการสอนใหม่ รองรับเปิดเทอม ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ พร้อมดึงเด็กนักเรียนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด

(29 ต.ค. 65) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในรายการคุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า...

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ส่งผลกระทบให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป โดยเฉพาะระบบการศึกษา เนื่องจากต้องมีการปิดการเรียนการสอน รัฐบาลจึงหาแนวทางโดยจัดวัคซีนมาฉีดให้กับครูเป็นกลุ่มแรก เพื่อให้ทันต่อการเปิดภาคเรียน จากนั้นทยอยนำวัคซีนมาฉีดให้กับเด็ก จนปีการศึกษาที่ผ่านมาสามารถเปิดเรียนได้ถึง 100% 

'ตรีนุช' ตั้งเป้าสิ้นปีการศึกษา 2565 เด็กออกกลางคันเป็นศูนย์ พร้อมเน้นให้ครูเข้าใจนักเรียนเป็นรายบุคคล

(1 พ.ย. 65) ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศ ผ่าน OBEC Channel ว่า ขอบคุณทุกคนที่ได้นำนโยบายของกระทรวงไปปฏิบัติให้มีผลสำเร็จมีความคืบหน้าตามลำดับ ซึ่งในโอกาสเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ขอเน้นย้ำการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาที่สำคัญในการดูแลพัฒนาการของนักเรียนอย่างเป็นองค์รวม ได้แก่ ความปลอดภัยในสถานศึกษา ทั้งด้านการเดินทางไป-กลับของนักเรียน การจัดสภาพแวดล้อมสถานศึกษาให้ปลอดภัย การให้บริการดูแลด้านโภชนาการ และสุขภาพ การป้องกันภัยธรรมชาติ และที่สำคัญ คือ การป้องกันภัยจากยาเสพติด และภัยจากอาวุธปืน ซึ่งต้องไม่เกิดขึ้นในสถานศึกษาอย่างเด็ดขาด และต้องปฏิบัติอย่างเข้มข้น ตามหลัก 3 ป. ได้แก่ ป้องกัน, ปลูกฝัง และ ปราบปราม ภายใต้โครงการ MOE Safety Center เพื่อสร้างความปลอดภัยให้นักศึกษา ครู และบุคลากรทุกคน

“ในการเปิดภาคเรียนที่ 2/2565 นี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มุ่งเน้นให้ครูกระชับความสัมพันธ์กับนักเรียนและผู้ปกครองมากขึ้น เพื่อทำให้เข้าใจนักเรียนเป็นรายบุคคล ทั้งนิสัยและชีวิตความเป็นอยู่ ได้พูดคุยกับผู้ปกครองโดยตรง เพื่อร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องเหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชนให้ช่วยกันเฝ้าระวัง และมีส่วนร่วมในการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัย ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครองไว้วางใจในการนำผู้เรียนมาอยู่ภายใต้การดูแลของเราผ่านการเยี่ยมบ้านนักเรียน” นางสาวตรีนุช กล่าว

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า เราจะสร้างความเข้มแข็งให้แก่นักเรียน ผ่านระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ‘Screening Learning Loss’ ครอบคลุม 4 มิติ ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ดำเนินการแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอย ด้วยการนำข้อมูลนักเรียนมาใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม และป้องกันเด็กนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งโครงการพาน้องกลับมาเรียน ยังเป็นนโยบายสำคัญที่เดินหน้าต่อเนื่อง โดยติดตามเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาครบ 100% และ ทำให้การออกกลางคันเป็นศูนย์ (zero drop out) ในปีการศึกษา 2565 นี้ นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม School Mental Health ระบบดูแลนักเรียนและครูในสถานศึกษา ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อตรวจสภาพจิตใจของเด็กและครู ซึ่งสถานศึกษาสามารถประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อขอรับคำปรึกษาและความช่วยเหลือเกี่ยวกับสุขภาพจิตได้

รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า การยกระดับคุณภาพทางการศึกษา และการแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอยนั้น ให้โรงเรียนจัดกิจกรรมสอนซ่อมเสริม ชดเชย หรือ กิจกรรมเสริมทักษะเพิ่มเติมตามความถนัด ความสนใจ และเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน โดยนำการเรียนการสอนรูปแบบ Active Learning มาใช้ช่วยให้ผู้เรียน เรียนอย่างมีความสุข สนุก และมีทักษะการคิด ซึ่งจะทำให้เรียนรู้ได้เร็วและนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ และขอให้เพิ่มความสำคัญในวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง เพื่อสร้างสำนึกของความเป็นไทย รักในการเป็นชาติของเรา โดยจัดการเรียนรู้ตามความพร้อม และเหมาะสมในแต่ละบริบทพื้นที่

นางสาวตรีนุช กล่าวด้วยว่า สำหรับนักเรียนที่จะจบชั้น ม. 3 สถานศึกษาควรสำรวจความต้องการในการศึกษาต่อสายอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อม ให้คำแนะนำและส่งต่อเข้าสู่โครงการ ‘อาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ’ ในปีการศึกษา 2566 โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ครอบครัวประสบปัญหาด้านค่าใช้จ่าย สำหรับหลักสูตรทวิศึกษา ซึ่งเป็นการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อสำเร็จการศึกษาผู้เรียนจะได้รับวุฒิการศึกษาทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) นั้น ตนได้มอบหมายให้ สพฐ. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดทำแผนระดับจังหวัดว่า ควรจัดทวิศึกษารายวิชาใด ในโรงเรียนไหน โดยให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ทั้งแก้ไขปัญหา และข้อจำกัดจากการดำเนินงานในอดีต โดยเป้าหมายระยะสั้น เน้นการเรียนการสอนทวิศึกษาในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์, โรงเรียนตามโครงการพระราชดำริ และโรงเรียนที่มีความพร้อม

ศธ. รับนโยบายปรับหลักสูตรปลูกฝังเด็กนักเรียน เน้นรัก ‘ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์’ หวงแหนแผ่นดินเกิด

เมื่อวันที่ 26 พ.ย.นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ให้มีความน่าสนใจ และมีนโยบาย 8+1 กำหนดโครงสร้างเวลาเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ออกมา 1 รายวิชา เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจรักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสาน ต่อยอดและนำมาปรับประยุกต์ในปัจจุบัน 

โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ‘การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน’ และพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ปีงบประมาณ 2566 เพื่อเป็นแนวทางให้ต้นสังกัดของสถานศึกษา และสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายอนุชา กล่าวว่า ในร่างประกาศ ศธ. ฉบับดังกล่าว กําหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ 1 รายวิชา โดยจัดเวลาเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ ระดับประถมศึกษา 40 ชั่วโมงต่อปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 40 ชั่วโมงต่อปี (1 หน่วยกิตต่อปี) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง (2 หน่วยกิต) ซึ่งสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและต่อยอดประวัติศาสตร์สู่งานอาชีพ การบูรณาการประวัติศาสตร์กับรายวิชาอื่น และการศึกษานอกสถานที่และแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เป็นต้น หากบอร์ด กพฐ.พิจารณาให้ความเห็นชอบ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามในประกาศ ศธ. จะมีการแยกรายการประเมินผลการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ใหม่ โดยในแบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา (ปพ.3) จะมีการแสดงผลการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์แยกออกมา จากเดิมที่รวมอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 

'ท่านใหม่' ขอบคุณ 'นายกฯ-รมว.ศึกษา' ปรับหลักสูตรใหม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย

เมื่อวันที่ 26 พ.ย.65 ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือ 'ท่านใหม่' โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ว่า...

รับฟังสิ่งดีๆ กันบ้างนะครับ ไม่ใช่มัวแต่ด่าท่านนายกฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ผมต้องขอขอบคุณรัฐบาลของท่าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ในที่สุด กระทรวงศึกษาธิการฯ ในรัฐบาลในยุคปัจจุบัน ก็จะได้ออกประกาศแล้ว ที่จะจัดให้มี การเรียน การสอน วิชาประวัติศาสตร์ของชาติไทยเรา ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย (ถ้าเข้าใจไม่ผิด) โดยแยกออกมาเป็นรายวิชา ไม่รวมซ่อนอยู่ในวิชาสังคมศึกษา

เพราะวิชาประวัติศาสตร์ ของชาติไทยเรา จะทำให้ นักเรียน นิสิตนักศึกษา รู้ถึงรากเหง้า และความเสียสละของบรรพบุรุษ จะได้มีความสำนึกในความเป็นไทยกันบ้าง ไม่มากก็น้อย

จริงๆ ผมเห็นด้วยมานานแล้ว แต่ไม่มี รมว.ศึกษา คนไหน ในรัฐบาลไหนเลยที่ผ่านมา ให้ความสำคัญเลย เกี่ยวกับประวัติศาสของชาติไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมขอฝากความหวังไว้ที่คุณครู อาจารย์ ผู้ปลูกฝังให้ นักเรียน นิสิตนักศึกษาซึ่งเป็น คนรุ่นใหม่จะได้รับรู้เรื่องราว ประวัติศาสตร์ สมัยบรรพบุรุษ ของพวกเรา ซึ่งการเรียนประวัติศาสตร์จะไม่ใช่การเรียนเพื่อไปสอบเอาคะแนนอีกต่อไป แต่เพื่อเรียนให้รู้ว่าเราเป็นใครและเข้าใจในความเป็นชนชาติของเรา

‘ตรีนุช’ โชว์สอนประวัติศาสตร์แนวใหม่ ชู ‘สื่อดิจิทัล’ เป็นเครื่องมือหลักสร้างการเรียนรู้

‘ตรีนุช’ จัดเต็ม สอนประวัติศาสตร์แนวใหม่ AR, Podcast, TiKTok, Animation,Live นายกฯ  กำชับ ต้องรู้เรื่องใกล้ตัว

(6 ธ.ค. 65) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดนิทรรศการ 'การจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์' โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรี ร่วมชมนิทรรศการ ซึ่งนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ประกาศนโยบายและจุดเน้นเรื่องการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม ให้มีความทันสมัย น่าสนใจ เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น และการเสริมสร้างวิถีชีวิตของความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ซึ่งจัดนิทรรศการในวันนี้ ศธ.ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ใน 4 ส่วน ดังนี้

ส่วนแรก วิชาประวัติศาสตร์ประกาศความเป็นไทย ปรับโครงสร้างเวลาเรียนรายวิชาพื้นฐาน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 โดยได้จัดทำร่างประกาศ ศธ.เรื่อง การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ โครงสร้าง 8+1 เพื่อให้สถานศึกษานำไปใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในมิติของการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล และการใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่ 2 การนำเสนอ Best Practice จากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เช่น โรงเรียนสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ นำเสนอ 'เรียนรู้ประวัติศาสตร์ใกล้ตัว สู่การสร้างสรรค์ชุมชนอย่างยั่งยืน' ที่มุ่งเน้นการหาความรู้จากชุมชนใกล้ตัวของผู้เรียน และจัดทำสื่อถ่ายทอดประสบการณ์ลงสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Podcast, TiKTok, Live เพื่อสร้างการรับรู้ในประวัติความเป็นมาผลิตภัณฑ์ชุมชน จุดเด่น เอกลักษณ์ และความภาคภูมิใจ, โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำเสนอ 'เรียนรู้อย่างภูมิใจสู่นักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นเยาว์' เริ่มต้นจากการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในห้องเรียน ด้วยสื่อ Animation 'The Diary' และ การเรียนรู้ในห้องเรียน ขยายสู่การเรียนรู้จากแหล่งเรียนประวัติศาสตร์รอบโรงเรียน จากการเรียนรู้ เป็นการเห็นคุณค่า สู่ความภาคภูมิใจ และจิตอาสามัคคุเทศก์น้อย

'ตรีนุช' ออกประกาศ ยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียน ให้ทุกฝ่ายของสถานศึกษาพิจารณาตามความเหมาะสม

( 24 ม.ค. 66) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 มาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญการลงโทษเรื่องทรงผมได้ส่งผลถึงร่างกายและจิตใจของนักเรียน ศธ.จึงได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียน ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ได้ให้ความเห็นว่า รมว.ศธ.ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดอาจอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 ประกอบกับมาตรา 39 (1) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 กำหนดเป็นนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดนำไปปฏิบัติได้

ดังนั้น เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ตนจึงได้ลงนามในระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 และเสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วออกเป็นหนังสือสั่งการหรือหนังสือเวียน กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนหรือนักศึกษาไว้อย่างกว้าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดที่เป็นผู้กำกับดูแลสถานศึกษา กำหนดให้สถานศึกษาแต่ละแห่งนำหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไปกำหนดเป็นระเบียบ หรือข้อบังคับของสถานศึกษาแต่ละแห่งเอง

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ ศธ.ได้ยกร่างแนวนโยบายเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษา ไว้ดังนี้

1.) การไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษาในสังกัด ศธ. และสถานศึกษาในกำกับดูแลของ ศธ. จะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ โดยสถานศึกษาอาจกำหนดลักษณะทรงผมได้ตามพันธกิจ บริบท และความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา

2.) สถานศึกษาในสังกัด ศธ.และสถานศึกษาในกำกับดูแลของ ศธ.อาจดำเนินการกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับไว้ทรงผมของนักเรียนได้ โดยการวางระเบียบหรือข้อบังคับของสถานศึกษา และควรระบุบทอาศัยอำนาจของกฎหมายเฉพาะมาตรา 39 (1) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546

จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามหลักการมีส่วนร่วม เช่น นักเรียน คณะกรรมการสภานักเรียน คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง หรือ ผู้แทนผู้ปกครอง ชุมชนท้องถิ่น บุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นใดที่หัวหน้าสถานศึกษาเห็นสมควร เป็นต้น

‘ครุสภา’ ผุด!! กรอบแนวคิดมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู อบรม 420 ชั่วโมง เสริมดีกรีแม่พิมพ์ฝึกหัดให้ทำงานได้

เมื่อวานนี้ (22 ก.พ. 66) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ว่า ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานพัฒนาผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว ให้มีมาตรฐานความรู้วิชาชีพเพื่อเป็นคุณสมบัติในการรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งการดำเนินงานนี้ มีเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในแต่ละสาขาวิชานั้น ๆ แต่ไม่ได้เรียนจบครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ สามารถเป็นครู และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ 

ซึ่งที่ผ่านมา ทางคุรุสภาได้ยกเลิกหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต หรือ ป.บัณฑิต ไปแล้ว ดังนั้นครุสภาได้ไปจัดทำหลักสูตรใหม่ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยสถาบันคุรุพัฒนา ได้จัดทำกรอบแนวคิดและมาตรฐานหลักสูตรอบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู จำนวน 7 โมดูล (Module) ดังนี้ 

1.) การเปลี่ยนแปลงบริบทของโลก สังคม และแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 
2.) จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาการศึกษา และจิตวิทยาให้คำปรึกษาในการวิเคราะห์และพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ 
3.) เนื้อหาวิชาที่สอน หลักสูตร ศาสตร์การสอน และเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้

‘ศธ.’ เสนอ ‘ยูเนสโก’ ดัน ‘ครูบาศรีวิชัย’ บุคคลสำคัญของโลก ด้าน ‘การศึกษา-ศาสนา-วัฒนธรรม-สันติภาพ’

วันนี้ (17 มี.ค.66) ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังการร่วมคณะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ร่วมรับฟังข้อเสนอการสนับสนุนแผนแม่บทโครงการเสนอชื่อครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นบุคคลสำคัญของโลก และติดตามการดำเนินงานในจังหวัดเชียงใหม่ว่า ศธ.มีบทบาทหลักในการสนับสนุนการดำเนินงานขับเคลื่อนการเสนอชื่อ ครูบาเจ้าศรีวิชัย (อินท์เฟือน สีวิเชยฺย) ให้ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ ในวาระครบรอบ 150 ปี ชาตกาล ครูบาเจ้าศรีวิชัย ในปี พ.ศ. 2571 ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก

สำหรับ ‘ครูบาศรีวิชัย’ หรือ ‘พระสีวิไชย’ เป็นพระเถระชาวจังหวัดลำพูน ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างและบูรณะพุทธศาสนสถานหลายแห่งทั่วภาคเหนือของประเทศไทย จนได้รับการขนานนามว่า ‘ตนบุญแห่งล้านนา’

ครูบาศรีวิชัยเกิดเมื่อวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2421 ปีขาล เวลาพลบค่ำ ขณะนั้นมีพายุฟ้าร้องรุนแรง จึงตั้งชื่อว่า อินตาเฟือน หรือ อ้ายฟ้าร้อง บิดาชื่อควาย ส่วนมารดาชื่ออุสา นายควายบิดาเป็นบุตรของนายอ้าย กับนางน้อยธิดาของหมื่นผาบ (มาต่า) หมอคล้องช้างชาวกะเหรี่ยงแดงจากเมืองกันตรวดีที่เจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ชวนมาอยู่ลำพูนด้วยกัน ส่วนนางอุสามารดาของท่าน บางแห่งว่าเป็นชาวเมืองเชียงใหม่ บ้างว่าเป็นธิดาหนานไจยา ชาวเมืองลี้ เพ็ญสุภา สุขคตะสรุปว่าครูบาศรีวิชัยมีเชื้อสายกะเหรี่ยงแดงจากฝั่งบิดา และอาจมีเชื้อสายกะเหรี่ยงขาวและยองจากฝั่งมารดา

เมื่ออายุได้ 18 ปี ท่านคิดว่าชาตินี้เกิดมายากจนเพราะในอดีตไม่ได้ทำบุญไว้เพียงพอ จึงควรออกบวชรักษาศีลปฏิบัติธรรมไว้เพื่อประโยชน์สุขในภายหน้า และจะได้ตอบแทนพระคุณมารดาบิดาทางหนึ่งด้วย ท่านจึงลาบิดามารดาไปอยู่วัดบ้านปาง ศึกษาเล่าเรียนและบวชเป็นสามเณรกับพระอาจารย์ขัติยะ (หรือครูบาแข้งแขะ เพราะท่านเดินขากะเผลก) จนอายุได้ 21 ปีจึงได้อุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาในการอุปสมบทว่า ‘สีวิเชยฺย’ มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย

หลังจากอุปสมบท ท่านได้ศึกษาไสยศาสตร์กับครูบาขัตติยะและครูบาอุปปละ แล้วมาศึกษากรรมฐานกับพระอุปัชฌาย์ที่วัดบ้านโฮ่งหลวง เมื่อกลับมาอยู่วัดบ้านปาง ท่านมักเจริญภาวนาในป่า ฉันภัตตาหารมื้อเดียว ฉันมังสวิรัติ ไม่ฉันของเสพติด เช่น หมาก พลู บุหรี่ เมี่ยง ทำให้ประชาชนเลื่อมใสท่านมาก เมื่อท่านทราบว่าที่ใดยังขาดเสนาสนะที่จำเป็นหรือกำลังชำรุดทรุดโทรม ท่านจะเป็นผู้นำชาวบ้านไปก่อสร้างจนสำเร็จ ผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดคือการถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ ที่มีระยะทางทั้งหมด 11.530 กิโลเมตร โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 แล้วเสร็จในวันที่ 30 เมษายน 2478

ชื่อเสียงของครูบาเจ้าศรีวิชัย ทำให้พระสังฆาธิการในจังหวัดลำพูนบางรูปนำโดยเจ้าคณะจังหวัดลำพูนตั้งอธิกรณ์กล่าวหาว่าท่าน 8 ข้อ เช่น ทำตัวเป็น “ผีบุญ” อวดอิทธิฤทธิ์ ซ่องสุมกำลังผู้คน คิดขบถต่อบ้านเมือง และนำท่านไปจำไว้ที่ลำพูนและวัดศรีดอนไชย เชียงใหม่ จากนั้นจึงได้ส่งตัวท่านไปไต่สวนที่กรุงเทพฯ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงทรงตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องพระศรีวิชัย ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ พระญาณวราภรณ์ (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตฺโต) และพระธรรมไตรโลกาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ได้ถวายรายงานมีความเห็นว่า ข้อ 1-5 ซึ่งเกี่ยวกับการไม่ให้ความร่วมมือกับฝ่ายปกครอง พระศรีวิชัยรับสารภาพและได้รับโทษแล้ว ข้อที่เหลือซึ่งเกี่ยวกับการอ้างคุณวิเศษ พระศรีวิชัยไม่มีความผิด เพราะประชาชนเล่าลือไปเอง และเจ้าคณะลงโทษเกินไป ควรปล่อยพระศรีวิชัยกลับภูมิลำเนา สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณโรรสทรงเห็นชอบ

ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2481 (เมื่อก่อนนับศักราชใหม่ในวันสงกรานต์ ถ้าเทียบปัจจุบันจะเป็นต้นปี พ.ศ.2482) ที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สิริอายุได้ 60 ปี ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปาง เป็นเวลา 1 ปี จึงได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน จนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม 2489 จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ โดยมีประชาชนมาร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก และประชาชนเหล่านั้นได้เข้าแย่งชิงอัฏฐิธาตุของครูบาศรีวิชัย ตั้งแต่ไฟยังไม่มอดสนิท แม้แต่แผ่นดินตรงที่ถวายพระเพลิง ก็ยังมีผู้ขุดเอาไปสักการบูชา อัฏฐิธาตุของท่านที่เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมได้ได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 ส่วน แบ่งไปบรรจุตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วแผ่นดินล้านนาดังนี้

‘ศธ.’ สั่ง เฝ้าสังเกตอาการนักเรียน-ครู ในพื้นที่เสี่ยง หวั่น ‘สารซีเซียม-137’ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว

(22 มี.ค. 66) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า  ได้เสนอแนะต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีเหตุการณ์ที่วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรี และได้ตรวจพบสารปนเปื้อนชนิดเดียวกันนี้ไปอยู่ที่โรงงานหลอมเหล็กในรูปแบบฝุ่นโลหะ โดยมีความเป็นห่วงอย่างมากและต้องการให้เกิดมาตราการที่เข้มงวด ชัดเจน และเริ่มตั้งแต่ต้นทาง คือ การควบคุมสารกัมมันตรังสีจะต้องมีการตรวจเช็กอยู่ตลอดเวลา ต้องไม่มีการสูญหาย หรือกรณีที่เกิดสูญหายขึ้นมา ระหว่างทางต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าพื้นที่ไหน สถานที่ไหน และบุคคลไหนเกี่ยวข้องและมีความเสี่ยงบ้าง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ขบวนการทำงานของภาครัฐไปมุ่งเน้นที่ปลายเหตุ เช่น ไปตรวจสอบซีเซียมยังไม่ฟุ้งกระจายในอากาศ ยังไม่พบปริมาณรังสีในคนงาน เป็นต้น

รวมไปถึงผู้ที่ได้รับใบอนุญาตครอบครองหรือใช้สารกัมมันตรังสี ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการตรวจตราสารกัมมันตรังสีที่ใช้ไม่ให้เกิดการสูญหาย และหากตรวจพบว่าสูญหาย ต้องมีมาตรการหรือแผนเผชิญเหตุ ว่าจะกระจายไปที่ไหน อย่างไร จากการเคลื่อนย้าย และต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับประชาชน เพื่อให้เขาได้รู้เข้าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเปล่า เพราะคุณสมบัติของสารกัมมันตรังสี คือ มีครึ่งชีวิต (Half Life) ที่ยาวนานเป็นเวลา 30 ปี และอยู่ได้นับ 100 ปี เพราะฉะนั้น มีอันตรายมากหากไม่สามารถตรวจสอบได้

“ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ ทุกคนไปมองที่ปลายเหตุหมด เพราะฉะนั้น ภาครัฐฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตราการที่เข้มงวดไม่เฉพาะกรณีซีเซียม-137 แต่รวมถึงสารกัมมันตรังสีที่มีอันตรายทั้งหมด เริ่มต้นตั้งแต่ผู้ที่รับใบอนุญาตมา และวันนี้ที่ซีเซียม-137 สูญหายระหว่างทางจนไปถึงโรงหลอม ระหว่างทางไปตรงไหนบ้าง ต้องตรวจสอบให้หมด ไม่ใช่ไปดูแค่ปลายทางว่าพบแล้ว และยังไม่มีผู้ได้รับอันตราย ดังนั้นย้ำ ว่าอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนต้องให้ความสำคัญกับต้นเหตุ และต้นตอให้มากที่สุด” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

‘ตรีนุช’ กางโรดแมป 60 วัน ยุบ ‘กศน.’ ตั้ง ‘กสร.’ ยกฐานะเป็นนิติบุคคลใต้ ศธ.

(23 มี.ค.66) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมานั้น จากนี้ภายใน 60 วันหลังพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ หรือภายในวันที่ 19 พฤภาคม 2566 พ.ร.บ. ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 25561 จะถูกยกเลิก และยกฐานะสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จากหน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (กสร.) ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ภายในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ 1.การเรียนรู้ตลอดชีวิต 2.การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และ 3.การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ศธ.ได้กำหนดภารกิจที่ต้องทำให้เสร็จในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เกิดการตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ เช่น กำหนดอำนาจหน้าที่ โครงสร้าง และหน่วยงานภายในของ กสร., ประสาน สป.ศธ.เพื่อออกแบบและแนวทางให้ได้มาซึ่งคณะอนุกรรมการขัาราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กสร. และประสานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อออกแบบและแนวทางให้ได้มาซึ่งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ. ) กสร., การจัดตั้ง ยุบ รวม เลิก รวมถึงโอนภารกิจ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้สิน รวมถึงข้าราชการ ลูกจ้างและอัตรากำลังทั้งหมด จากสป.ศธ.ไปขึ้นกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวม วิเคราะห์ และเสนอถ่ายโอนเรื่องต่างๆ, เร่งรัดให้มีการจัดทำกฎหมายรอง ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 เพื่อจัดเตรียมกฎหมาย ประกาศกระทรวง ประกาศกรม และระเบียบกรมไว้ เพื่อให้เกิดการจัดทำให้แล้วเสร็จทันตามกรอบของระยะเวลาในแต่ละมาตรา และ การปฏิรูปหลักสูตรการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นต้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top