Tuesday, 21 May 2024
กระทรวงศึกษาธิการ

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงแนวทางการดูแล ‘หยก ธนลภย์’ เพื่อป้องกันความขัดแย้งบานปลายในสังคม โดยกล่าวว่า…

“สิ่งที่ต้องเร่งทำ คือการหาตัวผู้ปกครองที่เหมาะสมกับเด็ก ตามกลไลทางกฎหมาย เพื่อคุ้มครองเด็ก ตามสิทธิเด็กที่พึงมี โดยไม่อาจปล่อยให้เด็กเป็นเหยื่อ ขณะเดียวกันเห็นว่าบรรดาพรรคการเมือง ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเด็ก และควรหยุดนำเด็กมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง แบบรายบุคคล แต่ควรกลับไปคิดเชิงระบบของการแก้ไขปัญหาเด็ก ว่าควรจะทำอย่างไรให้เยาวชนเป็นพลเมืองที่ดีมีภูมิคุ้มกันทางสังคม

ทั้งนี้ จะเห็นว่า คำว่า ‘ชุดนักเรียน’ หรือการแต่งกาย ไม่ได้เป็นข้อจำกัดทางการศึกษาอยู่แล้ว บริบทของปัญหามีความหลากหลายไม่มีถูกผิด เช่น ในตามพื้นที่ห่างไกล ยากไร้ การใส่ชุดนักเรียน เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย และในโรงเรียนที่ร่ำรวย และเด็กส่วนใหญ่มีเศษสถานะที่ดี การสวมชุดนักเรียน ช่วยให้เด็กอยู่ระเบียบ และลดความเหลื่อมล้ำในแต่ละครอบครัว”

‘รมว.ศึกษาธิการ’ ประกาศนโยบาย ‘เรียนดี มีความสุข’ เล็งแจกแท็บเล็ต หวังลดภาระนักเรียน-ผู้ปกครอง 

(14 ก.ย.66) พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมมอบนโยบายการศึกษา และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย ‘เรียนดี มีความสุข’ ตนมีนโยบายลดภาระนักเรียน และผู้ปกครอง โดยให้เด็กเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา เรียนฟรี มีงานทำ และยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (1 นักเรียน 1 Tablet)

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า นโยบายอุปกรณ์การเรียน ต้องยอมรับว่าผู้มีโอกาสก็จะมีสื่อการเรียนการสอน แต่ผู้ด้อยโอกาส อาจจะไม่มี ดังนั้น เพื่อความเท่าเทียมเสมอภาคทางการศึกษาเราต้องจัดการแท็บเล็ต ส่วนการดำเนินการ ต้องมาศึกษาและดูงบประมาณในการดำเนินการ โดยดูว่า สามารถซื้อได้หรือไม่ ถ้าซื้อไม่ได้อาจจะเช่า หรือยืม โดยทำอย่างไรให้ทั่วถึง แต่อยู่บนพื้นฐานว่าสื่อการเรียนการสอนต้องมีก่อน สามารถเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนได้ทุกที่ ทั้งนี้เราจะยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนและดำเนินการ

‘มูลนิธิเอเชีย-ศธ.’ เปิดตัวเว็บไซต์ ‘Thailand Leadership’ ส่งเสริมการพัฒนาความเป็นผู้นำ ผอ.โรงเรียนทั่วประเทศ

(24 ก.ย. 66) มูลนิธิเอเชีย ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ, กรุงเทพมหานคร, สถานทูตออสเตรเลีย และเหล่าพันธมิตร จัดงานเปิดตัว www.Thailandleadership.org เว็บไซต์พัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของ ผอ.โรง เรียนทั่วประเทศ นำเสนอทักษะผู้นำทางวิชาการที่ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาประสบความสำเร็จ ผ่าน 3 เมนูหลักคือลงมือปฎิบัติ, พัฒนาวิชาการ และสร้างสรรค์งานวิจัย ในรูปแบบของข่าวสาร งานวิจัย บทความ คลิปวิดิโอ พอดแคสต์ สารคดี ฯลฯ จัดทำโดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ตั้งเป้าเป็นคลังความรู้ออนไลน์ด้านการศึกษา ขับเคลื่อนพัฒนาทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ ผลักดันนวัตกรรมล้ำสมัย เชื่อม ต่อชุมชน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างเครือข่าย นำประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ที่เป็นมานานกว่า 20 ปี

นายโทมัส พาร์ค ผู้แทนมูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า “มูลนิธิเอเชียได้จับมือกับสถาน ทูตออสเตรเลียทำงานร่วมกันมานาน 6 ปีแล้ว ซึ่งโจทย์ที่ทั้งสององค์กรให้ความสำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ที่มีมานานนับ 20 ปี โดยสรุปต่างมีความเห็นตรง กันว่าจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษา โดยมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหา 2 ประการคือ 1)การเพิ่มขีดความ สามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพโดยรวมของระบบการศึกษาไทย ซึ่งเป็นเรื่องโครงสร้างทั้งระบบและเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก และ 2)ลดความไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษา ซึ่งมีความแตกต่างกันมาก ทั้งในโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ชนบทและในเมือง”

ด้าน ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชีย ได้กล่าวถึงที่มาของการจัดทำเว็บไซต์ว่า…

“ในปี พ.ศ.2561-2564 ทางมูลนิธิฯ ได้มีการจัดทำ โครงการวิจัยเรื่องจากความท้าทายสู่คุณภาพการศึกษาของประเทศไทย : กฎระเบียบ การบริหารทรัพยากร และความเป็นผู้นำ ที่ได้มุ่งเน้นศึกษาโครงสร้างและบทบาทของ ‘ตัวกลาง’ ระหว่าง ‘ผู้กำหนดนโยบายการศึกษาของชาติ’ และ ‘ผลผลิตทางการศึกษา’ นั่นคือ ‘ผู้อำนวยการสถานศึกษา’ ในฐานะ ‘กล่องดำทางการศึกษา’ หรือ ‘แกนหลักผู้สื่อสารถ่ายทอดนโยบาย’ จากภาครัฐออกสู่โรงเรียนทั่วประเทศ

บทสรุปที่ได้คือผู้อำนวยการโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จะต้องมีบทบาท เป็นผู้นำทางวิชาการ ซึ่งยากง่ายแตกต่างกันตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น และนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด ทำให้เกิดข้อเสนอแนะหลากหลายแนวทาง เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการแก้ไขให้เหมาะสม กับการบริหารจัดการในแต่ละโรงเรียน

ด้วยสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ทางมูลนิธิฯ จึงได้จัดทำเว็บไซต์ www.Thailandleadership.org ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของ ผอ.โรงเรียน นำเสนอทักษะที่ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษา ประสบความสำเร็จ และเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจสำหรับบ่มเพาะ ‘ผู้นำทางวิชาการ’ ในประเทศไทย จัดทำเป็นรูปแบบเว็บไซต์ ที่ประกอบด้วย 3 เมนูหลัก คือ

1.) ลงมือปฎิบัติ
2.) พัฒนาวิชาการ
3.) สร้างสรรค์งานวิจัย

ซึ่งได้เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกรอบด้าน ทั้งข่าวสาร งานวิจัย บทความ คลิปวิดิโอ พอดแคสต์ สารคดี ฯลฯ จากนักวิชาการด้านการศึกษาผู้มีชื่อเสียง นำโดย ดร.รัตนา แซ่เล้า และผู้ร่วมให้คำแนะนำในการจัดทำเว็บไซต์ นำเสนอทฤษฎี และนานาสาระด้วยตนเอง เช่น ศ.ดร.ฟิลิป ฮาลิงเจอร์, รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์, ดร.สุกรี นาคแย้ม, ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค, ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์, รศ.ดร.ณัฏฐภรณ์ หลาวทอง, รศ.ดร.พร้อมพิไล บัวสุวรรณ, และ รศ.ดร.ธีรภัทร กุโลภาส ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ, กรุงเทพมหานคร, มูลนิธิอานันทมหิดล และทางช่อง 9 MCOT HD

โดยคาดหวังว่าเว็บไซต์นี้ จะเป็นคลังความรู้ออนไลน์ด้านการศึกษา ที่ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ ผลักดันนวัตกรรมล้ำสมัย เพื่อเชื่อมต่อชุมชนผู้นำทางวิชาการ ให้เกิดการสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิด เห็นและสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่ง เป็นรากฐานเชื่อมต่อพัฒนาสู่ความร่วมมือในระดับสากล”

ภายในงานเปิดตัวเว็บไซต์ฯ ได้มี นางพุทธชาต ทองกร รองผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักย ภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (HCEMC) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวง ศึกษาธิการ เดินทางมาร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายให้ความรู้โดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ศ.ดร.ฟิลลิป ฮาริงเจอร์ ในหัวข้อ ‘ผู้นำทางวิชาการกับการพัฒนาการศึกษาไทย’, รศ.ดร.พร้อมพิไล บัวสุวรรณ ในหัวข้อ ‘ผู้นำกับความสำเร็จของโรงเรียน’ และการจัดทำวอดแคสต์, รศ.ดร.ธีรภัทร กุโลภาส ในหัวข้อ ‘นโยบายปฎิรูปการศึกษา จากกระทรวงสู่ห้องเรียน’, รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ในหัวข้อ ‘แชร์กลยุทธ์ จุดไอเดียผู้บริหาร’ และ ดร.ชลตวรรณ ขุมเพ็ชร, ดร.ธราธร ตันวิพงษ์ตระกูล และคุณชัญฌัญญ์ ธนันท์ปพัฒน์ ในหัวข้อ ‘การทำสารคดีสั้นเรื่องแรงบันดาลใจจากการทำงาน’ เป็นต้น

โดยผู้อำนวยการโรงเรียน, นักวิชาการด้านการศึกษา และประชาชนที่สนใจ จะสามารถเข้าไปใช้บริการเว็บไซต์ที่ www.Thailandleadership.org ได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 062-7341267 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

‘ม.ฮ่องกง’ มอบทุนเรียนฟรี หนุน ‘นักเรียนไทย’ มากศักยภาพ จ่อเดินหน้าขยายความร่วมมืออีก 40 โรงเรียน ภายในปี 66

(8 ต.ค. 66) ศาสตราจารย์เบนเนต ชิ คิน ยิม ผู้บริหารฝ่ายรับนักศึกษาใหม่ ‘The University of Hong Kong’ เปิดเผยว่า ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ และคณะ ได้จัดกิจกรรม Thailand Admission Tour 2023 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อรายงานความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 จากการจัดสรรทุนการศึกษาให้กับนักเรียนไทยไปศึกษาที่ The University of Hong Kong จาก 3 แห่ง ประกอบด้วย

1.) กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย
2.) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
3.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ปัจจุบันมีนักเรียนจากโรงเรียนดังกล่าวได้รับทุนไปศึกษาต่อแล้วกว่า 10 ทุนการศึกษา ในปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนไทยกำลังศึกษาที่ The University of Hong Kong กว่า 166 คน ผลการหารือ The University of Hong Kong พร้อมสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนไทยศักยภาพสูง เพื่อรับทุนไปศึกษาต่อที่ The University of Hong Kong และในปี 2566 จะขยายความร่วมมือไปยังโรงเรียนในไทยอีก 40 แห่ง

ทั้งนี้ ‘The University of Hong Kong’ มหาวิทยาลัยอันดับที่ 26 ของโลก จากการจัดลำดับของ ‘QS World University Rankings’ และเป็นอันดับ 1 ของโลกด้าน Most International University in the World จากการจัดอันดับของ ‘Times Higher Education’

'สพฐ.' เดินหน้านโยบาย 'ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้' ย้ำครูช่วยลดปริมาณ หวังให้เด็กๆ ได้เรียนอย่างมีความสุข

(9 ธ.ค.66) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2566 ได้ลงนามประกาศ ‘แนวทางการมอบหมายการบ้าน’ ตามนโยบาย ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และ ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) โดยเป็นการประกาศหลักการและแนวปฏิบัติในการมอบหมายการบ้าน ‘ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้’ ที่มุ่งหวังให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ให้การบ้านเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้และเป็นเครื่องมือประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน

หลักการ ‘ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้’ มุ่งเน้นให้ครูลดปริมาณการบ้านที่ต้องทำนอกเวลาในชั้นเรียนให้เน้นการมอบหมายการบ้านเฉพาะรายวิชาที่จำเป็นทักษะสำคัญ เช่น การอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ให้มีการบูรณาการการบ้าน ซึ่งการบ้านชิ้นงานเดียวอาจตอบโจทย์การเรียนรู้ข้ามรายวิชา และส่งเสริมให้นักเรียนได้มีเวลาศึกษาค้นคว้าตามความสนใจของตนเองมากขึ้น

“การประกาศแนวทางการมอบหมายการบ้าน ‘ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้’ ของ สพฐ. เพื่อให้คุณครู รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองได้เข้าใจร่วมกันว่า หัวใจของการให้การบ้าน คือ การให้เด็กๆ ได้ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ ให้ได้ฝึกฝนทำซ้ำจนเกิดทักษะ ซึ่งเด็กแต่ละคนต้องการเวลาเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เรียนไม่เท่ากัน หรือสำหรับเด็กโต การบ้านที่ให้ได้ค้นคว้าอย่างอิสระ จะยิ่งส่งเสริมการเรียนรู้ ช่วยบ่มเพาะความรับผิดชอบในตนเอง จึงขอเน้นย้ำกับคุณครูว่า การให้โจทย์ที่ไม่ยากไม่ง่าย ไม่ใช้เวลามากเกินไป แล้วมีการตรวจการบ้าน อธิบาย ให้ feedback จุดที่ควรพัฒนาอย่างตรงประเด็น จึงจะเป็นการพัฒนานักเรียนอย่างแท้จริง ซึ่งความสุขที่เกิดจากการลดปริมาณแต่เพิ่มคุณภาพของการบ้าน เช่น ทำการบ้านหนึ่งชิ้นงานส่งคุณครูเพื่อวัดผลการเรียนรู้ได้หลายวิชา จะสร้างความสุขให้ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงคุณครูเองด้วย ซึ่งเชื่อได้ว่าจะทำให้เด็กไทย ‘เรียนดี มีความสุข’ ตามเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

‘ศธ.’ ประกาศผลการคัดเลือกเด็กและเยาวชนดีเด่น ที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ประจำปี 2567

(22 ธ.ค. 66) กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดเผยว่า…ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการ พิจารณาคัดเลือกเด็กและเยาวชนดีเด่น เด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ประจำปี 2567 ตามโครงการจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 นั้น 

บัดนี้ ส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ได้พิจารณาคัดเลือกเด็กและเยาวชนดีเด่น เด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ประจำปี 2567 เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว จึงประกาศ รายชื่อเด็กและเยาวชนดีเด่น เด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ประจำปี 2567 ที่ได้รับ การคัดเลือกให้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี เนื่องในงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ https://www.moe.go.th/เด็กและเยาวชน2567/

และสำหรับเด็กและเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกตามประกาศฯ จะได้รับการเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ในวันพุธที่ 10 มกราคม 2567 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เด็กและเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกตอบรับการเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี โดยเข้าร่วมทาง Openchat ผ่าน QR - Code Line ภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2566

‘คารม’ ย้ำ สถานศึกษาต้องยกเลิกคำสั่งอยู่เวรในโรงเรียน ยัน!! ‘รัฐบาล-ศธ.’ ให้ความสำคัญกับชีวิตครูมากกว่าสิ่งใด

(28 ม.ค. 67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำให้สถานศึกษายกเลิกคำสั่งอยู่เวรรักษาการณ์ที่สั่งไว้เดิมโดยทันที ส่วนมาตรการที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการ อยู่ระหว่างดำเนินการของกระทรวงศึกษาธิการ หากดำเนินการแล้วเสร็จจะแจ้งให้ทราบต่อไป

นายคารม กล่าวว่า เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และเพื่อให้การปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ทางเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกเขต เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจในการดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการ โดย ให้สถานศึกษาได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 (เรื่อง การปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดเวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการ) และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

การดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

1.1) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานหลักในพื้นที่ระดับจังหวัด ประสานศึกษาธิการจังหวัด เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้ได้ซึ่งมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการ และแผนเผชิญเหตุให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 เรื่อง การดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการให้แก่สถานศึกษาในจังหวัด ตามบริบทของพื้นที่และความเหมาะสม

1.2) ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่น นอกเหนือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร สรุปข้อมูลจำนวนสถานศึกษาในสังกัด เพื่อบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานฝ่ายปกครองและสถานีตำรวจนครบาล เพื่อวางแผนในการดูแลรักษาความปลอดภัยสถานศึกษา ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และให้สอดคล้องตามข้อ 1.1 การดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการในพื้นที่จังหวัดอื่น

2.1) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 เป็นหน่วยงานหลักในพื้นที่ระดับจังหวัด ประสานศึกษาธิการจังหวัด เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เพื่อให้ได้ซึ่งมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการ และแผนเผชิญเหตุให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 เรื่อง การดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการให้แก่สถานศึกษาในจังหวัด ตามบริบทของพื้นที่และความเหมาะสม

2.2) ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่น นอกเหนือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 ดำเนินการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานฝ่ายปกครองระดับอำเภอ และสถานีตำรวจภูธร เพื่อวางแผนในการดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาในสังกัด ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และให้สอดคล้องกับแผนระดับจังหวัดตามข้อ 2.1

“รัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของครู นักเรียน และสถานศึกษา ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อครู ขอให้ผู้อำนวยการสถานศึกษายกเลิกคำสั่งให้ครูอยู่เวรรักษาการณ์ในโรงเรียน และขอให้ครูมั่นใจว่าการไม่อยู่เวรฯ ไม่มีความผิด” นายคารม กล่าว

'จีน' ยกระดับ 184 โรงเรียน พัฒนาครั้งใหญ่ 'ฐานการศึกษา AI' บ่มเพาะความรู้ทางดิจิทัลแก่ 'ครู-เด็ก' รอบด้าน หนุนยุค AI เฟื่อง

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการของจีน ประกาศรายชื่อโรงเรียนประถมและมัธยมจำนวน 184 แห่ง ซึ่งถูกคัดเลือกเป็นฐานการศึกษาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้วยเป้าหมายส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาปัญญาประดิษฐ์ให้ดียิ่งขึ้น

รายงานระบุว่าโรงเรียนประถมและมัธยมควรปรับใช้หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีทั่วไป และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องอื่นๆ พร้อมกับเสริมสร้างทรัพยากรการศึกษาและการเรียนการสอน และจัดการฝึกอบรมและแนะแนวครู เพื่อเกื้อหนุนการศึกษาปัญญาประดิษฐ์

กระทรวงฯ จะเสริมสร้างแนวปฏิบัติของฐานการศึกษาที่กำหนดข้างต้น สนับสนุนการมีบทบาทนำเป็นตัวอย่างในการพัฒนาหลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ในโรงเรียน การบูรณาการรายวิชา การปฏิรูปวิธีการสอน ร่วมสร้างและแบ่งปันทรัพยากรการศึกษาทางดิจิทัล บ่มเพาะความรู้ทางดิจิทัลของครู และส่งเสริมการพัฒนานักเรียนอย่างรอบด้าน

'ดร. โสฬส' รองอธิการบดี มจธ. บางขุนเทียน ต้อนรับ กระทรวงศึกษาธิการเยี่ยมชม ห้องปฏิบัติการไฟฟ้ากำลังธนบุรี ศูนย์ทดสอบสถานศึกษาแห่งแรกในอาเซียน

นายปรีดา บุญศิลป์ ประธานอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ) กลุ่มอาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน กล่าว ขอขอบคุณรศ. ดร. โสฬส สุวรรณยืน รองอธิการบดี มจธ. บางขุนเทียนและทีมงานทุกท่าน ที่ให้การต้อนรับทาง (อ.กรอ.อศ) เป็นอย่างดีและได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการทดสอบขั้นสูงเป็นศูนย์ทดสอบหม้อแปลงไฟฟ้าแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยและในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อลดความสูญเสียด้านค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์ให้กับผู้ประกอบการและยกระดับความสามารถด้านการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของหม้อแปลงไฟฟ้าไทย สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาประเทศ Thailand 4.0 ของทางรัฐบาลที่มุ่งเน้นในการขับเคลื่อนประเทศด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม อีกด้วย 

โดย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญกับการจัดการอาชีวศึกษาร่วมกับสถานประกอบการเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของการพัฒนาประเทศ โดยการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับสถานประกอบการ ซึ่ง อ.กรอ.อศ. เป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญในการจัดการอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะวิชาชีพ และอุปกรณ์ที่เป็น สื่อการเรียนการสอน เน้นรูปแบบการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริง (Learning by Doing) เพื่อสร้างสมรรถนะอาชีพและทักษะชีวิตให้ผู้สำเร็จอาชีวศึกษา มีความพร้อมเข้าสู่โลกอาชีพได้ทันต่อความต้องการกำลังคนของประเทศ หรือเป็นผู้ประกอบการได้ มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานอย่างแท้จริง

"ผมขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการสร้างพลังร่วมกันในการขับเคลื่อนและพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาให้เกิดผลสำเร็จในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศสู่ประเทศ ตอบสนองนโยบาย "เรียนดี มีความสุข" ต่อไป"

รศ. ดร. โสฬส สุวรรณยืน รองอธิการบดี มจธ. บางขุนเทียน ต้อนรับ ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ) กลุ่มอาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน และได้แนะนำถึงที่มาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตบางขุนเทียน ว่าจุดเริ่มต้นนั้นต้องการสร้างมจธ.วิทยาเขตบางขุนเทียนเพื่อเป็นสวนอุตสาหกรรม จึงมีการจัดตั้งแยกออกมาจากตัวของวิทยาเขตบางมด 

ในปัจจุบันนี้นอกเหนือจากการที่ทางมจธ.วิทยาเขตบางขุนเทียนได้มีความร่วมมือกับบริษัท    เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ในส่วนของห้องปฏิบัติการไฟฟ้าธนบุรี ที่ใช้ทดสอบการทนการลัดวงจรของหม้อแปลงไฟฟ้าแล้วนั้น ทางวิทยาเขตเองยังมีศูนย์พัฒนามาตรฐานและทดสอบระบบเซลล์แสงอาทิตย์ CES Solar Cells Testing Center (CSSC) ที่เป็นศูนย์ทดสอบระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่ได้มาตรฐานที่สุดในประเทศไทยด้วย ซึ่งถ้าทางตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ) กลุ่มอาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน มีความสนใจที่จะเข้าเยี่ยมชมในอนาคตทางมหาวิทยาลัยก็มีความยินดี

ผศ. ดร. ศุภกิตติ์ โชติโก หัวหน้าภาคประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้กล่าวแนะนำถึงห้องปฏิบัติการไฟฟ้ากำลังธนบุรีห้องทดสอบการทนต่อการลัดวงจรของหม้อแปลงไฟฟ้าในระบบจำหน่ายที่ทำการทดสอบตามกระบวนการในมาตรฐาน IEC 60076-5 รวมถึงได้รับการรับรองจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อใช้ทดสอบหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้มีการจัดซื้อและกำหนดให้มีการทดสอบการทนต่อการลัดวงจร โดยห้องปฏิบัติการนี้เป็นห้องปฏิบัติการแห่งเดียวในประเทศไทยที่อยู่ในมหาวิทยาลัย โดยกระบวนการทดสอบนั้นสามารถทำได้โดยการลัดวงจรขดลวดทุติยภูมิของหม้อแปลงไฟฟ้าที่จะทำการทดสอบและป้อนแรงดันพิกัดจ่อรอไว้ที่ด้านขดลวดปฐมภูมิของหม้อแปลง หลังจากนั้นก็สับสวิตช์ในตำแหน่งที่แรงดันเป็นศูนย์(zero crossing) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทำให้เกิดกระแสลัดวงจรสูงสุด โดยกรณีที่เกิดการกระแสลัดวงจรไหลไหนหม้อแปลงนี้จะทำให้เกิดแรงทางกลขึ้น โดยแรงทางกลนี้มีการแปรผันตามค่าของ I2 ซึ่งในกรณีที่ทำการทดสอบหม้อแปลงไฟฟ้า 3 เฟสจะมีการทดสอบทั้งหมด 9 ครั้ง โดยเป็นการทดสอบแต่ละเฟส 3 ครั้ง และต้องควบคุมค่าต่างๆให้เป็นไปตามมาตรฐาน IEC 60076-5

'ศธ.' สั่ง!! ทุกสถาบันการศึกษาในสังกัดกระทรวง ห้ามหนุนการเมือง 'ทางตรง-อ้อม' หลังพบกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มแทรกซึมเข้าไปจัดกิจกรรมเพื่อหวังผล

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีหนังสือด่วนที่สุดประกาศเรื่อง การส่งเสริมสถานศึกษาในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้เป็นพื้นที่เป็นกลางทางการเมือง เรียนถึงผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด/กรุงเทพมหานคร และศูนย์หรือสถาบันการเรียนรู้เฉพาะด้านหรือเฉพาะกิจทุกแห่ง ระบุข้อความในหนังสือว่า…

“ด้วยปรากฎในสื่อสังคมออนไลน์กรณีที่มีพรรคการเมืองลงพื้นที่ปลุกปั่นเยาวชนในเขตพื้นที่โรงเรียนและสถานศึกษา โดยมีการส่งเสริมให้จัดกิจกรรมเพื่อหวังผลทางการเมือง ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักสากลที่สถานศึกษาต้องเป็นพื้นที่เป็นกลางทางการเมือง (neutrality ground)

ในการนี้ เพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษาในสังกัดเป็นพื้นที่เป็นกลางทางการเมือง กรมส่งเสริมการเรียนรู้ จึงขอให้ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา วางตัวเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัด โดยไม่ส่งเสริม เกื้อกูล สนับสนุนพรรคการเมืองในทางตรงและทางอ้อม ทั้งส่วนตัวและส่วนราชการ ในการจัด
หรือร่วมจัดกิจกรรมใด ๆ ของสถานศึกษาในพื้นที่”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top