Saturday, 15 March 2025
TodaySpecial

31 มกราคม 2514 ยานอพอลโล 14 ถูกปล่อยสู่อวกาศ ยานลำที่ 3 พามนุษย์เหยียบดวงจันทร์

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2514 ยานอพอลโล 14 พร้อมนักบินอวกาศ 3 คน ได้เริ่มออกเดินทางจากแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เพื่อทำภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ภารกิจครั้งนี้นำโดย อเลน บี. เชพเพิร์ด เจ อาร์ (Alan Shepard) ผู้บัญชาการภารกิจ ซึ่งเป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกันคนแรกที่ได้เดินทางสู่อวกาศ และเป็นนักบินคนที่ 5 ที่ได้เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ ภารกิจนี้ถือเป็นภารกิจสุดท้ายในอาชีพการทำงานอวกาศของเขา

โดยยังมีนักบินอวกาศอีกสองคนร่วมทริปคือ เอดการ์ ดี. มิทเชลล์ (Edgar Mitchell) นักบินโมดูลดวงจันทร์ และ สตูท เอ. รูสา (Stuart Roosa) นักบินโมดูลคำสั่ง ซึ่งสำหรับมิทเชลล์และรูสา ภารกิจอพอลโล 14 ถือเป็นการเดินทางสู่อวกาศครั้งแรกและครั้งเดียวของทั้งสองคน

ภารกิจอพอลโล 14 มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการสำรวจภูมิภาค Fra Mauro บนดวงจันทร์ นักบินอวกาศได้รับการฝึกฝนด้านธรณีวิทยาเพื่อสำรวจและรวบรวมตัวอย่างหินและดินจากพื้นผิวดวงจันทร์ รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยให้มนุษย์เข้าใจสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์มากยิ่งขึ้น

ยานอพอลโล 14 ออกเดินทางในวันที่ 31 มกราคม 2514 เวลา 16.03 น. ตามเวลาท้องถิ่น ภารกิจนี้ใช้เวลาเดินทางไปยังดวงจันทร์ 3 วัน นักบินอวกาศใช้เวลา 2 วันบนดวงจันทร์ และอีก 3 วันสำหรับการเดินทางกลับมายังโลก

ระหว่างที่อยู่บนดวงจันทร์ เชพเพิร์ดและมิทเชลล์ใช้เวลาประมาณ 34 ชั่วโมงเพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจ ติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ และเก็บตัวอย่างหินและดินน้ำหนักรวมกว่า 42 กิโลกรัม ก่อนเดินทางกลับสู่โลกในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2514 โดยยานลงจอดอย่างปลอดภัยที่มหาสมุทรแปซิฟิก

ภารกิจอพอลโล 14 เป็นยานอวกาศลำที่ 8 ของโครงการอพอลโลที่นำมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์ และเป็นภารกิจที่สำเร็จต่อจากอพอลโล 13 ซึ่งประสบปัญหาจนไม่สามารถไปถึงดวงจันทร์ได้ โดยในภารกิจครั้งนี้ เชพเพิร์ดได้แอบนำหัวไม้กอล์ฟและลูกกอล์ฟ 2 ลูกขึ้นไปยังดวงจันทร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนาซา ด้วยความช่วยเหลือจากวิศวกรเพื่อนร่วมงาน เขาได้ดัดแปลงอุปกรณ์เก็บตัวอย่างหินให้สามารถติดกับหัวไม้กอล์ฟได้

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเก็บตัวอย่างหิน เชพเพิร์ดใช้หัวไม้กอล์ฟหวดลูกกอล์ฟบนพื้นผิวดวงจันทร์ ลูกแรกกระเด็นได้ระยะไม่ไกลเนื่องจากติดทราย แต่ลูกที่สองถูกหวดอย่างเต็มแรง และคาดการณ์ว่ามันอาจพุ่งไปไกลถึง 200-300 เมตร ซึ่งลูกกอล์ฟก็ยังคงอยู่บนดวงจันทร์จนถึงทุกวันนี้ 

1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรากฎหมายโรงจำนำเป็นครั้งแรกในไทย

วันนี้เมื่อ 130 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชบัญญัติโรงจำนำ ร.ศ.114 ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย มีผลบังคับใช้ทั่วพระราชอาณาจักร วันที่ 1 กรกฎาคม ร.ศ.120

ทั้งนี้ การรับจำนำมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีหลักฐานยืนยันได้จากการตราพระราชกำหนดของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ห้ามจำนำสิ่งของเวลากลางคืน ในสมัยนั้น สิ่งของที่เอามาจำนำ ได้แก่ ทองรูปพรรณ เงิน นาก เครื่องทองเหลือง ผ้าแพรพรรณมีค่า ฯลฯ ซึ่งแต่เดิมผู้จำนำไม่ต้องเอาของไปจำนำที่คนรับจำนำ แต่มีการจำนำตามบ้าน

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ กิจการโรงจำนำเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 4 โดย จีนฮง ตั้งโรงจำนำ ย่องเซี้ยง ที่แยกสำราญราษฎร์ ดึงดูดให้คนมาจำนำด้วยการกำหนดดอกเบี้ยให้ต่ำ มีการทำบันทึกรับจำนำ หรือ 'ตึ๊งโผว' มีการออกตั๋วรับจำนำเป็นเอกสารหลักฐาน

ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้ตราพระราชบัญญัติลักษณะโรงจำนำเมื่อ รศ.114 หรือ พ.ศ.2438 โรงจำนำสมัยนี้ กิจการรุ่งเรือง มีโรงจำนำในกรุงเทพฯ ราว 200 โรง โรงจำนำที่มีชื่อเสียงคือโรงจำนำ ฮั่วเส็ง ของนายเล็ก โทณวณิก จนถึงปี พ.ศ.2498 มีการตั้ง โรงรับจำนำของรัฐ ขึ้นเป็นครั้งแรกพร้อมกัน 2 โรง คือ ที่บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ โรงหนึ่ง และต้นถนนเทอดไทอีกโรงหนึ่ง และในพ.ศ.2500 เปลี่ยนชื่อมาเป็น สถานธนานุเคราะห์

ต่อมาอีก 3 ปี คือ พ.ศ.2503 รัฐบาลอนุญาตให้เทศบาลสามารถตั้งโรงรับจำนำได้ กรุงเทพมหานครจึงตั้งกิจการโรงรับจำนำใช้ชื่อว่า 'สถานธนานุบาล'

2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ‘วันนักประดิษฐ์’ น้อมรำลึก วันทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์กังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งต่อมากำหนดเป็น วันนักประดิษฐ์

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานหลักการและรูปแบบของเครื่องกลเติมอากาศให้แก่กรมชลประทานเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 ซึ่งสำนักงานวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลน้ำ กองโรงงาน กรมชลประทาน ได้ประดิษฐ์ 'กังหันน้ำชัยพัฒนา' เพื่อใช้ในโครงการแก้ไขน้ำเสีย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยได้รับพระราชทานเงินทุนจาก 'มูลนิธิชัยพัฒนา' เพื่อจัดสร้างอุปกรณ์ต่างๆ และทำการวิจัย หากทำการทดลองได้ผลดีจะได้นำไปเผยแพร่เป็นต้นแบบแก่ส่วนราชการและแหล่งชุมชนต่างๆ ให้นำไปจัดสร้างเพื่อใช้กำจัดน้ำเสียต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงคิดค้น และได้พระราชทานรูปแบบและความคิด ในการประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสีย และเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างมาก มูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อขอรับสิทธิบัตร เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้า แบบทุ่นลอย หรือ กังหันน้ำชัยพัฒนา ในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเลขาธิการของมูลนิธิชัยพัฒนา นายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นผู้แทนขอรับสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2535 และได้รับเลขที่สิทธิบัตร 3127 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536

ซึ่งนับได้ว่ากังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่พระราชวงศ์ รัฐบาลไทยได้มีมติกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นอกจากนี้กังหันชัยพัฒนา ยังได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ฝ่ายวิทยาศาสตร์ รางวัลที่ 1 ประจำปี 2536 จากคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติอีกด้วย

3 กุมภาพันธ์ ‘วันทหารผ่านศึก’ รำลึกถึงผู้กล้าที่สละชีพเพื่อชาติ

ในอดีต ประเทศไทยต้องพบกับภาวะสงคราม และส่งทหารเข้าร่วมสงครามเป็นจำนวนมาก โดยปี พ.ศ.2488 เป็นต้นมา ทหารที่ได้รับการปลดระวางจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประสบปัญหาเดือดร้อนจากสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพ

ในปี พ.ศ. 2490 กระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ทหารไทยที่กลับจากการรบหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเอเชียมหาบูรพา รวมทั้งช่วยเหลือครอบครัวทหารที่เสียชีวิตในการรบ แต่หน่วยงานที่ตั้งขึ้นนี้เป็นหน่วยงานที่ไม่เป็นทางการ ต่อมากระทรวงกลาโหมได้เสนอพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกขึ้น ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 จึงถือเอาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันทหารผ่านศึก

ในปี พ.ศ. 2510 องค์การทหารผ่านศึกได้เปลี่ยนฐานะมาเป็นองค์การเพื่อการกุศลของรัฐ และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงกลาโหมและรัฐบาลบ้างเป็นครั้งคราว ภารกิจหลักขององค์การทหารผ่านศึก คือ การสงเคราะห์ทางด้านสวัสดิการ ด้านอาชีพ ด้านนิคมเกษตรกรรม ด้านกองทุน ด้านการรักษาพยาบาล และส่งเสริมสิทธิของทหารผ่านศึก

เดือนสิงหาคม พ.ศ.2511 กลุ่มภริยานายทหารชั้นผู้ใหญ่ นำโดย ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เป็นประธานร่วมกันจัดตั้ง 'สโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก' เพื่อช่วยเหลือครอบครัวทหารผ่านศึก และ ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้มอบเงินบริจาคจำนวน 300,000 บาท เป็นทุนประเดิม หลังจากนั้นก็ได้รับการสนับสนุนบริจาคสมทบจากผู้บริจาคอื่นๆ และคณะกรรมการก็ได้หาวิธีหารายได้ด้วยการจำหน่ายดอกป๊อปปี้จำหน่าย

ปี พ.ศ.2512 'สโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก' ได้ยกระดับเป็น 'มูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก' โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รับเป็นองค์อุปถัมภ์มูลนิธิฯ เพื่อจำหน่ายดอกป๊อปปี้ ให้ทั่วถึงมากขึ้น ทั้งกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ในวันทหารผ่านศึก ดอกไม้ชนิดนี้จึงถูกเรียกว่าเป็น 'ดอกไม้ที่ระลึกวันทหารผ่านศึก'

ความหมายของดอกไม้ประจำวันทหารผ่านศึก มาจากสีแดงของดอกป๊อปปี้ที่หมายถึงเลือดของเหล่าทหารผู้เสียสละเพื่อชาติ เพื่อปกป้องแผ่นดินด้วยความกล้าหาญ เหมือนสีแดงของกลีบดอกที่ปกคลุมผิวดิน

4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เปิดโรงผลิตเหรียญกระษาปณ์ด้วยกำลังไฟฟ้าแห่งแรกของไทย

ย้อนกลับไปในยุคโบราณ สิ่งที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าของผู้คน ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี เรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีอยู่สองชนิด คือ "เบี้ย"(หอย) กับ "เงิน" 

เบี้ยนั้น อาศัยพวกชาวต่างประเทศ เที่ยวเสาะหาเปลือกหอยลักษณะที่ต้องการตามชายทะเลแล้วเอามาขาย ให้เรารับซื้อไว้ใช้สอย แต่ส่วนเงินนั้นนำเฉพาะตัวโลหะเข้ามาจากต่างประเทศ เอามาหล่อหลอมทำเป็นเงินตราในประเทศสยาม รูปร่างลักษณะเป็นเงินกลมที่เรียกกันว่า "เงินพดด้วง" ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาโดยตลอด จะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดและตราประจำของแต่ละรัชกาล 

พอถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตั้งแต่เซอร์จอห์น เบาริง ได้เข้ามาทำหนังสือสัญญา เปิดการค้าขายกับประเทศไทย เมื่อพุทธศักราช 2398 ทำให้เกิดการขยายตัวทางการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

เงินที่ชาวต่างประเทศใช้กันอยู่ทั่วไปนั้นส่วนใหญ่มีลักษณะแบนๆ เมื่อมีการค้าขายสินค้ากันจึงมีการนำเหรียญแบนของตนเข้ามาซื้อสินค้ากับชาวสยาม ปรากฏว่าราษฎรไม่ยอมรับ จึงต้องเอาเงินเหรียญมาขอแลกเงินพดด้วงกับทางการ แต่เงินพดด้วงนั้น ช่างของพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งผลิตเงินพดด้วงด้วยมือนั้น สามารถทำได้วันละ 2,400 บาท เป็นอย่างสูง ซึ่งไม่ทันต่อความต้องการ การแก้ปัญหาดังกล่าว รัชกาลที่ 4 ท่านทรงให้ราษฎรรับเงินเหรียญฝรั่งไว้ก่อนแล้วนำมาแลกเงินพดด้วงจากท้องพระคลังภายหลัง 

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริที่จะเปลี่ยนรูปแบบเงินตราพดด้วงที่ใช้กันมาแต่โบราณ เป็นเงินเหรียญแบนตามแบบสากลนิยม (ซึ่งสมัยนั้นชาวบ้านเรียกกันว่า "เงินแป") เงินเหรียญแบนนี้ สามารถใช้เครื่องจักรผลิตได้ครั้งละจำนวนมากๆ จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง ให้คณะทูตไทยที่ส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอังกฤษ จัดซื้อเครื่องจักรผลิตเงินกลับมาด้วย 

โดยก่อนหน้าที่จะสั่งซื้อเครื่องจักรผลิตเงินจากอังกฤษเข้ามานั้น มีเครื่องจักรผลิตเงิน ทดลองใช้อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเครื่องจักรผลิตเงินเครื่องแรกของไทยนั้น พระนางเจ้าวิคตอเรีย สมเด็จพระบรมราชินีนาถของอังกฤษ ส่งเข้ามาถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการ 

ครั้นพุทธศักราช 2413 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งซื้อเครื่องจักรผลิตเงินเครื่องใหม่ที่แข็งแรง และมีกำลังการผลิตมากกว่าเดิม และให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกระษาปณ์ใหม่ขึ้น ทางตะวันออกของประตูสุวรรณบริบาล ใกล้โรงกระษาปณ์เดิม ทรงเสด็จฯ เปิดเมื่อ วันที่ 31 พฤษภาคม 2419 เครื่องจักรนี้ใช้งานได้ต่อมาอีก 25 ปี 

จากนั้น เมื่อเดือนเมษายน 2444 จึงได้สร้างโรงกระษาปณ์ขึ้นใหม่ ที่ริมคลองหลอด แล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2445 โดยสั่งเครื่องจักรจากยุโรป เป็นเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้า สามารถผลิตเหรียญกระษาปณ์ได้วันละ 80,000 ถึง 100,000 เหรียญ ซึ่งสามารถสนองตอบต่อความต้องการใช้ของผู้บริโภค อันเนื่องมาจากความเจริญทางด้านการค้าขายในสมัยนั้นได้ 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2445 และถือเป็นโรงงานผลิตเหรียญกระษาปณ์ ที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้าแห่งแรกของไทย

5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 กำเนิด ‘ถนนเจริญกรุง’ ถนนหลักสายแรกของประเทศไทย

วันนี้ เมื่อ 164 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘ถนนเจริญกรุง’ ถนนหลักสายแรกของประเทศไทย

ถนนเจริญกรุง ถูกดำริให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยเหตุที่มีชาวต่างชาติ ได้เข้ามาทำธุรกิจห้างร้าน รวมถึงที่ทำการกงสุลต่าง ๆ ก็ถูกก่อสร้างขึ้นในย่านนี้ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ได้ขอให้สร้างถนนสายสำหรับขี่ม้า หรือนั่งรถม้า พระองค์จึงทรงดำริให้มีการสร้างถนนที่มีมาตรฐานขึ้น แล้วเสร็จเมื่อราวปี พ.ศ. 2407

แรกเริ่มเดิมที ผู้คนเรียกถนนสายนี้ว่า ‘ถนนใหม่’ ส่วนฝรั่งเรียกว่า ‘นิวโรด’ (New Road) และชาวจีนเรียกว่า ซินพะโล้ว แปลว่า ถนนตัดใหม่ เช่นกัน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า ‘ถนนเจริญกรุง’ ซึ่งมีความหมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง

ถนนเจริญกรุงในยุคก่อน ได้ชื่อว่าเป็นถนนที่ใหญ่และยาวที่สุด โดยแบ่งเป็น 2 ตอน คือ ถนนเจริญกรุงตอนใน ตั้งแต่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็ก) และถนนเจริญกรุงตอนใต้ ตั้งแต่สะพานเหล็กออกไปนอกกำแพงพระนคร ต่อเนื่องไปถึงตลาดน้อย บางรัก จรดดาวคะนอง (ในปัจจุบัน)

เมื่อมีถนนหลักใหม่และงดงาม จึงนำมาซึ่งวิถีชีวิตของผู้คนสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างอาคาร ห้างร้าน บ้านเรือน ไปตลอดแนวถนน ต่อมามีการติดไฟฟ้านำทางส่องสว่าง และด้วยความสวยงามของท้องถนน ผู้คนจึงรู้จักที่จะออกมาใช้ชีวิตในยามค่ำคืนกันมากขึ้น จนเป็นที่มาของถนนที่ได้ชื่อว่า เป็นถนนที่ไม่มีวันหลับใหล ตราบจนทุกวันนี้ ‘เจริญกรุง’ ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน แม้สองข้างทางจะเก่าแก่ไปตามกาลเวลา แต่จิตวิญญาณของถนนที่ได้ชื่อว่า เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ก็ยังคงปรากฏอยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ‘วันมวยไทย’ เทิดพระเกียรติ 'สมเด็จพระเจ้าเสือ' พระบิดาแห่งมวยไทย

6 กุมภาพันธ์ "วันมวยไทย" ศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวของชนชาติไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจากบรรพชน เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 "สมเด็จพระเจ้าเสือ" พระบิดาแห่งมวยไทย

"มวยไทย” ศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวของชนชาติไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจากบรรพชน ที่ได้รับการสืบทอดมาสู่ชนรุ่นปัจจุบัน เป็นศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัว ที่ฝึกฝนให้ร่างกายใช้อวัยวะทุกส่วนเป็นอาวุธได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ มือ เท้า เข่า ศอก รวมถึงศีรษะ จึงเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ครบเครื่องมีพิษสงรอบด้าน 

จนเกิดการถ่ายทอดและมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ได้รับความนิยมไปทั่วไม่เฉพาะในเมืองไทย แต่ยังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ถือเป็นกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนมวยไทยเป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เพื่อสร้างความตระหนักให้คนไทยเห็นคุณค่า ห่วงแหนและยกย่ององค์ความรู้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย 

เพื่อให้มรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่านี้ ได้รับการอนุรักษ์ สืบสานและต่อยอด เป็นพลังในการกระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทยให้มั่นคง

จากความสำคัญของมวยไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้มีการสถาปนา "วันมวยไทย” โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 เห็นชอบให้ กำหนดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันมวยไทย 

ซึ่งตรงกับวันเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (สมเด็จพระเจ้าเสือ)  พระบิดาแห่งมวยไทย พระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระปรีชาสามารถด้านมวยไทยเป็นที่ประจักษ์

พระเจ้าเสือ เป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ที่เสด็จออกไปชกมวยกับสามัญชน ทรงแต่งกายเป็นชาวบ้าน ให้ทุกคนเข้าใจว่า เป็นนักมวยจากเมืองกรุง ชาวบ้านให้ความสนใจมาก เพราะสมัยนั้น นักมวยกรุงศรีอยุธยามีชื่อเสียงมาก ทำให้ได้คู่ชกเป็นนักมวยฝีมือดีจากเมืองวิเศษไชยชาญ ถึงสามคน ทยอยเข้ามาชกทีละคน ได้แก่ นายกลาง หมัดตาย นายใหญ่ หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือดด้วยต่างฝ่ายก็มีฝีมือ

แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและความชำนาญในศิลปะมวยไทย ที่ได้ทรงฝึกหัดและศึกษาจากสำนักมวยหลายสำนัก จึงทำให้พระองค์สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ติดต่อกันถึง 3 คนได้ โดยที่คู่ต่อสู้ต่างได้รับความบอบช้ำเป็นอันมาก ทำให้ได้รับรางวัลเป็นเงินหนึ่งบาท ฝ่ายผู้แพ้ได้สองสลึง เหตุการณ์นี้จึงเป็นตำนานบทหนึ่งที่ทรงแสดงพระปรีชาสามารถการต่อสู้ด้วยมวยไทย

จากการที่พระเจ้าเสือทรงพระปรีชาสามารถด้านการชกมวย มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ทรงคิดและสร้างสรรค์ท่าแม่ไม้ กลมวยไทยขึ้นมาเป็นแบบเฉพาะพระองค์ เรียกว่า "มวยไทยตำรับพระเจ้าเสือ” จากที่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยรัชการที่ 5 

ซึ่งเป็นตำรามวยตำรับพระเจ้าเสือที่เก่าแก่ที่สุด เป็นมรดกทางภูมิปัญญาจากบรรพชนที่ได้รับการถ่ายทอดมาสู่ชนรุ่นหลัง และสืบสานมาจนถึงทุกวันนี้

7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง

วันนี้เมื่อ 40 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมาร และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ทรงประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำแม่เมาะ

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ถือเป็นวันอันทรงเกียรติของชาวแม่เมาะ ที่ได้ร่วมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 ซึ่งโรงไฟฟ้า ทั้ง 4 เครื่องได้ปลดระวางไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 โดยมีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะเครื่องที่ 14 หรือ MM-T14 ที่เป็นโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีใหม่ มีประสิทธิภาพทั้งการผลิตและการควบคุมมลสารได้เท่ากับและดีกว่าโรงไฟฟ้าเดิมมารับช่วงต่อการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน ไปพร้อมๆ กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8-13

สำหรับความเป็นมาของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เกิดจากการสำรวจหาแหล่งเชื้อเพลิงในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา ปรากฏว่าพบถ่านหินลิกไนต์ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงมีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้ เพื่อใช้ในทางราชการเท่านั้น 

ปี พ.ศ. 2497 รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนท์ เพื่อดำเนินกิจการเหมืองถ่านหิน มีการเปิดทำเหมืองที่แม่เมาะ เพื่อผลิตถ่านลิกไนต์จำหน่ายให้แก่โรงบ่มใบยาสูบ การรถไฟ และโรงงานปูนซีเมนต์ เมื่อรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ได้รวมเอากิจการของการลิกไนท์ (กลน.) การไฟฟ้ายันฮี (กฟย.) และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ (กฟ.อน.) รวมเป็นหน่วยงานเดียวกันคือ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 เหมืองแม่เมาะจึงอยู่ในความดูแลของ กฟผ. ตั้งแต่นั้นมา และเป็นเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2515 ได้เริ่มโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะจำนวน 3 หน่วย ขนาดหน่วยละ 75 เมกะวัตต์ พร้อมกับขยายเหมืองแม่เมาะ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตถ่านหิน จากที่เคยผลิตได้วันละแสนกว่าตันเป็นล้านตัน จนถึงปัจจุบัน กฟผ. ได้ก่อสร้างและติดตั้งหน่วยผลิตไฟฟ้าเสร็จสิ้นไปแล้ว 14 หน่วย

10 กุมภาพันธ์ วันอาสารักษาดินแดน หน่วยพลเรือนอาสาผู้เสียสละเพื่อบ้านเมือง

จากจุดเริ่มต้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงก่อตั้ง 'กองเสือป่า' เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 เพื่อฝึกอบรมข้าราชการและพลเรือน ได้เรียนรู้วิชาทหารเพื่อฝึกซ้อมเตรียมกำลังในยามปกติ ทำหน้าที่อาสาสู้ศึกในยามสงคราม โดยถือว่าเป็น 'กองกำลังกึ่งทหาร' ที่จัดตั้งขึ้น เป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทย

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2497 (จึงถือว่าเป็นวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดน) โดยกำหนดให้จัดตั้ง 'กองอาสารักษาดินแดน' เป็นองค์การ ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้กรมการปกครอง (โดยสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน) เป็นหน่วยบริหารจัดการ โดยมีแนวคิดในการจัดตั้งดังนี้

การป้องกันประเทศเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน มีกำลังสำรองไว้ช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ ทั้งในยามปกติและในยามสงคราม

กองอาสารักษาดินแดน แบ่งส่วนราชการออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

ส่วนกลาง มีกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (บก.อส.) เป็นหน่วยบริหารจัดการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (ผบ.อส.)

ส่วนภูมิภาค มีกองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด (บก.อส.จ.) เป็นหน่วยบริหารจัดการ

โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด (ผบ.อส.จ.)

มีหน่วยระดับปฏิบัติ เรียกโดยรวมว่า กองร้อยอาสารักษาดินแดน (ร้อย.อส.) และมีกำลังพลระดับปฏิบัติ ที่สำคัญ ได้แก่ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน เรียกโดยย่อว่า สมาชิก อส. ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ในหลวง ร.9 พระราชทานชื่อ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Suvarnabhumi Airport’

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นภาษาอังกฤษว่า 'Suvarnabhumi Airport' และพระราชทานความหมายของคำว่า 'สุวรรณภูมิ' คือ 'แผ่นดินทอง' แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า 'Golden Land'

สำหรับประวัติความเป็นมาของสนามบินสุวรรณภูมินั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่รัฐบาลทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ซื้อที่ดินหนองน้ำ 20,000 ไร่ บริเวณหนองงูเห่า จังหวัดสมุทรปราการในปี พ.ศ. 2516 สำหรับสร้างสนามบินใหม่

จากนั้นเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปีต่อมา รัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้เห็นว่า สนามบินมีความสำคัญต่อการส่งเสริมและพัฒนาความเจริญด้านเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว และด้านอื่นของประเทศเป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงกำหนดให้ การก่อสร้าง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องร่วมกันดำเนินการแบบบูรณาการ เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย จึงได้เร่งการก่อสร้างตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ. 2545

สนามบินได้เปิดทดลองใช้ในเช้าวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 โดยมีสายการบินภายในประเทศ 6 สายการบินร่วมทดลอง ได้แก่ การบินไทย นกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ พีบีแอร์ และ โอเรียนท์ไทย โดยมีจำนวนผู้โดยสาร 4,800 คน จาก 24 เที่ยวบิน โดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางจากสนามบินดอนเมืองมายังสนามบินสุวรรณภูมิ 

ต่อมา ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร คณะรัฐประหารตัดสินใจยึดกำหนดการเปิดสนามบินอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 ตามเดิม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top