Monday, 29 April 2024
THESTUDTYTIMESSTORY

คุณตาล วัณย์ทิศากร พิณแพทย์ | THE STUDY TIMES STORY EP.8

บทสัมภาษณ์ คุณตาล วัณย์ทิศากร พิณแพทย์ ตำแหน่ง Client form publishing generalist, Privat bank Julius baer, เมืองซูริค, สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อชีวิตในฝัน ตัดสินใจลัดฟ้าใช้ชีวิตหลังแต่งงานที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มากกว่า 20 ปี

คุณตาล เป็นสาวชาวไทย ที่ตัดสินใจบินลัดฟ้าไปใช้ชีวิตหลังแต่งงานอยู่ที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ณ ปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง Client form publishing generalist, Privat bank Julius baer

คุณตาลเล่าว่าชีวิตที่สวิส เป็นอะไรที่ง่าย เพราะทุกอย่างตรงเวลา ใช้การโดยสารรถไฟเป็นหลักในการเดินทางไปทำงานในเมืองซูริค

ย้อนกลับไป 20 ปีที่แล้ว
คุณตาลรู้จักกับแฟนตอนอายุ 20 ปี ขณะเรียนอยู่ระดับปวส. ช่วงใกล้จบได้ทบทวนตัวเองแล้วว่าวุฒิปวส. ที่ไทยไม่สามารถนำมาทำอะไรได้ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่ออายุได้ 21 ปี จึงตัดสินใจแต่งงานมาใช้ชีวิตอยู่ที่สวิส ซึ่งเหตุการณ์นี้เองทำให้คุณพ่อของคุณตาลโกรธ จนไม่พูดด้วย แต่มีคุณแม่ที่เข้าใจ และคอยซัพพอร์ต

คุณตาลเล่าว่า เริ่มต้นชีวิตที่สวิส เหมือนการนับจาก -1 เหมือนโดนจับโยนลงใส่น้ำเย็น ต้องจัดการชีวิตตัวเอง ด้วยตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องของภาษา จาก เอ บี ซี ของภาษาอังกฤษ ต้องมาเริ่ม อา เบ เซ ในภาษาเยอรมัน คุณตาลเรียนภาษาอยู่ประมาณ 4 เดือน ที่ที่คุณตาลอยู่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาราชการ ส่วนภาษาทั่ว ๆ ไปที่ใช้ คือภาษาสวิส ที่นี่ไม่มีภาษาเขียนมีแต่ภาษาพูด ในระหว่างนั้นต้องคิดเป็นภาษาไทย พูดอังกฤษ ฟังสวิส เขียนเยอรมัน พางงไปหมด

ในแง่ของการฝึกภาษา คุณตาลเล่าว่า ตนเรียนรู้จากวิถีชีวิตของทุกคน มีเพื่อนส่วนใหญ่เป็นคนสวิส หากอยากจะเข้าถึงภาษาของเจ้าของภาษาจริง ๆ ต้องคุยกับคนสวิสให้เยอะ คุณตาลมีความเชื่อว่าภาษาต่างประเทศนั้นไม่ใช่ภาษาของเรา การพูดผิดถือว่าไม่แปลก ถ้าเราไม่พูดเราก็จะไม่ผิด แต่เราก็จะไม่ได้เรียนรู้เลย เพราะฉะนั้นต้องกล้าพูด ฝึกฝนด้วยการคุยกับผู้คนเยอะ ๆ จะได้สำเนียงด้วย 

งานแรกที่คุณตาลไปสมัคร คือ งานล้างจานในร้านอาหารของบริษัทไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในรัฐซูริค ทำในตำแหน่งล้างจานอยู่ 4 เดือน จนได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยแม่ครัว สลับกับแคชเชียร์ ทำอยู่ที่นี่ได้ประมาณ 15 เดือนก็ต้องลาออก เพราะยังรับกับวัฒนธรรมของที่นี่ไม่ค่อยได้ ยังอ่อนไหวกับสิ่งต่าง ๆ อยู่มาก

ความยากในการไปใช้ชีวิตอยู่ที่สวิสของคุณตาล คือความคิดถึงครอบครัว เพราะในสมัยก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ต จะติดต่อกับแม่ได้ต้องไปซื้อบัตรโทรศัพท์ ร้องไห้บ่อยแต่กลับไม่เคยรู้สึกท้อ

วัฒนธรรม วิถีชีวิตคนสวิส
คุณตาลเล่าว่า บริบทของคนรอบตัวคุณตาล ไม่มีใครสนใจชุดความคิดที่ว่า เธออ้วนขึ้น ผอมลง ดำไหม ขาวไหม ถือกระเป๋ายี่ห้ออะไร ได้เงินเท่าไหร่ ที่ประเทศไทยอาจมีคนถามว่าทำไมผิวเธอดำจัง แต่ที่สวิสคนจะทักว่า ทำไมสีผิวเธอสวยจัง อยากได้สีผิวแบบนี้ คนสวิสที่คุณตาลรู้จัก ให้ค่ากับชีวิตของตัวเอง ใช้ชีวิตของตัวเองเป็นไปตามครรลอง ตื่นเช้ามาเคยทำอะไรก็ทำ ทำงาน ท่องเที่ยว เข้าฟาร์ม มีความสุขกับสิ่งที่ทำ 

การทำงาน
ที่สวิสจะคิดการทำงานเป็นเปอร์เซ็นต์ 100 เปอร์เซ็นต์ คือทำงานปกติ กินเงินเดือนเต็ม ทำงานอยู่ที่ 40-43 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือหากจะหางานที่สามารถทำแค่ 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ คือทำ 4 วัน หยุด 3 วัน ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับที่คุณตาลกำลังทำอยู่ ตอนเริ่มทำแรก ๆ คุณตาลเริ่มทำเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ คือสองวันครึ่งต่อสัปดาห์ แต่ตอนนี้เพิ่มขึ้นมา ก็ได้เงินเยอะขึ้น โดยสวัสดิการจะขึ้นอยู่กับรูปแบบงาน ว่าเป็นพนักงานประจำ ชั่วคราว หรือรายชั่วโมง แต่การจ่ายเงิน pension จะจ่ายตามเปอร์เซ็นต์งาน หากเกษียณก็จะได้เงินแค่ส่วนนั้น

บ้านอายุ 151 ปี
ที่สวิสบ้านจะมีอายุเก่าแก่ทั้งนั้น เพราะมีการสร้างที่ดีมาก บ้านที่คุณตาลอยู่มีอายุ 151 ปี เป็นบ้านไม้ โดยส่วนใหญ่บ้านที่สวิสจะมีห้องใต้ดินทุกบ้าน ไว้สำหรับเก็บของ ส่วนหลังบ้านของคุณตาล จะมีส่วนต่อเติมเรียกว่าเป็นห้องหลังบ้าน เหมือนตู้เย็น หน้าหนาวทำให้น้ำกลายเป็นน้ำแข็งได้เลย 

ความพอใจกับชีวิต ณ วันนี้
คุณตาลเล่าว่าพึงพอใจกับชีวิต ณ วันนี้มาก อยู่ที่ในอนาคตเรามองเห็นตัวเองยังไง ในวันนั้นคุณตาลมองเห็นตัวเองยืนอยู่ตรงนี้ และนำพาตัวเองไป ไม่ได้รอว่า ฉันอยู่ตรงจุดนั้น แล้ววันนึงฉันจะได้ไปอยู่ เราอยากเป็นคนแบบไหน เราต้องพาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนั้น ใกล้ ๆ กับคนแบบนั้น แล้วเราจะกลายเป็นคนแบบนั้นไปด้วย ทำดี คิดดี ไม่ว่าจะทำอะไรหากเรามีความมุ่งมั่นมากพอ เราทำได้หมด

ฟาร์มบนพื้นที่ 44 ไร่
ฟาร์มของสามีคุณตาลนั้นอยู่ห่างจากบ้าน 2 กิโล เป็นพื้นที่พิเศษที่ทางรัซซูริคขีดโซนแดงไว้ว่า ห้ามกระทำการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ฟาร์มมีต้นไม้ประมาณ 80 กว่าต้น บนเนื้อที่ 44 ไร่ มีแอปเปิ้ล ลูกแพร์ ลูกพลัม เชอรี่ ถั่ววอลนัท แบล็กเบอรี่ ราสเบอรี่ องุ่น มีแพะยี่สิบกว่าตัว มีผลผลิตที่เก็บทานได้ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มีเวลาสบาย ๆ ถือว่าเป็นชีวิตที่สมบูรณ์แบบและน่าอิจฉาไม่น้อย

.

.

.

คุณชัช สิรวิชญ์ ทีวะกุล | THE STUDY TIMES STORY EP.9

บทสัมภาษณ์ คุณชัช สิรวิชญ์ ทีวะกุล ปริญญาโท European Public Law Organization, กรีซ 
กำลังศึกษาปริญญาเอก Université Toulouse Capitale, ฝรั่งเศส ปรับจิตใจให้แข็งแกร่ง จากความกดดันในประเทศที่ล็อกดาวน์กับการเรียนที่หนักหน่วง

คุณชัช จบการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน นิติศาสตรบัณฑิต และนิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) มธ., เนติบัณฑิตไทย I.I.LLM. (กฎหมายมหาชนยุโรป) ที่ EPLO กรีซ ปัจจุบันทำงานที่ศาลปกครองสูงสุด ตำแหน่งพนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ อยู่ในระหว่างการลาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ Université Toulouse Capitale, ฝรั่งเศส ซึ่งขณะนี้คุณชัชอยู่ฝรั่งเศสเป็นระยะเวลา 7-8 เดือน ท่ามกลางสถานการณ์การล็อกดาวน์รอบที่ 3 

หลักสูตรที่คุณชัชกำลังศึกษาอยู่ เพื่อเตรียมตัวเข้าเรียนในระดับปริญญาเอก คือ หลักสูตรที่เรียกว่า DUEF เป็นหลักสูตรการศึกษาภาษาฝรั่งเศส ที่ได้ประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาตรี  เพราะในการวัดระดับภาษาจะมีการแบ่งความเชี่ยวชาญเป็นระดับ การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยชั้นสูง ปริญญาโท-เอก ระดับภาษาฝรั่งเศสขั้นต่ำที่ต้องได้คือ ระดับ B2 

คุณชัชเล่าว่า เป้าหมายหลักของนักเรียนที่เรียนภาษาที่ 3 คือทำยังไงก็ได้ให้สอบผ่านระดับ B2 อย่างของฝรั่งเศสจะเป็นการสอบ DELF-DALF  แล้วแต่ว่าจะใช้แบบไหน หลักสูตร DUEF ที่คุณชัชเรียนอยู่เป็นประกาศนียบัตรที่สามารถใช้เทียบเท่าได้เหมือนกับการสอบ Delf แต่มีรายละเอียดที่ยากกว่า เนื่องจาก การสอบ Delf คือสอบฟัง พูด อ่าน เขียน แต่การสอบ DUEF สอบฟัง พูด อ่าน เขียนเหมือนกัน แต่โครงสร้างหลักสูตรจะมีรูปแบบคือ เรียน 8 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งครึ่งเช้า ครึ่งบ่าย ครึ่งเช้าจะเป็นคอร์สภาษา แกรมม่า ฟัง พูด อ่าน เขียน โต้ตอบกับอาจารย์เจ้าของภาษา 

ส่วนวิชาภาคบ่าย เป็นวิชาเลือก 4 วิชา บังคับเลือก 1 คือ วิชาเสริมเพิ่มพูนคำศัพท์ ส่วนอีก 3 วิชาจะเลือกอะไรก็ได้ เช่น วิชาวรรณกรรมฝรั่งเศสเบื้องต้น วิชาเศรษฐศาสตร์ วิชาการเมืองการปกครอง วิชาวัฒนธรรม โดยเรียนเป็นภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด 

ความยากก็คือหลักสูตรนี้ถูกคิดมาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กที่จบชั้นมัธยมและกำลังจะไปรียนต่อในระดับปริญญาตรีของฝรั่งเศส มีการเรียนรวมกับผู้คนที่หลากหลาย ทั้งเด็กที่จบปริญญาตรีจากประเทศอื่นแล้วจะมาเข้าเรียนโทที่ฝรั่งเศส หรือมาเรียนต่อปริญญาเอก หรือผู้ที่ใช้ชีวิตมีครอบครัวอยู่ที่นี่ การมาเรียนที่นี่ได้ประโยชน์คือทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียนที่เข้มข้น เรียนรู้วิธีคิด รวมถึงวิชาพื้นฐานของประเทศฝรั่งเศสด้วย ข้อเสียเดียวคือเรียนหนัก    

การเรียนในประเทศฝรั่งเศสนั้น คุณชัชเล่าว่า มีความเป็นแบบแผน การที่จะเขียนงาน นำเสนองาน จะมีการวางแพลนเป็นรากฐานการแสดงความคิดเห็นทุกอย่าง มีการวางโครงสร้างว่าจะพูดเรื่องอะไร ปัญหาที่จะพูดคือเรื่องอะไร ข้อโต้แย้ง การให้เหตุผลสนับสนุน โดยสิ่งนี้จะแทรกซึมอยู่ในทุกเรื่องของการเรียนระดับสูงที่ฝรั่งเศส ตั้งแต่การพูดและการเขียนตอบข้อสอบ เพราะเป็นเรื่องที่เด็กฝรั่งเศสได้ฝึกมาตั้งแต่ระดับประถมและมัธยม

การเรียนปริญญาโทที่กรีซ 
คุณชัชได้ไปเรียนปริญญาโทที่ European Public Law Organization ประเทศกรีซ ในหลักสูตร Academy of European Public Law เน้นศึกษาเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายมหาชนยุโรป ลักษณะการเรียนเป็นความรู้ที่บูรณาการสองเรื่อง หัวใจหลักคือ ศึกษาพลวัตของกฎหมายในยุโรปว่าแนวคิดของแต่ละประเทศส่งผ่านไปอีกประเทศนึงได้อย่างไร และแนวคิดของกฎหมายกลางที่เป็น Community Law อย่างสหภาพยุโรป ส่งผลยังไงต่อกฎหมายปกครอง กฎหมายมหาชนภายในประเทศต่าง ๆ โดยเนื้อหาเป็นเรื่องที่คุณชัชสนใจอยากจะศึกษาต่ออยู่แล้ว 

ลักษณะการไปที่กรีซเหมือนกับการไปเอาความรู้เพิ่มกับอาจารย์และไปพรีเซนต์ เพราะ 1 เดือนก่อนจะบินได้ให้เตรียมตัวอ่านทุกอย่างที่มอบหมายมา ไปถึงวันแรกก็ทำการดีเบตเลย

การบริหารจัดการเวลา
การจัดการเวลาสำหรับคุณชัชมีความยากสองอย่าง คือ เรื่องการเตรียมตัวและบินไปเรียน ในปีแรกลักษณะการเตรียมตัวจะแตกต่างกัน รู้อยู่แล้วว่ามีช่วงเวลาที่ต้องลาไปศึกษาต่อ ได้มีการทำเรื่องลาหน่วยงานเจ้าของสังกัด ซึ่งคุณชัชได้รับความกรุณาจากสำนักงานศาลปกครองเป็นอย่างดี ช่วงก่อนการเตรียมตัวหนึ่งเดือน เตรียมสอบ เตรียมเขียนงาน การแบ่งเวลาไม่สามารถเอาเวลาราชการมาทำเรื่องพวกนี้ได้เลย เพราะเป็นเวลางาน จึงต้องรู้เทคนิคตัวเองว่าใช้เวลาเขียนงานนานไหม เตรียมตัวนานหรือไม่ บริหารจัดการเวลาให้ดี รู้จักตัวเองก่อน ว่าเรามีข้อจำกัดอะไร อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ จะช่วยให้เราคิดกลยุทธ์ในการรับมือได้ดีขึ้น แต่ในปีที่สองมีความลำบากเพราะต้องเรียนผ่าน Zoom เวลา Time Zone ไม่เหมือนกัน ทำให้ต้องเรียนช่วงดึกและตื่นไปทำงานเช้า 

แรงผลักดันที่ทำให้ใฝ่รู้
คุณชัชเล่าว่า ความรู้ที่ได้จากการทำงาน เป็นความรู้ที่ไม่เหมือนกับการเรียน แต่ทั้งสองอย่างสอดคล้องกัน หมายความว่า เวลาทำงานไปสักพักเราจะรู้ว่ามีเรื่องที่เราอยากจะรู้มากขึ้น ในขณะที่การเรียนไปเรื่อย ๆ เราจะเริ่มรู้สึกว่า เรื่องที่เราเรียนจะนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงอย่างไร การบาลานซ์สองอย่างคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

Professor ท่านหนึ่งกล่าวว่า นักกฎหมายในศตวรรษใหม่ที่ต้องการ ควรเป็นรูปแบบ T-Shape หมายถึง มีความรู้กว้าง และรู้ลึกในด้านใดด้านหนึ่ง 

ความแตกต่างในการเรียนต่างประเทศเทียบกับในไทย
ในเรื่องของระบบการศึกษานั้น คุณชัชเล่าว่า หากเราเริ่มจากศูนย์โดยที่ไม่รู้อะไรเลย การได้รับข้อมูลหรือการได้รับการปูพื้นฐานที่ถูกต้องก็มีความจำเป็น เพราะฉะนั้น Lecture-based ยังมีความจำเป็นอยู่ในทุกประเทศ เพียงแต่สิ่งที่ต่างคือการผสมกันระหว่างหลักสูตรที่เป็น Lecture-based  กับการแลกเปลี่ยน ตั้งคำถามระหว่างอาจารย์ ถ้าเราไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อนก็ไม่สามารถไปดีเบตอะไรกับอาจารย์ได้ ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้ได้จากหลากหลายวิธี มีข้อมูลชุดใหม่ ๆ Lecture-based อาจต้องปรับตัวมากขึ้น การเพิ่มความมีส่วนร่วมระหว่างนักศึกษากับอาจารย์เป็นสิ่งสำคัญ และการให้ความสนใจกับนักศึกษาเป็นรายบุคคลว่าเขามีความสนใจเรื่องอะไรก็สำคัญเช่นกัน

ประเทศกรีซ    
คุณชัชเล่าว่า เมืองเอเธนส์, กรีซ เป็นประเทศที่เหมาะกับการไปเรียนและสัมมนา เป็นสถานที่ที่คุณชัชชอบ อาหารอร่อย แดดแรงทุกวัน คนอาจจะรู้สึกว่ากรีซเป็นประเทศที่ไม้ใช้ภาษาอังกฤษ แต่ความจริงแล้วกรีซเป็นประเทศท่องเที่ยว ผู้คนพูดภาษาอังกฤษได้ คุณชัชไม่มีปัญหาในการใช้ชีวิตที่กรีซแม้แต่นิดเดียว

การใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศส ณ ปัจจุบัน
เพราะการไปเรียนต่างประเทศต้องเคยมีประสบการณ์ที่จำไม่ลืม คุณชัชเล่าว่า โควิดทำให้ทุกอย่างยากขึ้นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนมา เรื่องของความแพนิคในใจ แต่เมื่อมาถึง ความรอบคอบจะช่วยให้คุณมีชีวิตประจำวันที่ง่ายขึ้น ดีขึ้น นอกจากนี้คือการบริหารจัดการ

การเรียนปริญญาเอกต้องใช้เวลากว่า 3 ปีครึ่ง – 4 ปี หรือยาวนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ต้องบริหารจัดการตัวเองให้ดี เป้าหมายของคุณชัช ณ วันนี้คือ อยากทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวข้องกับทฤษฎีสัญญาทางปกครอง หลังเรียนจบปริญญาเอกจะนำความรู้ที่ได้พร้อมความรู้จากการทำวิจัยกลับมาใช้กับงานแน่นอน

สุดท้ายสิ่งที่คุณชัชอยากแนะนำน้อง ๆ ที่สนใจศึกษาต่อต่างประเทศ คือ อย่ากลัว ศักยภาพของทุกคนมีอยู่แล้ว ทุกคนสามารถเปล่งประกายในทางที่ตัวเองชอบได้ เพราะฉะนั้น อย่ากลัวที่จะเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ออกไปนอกพรมแดนเพื่อสำรวจสิ่งที่ไม่ใช่ชีวิตประจำวัน เพราะการไปเรียนเมืองนอกคือการออกจาก Comfort Zone มีการทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ตัวเองไม่เคยทำเยอะมาก และบางทีเกิดความกลัวว่าเราจะทำได้ไหม เราจะล้มเหลวหรือเปล่า ความผิดหวัง ความผิดพลาด เป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครสมบูรณ์แบบตั้งแต่แรก แต่สิ่งที่ทำให้เราแตกต่าง คือ การลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนอื่นด้วย 

เพราะฉะนั้น คนที่คิดว่าอยากไปเรียนต่อเพื่อหาโอกาสที่ดี สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ถามตัวเองว่า พร้อมไหมที่จะออกมาจาก Comfort Zone เพราะการทำอะไรก็ตาม ต้องใช้ความพยายามและความพากเพียร อย่ากลัวที่จะไปถึงตรงนั้น ข้างนอกมีตัวช่วย และโอกาสมากมายที่จะหยิบยื่นมาให้ 

 


.

.

.

คุณแกว่น กวิล นาวานุเคราะห์ | THE STUDY TIMES STORY EP.13

บทสัมภาษณ์ คุณแกว่น กวิล นาวานุเคราะห์ ปริญญาโทด้านสื่อสารทางการเมือง University of Missouri, St.Louis (UMSL), สหรัฐอเมริกา 
วิชาการสื่อสารทางการเมืองที่เข้มข้น เพิ่มศักยภาพการสื่อสารผู้นำรุ่นใหม่

คุณแกว่นเรียนจบปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุดเริ่มต้นในการเรียนรัฐศาสตร์คือความสนใจเรื่องมหภาค ตอนเด็กเป็นคนไม่ชอบคณิตศาสตร์ คิดว่าชอบด้านภาษามากกว่าคำนวณ พยายามหาข้อมูลว่าอะไรที่ทำให้เราเข้าใจคนหมู่มาก และเข้ากับตัวเองมากที่สุด จนได้มารู้จักด้านรัฐศาสตร์ ที่เป็นความเข้าใจหลักคิด กระบวนการระหว่างคนกับคน คนกับรัฐ รัฐกับรัฐ ศาสตร์พวกนี้จำเป็นต้องมีอาจารย์สอน และส่วนตัวชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ไม่ชอบดูละครหรือการ์ตูนมากนัก เลยคิดว่ารัฐศาสตร์น่าจะเหมาะ

ช่วงฝึกงานในชั้นปี 4 คุณแกว่นได้ไปฝึกที่เนชั่นทีวี เริ่มเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในขาของสื่อสารมวลชน เลยรู้สึกว่าเปิดโลก รายการที่ไปฝึกงานคือรายการทีวีที่ชื่อว่า สภากาแฟ ซึ่งนำคนที่อยู่ใน Topic ต่าง ๆ ที่กำลังเป็นที่สนใจในสังคมมานั่งล้อมวงร่วมพูดคุยกัน ทำให้รู้สึกว่าได้ประโยชน์ต่อผู้ชม และเป็นสาขาที่สนใจด้วยเหมือนกัน เมื่อเรียนจบก็ทำการหาข้อมูลว่ามีสาขาวิชาใดบ้างที่สามารถต่อยอดความสนใจทั้งสองอย่างให้อยู่ด้วยกัน ทำให้ไปเจอว่ามีสาขาที่เรียกว่า สื่อสารการเมือง จึงมองหาโอกาสในการเรียนต่อ เพื่อตอบสนองความสนใจและความอยากรู้ของตัวเอง 

กระทั่งไปเจอ Professor ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้คุณแกว่นตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท ด้านสื่อสารทางการเมือง ที่ University of Missouri, St.Louis (UMSL) สหรัฐอเมริกา เพราะมีความสนใจและอยากเรียนกับ Professor ท่านนี้ที่สอนอยู่ และรู้สึกว่าตัวเองเข้ากับวัฒนธรรมอเมริกันได้มากกว่า เพราะเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่รัฐโคโลราโดมาก่อน ปักใจว่าเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ ผู้คนหลากหลาย และอเมริกาเปิดโอกาสในการทำงานอย่างอื่นขณะที่เรียนได้ และด้วยระยะเวลาหลักสูตร 2 ปี น่าจะทำให้มีโอกาสในการเห็นโลกและใช้ชีวิตได้มาก

ความคาดหวังเรื่องการเรียนในตอนนั้นคือ ไปเอาวิชาจากผู้ที่เป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลก สุดท้ายก็ได้ตามที่คาดหวัง เพราะได้เรียนกับเขา ได้เห็นมุมมอง ได้ช่วยทำงาน ใช้ชีวิตด้วยกันช่วงหนึ่ง ส่วนเรื่องชีวิตไม่ได้คาดหวังความสนุกสนาน เพียงแต่คาดหวังว่าจะได้ใช้ชีวิตแบบที่ไม่เคยใช้ในเมืองไทยมาก่อน ซึ่งพออยู่ที่อเมริกา สิ่งเย้ายวนมีมาก หากมีวินัยมากพอ ก็จะได้ในสิ่งที่ต้องการ คุณแกว่นได้ฝึกตัวเองในเรื่องของการดูแลตัวเอง ความรับผิดชอบที่มากขึ้น คาดหวังว่าจะโตขึ้น ซึ่งคุณแกว่นคิดว่าได้ตามที่คาดหวังไว้

คุณแกว่นอธิบายว่า Political Communication หรือ สื่อสารการเมือง หลักๆ เรียนเรื่องของทฤษฎีการเมืองก่อน ต้องเข้าใจว่าทฤษฎีการเมืองแต่ละอย่างที่มีเป็นอย่างไร ต่อมาคือทฤษฎีการสื่อสาร การสื่อสารเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่สำคัญคือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพทำอย่างไร นำมาประยุกต์กับทฤษฎีการเมืองที่เรียน
เพราะมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมท่ามกลางคนเก่ง ๆ สิ่งที่คุณแกว่นได้มาคือ สกิล  “Learn-Unlearn-Relearn”  โดย Unlearn ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นกว่า Learn เพราะคือการสลายตัวตน ทิ้งอัตตา ทิ้งสิ่งที่เคยเรียน เคยรับรู้ เพื่อจะRelearn คือการเรียนรู้ รับรู้ข้อมูลใหม่ ๆ นำมาใช้ สุดท้ายแล้วแนวคิดนี้สัมพันธ์และสามารถนำมาใช้ได้กับทุกเรื่อง

สำหรับการสื่อสารในประเทศไทยนั้น คุณแกว่นอธิบายว่า การสื่อสารประกอบด้วย 3 สิ่ง คือ ผู้ส่งสาร สาร ผู้รับสาร มองแยกไปทีละส่วน ผู้ส่งสารได้ทำการส่งสารอย่างถูกต้อง มีสติสัมปชัญญะ มีการคิดคำนวณที่ดีก่อนที่จะส่งไปหรือไม่ ต่อมาคือ สาร เป็นพิษเป็นภัยต่อคนอื่นหรือไม่ ชัดเจนตรงประเด็น มีคุณภาพหรือไม่ และผู้รับสาร มีความสามารถในการพิจารณา คิด วิเคราะห์ แยกแยะ สารที่ได้รับ ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อ หรือทำอะไรกับสารนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงกันทั่วโลก 

ในด้านการสื่อสารของประเทศไทย ตอนนี้มีการกระจายตัวค่อนข้างเยอะ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ผู้ส่งสาร สาร ผู้รับสาร ค่อนข้างจะเป็น Mass Media (ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์) ซึ่งสามารถควบคุม ตรวจสอบได้ง่าย แต่ในปัจจุบันเริ่มกระจายเป็นโซเชียลมีเดีย หลายแพลตฟอร์ม หลายช่องทาง ในส่วนตัวคุณแกว่นมองว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะเมื่อมีการกระจายไปในหลายแพลตฟอร์ม บางครั้งสารไม่ได้รับการผลิตออกมาอย่างดี 

คุณแกว่นกล่าวว่า คนเราจะสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจของสารต่าง ๆ ที่ได้รับมาก่อน เท่าที่คุณแกว่นเห็นมา ส่วนมากเด็กไทยเก่งเรื่องการจำ แต่สิ่งที่เด็กไทยยุคนี้ยังทำได้ไม่ดี คือ การสังเคราะห์ ซึ่งการสังเคราะห์ คือ การนำสิ่งที่เราแยกแยะมาประกอบร่างและสร้างเป็นสิ่งใหม่ 

สิ่งสำคัญที่คุณแกว่นอยากให้เกิดขึ้นในเมืองไทย คือ การพัฒนาความรู้ ความคิดต่อยอด สามารถสังเคราะห์ข้อมูลความรู้ที่เรามี เกิดขึ้นมาเป็นสิ่งใหม่ได้ 

ย้อนกลับไปช่วงที่ไปเรียนอเมริกา คุณแกว่นเล่าว่าได้ทำงานเยอะมาก เพราะคุณพ่อออกให้แค่ค่าเทอม ฉะนั้นต้องช่วยเหลือตัวเองในเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัว จึงทำตั้งแต่งานในมหาวิทยาลัย ทั้งเป็นคนเรียงหนังสือในห้องสมุด, proctor, ผู้ช่วยสอน และทำงานที่ร้านอาหารในเมือง

ปัจจุบันหลังจากกลับมาจากต่างประเทศ คุณแกว่นยังคงทำงานที่หลากหลาย เป็น Co-Founder 3 บริษัท หนึ่งคือบริษัททำด้านของพรีเมี่ยมให้แบรนด์ฟอร์ด บริษัทที่สองคือเป็นที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ บริษัทที่สามทำเกี่ยวกับ Marketing Agency นอกจากนี้ส่วนตัวคุณแกว่นยังเป็นที่ปรึกษาทางด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจให้อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์

สุดท้ายคุณแกว่นฝากถึงคนรุ่นใหม่ ในการรับสารและสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ไว้ว่า ตอนนี้มีข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลเยอะ เพราะฉะนั้นสกิลสำคัญที่จะทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ด้วยดี คือรู้จักการแยกแยะ และเลือกที่จะรับข้อมูล อีกอย่างที่จำเป็นมากคือสกิลในการไตร่ตรองพิจารณาข้อมูลที่เข้ามาก่อน ว่าข้อมูลที่เราได้รับมาจริงหรือไม่ก่อนที่เราจะตัดสินใจเชื่อ เพราะข้อมูลในทุกวันนี้มีเยอะ และไม่ได้รับการกรองที่ดีก่อนมาถึงเรา จึงต้องมีทักษะในการพิจารณา หาข้อมูล และตัดสินเมื่อมั่นใจแล้วว่าข้อมูลนั้นจริง

.

.

คุณแจ๊ค น.สพ. ดร. มนูศักดิ์ วงศ์พัชรชัย | THE STUDY TIMES STORY EP.14

บทสัมภาษณ์ คุณแจ๊ค น.สพ. ดร. มนูศักดิ์ วงศ์พัชรชัย ได้รับทุนส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Post-doctoral researcher, BioTechnology Institute, University of Minnesota, สหรัฐอเมริกา 
เรื่องราวทุนการศึกษาเปลี่ยนชีวิต ต่อยอดความฝันทำงานวิจัยระดับโลก

ปัจจุบัน ดร. แจ๊ค เป็นนักวิจัยอยู่ที่บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี โดยจุดเริ่มต้น ดร. แจ๊คเรียนจบปริญญาตรี เกียรตินิยม จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้มีโอกาสเสนอขอทุนของมหาวิทยาลัย เรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกได้เลย ซึ่งในปีนั้นทางจุฬาฯ มีอายุครบ 90 ปี มีกองทุนใหม่ชื่อว่า กองทุนจุฬาดุษฎีพิพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งดร. แจ๊ค ถือเป็นรุ่นแรกของกองทุนนี้ เงื่อนไขของทุน คือ หากเรียนในคณะที่ประเทศขาดแคลน ต้องได้เกียรตินิยมเป็นอย่างน้อย จึงจะมีสิทธิ์สมัครเข้าไป หากอยู่ในคณะที่ประเทศไม่ขาดแคลน ต้องติด Top10 ของคณะ ซึ่งสายวิทยาศาสตร์ของดร. แจ๊ค ขณะนั้นรับอยู่ 8 คน 

ในการเรียนต่อปริญญาโทและเอก ดร. แจ๊คยังคงเรียนอยู่ในคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ โดยเป็นสัตวแพทย์สาธารณสุข ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงที่ไข้หวัดนกระบาดหนักในประเทศไทย 

ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว ดร. แจ๊คเล่าว่า การเรียนสัตวแพทย์ ที่จุฬาฯ นักศึกษาชั้นปี 1-4 ทุกคน ที่มีอยู่ร้อยกว่าคนในรุ่น จะเรียนเหมือนกันหมด พอถึงปี 5 จะแยกครึ่งนึงไปฝึกงาน ซึ่งดร. แจ๊คได้ไปฝึกงานทั้งในโรงพยาบาลสัตว์ คลินิกสัตว์เลี้ยง ฟาร์ม เพื่อนำมาตัดสินใจว่าชอบทางไหน และเมื่อขึ้นปี 6 อาจารย์ก็จะให้เลือกสาย โดยดร. แจ๊คเลือกไปทางสายฟาร์ม ในช่วงปี 6 มีภาควิชาสัตวแพทย์สาธารณสุข ที่จะเรียนเกี่ยวกับ DNA เล็ก ๆ ต้องใช้จินตนาการสูง ดร. แจ๊คมีความสนใจทางด้านนี้ เป็นที่มาของการสมัครขอทุนเรียนต่อปริญญาโทและเอกในภาคนี้โดยเฉพาะ

จริง ๆ แล้วดร. แจ๊ค แทบไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ แต่เมื่อได้รับทุน ข้อบังคับของทุนข้อหนึ่ง คือจะต้องไปทำโปรเจคที่ต่างประเทศ ในที่ที่อาจารย์มี contact ซึ่งอาจารย์ของดร. แจ๊ค จบมาจาก Minnesota, สหรัฐอเมริกา จึงได้ให้ดร. แจ๊คลองสมัครไป ผลคือ Professor ที่นั่นสนใจ จึงได้ไปในฐานะนักเรียน ขณะนั้นดร. แจ๊ค เรียนปริญญาเอกที่เมืองไทยได้สองปีครึ่ง ก่อนจะดรอปเรียนและไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ Minnesota หนึ่งปี

เมื่อไปถึงอเมริกาครั้งแรก ดร. แจ๊คถึงกับงง ด้วยความที่ไม่เคยไปต่างประเทศมาก่อน จากนั้นได้แชร์บ้านพักกับนักเรียนจากหลากหลายประเทศจำนวน 12 คน สิ่งที่ทำเมื่อไปถึงคือนำโทรศัพท์มาค้นหาเซเว่นที่ใกล้ที่สุด แต่ใกล้ที่สุดคือห่างจากบ้านพัก 130 ไมล์ เมื่ออยู่ไปสักพักถึงได้รู้ว่าคนที่ Minnesota ค่อนข้างจะเป็นคนอนุรักษนิยม ซัพพอร์ตอะไรที่เป็น Local จึงต้องเรียนรู้ว่าร้านมินิมาร์ท Local ของที่นั่นมีชื่อว่าอะไร

เพราะมีโปรเจคที่ต้องทำให้จบ ในจำนวนเงินและระยะเวลาที่จำกัด ดร. แจ๊คจึงต้องวางแผนคุยกับ Professor ให้แน่นอนว่าอยากทำอะไร และด้วยความที่ยุ่งมากทำให้ไม่มีเวลาไปโฟกัสอย่างอื่น ลืมเรื่อง Homesick ไปเลย นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคในเรื่องของภาษา เพราะถูกสอนมาแต่ในเรื่องแกรมม่า ท่องคำศัพท์ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารบทสนทนาที่จะทำให้ต่างชาติเข้าใจได้ ทำให้มีปัญหาในช่วงแรก ใช้เวลาปรับตัวด้านนี้อยู่เป็นปี โชคดีที่ได้รู้จักกับครอบครัวคนอเมริกันที่คอยชวนไปเที่ยวที่ฟาร์ม ทำความรู้จักกับครอบครัว จึงได้ฝึกภาษามากขึ้น และตัวดร. แจ๊คเองก็พยายามผลักดันตัวเอง ฝึกฝนออกเสียงเรื่อยมา

เมื่อทำงานไปได้สักพัก ทาง Professor และพี่เลี้ยงหรือ Senior Scientists สองคน ที่เป็นชาวญี่ปุ่นและชาวจีน เห็นความขยันของดร. แจ๊ค เมื่อเห็นว่ามีตำแหน่ง Postdoc เปิด จึงให้ลองเข้าไปคุยกับ Professor ที่เปิดรับตำแหน่งนี้ ซึ่ง Professor คนนี้มารู้ทีหลังว่าเป็นผู้อำนวยการของสถาบันวิจัยทาง BioTech ของที่นั่น หลังจากสัมภาษณ์ผ่านก็ได้ทำงานต่อ และอยู่ที่อเมริการวมทั้งสิ้น 4 ปี

อุปสรรคอีกอย่างที่พบตอนไปอเมริกา คือ Professor ของดร. แจ๊คเป็นคนอินเดีย ที่รู้กันดีว่าคนอินเดียส่วนใหญ่จะทำงานโหด เข้มงวดมาก โดนจี้งานเยอะ บางครั้งทำให้ท้อได้เหมือนกัน ดร. แจ๊ค เล่าว่า ต้องทำงานตื่น 7 โมงเช้า เลิกตี 1 ตี 2 ทุกวัน ทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด เป็นแบบนี้อยู่ 1 ปี แต่การถูกเค้นศักยภาพออกมา ผลคือทำให้ได้ผลงานที่ค่อนข้างดี

วิธีที่ทำให้ผ่านช่วงเวลากดดันของดร. แจ๊ค คือ การนั่งสมาธิ เพราะการทำงานหนักไปเรื่อย ๆ รู้สึกเหมือนสมองยุ่งเหยิง ทุกคืนก่อนนอน ดร. แจ๊คจะใช้เวลา 5-10 นาทีในการทำสมาธิเพื่อจัดระบบเซลล์สมอง สองอย่างในชีวิตที่ดร. แจ๊คทำแล้วเห็นผล คือการทำสมาธิ และการเล่นกีฬา 

หากพูดถึงความแตกต่างในด้านองค์ความรู้ระหว่างไทยและต่างประเทศ ดร. แจ๊ค มองว่า ในแง่ของวิชาการ ไม่คิดว่าเมืองไทยด้อยกว่า ศักยภาพเด็กไทยเมื่อไปอยู่ตรงนั้นก็ไม่ด้อยกว่าคนอื่น จุดอ่อนอาจมีเพียงเรื่องของภาษาในช่วงแรก 

ทั้งยังบอกอีกว่า จริง ๆ การจบปริญญาเอกไม่ใช่คนพิเศษอะไร เพียงแต่ผ่านการฝึกกระบวนการผิดมาอย่างหนัก ส่วนการเป็น Postdoc เป็นโปรแกรมที่ทำให้แข็งแกร่งมาอีกขั้น มาถึงตอนนี้ Professor จะบอกเสมอว่า คุณไม่ใช่นักเรียนแล้ว คุณต้องจัดการชีวิตตัวเอง ต้องมั่นใจในสิ่งที่จะทำ ในสิ่งที่จะพูด และรับผิดชอบในคำพูด

สุดท้ายดร. แจ๊ค ฝากไว้ว่า เราจะทำอะไรให้สำเร็จ มันสำเร็จมาจาก Passion เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำอะไรแกมบังคับ จะมีเหตุผลมากมายที่บอกว่า หยุดมันเถอะ แต่ถ้าเราทำงานด้วย Passion แรงผลักดันที่จะทำให้สำเร็จ ยังไงมันก็สำเร็จ ไม่ต้องกลัว  พอเราไปเมืองนอกจริง ๆ เราก็จะไปเจอเพื่อนจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งเขาจะเป็นเหมือนเรา


.

.

คุณกวาง อรอนงค์ วงษ์ประเสริฐ | THE STUDY TIMES STORY EP.21

บทสัมภาษณ์ คุณกวาง อรอนงค์ วงษ์ประเสริฐ Inclusive Educator (นักการศึกษาด้านการศึกษาพิเศษแนวร่วม) ในโรงเรียนเอกชนนานาชาติ
นักการศึกษาด้านการศึกษาพิเศษแนวร่วม ค้นพบจิตวิญญาณของความเป็นครู จากการอยู่กับตัวเอง

ปัจจุบันครูกวางทำงานอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใจกลางทองหล่อ ในตำแหน่ง Inclusive Educator มุ่งเน้นที่ Self-Regulation ช่วยให้เด็กเรียนร่วมกับผู้อื่นได้ 

ครูกวางเป็นคนที่พยายามศึกษาตัวเองตั้งแต่ชั้นมัธยม ที่ผ่านมาเลือกเรียนตามความถนัด ความสนใจ และสิ่งที่ทำได้ดี แต่สิ่งที่ทำให้มีความสุขกลับได้ค้นพบหลังจากนั้น 

งานที่ครูกวางทำอยู่ในปัจจุบัน ให้ความรู้สึกว่า ในทุก ๆ เช้าที่ตื่นขึ้นมาอยากไปทำงาน มีความหมายที่จะได้ไปโรงเรียน ไปเจอนักเรียน ความสำเร็จของครูกวางไม่ใช่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ เป็นความสำเร็จเล็ก ๆ ที่สำเร็จทุกวัน

ย้อนกลับไป ครูกวางเลือกเรียน ปริญญาตรีมนุษยศาสตร์ เอกภาษาไทย (วิชาโท วาทการ) มศว. (ประสานมิตร) ด้วยความตั้งใจครั้งแรกอยากเป็นผู้ประกาศข่าว แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วมีความรู้สึกว่าไม่อยากพูดในสิ่งที่รู้ไม่จริง เลยฉีกไปเป็น พูดในสิ่งที่รู้ รู้ในสิ่งที่พูด ทำให้ตัดสินใจเลือกเอกภาษาไทย กระทั่งได้รับโอกาสเป็นครูภาษาไทยในเอกชนนานาชาติ จนมีจุดหนึ่งที่รู้สึกว่าความพยายามไม่พอ ความสามารถไม่พอ และความถนัดไม่พอ หลังจากนั้นยอมรับความจริงว่าตัวเองยังไม่พอ จึงเลือกไปเรียนต่อ 

การเตรียมตัวด้านภาษา ก่อนเริ่มเรียนปริญญาโท ครูกวางเลือกไปฝึกภาษาอยู่โซนต่างจังหวัดของอังกฤษ เพราะอยากเห็นวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนอังกฤษ หลังจากนั้นได้มาฝึกภาษาอังกฤษที่ลอนดอน มุ่งไปที่ IELTS จริงจังมากขึ้น จนเข้าปีที่สามก็ยังเน้นเรื่องภาษาอยู่ 

เพราะคุยกับตัวเองไว้ว่าจะไม่ทิ้งการสอน ในขณะที่ทำงานในร้านอาหาร ช่วงกลางวันหลังเรียนภาษา คุณกวางก็จะไปสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติที่สถาบัน เช่น นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่รัฐ  

กระทั่งศึกษาต่อปริญญาโท ด้านการศึกษา ที่ Goldsmiths, University of London เรียนเกี่ยวกับ “อัตลักษณ์” (Identity) เมื่อเรียนจบมาทำให้มองคอนเซ็ปต์ของ “อัตลักษณ์” (Identity) เปลี่ยนไป เกิดความคิดขึ้นมาว่า ในฐานะของผู้สอนและความเป็นครู เราควรสอนให้เด็กเบ่งบานที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเติบโตและเบ่งบาน

หลังเรียนจบ ครูกวางยังอยู่ทำงานที่ประเทศอังกฤษต่ออีกสองปี รวมอยู่อังกฤษนานถึง 6 ปี 7 เดือน สิ่งที่ชื่นชอบคือเรื่องของทางเท้า เพราะเป็นคนชอบเดิน รัฐบาลที่นั่นให้ความสำคัญกับการสร้างสาธารณูปโภคเบื้องต้น อีกสิ่งที่ชื่นชอบคือ ลอนดอนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ถ้าอยากจะเห็นความเป็นอังกฤษจริง ๆ ครูกวางแนะนำว่าต้องไปในโซนต่างจังหวัด

เหตุผลที่ครูกวางอยู่อังกฤษนาน เพราะให้ความสำคัญกับพื้นฐาน ทักษะ และการรู้จักตัวเอง โดยเป็นคนที่ทำงานหนักมากและทำงานที่หลากหลาย มีคอนเซ็ปต์ในการใช้ชีวิต คือ ให้โอกาส อย่างน้อยให้โอกาสตัวเองได้ลองทำ จะรู้ว่าสิ่งไหนชอบ สิ่งไหนยังต้องเรียนรู้อยู่

สิ่งที่ทำให้ครูกวางประทับใจในการศึกษาที่อังกฤษ คือ ความเป็นครูผู้ผลักดัน ครูที่ต้องการดันเพดานของเด็ก ด้วยความที่เห็นตัวอย่างสิ่งนี้จาก Professor ของตัวเอง ครูกวางจึงได้ถ่ายทอดสิ่งนี้ส่งต่อไปยังเด็ก ๆ ที่อยู่ในมือ โดยดึงศักยภาพของพวกเขาออกมา สิ่งที่ให้ไปคือเครื่องมือ โดยหวังว่าวันหนึ่งเขาจะนำเครื่องมือไปต่อยอดเอง หรือทำอะไรได้มากกว่านี้

บทบาทการสอน ณ ปัจจุบัน ครูกวางเป็น Inclusive Educator (นักการศึกษาด้านการศึกษาพิเศษแนวร่วม) ในโรงเรียนเอกชนนานาชาติ มีจุดเริ่มต้นมาจากช่วงที่ครูกวางยื่นสมัครงาน มีที่หนึ่งเรียกไปสัมภาษณ์ โดยผู้ใหญ่แจ้งเหตุผลที่เลือกครูกวางไว้ว่า เพราะใน CV ระบุว่าชอบวิ่ง เนื่องจากงานที่ทำต้องมีการวิ่งเล่นกับเด็ก มีความสุขในการขยับตัว งานนี้น่าจะเหมาะ 

สิ่งที่ครูกวางต้องทำในแต่ละวันคือ เด็กจะต้องรู้ Routine ของตัวเอง และการใช้สายตา ต้องมีการวางแผนว่าเด็กแต่ละคนต้องการความช่วยเหลือด้านใด บางคนต้องการความช่วยเหลือด้านพฤติกรรม ด้านภาวะอารมณ์ ด้านพัฒนาการ แต่ในบริบทของการทำงานในห้องเรียนสิ่งที่ต้องทำให้แม่นที่สุด คือ Routine ของเด็ก ๆ เช่น ถ้าเด็กเสียงดัง เราจะสอนเขายังไงให้ใช้เสียงระดับเบาลงมา การทำงานแบบนี้จะทำงานเป็นทีม มีนักบำบัดหลายท่าน ตัวงานต้องใช้ไหวพริบและปฏิภาณเพื่อที่จะอธิบาย

สำหรับครูกวาง เป้าหมายของการทำงานร่วมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ คือ วันใดที่เขาไม่ต้องการเราแล้ว นั่นคือความสำเร็จ จุดมุ่งหมาย คือ สร้างพื้นฐานให้เด็กแต่ละคน เพื่อที่จะให้เขาไปต่อ

ในปัจจุบัน จากคำว่า เด็กพิเศษ หรือ เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ถูกเปลี่ยนเป็น เด็กผู้มีสิทธิพิเศษในการเรียนรู้ ครูกวางปรารถนาให้ Inclusive Education เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น แม้ว่าเด็กจะมีความแตกต่าง แต่เขาสามารถเรียนร่วมกับคนอื่นได้ เด็กสามารถเรียนรู้ผ่านเพื่อนและมิตรภาพ

สุดท้ายครูกวางฝากไว้ว่า ไม่มีใครตอบได้นอกจากตัวเรา ว่าเราถนัดอะไร ชอบอะไร มีความสนใจอะไร โอกาสที่เปิด ณ ตอนนี้คืออะไร สิ่งเหล่านี้แต่ละคนใช้เวลาในการเรียนรู้ได้ แต่อีกมุมหนึ่ง ให้ลองใช้เวลาเงียบ ๆ อยู่กับตัวเองบ้าง โดยที่ไม่ได้เปิดรับสารอะไรเข้ามา และให้ความจริงบางอย่างที่อยู่ในใจของเราได้คลี่คลาย

.

.

คุณครีม ณัชชารีย์ สมศิริมงคล | THE STUDY TIMES STORY EP.22

บทสัมภาษณ์ คุณครีม ณัชชารีย์ สมศิริมงคล คณะ Business English- IBM, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 
เรียนภาษาจีน University of International Business and Economics, ปักกิ่ง, สาธารณรัฐประชาชนจีน
จากคนที่ไม่เคยเรียนต่อต่างประเทศ ฝึกภาษาอังกฤษเอง คว้าตำแหน่งแฮร์โอสเตสสายการบินเอมิเรตส์

คุณครีม จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) คณะ Business English- IBM และยังไม่เคยไปเรียนภาษาอังกฤษที่เมืองนอกมาก่อน แต่สามารถพูดได้ตามมาตรฐานผ่านการฝึกของตัวเอง 

หลังจบการศึกษาจาก ABAC คุณครีมมีโอกาสได้ไปทำงานเป็น Promoter กับ Qatar Airways หลังจากนั้นรู้สึกว่าภาษาจีนมีความสำคัญ จึงตัดสินใจไปเรียนภาษาจีนที่ University of International Business and Economics ( 对外经贸大学, Beijing, China) ระยะเวลาหนึ่งปี

การฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษ
คุณครีมแนะนำว่า หากจะฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษ ต้องฝึกจากการฟัง พยายามพูดตาม การดูหนัง ฟังเพลง ฟังข่าวภาษาอังกฤษ จะทำให้ซึมซับไปในตัว สำหรับคุณครีมถ้าอยากได้สำเนียงแบบไหน จะเลียนแบบและฟังการพูดแบบนั้นทุกวัน อย่างน้อยวันละ 15 นาที 

จุดเริ่มต้นอาชีพ แอร์โฮสเตส
สำหรับคุณครีม อาชีพแอร์โฮสเตสจุดประกายมาจากการทำงานที่ Qatar Airways เพราะความฝันที่จะได้เที่ยวรอบโลก เปิดโลกกว้าง เงินเดือนเยอะ ได้ฝึกทักษะภาษาอังกฤษ ดูยูนิฟอร์มของแอร์เอมิเรตส์แล้วเกิดความชื่นชอบ ตั้งเป้าไว้ว่าวันหนึ่งต้องได้ใส่ชุดนี้ 

คุณครีมเล่าว่า ขั้นตอนการคัดเลือกแอร์เอมิเรตส์มีประมาณ 6 ด่าน ด่านแรก pre-screen ดูความพร้อมตั้งแต่ การแต่งตัว หน้าผม บุคลิก ภาษา บางคนแต่งหน้าทำผมอย่างดี ยื่นเรซูเม่ไม่ถึงห้าวินาที ได้กลับบ้านก็มี การเป็นแอร์แต่ละสายการบินจะมีจุดแข็งจุดดีแตกต่างกัน การเตรียมตัวพร้อมยังไงก็ดีกว่าการไม่เตรียมตัวเลย

การจะเป็นแอร์โฮสเตสของสายตะวันออกกลาง ต้องสอบภาษาอังกฤษของสายการบินด้วย แต่ถ้าสายในไทยจะใช้ TOEIC นอกจากนี้ยังมีการทดสอบพูด Public Speaking ต่อหน้ากรรมการ โดยที่ไม่มีโจทย์มาให้ก่อน 

คุณครีมคิดว่า สิ่งที่ทำให้คุณครีมได้รับการคัดเลือก น่าจะเป็นเพราะเรื่องของทีมเวิร์ค การตอบคำถาม การแก้ปัญหา ซึ่งทุกด่านใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด

ประสบการณ์เป็นแอร์เอมิเรตส์ กว่า 5 ปีที่ผ่านมา คุณครีมเล่าว่า ได้ครบทุกรสชาติ สิ่งที่ดีที่สุด มีทั้งการได้เป็น Dubai influencer ได้ทำหน้าที่รีวิวตามสถานที่ต่าง ๆ เพราะไม่ใช่แอร์ทุกคนจะได้รับโอกาสนี้ ดูไบมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำให้เจออย่างน้อย 6 สัญชาติต่อวัน ฉะนั้นที่ดูไบจะต้องการ influencer ที่หลากหลาย การเป็นแอร์เอมิเรตส์  มีข้อดีคือเป็นแบรนด์ที่ทุกคนรู้จักกันทั่วโลก นอกจากนี้คุณครีมยังเคยเป็นล่าม ช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวไทยในดูไบ 

ถึงวันหนึ่งที่ต้องมีการคัดคนออก เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 คุณครีมเป็นล็อตสุดท้ายที่โดนจ้างออก และเที่ยวสุดท้ายที่ได้บินมีผู้โดยสารติดโควิด ถือว่าเป็นจุดที่ทำให้รู้สึกแย่อยู่บ้าง

Flywithcream Academy สอนภาษาอังกฤษและพัฒนาบุคลิกภาพ  
หลังจากช่วงที่โดนจ้างออก คุณครีมได้ไปลงเรียนเพื่อรับใบรับรองการสอนภาษาอังกฤษ Cambridge Certificate in teaching English (CELTA) เป็นโปรแกรมอบรมการสอน 2 เดือนเต็มทางออนไลน์ 

สืบเนื่องจากตอนที่อยู่ดูไบ คุณครีมได้ทำทั้ง YouTube Instagram Facebook TikTok  มีฐานผู้ติดตามกว่าสองแสนคน ที่สนใจในเรื่องของการเป็นแอร์โฮสเตส และการฝึกทักษะภาษาอังกฤษ จึงเป็นจุดต่อยอดในการเปิด Flywithcream Academy สอนภาษาอังกฤษและพัฒนาบุคลิกภาพ  

ตัวอย่างเทคนิคในการสอนภาษาอังกฤษ เช่น ทักษะภาษาอังกฤษประกอบด้วย การฟัง พูด อ่าน เขียน แต่ไม่จำเป็นต้องสอนทั้ง 4 ทักษะในคลาสเดียว ให้ทำเป็นการจับคู่แทน เช่น Listening คู่กับ Specking  ต้องฟังก่อน ค่อยฝึกพูดตาม หรือ Reading คู่กับ Writing ซึ่งในเรื่องของการเขียนต้องได้แกรมม่า

สำหรับผู้ที่สนใจ อยากติดตามรีวิวสาระน่ารู้ เกี่ยวกับอาชีพแอร์โฮสเตส สจ๊วต การบิน เครื่องบิน รวมทั้งสอดแทรกการสอนภาษาอังกฤษ สามารถติดตามได้ทาง Youtuber, Facebook fanpage : flywithcream 

สำหรับคนที่อยากเป็นแอร์โฮสเตส คุณครีมแนะนำว่า ตอนนี้สายการบินเริ่มกลับมาบินเยอะแล้ว เอมิเรตส์เองได้นำ Airbus A380 เครื่องบินลำใหญ่ที่สุดในโลกกลับมาใช้ ตอนนี้ใครที่อยากเป็นแอร์โฮสเตสหรือสจ๊วตให้เตรียมตัว เพราะมีการคัดลูกเรือออกไปเยอะ ตอนที่รับก็อาจจะรับเข้ามาเยอะเช่นกัน

.


.

.

คุณป๊อป ณัฐพงศ์ นำศิริกุล | THE STUDY TIMES STORY EP.23

บทสัมภาษณ์ คุณป๊อป ณัฐพงศ์ นำศิริกุล ปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโท หลักสูตร MBA บริหารธุรกิจ ภาค International สาธารณรัฐประชาชนจีน
ครูสอนภาษาจีนเพื่อใช้ได้จริง และอุทิศตนเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน

คุณป๊อปหรือครูพี่ป๊อป เรียนจบมาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ เน้นภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ตอนนั้น ช่วงเข้ามหาวิทยาลัยเลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะมีความใฝ่ฝันและชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังไว้ว่าสายวิทย์มีทางเลือกมากกว่า ครูป๊อปมองว่าคณะสถาปัตย์เป็นสิ่งที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสายวิทย์และสายศิลป์ คือใช้วิทย์-คณิตในการสอบเข้า และต้องมีทักษะการวาดรูปด้วย เมื่อได้เข้าไปเรียนถือเป็นคณะที่ตอบโจทย์ครูป๊อปทุกอย่าง

เพราะครูป๊อปมีความชอบหลายอย่าง ทั้งวาดรูป ฟังเพลง กีฬา ภาษา เมื่อเรียนในระดับมหาวิทยาลัยก็ยังคงฟังเพลงเพื่อชีวิต ดูหนังฝรั่ง ฟังเพลงฝรั่ง แต่ครูป๊อปพยายามมองหาอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น จึงเลือกไปเรียนต่อที่ประเทศจีน

ย้อนกลับไป 15 ปีก่อน ประเทศจีนไม่ได้เป็นที่นิยมเรียนต่อมากขนาดนี้ คุณป๊อบตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท หลักสูตร MBA บริหารธุรกิจ ภาค International ประเทศจีน โดยเรียนเป็นภาคภาษาอังกฤษ 100% เนื่องจากไม่มีทักษะภาษาจีนมาก่อน แต่ข้างนอกห้องเรียนจะพูดคุยกันเป็นภาษาจีนทั้งหมด จึงเป็นสิ่งที่บีบให้ครูป๊อปได้ใช้ทั้งสองภาษาโดยอัตโนมัติ 

หลังเรียนจบ เมื่อมีทักษะภาษาจีน และได้ภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิม ครูป๊อปเลือกเป็นสถาปนิก ทำงานต่อ ณ ประเทศจีน โดยเจ้านายคนแรกเป็นชาวบรูไน พบเจอกันจากการไปเดินชมย่านเมืองเก่าในประเทศจีน เจ้านายนำวัดเก่ามารีโนเวทให้เป็นออฟฟิศสถาปนิก มีพนักงานเป็นคนจีนทั้งหมด ถือว่าเป็นพื้นที่ในฝันของครูป๊อป จึงได้เข้าไปพูดคุย ด้วยความที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ และเจ้านายเป็นคนต่างชาติที่ทำงานในประเทศจีน เกิดความถูกใจรับเข้าทำงาน 

เคล็ดลับในการฝึกภาษาจีนของครูป๊อป คือ ช่วงที่เรียนอยู่ประเทศจีน หากได้ยินคำไหนที่ไม่รู้จะจดไว้เป็นภาษาคาราโอเกะทันที ได้ยินยังไงก็พิมพ์ไปแบบนั้น แล้วนำมาถามเพื่อนคนจีน เทคนิคสำคัญขอเพียงแค่กล้าพูดและนำมาแก้ไข

ครูสอนภาษาจีน แห่งสถาบัน Chinese Pop-up 
เมื่อครูป๊อปเดินทางกลับมาประเทศไทย เริ่มเป็นพิธีกรภาคภาษาจีนและรู้สึกว่าตัวเองสามารถสอนได้ ได้เริ่มสอนที่โรงเรียนสีตบุตรบำรุง เป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากนั้นอยากเปิดหลักสูตรเป็นของตัวเอง จึงได้เปิดสถาบัน Chinese Pop-up ขึ้นมา ใช้ชื่อหลักสูตรว่า ‘จีนจำเป็น’ จะสอนเฉพาะสิ่งที่จำเป็น นอกจากนี้ยังได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เพราะสิ่งที่ครูป๊อปสอนมีความลัด สั้น ตรง และใช้ได้จริง

บทบาทที่หลากหลาย (อาจารย์พิเศษ, พิธีกร / ผู้ประกาศ / นักจัดรายการโทรทัศน์และวิทยุ)
นอกจากจะเป็นติวเตอร์สอนภาษาจีนแล้ว ครูป๊อปยังเป็นทั้งพิธีกร อาจารย์พิเศษ และนักจัดรายการโทรทัศน์และวิทยุ ทุกวันนี้การสอนเป็นพาร์ทที่เล็กมากสำหรับครูป๊อป เนื่องจากหันมาผลิตรายการที่เป็นภาษาจีนซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะเล็งเห็นจุดอ่อนของสังคมไทยที่หาพิธีกรพูดภาษาจีนไม่ได้เลย อีกทั้งการฟังภาษาจีนรู้เรื่องทั้งหมด ทำให้สามารถสร้างมูลค่าได้ทั้งงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

ความฝันของครูป๊อป คือ อยากเป็นสะพานพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนและประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น ผลักดันให้สองประเทศมีความสัมพันธ์อันดียิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยภาษา พยายามสร้างให้คนไทยได้ภาษาจีน และให้คนจีนรู้เรื่องเมืองไทย มีทัศนคติที่ดีระหว่างกัน

สิ่งที่อยากผลักดันด้านการศึกษาในประเทศไทย
ในด้านการศึกษาในประเทศไทย ครูป๊อปมองว่า ต้องขุดไปแก้เยอะมาก หลายสิ่งที่อยากทำไม่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้ เราอยู่ในสังคมที่มีกรอบเยอะ เราเปลี่ยนอะไรในประเทศนี้ยาก ขณะที่โลกทั้งใบการศึกษากำลังเปลี่ยนไป คนที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยลดลงทั่วโลก เพราะเขารู้สึกว่าไม่จำเป็น  ระบบการศึกษาไทยต้องมีความครีเอทีฟมากกว่านี้ ถ้ามีระบบการศึกษาที่ดี เฉียบขาด เด็กไทยจะไม่อยากย้ายประเทศมากขนาดนี้

.

.

.

คุณเบล ศุภนุช ชือรัตนกุล | THE STUDY TIMES STORY EP.24

บทสัมภาษณ์ คุณเบล ศุภนุช ชือรัตนกุล ประถมศึกษา โรงเรียน Tampines Secondary School, สิงคโปร์ 
ปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาวิชาชีววิทยา Mahidol University International College (MUIC)
ปริญญาโทที่สถาบัน Asian Institute of Technology (AIT)
เพราะความประทับใจระบบการศึกษาวัยเด็ก สานฝันแนะแนวเด็กไทยเรียนสิงคโปร์

ครูเบลได้ไปศึกษาอยู่ที่ประเทศสิงค์โปร์ ตั้งแต่ช่วงชั้นประถม แรกเริ่มเข้า ป.4 จนกระทั่งจบชั้นม. 4 การเรียนการสอนที่สิงคโปร์จะมีเรียนเพียงครึ่งวัน อีกครึ่งวันจะมีกิจกรรมให้เลือกทำ เลิกเรียนก็จะกลับบ้านมาอยู่กับโฮสแฟมิลี่ ที่สิงคโปร์มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทย แต่บุคลิกอาจแตกต่างกันบ้าง เช่น คนสิงคโปร์เป็นคนทำอะไรรวดเร็ว ทั้งการเดินและการพูด 

ที่สิงคโปร์จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก บางครั้งมีการผสมภาษาจีนเข้ามาในการสื่อสารด้วย ตอนไปครั้งแรกครูเบลยังไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนได้เลย ช่วงสามเดือนแรกครูเบลแทบไม่คุยกับใคร เพราะพูดไม่รู้เรื่อง ไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษ กลัวเขาฟังไม่เข้าใจ ถึงขนาดไม่กล้าสั่งข้าวในโรงเรียน หลังจากนั้นสภาพแวดล้อมและสถานการณ์บังคับให้ฟังออกและพูดได้ 

ครูเบลเล่าว่า ช่วงป.4 ผลการเรียนถือว่าแย่มาก เป็นช่วงแห่งการปรับตัวและเริ่มเรียนภาษาจีนอย่างจริงจัง กระทั่งช่วงปิดเทอมม.1 กลับมาที่ไทย คุณแม่ได้ส่งไปเข้าค่ายยุวพุทธ 3 วัน 2 คืน ฝึกนั่งสมาธิ ฝึกการโฟกัส สอนให้มีสติกับสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ได้นำตรงนั้นมาใช้หลังกลับมาเรียนที่สิงคโปร์ จนสามารถทำผลการเรียนเป็นอันดับ 1 ของชั้นติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ที่โรงเรียน Tampines Secondary School 

ครูเบลเล่าว่า การเรียนที่สิงคโปร์จะสอนว่าทุกอย่างที่เรียนจะนำมาใช้ได้อย่างไร เน้นที่การประยุกต์ใช้เป็นหลัก เมื่อกลับมาเรียนที่เมืองไทยเลยค่อนข้างง่าย เพราะถูกสอนมาอย่างดี

หลังจากจบการศึกษาที่สิงค์โปร์ ครูเบลได้กลับมาศึกษาระดับปริญญาตรีที่ Mahidol University International College (MUIC) สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผลการเรียนเกียรตินิยมอันดับ 1 และได้รับทุนรัฐบาลไทยให้ศึกษาต่อปริญญาโทที่สถาบัน Asian Institute of Technology (AIT) เรียนเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรทางทะเล โดยมีความสนใจด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิม

ครูติวสอบการเรียนต่อประเทศสิงคโปร์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย
เนื่องจากช่วงที่ครูเบลกลับมาจากสิงคโปร์ เป็น TA ช่วยสอนอยู่ในมหาวิทยาลัย ระหว่างนั้นมีรุ่นน้องที่อยู่สิงคโปร์มาขอให้ช่วยติวข้อสอบ เป็นจุดเริ่มต้นการสอนมาตั้งแต่สมัยเรียน จนถึงปัจจุบัน

การสอบ AEIS
Admission Examination for International Students (AEIS) คือ ข้อสอบสำหรับนักเรียนทุกคนที่ต้องการสอบเข้าโรงเรียนรัฐบาลสิงคโปร์

ครูเบลเล่าว่า สมัยก่อนการไปเรียนสิงคโปร์ยังไม่ได้รับความนิยมขนาดนี้ จนกระทั่งจีนเปิดประเทศมากขึ้น คนจึงอยากส่งลูกเข้าไปเรียนที่สิงคโปร์ ทำให้การเรียนของสิงคโปร์ดรอปลง จึงยกระดับการศึกษาด้วยการจัดสอบ AEIS สำหรับเด็กต่างชาติโดยเฉพาะ ความยากคือต้องแข่งขันกับเด็กต่างชาติทั่วทุกมุมโลก

การสอบ AEIS สามารสอบได้ตั้งแต่ระดับป.2 จนถึง ม.3 จะสอบไม่ได้ช่วงป.6 และ ม.4 เพราะเป็นช่วงที่มีข้อสอบใหญ่ ยิ่งระดับโตขึ้นการสอบจะยิ่งยากขึ้น 

ครูเบลกล่าวว่า ผู้ปกครองส่งเด็กไทยไปเรียนสิงคโปร์กันเยอะ มีเหตุผลอยู่ 4 ข้อ คือ 
1.) ใกล้ 
2.) ระบบการศึกษาดี 
3.) ปลอดภัย และ
4.) ได้ภาษาจีน ที่สำคัญสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาเหมาะกับเด็กเล็ก

สำหรับเด็กที่อยากไปเรียนต่อประเทศสิงคโปร์ คุณเบลแนะนำว่า ต้องฝึกวิชาภาษาอังกฤษและเลข เพราะวิชาที่ต้องสอบมีเพียงสองวิชานี้ ให้เตรียมตัวในระบบของสิงคโปร์ ติวข้อสอบของสิงคโปร์ไว้ได้เลย


.

.

.

คุณแพรว สุพิชญา สุนทรจิตตานนท์ | THE STUDY TIMES STORY EP.25

บทสัมภาษณ์ คุณแพรว สุพิชญา สุนทรจิตตานนท์ ปริญญาตรีเกียรตินิยมเกรด 4.00 และปริญญาโทเกรด 3.95  Portland State University, สหรัฐอเมริกา
เรียนดี กิจกรรมเด่น เกียรตินิยม 4.00 จาก Portland State University, สหรัฐอเมริกา

ช่วงมัธยมคุณแพรวเรียนอยู่ที่สวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี เรียนห้อง Gifted ภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ช่วง ม.1-ม.3 เพราะชอบเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก เมื่อขึ้นชั้น ม.4 ได้เข้าเรียนในสายวิทย์-คณิต จากนั้นมีโครงการของ AFS มาแนะแนว จึงได้ลองสมัครสอบเลือกไปอเมริกา ซึ่งคุณแพรวเคยสมัครครั้งแรกไปตั้งแต่ ม.3 แต่ยังไม่ได้ ปีต่อมาก็ยังไม่ยอมแพ้ลองสอบอีกรอบ จนได้เป็นตัวจริง ไปอยู่ที่ Portland กับโฮสแฟมิลี่ 1 ปี หลังจากนั้นกลับมาเข้าเรียนต่อชั้นม.6 จนจบ หลงรักและมีความประทับใจในเมือง Portland เป็นจุดเริ่มต้นให้กลับไปเรียนต่อปริญญาตรีที่ Portland State University

ครั้งแรกที่ไป คุณแพรวเลือกเรียนในสายวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ แต่ที่ Portland State University ถ้าเข้าไปเรียนแล้วยังไม่ชอบก็สามารถเปลี่ยนได้ ซึ่งคุณแพรวรู้สึกว่ายังไม่ชอบมากขนาดนั้น ครั้งที่สองเลยเปลี่ยนไปสายเคมี แต่ก็ยังไม่ใช่ จนสุดท้ายไปลงตัวเรียนด้านคณิตศาสตร์ จนสามารถคว้าปริญญาตรี BACHELOR OF SCIENCE IN MATHEMATICS, GPA 4.0 เกียรตินิยมมาครองได้

เทคนิคการเรียนของคุณแพรวคือการมีทัศนคติที่ดี ต้องมีความสุขกับการเรียน ทำอะไรต้องมีความสุขกับมัน ไม่คิดต่อต้าน หาจุดที่ดีและแฮปปี้ ที่สำคัญคุณแพรวเป็นคนที่ตั้งใจเรียนในห้อง ฟังอาจารย์ จดเลคเชอร์ มีข้อสงสัยก็ถามอาจารย์ในห้อง ทำให้นอกเวลาเรียนไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะ สามารถมีเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้

เมื่อเรียนจบปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์แล้ว คุณแพรวรู้สึกว่าคณิตศาสตร์เน้นทฤษฎีเยอะมาก ปริญญาโทเลยอยากเรียนในด้านปฏิบัติที่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริง จึงเลือกเรียนต่อปริญญาโทในสาขา INTERNATIONAL BUSINESS MANAGEMENT ที่ Portland State University GPA 3.95

การใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา
คุณแพรวอยู่ใจกลางเมือง Portland ชีวิตค่อนข้างสะดวก มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เวลาอยากไปไหนจะใช้รถไฟที่เรียกว่า แม็กซ์ คล้ายกับรถไฟฟ้าบ้านเรา แต่อยู่บนถนน ผู้คนในเมือง Portland มีอัธยาศัยดีมาก ยิ้มแย้ม เฟรนด์ลี่ 

ความแตกต่างด้านการศึกษาไทยและอเมริกา
การศึกษามีข้อดีข้อเสียทั้งสองระบบ ของไทยจะมุ่งเน้นทฤษฎีมาก นักเรียนนั่งเรียนในห้องเป็นหลัก พอไปเรียนที่อเมริกา เราจึงมีความแม่นในเรื่องของทฤษฎี แต่ที่อเมริกาจะมุ่งเน้นให้ได้ปฏิบัติจริง คลาสแล็บ 50-60% ได้ปฏิบัติเยอะกว่า ทำให้เห็นภาพได้เยอะขึ้น และจำได้ดีกว่า

เทคนิคการฝึกภาษา (TOEIC Score: 965) (HSK Level 3) 
คุณแพรวเป็นคนชอบเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก เทคนิคคือเป็นคนชอบปฏิบัติ กล้าที่จะพูด กล้าที่จะเจอผู้คนที่หลากหลาย ตอนอยู่อเมริกาจะออกไปข้างนอก ไปคุยกับผู้คน ได้คำศัพท์ใหม่ๆ และเป็นคนชอบความบันเทิง เรียนจากการฟังเพลง ดูหนัง ทำให้จำได้ บางครั้งไปเจอคำศัพท์เดียวกันใน TOEIC อีกทั้งสิ่งนี้ยังทำให้มีความรู้รอบตัวมากขึ้น และข้อสำคัญคือคุณแพรวเป็นคนใฝ่รู้ ชอบเรียนรู้หลายๆ อย่าง เมื่อมีเวลาว่างแล้วสนใจสิ่งไหนก็จะไปลงเรียนเพิ่มเติม

ส่วนจุดเริ่มต้นในการเรียนภาษาจีนคือ คุณแพรวเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนโปรแกรมสั้นๆ ที่สิงคโปร์ เจอเพื่อนสิงคโปร์ที่สามารถพูดภาษาจีนได้ แล้วอยากพูดได้บ้าง ทั้งยังชอบดาราจีนคนหนึ่ง อยากเรียนเพื่อเวลาดูซีรีย์จะได้เข้าใจ คุณแพรวมีความคิดว่าการได้ภาษาจีนเป็นจุดเด่น ไปได้หลายประเทศ และทำให้สื่อสารกับคนได้มากขึ้น ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้อยากเรียนต่อไปเรื่อยๆ 

ช่วงที่อยู่อเมริกาคุณแพรวทำกิจกรรมหลายอย่าง วันแรกของการไปเรียน มีชมรมมาเปิด แต่คุณแพรวไม่พบชมรมนักเรียนไทย Advisor จึงให้คำแนะนำว่าลองตั้งขึ้นมาเอง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากนักเรียนเพียง 4 คน มีคุณแพรวเป็นคนไทยคนเดียว จากนั้นกลุ่มคนที่มีความสนใจในความเป็นไทยก็มารวมตัวกันเป็นกลุ่มชมรมที่ใหญ่ขึ้น

ปัจจุบันคุณแพรวทำงานเกี่ยวกับ International Trading การค้าระหว่างประเทศ ดูแลเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง ติดต่อกับคู่ค้าในหลายๆ ประเทศ ใช้สิ่งที่เรียนมาทางด้าน Business นำสกิลหลายๆ อย่างจากการเรียนและการทำกิจกรรมมาปรับใช้ในการทำงานจริงได้

สิ่งที่อยากผลักดันด้านการศึกษาในประเทศไทย
สิ่งที่คุณแพรวอยากผลักดันในการศึกษาไทย อย่างแรกคือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เห็นได้ว่าคนที่มีฐานะดีจะได้รับอภิสิทธิ์ในการเรียนโรงเรียนที่ดี ได้รับการศึกษาที่ดีกว่า แต่คนที่บ้านไม่มีเงิน ก็จะไม่มีโอกาสได้เรียนขนาดนั้น ขณะที่อเมริกาการศึกษาให้โอกาสกับทุกคน โรงเรียนมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ต่อมาคือเรื่องระบบการศึกษา ควรมีทางเลือกมากขึ้น มีการปฏิบัติมากขึ้น ให้เด็กไทยมีความกล้าที่จะถาม มีคลาสที่เปิดให้ Discuss ผลักดันให้เด็กกล้าพูด ไม่วิจารณ์สิ่งที่เด็กพูดว่าถูกหรือผิด เปิดกว้างด้านความคิด

คุณแพรวทิ้งท้ายสำหรับคนที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศว่า หากเรามีความพยายาม มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ มีความคิดที่เป็น Positive สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้

.

.

.

คุณแพรวา กัลยรัตน์ ธุระกิจเสรี | THE STUDY TIMES STORY EP.28

บทสัมภาษณ์ คุณแพรวา กัลยรัตน์ ธุระกิจเสรี นักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประเทศจีน
HSK ระดับ 6 ตั้งแต่อายุ 17 ปี ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมแปลนิยายและสอนภาษาจีน

ปัจจุบันคุณแพรวาเรียนอยู่ชั้นปี 3 คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปรับรูปแบบเป็นการเรียนออนไลน์แทน

คุณแพรวาเรียนภาษาจีนมาตั้งแต่ระดับชั้นม.ต้น สอบได้ HSK6 ตั้งแต่อายุ 17 ปี ในช่วงม.5 มีเพื่อนแนะนำให้ไปสอบทุน AFS จนได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เมืองหานตาน ประเทศจีน นาน 10 เดือน เมื่อไปอยู่พบว่านักเรียนที่ประเทศจีนเรียนหนักมาก ตั้งแต่เช้าถึงดึก มีกฎระเบียบที่เคร่งครัด และเมืองหานตานที่ไปอยู่ค่อนข้างชนบท ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่สิ่งที่ค้นพบคือนักเรียนที่นี่เรียนเก่ง สอบได้คะแนนสูงแทบทุกคน

คุณแพรวาประทับใจการใช้ชีวิตที่ประเทศจีน ชื่นชอบบรรยากาศ ผู้คน และชินกับการใช้ชีวิต เสน่ห์ของจีนที่ค้นพบคือ ในปัจจุบันจีนสะอาดมาก เป็นประเทศที่พัฒนาได้เร็ว จนท้ายที่สุดคุณแพรวาเลือกยื่นคะแนนเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประเทศจีน

ตอนปี 1 คุณแพรวาเรียนในคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งในมหาวิทยาลัยมีคนไทยเพียงแค่ 2 คนที่เรียน การเรียนการสอนเป็นภาษาจีนทั้งหมด ซึ่งเรียนหนักมาก เริ่มเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้า ทุกวันจันทร์-ศุกร์ การเรียนตอนนั้นเครียดมาก ถึงแม้ว่าจะได้ HSK6 แต่เมื่อเลือกคณะนี้แล้วยังรู้สึกว่าภาษาจีนยาก เนื่องจากมีคำศัพท์เฉพาะทางที่เกี่ยวกับการเมืองและกฎหมาย คุณแพรวาจึงตัดสินใจว่าจะเรียนภาษาจีนให้แน่นกว่านี้ก่อน 

นอกจากเรียนออนไลน์แล้ว ช่วงนี้คุณแพรวายังทำงานพิเศษ ทั้งแปลนิยาย แปลซีรีส์ละครจีน สอนพิเศษภาษาจีน ครั้งแรกที่รับงานแปลได้รับโจทย์ 12,000 ตัว ต้องทำให้เสร็จภายในสองวัน รู้สึกติดขัด เพราะยังไม่เคยทำ ต้องทำทั้งคืน หลังจากนั้นก็รับงานมาทำมาเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังรับสอนพิเศษภาษาจีนให้กับคนที่สนใจอีกด้วย โดยเริ่มจากการสอนเพื่อนที่เรียนศิลป์จีนมาด้วยกันตอนม.ปลาย หลังจากนั้นจึงเริ่มเปิดรับสมัคร

คุณแพรวากล่าวว่า ภาษาจีนเป็นภาษาที่สองได้ จากประสบการณ์พบว่าภาษาจีนสามารถสื่อสารได้ทั่ว สำหรับใครที่อยากจะคล่องภาษาจีน ต้องฝึกอย่างน้อย 2-3 ปี การเรียนหนึ่งภาษา ไม่มีทางได้ภายในปีเดียว นอกเสียจากจะไปอยู่ที่ประเทศจีน

สำหรับใครที่อยากไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศจีน คุณแพรวาแนะนำให้เตรียมตัวเรียนภาษาจีนเบื้องต้นไปก่อน เพราะไม่เช่นนั้นจะต้องไปเริ่มใหม่ ทั้งๆ ที่คนอื่นแซงหน้าไปก่อนแล้ว

.

.

.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top