คุณแจ๊ค น.สพ. ดร. มนูศักดิ์ วงศ์พัชรชัย | THE STUDY TIMES STORY EP.14

บทสัมภาษณ์ คุณแจ๊ค น.สพ. ดร. มนูศักดิ์ วงศ์พัชรชัย ได้รับทุนส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Post-doctoral researcher, BioTechnology Institute, University of Minnesota, สหรัฐอเมริกา 
เรื่องราวทุนการศึกษาเปลี่ยนชีวิต ต่อยอดความฝันทำงานวิจัยระดับโลก

ปัจจุบัน ดร. แจ๊ค เป็นนักวิจัยอยู่ที่บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี โดยจุดเริ่มต้น ดร. แจ๊คเรียนจบปริญญาตรี เกียรตินิยม จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้มีโอกาสเสนอขอทุนของมหาวิทยาลัย เรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกได้เลย ซึ่งในปีนั้นทางจุฬาฯ มีอายุครบ 90 ปี มีกองทุนใหม่ชื่อว่า กองทุนจุฬาดุษฎีพิพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งดร. แจ๊ค ถือเป็นรุ่นแรกของกองทุนนี้ เงื่อนไขของทุน คือ หากเรียนในคณะที่ประเทศขาดแคลน ต้องได้เกียรตินิยมเป็นอย่างน้อย จึงจะมีสิทธิ์สมัครเข้าไป หากอยู่ในคณะที่ประเทศไม่ขาดแคลน ต้องติด Top10 ของคณะ ซึ่งสายวิทยาศาสตร์ของดร. แจ๊ค ขณะนั้นรับอยู่ 8 คน 

ในการเรียนต่อปริญญาโทและเอก ดร. แจ๊คยังคงเรียนอยู่ในคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ โดยเป็นสัตวแพทย์สาธารณสุข ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงที่ไข้หวัดนกระบาดหนักในประเทศไทย 

ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว ดร. แจ๊คเล่าว่า การเรียนสัตวแพทย์ ที่จุฬาฯ นักศึกษาชั้นปี 1-4 ทุกคน ที่มีอยู่ร้อยกว่าคนในรุ่น จะเรียนเหมือนกันหมด พอถึงปี 5 จะแยกครึ่งนึงไปฝึกงาน ซึ่งดร. แจ๊คได้ไปฝึกงานทั้งในโรงพยาบาลสัตว์ คลินิกสัตว์เลี้ยง ฟาร์ม เพื่อนำมาตัดสินใจว่าชอบทางไหน และเมื่อขึ้นปี 6 อาจารย์ก็จะให้เลือกสาย โดยดร. แจ๊คเลือกไปทางสายฟาร์ม ในช่วงปี 6 มีภาควิชาสัตวแพทย์สาธารณสุข ที่จะเรียนเกี่ยวกับ DNA เล็ก ๆ ต้องใช้จินตนาการสูง ดร. แจ๊คมีความสนใจทางด้านนี้ เป็นที่มาของการสมัครขอทุนเรียนต่อปริญญาโทและเอกในภาคนี้โดยเฉพาะ

จริง ๆ แล้วดร. แจ๊ค แทบไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ แต่เมื่อได้รับทุน ข้อบังคับของทุนข้อหนึ่ง คือจะต้องไปทำโปรเจคที่ต่างประเทศ ในที่ที่อาจารย์มี contact ซึ่งอาจารย์ของดร. แจ๊ค จบมาจาก Minnesota, สหรัฐอเมริกา จึงได้ให้ดร. แจ๊คลองสมัครไป ผลคือ Professor ที่นั่นสนใจ จึงได้ไปในฐานะนักเรียน ขณะนั้นดร. แจ๊ค เรียนปริญญาเอกที่เมืองไทยได้สองปีครึ่ง ก่อนจะดรอปเรียนและไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ Minnesota หนึ่งปี

เมื่อไปถึงอเมริกาครั้งแรก ดร. แจ๊คถึงกับงง ด้วยความที่ไม่เคยไปต่างประเทศมาก่อน จากนั้นได้แชร์บ้านพักกับนักเรียนจากหลากหลายประเทศจำนวน 12 คน สิ่งที่ทำเมื่อไปถึงคือนำโทรศัพท์มาค้นหาเซเว่นที่ใกล้ที่สุด แต่ใกล้ที่สุดคือห่างจากบ้านพัก 130 ไมล์ เมื่ออยู่ไปสักพักถึงได้รู้ว่าคนที่ Minnesota ค่อนข้างจะเป็นคนอนุรักษนิยม ซัพพอร์ตอะไรที่เป็น Local จึงต้องเรียนรู้ว่าร้านมินิมาร์ท Local ของที่นั่นมีชื่อว่าอะไร

เพราะมีโปรเจคที่ต้องทำให้จบ ในจำนวนเงินและระยะเวลาที่จำกัด ดร. แจ๊คจึงต้องวางแผนคุยกับ Professor ให้แน่นอนว่าอยากทำอะไร และด้วยความที่ยุ่งมากทำให้ไม่มีเวลาไปโฟกัสอย่างอื่น ลืมเรื่อง Homesick ไปเลย นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคในเรื่องของภาษา เพราะถูกสอนมาแต่ในเรื่องแกรมม่า ท่องคำศัพท์ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารบทสนทนาที่จะทำให้ต่างชาติเข้าใจได้ ทำให้มีปัญหาในช่วงแรก ใช้เวลาปรับตัวด้านนี้อยู่เป็นปี โชคดีที่ได้รู้จักกับครอบครัวคนอเมริกันที่คอยชวนไปเที่ยวที่ฟาร์ม ทำความรู้จักกับครอบครัว จึงได้ฝึกภาษามากขึ้น และตัวดร. แจ๊คเองก็พยายามผลักดันตัวเอง ฝึกฝนออกเสียงเรื่อยมา

เมื่อทำงานไปได้สักพัก ทาง Professor และพี่เลี้ยงหรือ Senior Scientists สองคน ที่เป็นชาวญี่ปุ่นและชาวจีน เห็นความขยันของดร. แจ๊ค เมื่อเห็นว่ามีตำแหน่ง Postdoc เปิด จึงให้ลองเข้าไปคุยกับ Professor ที่เปิดรับตำแหน่งนี้ ซึ่ง Professor คนนี้มารู้ทีหลังว่าเป็นผู้อำนวยการของสถาบันวิจัยทาง BioTech ของที่นั่น หลังจากสัมภาษณ์ผ่านก็ได้ทำงานต่อ และอยู่ที่อเมริการวมทั้งสิ้น 4 ปี

อุปสรรคอีกอย่างที่พบตอนไปอเมริกา คือ Professor ของดร. แจ๊คเป็นคนอินเดีย ที่รู้กันดีว่าคนอินเดียส่วนใหญ่จะทำงานโหด เข้มงวดมาก โดนจี้งานเยอะ บางครั้งทำให้ท้อได้เหมือนกัน ดร. แจ๊ค เล่าว่า ต้องทำงานตื่น 7 โมงเช้า เลิกตี 1 ตี 2 ทุกวัน ทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด เป็นแบบนี้อยู่ 1 ปี แต่การถูกเค้นศักยภาพออกมา ผลคือทำให้ได้ผลงานที่ค่อนข้างดี

วิธีที่ทำให้ผ่านช่วงเวลากดดันของดร. แจ๊ค คือ การนั่งสมาธิ เพราะการทำงานหนักไปเรื่อย ๆ รู้สึกเหมือนสมองยุ่งเหยิง ทุกคืนก่อนนอน ดร. แจ๊คจะใช้เวลา 5-10 นาทีในการทำสมาธิเพื่อจัดระบบเซลล์สมอง สองอย่างในชีวิตที่ดร. แจ๊คทำแล้วเห็นผล คือการทำสมาธิ และการเล่นกีฬา 

หากพูดถึงความแตกต่างในด้านองค์ความรู้ระหว่างไทยและต่างประเทศ ดร. แจ๊ค มองว่า ในแง่ของวิชาการ ไม่คิดว่าเมืองไทยด้อยกว่า ศักยภาพเด็กไทยเมื่อไปอยู่ตรงนั้นก็ไม่ด้อยกว่าคนอื่น จุดอ่อนอาจมีเพียงเรื่องของภาษาในช่วงแรก 

ทั้งยังบอกอีกว่า จริง ๆ การจบปริญญาเอกไม่ใช่คนพิเศษอะไร เพียงแต่ผ่านการฝึกกระบวนการผิดมาอย่างหนัก ส่วนการเป็น Postdoc เป็นโปรแกรมที่ทำให้แข็งแกร่งมาอีกขั้น มาถึงตอนนี้ Professor จะบอกเสมอว่า คุณไม่ใช่นักเรียนแล้ว คุณต้องจัดการชีวิตตัวเอง ต้องมั่นใจในสิ่งที่จะทำ ในสิ่งที่จะพูด และรับผิดชอบในคำพูด

สุดท้ายดร. แจ๊ค ฝากไว้ว่า เราจะทำอะไรให้สำเร็จ มันสำเร็จมาจาก Passion เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำอะไรแกมบังคับ จะมีเหตุผลมากมายที่บอกว่า หยุดมันเถอะ แต่ถ้าเราทำงานด้วย Passion แรงผลักดันที่จะทำให้สำเร็จ ยังไงมันก็สำเร็จ ไม่ต้องกลัว  พอเราไปเมืองนอกจริง ๆ เราก็จะไปเจอเพื่อนจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งเขาจะเป็นเหมือนเรา


.

.