Wednesday, 15 May 2024
THESTUDTYTIMESSTORY

คุณตอง ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล | THE STUDY TIMES STORY EP.29

บทสัมภาษณ์ คุณตอง ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล ปริญญาโท International Journalism (เกียรตินิยมอันดับ 1), Cardiff University, แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร
ไม่แข่งกับใคร แข่งกับตัวเองเท่านั้น ยกระดับความสามารถและวิชาชีพสื่อมวลชน

ปัจจุบันคุณตองเป็นบรรณาธิการดิจิทัลของสำนักข่าว เกี่ยวกับด้านต่างประเทศ ทำคอนเท้นต์ต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ผู้ชมมีพื้นที่ในการเสพข่าวต่างประเทศในเชิงลึก มีทั้งบทวิเคราะห์ การนำเสนอภาพนิ่ง และวิดีโอที่ครอบคลุมรอบด้าน

ย้อนกลับไป คุนตองมีความชื่นชอบภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิม หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2

นอกจากนี้ช่วงที่เรียน คุณตองได้ต่อยอดทักษะภาษาอังกฤษด้วยการไปทำงานร้านอาหารอิสราเอล ต้องคุยกับฝรั่งทุกวัน ไปสอนคุมอง นำสิ่งที่ได้เรียนไปใช้ในชีวิตจริง จบมาคิดว่าได้ประสบการณ์ในส่วนที่กล้าพูดภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติได้อย่างไม่เคอะเขิน 

ช่วงปี 3 ได้ไป Work & Travel ที่ลาสเวกัส 3-4 เดือน ทำงานเก็บเงินไปเที่ยวที่ต่างๆ ได้ฝึกทักษะภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น จนกลับมาปี 4 ได้ไปฝึกงานที่ช่อง 7 ในโต๊ะข่าวต่างประเทศ หลังจากนั้นเมื่อเรียนจบ ได้ไปทำงานเกี่ยวกับด้าน management แต่ค้นพบว่าตนเองมีความชอบและความสนใจด้านการสัมภาษณ์ พูดคุยกับแหล่งข่าว เขียนข่าวมากกว่า จนรุ่นพี่ที่ฝึกงานได้ชวนมาทำงานที่ช่อง 7 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักข่าว 

หลังจากทำงานที่ช่อง 7 ได้ประมาณ 2 ปี ค้นพบว่าได้ใช้ทักษะภาษาในการเขียนข่าว แปลข่าว วิเคราะห์ข่าว จนมาถึงจุดที่นั่งคิดว่าตัวเองทำได้มากกว่าการนั่งโต๊ะ เกิดแรงบันดาลใจที่จะเป็นนักข่าวภาคสนาม การเปิดหน้าทีวีกลายเป็นความฝันใหม่ อยากใช้ทักษะภาษาอังกฤษที่มี นำข้อมูลจากต่างประเทศมาสื่อสารให้ผู้ชม ขวนขวายตัวเองจนได้ไปต่างประเทศบ้าง แต่กลายเป็นว่าการเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามยังไม่โดดเด่นมากพอที่ช่องใหญ่จะนำผลงานมาออกอากาศให้ผู้ชมดู เกิดเป็นความรู้สึกบอบช้ำที่ว่า ‘ฉันยังไม่ดีพอ’ แต่อย่างน้อยได้เปิดโลกใหม่ของการถ่ายเอง ทำเอง เปิดหน้าเอง และตัดต่อเอง

จนมีคนที่เล็งเห็นถึงความพยายามและความสามารถ ชักชวนให้มาเป็นนักข่าวภาคสนามสายต่างประเทศที่สปริงนิวส์ อยู่ในจุดที่ทำแล้วต้องออกอากาศ กลายเป็นแรงผลักให้คุณตองเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามสายต่างประเทศที่ทำได้จริง เปิดหน้ารายงานสดได้จริง สามารถนิยามตัวเองว่าเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามได้ 

สิ่งที่ทำให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความผิดหวังมาได้ คุณตองเล่าว่า มาถึงวันนี้มองกลับไป เข้าใจว่าเราทำดีไม่มากพอให้เขาเห็น ความชอกช้ำหรือความผิดหวังที่ว่าเราทำเต็มที่แต่ไม่ได้ผลในสิ่งที่ต้องการ บางครั้งก็สามารถกลายเป็นแรงผลักได้ เป็นพลังลบที่ถีบเรา ทำให้เราก้าวข้ามอะไรบางอย่างไปได้

งานสื่อสารมวลชนไม่ได้ทำเพื่อให้ตัวเองเติบโต หรือมีหน้ามีตาในสังคมสื่อ แต่ทำเพื่อให้ผู้ชมดู ทำแล้วเป็นประโยชน์อะไรต่อผู้ชม ความคิดนี้เองที่ทำให้คุณตองอยู่ในอาชีพนี้ต่อไปได้   

ชิงทุน Chevening Scholarships
ตอนนั้นคุณตองทำงานที่สปริงนิวส์ได้ปีที่ 2 รุ่นพี่บรรณาธิการแนะนำว่าถ้าอยากดันตัวเองให้โตได้เร็วต้องไปศึกษาต่อปริญญาโท โดยเฉพาะในต่างประเทศ โชคดีที่คุณตองมีพื้นฐานภาษาอังกฤษ พยายามทำข้อสอบ mock-up ทุกวัน ฟังเพลงภาษาอังกฤษ ดูข่าว BBC เตรียมตัวพร้อมมาก แต่สอบสองปีไม่ผ่านในรอบสัมภาษณ์ ซึ่งคุณตองไม่เคยท้อ งานข่าวทำให้รู้สึกว่าต้องเดินหน้าต่อไป กระทั่งสมัครสอบทุนปีที่ 3 รู้สึกว่าชีวิตตัวเองอยู่ในจุดที่ดีมาก ลงตัว สามารถนำเสนอคอนเทนต์ด้วยตัวคนเดียวได้ จนท้ายที่สุดผ่านทุน ได้เข้าเรียนปริญญาโท สาขาวารสารศาสตร์ระหว่างประเทศ MA International Journalism, Cardiff University, แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร คว้าเกียรตินิยมอันดับ 1

ประสบการณ์ทำงานกับ BBC World 
ก่อนจะไปเรียนต่อคุณตองทำงานเป็น Video Journalist ที่ BBC Thai อยู่ก่อนแล้ว ด้วยความที่มีอุปกรณ์พร้อมทำงาน ช่วงไปเรียนต่อที่สหราชอาณาจักร มีรุ่นพี่ชักชวนให้ไปช่วยงานที่ BBC World เริ่มจากตัดต่อง่ายๆ เขียนคอนเทนต์ จนไปช่วยถ่ายงานใหญ่ที่กรุงลอนดอน ได้ประสบการณ์ที่หลากหลาย โดยระบบการทำงานใน BBC มีลักษณะ “One man, One job”

หลังกลับมาเมืองไทย คุณตองได้เข้ามาทำงานในตำแหน่ง บรรณาธิการข่าวดิจิทัล กับช่องใหญ่ช่องหนึ่ง มีเป้าหมาย คือ ทำอย่างไรให้สำนักข่าวต่างประเทศที่มีคนไทยทำ ทำคอนเทนต์ที่คนไทยเข้าถึงได้ และประสบความสำเร็จ ทำให้คนไทยสนใจข่าวต่างประเทศ มองสิ่งที่อยู่นอกประเทศได้มากขึ้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเป็นกระจกสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย การเสพข่าวอาจเกิดชุดความคิดที่นำไปสู่ทางออกที่ดีขึ้นได้ 

อีกเป้าหมายหนึ่งคือ อยากสร้างทีม ถ่ายทอดทักษะต่างๆ ที่มีให้กับทีมนักข่าวหน้าใหม่ที่ปลุกปั้นขึ้นมาเอง ฝึกฝนบุคลากรสื่อที่อยากทำสิ่งดีๆ ให้สังคม และสุดท้ายคุณตออยากพิสูจน์ตัวเองว่าลิมิตของการเป็นบุคลากรสื่อสามารถเป็นหัวหน้าคนได้ไหม สามารถเป็นคนกำหนดทิศทางการทำงานให้กับน้องๆ สร้างคนที่อาจจะได้โอกาสอย่างเราได้หรือไม่

สุดท้ายสิ่งที่คุณตองอยากผลักดันด้านการศึกษาสื่อสารมวลชนในประเทศไทย อย่างแรกคือ ไม่อยากเห็นแค่คนจากสายวิชาการมาสอนด้านสื่อ อยากจะเห็นบุคลากรด้านสื่อจริงๆ มาเป็นเทรนเนอร์ เมนเทอร์ให้กับน้องๆ รวมทั้งผลักดันเรื่องของ Critical Thinking และนอกเหนือจากเรื่องวิชาการและทักษะที่อาจารย์ได้ถ่ายทอด ควรจะหาโมเดลให้กับลูกศิษย์ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรสื่อได้ฟูมฟักสื่อมวลชนรุ่นใหม่ ให้เป็นสื่อที่ดีในอนาคต

.


.

.

คุณนุ่น สุภาวดี สิริฤกษ์วิภาส | THE STUDY TIMES STORY EP.30

บทสัมภาษณ์ คุณนุ่น สุภาวดี สิริฤกษ์วิภาส ได้รับทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย Cornell University - LL.M, สหรัฐอเมริกา 
จากนักกิจกรรมตัวยง สู่นักเรียนทุนสายกฎหมาย เพราะความสนใจด้านภาษา ช่วยพัฒนาศักยภาพ

ปัจจุบันคุณนุ่นทำงานในตำแหน่ง Associate ที่ Law Firm ทำเกี่ยวกับ corporate รวมถึงการควบรวมกิจการต่างๆ 

ประสบการณ์เรียนภาษาที่ออสเตรเลีย
ด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่ของคุณนุ่นสนใจในภาษา จึงสนับสนุนให้คุณนุ่นเรียนด้านภาษาตั้งแต่เด็ก ช่วงมัธยมคุณพ่อคุณแม่ส่งไปเรียนใน English Program เรียนอาทิตย์แรกถึงกับเป็นไมเกรน เพราะตามไม่ทันจากที่เรียนโรงเรียนไทยมาตลอด แต่พยายามปรับตัว สุดท้ายเริ่มเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์สอน 

กระทั่งจบชั้นม.1 คุณแม่ส่งให้ไปเรียนภาษาที่ออสเตรเลีย จากตอนแรกที่ฟังอะไรไม่รู้เรื่อง แต่พอไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น ทำให้พัฒนาทั้งสมอง และหูสามารถปรับรับกับภาษาได้ เกิดความสนใจด้านภาษาอย่างมาก เพราะภาษาอังกฤษเป็นตัวเปิดโลกให้กว้างขึ้น ทำให้เรียนรู้อะไรได้มากกว่า สามารถอ่านวรรณกรรมที่นอกเหนือจากวรรณกรรมไทย หรือบทความภาษาไทย 

เรียนแลกเปลี่ยนสหรัฐอเมริกา จุดก้าวกระโดดทักษะการฟังภาษาอังกฤษ
หลังจากนั้นคุณนุ่นได้สอบชิงทุนไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปอยู่เท็กซัส 1 ปี ถึงแม้จะเรียน English Program มา แต่เรียนเฉพาะในแง่ของวิชาการ หลายๆ อย่างยังต้องพัฒนา ที่สำคัญคือการพูดตัวอักษร L R V แต่โชคดีที่โฮสมัมซึ่งเป็นอาจารย์จะมาฝึกพูดให้ทุกวัน รวมทั้งฝึกภาษาจากการดูหนังภาษาอังกฤษแบบไม่เปิดซับ  

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียน ‘นิติศาสตร์’
ตอนป.3 คุณแม่ของเพื่อนสนิทเป็นผู้พิพากษาและมีญาติเป็นทนายความ คุณนุ่นได้ไปสัมผัสแล้วรู้สึกว่าเป็นผู้หญิงที่เท่มาก จึงมีเขาเป็นไอดอล รู้สึกว่าอยากเป็นแบบนี้ พยายามหาข้อมูลจนรู้สึกว่านิติศาสตร์เป็นอะไรที่เป็นเหตุเป็นผล สามารถเข้าใจได้ และปรับใช้ได้กับทุกอย่างในชีวิตประจำวัน จึงตัดสินใจสอบตรงเข้านิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 

คุณนุ่นเล่าว่า การเรียนกฎหมายไม่ใช่แค่อ่านตัวบทแล้วจะเข้าใจตัวกฎหมาย ต้องมองไปถึงวิธีการตีความ บัญญัติออกมาเป็นอย่างไร เอามาปรับใช้กับข้อเท็จจริงอย่างไร หากใครมีโอกาส คุณนุ่นแนะนำให้ลองทำกิจกรรมต่างๆ ที่มี เพื่อศึกษาถึงการนำกฎหมายมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

กิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณนุ่นเป็นคนที่ทำกิจกรรมเยอะมาก ด้วยความที่ชื่นชอบภาษา จะเลือกทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษ และด้วยความที่เด็กนิติฯ ส่วนใหญ่มีความกลัวภาษาอังกฤษ เป็นการเปิดโอกาสให้กับคนที่ไม่กลัวภาษา ซึ่งการทำกิจกรรมสามารถเปิดโลกกว้าง และเปิดมุมมองที่แตกต่าง การแบ่งเวลาของคุณนุ่นคือ ในช่วงปี 1 – ปี 3 ลุยทำกิจกรรมในคณะ และปี 4 ลองออกไปทำกิจกรรมนอกคณะ อย่างการเป็นหลีดมหาวิทยาลัย 

ซึ่งข้อดีของการทำกิจกรรมในรั้วมหาลัย เวลาที่ไปสมัครงาน ไปสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์จะเห็นว่าเราสามารถทำสิ่งอื่นได้นอกเหนือจากสิ่งที่เรียนในห้อง มีทักษะที่หลากหลายด้าน

คุณนุ่นเคยผ่านการคัดเลือกเป็น Kbank e-Girls เป็นตัวแทน 8 คน จากผู้สมัคร 8,000 คน โดยเริ่มจากดูว่าเขาต้องการอะไร ต้องการคนที่สามารถนำเสนอได้ มีความสมาร์ท ผู้หญิงที่มีความสามารถ ปราดเปรียว รู้สึกว่าอาจจะเหมาะกับคาแรคเตอร์ เลยลองไปสมัคร ตอนนั้นคิดว่าสิ่งที่ทำให้ได้โอกาส มาจากการที่เคยทำกิจกรรม รู้จักนำเสนอ รู้จักคุยกับคนอื่น หลังจากนั้นคุณนุ่นยังใช้ทักษะที่มีไปคว้าตำแหน่งผู้ประกาศข่าวหน้าใหม่ของช่อง 9 มาได้อีกด้วย

คุณนุ่นแนะนำว่า การที่เราไม่มีประสบการณ์ในด้านไหน เราก็สามารถไปคว้าโอกาสดีๆ มาได้ ถ้าเรามีความพยายาม และการฝึกฝน บางทีที่คนต้องการเห็นจากเรา คือความพยายาม และหากเรามีแวว มีความสามารถ เราสามารถไปต่อได้

Cornell University - LL.M (ทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย)
คุณนุ่นเล่าว่า ในการสมัครทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย ต้องมีคะแนน TOEFL และต้องได้เนติบัณฑิต เพราะเป็นทุนของเนติบัณฑิตยสภา ภายใต้ชื่อทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย แต่ละปีจะคัดเลือกไป 1 คนต่อหนึ่งปี เป็นทุนให้เปล่า

เมื่อตรวจเอกสารเรียบร้อย หากใครได้เข้ารอบสัมภาษณ์ จะต้องเขียนแนวทางชีวิต ว่าต้องการทำอะไรต่อ จะทำอะไรให้สังคมได้บ้างในอนาคต และประวัติส่วนตัวสามหน้า ให้เวลาหนึ่งอาทิตย์ และในวันสัมภาษณ์จะต้องเขียน Essay ตามหัวข้อที่ได้มาภายในเวลา 30 นาที โดยกรรมการจะสัมภาษณ์จากในทุกอย่างที่เราเขียนส่งไป

คุณนุ่นคิดว่าสิ่งที่ทำให้ตัวเองได้รับทุนนี้ เพราะประสบการณ์ที่สั่งสมมา และมีจุดมุ่งหมายที่แน่ชัดว่าอยากทำอะไร สิ่งที่มีมากกว่าคนอื่นคือประสบการณ์และสิ่งที่สะสมไว้จากตอนทำกิจกรรมมากมายในรั้วมหาวิทยาลัย

Cornell University 
คุณนุ่นเล่าว่า การเรียนที่ Cornell University ต่างจากที่ไทยมาก เพราะเน้นให้ฉุกคิด เรียกให้ตอบในห้องเรียน ทำให้นักเรียนอเมริกันมีความกล้าแสดงออก กล้าคิดนอกกรอบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การศึกษาพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและมีประโยชน์ต่อตัวผู้เรียน

สิ่งที่คุณนุ่นประทับใจที่สุดใน Cornell University คืออาจารย์และเพื่อน อาจารย์จะสอนให้ฝึกคิดและมีแนวให้ฝึกปฏิบัติ นำกฎหมายไปปรับใช้ในชีวิตจริง ส่วนเพื่อนแต่ละคนกว่าที่จะมาถึงจุดนี้ก็ผ่านหลายประสบการณ์มา เมื่อได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน พบว่าตัวเองได้ก้าวกระโดดด้านความคิด มีเพื่อนที่จะสามารถแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ตลอดชีวิตหลังจากนี้

คุณนุ่นฝากทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้นักกฎหมายตามกฎหมายอยู่เรื่อยๆ ตามแนวทางการตีความ เบื้องหลังการออกกฎหมายต่างๆ พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

.


.

.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top