คุณตอง ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล | THE STUDY TIMES STORY EP.29

บทสัมภาษณ์ คุณตอง ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล ปริญญาโท International Journalism (เกียรตินิยมอันดับ 1), Cardiff University, แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร
ไม่แข่งกับใคร แข่งกับตัวเองเท่านั้น ยกระดับความสามารถและวิชาชีพสื่อมวลชน

ปัจจุบันคุณตองเป็นบรรณาธิการดิจิทัลของสำนักข่าว เกี่ยวกับด้านต่างประเทศ ทำคอนเท้นต์ต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ผู้ชมมีพื้นที่ในการเสพข่าวต่างประเทศในเชิงลึก มีทั้งบทวิเคราะห์ การนำเสนอภาพนิ่ง และวิดีโอที่ครอบคลุมรอบด้าน

ย้อนกลับไป คุนตองมีความชื่นชอบภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิม หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2

นอกจากนี้ช่วงที่เรียน คุณตองได้ต่อยอดทักษะภาษาอังกฤษด้วยการไปทำงานร้านอาหารอิสราเอล ต้องคุยกับฝรั่งทุกวัน ไปสอนคุมอง นำสิ่งที่ได้เรียนไปใช้ในชีวิตจริง จบมาคิดว่าได้ประสบการณ์ในส่วนที่กล้าพูดภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติได้อย่างไม่เคอะเขิน 

ช่วงปี 3 ได้ไป Work & Travel ที่ลาสเวกัส 3-4 เดือน ทำงานเก็บเงินไปเที่ยวที่ต่างๆ ได้ฝึกทักษะภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น จนกลับมาปี 4 ได้ไปฝึกงานที่ช่อง 7 ในโต๊ะข่าวต่างประเทศ หลังจากนั้นเมื่อเรียนจบ ได้ไปทำงานเกี่ยวกับด้าน management แต่ค้นพบว่าตนเองมีความชอบและความสนใจด้านการสัมภาษณ์ พูดคุยกับแหล่งข่าว เขียนข่าวมากกว่า จนรุ่นพี่ที่ฝึกงานได้ชวนมาทำงานที่ช่อง 7 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักข่าว 

หลังจากทำงานที่ช่อง 7 ได้ประมาณ 2 ปี ค้นพบว่าได้ใช้ทักษะภาษาในการเขียนข่าว แปลข่าว วิเคราะห์ข่าว จนมาถึงจุดที่นั่งคิดว่าตัวเองทำได้มากกว่าการนั่งโต๊ะ เกิดแรงบันดาลใจที่จะเป็นนักข่าวภาคสนาม การเปิดหน้าทีวีกลายเป็นความฝันใหม่ อยากใช้ทักษะภาษาอังกฤษที่มี นำข้อมูลจากต่างประเทศมาสื่อสารให้ผู้ชม ขวนขวายตัวเองจนได้ไปต่างประเทศบ้าง แต่กลายเป็นว่าการเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามยังไม่โดดเด่นมากพอที่ช่องใหญ่จะนำผลงานมาออกอากาศให้ผู้ชมดู เกิดเป็นความรู้สึกบอบช้ำที่ว่า ‘ฉันยังไม่ดีพอ’ แต่อย่างน้อยได้เปิดโลกใหม่ของการถ่ายเอง ทำเอง เปิดหน้าเอง และตัดต่อเอง

จนมีคนที่เล็งเห็นถึงความพยายามและความสามารถ ชักชวนให้มาเป็นนักข่าวภาคสนามสายต่างประเทศที่สปริงนิวส์ อยู่ในจุดที่ทำแล้วต้องออกอากาศ กลายเป็นแรงผลักให้คุณตองเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามสายต่างประเทศที่ทำได้จริง เปิดหน้ารายงานสดได้จริง สามารถนิยามตัวเองว่าเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามได้ 

สิ่งที่ทำให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความผิดหวังมาได้ คุณตองเล่าว่า มาถึงวันนี้มองกลับไป เข้าใจว่าเราทำดีไม่มากพอให้เขาเห็น ความชอกช้ำหรือความผิดหวังที่ว่าเราทำเต็มที่แต่ไม่ได้ผลในสิ่งที่ต้องการ บางครั้งก็สามารถกลายเป็นแรงผลักได้ เป็นพลังลบที่ถีบเรา ทำให้เราก้าวข้ามอะไรบางอย่างไปได้

งานสื่อสารมวลชนไม่ได้ทำเพื่อให้ตัวเองเติบโต หรือมีหน้ามีตาในสังคมสื่อ แต่ทำเพื่อให้ผู้ชมดู ทำแล้วเป็นประโยชน์อะไรต่อผู้ชม ความคิดนี้เองที่ทำให้คุณตองอยู่ในอาชีพนี้ต่อไปได้   

ชิงทุน Chevening Scholarships
ตอนนั้นคุณตองทำงานที่สปริงนิวส์ได้ปีที่ 2 รุ่นพี่บรรณาธิการแนะนำว่าถ้าอยากดันตัวเองให้โตได้เร็วต้องไปศึกษาต่อปริญญาโท โดยเฉพาะในต่างประเทศ โชคดีที่คุณตองมีพื้นฐานภาษาอังกฤษ พยายามทำข้อสอบ mock-up ทุกวัน ฟังเพลงภาษาอังกฤษ ดูข่าว BBC เตรียมตัวพร้อมมาก แต่สอบสองปีไม่ผ่านในรอบสัมภาษณ์ ซึ่งคุณตองไม่เคยท้อ งานข่าวทำให้รู้สึกว่าต้องเดินหน้าต่อไป กระทั่งสมัครสอบทุนปีที่ 3 รู้สึกว่าชีวิตตัวเองอยู่ในจุดที่ดีมาก ลงตัว สามารถนำเสนอคอนเทนต์ด้วยตัวคนเดียวได้ จนท้ายที่สุดผ่านทุน ได้เข้าเรียนปริญญาโท สาขาวารสารศาสตร์ระหว่างประเทศ MA International Journalism, Cardiff University, แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร คว้าเกียรตินิยมอันดับ 1

ประสบการณ์ทำงานกับ BBC World 
ก่อนจะไปเรียนต่อคุณตองทำงานเป็น Video Journalist ที่ BBC Thai อยู่ก่อนแล้ว ด้วยความที่มีอุปกรณ์พร้อมทำงาน ช่วงไปเรียนต่อที่สหราชอาณาจักร มีรุ่นพี่ชักชวนให้ไปช่วยงานที่ BBC World เริ่มจากตัดต่อง่ายๆ เขียนคอนเทนต์ จนไปช่วยถ่ายงานใหญ่ที่กรุงลอนดอน ได้ประสบการณ์ที่หลากหลาย โดยระบบการทำงานใน BBC มีลักษณะ “One man, One job”

หลังกลับมาเมืองไทย คุณตองได้เข้ามาทำงานในตำแหน่ง บรรณาธิการข่าวดิจิทัล กับช่องใหญ่ช่องหนึ่ง มีเป้าหมาย คือ ทำอย่างไรให้สำนักข่าวต่างประเทศที่มีคนไทยทำ ทำคอนเทนต์ที่คนไทยเข้าถึงได้ และประสบความสำเร็จ ทำให้คนไทยสนใจข่าวต่างประเทศ มองสิ่งที่อยู่นอกประเทศได้มากขึ้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเป็นกระจกสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย การเสพข่าวอาจเกิดชุดความคิดที่นำไปสู่ทางออกที่ดีขึ้นได้ 

อีกเป้าหมายหนึ่งคือ อยากสร้างทีม ถ่ายทอดทักษะต่างๆ ที่มีให้กับทีมนักข่าวหน้าใหม่ที่ปลุกปั้นขึ้นมาเอง ฝึกฝนบุคลากรสื่อที่อยากทำสิ่งดีๆ ให้สังคม และสุดท้ายคุณตออยากพิสูจน์ตัวเองว่าลิมิตของการเป็นบุคลากรสื่อสามารถเป็นหัวหน้าคนได้ไหม สามารถเป็นคนกำหนดทิศทางการทำงานให้กับน้องๆ สร้างคนที่อาจจะได้โอกาสอย่างเราได้หรือไม่

สุดท้ายสิ่งที่คุณตองอยากผลักดันด้านการศึกษาสื่อสารมวลชนในประเทศไทย อย่างแรกคือ ไม่อยากเห็นแค่คนจากสายวิชาการมาสอนด้านสื่อ อยากจะเห็นบุคลากรด้านสื่อจริงๆ มาเป็นเทรนเนอร์ เมนเทอร์ให้กับน้องๆ รวมทั้งผลักดันเรื่องของ Critical Thinking และนอกเหนือจากเรื่องวิชาการและทักษะที่อาจารย์ได้ถ่ายทอด ควรจะหาโมเดลให้กับลูกศิษย์ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรสื่อได้ฟูมฟักสื่อมวลชนรุ่นใหม่ ให้เป็นสื่อที่ดีในอนาคต

.


.

.