Saturday, 11 May 2024
The States Times

11 มกราคม พ.ศ. 2552 ย้อนอดีตศึกเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ที่แข่งขันกันมันส์หยด

มาแน่ปีนี้ แต่เห็นทีต้องหมดโควิด-19 เสียก่อน กำลังพูดถึง ‘การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร’ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีข่าวคราว เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครกันหลายค่าย หลายราย โปรดติดตามกันให้ดี ศึกเลือกตั้งพ่อเมืองหลวงหนนี้ น่าจะมันส์ไม่แพ้ครั้งไหน

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เราขอย้อนอดีตไปเมื่อ 12 ปีก่อน วันนี้คือวันที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เช่นเดียวกัน โดยเป็นการเลือกตั้งในครั้งที่ 9 ซึ่งครั้งนั้นถูกยกให้เป็นการเลือกตั้งที่มีผู้สมัครแข่งขันกันได้คู่คี่สูสี

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะมีผู้สมัครระดับ ‘บิ๊กเนม’ ลงแข่งขันกันหลายราย อาทิ ลีน่า จังจรรจา ที่ลงสมัครในนามอิสระ  ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ ปลื้ม ลงในนามอิสระเช่นกัน แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย และ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลงในนามพรรคประชาธิปัตย์

ก่อนการเลือกตั้ง ผลโพลออกมาคู่คี่สูสี เนื่องจากแต่ละคนก็มีฐานเสียงจำนวนไม่น้อย กระทั่งถึงวันเลือกตั้งจริง ผลการเลือกตั้งออกมาว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้คะแนนไป 934,602 คะแนน คิดเป็น ร้อยละ 45.41 ลำดับที่สอง คือ ยุรนันท์ ภมรมนตรี ได้คะแนนไป 611,669 คะแนน คิดเป็น ร้อยละ 29.72 ส่วน ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ได้คะแนนไป 334,846 คะแนน คิดเป็น ร้อยละ 16.27

สุดท้ายกลายเป็น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่คว้าเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ไปครอง รวมทั้งยังเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพคนที่ 15 ดำรงตำแหน่งต่อมาอีก 4 ปี ก่อนที่จะลงสมัครอีกครั้งในปี พ.ศ. 2556 และสามารถเอาชนะการเลือกตั้งไปได้อีกหน ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.เป็นสมัยที่สองติดต่อกัน

12 มกราคม พ.ศ. 2535 วันคล้ายวันเกิด ‘ชาริล ชัปปุยส์’ นักฟุตบอลคนดัง อายุครบ 29 ปี

ฟุตบอลไทยวันนี้ มาไกล และก้าวกระโดดไปไกลอย่างมาก ปัจจุบันลีกไทยถือเป็นหนึ่งในลีกที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ของอาเซียน รวมไปถึงนักฟุตบอลไทยก็ได้รับความสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน

และหนึ่งในนักฟุตบอลที่เป็นที่สนใจ ทั้งจากแฟนบอล หรือจากสื่อต่างๆ คงต้องยกให้กับ ชาริล ชัปปุยส์ นักฟุตบอลลูกครึ่งไทย-สวิสฯ ที่ผ่านการเล่นให้กับหลายสโมสรในประเทศไทย และรวมถึงในนามทีมชาติไทย

ชาริล ชัปปุยส์ เกิดและเติบโตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีคุณพ่อเป็นชาวสวิสฯ ส่วนคุณแม่เป็นคนไทย เขาเริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่อายุ 7 ขวบ และกลายเป็นนักเตะเยาวชนในทีมสโมสรของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในเวลาต่อมา กระทั่งเคยได้ก้าวไปเป็นหนึ่งในนักเตะทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ ชุดอายุไม่เกิน 17 ปี และเคยคว้าแชม์ฟุตบอลโลกรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ร่วมกับสวิตเซอร์แลนด์มาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2552

ชาริลกลับมาสู่เมืองไทยและลงเล่นในไทยลีกครั้งแรกร่วมกับทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในปี พ.ศ. 2556 ก่อนจะย้ายมาสู่ทีมสุพรรณบุรี เอฟซี, เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด และปัจจุบันค้าแข้งอยู่กับสโมสรการท่าเรือ เอฟซี

ชาริลยังเคยเป็นหนึ่งในขุนพลทีมชาติไทยชุดคว้าแชมป์เอเอฟซี ซูซูกิ คัพ ในปี ค.ศ. 2014 ซึ่งเรื่องราวเกียรติประวัติในสนามของเขานั้นมีมากมาย แต่เมื่อเทียบกับเรื่องราวนอกสนามแล้ว ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ด้วยความที่เป็นลูกครึ่งหน้าตาดี ชาริลจึงกลายเป็นนักกีฬาเนื้อหอม เขามักไปสวมบทบาทเป็นนายแบบอยู่เป็นประจำ

วันนี้เป็นวันเกิดของเขา ในวัย 29 ปี เราก็ขออวยพรให้ชาริลมีสุขภาพแข็งแรง และมีเส้นทางลูกหนังที่สดใส ส่วนแฟนคลับที่ชื่นชอบจะร่วมอวยพรวันเกิด ก็สามารถเข้าไปในไอจี @7charyl กันได้เลย

13 มกราคม วันการบินแห่งชาติ

วันนี้เป็นวัน ‘การบินแห่งชาติ’ โดยถือว่าเป็นวันสำคัญต่อกิจการการบินของประเทศ ซึ่งที่มาของวันนี้ สืบย้อนกลับไปราว 110 ปี ในปี พ.ศ. 2454 จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำความกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของเครื่องบิน ที่มีไว้เพื่อป้องกันประเทศ

ต่อมาจึงมีคำสั่งให้นายทหาร 3 นายไปฝึกวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกันนั้น ทางการยังได้สั่งซื้อเครื่องบินจากฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกจำนวน 7 ลำ กระทั่งนายทหารนักบินทั้ง 3 นายสำเร็จการศึกษากลับมา ก็ได้ทดลองบินเป็นครั้งแรกในประเทศ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ซึ่งผลการขับเป็นไปด้วยดี ท่ามกลางเสียงชื่นชมของผู้ชมจำนวนมากที่มารอชม

ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาแผนกการบินขึ้นในกระทรวงกลาโหม เป็นผลให้กิจการการบินไทยได้รับการพัฒนาขึ้นตามลำดับ กระทั่งเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จทอดพระเนตรการบิน โดยมีนายทหารนักบินขึ้นแสดงการบินถวายและโปรยกระดาษถวายพระพรชัยมงคล

เวลาผันผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อกิจการการบินของชาติ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 13 มกราคมของทุกปี เป็นวันการบินแห่งชาติ โดยเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นผู้ริเริ่มและมีสายพระเนตรยาวไกลต่อกิจการการบิน กระทั่งได้รับการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

 

15 มกราคม พ.ศ. 2551 บันทึกสำคัญหน้าทีวีไทย เมื่อ ‘ไอทีวี’ ถูกยุติออกอากาศ เป็นที่มาการเปลี่ยนผ่านสู่สถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ ‘ไทยพีบีเอส’

วันนี้เมื่อ 13 ปีก่อน ถือเป็นอีกหนึ่งบทหน้าบันทึกของวงการโทรทัศน์เมืองไทย เมื่อสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ถูกยุติออกอากาศ พร้อมเปลี่ยนผ่านไปสู่สถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ที่มีชื่อว่า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

 

กล่าวถึงสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 โดยการเรียกร้องของประชาชนในยุคนั้น ที่ต้องการสื่อที่นำเสนอข่าวได้โดย ‘อิสระ’ กระทั่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้เปิดการให้สัมปทานช่องใหม่ โดยต้องมีสัดส่วนรายการข่าวและสาระ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และรายการบันเทิง ไม่เกินร้อยละ 30

 

สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เริ่มออกอากาศ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 เริ่มด้วยรายการข่าวภาคค่ำ โดยสร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้กับสื่อโทรทัศน์ไทย ด้านการนำเสนอข่าวที่มีความตรงไปตรงมา รวดเร็วฉับไว วิเคราะห์ลึก แต่ต่อมาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี พ.ศ. 2540 ได้มีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้น จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการแก้ไขสัมปทาน รวมทั้งสัดส่วนของรายการแต่เดิมที่ตกลงกับสปน.

 

ด้วยประเด็นนี้เอง จึงนำมาซึ่งการถูกฟ้องร้อง ผลพวงจากคดี เป็นเหตุให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ต้องจ่ายค่าสัมปทานเท่าเดิมที่ตัวเลข 1,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมกับถูกปรับย้อนหลังอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อเวลาผ่าน ทางสถานีไม่สามารถจ่ายเงินดังกล่าวได้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานสถานี รวมระยะเวลาการออกอากาศทั้งสิ้น 10 ปี 8 เดือน 6 วัน 5 ชั่วโมง

 

ผลจากการยกเลิกสัมปทาน ทำให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ถูกโอนย้ายไปสังกัดกรมประชาสัมพันธ์นับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2550 กระทั่งสถานีเดิมถูกเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ‘ทีวีสาธารณะ’ โดยในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 สถานีโทรทัศน์ไอทีวีเดิม ก็ได้ถูกเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นทีวีสาธารณะเต็มตัว พร้อมกับชื่อใหม่ว่า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS-Thai Public Broadcasting Service) และทำการออกอากาศต่อเนื่องจนถึงวันนี้ 13 ปีมาแล้ว

 

16 มกราคม วันครูแห่งชาติ...วันแห่งการน้อมระลึกถึงผู้ให้ความรู้และการพัฒนา

 

‘ไม่มีใคร ไม่มีครู’ แม้จะไม่ใช่ประโยคที่สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่เชื่อว่า คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า ‘ไม่เคยมีครู’ และในวันนี้ ก็ถือเป็นวันสำคัญ โดยถูกกำหนดให้เป็น ‘วันครูแห่งชาติ’

 

ที่มาของวันสำคัญวันนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2488 ประเทศไทยมีการประกาศพระราชบัญญัติครูขึ้นมาในราชกิจจานุเบกษา กระทั่งเวลาผ่านมาอีกราว 11 ปี คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี เป็น ‘วันครูแห่งชาติ’ และได้มีการจัดงานวันครูขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500

 

โดยจุดประสงค์ในการมีวันครู เพื่อให้นักเรียนได้ระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ ที่ได้อบรมสั่งสอนเรามาตั้งแต่เด็ก ทำให้คน ๆ หนึ่ง กลายเป็นคนดีรู้วิชา ครูจึงเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญ และถือเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้สังคมก้าวหน้า ตลอดจนตั้งอยู่บนจริยธรรมความดี

 

โลกอาจจะหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน ทำให้ทุกวันนี้เราสามารถเรียนหนังสือผ่านสื่อออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย แต่ความสำคัญของครูก็ไม่ได้ลดน้อยลงไป เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังต้องเรียนรู้ คำว่า ‘ครู’ ก็ยังคงมีความหมายตลอดไป

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top