15 มกราคม พ.ศ. 2551 บันทึกสำคัญหน้าทีวีไทย เมื่อ ‘ไอทีวี’ ถูกยุติออกอากาศ เป็นที่มาการเปลี่ยนผ่านสู่สถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ ‘ไทยพีบีเอส’

วันนี้เมื่อ 13 ปีก่อน ถือเป็นอีกหนึ่งบทหน้าบันทึกของวงการโทรทัศน์เมืองไทย เมื่อสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ถูกยุติออกอากาศ พร้อมเปลี่ยนผ่านไปสู่สถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ที่มีชื่อว่า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

 

กล่าวถึงสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 โดยการเรียกร้องของประชาชนในยุคนั้น ที่ต้องการสื่อที่นำเสนอข่าวได้โดย ‘อิสระ’ กระทั่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้เปิดการให้สัมปทานช่องใหม่ โดยต้องมีสัดส่วนรายการข่าวและสาระ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และรายการบันเทิง ไม่เกินร้อยละ 30

 

สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เริ่มออกอากาศ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 เริ่มด้วยรายการข่าวภาคค่ำ โดยสร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้กับสื่อโทรทัศน์ไทย ด้านการนำเสนอข่าวที่มีความตรงไปตรงมา รวดเร็วฉับไว วิเคราะห์ลึก แต่ต่อมาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี พ.ศ. 2540 ได้มีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้น จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการแก้ไขสัมปทาน รวมทั้งสัดส่วนของรายการแต่เดิมที่ตกลงกับสปน.

 

ด้วยประเด็นนี้เอง จึงนำมาซึ่งการถูกฟ้องร้อง ผลพวงจากคดี เป็นเหตุให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ต้องจ่ายค่าสัมปทานเท่าเดิมที่ตัวเลข 1,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมกับถูกปรับย้อนหลังอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อเวลาผ่าน ทางสถานีไม่สามารถจ่ายเงินดังกล่าวได้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานสถานี รวมระยะเวลาการออกอากาศทั้งสิ้น 10 ปี 8 เดือน 6 วัน 5 ชั่วโมง

 

ผลจากการยกเลิกสัมปทาน ทำให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ถูกโอนย้ายไปสังกัดกรมประชาสัมพันธ์นับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2550 กระทั่งสถานีเดิมถูกเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ‘ทีวีสาธารณะ’ โดยในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 สถานีโทรทัศน์ไอทีวีเดิม ก็ได้ถูกเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นทีวีสาธารณะเต็มตัว พร้อมกับชื่อใหม่ว่า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS-Thai Public Broadcasting Service) และทำการออกอากาศต่อเนื่องจนถึงวันนี้ 13 ปีมาแล้ว