ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งยึดถือเสียงข้างมากเป็นหลักแต่ในขณะเดียวกันก็เคารพในสิทธิและเสียงของข้างที่น้อยกว่า ซึ่งหลักการนี้นำมาใช้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเนื่องจากในสังคมมีคนมากมายต่างความคิด ความเห็นกัน ถ้ารัฐตัดสินเพียงฝ่ายเดียวก็จะดูเหมือนการมัดมือชกไปสักหน่อย รัฐจึงต้องมีการเปิดพื้นที่เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิของตน
จึงเกิดรูปแบบที่เรียกว่า ‘ ประชามติ ’ เกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกฎหมายหรือนโยบายต่างๆของรัฐซึ่งประชามติ ก็เป็นรูปแบบนึงที่หลายๆประเทศนำมาใช้ไม่ใช่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ใช้รูปแบบของประชามติเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความเห็นชอบด้านการเมือง วันนี้ The States Times อยากจะพาทุกคนไปดูว่า ‘ ประชามติ ’ ในแต่ละประเทศเป็นยังไงและมีความแตกต่างกันอย่างไร
.
เครดิตภาพ : https-//www.teenvogue.com/story/the-american-flag-was-sewn-in-part-by-a-teenage-black-girl
.
เริ่มที่ประเทศแรกประเทศที่ใครๆต่างก็รู้จัก ‘ ประเทศสหรัฐอเมริกา ’ ที่ใช้ระบบการปกครองแบบ สหพันธรัฐประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ประเทศนี้เขาใช้ประชามติแค่ในระดับมลรัฐเท่านั้น โดยใช้ 2 แบบ คือการให้ออกเสียงประชามติที่เริ่มต้นจัดทําโดยฝ่ายนิติบัญญัติและการออกเสียงประชามติที่เสนอโดยประชาชน ซึ่งทั้งสองแบบเรื่องที่เสนอขึ้นมาจะนำไปใช้ได้หรือไม่ได้ก็ต้องผ่านความเห็นชอบของประชาชนก่อนดังนั้นการใช้กระบวนการประชามติในสหรัฐฯจึงถือว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้ประชาชนนั้นได้มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริงแม้จะในระดับมลรัฐก็ตาม
อย่างในกรณีของการลงประชามติในระดับมลรัฐ ซึ่งมีขึ้นที่รัฐออริกอน ที่มีการลงประชามติให้มีการยกเลิกโทษความผิดทางอาญา สำหรับการครอบครองยาเสพติดร้ายแรง เช่นเฮโรอีน หรือโคเคน สำหรับใช้ส่วนตัวในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
.
เครดิตภาพ : https-//th.investing.com/news/economic-indicators/article-22708
.
ประเทศต่อมาคงหนีไม่พ้นประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประเทศที่ไม่ได้มีดีแค่ธรรมชาติที่สวยงาม แต่ยังเด่นเรื่องประชาธิปไตยทางตรงของพี่เขาอีกด้วย ซึ่งประเทศสวิสเซอร์แลนด์ปกครองในรูปแบบสมาพันธรัฐ ระบบการเมืองของประเทศสวิสเซอร์แลนด์นั้นเป็นระบบ ‘ ประชาธิปไตยทางตรง ’ อันเป็นกลไกที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และด้วยความกระตือรื้อร้นของพลเมืองจึงทำให้เกิดการใช้ระบบประชาธิปไตยทางตรงบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นการให้พื้นที่กับประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นอย่างมาก การออกเสียงประชามติในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ไม่เหมือนประเทศไหน ๆ เพราะคนที่ตัดสินว่าจะลงประชามติในเรื่องไหนบ้างไม่ใช่รัฐบาลแต่เป็นรัฐธรรมนูญที่จะมีการกำหนดเรื่องที่ต้องออกเสียงประชามติไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้การออกเสียงประชามติยังสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการเรียกร้องจากประชาชนอีกด้วย จะเห็นได้ว่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์เองก็ได้นำกระบวนการออกเสียงประชามติมาใช้บ่อยครั้งเพราะด้วยตัวกฎหมายที่ส่งเสริมและประชาชนที่ให้ความสนใจ จึงทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเมืองอย่างแท้จริง
ตัวอย่างในการลงประชามติที่เรียกร้องจากประชาชน ในเรื่องรับแผนประกันเงินเดือนขั้นต่ำของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ถึงแม้ว่าผลของประชามติจะถูกปัดตกไป แต่ก็แสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจและมีส่วนร่วมในการเมืองอย่างแท้จริง
.
เครดิตภาพ : https://www.posttoday.com/world/584840
.
การออกเสียงประชามติในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งปกครองโดยระบอบสาธารณรัฐ ประชาธิปไตย กึ่งประธานาธิบดี ในปัจจุบันเรื่องที่นำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติมีทั้งหมด 4 กรณี ซึ่ง 3 กรณีเป็นเรื่องระดับประเทศ และอีกกรณีคือเรื่องท้องถิ่นทั่วไป แบ่งได้ง่ายๆคือ การออกเสียงประชามติระดับชาติเกี่ยวกับร่างกฎหมาย การออกเสียงประชามติระดับชาติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ การออกเสียงประชามติระดับชาติเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในดินแดน และการออกเสียงประชามติระดับท้องถิ่น ซึ่งทั้ง 4 กรณีล้วนผ่านความเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่ก่อนจึงจะสามารถนำมาใช้ได้ การออกเสียงประชามติในประเทศฝรั่งเศส จึงเป็นกระบวนการที่มีความสําคัญเป็นอย่างมาก ที่จะเปิดโอกาศให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วยการปรึกษาหารือกับผู้บริหารประเทศ โดยผ่านการตั้งคำถามหรือขอความเห็นในร่างกฎหมายหรือนโยบายที่สำคัญต่าง ๆ
อย่างเช่นการลงประชามติปกครองตนเองของแอลจีเรียซึ่งนับว่าเป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกเสียงประชามติระดับชาติเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในดินแดน
จากประเทศที่ได้ยกตัวอย่างมาให้ดูนี้ จะเห็นได้ว่าทุกประเทศล้วนปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ให้ความสำคัญกับเสียงส่วนมากและให้อำนาจสูงสุดกับประชาชน ด้วยการให้สิทธิประชาชนในการมีส่วนร่วมกับรัฐเพื่อตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลกับตัวประชาชนโดยตรง
.
ดังนั้น ‘ ประชามติ ’ จึงเป็นกระบวนการที่สร้างขึ้นเพื่อพื้นที่ในการมีส่วนร่วมและรับฟังเสียงของผู้ที่มีอำนาจที่สุดนั่นก็คือ ‘ ประชาชน ’