สสร. ใครกันล่ะเนี่ย?

ผลการลงมติ เมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ก็ได้ออกมาแล้ว โดยทั้งสองญัตติที่ผ่านการลงมติล้วนเกี่ยวข้องกับการตั้งสสร. ซึ่งรายละเอียดต่างกันแค่ ‘จำนวน’ ของ สสร. เท่านั้น โดยญัตติแรก จากพรรคร่วมฝ่ายค้าน สสร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และญัตติที่ 2 จากพรรคร่วมรัฐบาล สสร. 200 คนมาจากการเลือกตั้ง 150 คน และแต่งตั้ง 50 คน  ว่าแต่ สสร.เป็นใครกันล่ะแล้วเคยมีเป็นครั้งแรกรึเปล่านะ ?

.

วันนี้ The States Times อยากจะพาไปย้อนดูกันสักหน่อยว่า สสร.เรามีมากี่ครั้ง แล้วเขาเหล่านี้มีบทบาทอะไรกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ?

.

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักกันสักหน่อยว่า ‘สสร.’ คืออะไร ?

‘สสร.’  หรือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ คือ หน่วยงานที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้วเสนอต่อรัฐสภา ซึ่งหน่วยงานนี้มักจะมีขึ้นตอนที่เรามีแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้วเราอยากจะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรหรือต้องการประสานประโยชน์ ให้ตรงตามความต้องการทุกฝ่าย  จึงเกิดการตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาโดยจะปฏิบัติหน้าที่เพียงในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้นซึ่งในบ้านเราก็มีการจัดตั้ง สสร.มาแล้วทั้งหมด 4 ชุดด้วยกัน ได้แก่

.

สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 1

จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2491 ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นได้เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 ต่อสภา และให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 40 คน ซึ่งรัฐธรรมนูญของ สสร. ชุดแรกนี้ได้มีการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2492

.

สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 2

จัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ร่างรัฐะรรมนูญและให้เป็นรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติ และยังทำหน้าที่ในการคัดเลือกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกทั้งยังมีอำนาจที่จะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ตนเองจัดทำด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญของ สสร. ชุดนี้ได้ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511

.

สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 3

จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2539 โดยชุดนี้มีหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ โดยกำหนดเวลาร่างภายใน 240 วัน นับแต่วันที่มีสมาชิกครบจำนวน โดยในการร่าง สสร. ต้องคำนึงถึงความเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ และให้ สสร. กำหนดพื้นฐานที่จะพาไปสู่การปฏิรูปการเมืองโดยปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองขึ้นใหม่ให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป รัฐธรรมนูญของ สสร. ชุดที่ 3 นี้ได้ประกาศและบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540

.

สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 4

จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 มีหน้าที่ในร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 18) และต้องเสนอความเห็นพร้อมกับเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้วย เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน และการร่างรัฐธรรมนูญในชุดนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมออกความเห็นด้วยการลงประชามติให้ความเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งรัฐธรรมนูญของ สสร. ชุดนี้ได้ประกาศและบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550

.

จะเห็นได้ว่าบ้านเรานั้นมีรัฐธรรมนูญที่ผ่านการร่างจาก ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญ’หรือ สสร. มาแล้วทั้งหมด 4 ฉบับด้วยกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดรัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของประชาชน จากการร่างบนพื้นฐานความเห็นของประชาชนเป็นหลัก ดังนั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญนอกจากจะเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนทุกคนแล้วยังเป็นหน่วยงานที่ช่วยลดความร้อนระอุในการเมืองและประสานประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริงอีกด้วย