Monday, 29 April 2024
NongBuaLamphu

'ในหลวง' ทรงรับ ผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิต เหตุกราดยิงหนองบัวลำภู ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ เหตุกราดยิงหนองบัวลำภู ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์

วันนี้ (6 ต.ค. 65) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุกราดยิง ที่ จ.หนองบัวลำภู เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และทรงรับศพผู้ที่เสียชีวิต ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยต่อการเกิดเหตุการณ์รุนแรง คนร้ายก่อเหตุกราดยิงเด็กและผู้ใหญ่เสียชีวิตหลายสิบราย  

จากเหตุการณ์ ส.ต.อ.ปัญญา คำราบ อดีต ผบ.หมู่ ป.สภ.นาวัง และถูกไล่ออกจากราชการ เนื่องจากถูกจับกุมคดียาเสพติด ซึ่งได้ก่อเหตุกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 38 คน เหตุเกิดเมื่อช่วงเที่ยงวันนี้ (6 ต.ค.) ก่อนจะยิงตัวตายพร้อมลูกและภรรยา


ที่มา : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000096142

'ในหลวง-พระราชินี' เตรียมเสด็จ หนองบัวลำภู วันนี้ เพื่อทรงเยี่ยมคนเจ็บและพระราชทานขวัญกำลังใจให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต

(7 ต.ค. 65) มีรายงานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนิน ไปยังหนองบัวลำภูในวันนี้ 7 ตุลาคม เพื่อทรงเยี่ยมผู้บาดเจ็บและให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยจะเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ 

โดยทั้ง 2 พระองค์ ทรงทุกข์ใจ เมื่อเกิดเหตุกราดยิง อีกทั้ง ผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่ เป็นเด็กๆ จึงทรงประสงค์ ไปเยี่ยมราษฎรทันที หลังจากทูตต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ โดยเครื่องบิน พระที่นั่งจะลงจอด ที่สนามบินอุดรฯ

ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.แถลงว่า ในหลวง รับผู้เสียชีวิต บาดเจ็บเหตุกราดยิงไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ องคมนตรีลงพื้นที่คืนวาน (6 ตุลาคม) 

'โรม' ตั้งคำถาม เมื่อไรจะถึงเวลาจัดการระบบตั๋ว และวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงในราชการ

รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูเมื่อ 6 ตุลาคม 2565 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 35 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กรวมถึงตัวผู้ก่อเหตุและครอบครัวว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้สังคมไทยอย่างถึงที่สุด หากติดตามการรายงานข่าวที่ว่าผู้ก่อเหตุนั้นเป็นอดีตตำรวจที่ถูกให้ออกจากราชการเพราะเรื่องยาเสพติด ก็ควรต้องคิดได้แล้วว่าเพราะอะไรกันผู้มีหน้าที่ต้องปราบปรามอาชญากรรมจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมเสียเองได้ ระบบอะไรกันที่สร้างสภาวะแบบนี้ขึ้นมาได้

ตนเคยอภิปรายเรื่องเกี่ยวกับระบบเส้นสาย ระบบตั๋วในวงข้าราชการอยู่บ่อยครั้ง เคยต้องย้ำเตือนต่อผู้มีอำนาจหน้าที่อยู่หลายครั้งว่าระบบแบบนี้นี่แหละที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องผันตัวไปเป็นผู้ประกอบธุรกิจมืดเสียเอง การที่อดีตตำรวจคนนี้ไปพัวพันกับยาเสพติดในขณะที่ยังรับราชการอยู่ได้ ผู้บริหารที่มีสามัญสำนึกต้องและจริงจังได้แล้วว่าตำรวจทุกวันนี้กำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหนมากไปกว่านั้น ภาพเหตุการณ์ในครั้งนี้หรือการกราดยิงครั้งที่ผ่าน ๆ มา มีส่วนหนึ่งที่ทับซ้อนกันกับภาพเหตุการณ์ตำรวจสลายการชุมนุมราษฎร หรือภาพทหารสังหารหมู่คนเสื้อแดง นั่นคือเป็นภาพสะท้อนวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงที่ฝังรากลึกในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐมาอย่างยาวนาน

‘แพรรี่’ ตกใจบทสัมภาษณ์ของแม่ผู้ก่อเหตุ สะท้อน ‘สังคม-สถาบันครอบครัว’ กำลังล้มเหลว

แพรรี่ไพรวัลย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ตกใจ 2 เรื่องบทสัมภาษณ์แม่ฆาตกรที่บอกว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม เป็นเรื่องของอดีตชาติที่ฆาตกรกับเหยื่อเคยทำร่วมกันมา พร้อมสะท้อนมุมมอง สังคมและสถาบันครอบครัวกำลังล้มเหลว

จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู กราดยิงศูนย์เด็ก อบต.นากลาง ต.อุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู ล่าสุด (7 ต.ค. 65) ไพรวัลย์ วรรณบุตร หรือ แพรรี่ ไพรวัลย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ให้ข้อคิดเห็น โดยระบุข้อความว่า... 

ได้ฟังบทสัมภาษณ์แม่ของฆาตกร ซึ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อแห่งหนึ่งแล้วตกใจมาก ตกใจ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือเรื่องที่แม่ของฆาตกรพูดคล้ายกับว่า เขารู้เห็นกับพฤติกรรมการเสพยาเสพติดของลูกชายมาโดยตลอด ทั้งยังให้สัมภาษณ์ประหนึ่งว่า พฤติกรรมเช่นนั้นเป็นเรื่องปกติ “เราอยู่ในสังคมที่คนในครอบครัวรู้เห็นและเมินเฉยกับการเสพยาเสพติดของสมาชิกในครอบครัว เรื่องนี้น่ากลัวมาก”

ตกใจเรื่องที่ 2 แพรรี่ไพวัลย์ ระบุว่า แม่ของฆาตกรมองว่า โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของเวรกรรม เรื่องของอดีตชาติที่ฆาตกรกับเหยื่อเคยทำร่วมกันมาเมื่อชาติที่แล้ว ดังนั้นมันควรเป็นสิ่งที่เราต้องอโหสิหรือให้อภัยกัน ซึ่งแพรรี่ไพวัลย์ แสดงความคิดเห็นว่า “วิธีคิดเช่นนี้เลวร้ายมากกับกรณีนี้ มันสะท้อนได้ชัดว่า สังคมของเรากำลังล้มเหลวมาก สถาบันครอบครัวล้มเหลว การกล่อมเกลาและการปลูกฝังเอาใจใส่สมาชิกในครอบครัวถูกละเลย ที่สำคัญที่สุด ความเชื่อทางศาสนา (บวกกับความเข้าใจผิดๆ) มีส่วนทำให้คนมองข้ามปัญหาและปัดความรับผิดชอบต่อความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับสังคม”

ต่อมาแพรรี่ไพรวัลย์ ยังได้โพสต์ข้อความ ให้ข้อคิดเห็นกรณี “ป. : ทำยังไงก็คนมันติดยา ?” ด้วยว่า ทำยังไงก็ได้ ให้มันอยู่ในที่ ๆ คนติดยาควรต้องอยู่ อยู่สถานบำบัด หรือเรือนจำพิเศษก็ให้อยู่ไป คนติดยา ไม่ควรใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ปกติ การตรวจเยี่ยมและตรวจปัสสาวะต้องทำสม่ำเสมอ การสอดส่องดูแลลูกบ้านต้องเข้มงวด ที่สำคัญทำอย่างไรก็ได้ให้ยาเสพติดมันเป็นสิ่งที่ซื้อขายกันไม่ได้ง่ายเหมือนซื้อก๋วยเตี๋ยวหน้าปากซอย (แถมยังราคาถูกกว่าก๋วยเตี๋ยวอีก)

“ทำค่ะ ท่านมีอำนาจแล้วท่านต้องทำ ใช้อำนาจให้สมดุลกับสติปัญญาของท่านนะคะ จะได้เป็นประโยชน์กับสังคมและชาติบ้านเมือง” สำหรับเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู แพรรี่ไพรวัลย์ สะท้อนมุมมองว่า ทุกครั้งที่โศกนาฏกรรมเกิดขึ้น สังคมควรถอดบทเรียน แม้เราจะรู้สึกโกรธแค้นหรือเจ็บปวดต่อการสูญเสียแค่ไหนก็ตาม เราต้องหาแนวทางเพื่อการแก้ไขป้องกันค่ะ ทำอย่างไรเหตุการณ์แบบนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นซ้ำอีก

การหาเหตุผลและแรงจูงใจในการทำผิด ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกับการหาความชอบธรรมให้กับฆาตกร (ฆาตกรยังไงก็คือฆาตกร) ในทางกลับกัน การมองให้เห็นถึงเหตุ เป็นการช่วยกันปิดกั้นและขัดขวางเพื่อไม่ให้ใครสักคนหนึ่งลุกขึ้นมาเป็นฆาตกรได้ง่ายๆ ต่างหาก ถ้าเราเกลียดฆาตกร เราก็ควรเกลียดต้นเหตุอะไรบางอย่าง ที่เปลี่ยนจิตใจของคนให้กลายเป็นฆาตกรด้วย

ถอดบทเรียน ก่อเหตุกราดยิงในไทย อารมณ์ส่วนตัวหรือสื่อมวลชนกระตุ้น?

สยามเมืองยิ้ม ตอนนี้คนไทยไม่สามารถยิ้มออกมาได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์อันน่าสลดใจอีกครั้ง หลังอดีตตำรวจก่อเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู เป็นการกระแทกซ้ำหัวใจคนไทย หลังได้รับบทเรียนจากกราดยิงโคราชเมื่อ 2 ปีที่แล้ว วันนี้ทีมข่าว THE STATES TIMES จะพาผู้อ่านทุกท่านมาถอดบทเรียนเกี่ยวกับการกราดยิงร่วมกัน

(คำถาม : ท่านผู้อ่านคิดว่าอะไรที่ส่งผลให้ผู้ร้ายทำการกราดยิง?)

จากข้อมูลการเสวนาถอดบทเรียนทางจิตวิทยาเหตุกราดยิงฯ โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลถึงปัจจัยที่ทำให้คนก่อเหตุอาชญากรรมไว้ว่า ปัจจัยที่ทำให้คนก่อเหตุอาชญากรรม คือ 'มูลเหตุจูงใจ + โอกาส'  

มูลเหตุจูงใจ คือ การตัดสินใจของคน พฤติกรรมของคน ส่วนโอกาส คือ ช่วงจังหวะเวลา สถานที่ ที่ทำให้ประกอบอาชญากรรมได้ เช่น การเข้าถึงอาวุธปืน การเข้าถึงสถานที่

ส่วนมูลเหตุของคดีนี้ สาเหตุมาจากเครียดอยากระบาย เก็บกด เคียดแค้นจากการถูกไล่ออกจากราชการ ประกอบกับที่ผ่านมามีอาการหลอนยาจากการเสพยาบ้า, ยาไอซ์ ขณะที่ โอกาส มาจากผู้ก่อเหตุเป็นอดีตตำรวจสามารถที่จะเข้าถึงปืนได้ง่าย สถานที่ก่อเหตุก็สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพราะลูกผู้ก่อเหตุก็เรียนอยู่ที่ศูนย์เด็กเล็กนี้ 

หากกล่าวถึงลักษณะของผู้ก่อเหตุ ดร.นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบายไว้ว่า ส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุจะมีลักษณะอยู่ 4 ประการได้แก่...

1. ถูก Discriminate จากเพื่อน มีปัญหาด้านปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่มีที่ปรึกษา แนะนำทางออกให้ จึงแก้ปัญหาด้วยตัวเอง อย่างเช่นกรณีที่โคราชนี้ มีทหารคนอื่นที่โดนโกงเหมือนกัน ถูกกระทำแบบเดียวกัน และมีแนวคิดจะก่อเหตุเหมือนกัน แต่ได้ไปปรึกษาแม่ เมื่อมีคนปรึกษาจึงไม่ได้กระทำ

2. เป็นคนที่ถูกกระทำมาในวัยเด็ก เช่น คนที่มีปัญหาครอบครัวแตกแยก ถูกกระทำจากพ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง ถูกกระทำจากในโรงเรียนหรือที่ทำงาน ทำให้เกิดความรู้สึกโกรธเกลียด เช่นในอเมริกา เคยมีเหตุเด็กอายุ 16 ไปกราดยิงเพื่อนในโรงเรียน และได้ให้เหตุผลว่าเขาเกลียดโรงเรียน เกลียดวันจันทร์เท่านั้น เพราะเคยถูกปฏิเสธ และรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม รู้สึกกดดัน

3. เป็นผู้ที่นิยมหรือคลุกคลี เรียนรู้เกี่ยวกับความรุนแรงมาโดยตลอด เช่น เคยมีผู้ก่อเหตุกราดยิงที่มีพฤติกรรมชอบฆ่าสัตว์ ยิงม้า ยิงสุนัข ชื่นชอบสะสมปืน บางรายมีการเขียนเรียงความที่แสดงถึงความคับแค้นและการฆาตกรรม

4. มีการเรียนรู้ศึกษาจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา (อย่างจริงจัง) มีการจดบันทึก และวางแผนไว้

*** นอกจากนี้ ยังมีสื่อเป็นส่วนประกอบที่ทำให้ผู้ก่อเหตุทำการกราดยิง โดย 'สื่อ' มีส่วนสร้างพฤติกรรมเลียนแบบ ซึ่งเรื่องนี้  FRANK SHYONG ได้เขียนไว้ในสำนักข่าว Los Angeles Times ไว้ว่า “พฤติกรรมการกราดยิง” เป็นผลมาจากการรายงานข่าวอย่างละเอียดของสื่อ เมื่อสำรวจการรายงานข่าวกราดยิง พบว่าสื่อให้ความสนใจแก้ผู้ก่อเหตุเป็นอย่างสูง มีการเสนอภาพคนร้ายมากกว่าเหยื่อ 16 เท่า 

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเท็กซัสสเตทชี้ว่า การรายงานข่าวถี่และเข้มข้นต่อการกราดยิงโดยเฉพาะตัวผู้ก่อเหตุ ทำให้เกิดการส่งต่อพฤติกรรมและเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ที่คิดจะก่อเหตุรายต่อไป ยังระบุอีกว่าพื้นฐานการรายงานข่าวคือ การเสนอข้อเท็จจริง แต่จะต้องหลีกเลี่ยงการส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นที่น่ากลัว

>> มีคำถามที่ว่า ผู้ก่อเหตุมีอาการทางจิตหรือเปล่า? เพราะคนที่ปกติอาจไม่สามารถก่อเหตุเช่นนี้ได้ง่าย

ก็อยากให้ผู้อ่านทุกท่านมาดูข้อมูลการศึกษา “ความเชื่อมโยงระหว่างการกราดยิงและอาการเจ็บป่วยทางจิต” ของ James L. Knoll IV และ George D. Annas ซึ่งได้อธิบายไว้ว่า “มีเพียง 3% ที่ผู้ป่วยทางจิตมีประวัติก่ออาชญากรรมรุนแรง และมี 1% ที่ใช้อาวุธปืน ซึ่งส่วนใหญ่ของผู้ป่วยทางจิตที่ใช้อาวุธปืน คือการใช้เพื่อจบชีวิตตัวเอง”

ซ้ำร้ายข้อมูลจาก Amy Barnhorst ในนิตยสาร Psychology Today ได้เขียนไว้ว่า ผู้ก่อเหตุใช้ปืนกราดยิง ไม่ได้ก่อเหตุจากอาการป่วยทางจิต หรือได้ยินเสียงและเห็นภาพหลอนในหัว แต่เกิดขึ้นเพราะถูกกระตุ้นจากความเกลียดชัง

สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคในสหรัฐ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ที่อธิบายไว้ว่า ผู้ป่วยทางจิตมีแนวโน้มทำร้ายตัวเองมากกว่าทำร้ายผู้อื่น เนื่องจากสถิติการตายด้วยปืนถึง 2 ใน 3 เป็นการจบชีวิตตัวเอง 

>> คำถาม คือ แล้วเราจะสอนลูกอย่างไร เมื่อตกอยู่ในเหตุความรุนแรง?

‘อดีตทูต’ ชี้!! พิธีฯ รับเสด็จเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผู้ตำหนิ ล้วนมิใช่ญาติโกโหติกาสักคน

(7 ต.ค. 65) นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ได้โพสต์เฟซบุ๊ก 'Fuangrabil Narisroj' ว่า... 

การที่ในหลวง พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชทานพวงมาลา และทรงรับการจัดการทุกอย่างในพระบรมราชานุเคราะห์  รวมทั้งการที่ในหลวงและพระราชินีเสด็จฯ ไปเยี่ยมให้กำลังใจผู้บาดเจ็บ และครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วยพระองค์เอง 

นี่คือการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดว่าสถาบันไม่เคยละทิ้งหรือลืมประชาชน ทุกอย่างอยู่ในสายพระเนตร และพระองค์ท่านได้พยายาม honour หรือให้เกียรติสูงสุดกับผู้วายชนม์ ผู้บาดเจ็บ และญาติๆ อย่างหาที่สุดมิได้แล้ว 

'มหาดไทย' ถกด่วน!! ประกาศทำสงครามยาเสพติดเต็มรูปแบบ พร้อมสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขออาวุธปืนหากขาดคุณสมบัติ

(7 ต.ค. 65) ที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตให้มี และใช้อาวุธปืน โดยมีนายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง, นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ทั้งนี้ ก่อนการประชุม ที่ประชุมได้แสดงความอาลัยโดยการยืนไว้ทุกข์เป็นเวลา 38 วินาที

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์กราดยิงที่ศูนย์เด็กเล็กใน จ.หนองบัวลำภู ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 38 คน และผู้บาดเจ็บอย่างไม่เป็นทางการอีก 10 คน ถือเป็นข่าวที่สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก และขอแสดงความห่วงใยไปยังครอบครัวผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบด้วย 

โดยสาระสำคัญของการประชุมในวันนี้ คือการถอดบทเรียนเพื่อวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์การสะเทือนขวัญดังกรณีเช่นนี้อีก ต้องทบทวนความเข้มข้นในการป้องกันและปราบปราบยาเสพติด รวมถึงการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด และคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนด้วย รวมทั้งหารือแนวทางการเยียวยาและให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้สูญเสีย หรือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ และขอชื่นชมความรอบคอบของคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของทางอบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ที่ได้มีการวางแผนบริหารความเสี่ยงโดยได้ทำประกันชีวิตให้แก่เด็ก และครูที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สูญเสียไม่มากก็น้อย 

ส่วนสิ่งที่ต้องคิดทบทวนต่อไป คือจะเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น เมื่อหน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่ทำเต็มที่แล้ว เช่น ตรวจสอบความเสี่ยงจากเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น ติดกล้องซีซีทีวี การจัดเวรยามคัดกรองบุคคลเข้ามาในสถานที่หรือความปลอดภัยอื่น ๆ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ได้สั่งการให้มีการกำหนดตัวชี้วัดหรือ KPIs แต่ละกระบวนการว่าจะทำอะไรบ้าง ภายในกรอบระยะเวลาเท่าไร เพราะทุกวัน เวลาวินาทีมีค่าในการป้องกันภัยสังคมเช่นนี้ ฝ่ายปกครองภายใต้การนำของผู้ว่าฯ และนายอำเภอ จึงจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการ โดยมีประเด็นสำคัญ 5 ประเด็น ดังนี้...

'บิ๊กป้อม' ให้กำลังใจคนเจ็บ-ครอบครัวผู้เสียชีวิตเหตุกราดยิงฯ พร้อมกำชับฝ่ายความมั่นคง คุมเข้มทั้ง 'อาวุธ-ยาเสพติด'

พล.อ.ประวิตร ร่วมแสดงความอาลัยผู้เสียชีวิต และให้กำลังใจครอบครัว ก่อนรุดเยี่ยมให้กำลังใจผู้บาดเจ็บ จากเหตุรุนแรงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู ยืนยันช่วยเหลือเต็มที่ สั่งคุมเข้ม ขั้นเด็ดขาด อาวุธ/ยาเสพติด เน้นบุคคลพฤติกรรมเสี่ยง ปก.เหตุซ้ำ

เมื่อ (7 ต.ค. 65) 15.00 น. พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รอง นรม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ร่วมคณะ นรม. ออกเดินทางจาก กทม.ไปยัง อบต.อุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู เพื่อร่วมแสดงความอาลัย ผู้เสียชีวิตและให้กำลังใจครอบครัว พร้อมเข้าเยี่ยมให้กำลังใจผู้ได้รับบาดเจ็บ จากเหตุการณ์ความรุนแรง โดยผู้ก่อเหตุเป็นอดีตตำรวจ ซึ่งถูกดำเนินคดียาเสพติด กระทั่งมาก่อเหตุความรุนแรง ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู ตามที่เป็นข่าวเมื่อวาน และส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้คนในสังคม เป็นอย่างยิ่ง

'นายกฯ' กำชับ!! ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดูแล เยียวยา ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุยอดรวมกว่า 13 ล้านบาท

โฆษกรัฐบาลเผย ความคืบหน้าหน่วยงานภาครัฐจ่ายเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บกรณีเหตุโศกนาฏกรรม จ.หนองบัวลำภู รวม 13,927,555 บาท โดย 'นายกฯ' กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดูแล เยียวยา จ่ายเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์โดยเร็ว 

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ จ.หนองบัวลำภู ของหน่วยงานภาครัฐขณะนี้ว่า ได้เร่งดำเนินการมอบเงินเพื่อช่วยเหลือ ตามข้อสั่งการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยล่าสุดวันนี้ (9 ต.ค. 65) 4 หน่วยงานภาครัฐ มีความคืบหน้าการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตกรณีเหตุดังกล่าวรวม 13,927,555 บาท และมีหน่วยงานที่กำลังเร่งดำเนินการจ่ายเงินให้ผู้ได้รับผลกระทบ ดังนี้...

1. คณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี โอนเงินช่วยเหลือเป็นค่าจัดการศพและเงินทุนเลี้ยงชีพให้กับทายาทผู้เสียชีวิต จำนวน 34 ราย ๆ ละ 2 แสนบาท รวมเป็นเงิน 6,800,000 บาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงผู้ก่อเหตุและบุคคลในครอบครัวซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

2. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานยุติธรรม ให้ความช่วยเหลือรวม 3,960,000 บาท โดยมอบเงินให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตรายละ 110,000 จำนวน 36 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บ 10 ราย อนุมัติในหลักการให้เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามรักษาจริง 

3. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานในสังกัด ให้ความช่วยเหลือรวม 582,000 บาท แบ่งเป็น 1) พม. รายละ 10,000 บาท จำนวน 47 ราย รวมเป็น 470,000 บาท 2) พ.อช. รายละ 1,000 บาท จำนวน 47 ราย รวมเป็น 47,000 บาท และ 3) สมาชิกกองทุนชุมชน 74,000 จำนน 3 ราย เป็นเงิน 222,000 บาท 

4. สำนักงานประกันสังคม ให้ความช่วยเหลือรวม 2,585,555 บาท โดยอนุมัติ/มอบแล้วเมื่อวันที่ 7-8 ต.ค. 65 ดังนี้ 1) สิทธิประกันสังคม 7 ราย รวมจำนวนเงิน 2,425,555 บาท (เงินเข้าวันที่ 20 ต.ค. 65) 2) กระทรวงแรงงาน มอบเงินช่วยเหลือ รายละ 5,000  บาท จำนวน 32 ราย รวมเป็นเงิน 160,000 บาท 

“นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่มีกำหนดจะมอบเงินช่วยเหลือในวันที่ 11 ต.ค. 65 หลังพิธีพระราชทานเพลิงศพ เช่น สำนักงานจังหวัด สำนักงานจัดหางาน กองทัพบก เป็นต้น รวมทั้งมีหน่วยงานที่อยู่ระหว่างการอนุมัติเบิกจ่ายตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดูแล เยียวยาจ่ายเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ฯ โดยเร็วต่อไป” นายอนุชาฯ กล่าว  

นายอนุชาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่มีการสอบถามถึงการเปิดช่องทางการรับบริจาคกรณีเหตุการณ์ที่จังหวัดหนองบัวลำภูนั้น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า เมื่อมีสาธารณภัยต่าง ๆ เกิดขึ้น จะมีประชาชนที่มีความประสงค์จะร่วมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ยังไม่มีช่องทางที่จะร่วมดำเนินการเช่นนั้นได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top