ถอดบทเรียน ก่อเหตุกราดยิงในไทย อารมณ์ส่วนตัวหรือสื่อมวลชนกระตุ้น?

สยามเมืองยิ้ม ตอนนี้คนไทยไม่สามารถยิ้มออกมาได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์อันน่าสลดใจอีกครั้ง หลังอดีตตำรวจก่อเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู เป็นการกระแทกซ้ำหัวใจคนไทย หลังได้รับบทเรียนจากกราดยิงโคราชเมื่อ 2 ปีที่แล้ว วันนี้ทีมข่าว THE STATES TIMES จะพาผู้อ่านทุกท่านมาถอดบทเรียนเกี่ยวกับการกราดยิงร่วมกัน

(คำถาม : ท่านผู้อ่านคิดว่าอะไรที่ส่งผลให้ผู้ร้ายทำการกราดยิง?)

จากข้อมูลการเสวนาถอดบทเรียนทางจิตวิทยาเหตุกราดยิงฯ โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลถึงปัจจัยที่ทำให้คนก่อเหตุอาชญากรรมไว้ว่า ปัจจัยที่ทำให้คนก่อเหตุอาชญากรรม คือ 'มูลเหตุจูงใจ + โอกาส'  

มูลเหตุจูงใจ คือ การตัดสินใจของคน พฤติกรรมของคน ส่วนโอกาส คือ ช่วงจังหวะเวลา สถานที่ ที่ทำให้ประกอบอาชญากรรมได้ เช่น การเข้าถึงอาวุธปืน การเข้าถึงสถานที่

ส่วนมูลเหตุของคดีนี้ สาเหตุมาจากเครียดอยากระบาย เก็บกด เคียดแค้นจากการถูกไล่ออกจากราชการ ประกอบกับที่ผ่านมามีอาการหลอนยาจากการเสพยาบ้า, ยาไอซ์ ขณะที่ โอกาส มาจากผู้ก่อเหตุเป็นอดีตตำรวจสามารถที่จะเข้าถึงปืนได้ง่าย สถานที่ก่อเหตุก็สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพราะลูกผู้ก่อเหตุก็เรียนอยู่ที่ศูนย์เด็กเล็กนี้ 

หากกล่าวถึงลักษณะของผู้ก่อเหตุ ดร.นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบายไว้ว่า ส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุจะมีลักษณะอยู่ 4 ประการได้แก่...

1. ถูก Discriminate จากเพื่อน มีปัญหาด้านปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่มีที่ปรึกษา แนะนำทางออกให้ จึงแก้ปัญหาด้วยตัวเอง อย่างเช่นกรณีที่โคราชนี้ มีทหารคนอื่นที่โดนโกงเหมือนกัน ถูกกระทำแบบเดียวกัน และมีแนวคิดจะก่อเหตุเหมือนกัน แต่ได้ไปปรึกษาแม่ เมื่อมีคนปรึกษาจึงไม่ได้กระทำ

2. เป็นคนที่ถูกกระทำมาในวัยเด็ก เช่น คนที่มีปัญหาครอบครัวแตกแยก ถูกกระทำจากพ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง ถูกกระทำจากในโรงเรียนหรือที่ทำงาน ทำให้เกิดความรู้สึกโกรธเกลียด เช่นในอเมริกา เคยมีเหตุเด็กอายุ 16 ไปกราดยิงเพื่อนในโรงเรียน และได้ให้เหตุผลว่าเขาเกลียดโรงเรียน เกลียดวันจันทร์เท่านั้น เพราะเคยถูกปฏิเสธ และรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม รู้สึกกดดัน

3. เป็นผู้ที่นิยมหรือคลุกคลี เรียนรู้เกี่ยวกับความรุนแรงมาโดยตลอด เช่น เคยมีผู้ก่อเหตุกราดยิงที่มีพฤติกรรมชอบฆ่าสัตว์ ยิงม้า ยิงสุนัข ชื่นชอบสะสมปืน บางรายมีการเขียนเรียงความที่แสดงถึงความคับแค้นและการฆาตกรรม

4. มีการเรียนรู้ศึกษาจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา (อย่างจริงจัง) มีการจดบันทึก และวางแผนไว้

*** นอกจากนี้ ยังมีสื่อเป็นส่วนประกอบที่ทำให้ผู้ก่อเหตุทำการกราดยิง โดย 'สื่อ' มีส่วนสร้างพฤติกรรมเลียนแบบ ซึ่งเรื่องนี้  FRANK SHYONG ได้เขียนไว้ในสำนักข่าว Los Angeles Times ไว้ว่า “พฤติกรรมการกราดยิง” เป็นผลมาจากการรายงานข่าวอย่างละเอียดของสื่อ เมื่อสำรวจการรายงานข่าวกราดยิง พบว่าสื่อให้ความสนใจแก้ผู้ก่อเหตุเป็นอย่างสูง มีการเสนอภาพคนร้ายมากกว่าเหยื่อ 16 เท่า 

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเท็กซัสสเตทชี้ว่า การรายงานข่าวถี่และเข้มข้นต่อการกราดยิงโดยเฉพาะตัวผู้ก่อเหตุ ทำให้เกิดการส่งต่อพฤติกรรมและเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ที่คิดจะก่อเหตุรายต่อไป ยังระบุอีกว่าพื้นฐานการรายงานข่าวคือ การเสนอข้อเท็จจริง แต่จะต้องหลีกเลี่ยงการส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นที่น่ากลัว

>> มีคำถามที่ว่า ผู้ก่อเหตุมีอาการทางจิตหรือเปล่า? เพราะคนที่ปกติอาจไม่สามารถก่อเหตุเช่นนี้ได้ง่าย

ก็อยากให้ผู้อ่านทุกท่านมาดูข้อมูลการศึกษา “ความเชื่อมโยงระหว่างการกราดยิงและอาการเจ็บป่วยทางจิต” ของ James L. Knoll IV และ George D. Annas ซึ่งได้อธิบายไว้ว่า “มีเพียง 3% ที่ผู้ป่วยทางจิตมีประวัติก่ออาชญากรรมรุนแรง และมี 1% ที่ใช้อาวุธปืน ซึ่งส่วนใหญ่ของผู้ป่วยทางจิตที่ใช้อาวุธปืน คือการใช้เพื่อจบชีวิตตัวเอง”

ซ้ำร้ายข้อมูลจาก Amy Barnhorst ในนิตยสาร Psychology Today ได้เขียนไว้ว่า ผู้ก่อเหตุใช้ปืนกราดยิง ไม่ได้ก่อเหตุจากอาการป่วยทางจิต หรือได้ยินเสียงและเห็นภาพหลอนในหัว แต่เกิดขึ้นเพราะถูกกระตุ้นจากความเกลียดชัง

สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคในสหรัฐ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ที่อธิบายไว้ว่า ผู้ป่วยทางจิตมีแนวโน้มทำร้ายตัวเองมากกว่าทำร้ายผู้อื่น เนื่องจากสถิติการตายด้วยปืนถึง 2 ใน 3 เป็นการจบชีวิตตัวเอง 

>> คำถาม คือ แล้วเราจะสอนลูกอย่างไร เมื่อตกอยู่ในเหตุความรุนแรง?

ข้อมูลจากนิตยสารจุฬา ได้นำเสยอหัวข้อเอาตัวรอดอย่างไร เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรง ระบุไว้ 2 หลักการว่า...

1.ฝึกสังเกตุและจดจำ ผู้ปกครองต้องสอนและฝึกให้เด็กรู้จักจดจำ สังเกตุป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ เช่นป้ายทางออกทุกครั้งจนเป็นนิสัย รวมถึงให้เด็กจดจำชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ผู้ปกครองให้ได้ ผู้ปกครองต้องเขียนข้อมูลสำคัญติดตัวเด็กไว้ทุกครั้ง เพื่อป้องกันการพลัดหลง

2.ฝึกให้หลบและรู้จักสู้ ผู้ปกครองต้องสอนให้เด็กรู้จักการหลบ แอบซ่อนผ่านกิจกรรมการเล่นบทบาทสมมติ เพราะเมื่ออยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เด็กจะนำประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้ในการหลบซ่อน รวมถึงฝึกให้เด็กตอบโต้ ต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด โดยต้องเน้นย้ำว่าต้องทำเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน 

สุดท้ายนี้ ทีมข่าว THE STATES TIMES ก็คงต้องขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บในโศกนาฏกรรมเหตุกราดยิงหนองบัวลำภูในครั้งนี้ 

ขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสารจุฬา หัวข้อเอาตัวรอดอย่างไร เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรง


อ้างอิง : https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/talk-mass-shooting-ep1

https://thaipublica.org/2020/02/mass-shooting-lessen-from-usa-newzealand/

https://www.latimes.com/california/story/2019-08-11/mass-shooters-seek-notoriety-in-media

https://waymagazine.org/hate-mass-shooting-shooting-psychology/