Wednesday, 9 July 2025
NewsFeed

ชลบุรี-สวนสัตว์เปิดเขาเขียว รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ Friendly Design Awards 2024 ประเภท 'แหล่งท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All)'

เมื่อวันที่ (12 ธ.ค.67) นายณรงวิทย์ ชดช้อย ผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ได้เข้ารับรางวัลใบประกาศเกียรติคุณ Friendly Design Awards 2024 ประเภท 'แหล่งท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All)' ในงาน 'Thailand Friendly Design Expo 2024 : มหกรรมอารยสถาปัตย์นวัตกรรมสุขภาพ และการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 8' ด้วยการส่งเสริม และสร้างทำอารยสถาปัตย์ เพื่อให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย สามารถเข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์ได้โดยสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย เป็นธรรม ทั่วถึง เท่าเทียม ด้วยนโยบายและแนวคิดการออกแบบที่เป็นมาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับคนทั้งมวล (Friendly Design) 

รางวัลนี้ เกิดจากการทำงานที่ร่วมแรงร่วมใจของพวกเราทุกคน พวกเราจะมุ่งมั่นยกระดับให้สวนสัตว์เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะต่อไป 

โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาซา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ณ ฮอลล์ 101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค-บางนา กรุงเทพมหานคร

ผบ.กร. ตรวจเยี่ยมชมการสาธิตการฝึก ปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก ในการฝึกองค์บุคคลและยุทธวิธีกองเรือ กองบิน และหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ประจำปี 68

เมื่อวันที่ (12 ธ.ค. 67) พลเรือเอก ณัฏฐพล เดี่ยววานิช ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พร้อมด้วยคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เดินทางไปตรวจเยี่ยมชมการสาธิตการฝึกปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 15 หาดยาว แสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 

การฝึกปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกภาคสนาม ภาคทะเล ของการฝึกองค์บุคคลและยุทธวิธีกองเรือ กองบิน และหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ประจำปี 2568 โดยเป็นการฝึกในสถานการณ์ต่อเนื่องจากการฝึกยุทธวิธีร่วมของเรือในทะเล และการฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือกับอากาศยาน ในสถานการณ์การฝึกครั้งนี้ กำหนดให้มีการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งเป็นการใช้การสั่งการปฏิบัติการโจมตีจากในทะเลต่อที่หมายสำคัญของฝ่ายตรงข้าม อยู่บนฝั่งด้วยกำลังรบยกพลขึ้นบก สนับสนุนด้วยกำลังทางเรือประเภทต่างๆ อาทิ เรือรบ อากาศยาน ชุดปฏิบัติพิเศษ โดยมีกำลังจากหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือ คือ กองเรือยกทหารขึ้นบกและยุทธศาสตร์รบบริการ กองเรือยุทธการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กองการบินทหารเรือ หน่วยสงครามพิเศษทางเรือและกรม กสพ.ฐานทัพเรือสัตหีบ เข้าร่วมในการฝึกครั้งนี้ ซึ่งกำลังรบสำคัญ ประกอบด้วย เรือรบ จำนวน 4  ลำ และอากาศยาน 5 ลำ 

ด้าน พลเรือเอก ณัฏฐพล เดี่ยววานิช ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เปิดเผยหลังการตรวจเยี่ยมชมการสาธิตการฝึกปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก ว่า การฝึกครั้งนี้เป็นการฝึกวงรอบประจำปี ที่เริ่มฝึกจากองค์บุคคลให้กำลังพลของทหารเรือได้มีความรู้ ความชำนาญ ในครั้งแรก แต่การฝึกยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก จนถึงขั้นการโจมตี เพราะฉนั้นจึงเป็นการเริ่มตั้งแต่การวางแผน ตามขึ้นสู่เรือไปตามลำดับขั้นตอนและได้มีการซักซ้อม มาจนถึงวันนี้ในการปฏิบัติการในขั้นโจมตี โดยมีการนำยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในประเทศไทย นำมาฝึกเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้การฝึกยุทธสะเทินน้ำสะเทินบกไม่ใช่การฝึกการรบเพียงอย่างเดียว เมื่อมีเหตุการณ์ในประเทศ เช่นภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ทหารเรือสามารถที่จะมาบรรเทาสาธารณภัยช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ โดยนำยุโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะมาช่วยมากับเรือในทะเล แล้วยกพลขึ้นบกเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเกิดภัยคุกคามในรูปแบบไหนขอพี่น้องประชาชนให้มั่นใจว่าทหารเรือมีความพร้อม

ทุเรียนไทยครองใจจีน เจาะตลาดแผ่นดินใหญ่ยอดขายพุ่งต่อเนื่อง แม้มีคู่แข่งใหม่จากเวียดนามและมาเลเซีย

(13 ธ.ค.67) ซินหัวรายงานว่า ห้วงยามจีนเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจและเปิดกว้างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปสงค์ความต้องการทุเรียนของจีนเติบโตตามไปด้วยเช่นกัน โดยการนำเข้าทุเรียนของจีนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคมของปี 2024 มีการนำเข้าทุเรียนสดสูงเกิน 1.48 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบปีต่อปี

'ไทย' ประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ส่งออกทุเรียนสู่จีน ยังคงครองตลาดทุเรียนในจีนด้วยสินค้าทุเรียนรสชาติหวานมันส่งกลิ่นหอมเย้ายวนใจผู้บริโภคชาวจีน แต่ขณะเดียวกันมีการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ซึ่งกลายเป็นตัวเลือกใหม่ ๆ ของผู้บริโภคชาวจีน

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซินหัวได้พูดคุยกับพ่อค้าคนกลาง ผู้ค้าปลีก ผู้บริโภค และนักวิจัยตลาดในจีน พบว่าทุเรียนไทยยังคงมีข้อได้เปรียบที่ไม่เหมือนใครและมีแนวโน้มรักษาตำแหน่ง 'ผู้นำ' ในตลาดจีนต่อไป หากมุ่งมั่นพัฒนาการควบคุมคุณภาพ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ วิธีทำการตลาด การเพาะปลูกสายพันธุ์ใหม่ และการอุดช่องโหว่ทางอุปทานอย่างต่อเนื่อง

“แม้ทุเรียนก้านยาวของเวียดนามจะราคาไม่แรง แต่ฉันยังชอบรสชาติและคุณภาพทุเรียนหมอนทองของไทยมากกว่า” ความคิดเห็นจากชาวเน็ตคนหนึ่งบนสื่อสังคมออนไลน์จีน ซึ่งมีชาวเน็ตจีนคนอื่นๆ เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ขณะกลุ่มลูกค้าที่เลือกซื้อทุเรียนในร้านผลไม้เผยว่าพวกเขาคุ้นเคยกับรสชาติของหมอนทองมานานและรู้สึกว่าพันธุ์อื่น ๆ มีรสชาติไม่ค่อยถูกปาก

หลิวเป่าเฟิง พ่อค้าคนกลางคนหนึ่ง กล่าวว่าไทยเป็นประเทศเดียวที่นำเข้าทุเรียนสดสู่จีนมานานถึง 20 ปี โดยทุเรียนหมอนทองมีรสชาติหวานละมุนจนผู้คนติดใจเป็นแฟนคลับ

หากพิจารณาจากฤดูการผลิต ทุเรียนเวียดนามเพียงช่วยเติมเต็มช่องว่างการบริโภคทุเรียนในตลาดจีน ส่วนทุเรียนมาเลเซียที่ถูกนำเข้าสู่จีนครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2024 แตกต่างจากทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามในด้านการเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวทุเรียนมาเลเซียจะต้องรอให้ผลผลิตสุกและตกหล่นลงมาจากต้นเอง รวมถึงทุเรียนมาเลเซียมีกลิ่นและรสชาติเข้มข้นกว่า โดยการต้องรอให้ทุเรียนสุกตามธรรมชาตินี้ทำให้การขนส่งมีข้อกำหนดมากขึ้น นำสู่การมีราคาสูงขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ผู้บริโภคชาวจีนจึงยังไม่นิยมทุเรียนมาเลเซียเป็นวงกว้าง

ทุเรียนไทยยังคงมีฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ในจีน นี่เป็นจุดแข็งสำคัญที่จะช่วยรักษาความสามารถทางการแข่งขันของทุเรียนไทย โดยหวังเย่าหง ประธานสมาคมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในเมืองอวิ้นเฉิง มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน เผยว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการควบคุมคุณภาพในยามเผชิญการแข่งขันที่ดุเดือดเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวยังได้เยือนร้านผลไม้และซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในจีน พบว่าทุเรียนที่มีเนื้อแน่นสีสวยและรสชาติหวานละมุนยังคงขายหมดเร็วที่สุดแม้มีราคาแพงกว่า ขณะพ่อค้าคนกลางคนหนึ่งบอกว่าทุเรียนหมอนทองของไทยได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภค แต่พอมีการนำเข้าจากหลายประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคไม่แน่ใจว่าที่ซื้อไปเป็นทุเรียนไทยจริงไหม

บรรดาหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นในจีนจะติด 'ตราบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้าเกษตรแห่งประเทศจีน' กับผลไม้ที่มีความพิเศษ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการและสมาคมธุรกิจบางส่วนจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและติดรหัสคิวอาร์บนบรรจุภัณฑ์ของผลไม้ที่เข้าสู่ตลาด

รหัสคิวอาร์แต่ละอันมีลักษณะเฉพาะตัว เปรียบเสมือน 'บัตรประจำตัว' ของผลไม้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบ 'วงจรชีวิตเต็ม' ของผลไม้ที่ซื้อไปด้วยการสแกนรหัสคิวอาร์นี้เพื่อป้องกันการสวมรอย ซึ่งนับเป็นวิธีการที่คุ้มค่าสำหรับทุเรียนไทย

พ่อค้าแม่ค้าและผู้บริโภคส่วนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อเทียบกับการค้าทุเรียนในเวียดนามและมาเลเซีย ไทยสามารถสร้างสายพันธุ์ทุเรียนที่มีคุณภาพสูงขึ้นและใช้ประโยชน์จากระบบโลจิสติกส์อันมีประสิทธิภาพระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียน ช่วยให้ผู้บริโภคชาวจีนได้รับประทานทุเรียนไทยที่ดีและสดใหม่ยิ่งขึ้น

ปัจจุบันเวียดนามสามารถขนส่งทุเรียนตรงสู่จีนผ่านการขนส่งทางบก ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพช่วยให้เวียดนามสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น ทำให้ครองส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้น

ส่วนทุเรียนมาเลเซียที่เก็บเกี่ยวตอนสุกแล้ว ทำให้ต้องรีบรับประทานภายใน 2-3 วัน และปัจจุบันสามารถขนส่งทางอากาศเท่านั้นเพื่อรักษาคุณภาพ

เอสเอฟ เอ็กซ์เพรส (SF Express) ระบุว่ามีการให้บริการขนส่งทุเรียนมาเลเซียแบบครบวงจรจากสวนถึงหน้าบ้าน โดยขนส่งถึงเซินเจิ้น กว่างโจว และเมืองใหญ่ในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ได้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง และขนส่งถึงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเมืองใหญ่แห่งอื่น ๆ ภายใน 48 ชั่วโมง

หวังเย่าหง ผู้คลุกคลีกับการค้าผลไม้มานานหลายปี เผยว่าแม้ราคาทุเรียนมูซังคิงของมาเลเซียนั้นสูง แต่ด้วยรสชาติเฉพาะตัว การควบคุมคุณภาพเข้มงวด และการบริการโลจิสติกส์ที่เชื่อถือได้ ทำให้ยังคงได้ใจผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมาก ซึ่งทุเรียนไทยสามารถเรียนรู้โมเดลนี้ในอนาคตเพื่อรักษาสถานะผู้นำตลาด

ทั้งนี้ ตลาดทุเรียนของจีนมีขนาดใหญ่และปัจจุบันยังคงเน้นบริโภคทุเรียนสดเป็นหลัก ไม่ได้บูรณาการและพัฒนาเชิงลึกร่วมกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การจัดเลี้ยงและอาหาร จึงมีศักยภาพมหาศาลในการพัฒนาในอนาคต นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งอื่นๆ พยายามแสวงหาส่งออกทุเรียนสู่จีน

ขณะเดียวกันมีการพัฒนาอุตสาหกรรมทุเรียนภายในประเทศที่มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีนอย่างรวดเร็ว ทำให้การแข่งขันของตลาดทุเรียนในจีนจะดุเดือดยิ่งขึ้นมากในอนาคต

ผู้ให้สัมภาษณ์จากอุตสาหกรรมทุเรียนของจีนเสริมว่าการส่งออกทุเรียนไทยสู่จีนมีสิ่งที่มิอาจมองข้าม 2 ประการ ได้แก่ 1) สร้างสรรค์การตลาดรูปแบบใหม่ เสริมสร้างการสื่อสารกับผู้ค้าปลีกในจีนด้วยการเปิดร้านค้าพิเศษ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เปลี่ยนคืนสินค้าที่เน่าเสีย ฯลฯ เพื่อกระชับความนิยมทุเรียนไทยของผู้บริโภคชาวจีน 2) พยายามเสริมสร้างการเพาะปลูกทุเรียนสายพันธุ์ใหม่เพื่ออุดช่องว่างในอุปทานทุเรียนไทย

VAT 7% ของไทย: เพียงพอจริงหรือ? หรือถึงเวลาปรับเพิ่มให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจ?

หนึ่งในประเด็นร้อนที่กำลังถูกพูดถึงทั่วทั้งประเทศในช่วงนี้ คือการเสนอปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 15% โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อ้างอิงข้อมูลที่ว่า อัตรา VAT ทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 15%-25% แล้วคำถามคือ... ไทยเราพร้อมหรือยัง?

แล้วรู้หรือไม่ว่าไทยเก็บ VAT ในอัตราที่ ต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน อย่างในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง
• เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว: 10%
• ฟิลิปปินส์: 12%
• อินโดนีเซีย: 11% (และกำลังจะเพิ่มเป็น 12% ในปี 2568)
• สิงคโปร์: 9%

ถ้าขยับสายตาไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว อัตรา VAT ยิ่งพุ่งสูงอย่างเห็นได้ชัด โดย
• สหราชอาณาจักร: 20%
• เยอรมนี: 19%
• ญี่ปุ่น: 10%

จากตัวเลขนี้จะเห็นได้ชัดเลยว่าไทยเก็บ VAT ต่ำสุดทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่... การเพิ่ม VAT จะนำมาซึ่งอะไร? เรามาเจาะลึกถึงข้อดี-ข้อเสียของเรื่องนี้กันค่ะ โดยข้อดีของการปรับเพิ่มอัตรา VAT คือ
ข้อดีของการเพิ่ม VAT
1. เงินเข้ารัฐมากขึ้น เพราะการเพิ่ม VAT ทุก 1% = รายได้รัฐเพิ่ม 70,000-80,000 ล้านบาท/ปี
โดยเงินก้อนนี้สามารถเอาไป ยกระดับสวัสดิการ ด้วยการช่วยคนจน, เพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และยังนำไปพัฒนาประเทศ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน, โรงพยาบาล
2. ลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเงินจาก VAT สามารถเปลี่ยนเป็นโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยตรง เช่น ลดค่าเทอม หรือสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

ข้อที่ควรต้องพิจารณา
1. ค่าครองชีพพุ่ง การเพิ่ม VAT จะส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้จะกระทบทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยที่ต้องจ่ายมากขึ้นแต่รายได้เท่าเดิม
2. เศรษฐกิจชะลอตัวลง เพราะการเพิ่ม VAT 1% อาจทำให้เศรษฐกิจโตช้าลง 0.25%-0.35% ต่อปี

แม้การปรับ VAT อาจฟังดูเหมือนคำตอบที่ดีในการเพิ่มรายได้รัฐ แต่ความเสี่ยงและผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและเศรษฐกิจในภาพรวมยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง อีกทั้งนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้ยืนยันว่า ไม่มีการปรับขึ้น VAT เป็น 15% และกระทรวงการคลังกำลังศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบเพื่อความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ หากมีการพิจารณาปรับ VAT ในอนาคต สิ่งสำคัญคือต้องมีมาตรการรองรับ เช่น การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และการปรับลดภาษีในสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นด้วยค่ะ

'โบลิเวีย - คิวบา' ร่วมเป็นชาติพันธมิตร BRICS มีผล 1 มกราคม 2025 รัสเซียแย้มอีกหลายชาติจ่อร่วมวง

(13 ธ.ค.67) นายเซอร์เกย์ รียับคอฟ รองนายกรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เปิดเผยว่า บรรดาผู้นำกลุ่มชาติสมาชิก BRICS ได้อนุมัติรายชื่อประเทศที่จะเข้าร่วมเป็นชาติพันธมิตรกลุ่ม BRICS เพิ่มเติมแล้วโดย โบลิเวีย และคิวบา จะเป็นสองประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมเป็นชาติพันธมิตร ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2025 เป็นต้นไป

"โบลิเวียและคิวบาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศที่ได้รับคำเชิญร่วมเป็นชาติพันธมิตร เรามั่นใจว่า ทุกอย่างจะเป็นไปได้ในแง่ของการเชื่อมต่อกับ BRICS ในฐานะประเทศพันธมิตร" รียับคอฟกล่าวกับหนังสือพิมพ์อิซเวสเทีย

รองรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการประสานงานกับประเทศที่ได้รับเชิญยังคงดำเนินอยู่ แต่จะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งตรงกับช่วงที่วาระการดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มของรัสเซียสิ้นสุดลง

"แน่นอนว่าไม่มีการถอนตัวออกไป และไม่สามารถทำได้ สำหรับประเทศที่ได้รับเชิญทั้งหมด นี่คือโอกาสที่ใหญ่และสำคัญ ดังนั้นจึงเหลือเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น นอกจากนี้ยังมีอีกหลายชาติที่จะได้รับการเปิดเผยรายชื่อเพิ่มเติม" 

ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซานระหว่าง 22-24 ตุลาคมที่ผ่านมา บรรดาชาติสมาชิกกลุ่ม BRICS ได้เปิดเผยว่ามีรายชื่อประเทศ 13 ชาติที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรของกลุ่ม ซึ่งผู้นำของเบลารุสและโบลิเวียได้เปิดเผยเช่นกันว่าประเทศของพวกเขาเป็นหนึ่งใน 13 รายชื่อที่จะได้รับการพิจารณา

ทั้งนี้ กลุ่ม BRICS คือสมาคมระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งโดยบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีนในปี 2006 และแอฟริกาใต้เข้าร่วมในปี 2010 ต่อมากลุ่มได้ขยายตัวโดยรับสมาชิกเพิ่มเติมคือ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย โดยซาอุดีอาระเบียยังไม่ได้เป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้เข้าร่วมการประชุมของ BRICS มาแล้วในหลายวาระ

'ประเสริฐ' ผลักดันโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลคนไทย ลงระดับอำเภอ มุ่งสร้างไทยสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (12 ธ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 5/2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ โดยมีนางปิยนุช วุฒิสอน รองปลัดกระทรวงดีอี และนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุม  

นายประเสริฐกล่าวถึงวาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ว่า คณะกรรมการได้อนุมัติโครงการ 'ส่งเสริมและพัฒนาทักษะความรู้เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับกำลังคนดิจิทัลระดับอำเภอ' โดยมุ่งเน้นให้บุคลากรและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่สามารถถ่ายทอดข้อมูลนวัตกรรมดิจิทัลใหม่ ๆ และให้ความช่วยเหลือด้านดิจิทัลแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

โครงการนี้ยังสนับสนุนการสร้างกลไกพัฒนาจังหวัดดิจิทัล (Digital Province) พร้อมยกระดับทุนมนุษย์ (Human Capital) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศ

'Digital GDP' ขยายตัว ร้อยละ 5.7 - 'การส่งออกดิจิทัล' ขยายตัวร้อยละ 17.2 'รองนายกฯ ประเสริฐ' ชี้ผลสำเร็จรัฐบาลให้ความสำคัญ ยกระดับดิจิทัลไทย เผยปี 2567 เศรษฐกิจดิจิทัลช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

(13 ธ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวระหว่างร่วมเวทีสัมมนาเพื่อเผยแพร่การดำเนินโครงการ 'Thailand Digital Economy 2024' ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2567 นั้นได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดย Broad Digital GDP (ราคาที่แท้จริง หรือ CVM) ประมาณการว่าขยายตัว 5.7 คิดเป็น  2.2 เท่า ของ GDP โดยรวมที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 (สศช. ประมาณการ) ในด้านการค้าต่างประเทศ คาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการดิจิทัล (ราคาที่แท้จริง หรือ CVM) จะขยายตัวร้อยละ 17.2 คิดเป็น 2.8 เท่า ของการส่งออกสินค้าและบริการโดยรวมที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 (สศช. ประมาณการ) 

"รัฐบาลก่อนหน้าและรัฐบาลนายกแพทองธาร รวมทั้งผมเองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านดิจิทัล รวมทั้งเร่งผลักดันภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ได้มีการส่งเสริมการลงทุนเรื่อง cloud services และ data centers ตลอดจนการลงทุนที่เกี่ยวข้องด้านดิจิทัล เชื่อว่าส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลขยายตัวอย่างดี ในปี 2567 สูงกว่าเศรษฐกิจโดยรวม กว่า 2 เท่าตัว" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว

ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ คณะกรรมการดีอี ได้สรุปประมาณการเศรษฐกิจดิจิทัลที่สำคัญ ในปี 2567 ดังนี้

1. เศรษฐกิจโดยรวม นั้น Broad Digital GDP (CVM) มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลแบบกว้าง มีมูลค่า 4.44 ล้านล้านบาท มีการขยายตัว ร้อยละ 5.7 จากปี 2566 และคิดเป็นการขยายตัว 2.2 เท่า ของการขยายตัวของ GDP โดยรวมที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการ) แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโต

2. ด้านการลงทุน โดยการลงทุนด้านดิจิทัลภาคเอกชน (CVM) มีการขยายตัวร้อยละ 2.8 จากปี 2566 ในขณะที่การลงทุนด้านดิจิทัลภาครัฐขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 จากปี 2566 ปัจจัยสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ที่ขยายตัวจากฐานที่ติดลบในปีก่อนหน้า

3. ด้านการบริโภคนั้นการบริโภคภาคเอกชนในอุตสาหกรรมดิจิทัลขยายตัวร้อยละ 5.6 สูงกว่าการขยายตัวของการบริโภคของประเทศที่เท่ากับร้อยละ 4.8 สำหรับการบริโภคภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.4 จากการเร่งการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สินค้าดิจิทัลเป็นสินค้าที่มีความต้องานบริโภคในระดับสูงทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน

4. ภาคการค้าและบริการในปี 2567 มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการอุตสาหกรรมดิจิทัล ขยายตัวร้อยละ 17.2 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 6.1 จากเดิมที่ขยายตัว ร้อยละ 2.1 ในปีที่ผ่านมา ในด้านการนำเข้าสินค้าและบริการดิจิทัลขยายตัวร้อยละ 9.0 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการนำเข้าสินค้าและบริการของประเทศอุตสาหกรรมดิจิทัล จึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในการสร้างเม็ดเงินจากเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยยังคงพึ่งพาสินค้าดิจิทัลทั้งที่เป็นสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นสุดท้าย ตลอดจนสื่อดิจิทัลคอนเทนต์จากต่างประเทศ จึงทำให้เมื่อการส่งออกสินค้าขยายตัวจะมีผลทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

5. ภาคการผลิต ซึ่งในปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านดิจิทัลขยายตัวร้อยละ 5.71 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.75 ตามการขยายตัวของการผลิตในทุกหมวดอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงสุด 2 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (+12.64%) และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (+10.00%) ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ที่มาของการเติบโต (Source of growth) พบว่า เกือบร้อยละ 80 ของการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านดิจิทัลเป็นผลจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (+1.90%) อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล (+1.36%) และอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ (+1.27%) ตามลำดับ 

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมหมวดโทรคมนาคมมีผลต่อการเติบโตโดยรวมสูงเกือบ 1 ใน 3 ของการขยายตัวทั้งหมด โดยกิจกรรมการผลิตที่ขยายตัวสูงในปีนี้ ได้แก่ การผลิตเคเบิลเส้นใยนำแสง การขายส่งและการขายปลีกโทรศัพท์ และอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคม โดยการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านดิจิทัล (ราคาที่แท้จริง) และที่มาของการเติบโต

นายเวทางค์ กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลในปี 2567 ขยายตัวได้ดี และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยการลงทุนและการบริโภคภาครัฐด้านดิจิทัล รวมทั้งการส่งออกสินค้าและบริการดิจิทัล เป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมการเติบโตด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ในขณะที่การลงทุนด้านดิจิทัลภาคเอกชนยังไม่ขยายตัว และเชื่อว่าในปี 2568 และ 2569 การลงทุนด้านดิจิทัลภาคเอกชน จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมีนัยยะสำคัญอย่างแน่นอน

สปสช. ติดหนี้รพ.มงกุฎวัฒนะ กว่า 50 ล้าน ทำคนไข้บัตรทองต้องควักจ่ายเอง

(13 ธ.ค.67) นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่า ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 13 ธ.ค.67 เป็นต้นไป โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะจะไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทองตั้งแต่วันเสาร์ที่ 14 ธ.ค. 67 นี้ เวลาเที่ยงคืนเป็นต้นไป โดยผู้ป่วยบัตรทองทุกรายจะต้องจ่ายเงินค่ารักษาเอง

นพ.เหรียญทอง ระบุว่า โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ จะหยุดให้บริการรับส่งต่อผู้ป่วยกรณี OP-REFER จากทุกคลินิกที่ส่งต่อมา ไม่ว่าจะมีใบส่งตัวหรือไม่มีใบส่งตัว เนื่องจากปัญหาหนี้ค้างชำระจาก สปสช. ที่ไม่สามารถจ่ายหนี้กว่า 44 ล้านบาท ตามที่ได้ตกลงกันไว้ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจุบันค้างจ่ายหนี้ประมาณ 50 ล้านบาท 

ทั้งนี้ รพ.มงกุฎวัฒนะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้หากไม่มีการชำระหนี้จาก สปสช. โดยผู้ป่วยบัตรทองจากคลินิกต่าง ๆ ต้องจ่ายค่าบริการเองจนกว่าจะมีการเคลียร์หนี้ทั้งหมดจากสปสช.

แต่ยกเว้นกรณีผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคไตวายเรื้อรัง และโรคเอดส์ ซึ่งทางรพ.ยังคงให้บริการตรวจรับการรักษาต่อไป เนื่องจากเป็นกรณีโรคร้ายแรง

"ขอรายงานว่า สปสช. ยังคงล่าช้าในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลค้างจ่ายที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ แม้ว่าจะมีการสำรองเงินทดรองจ่ายล่วงหน้า (Pre-paid) จำนวน 60 ล้านบาทแล้วก็ตาม แต่หนี้ค้างจ่ายและค่ารักษาพยาบาลยังสะสมเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยไม่ได้รับการจ่ายตามกำหนดที่คณะทำงาน สปสช. ตกลงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะเมื่อพฤศจิกายน 2567

สปสช. ยังมีการเบี้ยวหนี้และลดอัตราการจ่ายค่าแพทย์ ซึ่งทำให้การจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่เป็นไปตามกำหนด แม้ว่าค่ารักษาพยาบาลในแต่ละเดือนจะสูงกว่ามากกว่า 60 ล้านบาท ขณะที่เงินทดรองจ่ายล่วงหน้ากลับไม่พอที่จะครอบคลุม

การจ่ายเงินล่าช้ายังคงเป็นปัญหาตั้งแต่มีนาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน และยังไม่สามารถปฏิบัติตามมติของบอร์ด สปสช. ที่ตกลงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะได้ รพ.มงกุฎวัฒนะต้องใช้เงินสดของตนเองเพื่อดำเนินการมาเกือบ 9 เดือนแล้ว จนเริ่มประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากการที่ สปสช. ยังไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกำหนด

หาก สปสช. ยังคงไม่ดำเนินการจ่ายเงินค้างจ่ายมากกว่า 60 ล้านบาทภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2567 เวลา 12.00 น. และไม่เคลียร์หนี้ตามที่ตกลง รพ.มงกุฎวัฒนะจะไม่สามารถจ่ายค่าแพทย์ บุคลากร และคู่ค้าต่าง ๆ ได้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2567 ทำให้ไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2567 เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป" นพ.เหรียญทอง ระบุ

'กฟน. และกฟภ.' หยุดรับซื้อ!! ‘โครงการโซลาร์ภาคประชาชน’ ระบุชัด!! เต็มโควตา 90 เมกะวัตต์แล้ว ต้องรอจนกว่าจะเปิดเพิ่ม

(14 ธ.ค. 67) ขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้หยุดรับซื้อไฟฟ้าในโครงการโซลาร์ภาคประชาชนชั่วคราวแล้ว เนื่องจากมีผู้สนใจแห่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวกันเป็นจำนวนมากในปี 2567 จนเต็มโควตาที่เปิดรับซื้อ 90 เมกะวัตต์ โดยที่ผ่านมามีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่เดือน ม.ค.- มิ.ย. 2567 ประมาณ 100 เมกะวัตต์ แต่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคแล้วรวม 89.8 เมกะวัตต์ และจากนั้นได้เต็มโควตาไปเมื่อประมาณเดือน ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา

ดังนั้นหลังจากนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะต้องนำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาเพิ่มโควตาการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) ต่อไป

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กพช. ได้กำหนดโควตาเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อป ในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน จำนวนรวม 90 เมกะวัตต์ ภายในเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2564-2573

โดยล่าสุดภาพรวมการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ในปี 2567 (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ธ.ค. 2567) ทั้งในส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 10,107 ราย รวมกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 65.72 เมกะวัตต์

แบ่งเป็นทางด้าน กฟน. มีผู้ผลิตไฟฟ้าจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ จำนวน 4,174 ราย กำลังการผลิตติดตั้งรวม 23.15 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 3,740 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 20.4198 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้มีผู้ผลิตไฟฟ้าเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้นในปี 2567 จำนวน 7,914 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 43.91 เมกะวัตต์

ส่วนทางด้าน PEA นั้น ในปี 2567 มีผู้ทำสัญญาแล้ว แต่ยังไม่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ ( COD ) 1,559 ราย กำลังการผลิตประมาณ 8.25 เมกะวัตต์ และส่วนที่ COD แล้ว 634 ราย กำลังการผลิตประมาณ 3.56 เมกะวัตต์ โดยรวมมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 2,193 ราย คิดเป็นกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 11.81 เมกะวัตต์

ดังนั้นเมื่อนับตั้งแต่เปิดโครงการดังกล่าวในปี 2562-2567 จึงมีปริมาณกำลังผลิตติดตั้งรวมประมาณ 100.221 เมกะวัตต์ แต่หากนับเฉพาะในส่วนของ 2564-2567 ตามมติ กพช. ที่เปิดรับซื้อรวม 90 เมกะวัตต์ ก็พบว่าปริมาณรับซื้อเต็ม 90 เมกะวัตต์แล้ว ซึ่งสาเหตุที่ประชาชนแห่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวนมาก เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ประกอบกับต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ปรับลดลง และประชาชนต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าลงทำให้หันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าบนหลังคากันมากขึ้นนั่นเอง

สำหรับในช่วงเริ่มต้นโครงการฯ ปี 2562-2565 ที่เปิดรับซื้อไฟฟ้าแบบปีต่อปี พบว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการไม่ถึงเป้าหมายแม้แต่ปีเดียว โดยเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 260 เมกะวัตต์ แต่มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเพียง 9 เมกะวัตต์ ซึ่งแบ่งเป็นดังนี้

ในปี 2562 -2565 เปิดรับซื้อไฟฟ้าปีละ 100 เมกะวัตต์ แต่มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเพียง 3-4 เมกะวัตต์เท่านั้น เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าที่ 1.68 บาทต่อหน่วย ไม่จูงใจ

ต่อมาในปี 2564 จึงปรับลดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าเหลือ 50 เมกะวัตต์ และปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย แต่ก็มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อขายไฟฟ้าเพียง 3 เมกะวัตต์ เท่านั้น และในปี 2565 ได้ปรับลดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าลงอีกครั้งเหลือ 10 เมกะวัตต์ ในราคาเดิมที่ 2.20 บาทต่อหน่วย แต่ก็มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ เพียง 1.37 เมกะวัตต์

จากนั้นในเดือน มี.ค. 2566 กกพ. ได้ปรับหลักเกณฑ์เป็นการรับซื้อระยะยาว 10 ปี (2564-2573) รวม 90 เมกะวัตต์ ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวก็เริ่มใช้ในปี 2566 นี้ และพบว่าประชาชนให้ความสนใจมากขึ้น มีการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบรวมกว่า 10 เมกะวัตต์ จากเป้าหมาย 90 เมกะวัตต์ ใน 10 ปี และยังมีกลุ่มผู้ร่วมโครงการฯ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ (รอ COD) จำนวน 2,795 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 15.501 เมกะวัตต์ รวมเป็นปริมาณ 25.50 เมกะวัตต์

และล่าสุดในปี 2567 ณ เดือน มิ.ย. 2567 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคิดเป็นปริมาณ 100 เมกะวัตต์ และเต็มโควตา 90 เมกะวัตต์แล้ว ( นับรวมตั้งแต่ปี 2564-2567) และต้องหยุดรับซื้อไฟฟ้าไปจนกว่าจะมีการเพิ่มโควตาใหม่อีกครั้ง

‘ดร.เอ้’ ชี้!! อนาคต AI ชี้!! หากไทยไม่ทำวันนี้ อาจสายเกินไป

(14 ธ.ค. 67) ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

ถึงเวลา ‘จุดประกาย AI ในประเทศไทย’

ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัย CMKL ที่มุ่งมั่น สร้างคนไทยสู่เวทีระดับโลก ด้าน AI มาเป็น ‘Keynote Speaker’ องค์ปาฐก บรรยายเรื่อง ‘อนาคต AI’ ในงาน AI Summit 2024

เพราะวันนี้ หากไทยไม่สู้ อาจสายเกินไป เพราะประเทศอื่นก้าวกระโดดไปไกลมากแล้ว โดยเฉพาะเวียดนาม

เราจัดงาน AI Summit 2024 เพื่อรวมพลังสุดยอดคน AI ระดับโลก มาร่วมทีม AI ไทยแลนด์ พัฒนางานวิจัย และพัฒนา ‘คนรุ่นใหม่’ ให้เข้าสู่โลก AI ได้

และหมดยุค ‘แข่งกับตัวเอง’ หรือ ‘แข่งกันเอง’ เพราะทัศนคติแบบพูดเพียง ‘หล่อๆ’ นี้ ทำให้เราไม่คิดเปรียบเทียบ หรือแข่งกับ ‘คนเก่ง’ สุดท้ายเราก็ไม่พัฒนา สู้โลกไม่ได้ น่าเสียดาย

AI Summit 2024 จึงเป็นการ 'จุดประกาย' ให้คนไทย ตระหนักถึง ‘ยุค AI’ และ กลับมา ‘รวมพลัง’ คนเก่งของไทย ที่เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก

แล้วท่านล่ะครับ พร้อมเข้าสู้ยุค AI หรือยังครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top