Monday, 17 June 2024
News

'อัศวิน' มอบเครื่องดื่มนวัตกรรมสารสกัดสมุนไพรให้ผู้ป่วยโควิด-19 ระหว่างรอเตียง ถวายเป็นพระกุศลแด่พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

นายวุฒิศักดิ์ รัตนสุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผึ้งหลวง อัศวิน จำกัด เปิดเผยว่า “ด้วยวันนี้ (13 กรกฎาคม 2564) เป็นวันคล้ายวันประสูติของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ท่านผู้หญิง ม.จ.พันธุ์สวลี กิติยากร และคุณน้ำผึ้ง ม.ล.สราลี กิติยากร ได้มอบหมายผมให้ดำเนินการนำผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนวัตกรรมสมุนไพรที่มีสารสกัดจากพริกไทยดำ สมุนไพรไทยมากคุณค่าทางโภชนาการและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มามอบให้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล อยู่ในสถานะรอเตียงซึ่งตอนนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อถวายเป็นพระกุศลให้กับพระองค์ท่าน กอปรกับความห่วงใยของท่านผู้หญิงพันธุ์สวลีและคุณน้ำผึ้งเอง ซึ่งทั้งสองได้มีปณิธานที่ตั้งใจไว้เสมอว่า จะช่วยเหลือ ดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในขอบเขตความสามารถที่จะทำได้ ซึ่ง ณ ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม หากช่วยเหลือ หรือทำอะไรให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งสภาพทางเศรษฐกิจและสภาวะทางจิตใจ ก็ขอให้ช่วยกัน จะมากจะน้อย ก็จะเป็นเหมือนกำลังใจที่จะทำให้คนไทยทุกคนฟันฝ่าและรอดพ้นจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ไปได้ด้วยกัน”

นายวุฒิศักดิ์ ฯ กล่าวด้วยว่า “สำหรับความคิดที่นำผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรที่มีสารสกัดจากพริกไทยดำ ภายใต้ชื่อ “โครงการสมุนไพรไทย สู้ภัยโควิด” มามอบให้แก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้น เพราะว่าในตอนนี้มีบทความงานวิจัยจากประเทศอินเดีย In silico investigation of spice molecules as potent inhibitor of SARS -CoV -2 ซึ่งมีการจำลองโมเลกุลของเครื่องเทศ 30 ชนิด ที่ช่วยยับยั้งโคโรนาไวรัส พบว่า ไพเพอรีน (Piperine) ในพริกไทยดำ มีประสิทธิภาพมากที่สุด อันนี้จะบอกว่าเป็นข่าวดีก็ว่าได้ เพราะมันทำให้เรามองเห็นทางรอดในการดูแลรักษาให้ประชาชนมีอัตราการติดเชื้อน้อยลง รวมทั้งมีอัตราการรอดชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า-2019 เพิ่มมากขึ้น เพราะบ้านเรามีการปลูกพริกไทยดำอยู่แล้ว และบริษัท ผึ้งหลวง อัศวิน ฯ ของเราก็มีผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากพริกไทยดำผสมอยู่ด้วย อีกทั้งยังเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรที่เพิ่มเติมสารสกัดตัวอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายด้วย เช่น สารสกัดจากกระชายดำ ขมิ้นชัน ถั่งเช่า เสริมด้วยวิตามินบี ซึ่งล้วนแล้วแต่จะช่วยเสริมให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น เราก็เลยผุดไอเดีย โครงการสมุนไพรไทย สู้ภัยโควิด ขึ้นมา เพื่อจะช่วยพี่น้องคนไทยของเราครับ โดยวันนี้เราเริ่มต้นทำพิธีเปิดโครงการในบริเวณบริษัทฯ ของเรา นอกจากจะได้ถวายเป็นพระกุศลแล้วยังได้ทำให้สุขภาพร่างกายของคนไทยปลอดภัยแข็งแรง ซึ่งถ้าหากคิดในเชิงธุรกิจ โครงการสมุนไพรไทย สู้ภัยโควิด ก็ถือเป็นกำไรของบริษัทที่ทำได้ดีที่สุดในสถานการณ์โควิด-19 ครับ และตอนนี้เราก็กำลังติดต่อประสานศูนย์พักคอยต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อนำผลิตภัณฑ์ของเราที่มีทั้งเครื่องดื่มสมุนไพรอัศวิน และ อินเมทต้า แคปซูลสารสกัดสมุนไพรไปมอบให้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ซึ่งอยู่ในสถานะรอเตียงต่อไป”

นายวุฒิศักดิ์ ฯ กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “ก่อนหน้านี้เราได้นำผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครที่ปฏิบัติงานช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทั้งที่ครัวพระราชทานอุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย รวมถึงโรงพยาบาลสนามมงกุฎวัฒนะและโรงพยาบาลสนามเมืองทองธานี รวมถึงเรายังมีโครงการมอบถุงยังชีพให้ประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการอัศวินปันสุข , อัศวินให้ทำทุน รวมถึงร่วมสนับสนุนผลิตภัณฑ์ร่วมกับโครงการเรื่องเล่าแบ่งปัน เพราะเรามองเห็นถึงความสำคัญของทุกชีวิตที่ต้องร่วมกันต่อสู้กับวิฤตโควิด-19 ในขณะนี้ เชิญชวนทุกท่าน สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราหรือหน่วยงานต่าง ๆ ในการให้กำลังใจ ร่วมแรงร่วมใจในการให้ความช่วยเหลือตามกำลังที่ท่านมี มาต่อสู้กับวิกฤตนี้เพื่อที่เราจะผ่านมันไปด้วยกันนะครับ”

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อได้ที่ Facebook : เครื่องดื่มนวัตกรรมสมุนไพร - Asawin Herbal Drink หรือ โทร.086-336-0605

"IWRM " ภาคธุรกิจจัดการน้ำ เพื่อบริโภคและอุตสาหกรรม "ร่วมแบ่งปันเพื่อสังคม" มอบน้ำดื่ม 3,600 ขวด แก่ "สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพแห่งชาติ"

วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ณ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี "นายธนวัฒน์ สันตินรนนท์ " กรรมการผู้จัดการ INDUSTRIAL WATER RESOURCE MANAGEMENT CO.,LTD (IWRM) ,นายวิเชษฐ์ เกตุแก้ว ผู้สนับสนุน ประสานงานพื้นที่และชุมชน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีชี), นายชัยพร ภูผารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย / นายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล นายกสมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการไทย / นายโกสินธ์ จินาอ่อน บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์สยามโฟกัสไทม์ / นายณัฐวุฒิ เหมือนเพชร ผู้อำนวยการข่าวจังหวัดสมุทรปราการ (หนังสือพิมพ์สยามโฟกัสไทม์) ร่วมกันมอบน้ำดื่มจำนวน 3,600 ขวด ให้แด่ "นายแพทย์สาธิต สันตดุสิต" ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการบริโภค สำหรับบุคลากร เจ้าหน้าที่ และประชาชนที่มาเข้ารับบริการจากทางสถาบันฯ

ในการนี้ "นายธนวัฒน์ สันตินรนนท์" กรรมการผู้จัดการ IWRM ได้กล่าวถึง เจตนารมณ์ วัตถุประสงค์ ที่นำน้ำดื่มมามอบให้วันนี้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและขอบคุณ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ที่ทำงานหนักเพื่อช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชนคนไทย คนยากไร้ คนพิการ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

อีกทั้ง "นายแพทย์สาธิต สันตดุสิต" ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ยังได้กล่าวขอบคุณผู้บริหาร IWRM พร้อมคณะ ที่ได้เป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชน คนพิการ คนยากไร้ ในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 นี้เพื่อให้คนไทยอยู่รอดปลอดภัย

พร้อมทั้งขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชน ผู้ประกอบการ ที่มีจิตใจเป็นกุศลอยากจะร่วมบริจาคอาหาร น้ำดื่ม หรือจตุปัจจัยอื่น ๆ สามารถร่วมบริจาคมายัง "สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ" ได้ตามอัธภาพ ในวัน-เวลา ทำการ

"กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ" รับมอบน้ำดื่ม 3,600 ขวด จาก "IWRM" ภาคธุรกิจจัดการน้ำ เพื่อบริโภคและอุตสาหกรรม "ร่วมแบ่งปันเพื่อสังคม"

วันนี้ 14 กรกฎาคม 2564 ณ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (กทม.) "นายธนวัฒน์ สันตินรนนท์" กรรมการผู้จัดการ INDUSTRIAL WATER RESOURCE MANAGEMENT CO.,LTD (IWRM) ,นายวิเชษฐ์  เกตุแก้ว ผู้สนับสนุน ประสานงานพื้นที่และชุมชน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีชี), นายชัยพร ภูผารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย / นายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล นายกสมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการไทย / นายโกสินธ์ จินาอ่อน บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์สยามโฟกัสไทม์ / นายณัฐวุฒิ เหมือนเพชร ผู้อำนวยการข่าวจังหวัดสมุทรปราการ (หนังสือพิมพ์สยามโฟกัสไทม์) ร่วมกันประสานงานนำน้ำดื่มจำนวน 3,600 ขวด มอบให้"นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ" อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการบริโภค สำหรับบุคลากร เจ้าหน้าที่ คนพิการ และครอบครัวคนพิการ

ในการนี้ "นายธนวัฒน์ สันตินรนนท์" กรรมการผู้จัดการ IWRM ได้กล่าวถึง เจตนารมณ์ วัตถุประสงค์ ที่นำน้ำดื่มมามอบให้วันนี้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและขอบคุณ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ที่ทำงานหนักเพื่อช่วยเหลือดูแล พี่น้องประชาชนคนไทย คนยากไร้ คนพิการ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

อีกทั้ง "นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ" อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ยังได้กล่าวขอบคุณผู้บริหาร IWRM พร้อมคณะ ที่ได้เป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชน คนพิการ คนยากไร้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้เพื่อให้คนไทยอยู่รอดปลอดภัยพร้อมทั้งขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชน ผู้ประกอบการ ที่มีจิตใจเป็นกุศลอยากจะร่วมบริจาคอาหาร น้ำดื่ม หรือจตุปัจจัยอื่น ๆ สามารถร่วมบริจาคมายัง "กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ" หรือ โทร. 02- 354-3388 ต่อ 701-703 ได้ในวัน-เวลา ทำการ

‘ดร.นฤมล’ รมช.แรงงาน ร่วมมอบครุภัณฑ์และวัสดุทางการแพทย์แก่ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.30 น. ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวธนพร ศรีวิราช ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมมอบครุภัณฑ์และวัสดุทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 และเป็นกำลังใจให้บุคลากรของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักงานการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้โรงพยาบาลเริ่มขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ในการรับมือกับวิกฤติโควิด ในวันนี้ตนเองพร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เดินทางไปมอบครุภัณฑ์และวัสดุทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชีวิตผู้ที่ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและไม่ให้แพร่กระจายไปยังผู้ป่วยอื่น ๆ นอกจากอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว จะได้มอบข้าวกล่องเพิ่มเติมให้อีกจำนวน 200 กล่อง ให้โรงพยาบาลนำไปส่งต่อให้แก่ทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรผู้ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย ในฐานะที่ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างหนัก เพื่อร่วมเป็นขวัญกำลังในในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

“ขอเป็นกำลังใจให้ทีมบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่บุคลากรด่านหน้าทุกท่าน รวมถึงฝากความห่วงใยไปยังพี่น้องประชาชนทุกคนให้ดูแลตัวเองตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อที่เราจะได้ผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปด้วยกัน” รมช. แรงงาน กล่าวทิ้งท้าย

อบจ.ฉะเชิงเทรา โชว์ความพร้อมของ ‘โรงพยาบาลสนามใต้ร่มพระบารมี จังหวัดฉะเชิงเทรา’ รองรับผู้ป่วยโควิด 1,200 เตียง หวังปกป้องชาวแปดริ้วจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดการติดเชื้อในครอบครัว และลดการแพร่ระบาดต่อในชุมชน

วันที่ 16 ก.ค. นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายก อบจ. ฉะเชิงเทรา พร้อมทีมผู้บริหาร และนายธรรมชาติ พรมพิทักษ์ ประธานสภาฯ ลงพื้นที่ พร้อมกับสื่อมวลชน โชว์ความพร้อมของการปรับปรุงสถานที่ท่าเทียบเรืออำเภอบ้านโพธิ์ เป็นโรงพยาบาลสนามใต้ร่มพระบารมีจังหวัดฉะเชิงเทราดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อรอการส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาในโรงพยาบาล หรือ Community Isolation ใหญ่ที่สุดของ จ.ฉะเชิงเทรา

มีพื้นที่ขนาด 12,000 ตรม. มีความสะดวกในการเดินทางเข้า-ออก โดยปรับปรุงสถานที่ให้มีองค์ประกอบครบถ้วน มีการแบ่งพื้นที่ เป็นห้องสำหรับทีมแพทย์พยาบาล แบบมาตรฐานอย่างพร้อมสมบูรณ์ทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขอนามัย จุดคัดกรองผู้ป่วย จุดบริการอาหารและน้ำดื่ม ติดตั้งเตียงจัดวางที่นอนแยกโซนชาย-หญิง ติดตั้งระบบไฟฟ้า  ระบบรักษาความปลอดภัย CCTV ระบบอินเทอร์เน็ต มีระบบการระบายอากาศขนาดใหญ่ 12 ตัว พัดลมไอน้ำขนาดใหญ่ 3 ตัว พร้อมตู้คอนเทนเนอร์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 8 ตู้ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะทั่วไปและขยะติดเชื้อ ณ อาคารโกดังสินค้า ของบริษัท บีอาร์บีพี โลจิสติกส์ จำกัด หมู่ 6 ต.สนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา

นายกิตติ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดฉะเชิงเทรา มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน ทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รอเตียงในโรงพยาบาทำให้มีผู้ป่วยตกค้างอยู่บางส่วน เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดในครอบครัว และในชุมชนเพิ่มมากขึ้น ทาง อบจ.ฉะเชิงเทรา จึงได้จัดสรรงบประมาณ 12 ล้านบาท ดำเนินการ รพ.สนาม  เพื่อส่งต่อ หรือ Community Isolation เพื่อรองรับผู้ป่วย ที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยแยกผู้ป่วยออกมาจากบ้าน นำมา คัดกรองอาการและดูแลในเบื้องต้น เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล

นายกิตติ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิดเช่นนี้ ตนต้องดูแลพี่น้องชาวแปดริ้ว ในการป้องกันควบคุม ระงับโรคติดต่อโควิด-19 และดูแลสุขภาพของทุกคนให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจัดหา จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย แจกจ่ายผ่านไปทางสาธารณสุขจังหวัด เทศบาล อบต. และ อสม. การจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม 100,000 โดส ที่คาดว่าจะได้รับการส่งมอบในเร็ววันนี้ รวมถึง ปรับปรุงสถานที่ท่าเทียบเรืออำเภอบ้านโพธิ์เป็นโรงพยาบาลสนามใต้ร่มพระบารมีจังหวัดฉะเชิงเทราดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีมาตรฐานแห่งนี้ ซึ่งตนจะทำทุกวิถีทาง ตามกฎระเบียบที่สามารถทำได้ แม้จะทุ่มเทงบประมาณจนหมดหน้าตักตนก็ยอม เพื่อให้พี่น้องชาวแปดริ้วรอดจากโควิด-19 ขอให้มั่นใจและขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างเต็มกำลังทุกท่าน

"นุช-นนท์" เจ้าของร้านทุเรียน "ตลาดสี่มุมเมือง" ใจบุญ มอบข้าว 150 กล่อง ให้ "รพ.สนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ"

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 น.ส.ชาลินี ลอยนุ้ย เจ้าของร้านทุเรียน "นุช-นนท์" ตลาดสี่มุมเมือง ประสานงานสะพานบุญ นายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล นายกสมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการไทย และตำแหน่งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้านแรงงาน พร้อมด้วย "นายโกสินธ์ จินาอ่อน" บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามโฟกัสไทม์  ให้นำข้าวจำนวน 150 กล่อง เพื่อนำไปมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนรวมถึงคนพิการ ครอบครัวคนพิการที่ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ ตั้งอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ศูนย์รังสิต) เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสโควิช- 19 ได้รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพและร่างกาย เป็นการตอบแทนน้ำใจและความเสียสละแรงกาย แรงใจ เวลาอันมีค่ามาดูแลรักษาพี่น้องประชาชนคนไทย คนพิการ คนยากไร้และคนด้อยโอกาส ให้รอดปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปด้วยกัน

ในการนี้ผู้แทนจาก "กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ" เป็นผู้รับมอบ ข้าวกล่องจำนวนดังกล่าว และขอขอบคุณในน้ำใจไมตรีจิตที่ดีที่มอบให้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ พร้อมทั้งจะปฏิบัติหน้าที่รับใช้พี่น้องประชาชนคนไทยอย่างเต็มกำลังให้สุดความสามารถ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564  ที่ผ่านมา น.ส.ชาลินี ลอยนุ้ย เจ้าของร้านทุเรียน นุช-นนท์ ตลาดสี่มุมเมือง ได้มอบข้าวกล่องจำนวน 500 กล่องให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองลาดสวาย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าอาหารให้กับประชาชนได้บ้างซึ่งตนไม่ทำก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือประชาชนคนไทยด้วยกัน

“รัฐศาสตร์-นิเทศศาสตร์” ม.กรุงเทพธนบุรี จัดสัมมนาพิเศษในระบบ ZOOM หัวข้อ “SANDBOX MODEL ก้าวแรกการท่องเที่ยว สู่การเปิดประเทศในก้าวต่อไป” 18 ก.ค.นี้

คณะรัฐศาสตร์ ร่วมกับ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ร่วมกันจัดสัมมนาพิเศษในระบบออนไลน์ (ZOOM) ในหัวข้อ “SANDBOX MODEL ก้าวแรกการท่องเที่ยว สู่การเปิดประเทศในก้าวต่อไป” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คุณนัทธี ถิ่นสาคู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดภูเก็ต และ รองประธานคณะกรรมาธิการ การท่องเที่ยว, คุณธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต และคุณรัตนชัย สุทธิเดชานัย ที่ปรึกษานายกเมืองพัทยา

ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.กมลพร กัลยาณมิตร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ และ รศ.ดร.สุกัญญา บูรณเดชาชัย คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยมี ธนภณ โอภาสธัญกร (ต้อม นิรันดร์) และ แอปเปิ้ล-กิรษา หอมเสียง เป็นพิธีกร ในวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมรับฟังการสัมมนาพิเศษในครั้งนี้ได้ที่

Join Zoom Meeting

https://us02web.zoom.us/j/9989764605?pwd=djI3NERTU3c2NW8rVEJKWFdJZlBjdz09

ใส่รหัสผ่าน ห้องประชุม

Meeting ID: 998 976 4605

Passcode: 654321

"อลงกรณ์" เห็นด้วย "สปสช." ใช้งบพันล้านซื้อชุดตรวจโควิดแจกประชาชน 8.5 ล้านชุด แต่ข้องใจราคา Antigent Rapid Test แนะสปสช.แจงรายละเอียดเพื่อความโปร่งใส

วันนี้นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเห็นด้วยที่ "สปสช." จะจัดซื้อชุดตรวจทดสอบโควิดให้ประชาชน 8.5 ล้านชุด โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพเป็นผู้รับภาระจัดสรรงบประมาณ 1,014 ล้านบาท แต่ข้องใจราคาต้นทุนชุดตรวจโควิด Antigent Rapid Test Kit ที่มีบางข่าวระบุว่าราคาสูงถึงชุดละ 120 บาท จึงขอให้ "สปสช." ชี้แจงเพื่อความกระจ่าง พร้อมกันนี้นายอลงกรณ์ได้ให้ข้อมูลราคานำเข้าจากจีนชุดละ 37.50 บาท
โดยข้อความในเฟซบุ๊กปรากฏดังนี้

“...สปสช.ชี้แจงให้กระจ่างนะครับ โครงการจัดซื้อชุดตรวจโควิด Antigent Rapid Test Kit !!!

ผมเห็นข่าวก็ดีใจและเห็นด้วยที่สปสช.จะซื้อชุดตรวจทดสอบโควิดให้ประชาชน 8.5 ล้านชุด โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพเป็นผู้รับภาระจัดสรรงบประมาณ 1,014 ล้านบาท

แต่มีบางข่าวระบุว่าราคาต้นทุนชุดตรวจโควิดชุดละ 120 บาทนั้น ดูจะสูงไปหรือไม่ครับ
เพราะราคาชุดตรวจจากโรงงานมาตรฐานที่ปักกิ่ง ชุดละ 1.25 ดอลลาร์สหรัฐ (สำหรับการสั่งซื้อ100,000ชุดขึ้นไป)
ถ้าอัตราแลกเปลี่ยน 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ คูณ 1.25 บาท
จะตกชุดละ 37.50 บาท
ถ้าซื้อหลายล้านชุดราคาจะต่ำกว่านี้อีก

ผมไม่แน่ใจข่าวที่ออกมาว่า ราคาต้นทุนชุดละ 120 บาท จริงเท็จประการใด
หรือข่าวคลาดเคลื่อน ถ้าให้กระจ่างควรแจกแจงว่างบ 1,014 ล้านบาท เป็นงบซื้อชุดตรวจทั้งหมดกี่ชนิดกี่ประเภทโดยเฉพาะชุดตรวจแบบ Antigent Rapid Test kit
ผมเอาใจช่วยแต่
ช่วยชี้แจงหน่อยนะครับ
…อลงกรณ์ พลบุตร 20 ก.ค 64…”

 

ข้อมูลอ้างอิงจากข่าว
“บอร์ด สปสช. ประชุมวันที่ 19 กค. 2564 มีมติเห็นชอบ ที่จะจัดหาชุดตรวจทดสอบโควิดด้วยตัวเองที่บ้านจำนวน 8.5 ล้านชุด ราคาต้นทุนจัดซื้อ 120 บาทต่อชุด

โดยมอบหมายให้เครือข่ายโรงพยาบาลราชวิถี ในฐานะเป็นเครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ เป็นผู้จัดซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพเป็นผู้รับภาระจัดสรรงบประมาณ 1014 ล้านบาท”

https://www.blockdit.com/posts/60f57d348a54740c97ec6618

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2564 (วาระพิเศษ) ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน

โดยนายอนุทิน กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มีจำนวนมากในขณะนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเพิ่มชุดตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย Antigen Test Kit (ATK) ในวงเงินเบื้องต้น 1,014 ล้านบาท เพื่อจัดหาชุดตรวจให้หน่วยบริการนำไปแจกจ่ายกับประชาชนทุกคนทุกสิทธิ  รวมถึงคนต่างด้าวสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย ATK เอง ในช่วงระหว่างเดือน ส.ค. – ก.ย. 2564 และย้ำว่าต้องทำด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้...

"IWRM" ภาคธุรกิจจัดการน้ำ เพื่อบริโภคและอุตสาหกรรม มอบน้ำดื่มขนาด 600 มล. จำนวน 3,600 ขวด เพื่อร่วมแบ่งปันน้ำใจให้โรงพยาบาลสนาม และสถานพักคอย เพื่อผู้ป่วยโควิด-19 อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

วันนี้ 20 กรกฎาคม 2564 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา นายสรุชัย สันติธรรมนนท์ และ นายอำเภอบางปะกง รับมอบน้ำดื่ม ชล วอเตอร์ ขนาด 600 มล.จำนวน 3,600 ขวด จาก นายธนวัฒน์ สันตินรนนท์กรรมการผู้จัดการ บ.อินดัสเตรียล วอเตอร์ รีซอร์ท แมนเนจเม้นท์ จก. (IWRM) , นายศราวุฒิ เปลี่ยนอารมณ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท IWRM และ นายวิเชษฐ์ เกตุแก้ว ผู้ประสานงานพื้นที่และชุมชน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีชี) มอบให้เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการบริโภค สำหรับแพทย์พยาบาลบุคลากร ผู้ปฎิบัติหน้าที่และผู้ป่วยโควิด-19 สถานพักคอย อ.บางปะกง

IWRM ได้กล่าวถึง เจตนารมณ์ วัตถุประสงค์ ที่นำน้ำดื่มมามอบให้วันนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่ง การแบ่งปันน้ำใจสร้างขวัญกำลังใจและขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ที่ทำงานหนักเพื่อช่วยเหลือดูแลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

และเชิญชวนแบ่งปันน้ำใจเพื่อผู้ป่วยได้ที่สถานพักคอย อำเภอบางปะกง ตั้งอยู่บริเวณ โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3 อ.บางปู-อ.บางปะกง (แขวงทางหลวงฉะเชิงเทรา) จำนวน 85 เตียง

ติดต่อประสานงาน

นายภูนันท์ บุญสีทอง ปลัดอำเภอบางปะกง เบอร์โทรศัพท์  090-243-9879

นางสาวมนัญญา กุยโกฏิ์ ปลัดอำเภอบางปะกง เบอร์โทรศัพท์ 06-3901-7384

นายสิชล  แก้วกุลปรีชา ปลัดอำเภอบางปะกง เบอร์โทรศัพท์ 097-210-3412

นายสรุชัย ยุติธรรมนนท์ นายอำเภอบางปะกง (กล่าวว่า) ขอบคุณผู้บริหาร IWRM พร้อมคณะ ที่ได้เป็นกำลังใจได้นำน้ำมามอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชน ในช่วงสถานการณ์ covid-19  เพื่อให้คนไทยก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน

สุดท้ายนายวิเชษฐ์ เกตุแก้ว ได้กล่าวเชิญชวนพร้อมทั้งขอประชาสัมพันธ์ประชาชน ผู้ประกอบการร่วมบริจาคอาหาร น้ำดื่ม หรือสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ ให้กับโรงพยาบาลทั้ง 11 อำเภอ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา และสามารถร่วมบริจาคมายัง ที่ทำการอำเภอบางปะกง หรือสถานพักคอย อ.บางปะกง ดังกล่าว


ภาพ/ข่าว  สัมฤทธิ์ ล้ำเลิศ รายงาน

‘เฉลิมชัย’ เดินหน้านโยบาย “พืชอนาคตพืชเศรษฐกิจ” ฝ่าวิกฤตโควิด-19 เร่งพัฒนา “กัญชง” เชิงพาณิชย์ต่อยอด 10 คลัสเตอร์ อุตสาหกรรม สวก.-สวพส.-สถาบันเอสเอมอี ผนึกความร่วมมือพัฒนากัญชงทำ MOU 6 สิงหาคม นี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (21 ก.ค.) ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งให้เร่งขับเคลื่อนนโยบายพืชอนาคตพืชเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิด-19

ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้ผนึกความร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สพว. ยกระดับภาคเกษตรพัฒนากัญชงเชิงพาณิชย์สู่คลัสเตอร์อุตสาหกรรม โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกันของทั้ง สวก. สวพส. และ สพว. ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านกัญชงอย่างครบวงจร และร่วมกันนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานได้มีการดำเนินงานในการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมในเรื่องของกัญชงมาอย่างต่อเนื่อง

“กัญชง สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น ช่อดอก เมล็ด เปลือก ลำต้น และราก ในการแปรรูปสร้างมูลค่าอย่างน้อยใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มเวชภัณฑ์ยา, กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์, กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องดื่มและอาหารเสริม (Super Food), กลุ่มผลิตภัณฑ์กระดาษ, กลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอเสื้อผ้า, กลุ่มผลิตภัณฑ์นิรภัย, กลุ่มก่อสร้างและวัสดุภัณฑ์, กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์, กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี่ เช่น ซูเปอร์คาพาซิเตอร์ (Super Capacitor) เป็นต้น จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยและเกษตรกรของเราที่จะมีพืชเศรษฐกิจฐานรากใหม่เป็นพืชแห่งอนาคต เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาผ่านกฎหมายฟาร์มบิลล์ (Farm bill2018) ปลดล็อคกัญชงสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ในขณะที่จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีกหลายประเทศทั่วโลกก็ส่งเสริมสนับสนุนกัญชงจนกล่าวได้ว่าเป็นเฮมพ์อีโคโนมีพืชเศรษฐกิจแสนล้านของไทยและของโลก” นายอลงกรณ์ กล่าว

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สวก. เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยด้านการเกษตรของประเทศ ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการโครงการวิจัยด้านสมุนไพรไทย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557– ปัจจุบัน เป็นจำนวนกว่า 240 โครงการ งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท เพื่อวิจัยและพัฒนาต่อยอดสมุนไพรไทยในด้านการรักษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ตลอดจนขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบและครบวงจร ทำให้เกิดความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งผลการวิจัยที่ได้ต้องมีเป้าหมายผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดย สวก. ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการสนับสนุนกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและประเทศ โดยจะมีบทบาทในฐานะผู้สนับสนุนทุนวิจัยและบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงการให้ทุนวิจัยด้านกัญชงเพื่อสร้างเศรษฐกิจ ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ ที่ผ่านมา สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยนเรศวร ในโครงการการวิจัยและพัฒนากัญชง เพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ประกอบด้วย การทดลองปลูกกัญชงในโรงเรือนระบบปิด การศึกษาวิจัยข้อมูลด้านประสิทธิภาพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชง

สำหรับความร่วมมือในขั้นแรก สวก. จะสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาการเก็บข้อมูลต้นทุนตลอดห่วงโซ่การผลิตกัญชง ตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งที่ผ่านมา สวพส. และ สพว. ได้มีการดำเนินงานร่วมกันมาในระยะหนึ่งแล้ว แต่ประสบปัญหาในด้านต้นทุนการเก็บผลผลิตที่สูง เนื่องจากต้องใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ด้วยเหตุนี้ สวก. จึงจะสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือ/เครื่องทุ่นแรงในการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการลดต้นทุนและลดเวลาในการดำเนินงาน รวมถึงการสนับสนุนทุนวิจัยด้านการวิเคราะห์ปริมาณสาร CBD THC ที่เหมาะสมของกัญชงในการทำเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ นอกจากนี้ สวก. ได้หารือกับ ISMED ในการรวบรวมข้อมูลในทุก ๆ ด้านของกัญชง เพื่อจัดเป็นฐานข้อมูลด้านกัญชงของประเทศต่อไป ด้วยความร่วมมือในครั้งนี้ สวก. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนการพัฒนากัญชงให้สามารถพัฒนา ต่อยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่อไปได้

ด้านนายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า สวพส. ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้วิจัยและพัฒนากัญชง (Hemp) เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน โดยผลการวิจัยและพัฒนาทำให้มีข้อมูลและองค์ความรู้ที่นำมาสู่แก้ไขกฎหมาย เพื่อส่งเสริมกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน และผลการวิจัยและพัฒนาจำนวนไม่น้อย นับจากปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน กว่า 15 ปี  เริ่มจากการพัฒนาพันธุ์เพื่อให้มีสารเสพติดต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด การพัฒนาวิธีการเพาะปลูก การแก้กฎหมาย และสร้างการตลาด เพื่อให้สามารถปลูกเป็นอาชีพได้จริง ในช่วงแรก มุ่งการใช้ประโยชน์จากเส้นใยสำหรับในครัวเรือน ต่อมาขยายการศึกษาวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จากแกน ลำต้น เมล็ด และเส้นใยในเชิงอุตสาหกรรม และนำไปสู่การศึกษาวิจัยที่มุ่งการใช้ประโยชน์ครอบคลุมทุกส่วน ทั้งเส้นใย เมล็ด และช่อดอก สำหรับอาหาร เวชสำอาง และการแพทย์ โดยมีผลงานที่สำคัญคือ ระยะที่ 1 (ปี พ.ศ.2549-2554) ปรับปรุงและขึ้นทะเบียนพันธุ์ ระยะที่ 2 (ปี พ.ศ.2555-2559) วิจัยและพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง และระยะที่ 3 (ปี พ.ศ.2560-ปัจจุบัน) ศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูก ในการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์

นายธนนนทน์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย กัญชงมีความสำคัญต่อการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ซึ่งภาคเอกชนไทยมีความต้องการใช้กัญชงเป็นวัตถุดิบเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับอุตสาหกรรมมานานแล้ว ขณะที่ภาคการเกษตรต้องการปลูกพืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชมูลค่าต่ำอื่น ๆ  รวมถึงปัจจุบันกฎหมายกำลังเปิดกว้างเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชงออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้หลากหลายและคล่องตัวมากขึ้น

ที่ผ่านมา สพว. มีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการศึกษาและพัฒนาพืชกัญชงมาไม่น้อยกว่า 9 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน โดยการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ สวพส. และการสนับสนุนงบประมาณจากหลายหน่วยงาน โดยมีประสบการณ์ครอบคลุมทั้งด้านสถานการณ์การตลาด การผลิต กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวทางการใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของกัญชง การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความสอดคล้องกับกระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรมของภาคเอกชนไทย การขยายขนาดการผลิต (Scaleup) ไปสู่ระดับอุตสาหกรรม คลัสเตอร์กัญชง การบริหารจัดการซัพพลายเชน และการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจในการต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ สำหรับการลงทุนในระดับกลางน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงการเชื่อมโยงให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปกัญชง จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านในสาขาต่าง ๆ  เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถยกระดับเทคโนโลยีในระดับกลางน้ำ เพื่อให้ได้วัตถุดิบเข้าสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำในสาขาต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นส่วนแก้โจทย์ที่สำคัญให้กับภาคอุตสาหกรรมกัญชงของประเทศไทย และตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)  ตามนโยบายประเทศไทย 4.0

สำหรับการถ่ายทอดสดการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว สามารถรับชมได้ทาง https://www.facebook.com/ardathai ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top