Thursday, 18 April 2024
IMF

‘ศรีลังกา’ ตัดสินใจกะทันหัน หนีซบ IMF แทนพึ่งเงินกู้จากจีน

รัฐบาลจีนแสดงทีท่าไม่ค่อยพอใจนัก เมื่อรัฐบาลศรีลังกามีแผนที่จะรับเงินกู้ก้อนใหม่จาก IMF เพื่อฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่กระทบต่อปัญหาปากท้องของชาวศรีลังกากว่า 22 ล้านคนในตอนนี้

ด้วยสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกาในขณะนี้ ที่ขาดสภาพคล่อง และเงินสำรองต่างประเทศอย่างหนัก ถึงกับต้องประกาศพักชำระหนี้ต่างประเทศทั้งหมด เพื่อสำรองเงินต่างประเทศไว้นำเข้าสินค้าอุปโภคที่จำเป็น เวชภัณฑ์และพลังงานไว้ใช้ในประเทศเท่านั้น นับเป็นวิกฤติด้านเศรษฐกิจที่หนักที่สุดของศรีลังกา นับตั้งแต่เป็นประเทศเอกราชในปี 1948 

และนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ในประเทศ เนื่องจากประชาชนหลายล้านคนกำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาเงินเฟ้อ สินค้าอุปโภค บริโภคราคาสูงขึ้นมาก หลายชุมชนมีปัญหาขาดไฟฟ้า/น้ำประปานานนับสัปดาห์ และภาคสาธารณสุขดำดิ่งสู่วิกฤติที่ใกล้ถึงจุดพังทลาย

รัฐบาลศรีลังกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา จึงต้องหาวิธีผ่าตันด้วยการขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนระหว่างประเทศ หรือ IMF อีกครั้ง 

ศรีลังกาเคยขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุน IMF มานานเกือบ 20 ปี ครั้งล่าสุดที่ IMF เข้ามาดูแลปัญหาการเงินของศรีลังกา อยู่ในช่วงปี 2019 ที่ทำให้หนี้ต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอีก 1.5 พันล้านเหรียญ ซึ่งจนถึงปีนี้ 2022 ศรีลังกามีหนี้ต่างประเทศกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญ และหากต้องการเสริมสภาพคล่องให้ระบบเศรษฐกิจให้พอต่อลมหายใจได้อีกครั้ง รัฐบาลศรีลังกาต้องการวงเงินกู้เพิ่มไม่น้อยกว่า 3 พันล้านเหรียญ

แต่ทั้งนี้ นอกเหนือจากเงินทุนช่วยเหลือจาก IMF และสถาบันการเงินของชาติตะวันตกแล้ว จีนก็เป็นหนึ่งในผู้ให้เงินกู้รายใหญ่กับรัฐบาลศรีลังกา พ่วงกับเงื่อนไขสัญญาในโครงการก่อสร้างในโปรเจกต์ Belt and Road Initiative ของจีน ซึ่งนับถึงตอนนี้รัฐบาลจีนปล่อยเงินกู้ให้ศรีลังกาไป 3.5 พันล้านเหรียญ

และทางการจีนได้เสนอที่จะให้เงินกู้ก้อนใหม่แก่ศรีลังกาอีกกว่า 1.5 พันล้านเหรียญเพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ แต่ทว่าทางรัฐบาลศรีลังกาได้ตอบรับการช่วยเหลือจากกองทุน IMF อีกครั้ง ซึ่งเป็นการตัดสินใจอย่างกะทันหัน ทำให้รัฐบาลจีนไม่ค่อยพอใจเท่าใดนัก และยอมรับว่าการตัดสินใจของรัฐบาลศรีลังกา จะมีผลกับการเจรจาการให้เครดิตเงินกู้รอบใหม่กับจีนอย่างแน่นอน

IMF เพิ่มอัตราส่วนเงินหยวน ใน SDR ครั้งแรก สวนทาง เงินเยน-ปอนด์-ยูโร ที่ถูกปรับลง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยเมื่อวันเสาร์ว่าได้เพิ่มอัตราส่วนของดอลลาร์และหยวนของจีนในการทบทวนสกุลเงินที่ประกอบขึ้นเป็นสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) ซึ่งเป็นสินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศของทางกองทุน 

การทบทวนครั้งนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เงินหยวนหรือเงินเหรินหมินปี้ (renminbi) เข้าร่วมตะกร้าสกุลเงินในปี 2559 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในความพยายามของปักกิ่งในการทำให้สกุลเงินเป็นสากลมากขึ้น

IMF ได้เพิ่มน้ำหนักของสกุลเงินสหรัฐเป็น 43.38% จาก 41.73% และเงินหยวนเป็น 12.28% จาก 10.92% การถ่วงน้ำหนักของเงินยูโรลดลงเหลือ 29.31% จาก 30.93% เงินเยนลดลงเหลือ 7.59% จาก 8.33% และเงินปอนด์อังกฤษลดลงเหลือ 7.44% จาก 8.09%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศกล่าวในแถลงการณ์ว่าคณะกรรมการบริหารได้กำหนดอัตราส่วนสกุลเงินโดยพิจารณาจากการพัฒนาการค้าและตลาดการเงินตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2564

'อ.วรัชญ์' เผย IMF ชี้ GDP ต่อหัวของไทย เพิ่มขึ้นสูงสุดในอาเซียน ทิ้งเวียดนาม 4 เท่า

ไม่นานมานี้ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

GDP ต่อหัว ของไทย เพิ่มขึ้นสูงสุดในอาเซียน

ข้อมูลจาก IMF อัปเดตข้อมูลเดือนตุลาคม 2565 พบว่า มีเพียงสามประเทศในอาเซียนที่มี GDP ต่อหัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับข้อมูลเดือนเมษายน 2565 คือไทย, เวียดนาม และกัมพูชา โดยที่ไทยเติบโตมากที่สุด ทิ้งห่างอันดับสองอย่างเวียดนามมากกว่า 4 เท่า ($181 ต่อ $40)

IMF ชมไทยกุมนโยบายการคลังอยู่ แม้ดอลลาร์แข็ง แต่กระทบน้อย

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมประชุมหารือทวิภาคีกับนาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผลการหารือที่สำคัญ ดังนี้...

1. ทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการหารือถึงภาพรวมในประเด็นด้านเศรษฐกิจ โดย IMF มีความเห็นว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคในปี 2565 จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาเงินเฟ้อและสถานการณ์ที่ส่งผลต่อราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยนาง Georgieva ได้ชื่นชมการบริหารจัดการนโยบายการคลังของไทย โดยเฉพาะการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ โดยที่เงินกู้ของรัฐบาลเกือบทั้งหมดอยู่ในรูปของสกุลเงินบาททำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งตัว 

2. นาง Georgieva เห็นว่าความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญในขณะนี้ ได้แก่ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยได้เสนอให้ประเทศไทยแบ่งปันประสบการณ์การรับมือกับปัญหาดังกล่าวแก่ประเทศอื่น และความท้าทายอีกประการหนึ่งก็คือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย IMF สนับสนุนการใช้กลไก Carbon Pricing โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แจ้งว่าการใช้กลไกทางการเงินการคลังเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นนโยบายที่กระทรวงการคลังให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกอยู่แล้ว 

'บิ๊กตู่-IMF' ร่วมหารือประเด็น 'สังคมผู้สูงอายุ-สภาพภูมิอากาศ' ผนึกกำลังทุกฝ่ายสร้างประโยชน์เพื่อประชาชนคนไทย

(19 พ.ย.65) ที่ห้อง 111 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้...

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับกรรมการจัดการ IMF สู่ประเทศไทย และกล่าวชื่นชม IMF ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโลกท่ามกลางภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเป็นเวทีหารือและการให้คำแนะนำด้านนโยบายที่เหมาะสม และการเข้าให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศ ที่ประสบปัญหาอย่างรวดเร็ว 

กรรมการจัดการ IMF รู้สึกยินดีที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีในวันนี้ และเป็นเกียรติที่ได้ร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่ประเทศไทย ซึ่งในช่วงเวลานี้ โลกประสบกับสถานการณ์ความท้าทาย ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ในยูเครน พร้อมกล่าวชื่นชมการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของไทย

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! IMF ชี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัว ท่ามกลางการชะลอตัวของทั่วโลก

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้รับทราบถึงรายงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 ในปี 2566 จากร้อยละ 2.8 ในปีนี้ พร้อมกับคาดว่าการว่างงานของไทยจะอยู่ในอัตราต่ำที่สุดในเอเชียแปซิฟิกที่ 1.0% โดยไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่ IMF มองว่าเศรษฐกิจจะยังขยายตัวได้ท่ามกลางการชะลอตัวของทั่วโลกที่เผชิญกับความท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อ และต้นทุนการครองชีพที่สูงขึ้น

นายกรัฐมนตรี ยินดีกับผลการประเมินของ IMF และเห็นว่าความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลมีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยขององค์กรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนับแต่สามารถจัดการกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ให้อยู่ภายใต้การควบคุมได้ รัฐบาลได้เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะการเตรียมภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ แรงงานจำนวนมากให้พร้อมรับนักท่องเที่ยว การมีมาตรการดึงดูดนักลงทุน เปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ๆ มาตรการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย

IMF มองจีนคลายล็อกโควิดทำยอดติดเชื้อพุ่ง เชื่อ!! กระทบเศรษฐกิจ 'ภูมิภาค-โลก'

ไอเอ็มเอฟเตือนการผ่อนคลายมาตรการโควิดของทางการจีนจะทำให้มีผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วราว ‘ไฟป่า’ ในช่วง 3-6 เดือนนี้ ในขณะที่รัฐบาลยังไม่สามารถจัดหาวัคซีน และยาต้านไวรัสที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพให้แก่ประชาชน

“ช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้จะเป็นช่วงที่ยากลำบากของจีน” นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ กล่าวกับรายการ Face the Nation ของสถานีโทรทัศน์ CBS ที่ออกอากาศเมื่อช่วงสุดสัปดาห์

นางจอร์เจียวา ขยายความว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่แพร่กระจายรวดเร็วราว ‘ไฟป่า’ นี้  จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจในจีน เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน และเศรษฐกิจโลก

เมื่อปลาย พ.ย. ก่อนทางการจีนประกาศยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ นางจอร์เจียวาเปิดเผยว่าไอเอ็มเอฟอาจปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนลงอีกหลังจากเพิ่งประกาศปรับลดไปแล้วหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้นเนื่องจากข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับโควิด รวมถึงวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์

เมื่อเดือน ต.ค. ไอเอ็มเอฟตัดสินใจปรับลดประมาณการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2023 เนื่องจากสงครามในยูเครนและดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้นเพราะธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ พยายามจะควบคุมราคาที่สูงขึ้น

>> ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 3.2% ในปี 2022 และ 4.4% ในปี 2023

ทว่าเมื่อกลาง ธ.ค. หลังรัฐบาลจีนประกาศยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ ธนาคารมอร์แกน สแตนลีย์ ของสหรัฐฯ ปรับคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจจีนในปี 2023 เพิ่มจาก 5% เป็น 5.4%

นางจอร์เจียวา กล่าวกับ CBS ด้วยว่า ภาวะล็อกดาวน์ที่ยืดเยื้อในจีนและปัจจัยลบอื่น ๆ ในประเทศในปี 2022 จะทำให้จีนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ ‘ใกล้เคียงหรือต่ำกว่า’ อัตราการเติบโตเฉลี่ยของทั่วโลกที่ 3.2%  

ไอเอ็มเอฟเป็นองค์กรนานาชาติที่มีประเทศสมาชิก 190 ชาติ สมาชิกเหล่านี้ทำงานร่วมกันเพื่อพยายามเพิ่มเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก หน้าที่หลักหน้าที่หนึ่งคือทำหน้าที่เป็นระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจ

>> ‘ยากลำบากกว่า’ ปี 2023

ในการสัมภาษณ์กับ CBS นางจอร์เจียวาเตือนด้วยว่าชาติต่าง ๆ ราว 1 ใน 3 ของทั้งโลกจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยปีนี้

เธอบอกว่าปี 2023 จะ ‘ยากลำบากกว่า’ ปีที่แล้ว ขณะที่เศรษฐกิจทั้งในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน เติบโตช้าลง

“เราคาดการณ์ว่า 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย” นางจอร์เจียวา บอกกับรายการ Face the Nation ของสถานีโทรทัศน์ CBS 

“แม้กระทั่งประเทศที่ไม่ได้มีภาวะเศรษฐกิจถดถอย คนหลายร้อยล้านคนก็จะรู้สึกเหมือนอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย”

สถานการณ์นี้เกิดขึ้นขณะที่มีสงครามในยูเครน, ราคาข้าวของต่าง ๆ แพงขึ้น, อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น และการระบาดของโควิดในจีน ล้วนส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก 

ไอเอ็มเอฟคาดว่าในปี 2023 เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจหลีกเลี่ยงภาวะติดลบได้ แต่ในสหภาพยุโรป ครึ่งหนึ่งของชาติสมาชิกจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจหดตัว ส่วนเศรษฐกิจจีนจะลดความเร็วในการเติบโตลง

>> นักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนก็มองคล้ายกัน

คาทรีนา เอลล์ นักเศรษฐศาสตร์บริษัทด้านเศรษฐกิจ Moody's Analytics ในซิดนีย์ บอกว่า แม้ว่าจะยังไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยระดับโลกในปีนี้ แต่ความเสี่ยงก็สูงมาก อย่างไรก็ดี ยุโรปจะต้องตกอยู่ในภาวะนั้น ขณะที่สหรัฐฯ ตกอยู่ในสถานะหมิ่นเหม่ 

เอเชียเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากสงครามยูเครน และครัวเรือนและบริษัทต่าง ๆ ต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น 

‘IMF-ยูเครน’ บรรลุข้อตกลง กู้ 1.56 หมื่นล้านดอลลาร์ ช่วยฟื้นประเทศ หลังตกอยู่ในภาวะสงครามกว่า 1 ปีเต็ม

(22 มี.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (IMF) บรรลุข้อตกลงกับยูเครนแล้ว เรื่องสินเชื่อมูลค่า 15,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 538,566 ล้านบาท) เพื่อนำไปช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจยูเครนที่ตกอยูในภาวะสงครามมานานกว่า 1 ปี

นายแกวิน เกรย์ หัวหน้าทีมภารกิจยูเครนของไอเอ็มเอฟ แถลงว่า…

“นอกเหนือจากความสูญเสียด้านมนุษยธรรมอย่างน่ากลัวแล้ว การที่รัสเซียรุกรานยูเครนยังคงส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของยูเครน สินเชื่อระยะ 4 ปีนี้จะช่วยการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่อย่างช้า ๆ และส่งเสริมการเติบโตระยะยาวในการบูรณะประเทศหลังสงคราม รวมถึงการที่ยูเครนกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู (EU) คณะกรรมการไอเอ็มเอฟจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวในอีกไม่กี่สัปดาห์” นายเกรย์ กล่าว

นายเกรย์ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของยูเครนลดลงถึงร้อยละ 30 ในปี 2565 มีคนยากจนเพิ่มขึ้น และสูญเสียเงินทุนจำนวนมาก ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูเครนจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ใน 2-3 ไตรมาสนี้ เนื่องจากมีการดำเนินกิจกรรมอีกครั้ง หลังจากโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเสียหายหนัก แต่ความท้าทายฉับพลันด้านเศรษฐกิจมหภาคยังคงมีอยู่ เนื่องจากมียอดขาดดุลการคลังที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและกินวงกว้าง


ที่มา : https://www.naewna.com/inter/719095

ผู้บริหาร IMF เตือน!! ความเสี่ยงเสถียรภาพการเงินโลก ใต้ตัวแปร 'สงคราม-แบงก์รัน-น้ำมัน-เศรษฐกิจถดถอย'

เศรษฐกิจและการเงินโลกจะไปรอดหรือพังยับ ?!? นั่นคือคำถามสำคัญที่สุดในหัวของใครหลายคน ณ ตอนนี้เลยทีเดียว 

(27 มี.ค. 66) World Maker เผยว่า Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการของ IMF ได้ออกมาเตือนว่า “ความเสี่ยงเกี่ยวกับเสถียรภาพด้านการเงินโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

โดยเฉพาะหลังจากเกิดวิกฤต Bank Run ในสหรัฐฯ ทำให้ IMF ต้องยกระดับการเฝ้าระวังวิกฤตทางการเงินให้สูงขึ้นกว่าเดิม ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความมั่งคั่งทางการเงินสูงกว่าตลาดเกิดใหม่ ซึ่งทาง IMF ย้ำว่าความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกตอนนี้อยู่ในระดับ 'สูงเป็นพิเศษ' ถือเป็นแผลซ้ำจากโควิด-19, เงินเฟ้อ และสงครามยูเครน

เมื่อ FED ขึ้นดอกเบี้ยและเริ่มทำ QT มาถึงระดับหนึ่ง เราจึงเริ่มเห็นรอยแตกร้าวเกิดขึ้นแล้ว ณ ปัจจุบันนี้ และแม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ-FED รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลทั่วยุโรปจะเร่งเข้ามา Take Action อย่างรวดเร็วพร้อมกับเสริมสภาพคล่องสำรองให้แก่ตลาด ซึ่งผ่อนคลายความตึงเครียดไปได้ระดับหนึ่ง แต่ทาง IMF ก็ย้ำว่าความไม่แน่นอนต่าง ๆ ยังอยู่ในระดับสูงมาก ทำให้สถานการณ์ตอนนี้ยังต้องเฝ้าระวังอย่างละสายตาไม่ได้เลย

IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกลงจากเดิม 3.4% เหลือ 2.9% ในปีนี้ และคาดว่าในปี 2024 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.1% ขณะที่แถลงการณ์ล่าสุดชี้ว่าวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนถึงตอนนี้จะทำให้คนจำนวนมากทั่วโลก 'ยากจนลงและมีความปลอดภัยน้อยลง'

📌 ปัจจัยเชิงบวกที่สำคัญที่สุดในการพยุงเศรษฐกิจโลกจากมุมมองของ IMF ก็คือการฟื้นตัวของจีน โดยคาดการณ์ GDP ไว้ที่ +5.2% (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ปี 2022 ที่ 3%) ซึ่ง IMF คาดว่าการเติบโตของจีนจะคิดเป็นถึง 1 ใน 3 ของการเติบโตทั่วโลกในปี 2023 นี้ แม้ว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม

IMF ย้ำว่าหากต้องการให้โลกดีขึ้น สหรัฐฯ-จีนควรมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ พร้อมเรียกร้องให้มีการร่วมมือกันในบางส่วนระหว่างสหรัฐฯ-จีน แม้จะขจัดความตึงเครียดและมุมมองที่เห็นต่างไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่ามันถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่ว่าสหรัฐฯ-จีนจะเจรจากันได้ลงตัวหรือไม่ ? เพราะภาพที่ออกมาตอนนี้จะเห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายดูขัดแย้งกันในแทบทุกมิติ

นอกจากนี้ IMF เรียกร้องให้จีนใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มผลิตผลทางเศรษฐกิจพร้อมกับการปรับสมดุลใหม่ โดยเปลี่ยนจากการเน้นลงทุนไปสู่การเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคมากกว่าเดิม เนื่องจากจะมีความยั่งยืนมากกว่าและพึ่งพาระบบหนี้น้อยกว่า ยิ่งไปกว่านั้นจะช่วยพัฒนาในแง่ของความท้าทายด้านสภาพอากาศด้วย

IMF ขยายมุมมองว่าจีนควรยกระดับการคุ้มครองทางสังคม สวัสดิการสุขภาพ รวมไปถึงการรองรับภาคครัวเรือนจากภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และขณะเดียวกันก็จะต้องปฏิรูปตลาดโดยมุ่งเน้นไปที่การยกระดับการแข่งขันระหว่างภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องมีการลงทุนด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางผลผลิตให้ได้อย่างมีนัยสำคัญ

⚠️ ซึ่งขณะเดียวกันกับที่ IMF มองจีนเป็นความหวังพยุงเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ล่าสุดทางปูตินประกาศว่ารัสเซียจะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส หลังประเมินว่ามีแนวโน้มว่าการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอาจทวีความรุนแรงขึ้น ขยายวงกว้างไปกว่าสงครามยูเครน

โดยปูตินกล่าวว่านี่เป็นการตอบโต้ที่สหรัฐฯ เองก็ได้มีการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศพันธมิตรมานานแล้ว เป็นเหตุผลให้รัสเซียทำเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าจะการสร้างโรงเก็บอาวุธนิวเคลียร์จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากพึ่งมีข่าวว่ารัสเซียจะเกณฑ์ทหารเพิ่มอีก 400,000 นายเพื่อเสริมกำลังสำรองในกรณีที่สงครามยืดเยื้อยาวนาน โดยก่อนหน้านี้ก็ได้เกณฑ์เพิ่มไปแล้วหลักแสนคน

ทั้งนี้ รัสเซียไม่ได้ประกาศที่จะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศพันธมิตรนับตั้งแต่ยุคการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและวิกฤตขีปนาวุธคิวบา ขณะที่ปัจจุบันเองสหรัฐฯ และ NATO กำลังส่งอาวุธจำนวนมากให้ยูเครนใช้ต่อต้านกองกำลังของรัสเซีย และทางด้านอังกฤษก็กล่าวว่าจะส่งอาวุธที่เกี่ยวข้องกับยูเรเนียมให้แก่ยูเครน ซึ่งเป็น 1 ในเหตุผลที่ปูตินประกาศแผนติดตั้งนิวเคลียร์ในเบลารุส เนื่องจากเขามองว่านี่เป็นการขู่ยกระดับความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ของชาติฝั่งตะวันตก

นั่นหมายความว่าทางรัสเซียก็ไม่ได้ยอมอ่อนข้อลงเลย ปูตินกล่าวว่ารัสเซียกำลังเพิ่มขีดจำกัดในด้านการผลิตอาวุธ และจะผลิตกระสุน-รถถังออกมาเป็นจำนวนมาก โดยเขาเคลมว่าปริมาณอาจจะมากกว่าที่สหรัฐฯ-พันธมิตรส่งให้ยูเครนถึง 3x เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การยืนยันว่าโลกกำลังจะเกิดสงครามในระดับที่ยิงนิวเคลียร์ถล่มกัน เพราะดูเหมือนจะเป็นการเดินหมากเพื่อคานอำนาจกันในเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญและการป้องกันเชิงเสียมากกว่า แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีอะไรแน่นอน จึงไม่มีใครกล้ารับประกัน ณ จุดนี้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรร้ายแรงขึ้นมาหรือไม่ ?

📌 นอกเหนือจากสงครามของรัสเซียแล้ว ในอีกมุมหนึ่งของโลก จีนได้ประกาศปล่อยตัวนักลงทุนชิปชั้นนำที่เคยถูกรัฐบาลจับกุมเอาไว้ เพื่อให้มาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมชิปของประเทศหลังจากโดนสหรัฐฯ สั่งคว่ำบาตรอย่างหนักไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีชิปขั้นสูง

บุคคลดังกล่าวก็คือ Chen Datong หัวหน้าฝ่ายการจัดการด้านการลงทุนของ Yuanhe Puhua (Suzhou) หรือที่รู้จักในชื่อ Hua Capital โดยก่อนหน้านี้ Chen ถูกควบคุมตัวท่ามกลางกระแสการสืบสวนอุตสาหกรรมชิปของรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งดูเหมือนจะมีความไม่พอใจบางอย่างเกิดขึ้น หลังจากมีการใช้เงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ไปกับการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์แต่กลับยังไม่สามารถสร้างการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญได้

ดังนั้น การที่จีนตัดสินใจปล่อยตัว Chen และร้องขอให้เขามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมชิปต่อนี้ น่าจะถือเป็นสัญญาณสำคัญว่าจีนกำลังจะเดินหมากแบบพึง่พาตัวเองในแง่ของเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งก็ต้องรอดูกันว่าจีนจะพัฒนาไปได้รวดเร็วแค่ไหน เพราะตอนนี้ยังคงติดชะงักอยู่ในการผลิตชิประดับ Hi-Ends เป็นของตัวเอง

Chen ถือเป็น 1 ในนักลงทุนมือฉมังสำหรับอุตสาหกรรมชิปของจีน แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเขาจะเริ่มกลับมาทำงานเต็มตัวเมื่อไหร่ คาดว่าคงไม่นานเพราะจีนเองก็เร่งทุ่มเทพัฒนาชิปอยู่อย่างเต็มที่เพื่อให้ก้าวทันสหรัฐฯ ในแง่ของเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะเป็น 1 ในเสาหลักของโลกอนาคต

แต่ถึงกระนั้น ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำของจีนถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการบีบบังคับหรือไม่ ? เพราะในจังหวะที่นึกจะจับก็จับ แต่ในช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องการความช่วยเหลือก็กลับปล่อยตัวออกมาได้เสียง่าย ๆ ซะอย่างนั้น ! เราจึงต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิดว่ายุทธวิธีของจีนในครั้งนี้จะประสานรอยร้าวภายในและพัฒนาก้าวทันสหรัฐฯ ได้สำเร็จตอนไหน ?

⚠️ พร้อมกันนี้ หลายประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เริ่มสั่งแบนแอปฯ TikTok ออกจากสมาชิกรัฐบาล เนื่องจากความกังวลว่าตัวแอปฯ จะมีการส่งข้อมูลต่าง ๆ ไปให้รัฐบาลจีนใช้ ซึ่งฝ่ายตะวันตกมองว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ

อีกหนึ่งข่าวดีของไทยในเวทีโลก! ไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Bank/IMF ปี 2026

 

อีกหนึ่งข่าวดีของไทยในเวทีโลก!
ไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Bank/IMF ปี ค.ศ. ๒๐๒๖

ผู้แทนของไทยประจำ IMF ได้แจ้งแก่เอกอัครราชทูตไทยประสหรัฐฯ ว่า ตามที่กลุ่ม Executive Board ได้เสนอต่อ Board of Governors ให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี สภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2569 ระหว่าง 16-18 ตุลาคม พ.ศ.2569 ซึ่งไทยได้เสนอตัว โดยไทยสามารถเอาชนะกาตาร์ในการลงคะแนนรอบสุดท้ายได้ ซึ่งก่อนนี้มีประเทศเข้าสมัครเพื่อรับการคัดเลือกทั้งหมด 5 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กรีซ ไทย และกาตาร์ โดยหลังจากนี้ Board of Governors จะพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่จะประกาศผลดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ในช่วงการประชุม Spring Meeting เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

การประชุมดังกล่าว จะจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้เข้าร่วมจากทั่วโลก ทั้งผู้เข้าร่วมการประชุม และการประชุมอื่น ๆ คู่ขนานในช่วงเดียวกันรวมประมาณ 14,000 คน โดยผู้แทนกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีคุณ Wempi Saputra มาจากอินโดนีเซียและคุณ Rosemary Lim จากสิงคโปร์ ได้ทำงานประสานกับผู้แทนไทยและประเทศต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ในการสนับสนุนให้ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Bank/IMF ปี 2026 โดยร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาการคลังและสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และจัดให้ นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และ เจ้าหน้าที่ทีมเศรษฐกิจได้ร่วมทำงานในการขอรับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกทั้ง WB/IMF โดยเฉพาะ Board of Governors โดยจัดงานเลี้ยงรับรองได้จัดให้เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน กล่าวสุนทรพจน์แนะนำความพร้อมของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ เช่น ประสบการณ์ที่ไทยเคยจัดการประชุม IMF/WB มาแล้ว การเป็นเจ้าภาพการประชุมระหว่างประเทศทุกระดับ ล่าสุดไทยยังเป็นประธานอาเซียนที่มีการผลักดันการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี RCEP ขยะทะเลและทะเลจีนใต้ รวมทั้งเป็นเจ้าภาพเอเปคเมื่อปีที่แล้ว ที่ผลักดันวางกรอบเวลาการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเปค หรือ ‘FTAAP’ ความเชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อเตรียมความพร้อมหลังโควิด และปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วย BCG นำเรื่องความยั่งยืนเข้าไปใส่ในวาระของเอเปคอย่างเต็มที่เป็นครั้งแรก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top