‘ศรีลังกา’ ตัดสินใจกะทันหัน หนีซบ IMF แทนพึ่งเงินกู้จากจีน

รัฐบาลจีนแสดงทีท่าไม่ค่อยพอใจนัก เมื่อรัฐบาลศรีลังกามีแผนที่จะรับเงินกู้ก้อนใหม่จาก IMF เพื่อฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่กระทบต่อปัญหาปากท้องของชาวศรีลังกากว่า 22 ล้านคนในตอนนี้

ด้วยสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกาในขณะนี้ ที่ขาดสภาพคล่อง และเงินสำรองต่างประเทศอย่างหนัก ถึงกับต้องประกาศพักชำระหนี้ต่างประเทศทั้งหมด เพื่อสำรองเงินต่างประเทศไว้นำเข้าสินค้าอุปโภคที่จำเป็น เวชภัณฑ์และพลังงานไว้ใช้ในประเทศเท่านั้น นับเป็นวิกฤติด้านเศรษฐกิจที่หนักที่สุดของศรีลังกา นับตั้งแต่เป็นประเทศเอกราชในปี 1948 

และนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ในประเทศ เนื่องจากประชาชนหลายล้านคนกำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาเงินเฟ้อ สินค้าอุปโภค บริโภคราคาสูงขึ้นมาก หลายชุมชนมีปัญหาขาดไฟฟ้า/น้ำประปานานนับสัปดาห์ และภาคสาธารณสุขดำดิ่งสู่วิกฤติที่ใกล้ถึงจุดพังทลาย

รัฐบาลศรีลังกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา จึงต้องหาวิธีผ่าตันด้วยการขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนระหว่างประเทศ หรือ IMF อีกครั้ง 

ศรีลังกาเคยขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุน IMF มานานเกือบ 20 ปี ครั้งล่าสุดที่ IMF เข้ามาดูแลปัญหาการเงินของศรีลังกา อยู่ในช่วงปี 2019 ที่ทำให้หนี้ต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอีก 1.5 พันล้านเหรียญ ซึ่งจนถึงปีนี้ 2022 ศรีลังกามีหนี้ต่างประเทศกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญ และหากต้องการเสริมสภาพคล่องให้ระบบเศรษฐกิจให้พอต่อลมหายใจได้อีกครั้ง รัฐบาลศรีลังกาต้องการวงเงินกู้เพิ่มไม่น้อยกว่า 3 พันล้านเหรียญ

แต่ทั้งนี้ นอกเหนือจากเงินทุนช่วยเหลือจาก IMF และสถาบันการเงินของชาติตะวันตกแล้ว จีนก็เป็นหนึ่งในผู้ให้เงินกู้รายใหญ่กับรัฐบาลศรีลังกา พ่วงกับเงื่อนไขสัญญาในโครงการก่อสร้างในโปรเจกต์ Belt and Road Initiative ของจีน ซึ่งนับถึงตอนนี้รัฐบาลจีนปล่อยเงินกู้ให้ศรีลังกาไป 3.5 พันล้านเหรียญ

และทางการจีนได้เสนอที่จะให้เงินกู้ก้อนใหม่แก่ศรีลังกาอีกกว่า 1.5 พันล้านเหรียญเพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ แต่ทว่าทางรัฐบาลศรีลังกาได้ตอบรับการช่วยเหลือจากกองทุน IMF อีกครั้ง ซึ่งเป็นการตัดสินใจอย่างกะทันหัน ทำให้รัฐบาลจีนไม่ค่อยพอใจเท่าใดนัก และยอมรับว่าการตัดสินใจของรัฐบาลศรีลังกา จะมีผลกับการเจรจาการให้เครดิตเงินกู้รอบใหม่กับจีนอย่างแน่นอน

สื่อต่างประเทศมองอีกด้วยว่า ไม่ว่ารัฐบาลศรีลังกาจะเลือกกองทุนของ IMF หรือการช่วยเหลือจากจีน ล้วนส่งผลถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ และปัญหาหนี้สินสาธารณะของประเทศในระยะยาวทั้งสิ้น 

เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การช่วยเหลือจาก IMF มักมาพร้อมกรอบมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดอย่างมาก ที่บ้านเรามักเรียกว่า "มาตรการรัดเข็มขัด" ที่จะส่งผลถึงโครงการพัฒนาของภาครัฐ และเงินทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการเติบโตของ GDP ในประเทศ

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ถึงแม้ว่าสัดส่วนหนี้เงินกู้ของจีนจะมีเพียง 6% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมดของศรีลังกา แต่นั่นเป็นเพียงยอดหนี้ที่เปิดเผยได้ แต่หนี้สินอีกส่วนซ่อนเร้นมาในโครงการสัมปทานก่อสร้าง ที่ไม่สามารถการันตีได้เลยว่าจะได้ผลลัพธ์ตอบแทนคุ้มทุนสร้างหรือไม่ อาทิ โครงการท่าเรือฮัมบันโตตา 

ซึ่งนโยบายเจ้าสัวเงินกู้ของจีน มักถูกโจมตีว่าเป็นการสร้างกับดักหนี้ หรือ Debt-Trap Diplomacy ให้แก่ประเทศในโลกที่สามอื่นๆ 

ดังนั้น การที่รัฐบาลศรีลังกาเลือกที่จะขอความช่วยเหลือจาก IMF ย่อมส่งผลถึงการชำระหนี้เงินกู้ที่มากับโครงการ BRI ของจีนอย่างไม่ต้องสงสัย 

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลศรีลังกา ที่ต้องแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้กับประเทศเพื่อมาชำระหนี้ให้ได้ แม้ว่าจะกู้เงินกับใครก็ตาม เพราะการใช้หนี้ชำระหนี้ รังแต่จะฉุดรั้งให้ประเทศจมลึกในกับดักหนี้สินที่ไม่มีวันสิ้นสุดถึงรุ่นลูก หลาน เหลน โหลน ในอนาคต


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง: WION / ORF / Business-Standard / BBC