IMF ชมไทยกุมนโยบายการคลังอยู่ แม้ดอลลาร์แข็ง แต่กระทบน้อย

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมประชุมหารือทวิภาคีกับนาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผลการหารือที่สำคัญ ดังนี้...

1. ทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการหารือถึงภาพรวมในประเด็นด้านเศรษฐกิจ โดย IMF มีความเห็นว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคในปี 2565 จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาเงินเฟ้อและสถานการณ์ที่ส่งผลต่อราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยนาง Georgieva ได้ชื่นชมการบริหารจัดการนโยบายการคลังของไทย โดยเฉพาะการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ โดยที่เงินกู้ของรัฐบาลเกือบทั้งหมดอยู่ในรูปของสกุลเงินบาททำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งตัว 

2. นาง Georgieva เห็นว่าความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญในขณะนี้ ได้แก่ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยได้เสนอให้ประเทศไทยแบ่งปันประสบการณ์การรับมือกับปัญหาดังกล่าวแก่ประเทศอื่น และความท้าทายอีกประการหนึ่งก็คือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย IMF สนับสนุนการใช้กลไก Carbon Pricing โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แจ้งว่าการใช้กลไกทางการเงินการคลังเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นนโยบายที่กระทรวงการคลังให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกอยู่แล้ว 

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวว่า ประเทศไทยมีโครงการธนาคารต้นไม้ที่ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำหน้าที่สนับสนุนการปลูกต้นไม้ในชุมชน สนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก กิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) รวมถึงโครงการสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) โดยกระทรวงการคลังยินดีจะหารือในรายละเอียดกับ IMF ในเรื่องของแนวทางการใช้มาตรการการลดคาร์บอนให้สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาของประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมต่อไป

3. นอกจากนี้ นาง Georgieva ได้กล่าวสนับสนุนประเทศไทยในการส่งเสริมความร่วมมือในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค (Connectivity) โดย IMF พร้อมให้ความร่วมมือกับประเทศไทย กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงและอาเซียนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน