อีกหนึ่งข่าวดีของไทยในเวทีโลก! ไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Bank/IMF ปี 2026

 

อีกหนึ่งข่าวดีของไทยในเวทีโลก!
ไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Bank/IMF ปี ค.ศ. ๒๐๒๖

ผู้แทนของไทยประจำ IMF ได้แจ้งแก่เอกอัครราชทูตไทยประสหรัฐฯ ว่า ตามที่กลุ่ม Executive Board ได้เสนอต่อ Board of Governors ให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี สภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2569 ระหว่าง 16-18 ตุลาคม พ.ศ.2569 ซึ่งไทยได้เสนอตัว โดยไทยสามารถเอาชนะกาตาร์ในการลงคะแนนรอบสุดท้ายได้ ซึ่งก่อนนี้มีประเทศเข้าสมัครเพื่อรับการคัดเลือกทั้งหมด 5 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กรีซ ไทย และกาตาร์ โดยหลังจากนี้ Board of Governors จะพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่จะประกาศผลดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ในช่วงการประชุม Spring Meeting เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

การประชุมดังกล่าว จะจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้เข้าร่วมจากทั่วโลก ทั้งผู้เข้าร่วมการประชุม และการประชุมอื่น ๆ คู่ขนานในช่วงเดียวกันรวมประมาณ 14,000 คน โดยผู้แทนกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีคุณ Wempi Saputra มาจากอินโดนีเซียและคุณ Rosemary Lim จากสิงคโปร์ ได้ทำงานประสานกับผู้แทนไทยและประเทศต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ในการสนับสนุนให้ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Bank/IMF ปี 2026 โดยร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาการคลังและสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และจัดให้ นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และ เจ้าหน้าที่ทีมเศรษฐกิจได้ร่วมทำงานในการขอรับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกทั้ง WB/IMF โดยเฉพาะ Board of Governors โดยจัดงานเลี้ยงรับรองได้จัดให้เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน กล่าวสุนทรพจน์แนะนำความพร้อมของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ เช่น ประสบการณ์ที่ไทยเคยจัดการประชุม IMF/WB มาแล้ว การเป็นเจ้าภาพการประชุมระหว่างประเทศทุกระดับ ล่าสุดไทยยังเป็นประธานอาเซียนที่มีการผลักดันการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี RCEP ขยะทะเลและทะเลจีนใต้ รวมทั้งเป็นเจ้าภาพเอเปคเมื่อปีที่แล้ว ที่ผลักดันวางกรอบเวลาการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเปค หรือ ‘FTAAP’ ความเชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อเตรียมความพร้อมหลังโควิด และปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วย BCG นำเรื่องความยั่งยืนเข้าไปใส่ในวาระของเอเปคอย่างเต็มที่เป็นครั้งแรก

นอกจากนั้น เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ได้กล่าวถึงความพร้อมประเทศไทย ในด้านโครงสร้างพื้นฐานการเดินทางการคมนาคม โดยเป็นศูนย์กลางการบินและการเดินทางในภูมิภาค สามารถต้อนรับดูแลนักท่องเที่ยวถึงเกือบ 40 ล้านคนก่อนโควิดระบาด และที่สำคัญความพร้อมของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ สถานที่ประชุมที่สร้างขึ้นเพื่อจัดการประชุม IMF/WB ด้วยการเชื่อมโยงการเดินทางโดยระบบรถไฟฟ้าใต้ดินตรงจากสนามบินและโรงแรมที่พัก และประสบการณ์ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ที่สามารถจัดการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปคได้อย่างดีเยี่ยม

ประเทศไทยเราทั้งประเทศ รวมทั้งประชาชนไทยในฐานะเจ้าภาพ/ผู้ต้อนรับ มีน้ำใสใจคอที่น่ารักดูแลนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนอย่างดี ต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เหล่านี้ที่ทำให้ไทยเรามีความพร้อมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถือเป็น Soft Power สำคัญที่ส่งผลให้ไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Bank/IMF ในครั้งนี้ 


เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ตัวท่านและเจ้าหน้าที่ของไทยที่ประจำ ณ กรุงวอชิงตัน เป็นเพียงผู้นำเสนองานในขั้นสุดท้ายเท่านั้น คนไทยทุกคนควรภูมิใจว่า เราสามารถมาถึงจุดนี้ได้ก็ด้วยเพราะวันนี้ ประเทศไทยของเราเองมีความพร้อมในทุกมิติอย่างเต็มที่ ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากมิตรประเทศของไทยมากมายทั่วโลก รัฐบาล กระทรางการต่างประเทศ และภาคส่วนต่าง ๆ โดย สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และสำนักงานที่ปรึกษาการคลัง ต้องขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จครั้งนี้ทุก ๆ ท่าน ทั้งมิตรประเทศ และผู้แทนไทยใน IMF/World Bank ที่ช่วยสนับสนุนการสมัครเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Bank/IMF ปี 2026 ของไทยในครั้งนี้จนประสบผลสำเร็จ จนได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Bank/IMF ปี 2026 ในที่สุด


เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล

ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ