ผู้บริหาร IMF เตือน!! ความเสี่ยงเสถียรภาพการเงินโลก ใต้ตัวแปร 'สงคราม-แบงก์รัน-น้ำมัน-เศรษฐกิจถดถอย'

เศรษฐกิจและการเงินโลกจะไปรอดหรือพังยับ ?!? นั่นคือคำถามสำคัญที่สุดในหัวของใครหลายคน ณ ตอนนี้เลยทีเดียว 

(27 มี.ค. 66) World Maker เผยว่า Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการของ IMF ได้ออกมาเตือนว่า “ความเสี่ยงเกี่ยวกับเสถียรภาพด้านการเงินโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

โดยเฉพาะหลังจากเกิดวิกฤต Bank Run ในสหรัฐฯ ทำให้ IMF ต้องยกระดับการเฝ้าระวังวิกฤตทางการเงินให้สูงขึ้นกว่าเดิม ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความมั่งคั่งทางการเงินสูงกว่าตลาดเกิดใหม่ ซึ่งทาง IMF ย้ำว่าความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกตอนนี้อยู่ในระดับ 'สูงเป็นพิเศษ' ถือเป็นแผลซ้ำจากโควิด-19, เงินเฟ้อ และสงครามยูเครน

เมื่อ FED ขึ้นดอกเบี้ยและเริ่มทำ QT มาถึงระดับหนึ่ง เราจึงเริ่มเห็นรอยแตกร้าวเกิดขึ้นแล้ว ณ ปัจจุบันนี้ และแม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ-FED รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลทั่วยุโรปจะเร่งเข้ามา Take Action อย่างรวดเร็วพร้อมกับเสริมสภาพคล่องสำรองให้แก่ตลาด ซึ่งผ่อนคลายความตึงเครียดไปได้ระดับหนึ่ง แต่ทาง IMF ก็ย้ำว่าความไม่แน่นอนต่าง ๆ ยังอยู่ในระดับสูงมาก ทำให้สถานการณ์ตอนนี้ยังต้องเฝ้าระวังอย่างละสายตาไม่ได้เลย

IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกลงจากเดิม 3.4% เหลือ 2.9% ในปีนี้ และคาดว่าในปี 2024 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.1% ขณะที่แถลงการณ์ล่าสุดชี้ว่าวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนถึงตอนนี้จะทำให้คนจำนวนมากทั่วโลก 'ยากจนลงและมีความปลอดภัยน้อยลง'

📌 ปัจจัยเชิงบวกที่สำคัญที่สุดในการพยุงเศรษฐกิจโลกจากมุมมองของ IMF ก็คือการฟื้นตัวของจีน โดยคาดการณ์ GDP ไว้ที่ +5.2% (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ปี 2022 ที่ 3%) ซึ่ง IMF คาดว่าการเติบโตของจีนจะคิดเป็นถึง 1 ใน 3 ของการเติบโตทั่วโลกในปี 2023 นี้ แม้ว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม

IMF ย้ำว่าหากต้องการให้โลกดีขึ้น สหรัฐฯ-จีนควรมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ พร้อมเรียกร้องให้มีการร่วมมือกันในบางส่วนระหว่างสหรัฐฯ-จีน แม้จะขจัดความตึงเครียดและมุมมองที่เห็นต่างไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่ามันถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่ว่าสหรัฐฯ-จีนจะเจรจากันได้ลงตัวหรือไม่ ? เพราะภาพที่ออกมาตอนนี้จะเห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายดูขัดแย้งกันในแทบทุกมิติ

นอกจากนี้ IMF เรียกร้องให้จีนใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มผลิตผลทางเศรษฐกิจพร้อมกับการปรับสมดุลใหม่ โดยเปลี่ยนจากการเน้นลงทุนไปสู่การเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคมากกว่าเดิม เนื่องจากจะมีความยั่งยืนมากกว่าและพึ่งพาระบบหนี้น้อยกว่า ยิ่งไปกว่านั้นจะช่วยพัฒนาในแง่ของความท้าทายด้านสภาพอากาศด้วย

IMF ขยายมุมมองว่าจีนควรยกระดับการคุ้มครองทางสังคม สวัสดิการสุขภาพ รวมไปถึงการรองรับภาคครัวเรือนจากภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และขณะเดียวกันก็จะต้องปฏิรูปตลาดโดยมุ่งเน้นไปที่การยกระดับการแข่งขันระหว่างภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องมีการลงทุนด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางผลผลิตให้ได้อย่างมีนัยสำคัญ

⚠️ ซึ่งขณะเดียวกันกับที่ IMF มองจีนเป็นความหวังพยุงเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ล่าสุดทางปูตินประกาศว่ารัสเซียจะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส หลังประเมินว่ามีแนวโน้มว่าการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอาจทวีความรุนแรงขึ้น ขยายวงกว้างไปกว่าสงครามยูเครน

โดยปูตินกล่าวว่านี่เป็นการตอบโต้ที่สหรัฐฯ เองก็ได้มีการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศพันธมิตรมานานแล้ว เป็นเหตุผลให้รัสเซียทำเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าจะการสร้างโรงเก็บอาวุธนิวเคลียร์จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากพึ่งมีข่าวว่ารัสเซียจะเกณฑ์ทหารเพิ่มอีก 400,000 นายเพื่อเสริมกำลังสำรองในกรณีที่สงครามยืดเยื้อยาวนาน โดยก่อนหน้านี้ก็ได้เกณฑ์เพิ่มไปแล้วหลักแสนคน

ทั้งนี้ รัสเซียไม่ได้ประกาศที่จะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศพันธมิตรนับตั้งแต่ยุคการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและวิกฤตขีปนาวุธคิวบา ขณะที่ปัจจุบันเองสหรัฐฯ และ NATO กำลังส่งอาวุธจำนวนมากให้ยูเครนใช้ต่อต้านกองกำลังของรัสเซีย และทางด้านอังกฤษก็กล่าวว่าจะส่งอาวุธที่เกี่ยวข้องกับยูเรเนียมให้แก่ยูเครน ซึ่งเป็น 1 ในเหตุผลที่ปูตินประกาศแผนติดตั้งนิวเคลียร์ในเบลารุส เนื่องจากเขามองว่านี่เป็นการขู่ยกระดับความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ของชาติฝั่งตะวันตก

นั่นหมายความว่าทางรัสเซียก็ไม่ได้ยอมอ่อนข้อลงเลย ปูตินกล่าวว่ารัสเซียกำลังเพิ่มขีดจำกัดในด้านการผลิตอาวุธ และจะผลิตกระสุน-รถถังออกมาเป็นจำนวนมาก โดยเขาเคลมว่าปริมาณอาจจะมากกว่าที่สหรัฐฯ-พันธมิตรส่งให้ยูเครนถึง 3x เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การยืนยันว่าโลกกำลังจะเกิดสงครามในระดับที่ยิงนิวเคลียร์ถล่มกัน เพราะดูเหมือนจะเป็นการเดินหมากเพื่อคานอำนาจกันในเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญและการป้องกันเชิงเสียมากกว่า แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีอะไรแน่นอน จึงไม่มีใครกล้ารับประกัน ณ จุดนี้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรร้ายแรงขึ้นมาหรือไม่ ?

📌 นอกเหนือจากสงครามของรัสเซียแล้ว ในอีกมุมหนึ่งของโลก จีนได้ประกาศปล่อยตัวนักลงทุนชิปชั้นนำที่เคยถูกรัฐบาลจับกุมเอาไว้ เพื่อให้มาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมชิปของประเทศหลังจากโดนสหรัฐฯ สั่งคว่ำบาตรอย่างหนักไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีชิปขั้นสูง

บุคคลดังกล่าวก็คือ Chen Datong หัวหน้าฝ่ายการจัดการด้านการลงทุนของ Yuanhe Puhua (Suzhou) หรือที่รู้จักในชื่อ Hua Capital โดยก่อนหน้านี้ Chen ถูกควบคุมตัวท่ามกลางกระแสการสืบสวนอุตสาหกรรมชิปของรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งดูเหมือนจะมีความไม่พอใจบางอย่างเกิดขึ้น หลังจากมีการใช้เงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ไปกับการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์แต่กลับยังไม่สามารถสร้างการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญได้

ดังนั้น การที่จีนตัดสินใจปล่อยตัว Chen และร้องขอให้เขามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมชิปต่อนี้ น่าจะถือเป็นสัญญาณสำคัญว่าจีนกำลังจะเดินหมากแบบพึง่พาตัวเองในแง่ของเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งก็ต้องรอดูกันว่าจีนจะพัฒนาไปได้รวดเร็วแค่ไหน เพราะตอนนี้ยังคงติดชะงักอยู่ในการผลิตชิประดับ Hi-Ends เป็นของตัวเอง

Chen ถือเป็น 1 ในนักลงทุนมือฉมังสำหรับอุตสาหกรรมชิปของจีน แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเขาจะเริ่มกลับมาทำงานเต็มตัวเมื่อไหร่ คาดว่าคงไม่นานเพราะจีนเองก็เร่งทุ่มเทพัฒนาชิปอยู่อย่างเต็มที่เพื่อให้ก้าวทันสหรัฐฯ ในแง่ของเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะเป็น 1 ในเสาหลักของโลกอนาคต

แต่ถึงกระนั้น ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำของจีนถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการบีบบังคับหรือไม่ ? เพราะในจังหวะที่นึกจะจับก็จับ แต่ในช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องการความช่วยเหลือก็กลับปล่อยตัวออกมาได้เสียง่าย ๆ ซะอย่างนั้น ! เราจึงต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิดว่ายุทธวิธีของจีนในครั้งนี้จะประสานรอยร้าวภายในและพัฒนาก้าวทันสหรัฐฯ ได้สำเร็จตอนไหน ?

⚠️ พร้อมกันนี้ หลายประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เริ่มสั่งแบนแอปฯ TikTok ออกจากสมาชิกรัฐบาล เนื่องจากความกังวลว่าตัวแอปฯ จะมีการส่งข้อมูลต่าง ๆ ไปให้รัฐบาลจีนใช้ ซึ่งฝ่ายตะวันตกมองว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ

โดยตอนนี้มี 11 ประเทศที่แบนไม่ให้สมาชิกรัฐบาลมีแอปฯ Tiktok ไว้ภายในอุปกรณ์สื่อสารคือ สหรัฐฯ, สถาบันหลายแห่งใน EU, แคนาดา, เดนมาร์ก, เบลเยี่ยม, อังกฤษ, นิวซีแลนด์, เนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส และโปแลนด์ ซึ่งขณะเดียวกันก็มีการฟ้องร้อง TikTok ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน นี่จึงเป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตามไปพร้อม ๆ กับสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ-จีน

ท่ามกลางฉากหลังที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ตลาดน้ำมันดิบโลกดูเหมือนจะเป็น 1 อุตสาหกรรมสำคัญที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในระยะสั้น โดยราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 15 เดือนเข้าไปแล้ว WTI ร่วงต่ำกว่า 70 ดอลลาร์/บาร์เรล ท่ามกลางความกังวลว่าโลกอาจเกิด Recession ขึ้นมาจริง ๆ เพราะเริ่มเห็นความเป็นไปได้สูงขึ้นจากวิกฤต Bank Run

Trader จำนวนไม่น้อยมีการเทขายสัญญา Long ในตลาด Futures และวาง Put ผ่านตลาด Options หรือพูดง่าย ๆ ว่าคล้ายกับการ Short Sell น้ำมันโดยเดิมพันว่าราคาจะร่วงลง ซึ่งมุมมองนี้แตกต่างจากที่อีกฝั่งคาดการณ์ไว้ว่าตลาดน้ำมันจะพุ่งขึ้นได้อีกในระยะกลาง-ยาว

📌 ซึ่งหากเกิด Recession และราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบันนี้ ก็ยังดีกว่ากลายเป็น Stagflation (กล่าวคือ Recession แต่ราคา Commodities ยังสูง ส่งผลให้เงินเฟ้อไม่ลง) เนื่องจากราคาน้ำมันถือเป็น 1 ในปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังเงินเฟ้อทั่วโลก

ดังนั้นแล้ว เราคงต้องจับตาความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ไปพร้อม ๆ กัน เพราะหากใครลองต่อจิ๊กซอว์ดูจะเห็นได้ว่าทุกอย่างเชื่อมถึงกันหมดอย่างแยกกันไม่ออก สิ่งหนึ่งจะส่งผลต่อให้เกิดสิ่งหนึ่งไปเรื่อย ๆ ซึ่งทั้งนี้ก็รวมไปถึงความเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น ทองคำ คริปโต หุ้น พันธบัตร และอสังหาฯ ที่จะสอดคล้องกันไปตามทิศทางโลกในอนาคต

⚠️ โดยสรุป ภาพรวมทั้งหมดตอนนี้คือ...

1. ความไม่แน่นอนทางการเงินอยู่ในระดับสูงมากกว่าปกติอย่างมีนัยสำคัญ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ก็สูงสุดในรอบหลายสิบปี เนื่องจากจีน-รัสเซียกำลังพยายามดันกลุ่มขั้วอำนาจของตัวเองขึ้นมาคานกับสหรัฐฯ-ตะวันตก

2. เทคโนโลยีกำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระดับที่จะสามารถพลิกโฉมอุตสาหกรรมในอนาคตไปจากเดิมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น Blockchain, AI หรือแม้แต่ควอนตัมที่จะตามมาหลังจากนี้

3. ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ มีความผันผวนท่ามกลางความไม่แน่อนและความปั่นป่วนในระยะสั้นนี้ ซึ่งจะเป็นภาพฉายไปสู่อนาคตว่าสินทรัพย์ไหนจะอยู่รอดไม่รอด และราคาสินทรัพย์เหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหรือกลยุทธ์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนคำถามที่ว่าโลกกำลังจะเข้าสู่วิกฤตใหญ่หรือไม่นั้น ? ก็คงต้องบอกว่าในปัจจุบันเราอยู่ในวิกฤตที่ค่อนข้างใหญ่และผสมปนเปกันหลายอย่างเลยทีเดียว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะต้องลำบากหรือเป็นหายนะเหมือนในอดีตไปเสียทุกครั้ง และในอีกแง่หนึ่งก็ต้องบอกว่าทุกวิกฤตที่เกิดขึ้นจะมาคู่กับโอกาสในระยะยาวเสมอ อยู่ที่ว่าใครจะเลือกโฟกัสไปยังจุดไหน และจะปรับตัวได้เร็วกว่าคนส่วนใหญ่หรือไม่ ? เพราะวันหนึ่งหลังจากพ้นวิกฤตไป เศรษฐกิจโลกก็จะกลับเข้าสู่ขาขึ้นอีกครั้งตาม Boom-Bust Cycle ที่เป็นธรรมชาติของมัน


ที่มา: World Maker