Thursday, 2 May 2024
EEC

'รัฐบาลเศรษฐา' เดินหน้า เร่งดัน EEC เฟส 2  มั่นใจ!! ดึงเงินลงทุนจริง 5 แสนล้าน ใน 5 ปี

เมื่อวานนี้ (6 ธ.ค.66) โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) ที่เป็นเรือธงในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผ่านมา ได้ถูกหยิบยกมาสานต่อในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้ง 

ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาเห็นชอบ ร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (2566-2570) ที่เป็นกรอบดำเนินงานหลักของอีอีซี เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมบูรณาการในการพัฒนาเชิงพื้นที่ในทุกมิติ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

ถือเป็นการต่อยอดการพัฒนาอีอีซี จากระยะที่ 1 (2560-2565) ที่มีมูลค่าอนุมัติการลงทุนไปแล้วราว 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจากการหารือทางที่ประชุมได้ให้หน่วยงานต่างๆ กลับไปจัดทำร่างแผนปฏิบัติการและการดำเนินงาน รวมถึงขอรับการจัดสรรงบประมาณให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งในเดือนมกราคม 2567

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดอีอีซีล่าสุด ได้เห็นชอบร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566-2570 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ และจัดทำร่างแผนปฏิบัติการและการดำเนินงาน

รวมถึงขอรับการจัดสรรงบประมาณ โดยจะนำร่างแผนดังกล่าวสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบภายในเดือนธันวาคม 2566 นี้

แหล่งข่าวจากสกพอ.กล่าวว่า ร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (2566-2570) เป็นการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่อีอีซีระยะที่ 2 ให้ได้ โดยมีเป้าหมายไว้ราว 5 แสนล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้จะช่วยสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Gross Provincial Cluster Product : GPCP EEC) ขยายตัวเฉลี่ย 6.3% และดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index) ในพื้นที่ได้แก่ ดัชนีย่อยด้านชีวิตการงานและดัชนีย่อยด้านเศรษฐกิจ มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2%

“ในปี 2564 GPCP EEC เท่ากับ 2.36 ล้านล้านบาท คิดเป็น 14.6 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ปี 2560-2562) เศรษฐกิจอีอีซีมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2.1 % จากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเป็นหลัก”

สำหรับการผลักดันเป้าหมายดังกล่าว จะดำเนินงานภายใต้การพัฒนา 5 แนวทางประกอบด้วย 

1.ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการแห่งอนาคต ที่ตั้งเป้าหมายให้ได้มูลค่าความตกลงสิทธิประโยชน์ปีละ 2.5 แสนล้านบาท มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้น 3.5 % ต่อปี สัดส่วนรายได้ของธุรกิจเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อจีดีพีในอีอีซีไม่น้อยกว่าปีละ 7 % รวมถึงจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้นปีละ 3.5 %

2. เพิ่มประสิทธิภาพ และการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค โดยมีเป้าหมายความสำเร็จของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา แล้วเสร็จกว่า 90% ในปี 2570 การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F1 แล้วเสร็จในปี 2570 

ขณะที่การก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 แล้วเสร็จในปี 2569 โดยจะมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้นปีละ 5% มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดไม่น้อยกว่า 5 % ในปี 2570 และมีปริมาณนํ้าต้นทุนเพียงพอต่อความต้องการใช้ในปี 2570 ที่ 2,888 ล้านลูกบาศก์เมตร

3. ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีเป้าหมายผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นปีละ 2.5% อัตราการว่างงานเฉลี่ยไม่เกินปีละ 0.83% มีแรงงานที่ได้รับการพัฒนาทักษะตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคนต่อปี

4. พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ มีเป้าหมายการพัฒนาเมืองใหม่และเมืองเดิมได้รับการพัฒนาตามแผน 2 เมือง มีอัตราการส่งต่อผู้ป่วยออกนอกพื้นที่ลดลงปีละ 10 % ปริมาณการล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 20% ในปื2570 เมื่อเทียบกับปีฐาน และมีสัดส่วนการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ไม่น้อยกว่า 15 % ต่อปี

5.เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนไม่น้อยกว่า 5 % ต่อปี

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะที่แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาอีอีซี ระหว่างปี 2566-2570 ที่ผ่านมาได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประกอบด้วย

1.การเพิ่มขีดความสามารถของระบบรางและทางนํ้า และเชื่อมต่อกับการขนส่งสินค้ารูปแบบอื่น
2.การยกระดับโครงข่ายคมนาคมรองรับการเดินทางของประชาชนอย่างไร้รอยต่อ และ
3.ยกระดับโครงข่ายคมนาคมด้วยมาตรการเชิงรุกและเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ทั้งนี้ กำหนดให้มีการดำเนินโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งจำนวน 77 โครงการ วงเงินรวม 337,797.07 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2566 จำนวน 29 โครงการ วงเงินรวม 125,599.98 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินปี 66 ประมาณ 25,425.65 ล้านบาทและโครงการที่เริ่มดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2567-2570 จำนวน 48 โครงการ วงเงินรวม 212,197.09 ล้านบาท

สำหรับโครงการตามแผนปฏิบัติการฯ พ.ศ. 2566-2570 รวม 77 โครงการ วงเงินรวม 337,797.07 ล้านบาท แบ่งเป็น

ภาครัฐลงทุน จากงบประมาณแผ่นดิน เงินกู้ และงบรัฐวิสาหกิจ จำนวน 61 โครงการ วงเงินรวม 178,578.07 ล้านบาท (52.87%)
ภาคเอกชนลงทุน และการร่วมทุนระหว่างภาครัฐ และเอกชน (PPP) จำนวน 16 โครงการ วงเงินรวม 159,219 ล้านบาท ( 47.13%)

ทั้งนี้เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 295,710.49 ล้านบาท ( 87.5%) ระบบสาธารณูปโภค 38,382.58 ล้านบาท ( 11.4%) และมาตรการส่งเสริม 3,704 ล้านบาท ( 1.1%)

ส่วนกรณีที่อีอีซีมีแผนจะขยายพื้นที่จังหวัดในระยะที่ 2 ออกไปนั้น ยืนยันว่ายังไม่มีแผนดังกล่าว เพราะการขยายพื้นที่ในระยะที่ 2 จะต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมหรือออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เนื่องจากตามกฎหมายในปัจจุบันกำหนดให้อีอีซียังดำเนินการภายในพื้นที่ 3 จังหวัดตามเดิม ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

‘สุริยะ’ ไฟเขียว!! จัดตั้งคณะทำงานกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ ช่วยประชาสัมพันธ์ - ดูแลนักลงทุนที่มาลงทุนในไทย

‘บอร์ดเร่งรัดลงทุน อีอีซี’ ไฟเขียวจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์เชื่อมร่วมมือ ‘บีโอไอ-กนอ.’ ดึงลงทุนเข้าประเทศ พร้อมอัปเดต 4 โปรเจกต์หลัก เร่งเคลียร์ส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน ลุ้นอัยการตีความบัตรส่งเสริมการลงทุน คาดเริ่มสร้างปีหน้า เสร็จตามแผนในปี 71 ส่วน ‘เมืองการบิน-แหลมฉบังเฟส 3-ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด’ เปิดใช้ปี 70

(11 ธ.ค. 66) นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เป็นประธานฯ ว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเห็นชอบข้อเสนอการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อลดความซ้ำซ้อนการดำเนินงานหน่วยงานภาครัฐ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ ในด้านพื้นที่การให้สิทธิประโยชน์ สกพอ. จะให้สิทธิประโยชน์เฉพาะในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ตามมาตรา 48 ของ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 35 เขต แบ่งเป็นพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม 28 แห่งและพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ 7 แห่ง โดยพื้นที่นอกเหนือเขตส่งเสริมฯ ดังกล่าว จะเป็นไปตามกฎหมายของบีโอไอและ กนอ. ด้านผู้รับสิทธิประโยชน์ สกพอ. จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องเป็นโครงการที่ไม่เคยได้รับการส่งเสริมลงทุน และไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ร่วมกับโครงการจากบีโอไอมาก่อน

นายจุฬา กล่าวต่อว่า กรณีโครงการเคยได้รับส่งเสริมลงทุนจากบีโอไอ สกพอ. จะพิจารณาเฉพาะสิทธินอกเหนือ เช่น สิทธิประโยชน์ถือครองห้องชุด สิทธิประโยชน์ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายศุลกากร เป็นต้น ด้านการอนุมัติอนุญาตตามกฎหมาย สกพอ. ได้มีระบบบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (EEC One Stop Service) รองรับการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต รับแจ้งจดทะเบียนตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายว่าขุดดินถมดิน การควบคุมอาคาร การจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายคนเข้าเมือง เป็นต้น

ทั้งนี้ จำเป็นต้องร่วมกับบีโอไอ และ กนอ. เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงาน โดยสิทธิประโยชน์ของ สกพอ. จะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 อีกทั้ง ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้ สกพอ. บีโอไอ และ กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีคณะทำงานฯ ร่วมกัน ทำหน้าที่เป็นกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางรับรองนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายจุฬา กล่าวอีกว่า สำหรับการขับเคลื่อนโครงการโครงสร้างพื้นฐานนั้น ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความก้าวหน้าโครงการลงทุน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซี ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีมติให้เร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ส่วนที่เหลือ ช่วงพญาไทถึงบางซื่อให้เสร็จภายใน พ.ค. 2567 ส่วนพื้นที่อื่น มีความพร้อมสำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและพื้นที่เชิงพาณิชย์ (TOD) แล้ว คงเหลือแต่รอให้เอกชนคู่สัญญาส่งเอกสารไปที่บีโอไอ เพื่อรับบัตรส่งเสริมการลงทุน ที่จะหมดอายุในวันที่ 22 ม.ค. 2567

ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างเตรียมออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ซึ่งในเงื่อนไขของการออก NTP ระบุไว้ว่าเอกชนคู่สัญญาจะต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนก่อน เพื่อครบเงื่อนไขเริ่มต้นโครงการที่กำหนดในสัญญา โดย รฟท. จึงได้ยื่นไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม หากสำนักงานอัยการสูงสุดตีความว่า สามารถส่งมอบพื้นที่ได้โดยไม่ต้องรอบีโอไอ โดย รฟท. จะเร่งรัดเอกชนคู่สัญญาให้แล้วเสร็จภายใน ม.ค. 2567 ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนในปี 2567

อย่างไรก็ตาม ส่วนปัญหาการพิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวนั้น ปัจจุบันได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งในวันที่ 13 ธ.ค. 2566 จะมีการประชุมร่วมกับเอกชนคู่สัญญาเพื่อพิจารณารายละเอียดร่างสัญญาอีกครั้ง ก่อนจะเสนอไปยังอัยการสูงสุด หากพิจารณาเห็นชอบก็จะเสนอกลับมายัง กพอ.เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติลงนามสัญญาใหม่ต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่า โครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2571

นายจุฬา กล่าวต่ออีกว่า 2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ประชุมมีมติให้เร่งรัดกองทัพเรือประกาศจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างทางวิ่ง 2 และทางขับ ภายในกลาง ธ.ค. 2566 และเร่งรัดให้ สกพอ. รฟท. และเอกชนคู่สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และเอกชนคู่สัญญาโครงการสนามบินอู่ตะเภา สรุปแผนการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เงื่อนไขการเริ่มต้นโครงการครบสมบูรณ์ตามที่กำหนดในสัญญา และโครงการสนามบินอู่ตะเภา สามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายใน ม.ค. 2567 โดยคาดว่า จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการตามแผนในปี 2570

3.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีมติให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเร่งรัด และกำกับการก่อสร้างงานถมทะเล (Infrastructure) ให้แล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาภายใน พ.ย. 2568 ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน และคาดว่าเอกชนคู่สัญญาจะก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือ (Superstructure) ในส่วนท่าเรือ F1 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการปลายปี 2570

4.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีมติให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ติดตามการถมทะเล (Infrastructure) ของเอกชนคู่สัญญา ให้แล้วเสร็จภายในธ.ค. 2567 โดยในปัจจุบันงานมีความคืบหน้าแล้วประมาณ 69.64% และคาดว่าเอกชนคู่สัญญาจะก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือก๊าซเสร็จและเปิดให้บริการต้นปี 2570

'จิรายุ' ชี้กองทัพยุค 'บิ๊กทิน' พัฒนา 'ความมั่นคง' พร้อม 'ความมั่งคั่ง' ทาง ศก. หลัง 'ผบ.ทร.' เผย!! สนามบินอู่ตะเภาพร้อมรองรับ EEC เอื้อ ศก.รุดหน้า

(16 ธ.ค.66) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมฝ่ายการเมือง กล่าวถึงการลงพื้นที่ภาคตะวันออก อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ของนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ว่า นอกจากการตรวจเยี่ยมการฝึกยุทธวิธีของกองทัพเรือ แล้ว รมว.กลาโหม ยังได้ติดตามความคืบหน้า ในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ในอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ EEC เพื่อรองรับต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่กำลังเติบโตในอนาคตอันใกล้นี้

โดย พล.ร.อ.อะดุง พันธ์ุเอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการปรับปรุง สนามบินอู่ตะเภา ได้รายงานว่า เพื่อให้สนามบินแห่งนี้มีความทันสมัยในการรองรับ นักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนมากที่เข้ามาท่องเที่ยวในชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และรองรับกับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในโครงการ พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจะมีทั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และระบบคมนาคม ทั้งทางอากาศ ทางน้ำและทางบก รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น ในความรับผิดชอบของ กองทัพเรือมี 2 โครงการ คือการพัฒนาและปรับปรุงทั้งอาคารผู้โดยสารและรันเวย์ที่ 2 เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ในปริมาณที่มากขึ้น

ล่าสุด มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดยงานจ้างที่ปรึกษาโครงการดำเนินการ ไปถึงขั้นตอนการประกาศเชิญชวน แล้วคาดว่าจะมีการอนุมัติ ในสัปดาห์หน้านี้

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า ส่วนงานจ้างก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 จะนำเข้าพิจารณากับคณะกรรมการของกองทัพเรือเพื่อขอความเห็นชอบในร่าง TOR ไม่เกิน วันที่ 26 ธันวาคม ปีนี้ เพื่อให้ทันแถลงผลการประชุม คณะกรรมการ EEC ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันดังกล่าว โดยคาดว่าในปีหน้าโครงการนี้จะมีความคืบหน้าในการรองรับภาวะเศรษฐกิจที่จะเติบโตได้

นายจิรายุ กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนของกระทรวงกลาโหม รมว.กลาโหม ได้กำชับหน่วยงาน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ให้ดำเนินการตอบสนองตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในเรื่องแนวนโยบายพัฒนากองทัพควบคู่ไปกับการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้ทรัพยากรของกองทัพในการสนับสนุน เนื่องจากโลกยุคใหม่ต้องเดินควบคู่ไปพร้อมกันระหว่างความมั่นคงทางการทหาร และความมั่นคงของเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเศรษฐกิจมั่งคั่งความมั่นคงของประเทศไทยก็จะมั่นคงตามไปด้วย

‘นายกฯ’ จีบทูตอิตาลี ช่วยดันไทย เข้าวีซ่าเชงเกน พร้อมถกความร่วมมือ หลังโรมสนใจลงทุนใน EEC

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 67 ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเปาโล ดีโอนีซี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่

นายกรัฐมนตรีและเอกอัครราชทูตฯ ทักทายพร้อมแสดงความยินดีที่ได้พบ ทั้ง 2 ฝ่ายยินดีกับความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี ต่างเห็นพ้องว่า ต่างฝ่ายมีซอฟต์พาวเวอร์ที่เข้มแข็ง อาทิ อาหารของไทย และการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ของอิตาลี ทั้ง 2 ประเทศต่างมีศักยภาพ และสามารถร่วมมือกันได้ นายกรัฐมนตรีหวังที่จะได้นำคณะไปเยือนอิตาลีในอนาคตอันใกล้ เพื่อเดินหน้าความร่วมมือ รวมถึงด้านการค้าและการลงทุนให้ใกล้ชิดและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

โอกาสนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายหารือประเด็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยเอกอัครราชทูตฯ กล่าวว่า อิตาลีถือเป็นประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมการเกษตรในยุโรป และเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่ใหญ่ในยุโรป และกำลังต้องการแรงงานเกษตรกรอย่างมาก โดยเฉพาะเกษตรกรไทย เป็นแรงงานที่มีทักษะ และขยันตั้งใจ (Hard worker) นายกรัฐมนตรียินดีและพร้อมร่วมมือกับอิตาลี ความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายอย่างมาก

นอกจากนี้ อิตาลีให้ความสนใจลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) อย่างมาก เมื่อปีที่ผ่านมาเอกอัครราชทูตฯ เป็นผู้นำคณะผู้แทน EEC ของไทยไปยังกรุงโรม ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทางอิตาลี นายกรัฐมนตรียินดีและพร้อมเดินหน้าเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านนี้โดยเร็ว

นอกจากนี้ ด้านเอกอัครราชทูตฯ กล่าวว่า ภาคเอกชนอิตาลีให้ความสนใจและอยากรับทราบข้อมูลโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ นายกรัฐมนตรีพร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและโครงการต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อศักยภาพ และโอกาสในการลงทุนของภาคเอกชนต่อโครงการนี้

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอการสนับสนุนจากอิตาลี เรื่องการขอยกเว้นการตรวจลงตราให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย ในการเดินทางเข้าเขตเชงเกน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการไปมาหาสู่ระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวอิตาลีและชาวไทยต่างเป็นนักท่องเที่ยวที่ดีของกัน ไทยจึงหวังจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากอิตาลีมายังประเทศไทยมากขึ้น

นายกรัฐมนตรี ยังได้โพสต์ข้อความว่า “ได้พูดคุยหารือกับ H.E. Mr. Paolo Dionisi เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย กันถึงเรื่องความร่วมมือกันในหลายมิติอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน Soft Power ที่ทั้ง 2 ประเทศต่างมีศักยภาพ ท่านทูตเล่าให้ฟังว่าอิตาลีมีโรงเรียน Design and Creativity ที่มีชื่อเสียงหลายที่ครับ ซึ่งไทย-อิตาลีสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ได้ นอกจากนี้ อิตาลียังมีความต้องการแรงงานด้านการเกษตรของไทย เพราะมีทักษะและขยันตั้งใจอีกด้วยครับ”

‘ผู้แทนการค้าไทย’ บุก ‘อินเดีย’ ดึงภาคเอกชน ร่วมลงทุนใน EEC ชูจุดเด่นทักษะแรงงาน-สิทธิพิเศษ พร้อมเร่งผลักดันการค้าทั้ง 2 ฝ่าย

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 67 นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ตนพร้อม นายดนย์วิศว์ พูลสวัสดิ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ และทีมประเทศไทย ได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท TATA ในภาคส่วนของยานยนต์ และเหล็ก โดย TATA เป็นบริษัทชั้นนำในอินเดีย มีมูลค่าตลาด กว่า 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10.7 ล้านล้านบาท โดยเชิญชวนให้จัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ในพื้นที่อีอีซี และใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกไปยังประเทศอื่น ในอาเซียน ชูจุดเด่นด้านทักษะแรงงาน สถานที่ตั้งและสิทธิพิเศษด้านการลงทุน

ในขณะที่การหารือกับผู้บริหารบริษัท Mahindra ที่เป็นบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ การให้บริการด้านไอที และเป็นบริษัทที่จัดจำหน่ายรถเทรคเตอร์มากที่สุดในโลก ซึ่งทางบริษัทจะเริ่มนำรถแทรกเตอร์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยภายในกลางปีนี้ และหากยอดขายเป็นไปตามเป้า ทางบริษัทจะพิจารณาการจัดตั้งโรงงานในไทย เพื่อจัดจำหน่ายในไทย และส่งไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทย และเป็นการส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ โดยตนพร้อมจะสนับสนุนและประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

นางนลินี กล่าวว่า นอกจากนั้น ได้หารือประธาน IMC Chamber of Commerce and Industry ซึ่งเป็นหอการค้าที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1907 และมีสมาชิกกว่า 5,000 คน โดยได้เสนอให้พัฒนาความร่วมมือระหว่าง IMC Youth และผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้า (YEC) เนื่องจากคนรุ่นใหม่ของ 2 ประเทศ จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน และผลักดันความสัมพันธ์ทางการค้าต่อไป

นอกจากนี้ ตนยังได้เชิญชวนให้ใช้อีอีซี เป็นฐานในการผลิตไฟฟ้าอีวี และยาและเวชภัณฑ์เพื่อขายในภูมิภาค สำหรับการหารือกับ Confederation of Indian Industry (CII) ทั้งนี้ตนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญด้านการเชื่อมโยง โดยเฉพาะโครงการถนนสามฝ่ายอินเดีย-เมียนมา-ไทย เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทางการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ตนยังได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการชาวอินเดียลงทุนในอุตสาหกรรมโรงแรม เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตของนักท่องเที่ยวอินเดียในไทย

เอกชนญี่ปุ่น สนลงทุน BCG ใน ‘อีอีซี’ หนุนพัฒนา ‘เมืองน่าอยู่-พลังงานสะอาด’

(31 ม.ค. 67) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า ได้นำคณะจากอีอีซี เยือนเมืองนาโกย่า และเมืองโอชาก้า ประเทศญี่ปุ่น ช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ดร.สุวิทย์ ธนณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร. นลินี กาญจนามัย รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อชักจูงภาคเอกชนชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงทุนโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ด้านการพัฒนาพลังงานสะอาด โดยเฉพาะไฮโดรเจนที่เป็นพลังงานใหม่แห่งอนาคตภาคขนส่ง ซึ่งจะเป็นการลงทุนสำคัญเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนให้พื้นที่อีอีซี และประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ได้พบกับ Mr. Yasuhiko Yamazaki, Executive Vice President และผู้บริหารระดับสูงจาก บริษัท DENSO Corporation ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลก และได้พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดต่อเนื่อง โดยหารือถึงโอกาสการขยายลงทุนจากบริษัทฯ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจนเพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาด และอีอีซี ได้นำเสนอถึงความก้าวหน้าของอีอีซี สิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องเพื่อจูงใจการลงทุนดังกล่าวมายังประเทศไทย รวมทั้งเข้าพบผู้บริหาร บริษัท Toyota Motor Corporation เพื่อศึกษาแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รูปแบบแบตเตอรี่ ไฮบริด และไฮโดรเจน ณ พิพิธภัณฑ์ Toyota Kaikan Museum พร้อมเยี่ยมชมสถานีเติมไฮโดรเจน ที่ Toyota Eco ful Town ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่นำไฮโดรเจนมาใช้เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งได้หารือถึงแนวทางการขยายผลนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ภาคขนส่งในพื้นที่อีอีซี 

นอกจากนี้ ยังได้พบกับ Mr. Yoshihiro Miwa กงศุลใหญ่กิตติมศักดิ์ เมืองนาโกย่า และผู้บริหารระดับสูงบริษัท Kowa ซึ่งสนใจจะลงทุนผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น โดยได้หารือถึงการขยายลงทุนเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อผลิตไฮโดรเจน ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้การลงทุน BCG รวมทั้งคณะฯ ได้เข้าพบ Mr. Hideyuki Yokoyama นายกเทศมนตรีนครโอซากา โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม สร้างความร่วมมือระหว่างเมือง (City-to-City) รวมทั้งได้จัดงานสัมมนาเชิงธุรกิจ ร่วมกับเทศบาลนครโอซากา และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมโอซากา (OCCI) เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความก้าวหน้าของการพัฒนาโครงการอีอีซี ตลอดจนสิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ให้แก่กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น รวมทั้งคณะฯ ยังได้เข้าหารือกับ Mr. Junichi Ohmori, Executive Officer และคณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Daikin Industries ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศอันดับ 1 ของโลก เพื่อประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าของโครงการ สิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้อง พร้อมหารือถึงโอกาสการขยายการลงทุนของบริษัทฯ มายังพื้นที่อีอีซีต่อไป

ดร.จุฬา กล่าวเพิ่มเติมว่า การเยือนประเทศญี่ปุ่น ครั้งนี้ อีอีซี ยังได้ร่วมกับธนาคาร Mizuho Bank จัดงานประชุมสัมมนารับฟังความเห็นของนักลงทุน (Market Sounding) สำหรับโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ณ อาคาร Mizuho Bank Marunouchi Head Office กรุงโตเกียว โดยเป็นการพบปะนักลงทุนต่างประเทศเป็นครั้งแรก หลังจากโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบการจัดตั้งเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงเป้าหมายการเป็นเมืองธุรกิจคู่กรุงเทพฯ (EEC Capital City) และเมืองน่าอยู่ระดับสากล รวมถึงการให้ข้อมูลกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในพื้นที่โครงการฯ โดยมีกลุ่มหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนของประเทศญี่ปุ่น ทั้งกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ระบบสาธารณูปโภค ธุรกิจการเงิน และเทคโนโลยี ให้ความสนใจ อาทิ Ministry of Land, Infrastructure, Transportation and Tourism (MLIT), Urban Renaissance Agency (UR), บริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ผู้ให้บริการพลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น, Tokyo Corporation และบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้าร่วม รวมทั้งสิ้น 39 หน่วยงาน 

สำหรับ ภาพรวมการลงทุนของนักลงทุนประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปี 2561 – พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจในการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สูงสุดเป็นอันดับที่ 1 โดยมีมูลค่าที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มูลค่า 183,702 ล้านบาท 

ทั้งนี้ อีอีซี ได้กำหนดเป้าหมายในระยะเวลา 3 ปี (ปี 2567 - 2569) ให้เกิดมูลค่าการลงทุนจริง ในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประมาณ 4 แสนล้านบาท 

อีอีซี มอบรางวัล 12 ผลงานผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ ยกระดับความร่วมมือระหว่างพื้นที่ชุมชน และพื้นที่อุตสาหกรรม เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นจากเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี จัดพิธีมอบรางวัลผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ ประจำปี 2566 (EEC Select 2023) จำนวน 12 ผลิตภัณฑ์ จาก 6 ผู้ผลิตต้นแบบ อีอีซี เพื่อแสดงศักยภาพผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นที่สร้างสรรค์จากวัตถุดิบ/องค์ความรู้ท้องถิ่น โดยชุมชน วิสาหกิจชุมชน และกิจการเพื่อสังคมหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) ในพื้นที่ อีอีซี ด้วยกระบวนการที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ณ สำนักงานอีอีซี ห้องประชุม Conference 1-2 ชั้น 25 อาคารโทรคมนาคมบางรัก 

ดร. จุฬา สุขมานพ เลขาธิการอีอีซี เปิดเผยว่า โครงการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ (EEC Select) นับได้ว่าเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัด  อีกทั้งยังสามารถนำไปสู่การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลสำเร็จจากการพัฒนาเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโยลีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ดังกล่าวในหลากหลายมิติ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย และพัฒนาเครือข่ายให้แก่ชุมชน วิสาหกิจชุมชน และกิจการเพื่อสังคม หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) ในพื้นที่ อีอีซี เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.eeco.or.th/th/news/1734

ตามติด 6 เดือน 'รมว.ปุ้ย' ใต้ภารกิจพาอุตสาหกรรมไทยโตรอบทิศ 'ปูพรม EEC-ระบบนิเวศสีเขียว-EV-เงินทุนคนตัวเล็ก-ฮาลาล-ปุ๋ยโปแตซ'

(15 มี.ค.67) รัฐบาลได้ทำงานมาครบ 6 เดือน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันต่อการค้าโลก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลผลิตอุตสาหกรรมของไทยที่ลดลงต่อเนื่อง

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากการปรับเปลี่ยนของกติกาโลก โดยเฉพาะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) และการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกระทรวงพลังงาน มีนโยบาย Green Energy และกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบาย Green Industries สอดรับกัน

ทั้งนี้ นโยบายอุตสาหกรรมจะต้องสนับสนุน Green Productivity เพื่อตอบโจทย์กติกาการค้าโลก ซึ่งรวมถึงใช้พลังงานสะอาด เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างบรรยากาศการลงทุน และเน้นย้ำการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน อาทิ

1.การจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอ รองรับความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม โดยมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG และภายใต้โครงการไฟฟ้าสีเขียว หรือ UGT (Utility Green Tariff) จะยกระดับอุตสาหกรรมรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวเพิ่มขึ้น

ปลดล็อคอุปสรรคผลิตไฟดซลาร์เซลล์

2.ประสานภาคเอกชน อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคศูนย์การค้า ภาคโรงแรม และภาคบริการ พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดด เพราะราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นทำให้มีผู้ประกอบการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กฎหมายโรงงานกำหนดให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกำลังผลิตเกิน 1 เมกะวัตต์ ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ซึ่งเร่งแก้กฎกระทรวงเพราะเทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วทำให้ผลิตไฟฟ้าได้ปริมาณมาก หรือพื้นที่ติดตั้งลดลงถึง 2.7 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2557 และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น 

3.การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มสนับสนุนมาตรการ EV3.0 และเพิ่มเป็นมาตรการ EV3.5 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่งเสริมการลงทุน EV ประมาณ 40,000 ล้านบาท และปี 2567 มีหลายบริษัทเริ่มการผลิตในไทย

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะกลับมาเป็นเสือที่ตื่นและผงาดอยู่ในท็อป 10 ของผู้ผลิตยานยนต์และ EV ของโลก ซึ่งปัจจุบันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องปรับสู่การผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องทิศทางตลาดโลก

"นายกฯ ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตามนโยบาย 30@30 ซึ่งเดิมไทยเป็นศูนย์กลางส่งออกรถพวงมาลัยขวาต้องอยู่ได้ พร้อมปรับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถสันดาปเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ ยุทโธปกรณ์”

เติมทุนคู่พัฒนายกระดับ ‘เอสเอ็มอี’

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า การดูแลเอสเอ็มอีซึ่งมีจำนวน 95% ของวิสาหกิจทั้งหมด ส่วนใหญ่ต้องการเงินทุนแต่มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่รอด จึงต้องเติมทุนคู่พัฒนาเอสเอ็มอีทุกระดับ ทั้งรายที่อ่อนแอและมีความเข้มแข็ง

“ปัจจุบันมีหน่วยงานจำนวนมากมีบทบาทช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ จะช่วยดูข้อมูลอุตสาหกรรมโลกว่าเทรนด์โลกไปถึงไหน และแจ้งผู้ประกอบการทุก 3 เดือน เพื่อตรวจสอบว่ากิจการที่ทำอยู่ไปต่อได้หรือไม่ และจะเข้าไปสนับสนุนอย่างไร”

นอกจากนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่วนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีโครงการติดปีกให้เอสเอ็มอี ในขณะที่บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกันเงินกู้ รวมถึงกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กอป.) ช่วยเหลือสินเชื่อเพื่อเพิ่มศักยภาพ และเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง

"ปีงบประมาณ 2567 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการ 18,400 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ยอมรับว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอน่าเป็นห่วงเพราะเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ส่วนดาวรุ่ง คือ อุตสาหกรรมชิปที่เป็นเทรนด์อนาคต”

นายกฯ อยากเห็นปุ๋ยถุงแรกผลิตที่ไทย

สำหรับการลงทุนเหมืองแร่โปแตชในปัจจุบันออกประทานบัตร 3 เหมือง ได้แก่ บริษัท 1.บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)  จ.ชัยภูมิ 2.บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จ.นครราชสีมา 3.บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด จ.อุดรธานี 

ทั้งนี้มีปริมาณการผลิตรวมกัน 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งหากดึงโปแตชมาทำปุ๋ยได้สำเร็จจะสร้างรายได้ให้ประเทศ โดยช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาแพงมาก ซึ่งปริมาณโปแตชทั้ง 3 เหมือง เพียงพอต่อการใช้ในประเทศและส่งออก และช่วยความมั่นคงว่าจะมีปุ๋ยใช้ในราคาไม่แพง

นอกจากนี้ ผู้รับประทานบัตรมีปัญหาสภาพคล่องหรือบางบริษัทมีปัญหาเงินทุน ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมต้องหาทางให้เดินหน้าต่อ ซึ่งได้เชิญทั้ง 3 บริษัทมาร่วมความคืบหน้า และนายกรัฐมนตรีต้องการเห็นปุ๋ยกระสอบแรกที่ผลิตจากไทย ซึ่งมีนักลงทุนต่างชาติสนใจแต่ต้องศึกษากฎหมายอย่างรอบคอบ โดยแนวโน้มโครงการเป็นไปได้ดีจากการที่นายกฯ เดินทางไปดูเหมือง และเดินทางไปต่างประเทศได้หานักลงทุนที่ไหนสนใจ

ลุยแก้ปัญหา ‘ผังเมือง’ หนุนการลงทุน

สำหรับกฎหมายผังเมืองถือเป็นอุปสรรคในบางพื้นที่ โดยพื้นที่ไหนอยากให้นักลงทุนเข้ามา เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยพื้นที่เดิมที่จะมีประเด็นที่ต้องปรับแก้ แต่รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับ EEC จึงต้องหาทางสนับสนุนทุกด้าน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้หารือกับบริษัทระดับโลกหลายแห่งที่สนใจมาลงทุนในประเทศไทย แต่ติดขัดปัญหาผังเมืองจึงได้ให้กระทรวงอุตสาหกรรมมาหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ปัญหา

ดันยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมฮาลาล

รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนยกระดับอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เห็นโอกาสจากการเติบโตในตลาดโลกที่มีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ประเทศไทยส่งออกได้เพียงปีละเพียงแค่ 2.7% ของตลาดโลกเท่านั้น ขณะที่ศักยภาพของทรัพยากรของไทยยังมีโอกาสสูง

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอ ครม.โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีระบุว่ารัฐบาลเห็นความสำคัญอาหารฮาลาลเพราะส่งออกไปตลาดที่มีชาวมุสลิมอาศัยหนาแน่น เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลางดังนั้น จึงควรยกระดับความสำคัญอุตสาหกรรมฮาลาลซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ศึกษาข้อมูลพบว่ามีไม่น้อยกว่า 8 หน่วยงานที่ทำงานแยกกันอยู่จึงควรรวมที่เดียวกัน

ทั้งนี้ ล่าสุดได้ส่งเสริมการผลิตอาหารฮาลาล โดยเบื้องต้นกำหนดใช้พื้นที่สถาบันอาหารในระยะเริ่มต้นดำเนินการ และเสนอของบประมาณดำเนินการ 630 ล้านบาท

สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศมุสลิมในฐานะผู้บริโภค สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เตรียมจัดงาน Thailand International Halal Expo 2024 เพื่อเชื่อมโยงตลาดสินค้าฮาลาลทั่วโลก และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศจำนวน 57 ประเทศ ซึ่งจะมีเวทีสำหรับการจับคู่ธุรกิจกระตุ้นการลงทุนจากประเทศมุสลิมในอนาคต

“อุตสาหกรรมฮาลาลเรามีต้นทุน เมื่อก่อนไทยเป็นครัวของโลก คำว่าครัวของโลกต้องเป็นครัวของโลกจริงๆ เพื่อเพิ่มรายได้ผู้ประกอบการล่าสุดมีผู้ประกอบการญี่ปุ่นสนใจมาตั้งโรงงานเพื่อจะประทับตราฮาลาลที่ไทยเพื่อส่งออกอาหารญี่ปุ่น เพราะเขามั่นใจว่าเรามีต้นทุนที่ดี รวมถึงคุณภาพของวัตถุดิบด้วย”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top