Thursday, 2 May 2024
EEC

อีอีซี โชว์หมุดหมายศูนย์กลางลงทุนโลก  ตั้งเป้า 5 ปี ปั๊มเงินกว่า 2.2 ล้านล้าน

(24 ส.ค. 66) นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่ EEC ยึดหลักสอดรับกับบริบทโลกของอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อดึงดูดและรองรับการลงทุนจากทั่วโลกในพื้นที่เศรษฐกิจนี้ ก้าวแรกที่สำคัญของเป้าหมาย 5 ปีต่อจากนี้ คือ เริ่มจากพื้นฐานที่สำคัญได้แก่ ที่ดินผ่านการจัดสรรให้เกิดการลงทุนเฉพาะแต่ละกลุ่มธุรกิจ การพัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูง รวมทั้งการปรับปรุงกลไกทางกฎหมายและระเบียบให้ง่ายแก่การเข้ามาลงทุน ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งทาง อีอีซี ได้ตั้งเป้าดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศให้ได้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท ภายในช่วงปี 2565-2570

โดยขณะนี้ได้เดินหน้าผลักดันการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้วยแผนงานการสร้างการรับรู้นโยบายในวงกว้าง ด้วยการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือการจัดโรดโชว์ต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ ผู้ขายในพื้นที่ ได้เชื่อมต่อกับผู้ซื้อทั้งจากไทยและต่างชาติ โดยการขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าว จะดำเนินการในเชิงบูรณาการกับภาคีเครือข่ายธุรกิจชั้นนำของไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่มาของการจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 ครั้งแรก! ในพื้นที่ อีอีซี มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ให้กลายเป็นหมุดหมายใหม่แห่งการลงทุนของประเทศ

ชวนคิด!! 'ผู้ปกครอง-นักศึกษา' ศึกษาตลาดงานยุคใหม่ 'สายอาชีพ' ไม่เป็นรองใคร หลัง 'ลุงตู่' ปูทาง EEC ไว้ระยะยาว

(30 ส.ค.66) จากเฟซบุ๊ก 'Sappaisansook Yodmongkhol' โดยนายยอดมงคล ทรัพย์ไพศาลสุข ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสายวิชาชีพที่ควรเรียนและไม่ควรมองข้ามอีกต่อไป ว่า...

จากมาตรการไทยแลนด์ 4.0 ในรัฐบาลลุงตู่ ทำให้ในส่วนภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถเป็นอย่างมาก รัฐบาลที่ผ่านมา แม้แต่ลุงตู่เองก็พยายามสนับสนุนให้เยาวชนหันมาเรียนทางด้านสายอาชีพมากขึ้น ซึ่งพยายามสนับสนุนผลักดันมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว หลายคนก็ยังดูถูกดูแคลนวิสัยทัศน์ สุดท้ายจบมาตกงาน เพราะไม่เชื่อที่ลุงแนะนำ 

คนไทยยังติดยึดกับค่านิยมเดิม ๆ ที่ชอบเรียนสายสามัญมากกว่า เพื่อไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งในปัจจุบันมีหลายสาขาอาชีพที่มีบุคลากรล้นเกิน จึงเกิดปัญหาเรื่องของการว่างงาน โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ ดังนั้นผู้ปกครองกับเยาวชนควรต้องวางแผนการศึกษาต่อให้ดี มองไปให้ถึงการประกอบอาชีพในอนาคต ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเลือกเรียนในสาขาอาชีพที่ขาดแคลนบุคลากร จบการศึกษามาแล้ว ก็จะหางานทำได้ง่าย ๆ สบาย ๆ

งานด้านสายอาชีพในปัจจุบัน ไม่สามารถดูถูกดูแคลนได้เลย บางครั้งสามารถทำงานหาเงินได้มากกว่าสายสามัญที่จบมาเสียอีก ผู้ปกครองควรมองสายอาชีพเป็นทางเลือกของบุตรหลานท่านบ้าง โดยดูตามความชอบ ศักยภาพ อาชีพที่จะทำเมื่อจบการศึกษามาแล้ว ความพร้อมของท่านและบุตรหลานไปพิจารณาประกอบด้วยครับ

‘กองทุนดีอี’ ติดตามโครงการจัดหาระบบ 5G Smart City ร่วมผลักดันพื้นที่ EEC ก้าวสู่เมืองอัจฉริยะน่าอยู่

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลในการดำเนินงาน โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมือง และ ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ในปีประกาศ พ.ศ. 2564 ตามมาตรา 26 (1) ภายใต้กรอบนโยบาย Digital Government and Infrastructure

วันที่ 5 กันยายน 2566 กองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำโดยคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการ ผู้อำนวยการกองทุนฯ และเจ้าหน้ากลุ่มติดตามและประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน 'โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมือง และ ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่' ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ขอทุนสนับสนุนในการดำเนินโครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมือง และ ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในพื้นที่ EEC ได้แก่ การสร้างเครือข่าย Internet of Things และ CCTV พร้อม ทั้งต่อยอดการพัฒนาเครือข่าย 5G Mobile และสร้างให้มีการใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมทั้งการสร้างความพร้อมในการพัฒนา Service Platforms ควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดธุรกิจ ใหม่ในด้านเมืองอัจฉริยะ และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเมือง ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร เพื่อความยั่งยืนในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่นักพัฒนาเมืองจะสามารถ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการแก้ปัญหา และต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ EEC ได้

โดยผลการดำเนินงานในโครงการ ประกอบด้วย การติดตั้งเสา Smart Pole จำนวน 90 ต้นในเขตเมือง ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวในเทศบาลเมืองพัทยา เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้าน IoT และระบบ CCTV ผ่านเครือข่ายสัญญาณ 5G ในการส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งมีศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ Intelligent Operation Center (IOC) ตั้งอยู่ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา ในการบริหารจัดการและดูแลระบบในการให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการเริ่มใช้งานจริง เพื่อยกระดับการพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็น Smart City เมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง

‘ทล.’ ขยายถนน ‘มาบตาพุด-นิคมพัฒนา’ เป็น 6 เลน แล้วเสร็จ รองรับการสัญจร-ระบบโลจิสติกส์ หนุนเขตเศรษฐกิจ EEC

(19 ก.ย. 66) กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างสะพาน ดำเนินการโครงการก่อสร้างทางหลวงสาย ต.มาบตาพุด - อ.นิคมพัฒนา รวมทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3191 กับทางหลวงหมายเลข 3375 (เดิม) (แยกนิคมพัฒนา) จ.ระยอง ระยะทาง 13.6 กิโลเมตร แล้วเสร็จ เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง การขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ รองรับการสนับสนุนการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  

โครงการก่อสร้างทางหลวงสาย ต.มาบตาพุด - อ.นิคมพัฒนา รวมทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3191 กับทางหลวงหมายเลข 3375 (เดิม) (แยกนิคมพัฒนา) พื้นที่ อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการคมนาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งทางหลวงสายดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ประชาชนเลือกใช้ในการเดินทางไปสู่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ปัจจุบันมีปริมาณการจราจรรวมถึงรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งผ่านเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูงและส่งผลกระทบถึงการจราจรในเส้นทางใกล้เคียงด้วย 

กรมทางหลวงเล็งเห็นความสำคัญโดยคำนึงถึงความสะดวกและความปลอดภัยของผู้ใช้ทางเป็นสำคัญ จึงดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางหลวงสาย ต.มาบตาพุด - อ.นิคมพัฒนา รวมทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3191 กับ ทางหลวงหมายเลข 3375 (เดิม) (แยกนิคมพัฒนา) ช่วง กม.0+000 ถึง กม.13+600 โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการที่ ต.มาบตาพุด สิ้นสุดที่ อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง รวมระยะทางทั้งหมด 13.6 กิโลเมตร 

โครงการมีลักษณะเป็นการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 3191 จากเดิมขนาด 4 ช่องจราจร เป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร (ไป - กลับ) ผิวจราจรคอนกรีต ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรแบบเกาะยก และดำเนินการก่อสร้างทางลอดบริเวณแยกนิคมพัฒนา ขนาด 4 ช่องจราจร (ไป - กลับ) มีความยาว 893 เมตร ความกว้าง 21 เมตร เพื่อไปสู่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งก่อสร้างขยายสะพาน (เดิม) 12 แห่ง ก่อสร้างสะพานข้ามแยก (ที่ กม.7+500) 1 แห่ง พร้อมงานไฟฟ้าแสงสว่างตลอดทั้งโครงการ วงเงินงบประมาณ 1,473,482,804.86 บาท 

เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้ช่วยลดปัญหาการจราจรที่คับคั่ง สามารถรองรับปริมาณจราจรที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต รวมถึงปรับทัศนียภาพทางหลวงให้เป็นระเบียบ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพการให้บริการ อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่นักลงทุนตลอดจนนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดระยอง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี และนโยบาย Thailand 4.0 ในการสนับสนุน EEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย

‘กองทุนดีอี’ ร่วมผลักดัน EEC สู่ศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาค ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ผ่านโครงการจัดหาระบบ 5G Smart City

‘กองทุนดีอี’ ร่วมผลักดัน EEC สู่ศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาค ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ผ่าน โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ด้วยการกำกับดูแลและการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ทำให้แผนพัฒนา EEC ได้รับการพัฒนาแบบบูรณาการ เพื่อเป็นประตูสำคัญสู่ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียแปซิฟิก โดยมุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ทั้งกายภาพและทางสังคม เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อให้ EEC เป็นเมืองอัจฉริยะ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีภารกิจขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีเป้าหมายพัฒนาเมืองอัจฉริยะ  7 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) และ การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข  อย่างยั่งยืน

โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ นำเสนอโดย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีภารกิจขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านดิจิทัลในการสนับสนุนพัฒนาพื้นที่ EEC ได้อย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ ในการสร้างเครือข่าย Internet Of Thing และ CCTV พร้อมทั้งต่อยอดการพัฒนาเครือข่าย 5G Mobile และสร้างให้มีการใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อสร้างความพร้อมในการพัฒนา Service Platforms ควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดธุรกิจใหม่ในด้านเมืองอัจฉริยะ และสร้างรายได้ให้กับเมือง และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการแก้ปัญหา พร้อมต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ EEC เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเก็บข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลในพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่สามารถร่วมบริหารจัดการและสร้างความปลอดภัยในเขตพื้นที่ EEC และส่งเสริมพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะตามแนวทางของ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้ง 7 ด้าน 

โดยผลการดำเนินโครงการ ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในพื้นที่ EEC (เมืองพัทยา) ซึ่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการเชื่อมโยงและยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและความเป็นเมืองน่าอยู่ โดยได้จัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City ซึ่งมีอุปกรณ์ประกอบด้วย Smart Pole ชนิดความสูง 6 เมตร และชนิดความสูง 9 เมตร ที่สามารถรับสัญญาณ 5G ได้ พร้อมระบบ CCTV ระบบติดตามสภาพอากาศ ระบบไฟอัตโนมัติ ระบบ Public Wi-Fi และระบบ Emergency Call & Public Announcement โดยมีการติดตั้งเสา Smart Pole จำนวน 90 ต้น ในเขตเมือง ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวในเทศบาลเมืองพัทยา เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล IoT และระบบ CCTV ผ่านเครือข่าย 5G ในการส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ Intelligent Operation Center (IOC) ตั้งอยู่ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา ในการบริหารจัดการและดูแลระบบในการให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวเพื่อยกระดับเมืองพัทยาให้เป็น Smart City 

จากการสนับสนุนโครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ ของกองทุนฯ ในครั้งนี้ มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ EEC เป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลเทคโนโลยีของภูมิภาค  ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังช่วยยกระดับทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skills) ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสของประชาชนให้เข้าถึงบริการด้านดิจิทัลอย่างเป็นธรรม ได้รับบริการที่ดีจากภาครัฐ สร้างรายได้และมีมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น และยังส่งเสริมให้พื้นที่ EEC บริหารจัดการเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่  ยกระดับคุณภาพของประเทศในทุกภาคส่วนและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงต่อไป

‘ชนินทร์’ มั่นใจ EEC ‘ยุคเศรษฐา’ เกิดแน่ จ่อใช้ กม.เปิดทางลงทุนจริง 2.5 แสนล้าน

(20 ต.ค. 66) นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของรัฐบาลนายกเศรษฐา ทวีสิน ว่า คณะกรรมการโดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีมติอนุมัติแผน 99 วัน หรือ Quick Wins 8 ด้าน เพื่อผลักดันงานโดยเร่งด่วนตามแนวคิดของนายกรัฐมนตรี โดยหนึ่งในแผนงานที่เป็นหัวใจสำคัญคือ การเตรียมจัดให้มีบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ EEC One Stop Service ภายในสิ้นปี เพื่ออำนวยความสะดวกภาคธุรกิจที่มีความพร้อมจะลงทุนแต่ติดขัดเรื่องระเบียบและการขออนุญาตที่วุ่นวาย หลายขั้นตอน และต้องดำเนินการหลากหลายที่ ดังที่ปรากฏว่าในอดีตมีการอนุมัติแผนการลงทุนไปแล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท แต่การลงทุนจริงเพื่อประกอบธุรกิจจริงเกิดน้อยมาก

นายชนินทร์ กล่าวว่า EEC One Stop Service อาศัยอำนาจภายใต้ พ.ร.บ.อีอีซี จะยกระดับการให้บริการอนุมัติ อนุญาต จำนวน 44 รายการ ครอบคลุม 8 กฎหมาย ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน, การควบคุมอาคาร, การจดทะเบียนเครื่องจักร, การจดทะเบียนพาณิชย์, โรงงาน, การสาธารณสุข, คนเข้าเมือง และการจัดสรรที่ดินไว้ในที่เดียว โดยจะเพิ่มการพัฒนาระบบให้ครอบคลุมการให้สิทธิประโยชน์ สำหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เช่น สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรด้วย ซึ่งจะทำให้พื้นที่ อีอีซี เป็นเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลกที่แข่งขันได้มากขึ้น

นอกจากนี้ อีอีซี ยังมีแนวคิดที่จะปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย และปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นต้นแบบของรัฐบาลดิจิทัล ที่จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

“EEC One Stop Service จะทำให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริม เศรษฐกิจพิเศษได้รับความสะดวกในการขอรับสิทธิประโยชน์ผ่านระบบการบริการภาครัฐแบบดิจิทัล เบ็ดเสร็จครบวงจรได้ ณ จุดเดียว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ร่นระยะเวลาดำเนินการ ของผู้ประกอบกิจการได้ เพื่อให้ภาครัฐได้ผลประโยชน์จากการเริ่มลงทุนจริงในพื้นที่อีอีซีที่เร็วขึ้น โดยอีอีซีคาดหวังการลงทุนจริงในพื้นที่คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 250,000 ล้านบาท ภายในปี 2567 นี้” นายชนินทร์ กล่าว

ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา เข้าพบเลขาธิการคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC

เมื่อวันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566 เวลา 15.00 – 17.00 น. ที่สำนักงาน EEC ชั้น 25 อาคาร NT TOWER (CAT TOWER) เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ดร.โอกาส เตพลกุล ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา  พร้อมคณะ เข้าพบ ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC เพื่อร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทรา ตามแนวนโยบายของการพัฒนาพื้นที่ EEC  โดยมีการนำเสนอประเด็นเข้าสู่การพัฒนา จำนวน 4 ประเด็น ประกอบด้วย

1.การผลักดันโครงการถนนวงแหวนรอบเมืองฉะเชิงเทรา
2.แนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา (โครงการผันน้ำคืนถิ่น)
3.การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน “โครงการรถไฟเชื่อมฉะเชิงเทรา-แอร์พอร์ต เรล ลิงก์
4.โครงการขยายโซนนิ่งสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจสถานบันเทิงจังหวัดฉะเชิงเทรา

ด้าน ดร.โอกาส เตพลกุล กล่าวว่าในการเข้าพบครั้งนี้ได้การตอบรับจากเลขาธิการคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นอย่างดี พร้อมร่วมมือกันหาแนวทางการขับเคลื่อนและการพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทราในด้านต่างๆต่อไป

'บิ๊กทุนจีน' ทุ่ม!! 10,000 ล้านบาท ลงทุนในพื้นที่ EEC ลุย 'มอเตอร์ไซค์อีวี-แบตเตอรี่-ตู้เปลี่ยนแบตฯ-ลิซซิ่ง'

เมื่อวานนี้ (7 พ.ย.66) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี (EEC) พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สกพอ. ได้เข้าร่วมประชุมและหารือกับ บริษัท SMOGO Holding Co.,Ltd. ภายใต้ชื่อ ‘SMOGO’ ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และอุปกรณ์การผลิตอัจฉริยะในยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า ชั้นนำจากประเทศจีน

นำโดยนายหวัง หย่ง เจีย ประธานกรรมการ (Mr. Huang Yongjie) Chairman of SMOGO และคณะ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะในกลุ่มคลัสเตอร์ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

การผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือมอเตอร์ไซค์อีวี ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดยานยนต์เพิ่มขึ้นในทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย สร้างโอกาสให้พื้นที่อีอีซีเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์อีวีในภูมิภาค สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ โครงการลงทุนนี้เริ่มต้นโดย บริษัท Suzhou Harmontronics Automation Technology Co., Ltd. ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศจีนได้ตัดสินใจร่วมมือกับ บริษัท GI New Energy Co.,Ltd. ขยายการลงทุนมายังประเทศไทย ภายใต้ชื่อ ‘SMOGO’ 

โดยเบื้องต้นจะเลือกฐานการผลิตและลงทุนที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี โดยจะขยายการลงทุนครอบคลุมธุรกิจการผลิตและประกอบ มอเตอร์ไซค์อีวี การผลิตแบตเตอรี่ การผลิตและติดตั้งตู้เปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์อีวี (Swap Battery) และการให้บริการทางการเงิน (Leasing) ควบคู่ไปด้วย

โดยจะเริ่มทำการตลาดในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) เป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) ในช่วงแรก และจะขยายการจัดจำหน่ายไปยังประเทศอื่นๆ โดยคาดว่าทาง SMOGO จะมีกำลังผลิตมอเตอร์ไซค์อีวี ได้ประมาณ 150,000 คันต่อปี และคาดว่าจะเกิดการลงทุนโครงการ ฯ เกี่ยวเนื่องทั้งหมด ในกรอบวงเงินรวมสูงถึง 10,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี (ช่วงปี 2566 – 2571)

พร้อมกันนี้ ทางอีอีซี และ SMOGO ได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางเพื่อสนับสนุนการลงทุน อาทิ ด้านการขอรับสิทธิประโยชน์ในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการอำนวยความสะดวกขอรับบริการลงทุน การขอใบอนุมัติ อนุญาตต่างๆ และการประสานความร่วมมือการพัฒนาทักษะบุคลากร

โดยเฉพาะในด้านการฝึกอบรม และการศึกษาถึงนวัตกรรมด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่ผู้ประกอบการจากจีนมีความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นการเตรียมสร้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการต่อยอดการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

เปิดพิกัด ‘ค่ายรถ EV จีน’ ในพื้นที่ EEC แต่ละเจ้าลงทุนเท่าไรและพื้นที่ใดกันบ้าง? 🚕⚡️

🔰หลังจากที่ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ ‘บอร์ดอีวี’ ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค รวมทั้งออกมาตรการ EV 3.5 โดยภาครัฐจะให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ โดยมูลค่าเงินอุดหนุนขั้นต่ำสุดอยู่ที่ 20,000 บาทต่อคัน และมูลค่าเงินอุดหนุนสูงสุดอยู่ที่ 100,000 บาทต่อคัน รวมถึงการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท จาก 8% เหลือ 2%

ในส่วนของโครงการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ในพื้นที่อีอีซี มีกี่โครงการ และเป็นบริษัทใดบ้าง รวมทั้งจะมีค่ายรถยนต์ที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซี ในระยะต่อไปนั้นมีใครกันบ้าง? ไปดูกันเลย!!

🚕⚡️เกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) ลงทุน 22,600 ล้านบาท เพื่อปรับโรงงานเป็นศูนย์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮบริดของภูมิภาค โดยจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Ora Good Cat ในปี2567 และจะนำบริษัทในเครืออย่าง MIND Electronics, HYCET และ Nobo Auto ที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ระบบส่งกำลังรถยนต์ และเบาะที่นั่ง เข้ามาลงทุนในไทยอีกด้วย

🚕⚡️SAIC Motor (Shanghai Automotive Industry Corporation) รัฐวิสาหกิจจากจีน เจ้าของบริษัทผลิตรถยนต์ MG Motor ซึ่งเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกในไทยไปเมื่อปี 2562 จะลงทุนเพิ่ม 500 ล้านบาทเพื่อขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่รถยนต์ในประเทศไทย โดยมีแผนจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยกลางปี 2567

🚕⚡️BYD ได้ลงทุน 17,900 ล้านบาท เพื่อตั้งโรงงานแห่งใหม่ในไทย กำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี โดยกลางปี 2567 จะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และในอนาคตจะใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป

🚕⚡️Changan Automobile ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ ที่ถือหุ้นโดยรัฐวิสาหกิจของจีน มีแผนลงทุนเฟสแรกมูลค่ากว่า 8,800 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV กำลังการผลิตในระยะแรก 1 แสนคันต่อปี

🚕⚡️Horizon Plus ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Foxconn Technology Group จากไต้หวัน และบริษัทอรุณพลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ลงทุนกว่า 36,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้ในปี 2568

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจากจีนอีกหลายรายบริษัทที่มีแผนจะเข้ามาลงทุนในอีอีซี และได้เริ่มศึกษาถึงการลงทุนอย่างจริงจัง ได้แก่ บริษัท GAC Aion ที่เป็นบริษัทลูกของบริษัทผลิตรถยนต์ Guangzhou Automobile Group กำลังวางแผนลงทุนกว่า 6,400 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอีอีซี, บริษัท Chery Automobile และบริษัท Geely ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีน ก็แสดงความสนใจลงทุนในไทย และวางแผนเข้ามาทำตลาดในไทยภายในต้นปี 2567

Website : www.eeco.or.th
Facebook : โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก – EEC
YouTube : EEC WE CAN

‘อีอีซี’ ผนึกกำลัง ‘บิทคับ เวิลด์เทค’ ลงนาม MOU พัฒนาพื้นที่อีอีซี ก้าวสู่ศูนย์กลางแข่งขัน e-Sport

(30 พ.ย. 66) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 
(สกพอ.) หรืออีอีซี ได้ร่วมลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระหว่าง สกพอ. และบริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จำกัด โดย นายวิชัย ทองแตง ผู้ร่วมก่อตั้ง บิทคับ เวิลด์เทค และ นายสกลกรย์ สระกวี ประธานบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ร่วมลงนาม โดยมีนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ อีอีซี เป็นพยาน พร้อมด้วยผู้บริหารจากทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม ณ สำนักงานอีอีซี ชั้น 25 อาคารโทรคมนาคม กรุงเทพฯ

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี เปิดเผยว่า การลงนาม MOU กับ บิทคับ เวิลด์เทค ในครั้งนี้ อีอีซี ได้สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีศักยภาพ และความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล หรือ Digital Transformation เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นฐานสำคัญผลักดันการลงทุนคลัสเตอร์ดิจิทัล ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของอีอีซี โดยเกิดความร่วมมือ 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับกีฬา e-Sport ซึ่งเป็นที่นิยมสูงของโลก สนับสนุนให้อีอีซีโดยเฉพาะในโครงการศูนย์ธุรกิจและเมืองใหม่อัจฉริยะ เป็นพื้นที่ศึกษาและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระดับสากล ที่จะดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมกีฬา และ e-Sport การส่งเสริมระบบนิเวศการลงทุนที่เหมาะสมให้กลุ่มธุรกิจ Startup เพื่อให้เกิดกลุ่มธุรกิจแห่งอนาคต (Future Business Cluster) และการสนับสนุนให้ความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะส่งเสริมให้อีอีซี เป็นพื้นที่แห่งอนาคต ดึงดูดและรับกิจกรรมการลงทุนด้านดิจิทัลได้อย่างต่อเนื่อง  

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า Digital Transformation เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงการประกอบธุรกิจให้มีศักยภาพในการแข่งขันในสภาพตลาดในปัจจุบัน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดและรวดเร็ว รวมถึงมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ประกอบธุรกิจที่จำเป็นต้องปรับตัวตาม เพื่อช่วงชิงโอกาสและสามารถใช้พัฒนาการประกอบธุรกิจให้เติบโตได้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญและมีศักยภาพในรองรับการลงทุนของนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญต่อการช่วยพัฒนาและยกระดับธุรกิจการค้าการลงทุนในเขตพื้นที่นี้ให้ขยายขีดความสามารถ รวมถึงส่งเสริมให้คนในประเทศมีความสามารถที่จะแข่งขันในระดับสากล และดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

นายวิชัย ทองแตง ผู้ร่วมก่อตั้ง บิทคับ เวิลด์เทค กล่าวว่า บิทคับ เวิลด์เทค เป็นบริษัทที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของคนไทยให้มีความรู้และมีทักษะที่เหมาะสม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งความร่วมมือระหว่างบิทคับ เวิลด์เทค กับ สกพอ. ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) รวมถึงความเชี่ยวชาญทางด้านกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Sport) เข้ามาพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจและวางระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการนำดิจิทัลมาใช้เปลี่ยนแปลงการประกอบธุรกิจ (Digital Transformation) เพื่อให้เศรษฐกิจภาคตะวันออกเกิดการขยายตัวมากยิ่งขึ้น

ด้านนายสกลกรย์ สระกวี ประธานบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป กล่าวว่า ความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบิทคับ เวิลด์เทค ที่มีเป้าหมายเพื่อ ‘สร้างโอกาส สร้างอาชีพ สู่โลกอนาคต’ โดยใช้ความเชี่ยวชาญและความพร้อมด้านเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านดิจิทัลภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ด้าน Digital Transformation ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น และจะได้ใช้องค์ความรู้ที่บิทคับ เวิลด์เทคมีร่วมพัฒนาทำประโยชน์ให้ประเทศชาติไปพร้อมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยพร้อมให้การสนับสนุนความร่วมมือนี้อย่างเต็มที่ รวมถึงความร่วมมืออื่นๆ ที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคต 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top