‘กองทุนดีอี’ ร่วมผลักดัน EEC สู่ศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาค ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ผ่านโครงการจัดหาระบบ 5G Smart City

‘กองทุนดีอี’ ร่วมผลักดัน EEC สู่ศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาค ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ผ่าน โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ด้วยการกำกับดูแลและการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ทำให้แผนพัฒนา EEC ได้รับการพัฒนาแบบบูรณาการ เพื่อเป็นประตูสำคัญสู่ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียแปซิฟิก โดยมุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ทั้งกายภาพและทางสังคม เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อให้ EEC เป็นเมืองอัจฉริยะ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีภารกิจขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีเป้าหมายพัฒนาเมืองอัจฉริยะ  7 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) และ การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข  อย่างยั่งยืน

โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ นำเสนอโดย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีภารกิจขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านดิจิทัลในการสนับสนุนพัฒนาพื้นที่ EEC ได้อย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ ในการสร้างเครือข่าย Internet Of Thing และ CCTV พร้อมทั้งต่อยอดการพัฒนาเครือข่าย 5G Mobile และสร้างให้มีการใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อสร้างความพร้อมในการพัฒนา Service Platforms ควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดธุรกิจใหม่ในด้านเมืองอัจฉริยะ และสร้างรายได้ให้กับเมือง และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการแก้ปัญหา พร้อมต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ EEC เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเก็บข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลในพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่สามารถร่วมบริหารจัดการและสร้างความปลอดภัยในเขตพื้นที่ EEC และส่งเสริมพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะตามแนวทางของ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้ง 7 ด้าน 

โดยผลการดำเนินโครงการ ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในพื้นที่ EEC (เมืองพัทยา) ซึ่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการเชื่อมโยงและยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและความเป็นเมืองน่าอยู่ โดยได้จัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City ซึ่งมีอุปกรณ์ประกอบด้วย Smart Pole ชนิดความสูง 6 เมตร และชนิดความสูง 9 เมตร ที่สามารถรับสัญญาณ 5G ได้ พร้อมระบบ CCTV ระบบติดตามสภาพอากาศ ระบบไฟอัตโนมัติ ระบบ Public Wi-Fi และระบบ Emergency Call & Public Announcement โดยมีการติดตั้งเสา Smart Pole จำนวน 90 ต้น ในเขตเมือง ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวในเทศบาลเมืองพัทยา เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล IoT และระบบ CCTV ผ่านเครือข่าย 5G ในการส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ Intelligent Operation Center (IOC) ตั้งอยู่ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา ในการบริหารจัดการและดูแลระบบในการให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวเพื่อยกระดับเมืองพัทยาให้เป็น Smart City 

จากการสนับสนุนโครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ ของกองทุนฯ ในครั้งนี้ มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ EEC เป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลเทคโนโลยีของภูมิภาค  ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังช่วยยกระดับทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skills) ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสของประชาชนให้เข้าถึงบริการด้านดิจิทัลอย่างเป็นธรรม ได้รับบริการที่ดีจากภาครัฐ สร้างรายได้และมีมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น และยังส่งเสริมให้พื้นที่ EEC บริหารจัดการเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่  ยกระดับคุณภาพของประเทศในทุกภาคส่วนและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงต่อไป


อ้างอิง : โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC). (2019). ทำไมต้อง EEC - ความเป็นมาของ EEC. https://www.eeco.or.th/th/government-initiative

2 depa. (18 สิงหาคม 2564). การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ. https://www.depa.or.th/th/smart-city-plan/smart-city-office