Tuesday, 8 October 2024
Easthern

ระยอง - มารู้จัก “เต่าทะเล” สัตว์โลกล้านปีใกล้วันสูญพันธุ์

"ระยอง" อีกหนึ่งจังหวัดยอดนิยมทางภาคตะวันออกของไทยที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่จัดว่าเป็นแลนด์มาร์คที่ทุกคนควรมาเยือน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ, อุทยานแห่งชาติ“เขาแหลมหญ้า” หรือ ทะเลแหวก เกาะมันใน ที่อะเมซิ่งสุด ๆ เพราะใคร ๆ ก็คาดไม่ถึงว่าจะมีทะเลแหวกสวย ๆ แบบนี้ในทะเลฝั่งตะวันออกด้วย นอกจากที่เกาะมันในแห่งนี้จะมีทะเลแหวกให้ชมแล้ว ที่นี่ยังเป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล และเป็นสถานที่อนุบาลลูกเต่าทะเลก่อนจะปล่อยลงสู่ทะเล ซึ่งมีทั้งส่วนของอาคารพิพิธภัณฑ์เต่าทะเลไว้ให้ความรู้เรื่องเต่า และบ่อเลี้ยงเต่าช่วงวัยต่าง ๆ ก่อนจะปล่อยลงสู่ทะเล อย่าลืมแวะมาหาความรู้และชมความน่ารักของเต่าทะเลไทย ที่เกาะมันใน จ.ระยอง

เต่าทะเล จัดเป็นสัตว์ประเภทเลื้อยคลานที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ในไม่ช้า เต่าทะเลทั่วโลกมีทั้งหมด 8 ชนิด แต่พบในไทยเพียง 5 ชนิด ได้แก่ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าหัวฆ้อน  และเต่ามะเฟือง ซึ่งทั้งหมดถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าในปี พ.ศ.2535 

บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP) เล็งเห็นความสำคัญของความ สัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศทางทะเล รวมทั้งการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากโดยเฉพาะเต่าทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์  ดังนั้นในปี 2564 ทาง BLCP จึงได้ริเริ่มการอนุบาลเต่าทะเล โดยเบื้องต้นได้ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง จ.ระยอง สนับสนุนกิจกรรมเต่าทะเล เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 60,000 บาท เพื่อเป็นค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาลเต่า ณ เกาะมันใน จ.ระยอง

นอกจากนี้ โรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายาก ภายใต้การดูแลของ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก  จัดเป็นสถานดูแลอภิบาลสัตว์ทะเลหายากที่เกยตื้น ไม่ว่าจะเป็นโลมา ปลาวาฬ รวมไปถึงเต่าทะเล โดยสาเหตุจากการเกยตื้นได้แก่ ป่วย, หลงทิศ, กินขยะทะเล และโดนจับด้วยเครื่องมือประมง ทำให้สัตว์ทะเลเหล่านี้บาดเจ็บและป่วย โดยที่สัตว์ทะเลที่เกยตื้นมากที่สุดคือเต่าทะเลนั่นเอง

ในปัจจุบันทางโรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายาก จ.ระยอง ยังขาดแคลนทุนทรัพย์ในการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์ที่สำคัญในการรักษาสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ไม่ว่าจะเป็นในส่วนการปรับปรุงห้องทำงานคุณหมอและห้องปฎิบัติการ การสนับสนุนเครื่อง  Vet state เครื่องชั่งน้ำหนักกันน้ำ ขนาด 300 กิโลกรัม, บ่อพักรักษาสัตว์ขนาดใหญ่ (ขนาด 5,000-6,000 ลิตร) เครื่องตรวจ Blood gas analysis เพื่อวัดปริมาณสารเคมีในเลือดเครื่องตรวจค่าเคมีในเลือด และเครื่องตรวจนับจำนวนเซลล์เม็ดเลือด ดังนั้นหากท่านใดประสงค์จะช่วยเหลือเต่าทะเลและสัตว์ทะเลหายาก สามารถติดต่อได้โดยตรงที่  ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ที่อยู่ 309 ม.1 ต.ปากน้ำกระแส อ.แกลง จ.ระยอง โทร. 038-661-693-4

ชลบุรี - ฮือฮา ‘วาฬบรูด้า’ 2 คู่ น้ำหนักตัวละกว่า 4 ตัน โผล่เล่นน้ำหน้าเกาะสีชัง

วาฬบรูด้า ซึ่งมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 4 ตันต่อตัว ได้พากันแหวกว่ายหากินทะเลหน้าน่านน้ำหน้าเกาะสีชัง อย่างสนุกสนาน ทำให้นักท่องเที่ยวและไต๋เรือที่พบต้องรีบคว้าโทรศัพท์มือถือออกมาถ่ายภาพเท่าที่ได้เก็บไว้ทันที เนื่องจากไม่ค่อยได้พบมากนัก

บรรยากาศบริเวณน่านน้ำทะเลศรีราชา เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี   เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 64  เมื่อมีนักท่องเที่ยวที่ไปพักผ่อนที่เกาะสีชัง และไต๋เรือ ที่นำเรือออกไปได้พบ ปลาวาฬบรูด้า สัตว์สงวนลำดับที่ 16 ของประเทศไทย  2 คู่  ซึ่งมีน้ำหนักแต่ละตัวไม่ต่ำกว่า 4 ตัน  และแยกเป็นคู่แหวกว่ายหากินไม่ห่างกัน ได้พากันแหวกว่ายหากินฝูงปลาเล็ก เช่น ปลากะตัก ที่ว่ายกันเป็นฝูง บริเวณร่องน้ำลึกที่เรือสินค้าผ่าน บริเวณน่านน้ำหน้าเกาะสีชังและหลังเกาะสีชัง อย่างสนุกสนานไปมา สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่นักท่องเที่ยวที่พาครอบไปพักผ่อนที่เกาะสีชัง และไต๋เรือที่ไปเจอเป็นอย่างมาก จนต้องรีบคว้าโทรศัพท์มือถือออกมาถ่ายภาพเก็บไว้เท่าที่ถ่ายได้ทัน เพราะพบเห็นได้ไม่ง่ายนัก

โดยปลาวาฬบรูด้า ได้ขึ้นมาอวดโฉมให้เห็นพอแวบ ๆ ตอนพุ่งหัวขึ้นเหนือน้ำเพื่อล่าเหยื่อ หรือโผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำอีกทีก็ตอนหายใจ โดยจะโผล่ส่วนหัวที่มีช่องหายใจขึ้นเหนือผิวน้ำ แล้วหายใจออกอย่างแรง จนทำให้เกิดฝอยละอองน้ำพุ่งขึ้นสูง 3-4 เมตร ก่อนจะหายใจเข้า ทิ้งตัวดำลงไปใต้ผิวน้ำ เมื่อมองจากที่ไกลๆ จึงเห็นแต่ฝอยละอองน้ำที่พุ่งขึ้นมาเหนือผิวน้ำ กับเงาตะคุ่ม ๆ ของลำตัวหรือวงน้ำขนาดใหญ่ เท่านั้น  ซึ่งทำให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณน่านน้ำทะเลหน้าเกาะสีชัง – ศรีราชา ว่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลเป็นอย่างมาก

ปลาวาฬบรูด้า ถือเป็นสัตว์ประจำถิ่นในอ่าวไทย ซึ่งได้มีการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 16 ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 อีกด้วย


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - ส่งอาหารจากใจ ให้บุคลากรทางการแพทย์ รพสิริกิติ์ฯ ทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด

นายกก่อตั้งและผู้ช่วยผู้ว่าการภาค แพรทอง สินชู  นายก รัมภาพรรณ์ อินมะโรง นายกสโมสรโรตารี มิตรภาพ สัตหีบ ภาค 3340 โรตารีสากล และสมาชิกสโมสรโรตารี มิตรภาพ สัตหีบ ภาค 3340 โรตารีสากล พร้อมด้วย น.อ. สมศักดิ์ พรหมมาลี ประชมรมผู้สูงอายุ รพ. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ นำคณะมอบอาหารกลางวันให้กับคณะ แพทย์ พยาบาล และบุคคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ในการทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19

โดยมี นอ.วิทวัช โลเกศกระวี ศัลยกรรมแพทย์ ออร์โธปิดิกส์ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นผู้แทนรับมอบ พร้อมกล่าวขอบคุณในมิตรภาพและมิตรไมตรีของ สโมสรโรตารี มิตรภาพ สัตหีบ และชมรมผู้สูงอายุ รพ. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่ได้นำอาหารมามอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในการเฝ้าระวังดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในวันนี้ นอกจากจะเป็นกำลังใจในการปฏิบัติงานแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมกันแก้ไขปัญหาวิกฤติจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ในครั้งนี้ ให้ผ่านพ้นไปได้ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ของ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ รู้สึกซาบซึ้งในความมีน้ำใจและขอขอบคุณในความมีน้ำใจนี้เป็นอย่างยิ่ง

นายกก่อตั้งและผู้ช่วยผู้ว่าการภาค แพรทอง สินชู และ น.อ. สมศักดิ์ พรหมมาลี ประชมรมผู้สูงอายุ รพ. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ กล่าวว่า ได้นำอาหารมามอบให้ในวันนี้ เป็นการส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19  เพื่อสนับสนุนการทำงานของแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ของ รพ. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในการทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ตลอดจนเป็นกำลังใจ แทนคำขอบคุณในความเสียสละของทีมแพทย์ทุกท่าน ในโอกาสเดียวกันนี้ด้วย


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล  ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ชลบุรี - ครั้งที่ 3 แล้ว ! วัดช่องแสมสารห่วงใยพระสงฆ์และประชาชน จัดต้มยาสมุนไพรตำราหลวงปู่ทวดสู้ภัยโควิด-19 ให้ดื่มกินฟรี

เมื่อวันนี้ 29 เม.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณวัดช่องแสมสาร จ.ชลบุรี พระครูวิสารทสุตากร เจ้าคณะตำบลพลูตาหลวง เจ้าอาวาสวัดช่องแสมสาร ได้จัดให้มีการต้มยาสมุนไพรต่อสู้ภัยโควิด-19 ที่เคยต้มแจกให้ประชาชนดื่มกินฟรี เมื่อครั้งโควิดระบาดรอบแรกและรอบที่สองที่ผ่านมา และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่จัดให้มีการต้มยาสมุนไพรนี้ ซึ่งการปรุงยานี้เป็นยาตำราหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วในยุคอโยธยาที่โรคห่าระบาด โดยประชาชนสามารถมาดื่มทานได้ฟรี หรือจะนำกลับไปทานที่บ้านก็ได้

ท่านพระครูวิสารทสุตากร กล่าวว่า ด้วยปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของเชืื้อโควิด-19 ในระลอกที่ 3 และมีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ทางวัดช่องแสมสารเป็นห่วงคณะสงฆ์และสาธุชนที่มาทำบุญ จึงจัดให้มีการต้มยาสมุนไพรนี้ขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งที่ผ่านมา 2 ครั้งก่อนที่มีการแพระระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีประชาชนเข้ามานำไปทานกันเป็นจำนวนมาก โดยส่วนผสมของยานี้ก็มี ข่า ขิง หอม กระเทียม ตะไคร้ พริกไทดำ เอามาต้มผสมรวมกัน ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้ก็เป็นสูตรยารักษาหวัดให้กับญาติโยมทั่วไป และก็ทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว และยังเป็นสูตรยาเดียวกันที่ใช่รักษาโรคห่าในอดีตที่ผ่านมาอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

ชลบุรี - รองนายกเมืองพัทยาร่วมตม.ชลบุรี ตรวจประมงพื้นบ้านสแกนต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง หวั่นแพร่เชื้อโควิด-19

รองนายกเมืองพัทยาประสานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดชลบุรี ตรวจสอบประมงพื้นบ้านหลังรับเรื่องร้องเรียน ต่างด้าวลักลอบทำงานแย่งอาชีพคนไทย และหวั่นเกรงแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมเตือนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพ ช่วยรักษาความสะอาด

เมื่อเวลา 06.00 น.วันที่ 30 เมษายน 2564 นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดชลบุรีภายใต้อำนวยการของ พ.ต.อ.นเรนทร์ เครื่องสนุก ผกก.ตม.จว.ชลบุรี สั่งการให้ร.ต.อ.สวรรค์ ราชพิทักษ์ รอง สว.ตม.จว.ชลบุรี ร.ต.อ.สิทธิพงศ์ สมพันธ์ รอง สว.ตม.จว.ชลบุรี นำกำลังลงพื้นที่บริเวณสะพานยาว นาเกลือ ม.4 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตรวจสอบกลุ่มคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ประกอบอาชีพโดยผิดกฎหมาย รวมไปถึงเป็นการสแกนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่ากลุ่มคนงานต่างด้าวที่กำลังสาวอวนขึ้นจากเรือนั้น โดยที่อวนยังมีสัตว์น้ำติดอยู่จำนวนมาก บางรายกำลังคัดแยกสัตว์น้ำออกจากอวนใส่ตะกร้า ก่อนจะส่งออกไปขายยังตลาดสดอาหารทะเล เจ้าหน้าที่จึงขอทำการตรวจเอกสารประจำตัว กลุ่มคนงานต่างด้าวทั้งสัญชาติพม่า และกัมพูชา ส่วนใหญ่มีนายจ้าง มีเอกสารแสดงอย่างถูกต้อง ส่วนภายในทะเลยังพบเรือประมงอีกกว่า 20 ลำจอดลอยลำอยู่โดยไม่มีเจ้าของและคนงานแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มคนงานบางรายไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย จึงได้ว่ากล่าวตักเตือนให้ทำตามมาตรการทุกคน หากพบอีกจะต้องถูกจับกุมดำเนินคดีตากฎหมาย

ด้านนายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยาได้เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้มีประชาชนชาวนาเกลือ ร้องเรียนมายังเมืองพัทยาว่า มีชาวต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมาย และยังเข้ามาทำประมงพื้นบ้าน สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน จึงได้ประสานกับเจ้าหน้าทีตรวจคนเข้าเมือง เข้าตรวจสอบว่าเข้ามาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และตรวจสอบเกี่ยวกับนายท้ายเรือที่ออกไปหาปลากัน ส่วนใหญ่แล้วก็มีบัตรมาแสดงถูกต้อง แต่ต่างด้าวไม่สามารถขับเรือได้ ซึ่งยังมีบางส่วนที่ยังไม่ถูกต้อง ในการตรวจสอบครั้งต่อไปนั้นก็จะต้องประสานทางกรมเจ้าท่าร่วมตรวจสอบ ว่านายท้ายเรือที่ร่วมออกเรือไปถูกต้องหรือไม่ ในวันนี้ได้พื้นที่ก็พบว่ามีต่างด้าวเป็นกัมพูชา ทำประมงเป็นลูกจ้างจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังฝากในเรื่องของความสะอาดโดยในการทำประมงบริเวณนี้ ก็ได้รับร้องเรียนส่วนหนึ่งว่าทำให้เกิดความสกปรกมาก มีการนำปลาหรือส่งของเหลือใช้แล้ว มาทิ้งบริเวณชายหาด ไม่เก็บให้เรียบร้อย ในวันนี้ก็ได้ทำความเข้าใจกันแล้วว่า บริเวณชายหาดนั้นเป็นพื้นที่ส่วนรวม ที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้ ก็ให้ทางผู้ทำประมงช่วยกันทำความสะอาด เก็บสิ่งของให้หมดออกไป เพื่อประชาชนเข้ามาใช้ชายหาดร่วมกันได้ พร้อมแสดงความเสียใจกับน้าค่อมอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  สมชาย​ โค​ต​ล่าม​แขก​ ผู้​สื่อข่าว​พัทยา​

ชลบุรี - เมืองพัทยา เริ่มแล้ว นำทีมติดตั้งโครงเหล็กเตรียมเปิดด่านตรวจวัดคัดกรองโควิด-19 หน้าวัดช่องลม

รองนายกเมืองพัทยานำทีมเตรียมความพร้อมสถานที่ตั้งด่านตรวจวัดคัดกรองป้องกันโควิด-19 หน้าวัดช่องลม (นาเกลือ) ตลอด 24 ชั่วโมง เข้มคนเดินทางเข้าเขตเมืองพัทยา

เมื่อวันที่ 1 พ.ค.64 มีรายงานว่า นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา พร้อมคณะทำงานนายกเมืองพัทยา เจ้าหน้าที่อำเภอบางละมุง เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางละมุง และเจ้าหน้าที่ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่นำอุปกรณ์โครงเหล็กเพื่อติดตั้งเต๊นท์ขนาดใหญ่ บริเวณหน้าวัดช่องลม (นาเกลือ) จ.ชลบุรี เพื่อเป็นด่านตรวจวัดคัดกรองป้องกันโควิด-19 ที่จะเริ่มปฏิบัติการการอย่างเข้มข้นในวันอาทิตย์ที่ 2 พ.ค.64 นี้

นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา ให้ข้อมูลด้วยว่า กรรมการควบคุมโรคจังหวัดชลบุรีที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเป็นประธาน ได้จัดประชุมกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลุบรี เพื่อยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ตามประกาศของ ศบค. หลังจากจังหวัดชลบุรีเป็นหนึ่งใน 6 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 

ในส่วนของอำเภอบางละมุง พบว่ามีรายงานพบผู้เชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยเมืองพัทยา ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐฏิจที่สำคัญของจังหวัดชลบุรี คณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดชลบุรีจึงมีคำสั่งให้เพิ่มระดับความเข้มข้มของมาตรการการควบคุมโรค โดยให้มีการจัดตั้งด่านตรวจวัดคัดกรองผู้ที่จะเดินทางเข้าเขตพื้นที่

โดยบูรณาการกำลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าท่ีปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง และจิตอาสา ปฏิบัติหน้าท่ีตรวจวัดคัดกรองประจำด่านตรวจวัดคัดกรองก่อนเข้าเขตพื้นที่เมืองพัทยา โดยใช้ริมถนนสุขุมวิท บริเวณหน้าวัดช่องลม (นาเกลือ) โดยเบื้องต้นมีแนวคิดจะตั้งด่านตรวจวัดคัดกรองดังกล่าวตลอด 24 ชม.

ทั้งนี้ บริเวณขาเข้าเมืองพัทยา จะมีการตรวจวัดอุณหภูมิผู้สัญจรด้วยพาหนะทุกคัน ในส่วนขอขาออกนั้น ผู้ประสงค์ที่จะเดินทางออกนอกพื้นที่จะต้องมีหนังสืออนุญาตเดินทางจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ มาแสดงต่อทางเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจวัดคัดกรองอำเภอบางละมุงด้วย ส่วยรายละเอียดการปฏิบัติหน้าที่จะมีความชัดเจนในวันพรุ่งนี้จากทางนายอำเภอบางละมุง


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - กลุ่มคนใจดี นำแอปเปิลมาให้ลิงเขาสามมุขกิน หลังอดจากพิษโควิด-19

ลิงเขาสามมุข กำลังอดอยากจากพิษโควิด รอบ 3 หมดนักท่องเที่ยวไม่มีใครให้อาหาร ยังมีกลุ่มผู้ใจบุญนำแอปเปิ้ลมาแจกให้พอประทังความหิว

บรรยากาศถนน รอบเขาสามมุข ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ที่มีลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนหลายพันตัว  ซึ่งเมื่อก่อนนี้ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวเล่นน้ำหาดบางแสน แล้วจะเลยมาเที่ยวกราบไหว้เจ้าแม่สามมุขแล้วจะซื้อผลไม้มาให้ลิงเป็นการให้ทาน แต่ปัจจุบันพิษการแพร่เชื้อไวรัสโควิด รอบที่ 3 ทำให้มีการปิดหาดบางแสนและหลายจังหวัด มีการจำกัดการเดินทางไม่มีนักท่องเที่ยวมา ถึงมีก็น้อยมากจะมีก็เป็นประชาชนใกล้เคียง ทำให้ไม่มีใครมาให้อาหารลิง จากการสังเกตดูลิงมีอาการหงอยเหงา บางตัวหิวมากก็จะไปดื่มน้ำที่อยู่ในแอ่งข้างทางพอบรรเทาความหิว

นายสุเทพ จารุวรรณ ตัวแทนกลุ่มพนัสปันน้ำใจ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กู้ชีพทางทะเลฉลามขาว ได้นำแอปเปิ้ลจากพ่อค้าแม่ค้าที่มีน้ำใจ และบางส่วนก็เป็นผลไม้ที่มีขนาดเล็กไม่เป็นที่ต้องการของลูกค้ามาบริจาคให้ลิงกิน เมื่อลิงได้รับผลไม้แอปเปิ้ล ต่างก็นั่งกินด้วยความเอร็ดอร่อย ทำให้ผู้ที่มาร่วมแจกนั้นปลื้มใจในผลแห่งการให้

นายสุเทพ จารุวรรณ ตัวแทนกลุ่มพนัสปันน้ำใจ กล่าวว่า ตนได้รับทราบจากเพื่อนในกลุ่มว่า ลิงที่อยู่รอบเขาสามมุขช่วงนี้ไม่มีอาหารกิน ตนก็กลัวว่าลิงจะขาดอาหารแล้วป่วยได้ จึงได้บอกกับพ่อค้าแม่ค้าแถวตลาด อ.พนัสนิคม ซึ่งทุกคนพอได้ทราบก็ร่วมใจนำผลไม้ผ่านตนมาแจกให้ลิงกิน ผลไม้ที่มีแอปเปิ้ลเป็นส่วนใหญ่ที่เอามาให้ลิงกินมีประมาณ 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี – ปิดเกาะล้าน !! ล็อกดาวน์ 14 วัน ป้องกันโควิดรอบ 3

ชาวบ้านเกาะบ้านลงมติล็อกดาวน์ปิดเกาะ 14 วัน ระหว่างวันที่ 5-20 พ.ค.นี้ พร้อมยกระดับมาตรการควบคุมและป้องกันโรคตามแนวทางเมืองพัทยา และ คก.โรคติดต่อชลบุรี

เมื่อวันที่ 2 พ.ค.64 มีรายงานว่า ที่วัดใหม่สำราญ เกาะล้าน เมืองพัทยา จ.ชลบุรี คณะกรรมการชุมชนเกาะล้าน โดย นายบุญเชิด บุญยิ่ง ประธานชุมชนเกาะล้าน ได้จัดลงมติลงคะแนนเสียงมาตรการล็อกดาวน์ป้องกันโควิด-19 เพื่อเสนอปิดเกาะล้าน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนบนเกาะ และเป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคระบาดของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี

ทั้งนี้ ได้ทำการเปิดรับลงคะแนนเสียงเพื่อแสดงมติของประชาชนบนเกาะล้าน ว่าต้องการให้เป็นไปในรูปใด โดยรูปแบบที่ 1.ปิดเกาะแบบห้ามทุกคนเข้า-ออก อย่างน้อย 15 วัน, รูปแบบที่ 2 ปิดเกาะแบบงดนักท่องเที่ยวอย่างน้อย 15 วัน และรูปแบบที่ 3 เปิดเกาะต่อไปภายใต้มาตรการของจังหวัดชลบุรี ทั้งนี้พบว่ามีประชาชนชาวเกาะล้านมาลงคะแนนเสียงแสดงมติดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 845 คน

แบ่งเป็นบัตรดี 826 ใบ และบัตรเสีย 19 ใบ ผลการลงคะแนนปรากฏว่าชาวบ้านเลือกรูปแบบที่ 1 ปิดเกาะแบบห้ามทุกคนเข้า-ออกอย่างน้อย 15 วัน รวมทั้งสิ้น 306 เสียง, รูปแบบที่ 2 ปิดเกาะแบบงดนักท่องเที่ยวอย่างน้อย 15 วัน รวมทั้งสิ้น 420 เสียง, รูปแบบที่ 3 เปิดเกาะต่อไปภายใต้มาตรการของจังหวัดชลบุรีรวมทั้งสิ้น 96 เสียง และ 4.ไม่แสดงความคิดเห็นรวมทั้งสิ้น 4 เสียง

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุมชนเกาะล้าน จะได้นำมติผลการออกคะเสียงของประชานชาวบ้านเกาะล้าน ที่เลือกให้มีการดำเนินการในรูปแบบที่ 2 คือ ให้มีการปิดเกาะแบบงดนักท่องเที่ยว โดยกำหนดเริ่มล็อกดาวน์ปิดเกาะล้าน ตั้งแต่วันที่ 5-20 พ.ค.64 นี้ โดยประมาณ โดยทางคณะกรรมการชุมชนเกาะล้าน พร้อมที่จะรอฟังคำสั่งและนโยบายจากทางเมืองพัทยา และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี โดยตลอด


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - ในหลวง พระราชินี พระราชทานเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอล ให้แก่ รพ.ชลบุรี เพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19

ในหลวง พระราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอล ให้แก่ รพ.ชลบุรี เพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นวงกว้างในขณะนี้ ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น และพบภาวะปอดอักเสบเป็นจำนวนมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอล พร้อมชุดประมวลผลภาพเอกซเรย์ Chest ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้กับโรงพยาบาลชลบุรี เพื่อนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ณ ห้องประชุมอาคารเฉลิมราชสมบัติ ชั้น 9 โรงพยาบาลชลบุรี ได้จัดพิธีรับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์พระราชทาน เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอล พร้อมชุดประมวลผลภาพเอกซเรย์ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ มีนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขชลบุรี ผู้อํานวยการโรงพยาบาลชลบุรี และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลฯ เข้าร่วมพิธี

โดยทางจังหวัดชลบุรี ได้เผชิญกับการระบาดเชื้อไวรัส โควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคม จากผู้ที่ไปเที่ยวสถาบันเทิงย่านทองหล่อ กรุงเทพมหานคร และได้แพร่กระจายเป็นวงกว้างจนถึงปัจจุบัน ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ได้เข้าดำเนินการควบคุมโรคไว้และนำผู้ที่ติดเชื้อมาทำการรักษาในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามในจังหวัดชลบุรี และได้ดำเนินการสืบสวนโรคกับผู้ติดเชื้อ เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดให้ลดน้อยลง 

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ของการระบาดยังพบผู้ป่วยจำนวนมากที่มีภาวะปอดอักเสบ จำเป็นต้องมีการวินิจฉัยที่แม่นยำ เฝ้าระวังอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การรักษาได้ทันเวลา ลดอัตราความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย การได้รับพระราชทานเครื่องมือแพทย์ดังกล่าว ยังประโยชน์ต่อการบำบัดรักษาผู้ป่วยอย่างเหลือคณานับ จังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขชลบุรี ผู้อํานวยการโรงพยาบาลชลบุรี และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลชลบุรี รู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี  

ชลบุรี - ผบ.ทร.ประชุม นขต.ทร.ผ่านระบบ VTC รับมือ CIVID -19 ด้านโฆษกกองทัพเรือ เปิดตัวรายการ "กองทัพเรือ ร่วมใจต้านภัย COVID -19" สร้างการรับรู้แก่กำลังพล

วันนี้ (3 พฤษภาคม 2564 )  พลเรือเอก ชาติชาย  ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ได้จัดให้มีการประชุมหัวหน้าหน่วยขึ้นตรง กองทัพเรือ (นขต.ทร.)ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Tele Conference : VTC) ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

โดยมีหัวข้อการประชุมที่สำคัญคือ การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาด ของ COVID -19 ในส่วนของกองทัพเรือ ตลอดจนการ จัดเตรียมสถานที่เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม ในการสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข  นอกจากนั้นแล้วผู้บัญชาการทหารเรือ ยังได้เน้นย้ำให้หน่วยต่างๆของกองทัพเรือ สร้างการรับรู้ให้แก่กำลังพล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID - 19 ซึ่งก่อนการประชุมผู้บัญชาการทหารเรือได้ เยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ของโรงพยาบาล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดทน เสียสละ อย่างเต็มกำลังความสามารถ ในช่วงเวลาวิกฤตของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส CIVID - 19

ในขณะที่ พลเรือเอก เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ  เปิดเผยว่า  วันนี้ เป็นวันแรกที่จะมีการนำเสนอรายการ “กองทัพเรือร่วมใจต้านภัย COVID-19” เป็นตอนแรก ในเวลา 15.00 น.ผ่าน Facebook Fanpage : กองทัพเรือร่วมใจต้านภัย COVID-19  และ Social Media ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการสร้างการรับรู้ในการรับมือกับการระบาดของ COVID-19 ให้กับกำลังพลของกองทัพเรือ ภายใต้ศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน covid-19 กองทัพเรือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ด้วยความร่วมมือจากสำนักงานโฆษกกองทัพเรือ และคณะกรรมการจัดทำสารคดีและสื่อโทรทัศน์ กองทัพเรือ ซึ่งจะนำเสนอเป็นประจำทุกสัปดาห์

 ในตอนแรก แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ โฆษกพิเศษกองทัพเรือ และ หมอพลอย แพทย์จีน ปรียาดา บัวสมบุญ ผู้ช่วยโฆษกกองทัพเรือ ทำหน้าที่เป็นพิธีกร

สำหรับรายการ “กองทัพเรือร่วมใจต้านภัย COVID-19” มีรูปแบบรายการเล่าข่าว ความยาวประมาณ 10 -15 นาที โดยมีเนื้อหาที่สำคัญ ประกอบด้วย

 - ข้อมูลจากกรมแพทย์ทหารเรือ และศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน COVID-19 กองทัพเรือ/ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ในการสร้างความเข้าใจในมาตรการ ข้อกำหนดในการปฏิบัติของกำลังพลกองทัพเรือ เพื่อเป็นแนวทางเดียวกัน

 - ข่าวกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในกองทัพเรือ หรือที่เกี่ยวข้อง

 - การสร้างการตระหนักรู้ และบทสัมภาษณ์พิเศษต่าง ๆ

 - สุดท้ายคือการร่วมสร้างกำลังใจให้แก่กำลังพลบุคลากรทางการแพทย์ของกองทัพเรือ

รายการ "กองทัพเรือ ร่วมใจต้านภัย COVID - 18" อำนวยการผลิตโดย พลเรือเอก เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ และพลเรือโท ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ โดยได้มือผลิตสารคดีคุณภาพของกองทัพเรือ นาวาเอก สุวิทย์ จันทร์เพ็ญศรี รองผู้อำนวยการสำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ (Producer) หรือผู้ควบคุมการผลิต เพื่อให้รายการที่ผลิตในครั้งนี้มีคุณภาพ โดยใช้ศักยภาพของบุคลากรของกองทัพเรืออย่างเต็มที่และเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นการสร้างเสริมความรู้ความสามารถให้กับทีมงานด้านนี้ ของกองทัพเรืออีกด้วย

และนี่คืออีกหนึ่งความตั้งใจของกองทัพเรือ ที่ต้องการให้กำลังพลทุกระดับมีความรู้ความเข้าใจ มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้แนวทาง “พลังสามัคคี พลังราชนาวี” ที่ พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือได้มอบไว้ เพื่อพร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามของชาติในครั้งนี้


ภาพ/ข่าว กองประชาสัมพันธ์ / สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top