ทดสอบเที่ยวแรก เรือเฟอร์รี่เส้นทางชลบุรี-สงขลา ล่าสุดเข้าเทียบท่าที่ จ.สงขลา แล้ววันนี้ เผยใช้เวลาวิ่งแค่ 18-20 ชม. และไร้ปัญหา ตั้งเป้าเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเที่ยวแรก 21 พ.ค.นี้
“เรือเฟอร์รี่ ดิ บลู ดอลฟิน” ของบริษัท ซี ฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด ซึ่งเป็นเรือที่จะเปิดให้บริการขนส่งทางทะเล เส้นทาง ชลบุรี-สงขลา ซึ่งเป็นเส้นทางใหม่ ได้เข้าจอดเทียบท่าที่บริเวณท่าเทียบเรือประทีปซีแลนด์ คอนสตรัคชั่น ถนนแหล่งพระราม เขตเทศบาลนครสงขลาแล้ว โดยเป็นการทดลองเดินทางครั้งแรกของเรือลำนี้ เส้นทางชลบุรี-สงขลา เพื่อเช็คเส้นทางเดินเรือ ทดสอบการเดินเรือ และการเข้าจอดเทียบท่า เพื่อให้มีความพร้อมที่สุด และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยตามแผนจะเปิดให้บริการในวันที่ 21 พ.ค.นี้ จาก จ.ชลบุรี มายัง จ.สงขลา
นายพิพัฒน์ชัย จันทร์เรือง หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท ซี ฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการทดสอบการเดินเรือ วิ่งจากสัตหีบมาที่ จ.สงขลา หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ก็จะเริ่มเปิดให้บริการได้ ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.นี้ เส้นทางชลบุรี-สงขลา ซึ่งจะตรวจสอบความพร้อมทุกอย่าง รวมถึงผู้ประกอบการ และจะประกาศให้ทราบอีกครั้ง ทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ
โดยเรือลำนี้ สามารถบรรทุกรถ 10 ล้อได้ 60 คัน และรถเก๋งอีก 20 คัน ผู้โดยสาร 586 คน และในเรือก็จะมีทั้งห้องอาหาร และที่พัก ซึ่งเรือลำนี้จะมาช่วยทั้งด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของ จ.สงขลา และ จ.ชลบุรี โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่วนค่าโดยสารกำลังอยู่ระหว่างการขออนุญาตจากกรมเจ้าท่า และจะประกาศผ่านทางเว็บไซต์ให้ทราบรายละเอียดอีกครั้ง โดยเรือลำนี้สามารถโต้คลื่นได้ขนาด 5-10 เมตรได้อย่างสบาย จึงมั่นใจในความปลอดภัยในการเดินทาง
สำหรับรายละเอียดของ “เรือเฟอร์รี่ ดิ บลู ดอลฟิน” ของบริษัท ซี ฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด มีขนาด 7,003 ตันกรอส ความยาว 136.6 เมตร ความเร็ว 17 น็อต หรือ 31.48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รองรับรถบรรทุกได้ประมาณ 60 คัน รถยนต์ส่วนตัว 20 คัน ผู้โดยสารประมาณ 586 คน จะใช้เวลาในการเดินทางจากท่าเรือจุกเสม็ด หรือท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ จ.ชลบุรี ถึง จ.สงขลา ระยะเวลาเพียง 18-20 ชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าทางรถยนต์ที่ใช้เวลาเดินทางประมาณ 23-24 ชั่วโมง ทั้งยังรองรับการขนส่งในอนาคตด้วย
โดย “เรือเฟอร์รี่ ดิ บลู ดอลฟิน” มีสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งห้องพัก โซนอาหารและเครื่องดื่ม เหมือนเรือท่องเที่ยวกึ่งเรือสำราญ ซึ่งได้รับการตรวจรับรองความปลอดภัยจากกรมเจ้าท่าแล้ว เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา และคนประจำเรือได้รับการฝึกอบรมตามข้อกำหนด มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน การคมนาคมขนส่งทางน้ำ ในเส้นทางนี้ จะเป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เข้ากับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC ช่วยเพิ่มศักยภาพของการขนส่งทางน้ำ ลดต้นทุน และอุบัติเหตุจากการขนส่งทางบก และลดปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM2.5
ภาพ/ข่าว นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน