Tuesday, 10 December 2024
Easthern

ประจวบคีรีขันธ์ - คิกออฟแห่ฉีดวัคซีนแน่นหัวหิน ร้องเพลงเบิร์ดให้กำลังใจ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

วันที่ 8 มิถุนายน นายแพทย์สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยถึง สถานการณ์โควิด-19 จ.ประจวบฯ วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 45 คน คน เป็นคนไทย 12 คน ชาวพม่า 33 ราย ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสม 1,811 คน มีผู้รักษาตัวในโรงพยาบาล 225 คน สำหรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมากถึง 45 ราย ส่วนหนึ่ง17 ราย เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่มีอาการป่วย 4 รายก่อนหน้านี้ ในโรงงานสับปะรดกระป๋องของบริษัทโดล ไทยแลนด์ จำกัดที่ ต.หนองพลับ อ.หัวหิน ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมในโรงงานฯ 136 คน นอกจากนั้นพบผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์ใหม่ที่โรงงานชำแหละไก่ บริษัทสุรชัย โพลทรี่ ฟู้ดส์ จำกัด ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน มีผู้ป่วยใหม่ที่พักร่วมกัน 23 ราย ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อสะสมในโรงงานรวม 73 ราย ขณะที่โรงงานทั้ง 2 แห่งยังเปิดสายการผลิตตามปกติ โดยมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด

ขณะที่ นายพรหมพิริยะ กิจนุสนธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่ รพ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีประชาชนได้รับคิวฉีดจำนวน 1,773 คนทยอยเดินทางมาที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยบางรายต้องนั่งรถเข็นโดยให้บุตรหลานและญาติช่วยเหลือ จากนั้นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลประจวบฯ โรงพยาบาลกองบิน 5 และประชาชนจิตอาสาได้ร่วมกันอำนวยความสะดวก มีการจัดระเบียบไม่ให้มีปัญหาความแออัด

นพ.พงษ์พจน์ ธีรานันตชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่าการให้บริการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ได้จัดจุดฉีด 15 โต๊ะฉีด หลังจากประชาชนได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้วจะมีการนัดหมายเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในอีก 16 สัปดาห์ หรือวันที่ 27 กันยายน 2564 ขณะเดียวกันในวันที่ 8 มิถุนายน นี้ จะฉีดวัคซีนเก็บตกในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเพราะเป็นกลุ่มที่มักมีปัญหาเรื่องของความดัน ส่วนผู้ป่วยติดเตียงที่มีปัญหาในการเดินทาง ขณะนี้ทางโรงพยาบาลมีบัญชีรายชื่อแล้วและจะวางแผนการให้บริการเพื่อให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงและครอบคลุมมากที่สุด ทั้งนี้ จ.ประจวบฯ ได้จัดจุดบริการฉีดวัคซีนรวม 10 จุดใน 8 อำเภอ คาดว่าจะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้จำนวนกว่า 13,000 คน เน้นการฉีดให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเข็มที่ 1 จะดำเนินการทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ตลอดเดือนมิถุนายน

ส่วนบรรยากาศวันแรกฉีดวัคซีนที่ห้องประชุม ชั้น 10 อาคารจอดรถ (ตึกส้ม) โรงพยาบาลหัวหิน มีประชาชนที่ได้ลงทะเบียนไว้จำนวนมากเข้ารับการฉัดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรกอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนเริ่ม นพ.นิรันดร์ จันทร์ตระกูล ผอ.โรงพยาบาลหัวหิน คณะแพทย์ พยาบาล และหน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมร้องเพลง "จับมือกันไว้" ของศิลปิน "เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย" เพื่อเป็นกำลังใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่มารับวัคซีนได้ก้าวผ่านภาวะวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน

นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า การบริการฉีควัคซีนในวันนี้เหตุการณ์ปกติ ประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทาง รพ.จะฉีดวัคซีนได้ประมาณชั่วโมงละ 500 คน ยอดทั้งหมด 2,514 คน น่าจะใช้เวลา 5-6 ชม.ก็เสร็จ คิดว่าไม่เป็นปัญหา สิ่งที่เราห่วงมากกว่าคือความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งชุดนี้เป็นชุดผู้สูงอายุกับผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะฉะนั้นเราจะต้องดูภาวะฉุกเฉินและเรื่องของอาการ ส่วนใครที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนฝากว่าให้รีบมาลงทะเบียนได้เลย ไม่ว่าจะลงทางอินเตอร์เน็ต หรือที่โรงพยาบาลทั้ง 5 แห่ง ที่ห้างบลูพอร์ต ห้างมาร์เก็ตวิลเลจ ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้คิว ไม่มีเส้นสายอะไรทั้งนั้น ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันหมด เข้าถึงบริการรับวัคซีนได้หมด เพียงแค่ท่านเสียเวลานิดหนึ่งในการมาลงทะเบียน ขอเน้นย้ำว่าทุกคนเข้าถึงวัคซีนได้เหมือนกันทุกคน

นายวรรธนะ ยอดอุส่าห์ อายุ 66 ปี ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนคนแรกที่ รพ.หัวหิน กล่าวว่า ตนเดินทางจากปราณบุรีมาตั้งแต่ตี 3 ถึงโรงพยาบาลหัวหินประมาณตี 4 ก่อนจะมาฉีดวัคซีนนั้น ตนไม่มีความกังวล เพราะปกติจะออกกำลังกายทุกวัน วิ่งทุกวัน และนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ อีกอย่างคือตนไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่เป็นโรคไตและกำลังฟอกไตรักษาอยู่ อยากฝากถึงคนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนให้รีบมาฉีดเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและครอบครัว

นายแพทย์สุริยะ กล่าวว่า สำหรับการคิกออฟฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซเนก้า กว่า 13,000 โดส ในวันแรกยอมรับว่ามีปัญหาอุปสรรคที่โรงพยาบาลหัวหิน และโรงพยาบาลค่ายธนะรัชต์ อ.ปราณบุรี มีผู้ลงทะเบียนผ่านแอพพ์หมอพร้อมที่มีคิวฉีดเดิมกำหนดไว้วันที่ 9 มิถุนายน 2564 แต่ภายหลังมีการแจ้งเลื่อน แต่ผู้ลงทะเบียนบางรายได้เดินทางมากดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ทำให้ต้องอธิบายทำความเข้าใจ นอกจากนั้นมีบางรายอ้างว่ารายชื่อที่ลงทะเบียนหลุดหาย เจ้าหน้าที่ต้องขอให้แสดงหลักฐาน และค้นหาในระบบเพื่อป้องกันการแอบอ้าง สำหรับการกำหนดคิวฉีดตามลำดับหมายเลขพบว่าบางโรงพยาบาลมีผู้ที่มีคิวฉีดลำดับที่ 300 ขึ้นไปมารอคิวล่วงหน้าก่อนผู้ที่มีรายชื่อ 1-250 จะฉีดครบ โดยอ้างเหตุผลขอฉีดก่อน หากคิวที่กำหนดยังเดินทางมาไม่ถึง และพบว่ามีผู้ลงทะเบียนจำนวนมากมารอที่โรงพยาบาลทั้งที่ไม่อยู่ในคิวฉีดวันแรก เนื่องจากมีความหวังว่าจะมีผู้ลงทะเบียนไว้แล้วไม่สะดวกเดินทางไปฉีดวัคซีนตามที่นัดหมาย


ภาพ/ข่าว  นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสยามโฟกัสไทม์ / 4เหล่าทัพ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ชลบุรี - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานเครื่อง Oxygen High Flow แก่ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เพิ่มศักยภาพรักษาผู้ป่วยโควิด-19

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่อง Oxygen High Flow แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ จำนวน 10 เครื่อง เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการดูแลรักษาและเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 มากขึ้น

โดยมี พล.ร.ต.ชลธร สุวรรณกิตติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลฯ ทำพิธีรับพระราชทาน หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ที่หอประชุมโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นล้นพ้นที่ทรงมีต่อ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ตลอดจนประชาชนทั่วไปและบุคลากรของโรงพยาบาล กราบถวายบังคมแทบเบื้องพระยุคลบาท และขอเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมเป็นสรรพสิริมงคล และจักมุ่งมั่นดำเนินภารกิจดูแลผู้ป่วย ประชาชนที่ทุกข์ร้อน โดยใช้ประโยชน์สูงสุดจากเครื่อง Oxygen High Flow พระราชทาน ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วย เพื่อพัฒนางานบริการทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย ในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อไป

จากนั้น พล.ร.ต.ชลธร สุวรรณกิตติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้นำข้าราชการผู้ร่วมพิธี รับพระทานจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชีนีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจป้องกันเชื้อโรค (PAPR) หรือ Powered Air-Purifying Respirators จำนวน 6 ชุด แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เพื่อให้บุคคลากรทางการแพทย์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้เกิดความปลอดภัยและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาอย่างสูงสุดต่อไป

ปัจจุบัน โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ด้วยเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูง เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวและมีนิคมอุตสาหกรรม การใช้แรงงานจำนวนมาก ขณะนี้มีผู้ที่ได้รับการยืนยันติดเชื้อโควิดที่รักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งเคสเบาและหนักรวมกว่า 20 ราย แต่มีศักยภาพในการรองนับผู้ป่วยโควิด-19 ถึง 70 เตียง โดยอุปกรณ์ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานถือว่า มีความสำคัญอย่างมาก ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ชลบุรี - กองเรือยุทธการ ร่วมทดสอบการปฏิบัติการของอากาศยานไร้คนขับ MARCUS ที่พัฒนาโดย สวพ.ทร. เตรียมนำมาใช้ในภารกิจรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม รองผู้บัญชาการทหารเรือ ชมการสาธิตการปฏิบัติการของอากาศยานไร้คนขับที่ดำเนินการพัฒนาโดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ (สวพ.ทร.) ภายใต้ชื่อโครงการอากาศยานไร้คนขับเพื่อการลาดตระเวนทางทะเล กองทัพเรือ (Maritime Aerial Reconnaissance Craft Unmanned System:MARCUS) โดยมี พล.ร.อ.สุทธินันท์  สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ, พล.ร.ท.โกวิท  อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 1, พล.ร.ต.อะดุง  พันธุ์เอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ, พล.ร.ต.อาภา ชพานนท์ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ ตลอดจนผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองเรือยุทธการ ให้การต้อนรับ บน ร.ล.อ่างทอง ท่าเทียบเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

โดยกำหนดสถานการณ์สมมติเป็นการปฏิบัติของ ศรชล.ภาค 1 สั่งการให้ ร.ล.อ่างทอง ที่กำลังลาดตระเวนในพื้นที่รับผิดชอบ ค้นหา พิสูจน์ทราบ และจับกุมเรือต้องสงสัยว่าจะลักลอบนำเข้าสารอันตรายเพื่อใช้สร้างสถานการณ์ในพื้นที่สำคัญทางภาคตะวันออก ต่อมา ร.ล.อ่างทอง ได้ตรวจพบเรือ 1 ลำ มีพฤติกรรมต้องสงสัย จึงใช้ MARCUS เข้าพิสูจน์ทราบ ก่อนที่จะส่งชุดตรวจค้นเข้าปฏิบัติการต่อไป

จากวัตถุประสงค์ในการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ MARCUS ตามที่ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในวงเงิน 10 ล้านบาท ที่ได้ทำการพัฒนาให้มีขีดความสามารถ

             -ขึ้น-ลงในพื้นที่จำกัด (ทางดิ่ง) ที่อากาศยานแบบปีกนิ่งทั่วไปไม่สามารถทำได้

             -พัฒนาระบบควบคุมและสั่งการทางยุทธวิธีทางอากาศ (Tactical-Based Aerial Command Control System:TBACCS) ให้สามารถสั่งการพ้นระยะสายตา หรือในบริเวณจุดอับสัญญาณของการสื่อสารได้

การสาธิตในครั้งนี้ได้นำกล้องตรวจการณ์ของ UAV นารายณ์ ติดตั้งเข้ากับระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับเป้าในทะเลอีกด้วย ซึ่งการปฏิบัติการในครั้งนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

คุณลักษณะของอากาศยานไร้คนขับ MARCUS ประกอบด้วย

             -ความกว้างปีก 3.4 เมตร

             -น้ำหนักขึ้นบิน 24 กิโลกรัม

             -ความเร็ว ประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

             -ระยะเวลาปฏิบัติการบนอากาศ ประมาณ 1 ชั่วโมง

             -ระยะบินไกลสุด 15 กิโลเมตร และกำลังพัฒนาในรุ่นต่อไปให้สามารถบินได้ไกลสุด 40 กิโลเมตร

อากาศยานไร้คนขับ MARCUS ได้ผ่านการทดสอบทดลองจากหน่วยปฏิบัติงานทั้งทัพเรือภาค , ศรชล.เขต และหน่วยบิน ว่าสามารถสนับสนุนการปฏิบัติการตรวจสอบและถ่ายภาพเป้าหมายในทะเล ได้ตามวัตถุประสงค์ อย่างไรก็ตามเพื่อให้ MARCUS มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องพัฒนาระยะเวลาในการปฏิบัติงานในอากาศให้ได้มากกว่า 1 ชั่วโมง  ซึ่งคณะวิจัยฯ กำลังดำเนินการปรับโครงสร้างลำตัว , เพิ่มประสิทธิภาพของแบตเตอรี่และอื่น ๆ เพื่อให้ MARCUS สามารถตอบสนองความต้องการทางยุทธวิธีได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นต้นแบบงานวิจัยที่จะสามารถนำเข้าสู่สายการผลิตให้แก่กองทัพเรือ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากจะเปรียบเทียบ MARCUS ที่กองทัพเรือวิจัยจนเป็นผลสำเร็จในครั้งนี้สามารถเทียบคุณสมบัติได้ใกล้เคียงกับอากาศยานไร้คนขับแบบ ORBITER-3B ที่กองทัพเรือจัดหาจากประเทศอิสราเอล โดยปล่อยยิงแบบ Launcher ในวงเงิน 50 ล้านบาท ต่อ 1 ชุด (อากาศยาน 1 เครื่อง และชุดควบคุม 1 ชุด) แต่ MARCUS จะใช้งบประมาณในการผลิตเพียงไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อชุด อีกทั้งยังสามารถขึ้นลงทางดิ่งที่จะสามารถตอบสนองการปฏิบัติการร่วมในทะเล ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

อากาศยานไร้คนขับ MARUS จะถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของงานวิจัยที่เข้าสู่สายการผลิต ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือ ประจำปี งบประมาณ 64 ที่มอบให้ว่า “ขับเคลื่อนงานวิจัยของกองทัพเรือให้สามารถนำไปสู่ภาคการผลิต และเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม”


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

ประจวบคีรีขันธ์ – ส่งทีมบุคลากรทางการแพทย์ 5 คน เป็นตัวแทนประจวบฯ ช่วยชาวเพชรบุรีสู้โควิด

วันที่ 11 มิ.ย. 64 นายศราวุธ จิระพิทักษ์กุล นายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ นายแพทย์พงษ์พจน์ ธีรานันตชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ นายเรวัฒน์ สุขหอม สาธารณสุขอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย ผู้บริหารและบุคลากรโรงพยาบาลประจวบฯ ร่วมกันส่งมอบกำลังใจให้กับทีมบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลประจวบฯ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นางอังศนา ทัพไชย นางนุจรี กลิ่นหอม น.ส.ธมลวรรณ ใยยินดี น.ส.อรุณโรจน์ ฤทธิ์เลิศ และ นายดาวรุ่ง อยู่หนุน พนักงานขับรถ ที่บริเวณลานกิจกรรมหน้าหอพระ โรงพยาบาลประจวบฯ เพื่อเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ณ โรงพยาบาลสนาม จ.เพชรบุรี ระหว่างวันที่ 10 - 20 มิถุนายน 64 คอยดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อเสร็จภารกิจจาก จ.เพชรบุรีแล้วจะเดินทางกลับ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคโดยการกักตัวและตรวจหาเชื้อต่อไป

นายศราวุธ จิระพิทักษ์กุล นายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ได้กล่าวให้กำลังใจบุคลากรทั้ง 5 คน คือตัวแทนของชาว จ.ประจวบฯที่น่าภาคภูมิใจและสมควรได้รับความชื่นชม ขอให้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดด้วยพลังกายพลังใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น ช่วยเหลือผู้ป่วยให้หายปลอดภัยกลับสู่ครอบครัวด้วยความสุข และจะรอต้อนรับทุกคนกลับบ้านอีกครั้งเมื่อภารกิจเสร็จสิ้น

นายแพทย์พงษ์พจน์ ธีรานันตชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบฯ กล่าวว่า ในนามตัวแทนโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ขอขอบคุณทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขทุกคนที่ได้เสียสละ และเป็นตัวแทนไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่จังหวัดเพชรบุรีในครั้งนี้ อันเนื่องจากมีการระบาดในวงกว้าง มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยต่อเนื่อง จำเป็นต้องเสริมกำลังเจ้าหน้าที่จากจังหวัดใกล้เคียงเข้าไปร่วมปฏิบัติงานเพื่อช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งการส่งทีมสนับสนุนปฏิบัติการนี้เจ้าหน้าที่จะได้เรียนรู้เพิ่มพูนทักษะการดูแลผู้ป่วยโรงพยาบาลสนามและสถานการณ์จริงมากขึ้น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานต่อไป

ด้าน นายแพทย์สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงวัคซีนทางเลือก ซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าขอสนับสนุนให้ อปท.ในจังหวัดจัดซื้อวัคซีทางเลือกอย่างน้อย 1 แสนโดส เพื่อนำวัคซีนกระจายให้กับประชาชนทุกกลุ่มได้รับวัคซีนเร็วขึ้น พร้อมกับการฉีดวัคซีนตามยอดที่รัฐจัดสรรให้ในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งขณะนี้มีผู้จองคิวผ่านแอพพ์หมอประจวบพร้อมมากกว่า 4 หมื่นคน หาก อปท.จัดซื้อขั้นตอนการขนส่งหรือจัดเก็บวัคซีนจำนวนมาก ไม่มีปัญหาในการควบคุมคุณภาพ ทุกโรงพยาบาลมีความพร้อม ส่วนการกระจายวัคซีนที่ท้องถิ่นซื้อไปฉีดให้ประชาชน จะใช้บุคลากรของโรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยขอให้เจ้าหน้าที่ อปท.ทำหน้าที่จิตอาสาเพื่อช่วยเหลือการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข


ภาพ/ข่าว  นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสยามโฟกัสไทม์ / 4 เหล่าทัพ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ชลบุรี - กระทบหนัก ร้านเสริมความงาม ร้านสัก ร้านอินเทอร์เน็ต กว่า 50 คน พบ ผวจ.ชลบุรี ขอผ่อนผันเปิดกิจการ หลังหนี้สินล้น จากพิษโควิด

เจ้าของกิจการสถานเสริมความงาม ร้านอินเตอร์เน็ต ร้านสักผิวหนัง ประมาณ 50 คน ทนไม่ไหว หลังโดนปิดมานานกว่า 7 เดือน ในการระบาดแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 รวม 3 ครั้ง โดนทวงหนี้ค่าเช่าและหนี้สินล้น เดินทางเข้าขอพบผู้ว่าราชการ จ.ชลบุรี ขอผ่อนผันให้เปิดกิจการ โดยยอมทำตามมาตรการของ ศคบ.ทุกอย่าง

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 14 มิ.ย. 64 ที่หน้าศาลากลาง จ.ชลบุรี น.ส.ณัฐวรันทร์ ศรีประไหม อายุ 34 ปี เจ้าของสถานเสริมความงามแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี พร้อมเจ้าของร้านอื่น มีทั้งเจ้าของร้านอินเทอร์เน็ตและร้านรับสักผิวหนัง ในภาคตะวันออก ประมาณ 50 คน ได้นัดรวมตัวกันเดินทางเข้าพบนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผวจ.ชลบุรี เพื่อยื่นหนังสือขอผ่อนผันให้เปิดบริการ หลังโดนสั่งปิดกิจการ 3 ครั้ง รวมกว่า 7 เดือน

ต่อมานายนริศ นิรามัยวงค์ รอง ผวจ.ชลบุรี ได้เดินทางลงมารับมอบหนังสือจากตัวแทน และให้ตัวแทนรวม 6 คน เข้าพูดคุยในห้องประชุมศาลากลาง จ.ชลบุรี โดยในหนังสือมีข้อความว่า “เรียน ท่านผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จังหวัดชลบุรี สิ่งที่แนบมาด้วยมาตรการแนวทางในการ ปฏิบัติตามเงื่อนไข การป้องกันโรคระบาด เนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบกับปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสไคโรน่า 2019 จึงส่งผลให้กิจการต่าง ๆ ภายในประเทศ ต้องหยุดกิจการลง เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส รวมไปถึงกิจการคลินิกเสริมความงาม ที่หยุดกิจการตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 2 เดือนแล้ว ซึ่งรวม 3 ครั้ง ปิดไปประมาณ 7 เดือน ทำให้ผู้ประกอบการคลินิกได้รับผลกระทบ จากรายจ่ายของกิจการที่ยังคงดำเนินอยู่ อาทิ ค่าเช่าสถานที่เปิดร้าน ด่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าจ้างพนักงานเฝ้าร้านที่ให้ช่วยสอดส่องคูแลทรัพย์สินภายในร้าน ในช่วงที่ปิดกิจการ ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการเล็งเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศดีขึ้น

โดยพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในโรงงานและแคมป์แรงงานต่างด้าว ไม่มีการระบาดเป็นวงกว้างในชุมชนปกติทั่วไป รวมถึงห้างสรรพสินค้า ดังนั้น ข้าพเจ้ากลุ่มผู้ประกอบการผู้ให้บริการคลินิกเสริมความงาม (คลินิกเวชกรรม) จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากท่าน เพื่อพิจารณาอนุญาตให้ร้านเปิดคำเนินกิจการ โดยกลุ่มผู้ประกอบการได้จัดทำมาตรการ ในการให้บริการภายในร้านดังนี้

ผู้ให้บริการคลินิกเสริมความงาม (คลินิกเวชกรรม)

1.พนักงานประจำร้านสวมหน้ากากอนามัย และ Face Shicd ตลอดเวลาที่ทำงานภายในร้าน และมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้เข้าใช้บริการทุกท่าน

2.จัดทำ QR Code ของไทยชนะ เพื่อให้ลูกค้าลงทะเบียนเข้าใช้บริการ

3.มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือตามจุดต่าง ๆ ภายในร้าน

4.จำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ เพื่อให้มีระยะห่างอย่างเหมาะสม (Social distancing) อย่างน้อย 3 ตารางเมตรเมตรต่อ 1 คนและผู้ใช้บริการ 1 คนต่อ 1 เครื่องเท่านั้น

5.จัดเก็บข้อมูลถูกค้าที่เข้าใช้บริการ ชื่อ-นามสุกล / วัน-เวลาเข้าใช้บริการ และเบอร์โทรศัพท์

6.ทำความสะอาดเครื่องมือทันที และทุกครั้งหลังถูกค้าใช้บริการเสร็จสิ้น หรือทุก 2 ชั่วโมง โดยทำความสะอาดตามจุดสัมผัสต่าง ๆ ภายในร้าน เช่น อุปกรณ์ต่าง ๆ เดียง โต๊ะ เก้าอี้ ที่มีการสัมผัส มือจับประตู ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและดวบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ในสถานประกอบการ ร้านเกม/อินเทอร์เน็ต

1.การเว้นระยะห่างเปิดให้บริการแบบเครื่องเว้นเครื่องและทำฉากกั้นที่มั่นคงแข็งแรงโดยมีความสูงไม่น้อยกว่า 50 ซม.และให้บริการลูกไม่เกิน 50% ของจำนวนเครื่องที่ให้บริการ (ร้านขนาดเล็กให้บริการได้ไม่เกิน 10 คน ,ขนาดกลางและขนาดใหญ่ให้บริการได้ไม่เกิน 25 คน)

2.พนักงานและผู้เข้าใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม ตลอดเวลาที่ใช้บริการ งดการมีปฏิสัมพันธ์ งดผู้ชม ใช้บริการได้เฉพาะผู้เข้าใช้คอมพิวเตอร์เท่านั้น

3.มีการตรวจวัดอุณหภูมิตัดกรอง สแกนไทยชนะ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าใช้บริการ งดให้บริการผู้ที่มีอาการไข้ไอจาม หอบเหนื่อย หรือเป็นหวัด และในระหว่างให้บริการ พนักงานต้องคอยหมั่นสังเกตและสอดส่องอย่างเคร่งครัด หากพบลูกค้ามีอาการไองามสามารถแจ้งให้หยุดใช้บริการได้ทันที

4.ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่เพียงพอ

5.มีแบบฟอร์มบันทึกการเข้าใช้บริการและแบบสอบถามการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง (โดยทางร้านมีการติดตามข้อมูลรายละเอียดพื้นที่เสี่ยงจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีทุกวัน)

6.ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อประตูทางเข้าออก ประตูห้องน้ำ ทำความสะอาดทุก 1 ชั่วโมง อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั้งหมดรวมไปถึงโต๊ะเก้าอี้เช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุก 2 ชั่วโมง และทุกครั้งหลังลูกค้าเลิกใช้บริการ ถูพื้นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อวันละ 2-3 ครั้งทำความสะอาดห้องน้ำด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำทุก 1 ชั่วโมง

7.เปิดประตูเพื่อระบายอากาศทุก 2 ชั่วโมง (เป็นเวลา 10-15 นาที) และทำความสะอาด เครื่องปรับอากาศ แผ่นกรองอากาศให้ได้อย่างสม่ำเสมอ

8.หลีกลี่ยงการสัมผัสเงินโดยตรงโดยใช้ภาชนะเพื่อรับเงินหรือการใช้ e-payment

9.หากผู้ประกอบการ หรือพนักงานให้บริการ หรือผู้เกี่ยวข้องมีอาการไข้หรือเป็นหวัด ให้หยุดงานและ ไปพบแพทย์โดยทันที และ

10.กำชับบุคคลที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการค้านสาธารณสุข D-M-H-T-T

นายวุฒิพงษ์ หมื่นจำนงค์ อายุ 44 ปี กิจการร้านอินเตอร์เน็ต เผยว่า วอนท่านผู้ว่าได้ทบทวนคำสั่งเพื่อช่วยเหลือพวกเราด้วย เราพร้อมที่จะทำตามคำสั่งขอให้เปิดบริการได้ เพราะเราไม่ไหวแล้วจริง ๆ

น.ส.ศุภนิจ ก๊กรัมย์ อายุ 40 ปี เจ้าของสถานเสริมความงาม เผยว่า อยากให้ท่านผู้ว่าทบทวนคำสั่งใหม่ ขนาดท่านนายกฯยังยอมผ่อนผันในบางแห่งเลย ธุรกิจต้องดำเนินต่อไป เรามาครั้งนี้เพราะทนไม่ไหวแล้ว ปิดนานแต่เรามีรายจ่าย ทุกวันทุกเดือน เพราะต้องจ้างคนดูแลร้าน ส่วนลูกน้องนั้นก็จะโดนยึดหมดแล้วทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เขาปิดเราแต่ไม่มีการเยียวยาใด ๆ เลย เจ้าของธุรกิจเขาก็ต้องดูแลน้อง ๆ เขา แต่ว่ามาถึงจุดตอแนนี้ก็ดูแลไม่ไหวแล้วเหมือนกันจึงมาของอนุเคราะห์ผ่อนผันให้เปิดได้ด้วยนายนริศ นิรามัยวงค์ รอง ผวจ.ชลบุรี เปิดเผยว่า ก็จะนำหนังสือไปมอบให้ท่านผู้ว่าฯ เพื่อนำเข้าที่ประชุม ศคบ.ชลบุรี ในวันพฤหัสนี้ เพื่อขอผ่อนผันให้เปิดต่อไป ซึ่งก็เห็นใจทุกฝ่าย คาดว่าทางคณะที่ประชุม ศคบ.ชลบุรี ก็คงพิจารณาอีกครั้ง    


ภาพ/ข่าว  นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - ฐานทัพเรือสัตหีบ นำกำลังพลพร้อมอุปกรณ์ ขุดลอกคูคลองเปิดทางระบายน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณโรงสิงห์สมุทร

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.64 พลเรือโท อนุชาติ อินทรเสน ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ การปฎิบัติงานของกำลังพล ซึ่งได้ร่วมกันนำอุปกรณ์ ขุดลอกคูคลองบริเวณโรงเรียนสิงห์สมุทร หลังปั้มน้ำมันบางจากแยกสัตหีบ เนื่องจากมีเศษกิ่งไม้ ใบหญ้า และวัชพืชขึ้นรกทำให้ทางระบายน้ำไม่สะดวก เกิดน้ำท่วมขังบริเวณทางเข้าโรงเรียนสิงห์สมทุร หลังกิจการสถานีบริการยานยนต์ (ปั๊มน้ำมันบางจาก)

โดยทางฐานทัพเรือสัตหีบ จัดกำลังพลพร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ ได้แก่ รถแบ็คโฮ รถบรรทุก ดำเนินการขุดลอกคูคลอง ทางระบายน้ำ กำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเป็นการเปิดทางระบายน้ำให้ไหลออกจากพื้นที่บริเวณโรงเรียนสิงห์สมุทรซึ่งเป็นเขตต่อเนื่องระหว่าง ฐานทัพเรือสัตหีบ และหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังซึ่งเกิดจากการระบายน้ำไม่ทันในช่วงฤดูฝน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการคมนาคมของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนข้าราชการ นักเรียนโรงเรียนสิงห์สมุทร บริเวณพื้นที่แยกสัตหีบ ถนนสุขุมวิท และเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ฤดูฝน และการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนสิงห์สมุทร

ในการนี้ นาย คงเดช โชติจำลอง ผู้อำนวยการโรงเรียนสิงห์สมุทร ซึ่งได้เดินทางมาให้การต้อนรับพร้อมคณะครูโรงเรียนสิงห์สมุทร กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ตรงบริเวณนี้มีขยะ เศษไม้ และวัชพืชทับถมมาเป็นเวลานานหลายปี จึงทำให้เกิดการอุดตัน กีดขวาง ทางระบายน้ำ น้ำระบายไม่ทัน เวลาฝนตกจึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง จึงขอขอบคุณฐานทัพเรือสัตหีบ โดย พลเรือโท อนุชาติ อินทรเสน ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ ที่จัดกำลังพลพร้อมด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ มาร่วมพัฒนา ขุดลอกคูคลอง เปิดทางระบายน้ำ จะทำให้แก้ปัญหาน้ำท่วมได้ต่อไป


ภาพ/ข่าว สมนึก เชื้อสนุก

ชลบุรี – ฐานทัพเรือสัตหีบ มอบรางวัลการประกวดบ้านพักให้กำลังพล ตามโครงการ ‘หน้าบ้านน่ามอง ในบ้านน่าอยู่ เหล่านาวีมีสุข’

วันนี้ 22 มิ.ย.64 พลเรือโท อนุชาติ อินทรเสน ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ มาเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดบ้านพักและอาคารที่พักอาศัย ของฐานทัพเรือสัตหีบ (แบบ New Normal) ณ สโมสรสัญญาบัตร ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมี คณะผู้บังคับบัญชา ข้าราชการ ทหาร ตลอดจนผู้ที่ได้รับรางวัล เข้าร่วมในพิธี

ตามนโยบาย ผบ.ทร. ประจำปีงบประมาณ 2564 ด้านสวัสดิการ ดำเนินการจัดการ เรื่องสวัสดิการที่พักของ ทร.ทั้งบ้านพักหน่วยและบ้านพักส่วนกลางของ ทร.ต้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องตามระเบียบฯ และมีรูปแบบการบริหารจัดการที่มีความเป็นมาตรฐานเดียวกัน ตอบสนองต่อความมีสวัสดิการที่ดีของกำลังพล ทร.ในทุกระดับอย่างแท้จริง

คณะทำงานจัดประกวดบ้านพักและอาคารที่พักอาศัย (จร.ทร.) ได้ดำเนินการโครงการ “หน้าบ้านน่ามอง ในบ้านน่าอยู่ เหล่านาวีมีสุข” โดยการจัดประกวดบ้านพักแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทแฟลต ประเภทเรือนแถว และประเภทบ้าน (บ้านเดี่ยวและบ้านแฝด) และแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ระดับ คือ ในระดับ ทร. และระดับพื้นที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ได้ดำเนินการตามนโยบาย ผบ.ทร. โดยการจัดโครงการประกวดบ้านพักและอาคารที่พักส่วนกลางในระดับพื้นที่ ซึ่งขอให้หน่วยที่รับผิดชอบบ้านพักและอาคารที่พักอาศัยในเขตพื้นที่ ดำเนินการออกตรวจบ้านพักและให้คะแนนในรอบแรก เสร็จแล้วให้สรุปคะแนนส่งผลให้คณะกรรมการจัดประกวดบ้านพักของฐานทัพเรือสัตหีบทราบ หลังจากนั้น คณะกรรมการฯ ได้ออกตรวจบ้านพักและอาคารที่พักฯ เพื่อให้คะแนนในรอบสุดท้ายต่อไป ในการนี้ คณะกรรมการฯ ได้ตัดสินการประกวดฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว มีผู้ได้รับรางวัลการประกวดฯ รวมทั้งสิ้น 35 รางวัล

พลเรือโท อนุชาติ อินทรเสน กล่าวว่า ขอชื่นชมและขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลการประกวดบ้านพักฯทุกท่านวันนี้ ทุกท่านได้แสดงความตั้งใจความร่วมมือร่วมใจกัน ของการเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินกิจกรรมในโครงการฯจนบรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือซึ่งในอนาคตผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะช่วยกันและดูแลบ้านพักและอาคารที่พักอาศัยให้มีความสะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอตลอดไปเป็นตัวอย่างที่ดีแก่อาคารที่พัก อาศัยอื่น ๆ


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล  ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ชลบุรี - พัทยาเปิดตัวโครงการ "พัทยาพร้อม" ให้ ปชช.ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน 28 มิ.ย.- 2 ก.ค.64

วันที่ 24 มิ.ย.64 ที่ห้องประชุมศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา และคณะผู้บริหารเมืองพัทยา ร่วมแถลงข่าวโครงการ "เมืองพัทยาพร้อม" ที่เปิดให้ประชาชนจองฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม หลังจากเมืองพัทยาได้ประสานงานสั่งจองวัคซีนซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จำนวน 1 แสนโดส รองรับประชาชนชาวเมืองพัทยาจำนวน 5 หมื่นคน

สำหรับช่องทางการให้บริการประชาชนเข้ารับฉีดวัคซีน ทั้งแบบฟอร์มออนไลน์ผ่าน google from "พัทยาพร้อม "https://sites.google.com/view/pattayaready และบริการลงทะเบียนให้ประชาชนที่ไม่มีความชำนาญเรื่องการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์

รวมทั้งสิ้น 8 จุดลงทะเบียน ประกอบด้วย การกำกับดูแลของสำนักสาธารณสุขเมืองพัทยา จะมี 4 จุดลงทะเบียน คือ 1.บริเวณหน้าห้องกลุ่มกฎหมาย ชั้น 1 อาคาร 2 ศาลาว่าการเมืองพัทยา 2.โรงพยาบาลเมืองพัทยา 3.ศูนย์แพทย์ชุมชน วัดบุณย์กัญจนาราม และบริเวณริมชายหาด ตรงข้ามซอย 6 ถนนเลียบชายหาดเมืองพัทยา

ในส่วนของการกำกับดูแลของสำนักการพัฒนาสังคม ได้ร่วมกับ อสม. ลงพื้นที่ตั้งหน่วยรับลงทะเบียน 4 จุด คือ 1.โรงเรียนเมืองพัทยา 2 (เจริญราษฎร์อุทิศ) 2.โรงเรียนเมืองพัทยา 5 (บ้านเนินพัทธยาเหนือ) 3.โรงเรียนเมืองพัทยา 8 (พัทธยานุกูล) และ 4.โรงเรียนเมืองพัทยา 11 (สาธิตอุดมศึกษา)

สำหรับจุดรับลงทะเบียนวัคซีนทางเลือก จะทำการตั้งแต่ 9.00-15.00 น. เพื่อสนับสนุนการอำนวยความสะดวกให้บริการประชาชนได้รับทราบและเข้าถึงการให้บริการวัคซีนซิโนฟาร์มได้อย่างครอบคลุม โดยประชาชนชาวเมืองที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเมืองพัทยาอย่างน้อย 1 ปี จะสามารถลงทะเบียนพัทยาพร้อม ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.ถึงวันที่ 2 ก.ค.64

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า เมืองพัทยาได้หาทางจัดสรรให้ประชาชนได้รับบริการวัคซีนทั้งที่มีชื่ออยู่ในเขตเมืองพัทยา และประชากรแฝงที่มาทำงานในเขตเมืองพัทยา และพื้นที่ใกล้เคียง รวมแล้วกว่า 3 แสนคน โดยมีช่องทางต่าง ๆ ที่ทำให้ได้รับการสนับสนุนวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงทะเบียนหมอพร้อม และกลุ่มประกันสังคม

สำหรับวัคซีนทางเลือก วัคซีนซิโนฟาร์มที่เมืองพัทยาได้สั่งไปนั้น เป็นการสนับสนุนการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชนที่ชื่อมีทะเบียนบ้านอยู่ในเมืองพัทยาอย่างน้อย 1 ปี เพื่อเตรียมพร้อมเปิดประเทศตามแนวทางรัฐบาล เพราะเป็นกลุ่มที่มีบัญชีรายชื่อตามทะเบียนราษฎร์อยู่แล้ว

ในส่วนของประชาชนผู้ที่ลงทะเบียนไว้ก่อนแล้ว แต่อยากมาลงทะเบียนพัทยาพร้อม ก็สามารถมาลงทะเบียนเพิ่มเติมได้เลย ทางระบบจะมีการจัดการข้อมูลการจัดสรรและให้บริการวัคซีนตามความเหมาะสม และจะมีช่องทางการลงทะเบียนสำหรับประชาชนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเมืองพัทยา แต่อาศัยไม่ถึง 1 ปี และประชาชนที่ไม่มีทะเบียนบ้านในเขตเมืองพัทยา เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดสรรวัคซีนตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวต่างชาติและต่างด้าว ตอนนี้จะมีบริการวัคซีน ในพื้นที่การแพร่ระบาดเท่านั้น ซึ่งเมืองพัทยา จะมีการเปิดรับลงทะเบียน สำหรับกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน แต่ต้องรอการลำดับในการจัดการให้เสร็จสิ้นก่อน


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ระยอง - "คลัสเตอร์ฟาร์มเห็ดติดโควิดพุ่ง 105 ราย" พ่อเมืองระยอง สั่งตั้ง รพ.สนามในฟาร์มเห็ด พร้อมเร่งตรวจคัดกรองเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อในพื้นที่ ป้องกันการแพร่ระบาด

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2564 ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแกลง อ.แกลง จ.ระยอง นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผวจ.ระยอง เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอแกลง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด และอำเภอแกลง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ใน บ.ฟาร์มเห็ดระยองแอนด์วีวีไบโอเท็ค จำกัด ม.5 ต.เนินฆ้อ อ.แกลง  ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานทั้งชาวไทย กัมพูชา และพม่าแล้ว รวม 105 ราย ก่อนจะเดินทางไปตรวจสถานที่ฟาร์มเห็ด และตรวจความพร้อมสถานที่ที่จะใช้เป็นที่กักตัวเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อภายในฟาร์มเห็ดดังกล่าว 2 แห่ง คือสถานปฏิบัติธรรม มณฑป ม.3 ต.เนินฆ้อ และโรงแรมแห่งหนึ่งริมชายหาดแหลมแม่พิมพ์ ต.กร่ำ ซึ่งเจ้าของเป็นญาติกับเจ้าของฟาร์มเห็ด

นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผวจ.ระยอง กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับฟังรายงานสถานการณ์ พบฟาร์มเห็ดดังกล่าว มีแรงงานทั้งชาวไทยและต่างด้าว ทำงานอยู่ จำนวน 159 คน ซึ่งสภาพสถานที่ทำงานเป็นห้องแอร์ แออัด เหมาะกับแพร่เชื้อ โดยพบผู้ติดเชื้อแล้ว จำนวน 105 รายแล้ว ได้มีการนำตัวเข้ารักษาเรียบร้อยแล้ว ส่วนคนงานที่เหลือ และผู้สัมผัสใกล้ชิด จำนวน 71 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไปเช่าบ้านพักนอกฟาร์มเห็ด เนื่องจากในฟาร์มเห็ด ไม่มีที่พัก ทั้งนี้ได้สั่งการให้ตามตัวเข้ามารับการกักตัวภายใน รพ.สนามที่ฟาร์มเห็ด และสถานที่กักตัวทั้ง 2 แห่งที่เตรียมไว้โดยด่วนแล้ว รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่เร่งคัดกรองชาวบ้านใกล้ฟาร์มเห็ด 2 หมู่บ้าน คือ ม.5 ต.เนินฆ้อ และ ม.3 ต.กร่ำ และหมู่บ้านอื่นตำบลใกล้เคียงด้วย ซึ่งหากมีความจำเป็นก็ต้องมีการปิดหมู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการสั่งปิดตลาดนัดทั่วทั้งอำเภอ ยกเว้นตลาดที่มีมาตรฐาน และปิดโรงเรียนอีก 3 แห่ง คือ โรงเรียนวัดกลางกร่ำ โรงเรียนวัดพลงช้างเผือก และโรงเรียนวัดเขากระโดน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้างอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  วฐิต กลางนอก / ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน

ระยอง - ผงะพบนมโรงเรียน เกือบ 1 พันกล่อง ถูกนำมาทิ้งไว้ในป่า ต.ห้วยโป่ง ระยอง

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2554 ได้รับรายงานว่าจาก เหตุการณ์ ที่ผ่านมา พบนมกล่องจำนวนมากถูกขนมาทิ้งในซอยสุขุมวิท16 ต.ห้วยโป่ง โดย วันนี้ได้ลงพื้นที่บริเวณที่พบ เป็นลานกว้างไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ติดกับกำแพงข้างโรงเรียนระยองวิทยาคม จากการสอบถามเบื้องต้นไม่ได้เป็นนมของโรงเรียนระยองวิทยาคม เพราะเป็นระดับมัธยม คาดว่าโรงเรียนที่แจกนมให้เด็กไม่หมด หรือเก็บไว้จนหมดอายุ ซึ่งจึงนำมาทิ้งไว้ จริงๆแล้วถ้าหากว่ามีการบริหารจัดการที่ดี นมเหล่านี้ไม่น่าจะถูกนำมาทิ้งอย่างไร้ค่าแบบนี้ เพราะนมเหล่านี้ก็คืองบประมาณที่ถูกจัดสรรมา เพื่อจัดซื้อนมให้เด็ก ๆ ได้ทานกัน ก็ควรแจกให้เด็ก ๆ ได้นำไปทานกันให้หมด หรือถ้าผู้ปกครองมารับไม่หมด ก็ควรมอบให้เด็กในโรงเรียนหรือคนยากจน น่าจะมีประโยชน์มากกว่านี้ 

โดยวันต่อมาผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ได้พบเห็นกล่องที่ถูกนำมาทิ้งไว้หลังจากที่เป็นกระแสโซเชียลก็ได้ถูกเก็บและขนย้ายออกไปทิ้งบริเวณอื่นเพื่อทำลายหลักฐานหรือไม่แต่ก็ยัง คงเหลืออยู่ โดยเฉพาะหลอดที่มากับนม พบวางถูกทิ้งไว้ เกลื่อนกลาด ต่อมาได้มีการขุดคุ้ยในหลุมลึกก็ยังพบนมกล่องอยู่จำนวนมาก คาดว่าน่าจะรีบมีการขนย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว ในกรณีเร่งด่วน โดยไม่ทราบว่ามาจากที่ใด
เบื้องต้น นาย ชาญชนะ เอื่ยมแสงผู้ว่าราชการจังหวัดระยองทราบเรื่องแล้ว โดยได้สั่งการไปที่ นายถวิล โพธิบัวทอง นายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด ได้ลงมาตรวจสอบ แล้วจะ ดำเนินการหาข้อมูลตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป


ภาพ/ข่าว นายราชัญ กองทอง ผู้สื่อข่าวจังหวัดระยอง / ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top