Saturday, 4 May 2024
โอมิครอน

ทร.เตรียมพร้อม!! รพ.สนาม รับมือการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน

พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 สายพันธุ์โอมิครอ ที่กำลังระบาดอยู่เป็นวงกว้างในขณะนี้ พลเรือเอก สมประสงค์  นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งการให้หน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล/สถานพยาบาล/โรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับการแพร่ระบาด ดังนี้

 1. ให้โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เป็นโรงพยาบาลหลัก สามารถให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีหอผู้ป่วยวิกฤต ห้องแรงดันลบ หอผู้ป่วยรวม และห้องแยก มีขีดความสามารถในการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษา ตั้งแต่อาการเล็กน้อย จนถึงขั้นวิกฤติ

 2. ให้มีความพร้อมของโรงพยาบาลสนามของกองทัพเรือ 3 แห่งที่จัดตั้งมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วให้การสนับสนุนสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้รวม 1,109 เตียง ประกอบด้วย

 - โรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (เกล็ดแก้ว) อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จำนวน 544 เตียง

 - โรงพยาบาลสนาม ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จำนวน 180 เตียง

 - โรงพยาบาลสนาม สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี จำนวน 385 เตียง

ในการนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ยังได้เน้นย้ำให้ข้าราชการกองทัพเรือ เพิ่มความระมัดระวังทั้งแก่ตนเองและสมาชิกในครอบครัว ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ระบาดเพิ่มขึ้นนี้ โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคระบาดตามที่รัฐบาล กำหนดและมาตรการตามที่กองทัพเรือ ได้สั่งการอย่างเคร่งครัดอีกด้วย

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสนามของกองทัพเรือทั้ง 3 พื้นที่ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการและกำกับดูแลของหน่วยงาน สาธารณสุขจังหวัดใน แต่ละพื้นที่ ที่ผ่านมาได้ปิดการใช้งานชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ลดลงในช่วงปลายปี 2564 อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบกับ โรงพยาบาลสนามทั้ง 3 พื้นที่ ทราบว่า พร้อมให้การสนับสนุนสาธารณสุขจังหวัด ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2565 เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป

 

 

สธ.ประเมินสถานการณ์ ‘โอมิครอน’ ลาม 2 เดือน แต่จะค่อยๆ ลดลง พร้อมคุมอยู่ภายใน 1 ปี

สธ. งัด 4 มาตรการรับมือโอมิครอน มุ่งชะลอการระบาดให้ระบบสาธารณสุขดูแลได้ คาดระบาดอย่างน้อย 2 เดือน จ่อลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง ปีนี้โควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น หากอัตราตายลดเหลือ 0.1% จังหวัดยอดพุ่งอีก 2 สัปดาห์ค่อยๆ ลด

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รุจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 65 ที่กระทรวงสาธารณสุข ว่า แผนรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกมกราคม 2565 หรือโอมิครอน มี 4 มาตรการ คือ 

1.) มาตรการสาธารณสุข จะมุ่งชะลอการระบาดเพื่อให้ระบบสาธารณสุขดูแลได้ ฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิต้านทานให้ประชาชน คัดกรองตนเองด้วย ATK ติดตามเฝ้าระวังกลายพันธุ์ 

2.) มาตรการการแพทย์ มุ่งเน้นใช้ระบบดูแลที่บ้านและชุมชน (Home Isolation/Community Isolation) ระบบสายด่วนประสานการดูแลผู้ติดเชื้อ ช่องทางด่วนส่งต่อเมื่อมีอาการมากขึ้น และเตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์ โดยในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ยังมีประสิทธิภาพดีในการรักษาผู้ติดโควิด-19 ถ้าเริ่มต้นให้เร็วรวมถึงโอมิครอนด้วย ขณะนี้มีสำรองประมาณ 158 ล้านเม็ด

3.) มาตรการสังคม ประชาชนใช้การป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด (UP : Universal Prevention) และสถานบริการปลอดความเสี่ยงโควิด (COVID Free Setting) 

และ 4.) มาตรการสนับสนุน ค่าบริการรักษาพยาบาล และค่าตรวจต่างๆ 

ทั้งนี้ ในปี 2565 จะก้าวเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นของโรคโควิด-19 โดยเชื้อลดความรุนแรง ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิต้านทาน และชะลอการแพร่ระบาด

ผู้สื่อข่าวถามว่า โควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อไหร่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การจะเป็นโรคประจำถิ่นเกิดจากลักษณะตัวโรคลดความรุนแรงลง ประชาชนมีภูมิต้านทาน ระบบรักษามีประสิทธิภาพ ลดอัตราป่วยหนัก เพื่อให้อัตราเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำมาก สาเหตุที่โควิดเป็นโรคระบาดรุนแรง เพราะอัตราเสียชีวิตสูงถึง 3% และค่อยๆ ลดลง หากลดมาถึง 0.1% ก็จะเข้าข่ายโรคประจำถิ่นได้ ส่วนอีกนานหรือไม่ ตนได้ปรึกษากับกรมควบคุมโรคว่า ขณะนี้เป็นระลอกโอมิครอนที่จะอยู่ประมาณ 2 เดือนจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง เกิดพีคเล็กๆ ไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ หากการจัดการวัคซีนดี ประชาชนร่วมฉีดให้มีภูมิต้าน โรคไม่กลายพันธุ์เพิ่ม การติดเชื้อไม่รุนแรงมากขึ้น ก็คาดว่าภายในปีนี้จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปได้

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคพิจารณาลดวันกักตัว กรณีเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งเดิมจะต้องกักตัวนาน 14 วัน ซึ่งนานกว่ากรณีคนติดเชื้อที่รักษาในรพ. ที่อยู่ที่ 10 วัน จึงให้พิจารณาดูว่าสามารถลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงเหลือ 7 วันได้หรือไม่ รวมถึงการปรับนิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใหม่ หากใส่หน้ากากอนามัยถือเป็นสัมผัสเสี่ยงต่ำ แต่หากสัมผัสระหว่างที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยจึงจะถือเป็นสัมผัสเสี่ยงสูง

'โอมิครอน' ใน US และ UK ถึงจุดพีคเร็วมาก นักวิทย์ ชี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนโรคระบาดใหญ่

บรรดานักวิทยาศาสตร์พบเห็นสัญญาณการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตัวกลายพันธุ์โอมิครอนอาจถึงจุดสูงสุดแล้วในสหราชอาณาจักร เช่นเดียวกับสหรัฐฯ พร้อมชี้ว่าเคสผู้ติดเชื้ออาจเริ่มลดลงอย่างฉับพลันหลังจากนี้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนถึงขั้นมองว่าบางทีโอมิครอนอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโรคระบาดใหญ่ ที่เปิดทางให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับไวรัส

เหตุผลก็คือตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าแพร่กระจายเชื้อรวดเร็วมากๆ บางทีอาจไม่มีคนเหลือให้ติดเชื้อแล้ว ไม่ถึง 1 เดือนครึ่ง หลังจากมันถูกตรวจพบเป็นครั้งแรกในแอฟริกาใต้ "มันกำลังลดลงอย่างรวดเร็วเท่ากับตอนที่มันเพิ่มขึ้น" อาลี มอคแด็ด ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันในซีแอตเทิลกล่าว

แต่ขณะเดียวกัน พวกนักวิทยาศาสตร์เตือนว่ายังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับระยะถัดไปของโรคระบาดใหญ่ เนื่องจากจุดสูงสุดและการลดลงใน 2 ประเทศ เกิดขึ้นโดยใช้เวลาต่างกันและมีอัตราความรวดเร็วต่างกัน ดังนั้นช่วงเวลายากลำบากยังคงรออยู่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์หรือหลายเดือนข้างหน้า ทั้งสำหรับคนไข้และโรงพยาบาลต่างๆ ที่อัดแน่นไปด้วยผู้ป่วย แม้นหากข้อสันนิษฐานเคสผู้ติดเชื้อลดลงเกิดขึ้นจริงก็ตาม

"ยังคงมีคนอีกมากมายที่จะติดเชื้อ ตอนที่เราไต่ลงเนินเขาทางด้านหลัง" คำกล่าวของ ลอเรน อันเซล เมเยอร์ส ผู้อำนวยการสถาบันโมเดลโควิด-19 แห่งมหาวิทยาลัยเทกซัส ซึ่งคาดหมายว่าเคสผู้ติดเชื้อจะถึงจุดพีคสุดภายในสัปดาห์นี้

ในส่วนของโมเดลที่ได้รับความเชื่อถืออย่างมากของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ระบุว่าจำนวนเคสผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯ จะแตะระดับสูงสุด 1.2 ล้านคนในวันที่ 19 มกราคม และจากนั้นจะลดลงอย่างรวดเร็ว "ง่ายๆ เลยคือทุกคนที่สามารถติดเชื้อจะติดเชื้อหมดแล้ว" มอคแด็ด ระบุ

เขากล่าวว่า ในข้อเท็จจริงที่ผ่านการคำนวณอันซับซ้อนของทางมหาวิทยาลัย ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่แท้จริงของสหรัฐฯ การประมาณการซึ่้งนับรวมคนที่ไม่เคยตรวจเชื้อด้วย ได้ผ่านจุดพีคมาแล้ว โดยแตะระดับ 6 ล้านคนเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันในสหราชอาณาจักร เคสผู้ติดเชื้อใหม่โควิด-19 ลดลงเหลือราวๆ 140,000 คนต่อวันในสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากเคยพุ่งขึ้นมากกว่า 200,000 คนต่อวันในช่วงต้นเดือน

เควิค แม็คคอนเวย์ ศาสตราจารย์เกษียณอายุ ด้านสถิติประยุกต์แห่งมหาวิทยาลัยโอเพ่นของสหราชอาณาจักร ระบุว่าในขณะที่เคสผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ อย่างเช่น ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ และทางตะวันตกของแถบมิดแลนด์ แต่การแพร่ระบาดอาจเลยจุดพีคแล้วในลอนดอน

ข้อมูลเหล่านี้เพิ่มความหวังแก่ 2 ประเทศ ว่าอาจกำลังได้เห็นสิ่งเดียวกับที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ ซึ่งเคสผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างรวดเร็ว แต่จากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อก็ลดลงอย่างมากในอีก 1 เดือนต่อมา

"เรากำลังพบเห็นเคสผู้ติดเชื้อที่กำลังลดลงอย่างชัดเจนในสหราชอาณาจักร แต่ผมอยากเห็นเคสผู้ติดเชื้อลดลงมากกว่านี้ ก่อนที่เราจะสรุปได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ จะเกิดขึ้นที่นี่ด้วย" นายแพทย์พอล ฮันเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียแห่งสหราชอาณาจักรกล่าว

มีความแตกต่างหลายอย่างระหว่างสหราชอาณาจักรกับแอฟริกาใต้ อาทิ การมีประชากรสูงวัยกว่าของสหราชอาณาจักร และแนวโน้มที่ประชาชนของสหราอาณาจักรใช้เวลาอยู่ในร่มมากกว่าในช่วงฤดูหนาว นั่นหมายความว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของแต่ละประเทศจะมีความไม่แน่นอนแตกต่างกันออกไป

ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจบังคับใช้ข้อจำกัดต่างๆ น้อยที่สุดในการรับมือกับโอมิครอน ดังนั้นจึงอาจทำให้ตัวกลายพันธุ์นี้แพร่ระบาดในหมู่พลเมืองของสหราชอาณาจักรเร็วกว่ามากเมื่อเทียบกับประเทศยุโรปตะวันตกอื่นๆ อย่างเช่น ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี ที่กำหนดมาตรการเข้มงวดควบคุมโควิด-19

‘หมอสันต์’ เปิดหลักฐานความรุนแรง ‘โอมิครอน’ ชี้ อัตราตายใกล้ศูนย์ - ต่ำกว่าเดลตา 9 เท่า

13 มกราคม 2565 นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ drsant.com โดยระบุถึง “หลักฐานวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกเรื่องความรุนแรงของโอไมครอนในสหรัฐอเมริกา” มีเนื้อหาว่า ความกลัวโอไมครอนทั่วโลกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีการแพร่ข่าวเรื่องความรุนแรงของโรคนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาในประเด็นต่างๆ เช่น การที่ยอดผู้ป่วยถูกแอดมิทไว้รักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น การตายเพิ่มขึ้น เด็กป่วยมากกว่าผู้ใหญ่และตายมากกว่าผู้ใหญ่ เป็นต้น ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ข่าว ไม่ใช่หลักฐานวิทยาศาสตร์ แต่ตอนนี้หลักฐานวิทยาศาสตร์ของจริงออกมาแล้ว เป็นงานวิจัยที่แคลิฟอร์เนียซึ่งสปอนเซอร์โดยศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) มีศูนย์ประสานงานการวิจัยอยู่ที่ยูซี.เบอร์คเลย์ ซึ่งผมขอสรุปผลให้ฟังดังนี้

งานวิจัยนี้ทำกับผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอนที่ยืนยันการตรวจด้วยเทคนิค SGTF (S gene target failure) ทำเฉพาะกับผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลจำนวนรวม 52,297 คน พบผลดังนี้

ผู้ป่วยทั้งหมด รวม 52,297 คน หากนับเฉพาะคนที่ติดตามได้อย่างน้อย 5.5 วัน รวมทั้งหมด 288,534 คน พบว่า

ผู้ป่วยถูกรับไว้ในโรงพยาบาล 88 คน (0.48%)

ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 0 คน (0%)

ท้ายที่สุดแล้วมีตาย 1 คน (0.09%)

ศูนย์จีโนมฯ เปิดผลตรวจสายพันธุ์โควิด คาดใกล้ End game กลายเป็นโรคประจำถิ่น

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการตรวจสายพันธุ์ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 3-16 มกราคม 2565 พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 97.1% (69/71) และเดลตา 2.8% (2/71) นอกจากนี้มีการส่งตัวอย่างสุ่มตรวจจากเรือนจำ เป็นสายพันธุ์เดลตาทั้ง 100% (30/30)

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวหมายถึงในกรุงเทพฯ หากไม่นับในเรือนจำ “โอมิครอน” น่าจะเข้ามาแทนที่ “เดลตา” เกือบหมดแล้ว “Twindemic” หรือการติดเชื้อสองสายพันธุ์ ระหว่าง “โอมิครอน” และ “เดลตา” ไปพร้อมกันในระยะเวลาสั้นๆ ได้จบลงแล้ว ไม่นาน “โอมิครอน” คงจะกระจายไปทั่วประเทศ

ไม่ช้าคงเป็นตามที่นายแอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อและภูมิแพ้แห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคนสำคัญในคณะทำงานเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เตือนว่า “ในที่สุดแทบทุกคนจะติดเชื้อไวรัสโอมิครอน” จากนั้นทั้งภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและจากการติดเชื้อตามธรรมชาติจะพุ่งขึ้นสูง ลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 และลดอัตราการเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็ว เห็นปรากฏการณ์นี้ได้อย่างชัดเจนจากข้อมูลผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตทั่วโลกจาก “โอมิครอน”

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแอฟริกาใต้ ลดลงจนเข้าสู่สภาวะปรกติ ในขณะที่ผู้เสียชีวิตไม่มาก มีประชากรติดเชื้อไวรัสจากธรรมชาติเป็นจำนวนมาก

‘โอมิครอน’ ยึดพื้นที่ทั่วไทย 80% สธ.คาด สิ้นเดือนนี้เข้าแทนที่ ‘เดลตา’ 

นายแพทย์ศุภกิจ เผย ทุกจังหวัดในไทยล่าสุดติดเชื้อโอมิครอนครบแล้ว คาดปลายเดือนนี้เชื้อดังกล่าวเพิ่มเป็น 98% เข้ามาแทนที่จนเดลตาหายไป 

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทย วันนี้ไม่มีจังหวัดไหนที่ไม่พบเจอเชื้อโอมิครอน โดยพบแล้วทุกพื้นที่ ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 17,021 ราย จังหวัดที่สูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ และ เชียงใหม่ เพิ่มขึ้นกว่า 200 ราย และเป็นการติดเชื้อในพื้นที่ร้อยกว่าราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้เดินทางมาจากต่างประเทศวันนี้ ร้อยละ 97 เป็นการติดเชื้อโอมิครอน ดังนั้น คนที่ตรวจหาเชื้อพบผลบวก ก็เชื่อได้เลยว่าเป็นโอมิครอนเกือบทั้งหมด

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนกลุ่มในประเทศก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา จะตรวจโดยตรวจกลุ่มเดินทางมาจากต่างประเทศ และเดินทางผ่านชายแดนเข้ามาทุกราย ด้วยวิธี RT-PCR และจำนวนหนึ่งจะส่งมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว โดยสุ่ม 140 ตัวอย่าง ต่อศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมี 15 แห่งทั่วประเทศ และครึ่งหนึ่งจะถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ส่วนกลุ่มอื่นๆ เช่น การสุ่มในภาพรวมจากผลบวกในแต่ละวัน คลัสเตอร์การระบาด กลุ่มที่ได้วัคซีนแล้ว และกลุ่มที่มีอาการเสียชีวิต บุคลากรการแพทย์ คนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น

“ข้อมูลในช่วงวันที่ 11-17 มกราคม 2565 ภาพรวมประมาณ ร้อยละ 87 แต่เฉพาะคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ร้อยละ 97 จาก 1,437 ตัวอย่าง ขณะที่ในประเทศตรวจ 2,274 ตัวอย่าง พบเป็นเชื้อโอมิครอน ร้อยละ 80 เชื้อเดลตา ร้อยละ 20 เป็นสัดส่วนที่น่าจะใกล้ความเป็นจริงในภาพรวมของประเทศ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สำหรับการตรวจสายพันธุ์ย่อยในประเทศไทย ในกลุ่มคนทั่วไป วันนี้สัดส่วนที่เจอเชื้อโอมิครอน ร้อยละ 85 เชื้อเดลตา ร้อยละ 15 แต่มีเชื้อเดลตาสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มติดเชื้ออาการรุนแรง หรือเสียชีวิต พบประมาณ ร้อยละ 33 หรือ 2 เท่า ของกลุ่มแรก อันนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าสายพันธุ์โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเชื้อเดลตาแน่นอน

“ส่วนกลุ่มที่วัคซีนครบถ้วน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มฉีด 2 เข็ม พบเชื้อเดลตาพอสมควร บุคลากรการแพทย์ร้อยละ 25 เป็นเชื้อเดลตา และสุดท้ายที่น่าสนใจ 8 ราย ที่มีการติดเชื้อซ้ำเป็นเชื้อโอมิครอน ร้อยละ 100 จากเดิมคนที่ติดเชื้อเดิม เช่น เชื้อเดลตา จะมีภูมิสูง แต่ยังสามารถติดเชื้อซ้ำเป็นเชื้อโอมิครอนได้ สะท้อนว่า ภูมิเดิมที่มีต่อเชื้อเดิมป้องกันเชื้อโอมิครอนไม่ได้” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า ในเชิงพื้นที่ตามเขตสุขภาพต่างๆ หลายเขตขึ้นไป ร้อยละ 70-80 ที่เพิ่มมาก คือ เขตฯ 4,6,7 ขึ้นไปเกือบ ร้อยละ 90 และเขตฯ 13 กรุงเทพฯ ร้อยละ 86 ส่วนใหญ่เป็นเชื้อโอมิครอน ที่เหลือลดลง แต่ที่น่าสังเกตคือเขตฯ 12 หรือชายแดนใต้ ครึ่งหนึ่งเป็นเชื้อเดลตา ดังนั้น พื้นที่นี้มีลักษณะชุมชนแตกต่างจากที่อื่นๆ เช่น ไม่มีสถานบันเทิง และไม่มีการรั่วไหลมาจากมาเลเซีย คนมาจากต่างประเทศก็ไม่ได้ไปในพื้นที่มากมาย ทำให้ครึ่งหนึ่งยังเป็นเชื้อเดลตา แต่ในที่สุดจะถูกแทนที่ด้วยเชื้อโอมิครอนอยู่ดี

ผู้อำนวยการ WHO เตือนระวัง 'อันตราย' หากทึกทัก 'โอมิครอน' คือจุดจบโควิดระบาด

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนในวันจันทร์ (24 ม.ค.) เป็นเรื่องอันตรายหากทึกทักว่าตัวกลายพันธุ์โอมิครอนเป็นลางแห่งจุดจบระยะเฉียบพลันของโควิด-19 เร่งเร้าประเทศต่างๆ ให้ยังคงมุ่งสมาธิในการเอาชนะโรคระบาดใหญ่

"มันอันตรายหากทึกทักว่าโอมิครอนจะเป็นตัวกลายพันธุ์สุดท้ายและเราอยู่ในช่วงท้ายเกม" ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก บอกกับที่ประชุมคณะกรรมการบริหารชุดหนึ่งขององค์การอนามัยโลก ในเรื่องของโรคระบาดใหญ่ที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปีและคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วเกือบ 6 ล้านราย "ในทางตรงกันข้าม ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทั่วโลก เหมาะสำหรับตัวกลายพันธุ์ต่างๆ จะปรากฏเพิ่มเติม"

คำเตือนนี้ดูจะสวนทางกับความเห็นของดร.ฮานส์ คลูก ผู้อำนวยการภาคพื้นยุโรปขององค์การอนามัยโลก ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อวันอาทิตย์ (23 ม.ค.) ว่าตัวกลายพันธุ์โอมิครอนได้ผลักให้โควิด-19 เคลื่อนเข้าสู่ขั้นใหม่ และอาจนำมาซึ่งจุดจบของโรคระบาดใหญ่ในยุโรป

คลูกกล่าวว่า "เมื่อครั้งระลอกการแพร่ระบาดของโอมิครอนที่กำลังเล่นงานทั่วยุโรปในปัจจุบันเบาบางลง โลกจะมีภูมิคุ้มกันหมู่หลายสัปดาห์และหลายเดือน ซึ่งเป็นผลจากการฉีดวัคซีนหรือเพราะคนมีภูมิคุ้มกันแล้วจากการติดเชื้อ และการแพร่ระบาดจะลดลงตามฤดูกาลเช่นกัน"

"เราคาดหมายว่าจะมีช่วงเวลาที่เงียบเชียบช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่โควิด-19 อาจกลับมาอีกในช่วงปลายปี แต่มันไม่จำเป็นที่มันจะกลับมาในรูปแบบของโรคระบาดใหญ่" คลูกกล่าว

แม้โอมิครอนโหมกระพือเคสผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นแตะระดับเกือบ 350 ล้านคน แต่มันส่งผลกระทบถึงตายน้อยกว่าและอัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูง นำมาซึ่งมุมมองในแง่บวกว่าบางพื้นที่อาจผ่านพ้นสถานการณ์เลวร้ายของโรคระบาดใหญ่ไปแล้ว

เดนมาร์ก พบสายพันธุ์ย่อย ‘โอมิครอน’ รหัส BA.2 แพร่กระจายได้ไวกว่าเดิม

รัฐมนตรีสาธารณสุขของเดนมาร์กแถลงว่า สายพันธุ์ย่อย BA.2 ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศนี้ และดูเหมือนว่าจะมีความสามารถในการแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.1 แต่ไม่ได้รุนแรงกว่า

รายงานของรอยเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม 2565 กล่าวว่า แม็กนุส ฮิวนิเก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเดนมาร์ก แถลงข่าวที่กรุงโคเปนเฮเกนเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า ไม่มีหลักฐานว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 ของโอมิครอนก่อโรคมากกว่า แต่สายพันธุ์ย่อยนี้แพร่กระจายได้เร็วกว่า

ปัจจุบัน โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 คิดเป็น 98% ของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลก แต่สำหรับเดนมาร์ก กลับมีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2 มากกว่า เริ่มตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักรกำหนดให้สายพันธุ์ย่อย BA.2 เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการสอบสวน เนื่องจากมีความได้เปรียบในการเติบโต

'หมอมนูญ' ฟันธง 'โอมิครอน' ติดทุกคน แต่ฉีดวัคซีนครบ อาการเหมือนหวัดธรรมดา

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เป็นไวรัสที่ติดกันง่ายที่สุด ง่ายกว่าเชื้อโรคทางเดินหายใจทุกชนิดในโลก ไม่น่าแปลกใจที่ทุกคนในโลกนี้ไม่ช้าก็เร็วจะได้รับเชื้อโอมิครอน

ถึงแม้ว่าเราจะใส่หน้ากาก 2 ชั้น ก็ยังมีโอกาสติดได้ มีหนทางเดียวต้องใส่หน้ากากชนิด N95 ตลอดเวลาซึ่งเป็นไปไม่ได้ โชคดีที่ตัวเชื้อโอมิครอนไม่ก่อให้เกิดโรครุนแรง และถ้าได้ฉีดวัคซีนครบโดสและได้เข็มกระตุ้น อาการยิ่งน้อยลงไปอีก เป็นเหมือนหวัดธรรมดา

กฎเกณฑ์การตรวจการติดเชื้อโอมิครอนควรเป็นแบบเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่ใช้การตรวจแบบรวดเร็ว ถ้าให้ผลบวก แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ และให้ยารักษาเลย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR เพื่อยืนยันว่าเป็นไข้หวัดใหญ่

ส่วนใหญ่แพทย์จะทำ RT-PCR สำหรับไข้หวัดใหญ่ในกรณีที่คนไข้เข้านอนรักษาในโรงพยาบาล สงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ถึงแม้ว่าจะได้รับการตรวจแบบรวดเร็วตอนแรกให้ผลลบ

การตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็ว ATK ควรตรวจเมื่อมีอาการ และสงสัยว่าติดเชื้อโควิด หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่ใกล้ชิดกับคนที่ยืนยันว่าติดเชื้อแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ ATK คัดกรองสำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีอาการ และไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ยกเว้นว่าตรวจก่อนจะไปพบปะรวมกลุ่มเลี้ยงสังสรรค์กับคนจำนวนมากในสถานที่แคบ ติดตั้งปรับอากาศ อากาศถ่ายเทไม่ดี หรือเดินทางเป็นหมู่คณะในรถโดยสารปรับอากาศด้วยกัน หรือต้องไปพบผู้ที่มีโอกาสป่วยหนักหากติดเชื้อ เช่น คนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์

สวีเดน เตรียมบอกลามาตรการสกัดโควิด หวังให้ปชช. ใช้ชีวิตร่วมกับโอมิครอน

สวีเดนเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (3 ก.พ.) จะยกเลิกข้อจำกัดสกัดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เกือบทั้งหมดในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ในขณะที่โรคระบาดใหญ่เข้าสู่ "ระยะใหม่หมด" จากตัวกลายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่เชื้อได้ง่ายมาก แต่ก่ออาการเจ็บป่วยแค่เล็กๆ น้อยๆ

ในบรรดาข้อจำกัดภายในประเทศที่จะมีการยกเลิก คือ มาตรการปิดบาร์และร้านอาหารตอน 23.00 น. และจำกัดจำนวนการรวมกลุ่มทางสังคม

บัตรรับรองการฉีดวัคซีนสำหรับเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในร่มจะไม่มีการบังคับใช้อีกต่อไป เช่นเดียวกับคำแนะนำประชาชนให้สวมหน้ากากอนามัยบนระบบขนส่งสาธารณะ

"โรคระบาดใหญ่ยังไม่จบ แต่เรากำลังเข้าสู่ระยะใหม่ทั้งหมด" แมกดาลีนา อันเดอร์สสัน นายกรัฐมนตรีสวีเดนบอกกับผู้สื่อข่าว "เรามีองค์ความรู้เกี่ยวกับโอมิครอนมากขึ้น ผลการศึกษาหลายการศึกษาเผยให้เห็นว่าโอมิครอนนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยรุนแรงน้อยลง"

ในขณะที่การแพร่ระบาดของโอมิครอน นำมาซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อในสวีเดนสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนที่แล้ว แต่ผู้ติดเชื้ออาการรุนแรงถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่ล้นระบบสาธารณสุขของประเทศ

สำนักงานสาธารณสุขของสวีเดนระบุในเวลาต่อมา ว่า พวกเขากำลังเปลี่ยนแปลงคำแนะนำด้านการตรวจเชื้อ โดยบอกว่าประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเชื้ออีกต่อไป แม้ป่วยแสดงอาการก็ตาม

"ในด้านศักยภาพการตรวจเชื้อนั้น เราจำเป็นต้องมุ่งเน้นอย่างเต็มกำลังไปที่กลุ่มต่างๆ ที่จำเป็นต้องทำการตรวจเชื้ออย่างแท้จริง" อันเดอร์ส เทกเนลล์ นักระบาดวิทยาของรัฐกล่าวระหว่างแถลงข่าว พร้อมระบุว่า ควรมุ่งเน้นทรัพยากรต่างๆ ไปยังเจ้าหน้าที่และคนไข้ภายในระบบสาธารณสุขมากกว่า

นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขสวีเดนยังเผยด้วยว่าจะยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการถึงรัฐบาล ร้องขอให้เลิกกำหนดให้โควิด-19 เป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขอีกต่อไป

"ตอนนี้เรามองโควิด-19 ในฐานะโรคๆ หนึ่งและโรคระบาดใหญ่หนึ่งๆ ซึ่งมีลักษณะที่ต่างจากโรคและโรคระบาดใหญ่ก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง และเพราะฉะนั้น มันจึงไม่มีเหตุผลอีกต่อไปที่จะกำหนดให้มันเป็นภัยคุกคามของสังคม" เทกเนลล์ ระบุ

เวลานี้มีประชาชนชาวสวีเดนอายุ 12 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วมากกว่า 83% และได้รับเข็มที่ 3 แล้วเกือบ 50%


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top