Saturday, 4 May 2024
โอมิครอน

'บิ๊กตู่' มั่นใจ มาตรการสธ.ไทยรับมือโอมิครอนได้ ผลโพลชี้  71.4 % ประชาชนเชื่อมาตรการครอบจักรวาล

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบผลโพล DDC Poll ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดได้สำรวจกับประชาชนกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 4,800 คน รายงานว่า ประชาชน 71.4% เชื่อมั่นในมาตรการ Universal Prevention สะท้อนให้เห็นภาพของความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อมาตรการและระบบสาธารสุขของไทย ที่ยังสามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี 

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีขอบคุณประชาชนทุกฝ่าย ที่ร่วมด้วยช่วยกันในการปฏิบัติตนตามมาตรการสาธารณสุขและมาตรการ Universal Prevention อย่างเคร่งครัด ตลอดจนความทุ่มเทของแพทย์และบุคลากรทางแพทย์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนที่ช่วยกันทำงานอย่างหนักตลอดมา นายกรัฐมนตรียังมั่นใจว่า ประเทศไทยและคนไทย จะประสบความสำเร็จในการก้าวผ่านการแพร่ระบาดระลอกนี้ในอีกไม่นาน

นายธนกร กล่าวว่า จากผลโพล DDC Poll สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อมาตรการ Universal Prevention ตลอดจนความร่วมมือของประชาชนในการดูแลเอง โดย ประชาชน 79% ปฏิบัติตน โดยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และเจลแอลกอฮอล์ 63% หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากและใบหน้าโดยไม่จำเป็น 54.9% เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย1-2 เมตร 54.1% สวมหน้ากากอนามัยและสวมทับด้วยหน้ากากผ้าเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นมากกว่า 2 คน และ 44.7% ตรวจ ATK เมื่อสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง 

WHO พบ BA.2 ไม่ก่ออาการรุนแรงมากกว่า แม้จะแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าโอมิครอนตัวดั้งเดิม

องค์การอนามัยโลกระบุในวันอังคาร (22 ก.พ.) สายพันธุ์ BA.2 ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ไม่ก่ออาการรุนแรงมากไปกว่าตัวกลายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิม หรือ BA.1

มาเรีย ฟาน เคิร์คโฮฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวในช่วงถามตอบทางออนไลน์ ระบุว่า จากตัวอย่างของผู้ติดเชื้อจากหลายประเทศ "เราไม่พบเห็นความแตกต่างในความรุนแรงของ BA.1 เมื่อเปรียบเทียบกับ BA.2"

"มันมีระดับความรุนแรงพอๆ กันในความสัมพันธ์กับความเสี่ยงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และนี่ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะในหลายประเทศมีพวกมันวนเวียนอยู่จำนวนมากมายมหาศาล ทั้ง BA.1 และ BA.2" เธอกล่าว

“โฆษกรัฐบาล” ย้ำ ป้องกันครอบจักรวาล สกัดโอมิครอน แจง ผู้ป่วยโควิด-19 รักษาฟรีทุกที่

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากข้อมูลทางการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุโอมิครอน ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ประชาชนสามารถป้องกันได้ ด้วยการปฏิบัติตนตามหลักครอบจักรวาล อย่างเคร่งครัด และเข้ารับการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ รวมทั้งเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะประชาชนกลุ่ม 608  และเด็กเล็ก 

นายธนกร กล่าวว่า ขณะนี้โควิด-19 ยังเป็นโรคฉุกเฉินและยังสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ สถานพยาบาลเอกชนไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้  ส่วนการรักษาทั้งที่บ้าน ชุมชน โรงแรม โรงพยาบาล ระบบจะเข้าไปดูแล  โดยประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขโดยต้องไม่คิดค่าใช้จ่าย ถือเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 59 ในกรณีที่ผู้รับบริการผู้ใดไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรหรือตามสิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่กําหนดตาม พ.ร.บ. นี้ จากหน่วยบริการ หรือหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการจากประชาชนโดยไม่มีสิทธิ   สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  สายด่วน 1330 กด 12 

พิษโอมิครอนฉุดเศรษฐกิจเดือน ม.ค. ชะลอตัว

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือนม.ค. 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม มีการชะลอตัวลงบ้าง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลง จากการระงับการลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go ในช่วงวันที่ 21 ธ.ค.2564 - 31 ม.ค. 2565 หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน 

ส่วนการบริโภคและลงทุนของภาคเอกชนปรับลดลง จากความกังวลต่อการระบาดของโอมิครอน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเป็นผลจากสถานการณ์การระบาดในประเทศที่กลับมารุนแรงขึ้น และการเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมและความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงบ้าง 

โควิดต้องเป็นศูนย์! 'จีน' ผนึกกำลังรอบด้าน ต้าน Omicron เจาะเซี่ยงไฮ้ ใต้นโยบาย Zero-Covid เพื่อรักษาชีวิตพลเมือง

วันนี้สื่อจีนยังคงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 สายพันธุ์ Omicron ที่เข้ามาระบาดอย่างหนักในมหานครเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางธุรกิจและการเงินที่สำคัญที่สุดของจีนอยู่ในขณะนี้

ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มต่อเนื่องมากกว่า 21,000 รายต่อวันในวันนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขการติดเชื้อที่รุนแรงที่สุดของจีนนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ครั้งแรกของโลกในเมืองอู่ฮั่นเมื่อต้นปี 2020

แต่ครั้งนี้ศูนย์กลางการระบาดเกิดที่เซี่ยงไฮ้ ที่เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ทำให้จีนต้องล็อกดาวน์เขตย่านธุรกิจของเมืองนานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว และไล่ปูพรมตรวจเชื้อ Covid-19 ทั่วทั้งเมือง ที่สามารถตรวจได้ถึง 25 ล้านคนต่อวัน

แต่ทางการจีนนั้นยอมรับว่า เชื้อ Covid-19 สายพันธุ์ Omicron มีความท้าทายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยระบาดในจีน เนื่องจากความไวในการแพร่ระบาด ที่มักไม่แสดงอาการ จึงทำให้การตีวงสกัดทำได้ค่อนข้างยาก ซึ่งตอนนี้ การระบาดก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นจนจำนวนผู้ป่วยเริ่มเกินกำลังที่ทางโรงพยาบาลทั่วไปจะรับไหวแล้ว

นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นเริ่มขาดแคลน ระบบขนส่งสิ่งของจำเป็นเข้าเมืองเซี่ยงไฮ้ ที่มีประชากรหนาแน่นมากกว่า 23 ล้านคนก็มีอุปสรรคอย่างมากจากมาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มของจีน

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สื่อจีนรายงานว่า ชาวจีนยังสนับสนุนนโยบาย Zero-Covid ของรัฐบาลจีน เพราะเชื่อว่าการสกัดการระบาดให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรกจะช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้

และตอนนี้จีนได้ผนึกสรรพกำลังส่งบุคลากรลงไปช่วยที่เซี่ยงไฮ้อย่างเร่งด่วน โดยมีรายงานข่าวว่าจีนได้ระดมแพทย์อาสา กว่า 38,000 คน จาก 15 มณฑลทั่วประเทศ เข้าไปดูแลผู้ป่วยที่เซี่ยงไฮ้แล้ว และเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามอีกจำนวน 60,000 เตียงได้ในไม่ช้า

ส่วนที่มณฑลเจียงซู และเจ้อเจียง ซึ่งอยู่ติดกับมหานครเซี่ยงไฮ้ จะกันพื้นที่ไว้สำหรับเป็นที่พักกักตัว และ Hospitel เสริมรวมกันอีก 60,000 ห้อง ตามมาตรการของกรมควบคุมโรคแห่งเซี่ยงไฮ้

'ดร.อนันต์' ชี้!! สายพันธุ์น้องใหม่ 'BA.4-BA.5' ลาม แย่งพื้นที่โอมิครอนรุ่นพี่เกือบครึ่งในแอฟริกาใต้

12 เม.ย. 65 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ว่า BA.2 ที่ครองพื้นที่เกือบ 100% ในแอฟริกาใต้เมื่อเดือนก่อน เผลอแป๊บเดียว เจอน้องใหม่ไฟแรงอย่าง BA.4 และ BA.5 มาแย่งพื้นที่เกือบครึ่งแล้ว แสดงว่า น้องใหม่นี้น่าจะวิ่งไวกว่า BA.2 จริงๆ

ข่าวดีตอนนี้คือ จำนวนผู้ป่วยหนักในแอฟริกาใต้ยังไม่สูงขึ้นอย่างผิดสังเกต ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะภูมิคุ้มกันจากการติดโอมิครอนรุ่นพี่กันมา หรือ อาจจะเป็นข่าวดีว่า BA.4 และ BA.5 อาจจะไม่รุนแรงไปกว่าโอมิครอนตัวอื่นๆ ก่อนหน้านี้

สถาบันวัคซีนฯ ออกแถลงการณ์ อย่าเข้าใจผิดปล่อยให้ติดเชื้อโอมิครอน เพราะไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเท่านั้น จึงจะเกิดภูมิ

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ เรื่อง ความจำเป็นของการได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ระบุว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ที่มีการระบุว่า ไม่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น การปล่อยให้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน มีความปลอดภัย และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคตามธรรมชาตินั้น

สถาบันมีความห่วงใยต่อประชาชนที่ได้รับการส่งต่อข้อมูลที่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนดังกล่าวอย่างมากในการนี้ สถาบันขอยืนยันว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในสถานการณ์ที่ไวรัสมีการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วนั้น มีความจำเป็นอย่างมากโดยการฉีค วัคชีนเข็มกระตุ้น ช่วยลดอาการป่วยที่รุนแรง ลดโอกาสการเสียชีวิต และลดโอกาสการเกิด ภาวะ Long COVID ในผู้ใหญ่ รวมถึงภาวะอักเสบทั่วร่างกายในเด็ก (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children; Mis-C) จากการป่วยด้วยโควิด-19 ได้จริง

หลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ว่า วัคชีนเข็มกระตุ้นสามารถลดอาการเหล่านี้ลงได้มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่เคยฉีดวัคซีนเลย หรือ ฉีดวัคซีนแล้วแต่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น มีการดำเนินการอย่างกว้างขวาง ทำให้มีรายงานยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิผล (Vaccine effectiveness) ของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจำนวนมากจากหลายประเทศทั่วโลก

โดยในประเทศไทยได้มีการเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาประสิทธิผลของวัคชีนที่ใช้ในประเทศด้วยเช่นกัน ผลการศึกษาในปัจจุบัน (ข้อมูลการประเมินประสิทธิผลวัคซีนจากการใช้จริง จ. เชียงใหม่ ช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2565 ณ วันที่ 8 เมษายน 2565) ระบุว่า

ในสถานการณ์การระบาดของโอมิครอน การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ไม่ป้องกันการติดเชื้อ แต่สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้มากกว่า 85% และหากได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ในระยะเวลาที่เหมาะสม สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 34-68% และเพิ่มการป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 98-99% และเมื่อมีการมีวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 เมื่อครบกำหนดการเข้ารับวัคซีน พบว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อได้สูงถึง 80-82% โดยยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 4

จากผลการประเมินประสิทธิผลวัคซีนจากการใช้จริงในระดับโลก ทำให้องค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศสนับสนุนให้ประชาชน เข้ารับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น เพื่อลดอัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิตจากการคิดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ด้วยเช่นกัน

‘หมอธีระ’ ระบุ โอมิครอน BA.2.75 เป็นอีกสายพันธุ์ย่อยที่น่ากังวล หลังผลวิจัยพบ ดื้อต่อภูมิคุ้มกันไม่ต่างจาก โอมิครอน BA.5 มากนัก อีกทั้งยังมีผลกระทบมากับผู้ที่เคยติด โควิด-19 สายพันธุ์ เดลตา 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 617,204 คน ตายเพิ่ม 1,095 คน รวมแล้วติดไป 566,020,541 คน เสียชีวิตรวม 6,383,840 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น อิตาลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 70.47 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 65.38 สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

ตัวเลขรายงานของทั่วโลก จะเห็นว่าค่าเฉลี่ย 7 วันของจำนวนติดเชื้อใหม่ต่อประชากร 1 ล้านคนของโลก ทวีป และประเทศนั้น สะท้อนให้เห็นว่ากำลังอยู่ในขาขึ้นกันเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นของไทย ที่ตัวเลขรายงานแต่ละวันนั้นไม่ได้สะท้อนจำนวนติดเชื้อใหม่ที่เกิดขึ้นจริง แต่เลือกรายงานเฉพาะที่ป่วยมารับการรักษาในโรงพยาบาล
 
การรายงานต่ำกว่าความเป็นจริงนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อระบบข้อมูลของสากลที่ใช้ในการเปรียบเทียบสถานการณ์ระหว่างประเทศและภาพรวมของโลกได้

ทั้งนี้หากมาดูค่าเฉลี่ยรอบ 7 วันของจำนวนเสียชีวิตใหม่ต่อประชากร 1 ล้านคน จะเห็นว่า จำนวนการเสียชีวิตของไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ของทวีปเอเชีย และสูงกว่าอีกหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความไม่สอดคล้องกันของตัวเลขติดเชื้อที่รายงาน และตัวเลขการเสียชีวิต ซึ่งตอกย้ำว่าตัวเลขติดเชื้อที่รายงานนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงนั่นเอง

ดังนั้นหากเราตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการรับรู้ของประชาชนในประเทศ และผลกระทบต่อการเฝ้าระวังระหว่างประเทศ การกลับทิศทางนโยบายให้หันมารายงานตัวเลขการติดเชื้อที่สะท้อนสถานการณ์จริงนั้นจะเป็นประโยชน์มากกว่าการปล่อยให้เป็นไปในลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโควิด-19 ในสหราชอาณาจักร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top