Friday, 3 May 2024
โอมิครอน

‘ฮ่องกง’ สั่งระงับเที่ยวบินจาก 8 ประเทศ พร้อมห้ามนั่งกินในร้านหลัง 18.00 น. 

แครี แลม หัวหน้าผู้บริหารเกาะฮ่องกง แถลงในวันนี้ (5 มกราคม 65) ว่า เตรียมใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์โอมิครอน โดยกำหนดมาตรการ ดังนี้

1.) ระงับเที่ยวบินเข้าฮ่องกงจากประเทศออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 65 เป็นต้นไป

2.) ร้านอาหารห้ามให้บริการรับประทานที่ร้านระหว่างเวลา 18.00 - 05.00 น. ส่วนเวลา 05.00 - 18.00 น. อนุญาตให้รับประทานที่ร้านได้ โดยจำกัดที่นั่ง 2 - 6 คนต่อโต๊ะ ขึ้นอยู่กับขนาดของร้าน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 65 เป็นต้นไป

‘หมอยง’ ห่วงกลุ่มเสี่ยง! หลังพบติดเชื้อพุ่ง แนะเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 รับมือ ‘โอมิครอน’

6 ม.ค. 65 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า โควิด-19 โอมิครอน หยุดยาวช่วงปีใหม่ และการติดต่อง่าย

โอมิครอน เรารู้แล้วว่าติดต่อง่าย ประกอบกับ การสนุกสนานรื่นเริง และหยุดยาวช่วงปีใหม่

ดังนั้น ผลที่จะพบผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงต่อจากนี้ไป ไม่ใช่เรื่องแปลก 

ผมอยู่กับห้องปฏิบัติการ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2 - 3 วันนี้ รู้แล้วว่าตัวเลขและอัตราการตรวจพบ โควิด-19 เพิ่มขึ้นมากๆ   

ผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ นับจากนี้ต่อไป จะเริ่มพุ่งขึ้นสูงอย่างแน่นอน จะขึ้นสูงแค่ไหนก็คงขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ ต่อจากนี้ ที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันลดจำนวนตัวเลข ให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้

อัตราการป่วยรุนแรง และเสียชีวิต เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วย จะน้อยกว่า ช่วงการระบาดของเดลตา 

สิ่งที่สำคัญขณะนี้ จะต้องเร่งกระตุ้นวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ได้มากที่สุดและอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง 608 ที่เรารู้กันดีว่าอายุเกิน 60 และหรือ มีโรคเรื้อรัง 8 โรค เพื่อลดความรุนแรงให้ได้

สธ. ยกระดับเตือนภัยโควิด ระดับ 4 เล็งปิดสถานที่เสี่ยง-ชะลอข้ามจังหวัด-ให้ WFH

วันที่ 6 มกราคม 2565 ที่จังหวัดภูเก็ต นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ว่า สรุปสถานการณ์โรคโควิด-19 ขณะนี้อัตราการป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตลดลงจากการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดมากขึ้นจากการเข้าใช้บริการสถานที่ปิด ผับ บาร์ จัดงานเลี้ยง งานบุญ ก็มีผล ดังนั้นประชาชนที่กลับมาให้สังเกตตัวเอง หากทำงานที่บ้านได้ 14 วันจะเป็นการดี จังหวัดก็ดำเนินการตามกฎหมาย

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศเพิ่มระดับการเตือนจากเดิมอยู่ที่ระดับ 3 เป็นระดับ 4 จะมีมาตรการต่างๆ ตามมา เช่น อาจจะปิดสถานที่เสี่ยงแพร่โรค เพิ่มมาตรการควบคุมโรคให้เกิดความปลอดภัย ให้ทำงานที่บ้าน การเดินทางต่างๆ ไปต่างจังหวัดก็ชะลอเพราะการเคลื่อนย้ายของคนก็ทำให้เกิดการแพร่โรคได้ จำกัดการรวมกลุ่มต่างๆ

ผบ.ตร.ห่วงใย!! สั่งการกำลังพลตรวจ ATK ก่อนกลับมาปฏิบัติหน้าที่ เข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 แบ่งกำลัง Work From Home ลดเสี่ยง!!

6 ธ.ค.65 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เริ่มกลับมาแพร่ระบาด โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและเนื่องจากช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน ซึ่งพี่น้องประชาชน อาจมีการไปท่องเที่ยว หรือกลับภูมิลำเนา รวมถึงข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวก ป้องกันอาชญากรรม ช่วงเทศกาลปีใหม่นั้น

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยกำลังพล จึงมีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด กำลังพลทุกนาย ก่อนปฏิบัติหน้าที่ ให้ ตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK เพื่อคัดกรองโรคโควิด-19 ทุกราย และขอให้เข้มงวดกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ รักษาระยะห่างที่ปลอดภัยจากผู้อื่น หลีกเลี่ยงพื้นที่ปิด พยายามอยู่ในพื้นที่เปิดโล่งและอากาศถ่ายเทสะดวก ล้างมือบ่อย ๆ โดยใช้สบู่และน้ำ หรือเจลล้างมือที่มีส่วนผสมหลักเป็นแอลกอฮอล์

รวมถึงการนำมาตรการ Work From Home หรือการทำงานจากที่บ้าน กลับมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยไม่ให้กระทบกับการบริการประชาชน และการปฏิบัติหน้าที่ราชการ กรณีหน่วยงานในสังกัดต้องการรับการสนับสนุน สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ โรงพยาบาลตำรวจ

 

‘เอกชน’ ค้าน ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ชี้ ‘โอมิครอน’ แม้ระบาดเร็ว แต่ก็หายไว

หอการค้าไทย ไม่เห็นด้วย หากต้องล็อกดาวน์ประเทศทั้งหมด ชี้โอมิครอนระบาดเร็ว แต่ก็หายเร็วเช่นกัน เป็นความเสี่ยงที่ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้

วันที่ 6 มกราคม 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงสาธารณสุข ประกาศยกระดับการเตือนภัยโควิด-19 จากเดิมระดับ 3 ปรับขึ้นเป็นระดับ 4 โดยจะมีข้อแนะนำและมาตรการเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีการปิดสถานที่เสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อ รวมถึงชะลอการเดินทาง เช่น การไปทำงานก็ให้ทำงานที่บ้าน (Work from Home) การเดินทางข้ามจังหวัด การเคลื่อนย้ายของคน และการจำกัดการรวมกลุ่ม

“หอการค้าไทยอยากให้มีการพิจารณาถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่รอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ถึงแม้ปัจจุบันจะทราบกันดีว่าสายพันธุ์โอมิครอนมีการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว และมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลปีใหม่ที่เพิ่งผ่านพ้นมา และไทยคงหลีกเลี่ยงการระบาดที่จะขยายวงกว้างมากขึ้นไม่ได้ แต่หากพิจารณาถึงอาการจะพบว่าไม่ได้รุนแรงเท่ากับสายพันธุ์เดลตา ในขณะที่หลายประเทศในยุโรป ที่มีการติดเชื้อและแพร่ระบาดที่รวดเร็ว ก็มีอัตราการหายที่รวดเร็วเช่นกัน“

นายสนั่นกล่าวอีกว่า ประชากรส่วนใหญ่ของไทยต่างได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง รวมทั้งระบบสาธารณสุขที่ยังคงสามารถรองรับผู้ป่วยได้ จึงคิดว่าการดำเนินมาตรการในช่วงนี้คงต้องเน้นการเพิ่มความระมัดระวัง คุมเข้มสถานประกอบการที่มีประชาชนใช้บริการอย่างหนาแน่น และเร่งการ Boost เข็ม 3-4 ให้กับประชาชน ตามที่รัฐบาลได้เตรียมการไว้แล้วให้มากที่สุด ก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น และลดความรุนแรงของการติดเชื้อได้

“หอการค้าไทยไม่เห็นด้วย หากภาครัฐจะยกระดับมาตรการ ด้วยการล็อกดาวน์ทุกกิจกรรมของประเทศ เพราะสถานการณ์ในวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับวัคซีน ต่างจากกลางปีที่แล้วที่การฉีดวัคซีนและปริมาณวัคซีนยังมีน้อยและไม่เพียงพอ ซึ่งนอกจากจะสร้างความเสียหายมหาศาลกับเศรษฐกิจแล้ว ยังจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนภายในประเทศลดลง”

“ที่ผ่านมาบรรยากาศของประเทศเพิ่งกลับมาคึกคัก หลายภาคส่วนมีความหวังในการตั้งต้นและเดินหน้าธุรกิจใหม่ในปี 2565 และประชาชนเริ่มสามารถดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติได้มากขึ้น หากกลับไปล็อกดาวน์จะทำให้ประเทศต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง อีกทั้งในส่วนภาครัฐเองก็จะต้องหามาตรการเยียวยาฟื้นฟูประเทศใหม่ และจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล“

WHO ยัน ‘วัคซีนจีน’ มีประสิทธิภาพพอ ช่วยป้องกันการป่วยหนักจาก โอมิครอน

ผู้เชี่ยวชาญ WHO ชี้ Sinovac - Sinopharm ช่วยป้องกันการป่วยหนัก - เสียชีวิตจาก Omicron

เว็บไซต์ข่าว South China Morning Post และ The National รายงานว่าดร.อับดี มาฮามุด จากฝ่ายจัดการด้านโรคอุบัติใหม่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ของ Sinopharm และ Sinovac .
สามารถป้องกันการป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้

มาฮามุด กล่าวว่า แม้ว่าโอมิครอนจะสามารถหลบเลี่ยงแอนติบอดีทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่มีหลักฐานว่าวัคซีนยังคงป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรง การรักษาในโรงพยาบาล และการเสียชีวิต รวมถึงวัคซีนชนิดเชื้อตายของ Sinopharm และ Sinovac

‘อนุทิน’ ขอประชาชนยกการ์ดสูง แม้โอมิครอนไม่แรง แต่ ‘เดลตา’ ยังระบาด

7 มกราคม พ.ศ. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระบุว่า ตอนนี้ ต้องค่อยๆ ยกระดับมาตรการ ให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ หวังว่าจะไม่ต้องล็อกดาวน์กันอีกรอบ การระบาดที่เกิดขึ้น ผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ไม่แสดงอาการ ไปจนถึงมีอาการน้อย ส่วนหนึ่งเพราะติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ที่ไม่รุนแรงไปกว่าเดลตา และคนไทยได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงแล้ว 

ปัจจุบันพยายามให้มีจุดวอล์ก อิน มากที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน เพราะทราบกันดีว่า วัคซีนช่วยป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิต ส่วนการรักษาผู้ป่วย เรานำประสบการณ์มาปรับใช้ หากไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อยมาก เรามีระบบกักตัวที่บ้าน และในชุมชน มีแพทย์คอยดูแลอาการผ่านระบบการสื่อสารทางไกล หากมีอาการปานกลาง ให้เข้าสู่ระบบของโรงพยาบาลสนาม แต่หากป่วยหนัก ก็ต้องเข้าโรงพยาบาล ที่มีเครื่องมือพร้อม ทุกอย่างให้เป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์  

‘ประกันสังคม’ เร่งประชุมหารือผ่านระบบ Zoom ร่วมกับสถานพยาบาล รับมือโอมิครอน!! เตรียมพร้อมจัดระบบบริการทางการแพทย์ดูแลผู้ประกันตนติดเชื้อโควิด อย่างเต็มที่ และทันท่วงที

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านระบบ Zoom ร่วมกับผู้แทนและบุคลากรทางการแพทย์ของสถานพยาบาลประกันสังคมจำนวนกว่า 50 แห่ง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุมสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ อาคารอเนกประสงค์ สำนักงานประกันสังคม 

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวกับสื่อมวลชนว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรโน 2019 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่กำลังระบาดทั่วโลกในขณะนี้ ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ไอมิครอนแล้วกว่า 2 พันราย ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยพี่น้องลูกจ้าง ผู้ประกันตน จึงกำชับให้สำนักงานประกันสังคม เตรียมแผนรับมือต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในทุกด้านหากสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น เพื่อรองรับผู้ประกันตนที่ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น

โดยในวันนี้ สำนักงานประกันสังคม ได้จัดให้มีการประชุมผ่านระบบ vdo Conference โดยคำนึงถึงความปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 หารือร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ได้รับการดูแล และรักษาได้ทันที โดยมีประเด็นการประชุมฯ พร้อมแผนมาตรการรองรับร่วมกับสถานพยาบาล ในด้านการใช้สิทธิ์การรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนกรณีการติดโควิด-19 ให้สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล และสถานพยาบาลใกล้ที่พักอาศัยทุกแห่ง กรณีที่สถานพยาบาลตามสิทธิฯ และสถานพยาบาลที่รับรักษา ไม่สามารถให้การรักษาได้หรือเกินศักยภาพในการรักษา จะทำการส่งตัวผู้ประกันตนไปรักษากับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า กรณีที่ผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิได้ เนื่องจากอยู่ต่างจังหวัด หรือต่างพื้นที่ สามารถเข้ารักษาได้ในสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ ผู้ประกันตนจะได้รับการดูแลรักษา ในสถานพยาบาล, โรงพยาบาลสนาม, Hospitel, Community Isolation, Home Isolation ตามแนวทางและระบบบริการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ด้านการเตรียมความพร้อมให้สถานพยาบาลในระบบประกันสังคม มีแผนรองรับการรักษาผู้ประกันตน โดยจัดหาเตียงให้เพียงพอต่อสถานการณ์การเพิ่มจำนวนของผู้ประกันตนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่อาจจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยให้สถานพยาบาลจัดเตรียมสถานที่รองรับผู้ป่วยที่อาการแสดงน้อย หรือไม่แสดงอาการ (สีเขียว) เข้ารับการรักษา ในระบบ Hospitel และ Home Isolation ซึ่งในปัจจุบันมี สถานพยาบาลในระบบประกันสังคม มี Hospitel จำนวนทั้งสิ้น 12,856 เตียง และจำนวนเตียงว่างคงเหลือ 3,230 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มกราคม 2565) อีกทั้งสำนักงานประกันสังคม ได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกับ สปสช. ในการดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีแสดงอาการเล็กน้อย (สีเขียว) และประสงค์เข้ารักษาในระบบ Home Isolation โดยผู้ประกันตนสามารถลงทะเบียนในเว็บไซต์ สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

นอกจากนี้ยังมี โครงการ Factory Sandbox ในการตรวจ รักษา ควบคุม ดูแลในสถานประกอบการเพื่อการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมุ่งเน้นไปที่โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ คือ ตรวจ : ดำเนินการตรวจคัดกรองด้วย RT – PCR 100% เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันทีและดำเนินการตรวจSelf – ATK ทุกสัปดาห์ รักษา : ให้โรงงานจัดให้มีสถานรักษาพยาบาลขึ้นสถานแยกกัก (Factory Isolation : FAI, และ Hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียว โรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและห้องผู้ป่วยวิกฤต สำหรับผู้ป่วยสีแดง ดูแล : ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แรงงานโดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง คนท้องออกใบรับรอง “โรงงานสีฟ้า” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน ควบคุม : ให้นายจ้างและแรงงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค ในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and seal) และมาตรการด้านสาธารณสุข (DMHTT) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ค่าตรวจคัดกรองโรค COVID-19 กรณีตรวจคัดกรองใน รพ. /ตรวจคัดกรองนอก รพ.โดยหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. โดยผู้ประกันตนคนไทยเบิกเงินจาก สปสช. ผู้ประกันตนคนต่างชาติ เบิกเงินจาก สำนักงานประกันสังคม กรณีตรวจคัดกรองเชิงรุกในสถานประกอบการ ตามโครงการของสำนักงานประกันสังคมโครงการ Factory Sandbox เพื่อค้นหาผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยงในสถานประกอบการซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงและมีการแพร่ระบาดและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อ เบิกเงินจากสำนักงานประกันสังคม สำหรับค่าใช้จ่าย ในการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐบาล มีอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จ่ายตามจริงไม่เกิน 300 บาทต่อวัน มีอาการปานกลาง (สีเหลือง) ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 3,000 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาทต่อวัน มีอาการรุนแรง (สีแดง) ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 7,500 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาทต่อวัน

กรณีมีอาการเล็กน้อย(สีเขียว) ดูแลรักษาโรงพยาบาลสนาม Hospitel Hotel Isolation ตั้งแต่ 1 ม.ค.65 จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาท ต่อวัน ไม่เกิน 10 วัน และค่าอุปกรณ์ในการดูแลติดตามสัญญาณชีพ 500 บาทต่อวัน ค่าชุด PPE จ่ายตามจริงไม่เกิน 150 บาทต่อราย ดูแลรักษาแบบ Home Isolation และการแยกกักในชุมชน Community Isolation ค่าดูแลให้บริการผู้ป่วย สำหรับค่าติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา ค่ายาพื้นฐาน จ่ายแบบเหมาจ่ายไม่รวมค่าอาหาร 3 มื้อในอัตรา 600 บาทต่อวัน /รวมค่าอาหาร 3 มื้อ ในอัตรา 1,000 บาท ต่อวัน ไม่เกิน 10 วัน กรณีรักษาในสถานพยาบาลเอกชนจ่ายค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 ตามราคากลางประกาศกระทรวงสาธารณสุข สำหรับค่ารถรับส่งผู้ป่วย กรณีจำเป็นต้องส่งต่อภายในจังหวัดเดียวกัน จ่ายตามจริง ไม่เกิน 500 บาท กรณีต่างท้องที่จังหวัดอื่น จ่ายเบื้องต้น 500 บาท และจ่ายเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อยานพาหนะ ไม่เกิน 1,400 บาทต่อครั้ง ค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสำหรับบุคลากรที่จัดการศพผู้เสียชีวิตด้วยโรค โควิด-19 เหมาจ่าย 2,600 บาทต่อราย

 

States TOON EP.43

วัคซีนธรรมชาติ!!

ติดตามการ์ตูนอัปเดตได้ทุกสัปดาห์…

“นายกฯ” ห่วง สถานการณ์ “โอมิครอน” สั่งเร่ง ตรวจเชื้อเชิงรุก จี้ ก.พาณิชย์ ควบคุมราคาชุดตรวจ ATK อย่า กักตุน ฉวยโอกาสขึ้นราคา พบ ดำเนินการตามกฎหมาย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด กำชับทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะด้านสาธารณสุขรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก “โอมิครอน” ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ได้สั่งการให้มีการตรวจเชื้อแบบเชิงรุก เพื่อเร่งแยกผู้ป่วยออกจากประชากรทั่วไปให้ได้มากที่สุด โดยล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) จัดตรวจโควิด-19 เชิงรุกที่ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. (บริเวณลานจอดรถชั้น 1 อาคารบี) เพื่อสนับสนุนกรุงเทพมหานครและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ใช้ชุดตรวจ ATK รู้ผลใน 30 นาที โดยหากปรากฏว่าผลตรวจเป็นบวกหรือติดเชื้อก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือในระบบชุมชน (Community Isolation) หากอาการแย่ลงก็จะส่งเข้ารักษาในโรงพยาบาลทันที โดยตั้งเป้าตรวจวันละ 1,000 ราย เริ่มตั้งแต่วันที่ 11-21 มกราคม 2565 นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ให้ติดตามควบคุมราคาการจำหน่าย ATK อย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีการฉวยโอกาสขึ้นราคาก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมกับวางแนวทางป้องกันไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบประชาชนที่อยู่ในช่วงยากลำบาก  

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการเตรียมความพร้อมระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation: HI) เพื่อรองรับกับสถานการณ์ในประเทศไทยที่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแพร่ระบาดที่รวดเร็ว อาจส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นกระจายไปในหลายพื้นที่ได้ สปสช. ได้พัฒนาระบบการติดตามผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทาง Line สปสช. @nhso กรณีเข้ารับบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน แนะนำประชาชนที่ตรวจ ATK ด้วยตัวเองแล้วขึ้น 2 ขีด สิ่งที่ต้องทำคือ โทรแจ้งสายด่วน 1330 กด 14 หรือแอดไลน์ @nhso (เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมง) กรณีที่โทรไม่ติด หรือสายไม่ว่าง ไม่ต้องกังวล เพราะระบบได้บันทึกข้อมูลไว้แล้ว และจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อรับข้อมูลเข้าระบบ ส่วนต่างจังหวัดสามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลส่วนตำบล ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้านจะได้รับการดูแลติดตามอาการ บริการส่งยา ส่งอาหาร ส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ ที่วัดไข้แบบดิจิทัล เครื่องวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว เป็นต้น ในกรณีที่จำเป็นอาจได้รับการเอกซเรย์ปอด การตรวจ RT-PCR จนหายป่วย หรือส่งต่อไปรักษาต่อในโรงพยาบาลกรณีอาการเปลี่ยนแปลง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top