Saturday, 4 May 2024
สงขลา

สงขลา - นิพนธ์ฯ เร่งผลักดัน 3 วาระสำคัญ ศอ.บต. เดินสํารวจออกโฉนดที่ดินเสริมสร้างมั่นคง 4 จังหวัดชายแดนใต้ – เสริมโภชนาการเด็ก และพัฒนากลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อฯ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิต รายได้ที่ยั่งยืน ในเวทีประชุมยุทธศาสตร์พัฒนาชายแดนใต้(กพต.)

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้15 กรกฎาคม 2564  ที่กระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 2/2564 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ  มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Video Conference โดยที่ประชุม ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานที่สำคัญตามมติ กพต.ที่ผ่านมา อาทิ การช่วยเหลือแรงงานไทยในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดย ศอ.บต.ร่วมกับกระทรวงแรงงานได้จัดอบรมให้ความรู้ ฝึกทักษะแนะแนวอาชีพ และช่วยเหลือให้มีงานทำแล้วมากกว่า 8,000 คน จากเป้าหมาย 10,000 คน พร้อมกับรับทราบการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่งยั่งยืน" ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งมีความก้าวหน้าที่น่าพอใจ เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลด้วยดี

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบโครงการเดินสํารวจออกโฉนดที่ดินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปี 2565-2570 พื้นที่จ.ปัตตานี,จ.ยะลา,จ.นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เพื่อให้ประชาชนได้รับเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล รวมถึงเห็นชอบโครงการแก้ไขปัญหาสุขภาวะ และภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่ปี 2565-2568 และสนับสนุนการเสริมทักษะการสื่อสารภาษาไทย ควบคู่กับภาษาอื่น ๆ โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุขนำไปดำเนินการ

ทั้งนี้ นอกจากการเร่งรัดโครงการเดินสำรวจที่ดินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการเสริมสร้างโภชนาการเด็กฯในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ นายนิพนธ์ รมช.มท.ได้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนและติดตามแล้วนั้น ยังได้มีการเสนอในที่ประชุมเพื่อให้การสนับสนุนการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ในโครงการพัฒนาโคพันธุ์เนื้ออย่างยั่งยืน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยเป็นแผนการดำเนินงานโครงการการจัดทำฟาร์มโคแม่พันธุ์ต้นแบบ โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับสหกรณ์โคเนื้อศรีวิชัย (พัทลุง) จำกัด อีกด้วย

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้ ศอ.บต. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ยึดเป็นแนวทางสำคัญในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด และนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชนในการยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมเศรษฐกิจ และนำมาซึ่งสันติสุขในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยย้ำให้ ศอ.บต. ต้องให้การสนับสนุนช่วยเหลือประชาชน เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 ในขณะนี้อย่างเร่งด่วน


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

สงขลา –ขบวนคาราวานประชาธิปัตย์ช่วยคนใต้ นำถุงยังชีพ 50,000 ถุง แจกจ่ายแก่พี่น้องชาวภาคใต้ สู้ภัยโควิด-19

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (18 ก.ค.64 ) นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยการมอบหมายจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะประธานมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ลงพื้นที่โรงเรียนเกาะแต้วพิทยาสรรค์ อ.เมือง จ.สงขลา พร้อมด้วย นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายจักรธร สุริแสง นายกเทศบาลเมืองเขารูปช้าง นายร่อเซ็ง ไหรเจริญ นายกเทศบาลตำบลเกาะแต้ว นายสรรเพชญ บุญญามณี ปชป.เขต 1 สงขลา ผู้ช่วยดำเนินงานประธานรัฐสภา และนายนิพัฒน์ อุดมอักษร เลขานุการนายก อบต.สงขลา/นายกสมาคม SME จังหวัดสงขลา ตลอดจนตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ และพื้นที่ชายแดนใต้ ร่วมปล่อยขบวนรถ "คาราวาน ประชาธิปัตย์ช่วยคนใต้ สู้ภัยโควิด"

โดย ขบวนคาราวานประชาธิปัตย์ช่วยคนใต้ สู้ภัยโควิด นี้จะนำถุงยังชีพจำนวนกว่าห้าหมื่นถุง ไปแจกจ่ายให้แก่พี่น้องชาวภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ซึ่งถุงยังชีพดังกล่าวได้รับการจัดสรรและบริจาคจากมูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช รวมถึง ภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้นำมาส่งมอบให้เพื่อนำไปดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งภายในถุงยังชีพจะบรรจุ ข้าวสารหอมมะลิเกรดคุณภาพ 5 กก. ปลากระป๋อง หน้ากากอนามัย เป็นต้น โดยจะมีตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์แต่ละพื้นที่นำไปแจกจ่ายให้แก่พี่น้องประชาชนทั่วทั้งภาคใต้ และ ในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน

นายนิพนธ์ กล่าวว่า "ได้รับมอบหมายจากท่านจุรินทร์ ในฐานะประธานมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในการปล่อยขบวนรถคาราวานถุงยังชีพ ซึ่งประกอบด้วยข้าวสาร ปลากระป๋องและหน้ากากอนามัย ในการที่จะส่งไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์โดยมูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ฯ ต้องการจัดถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนจากภัยโควิด-19  วันนี้จึงเป็นวันที่นัดปล่อยคาราวานถุงยังชีพลงไปในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงสูงเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบกับภัยโควิดอยู่ในขณะนี้  และขอถือโอกาสนี้ในการขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่าน ที่ได้ช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชนที่ประสบภาวะความยากลำบาก"

"พรรคประชาธิปัตย์ โดยมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชก็ได้ดูแลพี่น้องมาตลอดตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ ด้วยการแจกจ่ายหน้ากากอนามัย ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ จำนวนกว่า 5 ล้านชิ้น แจกอาหารพร้อมรับประทาน รับซื้อพืชผลทางเกษตรเพื่อลดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาดราคาตกต่ำ ตลอดจนการประสานช่วยเหลือความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในสถานการณ์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด และยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยังคงทำหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดไป ซึ่งท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้สั่งการและมอบหมายให้แต่ละพื้นที่ลงไปดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน ดังนั้นขบวนรถคาราวานถุงยังชีพ 50,000 ถุง โดยจัดไปในพื้นที่ 4จังหวัดชายแดนจำนวน 15,000ถุง ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในหลายๆส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชนมาโดยตลอดเพื่อให้เราผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว" นายนิพนธ์ กล่าว


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

สงขลา - เมืองต้นแบบที่ 4 จะนะ ก้าวไปอีกขั้น ศอ.บต. ร่วมกัน 2 มหาลัย ศึกษาระบบโลจิสติกส์ ทางบกในพื้นที่ อ.จะนะ เพื่อรองรับความเติบโตในอนาคต

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการขยายเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" จากเมืองต้นแบบ 3 แห่ง ในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา พื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เพื่อยกระดับการพัฒนา 4 อำเภอ ใน จ.สงขลา คือ อ.จะนะ,นาทวี.เทพา และสะบ้าย้อย ซึ่งเป็นพื้นที่มีศักยภาพสูง มีโครงการ การขนส่งในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงไปยังพื้นที่อื่นทั้งในและต่างประเทศ เมื่อพิจารณาโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ อ.จะนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ”เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจเฉพาะพิเศษ พบว่ายังเป็นโครงข่ายทางหลวงขนาดเล็ก ออกแบบเพื่อการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าทางการเกษตร มีถนนสายหลักเพียง 2 สาย คือ ทางหลวงหมายเลข 43 และ 408 ขนาด 4 ช่องจราจร หากมีการพัฒนาเป็น”เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ถนนดังกล่าวไม่สามารถรองรับความเจริญที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังต้องมีการเชื่อมต่อการขนส่งในระบบราง และการเชื่อมโยงโครงข่ายทุกรูปแบบอย่างมีประสิทธิภาพ

ศอ.บต.ได้ร่วมกับสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร ( สขน.) เพื่อศึกษา สำรวจ วิเคราะห์ สภาพการจราจร และมาตรฐานการจัดระบบจราจร และ อบจ.สงขลา ที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีภารกิจ มีอำนาจในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น จึงได้ดำเนินการโครงการศึกษาออกแบบระบบโลจิสติกส์ทางบกในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เนื่องจากในการพัฒนา”เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต”นั้นจำเป็นต้องมีการศึกษา เพื่อพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งให้สอดคล้องกับบริบทของการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

โดย ศอ.บต.ได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการโครงการศึกษาออกแบบโลจิสติกส์ทางบกในพื้นที่ อ.จะนะ  โดยจะจัดให้มีการประชุมสัมมนาแนะนำโครงการผ่านระบบประชุมสัมมนาทางไกล เพื่อนำเสนอแนวคิด และวัตถุประสงของโครงการ ให้ผู้แทนส่วนราชการการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนที่มีส่วนได้เสียรับทราบ ในวันที่ 9 สิงหาคม เวลา 09.00-12.00 น.ผ่านการประชุมทางไกล ด้วยระบบ ZOOM ซึ่งขณะนี้ทางผู้จัดได้มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมในครั้งนี้แล้ว เพื่อที่จะได้นำความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาและออกแบบต่อไป


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

สงขลา - ศอ.บต. เตรียมเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรสวนทุเรียน

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ ศอ.บต. ได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูก ฟักทอง,ฟักเขียว และพริกเขียวมัน ที่ได้รับความเดือดร้อน ใน จ.สงขลา และ พื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่สามารถขายผลผลิตสู่ตลาดได้ เนื่องจากปัญหาของโควิด-19 ทำให้พ่อค้าไม่เดินทางมารับซื้อถึงในสวน และการปิดตลาด ปิดร้านค้า เพื่อหยุดการระบาดของเจ้าหน้าที่รัฐ โดย ศอ.บต.นำผลผลิตที่ซื้อมาจากเกษตรกรไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ ระบาดของโควิด-19 และถูก ปิดหมู่บ้านตำบลและประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนกลุ่มต่าง ๆ จนสามารถแก้ปัญหาลุล่วงไปได้

และขณะนี้ เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เริ่มจะได้รับความเดือดร้อน จากการที่ผลผลิตทุเรียนเริ่มออกสู่ตลาด แต่จากปัญหาของโควิด-19 และการล็อกดาวน์ พื้นที่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้พ่อค้าต่างถิ่น และ ล้งที่มารับซื้อทุเรียนในพื้นที่ไม่สามารถเดินทางมาได้ ทำเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนขายผลผลิตในราคาที่ถูกกว่าปีก่อน ๆ  และเริ่มวิตกกังวล เพราะทุเรียนในพื้นที่กำลังจะออกสู่ตลาดมากขึ้น

ศอ.บต. จึงได้เตรียมประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นหน่วยงานการเกษตร ,พาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อรองรับผลผลิตที่กำลังออกสู่ท้องตลาด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนทุเรียนให้สามารถขายได้ในราคาปกติ และไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้าที่เป็นผู้รับซื้อ

สำหรับทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ใน 2 ปีที่ผ่านมา สามารถจำหน่ายในราคาที่สูง เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปทุเรียน บริษัทม่านกู่หว่านฟู้ด จำกัด ซึ่งตั้งในใน อ.เทพา จ.สงขลา ได้รับซื้อเพื่อทุเรียนแช่แข็งส่งออกไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในปีนี้ ผู้แทนของบริษัทได้รับปากกับ ศอ.บต. ที่จะรับซื้อทุเรียนจากเกษตรกรเจ้าของสวนให้มากกว่าเดิม เพื่อทดแทนการที่พ่อค้าจากต่างถิ่นไม่สามารถเข้ามารับซื้อได้อย่างปกติ เชื่อว่าสถานการณ์ของเกษตรกรชาวสวนทุเรียนใน จชต. ไม่เลวร้าย แต่อาจจะมีปัญหาบ้าง เพราะความไม่สะดวกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากโควิด-19


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตเรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

สงขลา - ม.อ. ลงนาม ศอ.บต. หนุนนักเรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าเรียนคณะทรัพย์ฯ พร้อมสร้างเกษตรกรยุคใหม่

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย คณะทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพิเศษรับนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษา ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ” โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ผศ. ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต รักษาการแทนคณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม 260 อาคาร 2 ชั้น 2 คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 64

​ผศ. ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต รักษาการแทนคณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. แก่นักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ควบคู่ศาสนา ที่เป็นต้นแบบดีเด่นด้านการเกษตร จากโครงการสนองแนวพระราชดำริฯ “ครัวโรงเรียนสู่ครัวบ้าน” ของ ศอ.บต. ซึ่งเป็นนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกในระดับจังหวัด และเข้ารับรางวัล จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

​ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ กล่าวว่า ภารกิจการสร้างคนที่มีคุณภาพเป็นหนึ่งใน 3 ภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นั่นคือ การสร้างคนที่มีคุณภาพ สร้างความรู้และนวัตกรรมเพื่อใช้ในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้และประเทศ และการสร้างความเป็นนานาชาติให้เกิดขึ้นในประเทศซึ่งเป็นด่านหน้าของอาเซียน การพัฒนากำลังคนจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ในพื้นที่ แต่รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียน

นักเรียนที่จะเข้ามาศึกษาที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้โครงการพิเศษรับนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษา ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ถือเป็นเกษตรกรยุคใหม่ ใช้ความรู้ความสามารถที่หลากหลายโดยใช้ดิจิทัลเป็นพื้นฐาน สาขาวิชาของคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีชื่อเสียงระดับต้นๆ ของประเทศ ขอให้นักเรียนที่จะเข้ามาศึกษาเชื่อมั่นในคุณภาพและโอกาสที่จะได้รับในวันข้างหน้า โดยเฉพาะความรู้เชิงปฎิบัติที่จะสอนให้นักศึกษาทำงานเป็น ทำงานได้ รู้จักรับผิดชอบต่อสังคมและครอบครัว เพื่อจะออกไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ศอ.บต. ทำงานร่วมกันมากมาย โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งโครงการนำร่องของภาคใต้ และมีความสำคัญ ภายใต้โครงการสนองแนวพระราชดำริฯ “ครัวโรงเรียนสู่ครัวบ้าน” ของ ศอ.บต. นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการเป็นเยาวชนที่มีศักยภาพและรักการเกษตร เราจะผลักดันเยาวชนเหล่านี้ให้เข้าสู่มหาวิทยาลัยที่ศึกษาด้านการเกษตรโดยเฉพาะ เพื่อกลับไปพัฒนาบ้านเกิด เป็นเกษตรกรต้นแบบ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของเกษตรยุคใหม่ ทำให้สังคมเห็นว่าอาชีพการเกษตรเป็นอาชีพที่มั่นคงอาชีพหนึ่ง เชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะสามารถบ่มเพาะ พัฒนาศักยภาพของเยาวชนเหล่านี้ให้มีศักยภาพต่อไป

สงขลา – ‘นิพนธ์’ เปิดกิจกรรม "บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) จุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ร่วมเป็นต้นแบบการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า สนับสนุนการใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 20 กันยายน 2564 ที่อาคารอเนกประสงค์ การประปานครหลวง สํานักงานใหญ่ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรม บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) จุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบวิถีใหม่ ปี 4 “บวร Online” โดยมี นายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์  ที่ปรึกรมช.มท. นายนิทัศน์ มณีศิลาสันต์ กรรมการ กปน. และ นายกวี  อารีกุล ผู้ว่าการ กปน. คณะผู้บริหาร กปน. และคณะผู้แทนหน่วยงานต้นแบบทางสังคม เข้าร่วมกิจกรรม

นายนิพนธ์ กล่าวว่า กิจกรรม บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) จุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบวิถีใหม่ ปี 4 "บวร Online" เป็นโครงการที่การประปานครหลวงจัดขึ้น เพื่อประสานความร่วมมือของ หน่วยงานที่มีบทบาทสําคัญทางสังคม ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน และในปีนี้ ได้ขยายผลไปยัง กลุ่มเป้าหมายอสังหาริมทรัพย์ เช่นคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร ในเขตพื้นที่ให้บริการทั้ง 3 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ช่วยเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการประหยัดน้ํา ทั้งวิธีประหยัดน้ำในชีวิตประจําวัน การดูแลอุปกรณ์ใช้น้ำ การตรวจหาท่อแตกรั่วภายในอาคารที่พักอาศัย ประโยชน์ของการใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำที่ได้รับการรับรองฉลากประหยัดน้ำของการประปานครหลวง อันจะนําไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าในชีวิตประจําวันช่วยลดการ สูญเสียน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาสังคม และช่วยให้พี่น้องประชาชนมีน้ำใช้อย่างยั่งยืน

 

ชุมพร - เจ้าหน้าที่คุมพื้นที่ปากน้ำ 28 วัน เฝ้าระวังป้องกันโควิด-19 ปล่อยแถวชุดปฏิบัติการป้องกัน ควบคุม และบังคับใช้กฎหมาย ในสถานการณ์การแพร่ระบาด

วันที่ 3 ตุลาคม 2564 เวลา 15.00 น. นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ปล่อยแถวชุดปฏิบัติการป้องกัน ควบคุม และบังคับใช้กฎหมาย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนปากน้ำชุพร โดยระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น อาสาสมัครในพื้นที่ จัดชุดปฏิบัติการออกตรวจตรา ป้องปราม และกำกับการเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างด้าว ในพื้นที่ปากน้ำชุมพร อีกทั้งยังเป็นการควบคุมและดูแลผู้ที่มีคำสั่งกักตัว ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่จังหวัดกำหนดโดยเคร่งครัด เพื่อให้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในชุมชนปากน้ำชุมพรสามารถควบคุม และยุติได้โดยเร็ว

นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของจังหวัดชุมพร ในขณะนี้มีเพียงปากน้ำชุมพรพื้นที่เดียวที่ยังคงเป็นสีแดงพบผู้ติดเชื้อรายวันยอดสูงมาก ส่วนพื้นที่อื่นลดลงแล้วและอยู่ในสถานที่ควบคุมได้ ดังนั้นเราจึงต้องมาควบคุมพื้นที่ ต.ปากน้ำ ต.หาดทรายรี ต.ท่ายาง ให้ได้ ซึ่งเราจะนำเจ้าหน้าที่ สปก.ส่วนหน้า พร้อมด้วยหัวหน้าส่วยราชการที่เกี่ยวข้อง มาปฏิบัติการที่เทศบาลปากน้ำชุมพร ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคมนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการหยุดเคลื่อนย้ายคนให้น้อยที่สุด เพราะโรคมันติดไปกับคน โดยจะมีรถประชาสัมพันธ์ 2 ภาษาทั้งไทยและเมียนมา ประกาศให้ทุกคนงดการเคลื่อนที่ที่ไม่จำเป็น ผู้ที่ถูกกักตัวก็ต้องกักตัวตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ผู้ที่อยู่บ้านก็ต้องอย่าออกนอกบ้าน อย่างออกนอกตำบล โดยจะมีมาตรการแนวทางปฏิบัติทั้งในส่วนการดำเนินการในโรงงาน ชุมชน และในเรือ เช่น พรุ่งนี้จะมีเรือเสี่ยงสูงเข้า 2 ลำ เราก็จะนำทุกคนที่อยู่ในเรือทั้งหมดมาตรวจ ใครมีผลบวกก็ส่งตัวไปรักษา คนที่อยู่ในเรือลำเดียวกันก็จะเป็นผู้เสี่ยงสูงจะต้องกักตัว และมีการติดตามอย่างเป็นระบบ

 

สงขลา - ‘นิพนธ์’ กำชับ เร่งเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยเร็วที่สุด ขอบคุณท้องที่ - ท้องถิ่น ร่วมแรงร่วมใจดูแลประชาชนในยามทุกข์

นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์/รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร อดีตส.ส.นครสวรรค์ น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ อดีตส.ส.ลพบุรี และคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย พร้อมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 2 จุด โดยจุดแรกลงพื้นที่ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเกรียงไกร อำเภอเมืองนครสวรรค์ จุดที่ 2 ที่ชุมชนบางปรอง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

กล่าวพบปะให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพกับประชาชนผู้ประสบอุทกภัย จำนวนกว่า 600 ชุด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวรายงานสถานการณ์ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์

สำหรับสถานการณ์ของจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย มีน้ำป่าไหลหลาก และเอ่อลันตลิ่งเข้าท่วมขังในพื้นที่ มีพื้นที่ประสบภัยทั้งหมด 15  อำเภอ 100 ตำบล 952 หมู่บ้าน 52,914  ครัวเรือน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 16,939 หลัง พื้นที่ทางการเกษตร เสียหาย 744,665.50 ไร่  ซึ่งทางจังหวัด อำเภอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ และภาคเอกชนได้เข้าไปดำเนินการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการ

ต่อมานายนิพนธ์ รมช.มหาดไทย พร้อมคณะ ได้เดินทางไปลงพื้นที่ให้กำลังใจ และมอบเงินช่วยเหลือแก่ญาติผู้เสียชีวิต และมอบถุงยังชีพให้ความช่วยเหลือให้แก่ประชาชนในพื้นที่อำเภอชัยบาดาล และอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2564 เป็นต้นมา ซึ่งมีพื้นที่ประสบภัยทั้งหมด 11 อำเภอ 94 ตำบล มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 60,334 ครัวเรือน มีพื้นที่ทางการเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 507,538 ไร่ ขณะนี้ สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 8 อำเภอ ยังเหลืออีก 3 อำเภอที่ยังคงได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้

นายนิพนธ์ กล่าวกับชาวจ.ลพบุรีว่า ในพื้นที่จังหวัดลพบุรีปีนี้มีปริมาณมวลน้ำมาก ทำให้เกิดเหตุที่ไม่อยากให้เกิดคือมีผู้เสียชีวิต ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีที่ได้เร่งรัดเยียวยาผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สถานการณ์ในขณะนี้ได้คลี่คลายลงแล้วจากเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนตั้งแต่จังหวัดเพชรบูรณ์ สุโขทัย และนครสวรรค์ ยังสามารถบริหารจัดการน้ำได้ อาจมีการชะลอน้ำในบางช่วงไม่ให้ไหลลงสู่เจ้าพระยาเร็วเกินไป แต่ภาพรวมได้รับคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ยังสามารถควบคุมบริหารจัดการน้ำได้  จากนี้ไปคือภารกิจในการซ่อมสร้างเพื่อฟื้นฟูกลับสู่ภาวะปกติ ต้องเร่งสำรวจ ประเมินความเสียหาย บ้านพักอาศัย  พื้นที่เกษตรและเครื่องมือประกอบอาชีพเสียหาย ฯลฯ อย่างเต็มที่ เพื่อจัดสรรงบประมาณในการเยียวยา ช่วยเหลือประชนและฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคได้ทันที

 

“นิพนธ์” ชี้!! ท้องถิ่น คือหน่วยงานหลัก ช่วยลดสถิติอุบัติเหตุฯ เร่งสร้างความร่วมมือบูรณาการร่วมทุกภาคส่วน ปลูกจิตสำนึกวินัยจราจร ตั้งเป้าลดความสูญเสียทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. วันที่ 10 ตุลาคม 2564 นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์/รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมมอบนโยบาย โครงการความปลอดภัยทางถนน "สงขลาเมืองต้นแบบ" พัฒนากลไกจัดการความปลอดภัยทางถนน จากจังหวัดสู่อำเภอ และตำบล โดยมี นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายก อบจ.สงขลา นายอำเภอทั้ง 16 อำเภอ หน.สนง.ปภ.สงขลา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องถิ่นจังหวัด ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฯ ณ อาคารศรีเกียรติพัฒน์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา

โดยที่จังหวัดสงขลา เป็นจังหวัดใหญ่ของภาคใต้และมีศักยภาพในด้านต่างๆอย่างสูง แต่ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางถนน ยังเป็นอุปสรรคส่วนหนึ่งจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูงและได้รับผลกระทบความสูญเสียมากขึ้นในด้านชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจ ตลอดจนความมั่นคง ทางถนนให้เป็นรูปธรรมโดยความมุ่งหวังที่จะสร้างเมืองสงขลาเป็นต้นแบบของการบูรณาการดำเนินการในการลดอุบัติเหตุทางถนน ให้เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน และให้มีการขับเคลื่อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มศักยภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ที่จะสร้างแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย นำไปเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนต่อไป

นายนิพนธ์ รมช.มท. กล่าวว่า  วันนี้อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้เป้าหมายด้านความปลอดภัยทางถนน เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ภายในปีพ.ศ. 2573

โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ลงร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2573 ดังนั้น การรณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนน จึงเป็นวาระมีความสำคัญระดับโลก รายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนนขององค์การอนามัยโลก ประมาณการอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อแสนประชากรในประเทศไทยปี พ.ศ. 2559 ยังอยู่ในระดับสูงถึง 32.70 มากกว่า 22,000 คนต่อปี แม้ว่าจะมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องปัญหาอุบัติเหตุ จากการใช้รถใช้ถนน ของประเทศไทย ก็ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตลำดับต้น ๆ ของประเทศ จากสถิติที่ผ่านมาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะ ความไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฏหมาย และปัญหาทางกายภาพของโครงสร้างพื้นฐานของถนน ปัญหาการเสียชีวิตที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ก็ยังเป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทย"

รมช.มท.กล่าวต่ออีกว่า สำหรับปี พ.ศ. 2564 รัฐบาล โดย ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้กำหนดประเด็นเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ โดยใช้กลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ เพื่อลดความสูญเสียและผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างแท้จริง โดยเป้าหมายหลักคือ ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในเรื่องของการดูแลความปลอดภัยบนท้องถนน โดยใช้ ,Songkhla Model  หรือสงขลาต้นแบบ ในการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสานความร่วมมือกัน

สงขลา - “เฉลิมชัย” ควง “นิพนธ์” ตรวจคลองอาทิตย์ และคลองร.1 มั่นใจแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ - น้ำแล้งสงขลา ทั้งระบบ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 17 ตุลาคม 2564 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  พร้อมด้วยนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการขุดลอกคลองพลเอกอาทิตย์ฯ ม.9 ต.ท่าหินกิน อ.สทิงพระ  จ.สงขลา พร้อมรับฟังการบรรยายสรุป เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและรับทราบปัญหาอุปสรรค โดยมีนายวงศกร นุ่นชูคันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายไพโรจน์ ศรีละมุน นายอำเภอระโนด และส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในพื้นที่ร่วมติดตามและให้การต้อนรับ

นายนิพนธ์ กล่าวว่า การขุดลอกคลองพลเอกอาทิตย์ฯ เป็นหนึ่งในโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนครจังหวัดสงขลา ที่ผ่านมาประสบปัญหาอุทกภัยมาโดยตลอดเมื่อมีฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระยังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรเป็นประจำ เมื่อมีการรุกตัวของน้ำเค็มถึงทะเลสาบตอนบน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งขณะนี้ได้มีการขุดลอก และขยายคลองพลเอกอาทิตย์ฯ จากความกว้างเดิม 40 เมตรเป็น 70 เมตร และขุดขยายคลองหนัง บริเวณ อำเภอสทิงพระ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเก็บกักน้ำ ก่อสร้างแก้มลิงรวมไปถึงปรับปรุงแก้มลิงเดิมเพื่อเพิ่มความสามารถในการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ก่อสร้างระบบกระจายน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนต่าง ๆ เข้าสู่พื้นที่การเกษตร ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ซึ่งหากแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำจาก 2 ล้าน ลบ.ม. เป็น 7 ล้าน ลบ.ม. หรือมากกว่าเดิมกว่า 3 เท่าตัว โดยสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 12,000 ไร่ โดยมีแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2566 

ต่อจากนั้น ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และท่านนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางมาติดตามความก้าวหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) ณ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในตัวเมืองหาดใหญ่ และเก็บกักน้ำไว้สำหรับการเพาะปลูกด้านการเกษตร ผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภค อุตสาหกรรม สนองความต้องการใช้น้ำในด้านต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลาที่กำลังขยายตัว

โดยการดำเนินงานจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระบายน้ำ ร.1 ซึ่งเดิมสามารถระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เมื่อรวมกับอัตราการระบายน้ำของคลองอู่ตะเภาที่ระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จะทำให้สามารถระบายน้ำได้สูงสุดรวม 1,665 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และเป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้งประมาณ 5.00 ล้านลูกบาศก์เมตร มีระยะเวลาโครงการ 8 ปี (พ.ศ.2558 – 2565) วงเงินงบประมาณ 6,500 ล้านบาท


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top