Saturday, 4 May 2024
สงขลา

‘นิพนธ์’ พร้อมดัน ‘สงขลา’ สู่ศูนย์กลางปลูกทุเรียนในไทย ควบคู่แลกเปลี่ยนความรู้แก่เกษตรกร ช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพ

เมื่อวานนี้ (17 ก.ค. 66) นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ ‘การทำทุเรียนฉบับขั้นเทพ’ โดยมีอาจารย์ ไพโรจน์ ทางธรรม ผู้จัดการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ นายไพบูลย์ แก้วกันหา ผู้จัดการสื่อการตลาด และเจ้าหน้าที่บริษัทเทพวัฒนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลท่าช้าง สมาชิกสหกรณ์การเกษตรบางกล่ำ และเกษตรกรชาวสวนทุเรียนเข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์การเรียนรู้สหกรณ์การเกษตร ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา

เนื่องด้วยปัจจุบันทุเรียนเป็นพืชตัวหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียนอย่างมากจากการจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ในปัจจุบันมีการขยายพื้นที่การปลูกมากขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีการขยายตัวอย่างมาก

บริษัท เทพวัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรร่วมกับร้านตัวแทนจำหน่ายคือร้านชูพันธ์เกษตรฟาร์มและพันธมิตรได้แก่ บริษัทไฮโดรไทย (ปุ๋ยเรือใบไข่มุก) บริษัท แอดวานส์ เฟอร์ติไลเซอร์ต้องการใช้โอกาสนี้ในการให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องการจัดการ การใช้ปุ๋ยใช้ยาในการปลูกทุเรียนให้ได้ผลผลิต ที่ดีมีคุณภาพจึงได้เชิญวิทยากรจากบริษัทเทพวัฒนาคือ อาจารย์ ไพโรจน์ ทางธรรม มาบรรยายให้ความรู้ ในครั้งนี้ เพื่อเกษตรกรจะได้ต้นทุเรียนที่สวยงดงาม และให้ผลผลิตแก่เกษตรกร ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ และสร้างมูลค่าให้กับเกษตรกร

นายนิพนธ์ กล่าวช่วงหนึ่งว่า วันนี้ได้เห็นกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่มีความตั้งใจที่จะหาความรู้ในเชิงวิชาการ การทำทุเรียนตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรีบนได้มองเห็นโอกาสร่วมกัน ซึ่งเห็นบรรยากาศแล้ว ผมเชื่อว่าการเดินหน้าให้สงขลาเป็นเมืองทุเรียนไม่ใช่เป็นเรื่องเพ้อฝัน จากความตั้งใจของพี่น้อง และความสนใจของพี่น้องเกษตรกร เชื่อว่าสงขลามีศักยภาพในการที่จะทำให้สงขลาเป็นเมืองทุเรียน เพราะสงขลาเรามีพื้นที่ค่อนข้างจะมาก ซึ่งเดิมสงขลาเราปลูกยางพารา และถือเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย

วันหนึ่งเราเห็นว่าพืชทุเรียนเป็นพืชที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย ขณะนี้เราส่งทุเรียนไปจำหน่ายต่างประเทศ เฉพาะประเทศจีนประเทศเดียวปีที่แล้วแสนกว่าล้าน นั่นคือคนจีนยังทานทุเรียนไม่ถึง 10% ของพลเมืองประเทศจีน ประเทศจีนมีประชากรประมาณ 1400 ล้านคน ขณะที่คนทานทุเรียนยังไม่ถึง 100 ล้าน ซึ่งผมได้มีโอกาสไปพบกับผู้ใหญ่ที่ดูแลธุรกิจในประเทศไทยคือท่านธนินทร์ เจียรวานนท์ ท่านเจ้าสัวซีพี ให้ข้อมูลกับผมว่าพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่สงขลาลงไป เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกทุเรียน

ซึ่งทุเรียนเป็นพืชที่ชอบน้ำแต่ไม่ชอบน้ำขัง แต่พืชทุเรียนขาดน้ำไม่ได้ ซึ่งธุรกิจทุเรียนถือเป็นธุกิจแสนล้านหรือสองแสนล้านได้ในอนาคต แต่จุดอ่อนของบ้านเราท่านบอกว่า ที่ผ่านมาเราไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องตัวหนอนในเมล็ดทุเรียนได้ ท่านจึงส่งเจ้าหน้าที่ของซีพีมากับมูลนิธิปิดทองหลังพระ ลงมาเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อปิดจุดอ่อนในเรื่องของปัญหาตัวหนอนในเมล็ดได้ แล้วทำให้จังหวัดยะลา เป็นฮับทุเรียน ตั้งแต่วันนั้นมาผมจึงเริ่มสนใจการปลูกทุเรียนมากขึ้น เพราะท่านเป็นผู้ชี้แนะอะไรหลายอย่าง และท่านพูดแล้วก็ไม่ต้องไปศึกษาตำราที่ไหน ผมเชื่อว่าความคิดของท่านที่บอกว่า ในประเทศนี้ธุรกิจที่น่าทำคือพลังงาน แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าพลังงานคือน้ำมัน นั่นคือพลังงานเครื่องจักร แต่ท่านบอกว่าคงลืมไปว่าพลังงานของคนคืออาหาร ตราบใดที่มีคนหก เจ็ดพันล้านคนในโลกนี้ตราบนั้นคนต้องกินอาหารเพื่อใช้เป็นพลังงาน จากคำพูดนั้นนั่นก็คือเป็นสิ่งที่ทำไมซีพีจึงผลิตอาหารเลี้ยงคน

ดังนั้นวันนี้อนาคตของประเทศไทยคือทุเรียน และพื้นที่ภาคใต้ก็เป็นพื้นที่ที่มีโอกาส ทำอย่างไรเราจะปิดช่องว่างจุดอ่อนของทุเรียนภาคใต้ นั่นคือการแก้ไม่ให้แมลงเข้าไปวางไข่ในทุเรียน อย่าให้มีหนอนในเมล็ดทุเรียนได้ แล้วอนาคตก็จะดี ดังนั้นการให้ความรู้จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด วันนี้การทำเกษตรบ้านเราจะทำตามยถากรรมย่อมไม่ได้ การทำการเกษตรต้องมีหลักวิชา และเชื่อว่าเราจะสร้างอาชีพใหม่ได้แน่นอน ถ้าเกษตรกรคนใดมีสองอย่างคือทั้งยางพาราและสวนทุเรียน ซึ่งยางพารานั้นเก็บรายได้ทุกวัน เก็บเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน แต่ถ้าท่านปลูกทุเรียนไปด้วยทุเรียนจะถือเป็นโบนัสประจำปี สามารถสร้างกำไรเลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งถ้าเรามีโอกาสดีมีทั้งสวนยางพาราและสวนทุเรียนไว้บ้าง แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือองค์ความรู้ ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครรู้เรื่องของ ทุเรียนดีซะทุกอย่าง การรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นี่คือสุดยอดวิชา ใครมีปัญหาก็พูดคุยกัน และไม่ให้ปัญหาเหล่านั้นเกิดกับคนอื่นอีก หรือไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งก็จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

และนี่คือสิ่งที่ทุกคนจะประสบความสำเร็จในเรื่องของการปลูกทุเรียนได้ จึงอยากเห็นเกษตรกรได้ทำสิ่งเหล่านี้ และตั้งใจในการที่จะเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิชาการถือเป็นสิ่งจำเป็นในการเกษตรโดยเฉพาะเกษตรแปลงใหญ่ ฉะนั้นจากทฤษฎีทั้งหลายที่เราดำเนินการอยู่นี้ ทั้งในส่วนของกระทรวงเกษตร และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผมได้มีโอกาสในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เข้าไปเป็นคณะรัฐมนตรี และพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าไปดูแลในกระทรวงเกษตร ผมจึงมีความเข้าใจการสร้างมาตรฐาน หรือมาตรฐานต่างๆที่กระทรวงเกษตรกำหนด หรือแม้แต่ที่กระทรวงพาณิชย์ส่งสินค้าไปขาย

ต่อไปนี้ไม่ใช่ใครมีสินค้าทำอย่างไรก็ได้ การใช้ยาเคมีใช้อย่างไรให้พอดี ใช้ปุ๋ยอย่างไรใช้ให้พอดี เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นในเชิงวิชาการทั้งสิ้น และหลักวิชาการเหล่านี้จะทำให้เราประสบความสำเร็จในอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทุเรียนเป็นพืชเกษตรตัวใหม่ของประเทศไทย และสงขลายังไม่สายเกินไปที่จะปรับขบวนการเหล่านี้ และร้อยเรียงทำอย่างไรที่จะทำให้ทุเรียนสงขลาเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ เราต้องช่วยกัน สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลกังวลอย่างยิ่ง และรัฐบาลจีนไม่ยอมให้เกิดขึ้นนั่นคือ การส่งทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพเข้าประเทศจีน ดังนั้นสิ่งนี้พวกเราต้องระลึกอยู่เสมอว่าต้องไม่ทำลายตัวเราเอง เพราะการที่เราจะทำให้ทุเรียนของเราไม่มีคุณภาพ จะเป็นการตัดราคาตัดโอกาสของเกษตรกร ดังนั้นการทำให้ทุเรียนไม่มีราคา ถ้าเราลองนั่งคำนวณดูจะเห็นว่าไม่มีผลไม้ชนิดไหนแล้วในปัจจุบัน ที่จะส่งออกได้ดีกว่าทุเรียน ดังนั้นเราต้องทำให้สินค้าทุเรียนสงขลาเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้

สื่อมวลชนภาคใต้สุดทนปัญหาสินค้าเถื่อน บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้าเกลื่อน

เมือง สงขลา สตูล ยะลา นราธิวาสเป็นประตูทางเข้า แหล่งพักและขายปลีก แฉชาวบ้านรู้ขายตรงไหนแต่เจ้าหน้าที่แค่จับเอาหน้า แถมอมเงินรางวัลนำจับ เปิดช่องพ่อค้านำกลับมาขายใหม่ เสนอทางแก้ จับได้ให้ทำลายของกลางทันที ยกระดับเป็นปัญหาความมั่นคงแห่งรัฐ จังหวัดไหนแก้ปัญหาไม่ได้ให้ย้ายผู้ว่าฯออกนอกพื้นที่ ทำอย่างนี้จึงจะปกป้องเด็กและเยาวชนได้ 

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)  ร่วมกับสื่อมวลชนในจังหวัดสงขลา จัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป ในหัวข้อ “ปัญหาบุหรี่เถื่อน-สินค้าผิดกฎหมาย ชายแดนใต้ ... แก้ไม่ได้จริงหรือ ?” เมื่อวันเสาร์ที่  22 กรกฎาคม 2566 ที่ โรงแรมดับเบิ้ลยู ทรี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีนายวิเชษฐ์  พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโสเป็นผู้ดำเนินรายการ นายแพทย์กู้ศักดิ์ บำรุงเสนา นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงาน สาธารณสุข จังหวัดสงขลา เปิดเผยถึงสถานการณ์การควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทยพบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ร้อยละ 17.4 คิดเป็นประมาณ 9.9 ล้านคน เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่อ อายุเฉลี่ย 18.5 ปี อายุต่ำสุด 6 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายคิดเป็น 26.7 เท่าของผู้หญิง ส่วนจังหวัดสงขลาอัตราการบริโภคยาสูบในปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 27.7 เป็นอันดับ 6 ของประเทศ สูงกว่าอัตราการบริโภคยาสูบของ ประเทศและเขตสุขภาพ ซึ่งจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 12 มีอัตราการบริโภคยาสูบสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศคือจังหวัดสงขลา สตูล พัทลุงและจังหวัดตรังและยังพบว่าอายุน้อยที่สุดที่เริ่มสูบบุรี่ของจังหวัดสงขลาคือ 12 ปี ส่วนข้อมูลล่าสุดในปี 2565  อำเภอที่สูบบุหรี่มากที่สุดคือ อ.สะบ้าย้อย ร้อยละ 30.63 รองลงมาคือ อ.คลองหอยโข่ง ร้อยละ 17.4 และอำเภอนาทวี ร้อยละ 16.93 จากรายงานภาวะโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย พ.ศ. 2562 พบการบริโภคบุหรี่เป็นอันดับ 2 ของปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิต โดยเป็นปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตประมาณ 85,000 กว่าคน ซึ่ง 5 โรคร้ายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ได้แก่ มะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดบวม โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวาน

ส่วนสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2564 มีการสำรวจคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปพบว่ามีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเกือบ 80,000 คน มากกว่าครึ่งเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี  ปัจจุบันมีการนิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะในวัยรุ่น เนื่องจากพกพาและสูบง่ายกว่าบุหรี่มวน มีการแต่งกลิ่น และที่สำคัญคือความเข้าใจผิดคิดว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย สูบแล้วไม่ติด ซึงในความเป็นจริงแล้ว ในควันของบุหรี่ไฟฟ้ามีทั้งสารนิโคตินและโลหะหนักหลายชนิด ที่ส่งผลให้เกิดการเสพติดและเป็นพิษต่อร่างกาย และยังพบอีกว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่มวน แถมยังมีโอกาสที่จะเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน ส่วนการเลิกสูบบุหรี่พบว่า ร้อยละ 80 สามารถเลิกได้ด้วยตนเอง สามารถทำได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ เช่น สร้างแรงจูงใจให้กับตัวเองอาจเกิดจากบุคคลที่เรารัก ขอคำปรึกษาจากคนใกล้ตัวที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ

นายสถาพร เกียรติอนันต์ชัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์บุหรี่เถื่อนทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าในจังหวัดสงขลาและจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ายังมีความรุนแรงอยู่ไม่ได้ลดลงเพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจเพิกเฉยไม่บังคับใช้กฎหมาย เห็นกันอยู่ชัดๆว่าบุหรี่เถื่อนมีขายที่ไหนบ้างเช่น อ.หาดใหญ่ แถว 4 แยกน้ำพุจะไปซื้อเมื่อไรก็ได้ มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่เถื่อนหรือสินค้าหนีภาษีมีเงินรางวัลนำจับด้วย แต่ในสภาพความเป็นจริงคนนำจับไม่ได้เงินตามที่กฎหมายกำหนดเช่นถ้ายอดเงิน 100,000 บาท คนนำจับได้แค่ 20,000 บาทส่วนที่เหลืออีก 80,000 บาทไปตกอยู่ในมือของคนไม่เกี่ยวข้องทำให้ประชาชนไม่อยากจะแจ้งเบาะแส นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของกลางที่จับได้มักจะถูกวิ่งเต้นจากพ่อค้าหรือมาประมูลกลับไปแล้วนำกลับมาขายใหม่ จึงเป็นปัญหาทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่

ส่วนแนวทางแก้ไขควรทำอย่างไรนั้น  มีทั้งการปราบปรามบังคับใช้กฎหมาอย่างจริงจังรวมทั้งการแก้ไขกฎหมายอาญา กฎหมายศุลกากร เช่นกฎหมายศุลกากรเมื่อจับแล้วมาสารภาพแล้วยกของกลางให้รัฐพวกพ่อค้าก็จะไปซื้อกลับมา ดังนั้นสินค้าที่ยึดมาแล้วให้ทำลายเลยไม่ควรจะนำกลับมาขายทอดตลาด ตามกฎหมายสินค้าที่ยึดมาได้มีแนวปฏิบัติ 3 แนวทางคือ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ,ศาลสั่งให้ทำลายและศาลสั่งทำให้ใช้ไม่ได้ ดังนั้นควรจะใช้แนวทางศาลสั่งให้ทำลายสินค้าเหล่านี้ให้หมดจะดีที่สุด เช่นเดียวกันกับปัญหายาเสพติดที่จับได้ตามแนวชายแดนก็ควรจะเผาทำลายกันในพื้นที่ที่จับได้เพราะถ้าปล่อยให้นำเข้ามาที่ส่วนกลางมีโอกาสที่จะสูญหายหรือยักยอกไประหว่างทางได้ สำหรับคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบจังหวัดสงขลาควรจะมุ่งมั่นจริงจังทำงานให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ต้องมีข้อมูลให้เห็นผลการดำเนินงานด้วยเพราะถ้าจริงจังจะเห็นผลเป็นรูปธรรมแน่นอน จะส่งผลให้เด็กและเยาวชน ประชาชนเข้าถึงบุหรี่เถื่อน  บุหรี่ไฟฟ้าได้น้อยลงเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางควบคู่ไปกับการให้ความรู้และรณรงค์

นายภูวสิษฎ์  สุกใส บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ ภาคใต้โฟกัส ในฐานะสื่อมวลชนที่เข้าไปมีบทบาทเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดสงขลากล่าวว่าสถานการณ์ยังคงรุนแรงอยู่ทั้งจังหวัดสงขลา จังหวัดสตูลและจังหวัดชายแดนภาคใต้เพราะเป็นทั้งประตูทางเข้า เป็นทั้งแหล่งกระจายสินค้าและการขายสินค้าเถื่อน สินค้าหนีภาษีโดยเฉพาะบุหรี่ เมื่อไม่นานมานี้ได้พบปะกับผู้บริหารท้องถิ่นแห่งหนึ่งบอกว่าปัจจุบันรายได้จากภาษีท้องถิ่นลดลงเพราะสินค้าเถื่อนและสินค้าหนีภาษี ไปถามชาวบ้านใน อ.หาดใหญ่ก็รู้ว่าจะซื้อบุหรี่เถื่อนจากไหน ทั้งตลาดใหม่ ถ.นิพัทธ์สงเคราะห์ ถ.นวลแก้วอุทิศก็หาซื้อได้ ปัญหาอยู่ที่เจ้าหน้าที่ไม่บังคับใช้กฎหมาย ตามน้ำบ้างหลับตาข้างหนึ่งบ้าง เป็นความหย่อนยานของเจ้าหน้าที่ และเป็นเรื่องของผลประโยชน์ต่างตอบแทน ลองไปถามดูได้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ใครๆก็อยากจะมาอยู่สงขลา อ.หาดใหญ่  สะเดา ปาดังเบซาร์ อยู่จ.สตูลที่ด่าน วังประจัน อยู่ยะลา อ.เบตง  หรืออยู่นราธิวาส อ.สุไหงโกลก เพราะนี่คือประตูทางเข้าของสินค้าผิดกฎหมาย

ส่วนบทบาทของสื่อมวลชนในจังหวัดสงขลาและจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาก็เคยเสนอทั้งข่าว รายงานและบทวิเคราะห์ในเรื่องเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่ตื่นตัวเป็นครั้งคราวทำกันแบบไฟไหม้ฟางสุดท้ายก็เป็นเหมือนเดิม ดังนั้นแนวทางที่ควรจะทำคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องและจริงจังตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับล่าง ไม่รับผลประโยชน์ไม่ปากว่าตาขยิบปัญหาก็จบ และต้องยกระดับเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐเป็นวาระชัดเจนตั้งแต่ระดับชาติลงมาจนถึงจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดก็ต้องเอาจริงถ้าพบว่ายังมีการค้าบุหรี่เถื่อนในพื้นที่หรือไปปกป้องพ่อค้าก็ต้องถูกย้ายอยู่ในจังหวัดไม่ได้ หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องให้อำนาจผู้ว่าฯเสนอย้ายตำรวจ ย้ายสรรพสามิต หรือเจ้าหน้าที่ขอ

‘นักปอกเปลือกข้าวโพดอ่อน’ ขั้นเทพ!! ใช้เวลาเพียงแค่ 3-4 วิต่อฝัก จนกลายเป็นมือวางอันดับหนึ่ง ทำได้เร็วที่สุด เยอะที่สุด และมีรายได้สูงสุด

(14 ส.ค.66) ที่สงขลา ไปดูอาชีพการรับจ้างปอกเปลือกข้าวโพดอ่อน หรือที่ชาวบ้านทางภาคใต้เรียกกันว่า ‘ปอกดาบคง’ ที่โรงปอกข้าวโพดอ่อน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านโคกขี้เหล็ก หมู่ 1 ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

และเป็นอีกหนึ่งอาชีพของชาวบ้านที่นี่ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้หญิงที่มาทำกัน สามารถสร้างรายได้ 300-500 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับความสามารถและความรวดเร็วในการปอกของแต่ละคน โดยได้ค่าปอกกิโลกรัมละ 5 บาท 

แต่ที่จะพาไปดูคือนักปอกเปลือกข้าวโพดอ่อนมืออาชีพขั้นเทพ และเป็นมือวางอันดับ 1 ของที่นี่ หรืออาจจะเป็นนักปอกเปลือกข้าวโพดที่เร็วที่สุดในสงขลาหรือในประเทศไทยก็ว่าได้ มีชื่อว่า น.ส.สาหรอ อ่อนแก้ว อายุ 37 ปี หรือขอ ซึ่งเป็นชื่อเล่นที่เรียกกัน

น.ส.สาหรอ หรือ ขอ เป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญและมีทักษะความชำนาญในการปอกเปลือกข้าวโพดอ่อนที่หาตัวจับยาก เพราะมือเร็วมากเรียกว่ามองแทบไม่ทัน ข้าวโพดแต่ละฟักใช้เวลาปอกแค่ 3-4 วินาทีเท่านั้น และเร็วกว่าคนอื่น ๆ 2-3 เท่าตัว

วิธีการปอกเริ่มจากปาดหัวเอาเปลือกนอกอก กรีดส่วนหัวให้รอบ แล้วกรีดหางลอกเปลือกออกเป็นอันเสร็จ แต่พอดู น.ส.สาหรอ ทำแล้วด้วยความที่มือเร็วมาก จนดูแทบไม่ทันเพราะเหมือนรวบรัดทุกขั้นตอนเอาไว้ทีเดียว

โดยแต่ละวัน น.ส.สาหรอ จะปอกเปลือกข้าวโพดอ่อนได้วันละประมาณ 100 กิโลกรัม และปอกได้มากกว่าคนอื่น ๆ 2-3 เท่าตัว และเป็นคนที่ทำเงินจากการปอกเปลือกข้าวโพดอ่อนมากที่สุด ไม่เคยมีใครทำลายสถิติได้

สอบถามสาหรอ บอกว่า ยึดอาชีพรับจ้างปอกเปลือกข้าวโพดอ่อนมานับ 10 ปี แรก ๆ ก็ปอกช้า แต่พอนานเข้าก็เริ่มเข้ามืออย่างที่เห็นในปัจจุบันและช่วงที่ทำใหม่ ๆ ก็มีบ้างที่พลาดโดนมีดบาด แต่ตอนนี้ไม่เคยถูกมีดบาดอีกเลย เพราะจังหวะการปอกทุกอย่างเข้าที่เข้าทางหมดแล้ว เรียกว่าแทบจะหลับตาปอกได้เลย สุดยอดจริง ๆ เวรี่กู๊ด

'สส.สรรเพชญ' ยก 5 ปัญหาเรื้อรัง 'สงขลา' หารือสภาฯ  ชี้!! ชาวบ้านทุกข์หนัก วอน!! หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งช่วยด่วน

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 66 ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ปรึกษาหารือปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ด้วยความรวดเร็วกระชับในเวลาเพียงไม่เกิน 4 นาที แต่สามารถระบุสาระสำคัญของปัญหาที่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยดูแลได้ถึง 5 เรื่องด้วยกัน ดังนี้...

1. ขอให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนเครื่องจักรกลเพื่อขุดลอกคูคลองในพื้นที่สำคัญ ๆ เพิ่มเติม เพื่อเตรียมการรับมือน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะอำเภอเมืองสงขลา โดยเฉพาะบริเวณห้าแยกน้ำกระจาย มักจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอยู่ตลอดทุกปี เป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังแก้ไม่หาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง

2. ขอให้แขวงทางหลวงชนบทสงขลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะบนเส้นทางสัญจร ถนนทางหลวงชนบท สาย สข 2004 แยกทางหลวงหมายเลข 43 เขตเทศบาลนครสงขลา เนื่องจากผู้ใช้ถนนดังกล่าวได้รับความไม่สะดวก ในการสัญจรรวมถึงความไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน เนื่องจากแสงสว่างไม่เพียงพอ รวมถึงทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ยังมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดแนวชายฝั่ง และถนนดังกล่าวยังเป็นเส้นทางสัญจรของประชาชน และมีโรงงานอุตสาหกรรม บ้านเรือนประชาชน อาศัยอยู่ตลอดแนวถนน ทำให้ช่วงเวลากลางคืน อาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน

3. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซ่อมแซมถนนไทรบุรี ซึ่งเป็นถนนเส้นหลักที่ใช้มุ่งหน้าเข้าเมืองสงขลา ถนนเส้นนี้เคยได้รับฉายาว่า ‘หลับที่อื่นแต่มาตื่นที่สงขลา’ เพราะถนนขรุขระมาก ถนนสายนี้เป็นเส้นทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาค่อนข้างมาก เช่น ย่านเมืองเก่า ชายหาดต่างๆ อยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยปรับปรุงถนนเป็นการเร่งด่วน เพื่อบรรเทาปัญหาของพี่น้องประชาชน และเพื่อเตรียมการรองรับกีฬาซีเกมส์ในอีก 2 ปีข้างหน้า ที่จะจัดขึ้นและจังหวัดสงขลาเป็นเจ้าภาพด้วย และเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของประเทศต่อไป

4. ขอให้การประปาส่วนภูมิภาค ขยายเขตประปาภูมิภาค และปรับปรุงคุณภาพน้ำประปา เนื่องจากเดิมทีเป็นประปาหมู่บ้าน หรือชาวบ้านเจาะน้ำบาดาล และต้องเอามากรองแล้วใช้ในหมู่บ้าน โดยชาวบ้านดูแลค่าใช้จ่ายกันเอง แต่บางหมู่บ้านขาดทุนก็ต้องล้มเลิกไป ซึ่งปัจจุบันระบบน้ำเก่า ชำรุดทรุดโทรม ท่อน้ำมีสนิมเกาะ ไม่เหมาะแก่การอุปโภคและบริโภค อีกทั้งแรงดันน้ำไม่เพียงพอ ต้องดึงเมนมาจากบ้านโคกสูง ตำบลท่าข้าม จึงขอให้การประปาฯ ขยายเขตประปาภูมิภาค และปรับปรุงคุณภาพน้ำ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ใช้น้ำประปาที่มีคุณภาพ

5. ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปช่วยเหลือประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาที่คลองอิกอง หมู่ 1 บ้านบางดาน ตำบลเขารูปช้าง เนื่องจากผนังกั้นคลองเริ่มทรุดตัว มีรอยแตกร้าวเป็นทางยาวจากการกัดเซาะของน้ำที่ไหลบ่าจากบนเขาในทุกๆ ปี ทำให้เกิดอันตรายกับประชาชน และประชาชนเคยขอให้เทศบาลเขารูปช้างดำเนินการแล้วแต่ติดปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ จึงขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือประชาชนด้วย

"ทั้งนี้ จึงกราบเรียนผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยด่วนต่อไป เนื่องจากประชาชนรอการแก้ไขปัญหาเรื้อรังเหล่านี้ด้วยครับ" นายสรรเพชญ กล่าว

'สรรเพชญ' ซัด!! ปัญหาความล่าช้าก่อสร้างอควาเรียมหอยสังข์ ใบ้ชื่อย่อ 'ช' และ 'ม' อาจเอี่ยวทุจริตโครงการฯ ทำ 15 ปีไม่คืบ

(21 ก.ย.66) ณ ห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะ อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ยื่นกระทู้ถามแยกเฉพาะ ได้ถามคำถามต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในครั้งนี้ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าตอบคำถามในกระทู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 

ในการนี้ นายสรรเพชญ ได้กล่าวถึงปัญหาความล่าช้าของโครงการ ที่มาและความจำเป็นของการที่ต้องมาตั้งกระทู้ถามสดในวันนี้ โดยกล่าวว่า “โครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรือที่รู้จักกันดี คือ อควาเรียมหอยสังข์ เป็นโครงการที่ตนคิดว่ามีวัตถุประสงค์ที่ดี เป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวสงขลา และครั้งหนึ่งเคยมีการขายฝันกับชาวสงขลาไว้ว่า อควาเรียมหอยสังข์ จะเป็นอควาเรียมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะวัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง คือ ใช้เป็นสถานที่จัดแสดง วิจัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขนาดใหญ่ซึ่งครอบคลุมทั้งสัตว์น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม เพราะจังหวัดสงขลาเองก็เป็นจังหวัดใหญ่ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ โครงการนี้ตนจึงคิดว่าเป็นโครงการที่ดี” 

แต่อย่างไรก็ดี โครงการนี้กลับมีความฉ้อฉลที่ทำให้ประชาชนสงสัย และสร้างบาดแผลในใจให้กับพี่น้องชาวสงขลาเป็นอย่างมาก เพราะใช้เวลาก่อสร้างกว่า 15 ปีแล้ว ก็ยังไม่เสร็จ อีกทั้งใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 1,400 ล้านบาท ได้มาเพียงตึกรูปหอยสังข์กับระบบภายในที่ไม่แล้วเสร็จ กลายเป็นอนุสาวรีย์ที่ผู้คนกล่าวขานกันว่า ถ้าอยากดูซากหอยล้านปีต้องไปที่กระบี่ แต่ถ้าอยากดูซากหอยที่สร้างไม่เสร็จซักทีต้องไปที่สงขลา 

นายสรรเพชญ จึงได้ถามคำถามในห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะ โดยถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 3 คำถามด้วยกัน คือ...

1) กระทรวงศึกษาธิการภายใต้รัฐบาลชุดนี้ มีแนวทางหรือแผนการดำเนินงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

2) กระทรวงศึกษาธิการ มีแนวทางหรือนโยบาย เพื่อระงับข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม จากการขอลดสเปกของผู้รับเหมา แต่ราคากลับไม่ลดตาม เพื่อให้เกิดข้อยุติและไม่กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ในอนาคต นอกจากนี้ ในเรื่องของรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงที่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบที่ผ่านมา ท่านมีข้อสรุปอย่างไร ขอทราบรายละเอียด

3) หากไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการอย่างไรกับงบประมาณที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงการดำเนินการทางคดีกับผู้รับเหมาที่ทิ้งงานท่านได้ดำเนินการไปแล้วหรือไม่อย่างไร ขอทราบรายละเอียด 

หลังจากนั้น นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ ก็ได้ให้เกียรติตอบคำถามโดยสรุปว่า “ในขณะนี้คดีอยู่ในชั้น ป.ป.ช. และยังไม่ได้มีข้อสรุปออกมา ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้ส่งหนังสือสอบถามความคืบหน้าไปยัง ป.ป.ช. เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงฯ  จึงยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เหตุเพราะว่ารอการตรวจสอบของ ป.ป.ช. และเกรงว่าหากดำเนินการอะไรไปก่อน จะเกิดข้อผิดพลาดทางกฎหมายได้” 

นายสรรเพชญ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “จากที่ตนได้ศึกษาที่มาที่ไปของปัญหาเบื้องต้น ก็ได้ทราบถึงต้นตอปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้น อาจจะเกิดจากการทุจริตของคนบางกลุ่ม ซึ่งอาจจะมีชื่อย่อ ช และ ม อย่างไรก็ตาม ต้องรอการตรวจสอบของ ป.ป.ช. และตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีการตรวจสอบอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา” 

และในตอนท้าย นายสรรเพชญ กล่าวว่า “ตนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กระทรวง ศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการดำเนินการหาทางออกอย่างเร็วที่สุด เพราะกว่า 15 ปีแล้ว ที่งบประมาณถูกใช้ไปโดยเปล่าประโยชน์ อย่างไรก็ตาม หากจะมีการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นอื่นหรืออย่างไร ก็ขอให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วและโปร่งใส เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนชาวสงขลาและประชาชนทุกคน”

‘นายกฯ’ ลุยสงขลา เร่งหารือทางการค้า ‘นายกฯ มาเลเซีย’ ส่องความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย

(26 พ.ย. 66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ในวันที่ 27 พ.ย. เพื่อสำรวจความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย และมีกำหนดการหารือทวิภาคีกับ ‘ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม’ (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพื่อผลักดันในประเด็นที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้หารือกันไว้

โดยนายกฯ จะออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และไปถึงด่านสะเดาแห่งใหม่ เวลา 11.00 น. เพื่อให้การต้อนรับนายกฯมาเลเซีย พร้อมหารือทวิภาคี และรับฟังความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย และสถานการณ์การค้าและการท่องเที่ยวบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ ผู้นำไทย-มาเลเซีย จะร่วมกันสำรวจเส้นทางเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่โรงแรม Vista

นายชัย กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย สืบเนื่องมาจากการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้นำไทยและมาเลเซีย เห็นพ้องในการผลักดันการค้าชายแดน การแก้ปัญหาความแออัดของด่านสะเดา รวมถึงการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย และประเด็นความร่วมมืออื่น ให้มีผลคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

นายชัย กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือในทุกด้าน โดยเฉพาะการค้าการลงทุน และความสัมพันธ์ระดับประชาชน ซึ่งมาเลเซียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 ของไทย และเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของไทยในอาเซียน โดยตั้งเป้าจะเพิ่มมูลค่าการค้าให้บรรลุเป้าหมายที่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (30 billion USD) ภายในปี 2568 โดยการค้าระหว่างกันส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดนและผ่านแดน โดยการค้าชายแดนไทย - มาเลเซีย ในปี 2565 มีมูลค่า 336,125 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.76 ของมูลค่าการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยส่วนใหญ่ผ่านด่านศุลกากรสะเดา ปาดังเบซาร์ เบตงและสุไหงโก-ลก ตามลำดับ นอกจากนี้ ในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวมาเลเซียมาเยือนไทยมากเป็นอันดับที่ 1 ทั้งปีมากกว่า 2.9 ล้านคน คิดเป็นลำดับ 1 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ทำให้มาเลเซียนับเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญและมีความสัมพันธ์หลากหลายมิติกับไทย
 
“การพบหารือของนายกฯและมาเลเซีย สะท้อนความตกลงร่วมกันของรัฐบาลทั้งสองในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทยและมาเลเซีย เพื่ออำนวยความสะดวก เพิ่มความเชื่อมโยงในการเดินทาง รวมถึงการค้าขายบริเวณชายแดนระหว่างกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลเพื่อประโยชน์โดยตรงของประชาชนไทยและมาเลเซีย ทั้งการค้า ลงทุน การท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ และทางด้านสังคม การไปมาหาสู่ระหว่างกัน” นายชัย กล่าว

สงขลา-ม.ทักษิณ เปิดศูนย์ศิลปะและชีวิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่รวบรวมผลงานสร้างสรรค์ นวัตกรรมการวิจัย คลังข้อมูลสารสนเทศของชาติด้านศิลปะและวัฒนธรรม

ที่ มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ เปิดศูนย์ศิลปะและชีวิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ อาคารหอเปรมดนตรี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพร บุญมาก รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยทักษิณ  เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเฉพาะทางที่จัดตั้งขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริม การแลกเปลี่ยนทางศิลปะและวัฒนธรรมระหว่างกัน ของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการผลิต ต่อยอด งานวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม การให้บริการวิชาการ และการพัฒนานิสิต บุคลากรร่วมกัน โดยมีผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดสงขลาเข้าร่วมพิธีอย่างคับคั่ง

รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพร บุญมาก รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณ มีนโยบายและภารกิจหลักในด้านการพัฒนานวัตกรรมสังคมบนฐานศิลปะ วัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสืบสานและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นเป้าหมายของการเปิดศูนย์ศิลปะและชีวิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Center For Southeast Asia Arts And Life ส่วนหนึ่งคือจะกลายเป็นพื้นที่กลาง เป็นศูนย์กลางของศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การศึกษา และก่อให้เกิดความร่วมมือของสถาบันทางการศึกษา สถาบันทางวัฒนธรรมทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อนโยบายของมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันยังได้เชื่อมโยงเครือข่ายการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งกับชุมชนท้องถิ่นผ่านการจัดโครงการ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์และกิจกรรมของชุมชน มุ่งมั่นส่งเสริมการแลกเปลี่ยนศิลปะ วัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันทางสังคม ความซาบซึ้งต่อมรดกทางวัฒนธรรมของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ 

สร้างแรงบันดาลใจให้กับความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม และส่งเสริมการอนุรักษ์ประเพณีทางศิลปะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเป็นศูนย์ข้อมูล สื่อและทรัพยากรดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สนใจได้ข้อมูลที่เจาะลึกเข้าไปใน ประเพณีทางศิลปะของภูมิภาคและทำความเข้าใจอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับความสำคัญทางวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการผลิต ต่อยอดงานวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม การให้บริการวิชาการ และการพัฒนานิสิต บุคลากรร่วมกันอีกทั้งเป็นการตอบสนอง นโยบายและภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยในด้านการพัฒนานวัตกรรมสังคมบนฐานศิลปะ วัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสืบสานและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉีองใต้และเป็นศูนย์กลางของศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การศึกษาและความร่วมมือของ สถาบันทางการศึกษา สถาบันทางวัฒนธรรม หน่วยงานเครือข่ายภาครัฐและเอกชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวีวัฒน์ ไทยเจริญ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ศิลปะและชีวิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับการอนุมัติจัดตั้งตามมติคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 โดยมีหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน ได้แก่ งานวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ คณะศึกษาศาสตร์  สาขาวิชาทัศนศิลป์และการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สำนักงานคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายหน่วยงานภายนอกร่วมดำเนินการ ได้แก่ สมาคมศิลปินนานาชาติภาคใต้ กลุ่มร่องลายไทย สถานกงสุลสาธารณรัฐอินโดนีเชียประจำจังหวัดสงขลา และสถานกงสุลใหญ่มาเลเชียประจำประเทศไทย ณ จังหวัดสงขลา 

ดังนั้นเพื่อให้หน่วยงานภายในและภายนอกได้ รับทราบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ศิลปะและชีวิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ฯ ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือต่าง ๆ ในอนาคตจึงกำหนดกิจกรรมการเปิดตัวศูนย์ศิลปะและชีวิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์ศิลปะและชีวิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาคารหอเปรมคนตรี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ซึ่งภายในงานจะมีกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ การแสดงผลงานจากโครงการวิจัย รวมถึงกิจกรรมการ workshop ด้านทัศนศิลป์โดยศิลปินนานาชาติจากหลากหลายประเทศทั่วโลก สำหรับการแสดงพิธีเปิด “Southeast Asian Arts and Life” ประกอบด้วย การแสดงวงดนตรีไทยปี่พาทย์ โดย สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย การแสดงวงดนตรีรองเง็ง โดย สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย การแสดงดนตรีร่วมสมัย โดย สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์สากลและสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย การแสดงโนรา โดย ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงโนรา ประจำปี 2564  

สำหรับกิจกรรม Workshop ด้านทัศนศิลป์ ในวันนี้ได้รับเกียรติจากสมาคมศิลปินนานาชาติภาดใต้   จาก 21 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเชีย พิลิปปินส์ จีน เกาหลีไต้ ญี่ปุ่น มองโกเลีย บังคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย อียิปต์ ออสเตรีย มาเซโดเนีย อังกฤษ ฝรั่งเคส สเปน อเมริกา และ ไทย มาร่วมสร้างสรรค์ประสบการณ์ทางด้านทัศนศิลป์ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมระหว่างกัน 

เพื่อให้สามารถต่อยอดผลงานสร้างสรรค์ นอกจากนี้ได้จัดให้มีการแสดงผลงาน โดย กลุ่มวิจัยโนรา (คณะศิลปกรรมศาสตร์) กลุ่มวิจัยกริช (สถาบันทักษิณคดีศึกษาและคณะศิลปกรรมศาสตร์) และงานวิจัยดินเผา (อาจารย์ ดร.วิเชษฐ์ จันทร์คงหอมและผู้ช่วยศาสตราจารย์ดำรงค์ ชีวะสาโร คณะศิลปกรรมศาสตร์) ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชื่นชมผลงานของเหล่าศิลปินได้ที่ หอเปรมดนตรี ชั้น 1 มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา

ผวา!! ‘แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส’ โผล่หาดชลาทัศน์ ชี้!! พิษร้ายแรงที่สุดในโลก โดนเข้าอาจถึงขั้นเสียชีวิต

จากกระแสในโซเชียลมีเดียเตือนภัยแมงกะพรุนหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา พบมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกพิษแมงกะพรุนหลายรายทั้งในพื้นที่อ.สิงหนคร มาจนถึงที่อ.เมือง จ.สงขลา ตลอดแนวหาดชลาทัศน์ แหลมสมิหลา สงขลา

ล่าสุด (28 ก.พ. 67) ที่หาดชลาทัศน์ จ.สงขลา ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจบริเวณริมหาดพบว่ามีแมงกระพรุนสายพันธุ์ หมวกโปรตุเกส ลักษณะเด่น หัวมีสีขาวเหมือนหมวกทหารเรือรบโปรตุเกสโบราณ ลำตัวมีสีน้ำเงิน มีพิษร้ายแรง โดยเฉพาะคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หากไปโดนพิษแมงกะพรุนชนิดนี้ อาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต พบมากในช่วงมรสุม ส่งผลให้ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลในห้วงเวลานี้ พบแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส ถูกคลื่นซัดเข้ามาบริเวณชายหาดต่าง ๆ ตลอดแนวทั้งจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี สงขลา กระบี่ ภูเก็ต

ด้านนายวันชัย ปริญญาศิริ นายกเทศมนตรีนครสงขลาเผยว่า ปรากฎการณ์ของแมงกะพรุนหมวกโปรตุเกสจริง ๆ เจอกันเป็นประจำตามฤดูกาล แต่ปีนี้จากการสำรวจพบว่ามีมากกว่าปีก่อน ๆ มาก ตั้งแต่ริมหาดตลอดแนวไปจนถึงกลางทะเลใกล้เกาะหนูเกาะแมว ซึ่งขณะนี้ตนได้ให้เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดประชาสัมพันธ์และเฝ้าระวังเชิงรุก และห้าม นทท.ลงเล่นน้ำ หากพบมีผู้ถูกพิษแมงกะพรุนชนิดนี้ก็จะเร่งให้ไลฟ์การ์ดปฐมพยาบาลเบื้องต้นและนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที โดยระหว่างนี้ไปจนถึงต้นเดือนเมษายน ก็ยังจะพบแมงกะพรุนไฟโปรตุเกสอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามก็ต้องขอความร่วมมือประชาชนและนักท่องเที่ยวระมัดระวังในการลงเล่นน้ำหากพบแมงกะพรุนไฟดังกล่าวอย่าเข้าใกล้เด็ดขาดและหากโดนพิษให้เร่งเอาน้ำส้มสายชูราดที่ผิวหนังทันที ซึ่งทางเทศบาลนครสงขลามีบริการไว้ตามจุดต่าง ๆ ตลอดแนวหาดแล้ว

สำหรับแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส (Portuguese man-of-war) เป็นแมงกะพรุนไฟสายพันธุ์ Physalia มีชื่อเรียกอีกอย่างว่าแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส จัดเป็นแมงกะพรุนไฟที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก มีลําตัวสีชมพูม่วง น้ำเงิน หรือเขียว ยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร รูปร่างของร่มแมงกะพรุนมีลักษณะคล้ายเรือใบ ลักษณะภายนอกของลําตัวมีปากยื่นยาวออกมาจากลําตัว และมีหนวด (ยาวได้มากถึง 30 เมตร) ออกมาจากขอบร่มเป็นสายยาว โดยปกติจะไม่พบในน่านน้ำไทย ส่วนใหญ่จะพบในทะเลเปิดของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย แต่จะอาจจะถูกกระแสน้ำพัดมาเกยตื้นหรือเข้าสู่น่านน้ำไทยได้ในบางฤดูกาล

ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา สนธิกำลังกับตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ รวบเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย

ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) , พล.ต.ต.มานัด ศรีวงษา รอง ผบช.สตม. , พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. , พล.ต.ต.ทรงโปรด สิริสุขะ ผบก.ตม.6 นำกำลัง ตม.จว.สงขลา ผนึกกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สะเดา , เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) บช.ก , เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. คลองแงะ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.6 กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) บช.ก. เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2567 เวลาประมาณ 14.50 น. ได้ร่วมกันจับกุม MR.CHEONG KOK WAI  อายุ 43 ปี สัญชาติ มาเลเซีย  

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ได้รับการประสานว่ามีบุคคลต้องสงสัยตามหมายจับ ผ่านพรมแดนเข้ามายังประเทศไทย จึงขอให้ตำรวจ สภ.สะเดา ตั้งจุดสกัด ต่อมาได้พบรถเก๋งยี่ห้อ Mercedes-benz  ติดแผ่นป้ายทะเบียน WA868W จึงตามไปถึงบริเวณแยกไฟแดงควนสะตอ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้หยุดรถและแสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบ พบ MR.CHEONG KOK WAI สัญชาติมาเลเซีย ได้เชิญตัวมายัง สภ.สะเดา ตรวจสอบพบหมายจับดังกล่าว สอบถาม MR.CHEONG KOK WAI ผู้ถูกจับกุมให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ขอให้การในชั้นจับกุม

พ.ต.อ.ชินวุฒิ ตั้งวงษ์เลิศ ผกก.ตม.จว.สงขลา กล่าวว่า การจับกุมในครั้งนี้ ผบช.สตม.มีนโยบายให้เข้มงวดคัดกรองตรวจสอบประวัติบุคคล ไม่ให้มีผู้กระทำความผิดกฎหมายเข้ามาสร้างความเสียหายแก่ประเทศไทยได้ จึงขอฝากข้อมูลถึงประชาชน หากพบเบาะแสสามารถแจ้งได้ที่สายด่วนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 1178


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top