Thursday, 2 May 2024
พรรคประชาธิปัตย์

‘มาดามเดียร์’ แลกเปลี่ยนมุมมอง ผู้นำฯ นักศึกษา มข.  รับฟังไอเดีย ‘ศก.-การเมือง’ เพื่อปรับสู้เลือกตั้งหนหน้า

‘มาดามเดียร์’ ล้อมวงคุย ผู้นำองค์การนักศึกษา ม.ขอนแก่น แลกเปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจ-การเมือง-ความคาดหวัง พร้อมนำปรับใช้ทำนโยบายสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ขณะนักศึกษาเชียร์นั่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ 

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 66 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ พบปะแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดและข้อเสนอแนะกับกลุ่มผู้นำองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย นายวรเชษฐ์ อสิพงษ์ ประธานกลุ่มเลือดสีอิฐ มหาวิทยาลัยขอนแก่น น.ส.บุญยานุช อ่อนนางใย อุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีนายวีระยุทธ งามจิตร อดีตผู้สมัคร ส.ส. ขอนแก่น เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมด้วย ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนถึงมุมมองของนักศึกษาที่มีต่อการเมืองระดับชาติ มุมมองด้านเศรษฐกิจและสังคม สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ขับเคลื่อนหรือปรับเปลี่ยน เช่น เรื่องของระบบการศึกษา เรื่องของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) รวมถึงยังได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองในการบริหารงานขององค์การนักศึกษา 

โดย น.ส.วทันยา ได้อธิบายถึงเรื่องของ กยศ. ว่า เมื่อการเลือกตั้งในปี 2566 พรรคประชาธิปัตย์ได้มีนโยบายในเรื่องของการเรียนฟรีถึงปริญญาตรีเพื่อเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้นักศึกษาจะได้ไม่ต้องกู้ยืมเงินในกองทุน กยศ.เพื่อนำมาเป็นค่าเทอมอีกต่อไป และจะปรับกองทุน กยศ. ให้นักศึกษาสามารถกู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันแทน 

น.ส.วทันยา ยังกล่าวอีกว่า วันนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มาพูดคุยกับน้องนักศึกษาที่เป็นองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ช่วยเสนอมุมมองแลกเปลี่ยนในหลายเรื่องที่ทำให้เข้าใจในเรื่องของปัญหาในแต่ละช่วงวัย รวมถึงความคาดหวังของพวกเขาต่ออนาคตที่อยากจะเห็นในรูปแบบของการเมืองไทย และเศรษฐกิจที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต ซึ่งการพูดคุยนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นจุดหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แล้วทำให้เราเข้าใจในมุมมองของแต่ละช่วงวัยได้อย่างถ่องแท้มากยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้เราเข้าใจถึงสภาพปัญหาและความคาดหวังขอเขาเพิ่มมากขึ้น โดยสิ่งที่วันนี้ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยจะได้นำกลับไปปรับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในการที่จะนำเสนอต่อประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป 

นอกจากนี้ ในช่วงท้ายของการพูดคุย น.ส.วทันยา ได้ให้กำลังใจน้องนักศึกษากลุ่มเลือดสีอิฐให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะลงรับเลือกตั้งนายกองค์การนักศึกษาที่จะเกิดในช่วงเดือนมกราคม 2567 ขณะที่น้องนักศึกษาก็ได้ให้กำลังใจกับ น.ส.วทันยา ขอให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 ด้วย

จับตา!! ศึกชิงหัวหน้าพรรคปชป. ดัน ‘เฉลิมชัย’ ชน ‘มาดามเดียร์’ การตัดสินใจที่น่าห่วง หาก ‘แรงยุ-แรงเชียร์’ เหนือเหตุและผล

“เสียง สส.ส่วนใหญ่ของเรายังผนึกกำลังกันแน่นเหมือนเดิม” เป็นคำยืนยันจาก ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ สส.นครศรีฯ พรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นการตอกย้ำว่า ขั้วของ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน-เดชอิศม์ ขาวทอง’ ยังคงเดินหน้าสู้เพื่อยึดพรรคประชาธิปัตย์มาบริหาร

ภาพปรากฏชัดเมื่อ สส. 21 คนมาตั้งวงคุยกัน วิเคราะห์อนาคตกับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนที่ 9 ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ อันเป็นการตั้งวงวิเคราะห์หลังจาก ‘มาดามเดียร์’ วทันยา บุนนาค หรือ วงษ์โอภาสี ตัดสินใจเปิดตัวลงชิงหัวหน้าพรรค พร้อมประกาศเจตนารมณ์ ‘ฟื้นฟูพรรค เรียกศรัทธาคืน’ ตามด้วยการออกคลิปส่งสัญญาณเจตนารมณ์ไปยังสมาชิกพรรคทั่วประเทศถึงความมุ่งมั่น

เอาเป็นว่ากระแสตอบรับดีเกินคาด ‘นิด้าโพล’ เป็นเครื่องยืนยันว่า มาดามเดียร์มาเต็งหนึ่ง แต่มีคะแนนไม่ตัดสินใจมากถึง 28% เลือกมาดามเดียร์ 27% ส่วน ‘นราพัฒน์’ และ ‘อภิสิทธิ์’ ยังตามหลังมาดามเดียร์

ไม่รู้ว่าคิดผิดหรือถูก กลุ่ม สส.สาย ‘เฉลิมชัย-เดชอิศม์’ ประเมินว่า นราพัฒน์ แก้วทอง ต้องแพ้ ‘มาดามเดียร์’ จึงลงมติเปลี่ยนม้ากลางศึก ส่งเทียบเชิญ ‘เฉลิมชัย’ มาลงชิงหัวหน้าพรรคเอง แต่เฉลิมชัยยังไม่ตัดสินใจ ขอเวลา 1-2 วัน ในการตัดสินใจ ส่วนตัว #นายหัวไทร อยากให้เฉลิมชัยตัดสินใจบนพื้นฐานของเหตุและผล ไม่ใช่เกิดจากแรงยุ แรงเชียร์ 

เหตุและผลที่ว่า คือภารกิจหนักในการนำพาพรรค ฟื้นฟูพรรค เรียกศรัทธาพรรคจากประชาชนกลับคืนมา อุดมการณ์ของพรรคต้องกลับมาพิจารณาทบทวน ตรงไหนสึกหรอ กร่อนไป จะเสริมเข้ามาอย่างไร เพื่อให้พรรคมีความเป็นพรรคที่ทันสมัย เขาผลักให้ไปอยู่ฝ่ายอนุรักษ์ก็ยอม ไม่ดันตัวเองไปอยู่ฝ่ายก้าวหน้า เสรีนิยมประชาธิปไตย ตามอุดมการณ์ของพรรค

เหตุอีกประการที่ไม่ควรลืม คือการที่เฉลิมชัย ประกาศกร้าวบนเวทีว่า “ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ สส.น้อยกว่าเดิม จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต จะกลับไปประจวบคีรีขันธ์” ถ้าเฉลิมชัยกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เท่ากับ ‘เฉลิมชัย’ ตระบัดสัตย์ครั้งสำคัญ นักการเมืองจำนวนไม่น้อยเสียผู้เสียคนกับการตระบัดสัตย์ นักการเมืองต้องพูดจริงทำจริง ไม่ทิ้งประชาชน

เมื่อประกาศวางมือทางการเมืองแล้ว ก็ไม่ควรมาจุ้นจ้านอะไรอีก ควรผันตัวเองไปทำอย่างอื่น ไม่ควรอยู่แม้กระทั่งเบื้องหลัง รักษาการหัวหน้าพรรคก็ไม่ควรรับแล้ว ถ้ายังมีใจรักประเทศชาติ ประชาชน ก็ยังมีบทบาทอื่นรองรับได้ ทำงานได้ เช่น มูลนิธิ สมาคม หรืออะไรก็ได้ที่สามารถช่วยเหลือชาติและประชาชนได้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมือง หรือพรรคการเมือง

การเมืองไม่ใช่เรื่องของการแข่งขันเพื่อชัยชนะเพียงด้านเดียว การเมืองมีหลากหลายมิติ แต่นักการเมืองที่ก้าวเข้ามาคิดแค่ว่าทำอย่างไรให้ชนะ ทำอย่างไรในการช่วงชิง ‘อำนาจรัฐฯ’ มาอยู่ในมือ เข้าใจได้ว่า การแก้ไขปัญหาบางอย่างต้องใช้งบประมาณของรัฐฯ ต้องใช้อำนาจรัฐฯ ต้องใช้กลไกของรัฐฯ เป็นเครื่องมือ

แต่สถานการณ์ปัจจุบันของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการช่วงชิงอำนาจบริหารพรรค เพื่อนำพาพรรคไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ชาติ ประชาชน แต่เป้าหมายคือ ‘พวกพ้อง’ และ ‘ผลประโยชน์’ บรรดาโหวตเตอร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นตัวจริงหรือตัวสำรอง ยังมีเวลาในการนั่งสมาธิ ให้เปิดปัญญา ตั้งสติ คิดให้รอบคอบ เดินเข้าสู่ห้องประชุมโดยไม่มีแรงจูงใจอื่น นอกจากสติที่คิดได้ ปัญญาที่มุ่งหวังดีต่อชาติบ้านเมือง

อุดมการณ์ประชาธิปัตย์จะยังไม่ตายหรอก ถ้าพลพรรคทั้งหลาย มีสติ มีปัญญา และมุ่งมั่นต่อชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้งตามเจตนารมณ์ของ ‘ควง อภัยวงศ์’ ผู้ก่อตั้งพรรค เมื่อ 77 ปีก่อน

‘สามารถ’ นับถือใจ ‘เฉลิมชัย’ รับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. ขออย่ามองเป็นการตระบัดสัตย์ พร้อมยกประวัติศาสตร์เป็นตัวอย่าง

(10 ธ.ค. 66) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘สามารถ เจนชัยจิตรวนิช’ ระบุว่า…

‘สามารถ’ นับถือใจ ‘เฉลิมชัย’ รับตำแหน่ง หน.ปชป. อย่ามองเป็นตระบัดสัตย์ หยิบยกประวัติศาสตร์มีให้เห็นในอดีต ยกย่องยอมเสียสละเพื่อส่วนรวม

นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แสดงความยินดีกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ภายหลังที่ประชุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ มีมติเห็นชอบให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค และอดีต สส. จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 4 สมัย ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค คนที่ 9 ด้วยคะแนน 88.5% จากองค์ประชุมทั้งหมด โดยนายสามารถ กล่าวว่า…

“เมื่อเช้าได้เอาพวงมาลัยไปกราบ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เนื่องในโอกาสคล้ายวันพ่อที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 5 ที่ผมทำติดต่อกัน พอช่วงเที่ยงจึงมีโอกาสได้ร่วมรับประทานอาหาร กับเพื่อน สส. ที่โรงแรมมิราเคิล รวมทั้งนายร่มธรรม ขำนุรักษ์ ลูกชายของนายนริศ ขำนุรักษ์, นายปรพล อดิเรกสาร และนายสมเกียรติ กอไพศาล เลขาส่วนตัวของนายเฉลิมชัย ซึ่งต่างก็ดีใจอย่างล้นหลามกับการรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ฉะนั้น ผมว่าทุกคนควรนับถือน้ำใจของนายเฉลิมชัย ที่เอาปัญหาและภาระของส่วนรวมมาไว้ที่ตัวเอง เพราะแม้เจ้าตัวเคยประกาศจะไม่รับตำแหน่ง หากพรรคประชาธิปัตย์ได้ไม่ถึง 50 เสียงแล้วในครั้งนั้น แต่จากการประชุมของพรรค ที่องค์ประชุมไม่ครบ ทำให้ต้องล่มมาตลอด 2ครั้งก่อนหน้านี้”

หากครั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ไม่รับตำแหน่ง พรรคประชาธิปัตย์อาจถูกยื่นยุบพรรคอย่างแน่นอน เนื่องจากจัดประชุมพรรคไม่ได้ภายใน 1 ปีตามกฏหมาย

อีกทั้ง 4 ปีที่ผ่านมา นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ถือว่าเป็นปูชนียบุคคล ที่ทำงานหนักในตำแหน่งเลขาธิการพรรคและรักษาการเลขาพรรคมาโดยตลอด ดังนั้น ไม่ควรมองว่าเป็นการ ‘ตระบัดสัตย์’ แต่ให้มองว่าทำเพื่อส่วนรวม ซึ่งในอดีตก็เคยเกิด ย้อนไปสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่พระเจ้าเอกทัศน์ ไปขอให้น้องชายพระเจ้าอุทุมพรที่ยอมสละตำแหน่งออกบวชเป็นพระ แล้วให้มาช่วยเป็นกษัตริย์ออกรบ พระเจ้าอุทุมพรก็ยังยอมลาสิขาเพื่อมาเป็นแม่ทัพขับไล่พม่าเพื่อประชาชน นับประสาอะไรกับนายเฉลิมชัยคนธรรมดา หากไม่รับตำแหน่ง ไม่ใช่แค่พรรคที่จะถูกยุบ รวมไปถึงไม่ใช่แค่สมาชิกพรรคเท่านั้นที่จะลาออก แต่จะมี สส.ออกจากพรรค และพรรคจะถูกยุบอย่างแน่นอน

ดังนั้น ผมจึงเทียบเคียงกับกรณี พระเจ้าเอกทัศน์ไปขอให้น้องชายมาช่วยเป็นกษัตริย์ น้องชายที่เคยสละราชสมบัติไปแล้ว ลาทางโลกไปแล้วทั้งยังบวชเป็นพระ แต่ยังต้องยอมลาสิกขา มาเป็นกษัตริย์เป็นคนนำทัพไล่พม่าให้พ้นขอบขัณฑสีมา ในเมื่อขนาดมีวลีว่า กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ แต่ถ้ากษัตริย์ต้องทำเพื่อไพร่ฟ้าประชาชน ณ เวลานั้น ก็ยอม นับประสาอะไร กับพี่ต่อเฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่เป็นประชาชนคนธรรมดา วันนี้ถ้าท่านไม่รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคแตก แตกคือ ส.ส. ไม่ใช่แค่ สมาชิกพรรคที่เดินออกแต่ จะเป็น ส.ส.ที่เดินออกจากพรรค แล้วนายเฉลิมชัย จะปล่อยให้พรรคถูกยุบ ก็เปรียบเสมือนให้บ้านที่อยู่อาศัยถูกไฟไหม้ได้อย่างไร สมมุติถ้าวันนี้ประชุมไม่ได้ แล้วมีคนไปร้องยุบพรรค พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีเลยน่ะครับ ฉะนั้น ที่มีคนเคยบอกว่าพรรค ปชป. มีประวัติศาตร์ยาวนาน 70 กว่าปี มันก็จะเหลือศูนย์ในทันที” นายสามารถ กล่าว

นายสามารถ กล่าวด้วยว่า ตนพูดในฐานะที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยชื่นชอบการอภิปราย สส.หลายคนในอดีต และคาดหวังในอนาคตทางการเมืองของพรรค ปชป. เมื่อมีนายเฉลิมชัย เป็นหัวหน้าแล้ว ก็คงต้องเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน ในวันนี้ยังไม่ได้ร่วมรัฐบาล ก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มแข็ง เหมือนอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยึดถือมาหลายสิบปี และหากมองภาพเปรียบเทียบแล้วอดีตพรรคประชาธิปัตย์ ก็คือพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน เพราะพรรคประชาธิปัตย์เคยทำได้ถึง 18 ล้านกว่าคะแนน มากกว่าพรรคก้าวไกลที่ทำได้เพียง 14 ล้านคะแนน หากพรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นทำในสิ่งที่ประชาชนต้องการ สิ่งที่ประชาชนคาดหวัง ตนมั่นใจว่า 18 ล้านคะแนนนั้นจะกลับมาอย่างแน่นอน

“ขอให้คนที่แพ้เปิดใจให้กว้าง ถ้าไม่ชอบใจก็ย้ายพรรค การเมืองไม่มีอะไรซับซ้อน ดังเช่น ต้นไม้จะเติบโตอย่างเต็มที่ ถ้าอยู่ในที่ที่ดี ทั้งนี้ ขอแสดงความยินดีกับ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ตลอดจนกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ทุกคน” นายสามารถ กล่าวทิ้งท้าย

จับยามสามตา ทิศทางการเมือง ‘บุญญามณี’ เมื่อ ‘สรรเพชญ’ เปรย “ต้องทบทวนของตนเอง”

(10 ธ.ค. 66) น่าสนใจยิ่งกับบทบาทต่อไปของ ‘บุญญามณี’ ซึ่งหมายถึง ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ‘สรรเพชญ บุญญามณี’ สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ทายาททางการเมืองของนิพนธ์ บุญญามณี

น่าสนใจเพราะทั้ง ‘นิพนธ์’ และ ‘สรรเพชญ’ อยู่คนละขั้วกับทีมที่ชนะการเลือกตั้งในศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทีม ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ เข้ามาบริหารพรรคชุดใหม่ และตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ สส.สงขลา ที่อาจจะกล่าวได้ว่า ‘อยู่คนละฝั่ง’ กับนิพนธ์ ก็เข้ามานั่งเป็นเลขาธิการพรรค

ท่องยุทธภพไปเจอ ‘สรรเพชญ’ โพสต์ข้อความน่าสนใจยิ่งขึ้น

สจฺจํ เว อมตา วาจา
“คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย”

คำขวัญที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…

วันนี้ท่านอดีตหัวหน้าอภิสิทธิ์ฯ ได้พิสูจน์ให้ชาวประชาธิปัตย์เห็นแล้วว่า คำว่า ‘สัจจะ’ มีความหมายเพียงใด ท่านไม่เพียงแค่พูด แต่ท่านได้แสดงให้เห็น วันนี้คงเป็นอีกหนึ่งวันที่ชาวประชาธิปัตย์หลายๆ คนรวมถึงตัวผมเองต้องคิดทบทวนบทบาทของตัวเองอีกครั้งหนึ่งครับ

และขอให้พี่น้องมั่นใจว่า ผมจะยังคงทุ่มเททำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต่อไปครับ

‘สฺจจํ เว อมตะวาจา’ เป็นคำขวัญประจำพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน อันเป็นการสะท้อนว่า “พลพรรคค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม ต้องรักษาสัจจะ รักษาคำพูน การพูดความจริง จะเป็นอมตะ ไม่ตาย”

การที่สรรเพชญยกคำนี้ขึ้นมากล่าวอ้างในสถานการณ์นี้ จึงน่าสนใจ น่าคิดกับถ้อยคำที่ตามมากับคำว่า “ทบทวนบทบาทของตนเอง” จะตีความว่าอย่างไรกับวลี “ทบทวนบทบาทของตัวเอง” ก็ไม่อยากตีความ หรือคิดเอาเอง

เช่นเดียวกับบทบาททางการเมืองในอนาคตของ ‘นิพนธ์’ จะเดินหน้าภารกิจทางการเมืองอย่างไร หรือวางไว้เท่านี้ และให้ทายาททางการเมืองเดินหน้าต่อ

จับตาดูนะครับ ทิศทางทางการเมืองของ ‘บุญญามณี’ จะไปทางไหน และเป็นอย่างไร…

‘เชาว์’ ซัดแรง!! ‘ประชาธิปัตย์’ ยุคผู้นำไร้สัจจะ ต่อไปจะกล้าก้มหน้ากราบพระแม่ธรณีได้อย่างไร?

(10 ธ.ค. 66) ‘เชาว์ มีขวด’ อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความน่าสนใจเกี่ยวกับการรักษาสัจจะของผู้นำทางการเมือง ผู้นำของพรรคประชาธิปัตย์…

โดย เชาว์ กล่าวนำว่า พรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ผู้นำพรรคไม่มี ‘สจฺจํ เว อมตา วาจา’

“ผมไม่บอกว่าจะได้กี่เขต แต่วันที่พรรคมีวิกฤต ผมประกาศไว้ชัดเจนแล้ว ว่ารอบนี้ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ต่ำกว่า 52 ที่ ผมเลิกเล่นการเมืองทั้งชีวิต เลิกเล่นนะ ไม่ใช่หยุดเล่น เลิกคือหันหลังเดินออกไปเลย”

เริ่มต้นเรื่องราวที่อยากบันทึกไว้ ด้วยคำพูดของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน ที่กล่าวไว้ในหลายเวทีหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ช่วงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ วันที่ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มี ‘สจฺจํ เว อมตา วาจา’ เพราะจากที่เคยบอกจะวางมือทางการเมือง กลับมารับหน้าที่กุมบังเหียนพรรค ด้วยเหตุผลว่า…

“ผมมีความจำเป็นครับ และผมก็อยากจะเห็นพรรคเดินไปข้างหน้า ผมจะทำทุกอย่างให้พรรคมีเอกภาพ ผมจะทำให้พรรคซึ่งมีอยู่แล้วนี้ ยึดมั่นในหลักการและอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และที่สำคัญเมื่อสักครู่ที่ผมคุยกับท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ก็คือ ผมยืนยันกับหัวหน้าอภิสิทธิ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่”

ก้าวแรกของเส้นทางหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายเฉลิมชัย ก็ได้ทำลายหลักการ และคำขวัญของพรรค ‘สจฺจํ เว อมตา วาจา’ คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะท่านไม่ได้รักษาสัจจะ สัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน

ผมไม่ได้รังเกียจนายเฉลิมชัยเป็นการส่วนตัว แต่การที่นายเฉลิมชัยตระบัดสัตย์ต่อคำพูดตนเองที่ให้ไว้ต่อสาธารณะ แล้วก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ เป็นสิ่งที่ไม่สง่างามในทางการเมือง และเป็นการทำลายพรรคประชาธิปัตย์ เพราะทุกคำพูดของนายเฉลิมชัย นับตั้งแต่วันนี้คือ ‘คำพูดของพรรคประชาธิปัตย์’ นายเฉลิมชัยพูด ก็คือพรรคพูด เพราะฉะนั้น ตราบใดที่นายเฉลิมชัยยังเป็นผู้นำพรรค พรรคประชาธิปัตย์ก็จะไม่มีความน่าเชื่อถือต่อสาธารณะอีกต่อไป

“ผมไม่แน่ใจว่า นายเฉลิมชัย จะก้มกราบพระแม่ธรณีบีบมวยผม บริเวณลานที่ทำการพรรค ซึ่งมีคำขวัญ ‘สจฺจํ เว อมตา วาจา’ อันแปลว่า ‘คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย’ ที่จารึกอยู่ใต้ฐานพระแม่ธรณีฯ ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของพรรคอย่างไม่ละอายได้อย่างไร ในเมื่อท่านไม่ได้มีวาจาสัตย์จริง ทุกคำพูดที่พ่นออกมาว่าจะฟื้นฟูพรรค สำหรับผมไม่มีความน่าเชื่อถือแม้แต่น้อย เพราะวันนี้คำว่า ‘พรรค’ ถูกทำลายจากคำว่า ‘พวก’, ‘อุดมการณ์’ ถูกทำลายเพราะความกระสันในอำนาจและผลประโยชน์ ไม่น่าแปลกใจที่นายเฉลิมชัย จะไม่กล้าฟันธงว่า พร้อมเป็นฝ่ายค้านไม่ร่วมรัฐบาล เพราะบางคนเห็นแสงรำไร กับ 2 โควตารัฐมนตรีในรัฐบาลที่ยังว่างอยู่”

เป็นที่รับรู้กับว่า ‘เชาว์  มีขวด’ ก้าวเข้าสู่วงการทางการเมืองจากการชักชวนของ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ให้เข้ามาทำหน้าที่รองโฆษกพรรคในสมัยที่อภิสิทธิ์นั่งเป็นหัวหน้าพรรค และถือว่าทำหน้าที่ได้ดี เมื่ออภิสิทธิ์ถอยออกไป เชาว์ก็ลดบทบาทตัวเองลง ไปประกอบอาชีพทนายความเหมือนเดิม

ก้าวต่อไป 'ประชาธิปัตย์' จะฝ่ามรสุมไปอย่างไร? หลังวิกฤติเลือดไหลออกซัดโถม โซเชียลถล่มเละ

พรรคประชาธิปัตย์จะเดินต่อไปท่ามกลางกระแสคลื่นลมแรงอย่างไร หลังการประชุมใหญ่เลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แทนชุดของ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' อดีตหัวหน้าพรรคที่ลาออกหลังผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม นำพาพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ยับเยิน ได้มาแค่ 25 ที่นั่ง จากเป้าที่ตั้งไว้ 60-70 ที่นั่ง

ที่ประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์เลือก 'เฉลิมชัย ศรีอ่อน' เป็นหัวหน้าพรรค มี 'เดชอิศม์ ขาวทอง' สส.สงขลา เป็นเลขาธิการพรรค โดยไม่มีคู่แข่ง ซึ่งคู่แข่งอย่าง 'มาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค' ถูกตัดออกด้วยคุณสมบัติที่ไม่ครบ เป็นสมาชิกพรรคไม่ถึง 5 ปี แต่ในทางปฏิบัติถ้าจะให้สง่างามในสไตล์ประชาธิปัตย์ ต้องเปิดช่องให้มาดามเดียร์ได้ลงแข่งขัน เพียงแค่งดเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรคข้อนี้ ทุกอย่างก็จะสง่างาม และมาดามเดียร์ก็ยากจะชนะอยู่แล้ว เพราะโหวตเตอร์ส่วนใหญ่ถูกล็อกไว้หมดแล้ว

การประชุมยังไม่แล้วเสร็จ สมาชิกบางคนเริ่มทยอยลาออก ประเดิมด้วย 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ที่ปิดห้องคุยกับเฉลิมชัย 10 นาที แต่ไม่มีอะไรลงตัว ทั้งสองยังยืนยันในจุดยืนของตัวเอง 'อภิสิทธิ์' จึงถอยออกไปนั่งดู ให้ 'เฉลิมชัย' เป็นตัวแสดงบทนำต่อไป

สาธิต ปิตุเตชะ เป็นอีกคนที่ลาออกตามอภิสิทธิ์ไป ไม่เว้นแม้กระทั่ง 'ติ๊งต่าง' แฟนพันธุ์แท้ของประชาธิปัตย์ ก็ลาออก พร้อมวลี “ยกพรรคให้เขาไป” เราอยู่กันไม่ได้กับคนไร้สัจจะ และสีเทา

สัจจัง เว อมตะ วาจา วาจาจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย คำขวัญใต้พระแม่ธรณีบีบมวยผม ใต้โลโก้พรรคถูกหยิบขึ้นมากล่าวขานเหน็บแนมไปยังเฉลิมชัยอย่างแหลมคม ทิ่มเข้าไปเต็มอก เหตุเพราะเฉลิมชัยเป็นลั่นวาจาไว้เองในหลากหลายเวทีว่า ถ้าผลการเลือกตั้งได้น้อยกว่าเดิม จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต ถอนกลับไปอยู่บ้านประจวบคีรีขันธ์ แต่การกลับเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ต่างให้ความหมายที่ตรงกับว่า 'ตระบัดสัตย์'

สิ่งที่ไม่ควรลืม คือการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือผู้ที่จะเป็น 'แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี' ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหมายถึงตำแหน่งสูงสุดในการบริหารประเทศ นักการเมืองสำคัญคือ คือต้องรักษาคำพูด ไม่กลับกลอกไปมา เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน การรักษาสัจจะ รักษาคำพูด และใจถึงพึ่งได้ จนนักการเมืองหลายคนนำมาใช้เป็นคำขวัญประจำตัวว่า "ใจถึงพึ่งได้ คำไหนคำนั้น"

สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เวลานี้เหมือน 'คนป่วยวิกฤติ' มีแต่เลือดไหลออก ล่าสุด 'อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์' ก็โพสต์เฟซบุ๊กอำลาไปอีกคนหนึ่งแล้ว และคิดว่า ยังจะมีอีกไม่น้อยที่ถอยออกไป

จับกระแสจากโซเชียลกับการเปลี่ยนแปลงในพรรค ยิ่งน่ากลัวกว่า พลันที่พรรคประชาธิปัตย์โพสต์รายชื่อกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ลงบนเพจของพรรค ก็โดนถล่มเละ พูดได้ว่า 'เละเป็นโจ๊ก' เกิน 95% ตำหนิด้วยถ้อยคำที่รุนแรง และโบกมือลา กระแสใน x (ทวิตเตอร์) ก็ไม่แตกต่างกัน

สิ่งที่เป็นคำถามคือ คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าฟื้นฟูพรรค ฟื้นหลักการ และอุดมการณ์ของพรรคได้อย่างไร เพราะแค่ก้าวแรกก็โดนเตะตัดขาจนจะเดินไม่ไหวอยู่แล้ว

3 เดือนจะต้องเห็นผล และจะมีการประเมินผลงานกรรมการบริหารพรรคทุกคน...นี่คือ วาจาของเฉลิมชัยที่ลั่นไว้ในวันที่ได้รับเลือกตั้ง ในวันที่ยังไม่เห็นทิศทาง แนวทาง ว่าจะหยิบอะไรขึ้นมาเป็นจุดขาย ท่ามกลางการถูกถล่ม 'พรรคสีเทา ไม่ใช่สีฟ้า' แม้เฉลิมชัยจะบอกว่า กรีดออกมาเลือดก็เป็นสีฟ้า ไม่แตกต่างจากอภิสิทธิ์

77 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 78 พรรคประชาธิปัตย์ยังต้องไปหยิบเอกสารอุดมการณ์ของพรรคมานั่งอ่านทบทวนกันใหม่ ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นก้าวเดินไปข้างหน้า หันกลับมาหัวเราะใส่พรรคเก่าแก่ ที่บอกกับสังคมว่าเป็น สถาบันทางการเมือง

‘สส.เดชอิศม์-ภรรยา’ ฟ้องหมิ่นประมาท ‘ไฮโซติ๊งต่าง’ ฐานโพสต์วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพรรคประชาธิปัตย์

(13 ธ.ค. 66) นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ ‘ไฮโซติ๊งต่าง’ แม่ยกพรรคและแฟนคลับประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวว่า ตนได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน เนื่องจากนายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.เขต 5 จังหวัดสงขลา เลขาธิการพรรค ปชป. และ นางสาวสุภาพร กำเนิดผล สส.เขต 6 จังหวัดสงขลา ปชป. (ภรรยานายเดชอิศม์) แจ้งความดำเนินคดีกับตน สืบเนื่องมาจากที่ตนได้วิจารณ์การทำงานของพรรค ปชป. ตั้งแต่กรณี 16 สส.งูเห่า แหกมติพรรคโหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และการทำงานของ สส. และผู้บริหารพรรคชุดใหม่ที่ไม่ยึดอุดมการณ์เดิมของพรรคประชาธิปัตย์

‘นิพนธ์-สรรเพชญ’ ขึ้นป้ายสวัสดีปีใหม่ 67 ทั่วสงขลา แต่ไร้โลโก้ ปชป. คอการเมืองลือสนั่น!! หรือเลือกตั้ง อบจ.ปี 68 บ้านใหญ่จะหวนคืนสังเวียน?

(27 ธ.ค. 66) ผู้สื่อข่าวบรรยากาศการเมืองในจังหวัดสงขลา ก่อนการเฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2567 มีการพูดถึงพรรคการเมืองที่อยู่คู่ภาคใต้และจังหวัดสงขลามาอย่างยาวนานอย่าง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ (ค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม) ที่ภายหลังการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจบริหารในพรรค โดยทีมบริหารชุดเก่าแพ้ให้กับทีมบริหารชุดใหม่ ภายใต้การนำของ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ ที่ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน มี ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ สส.สงขลา ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรค พร้อมกับวลี ‘ตระบัดสัตย์’ เพราะเฉลิมชัยเคยลั่นวาจาไว้ว่า “ถ้าผลการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ได้น้อยกว่าเดิม (52 ที่นั่ง) จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต”

แต่เฉลิมชัยกลับเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งหมายถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคประชาธิปัตย์ในอนาคต แปลความได้ว่า ไม่ได้เลิกเล่นการเมืองจริง สมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งจึงทยอยลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค

แฟนคลับประชาธิปัตย์ต่างมีความเห็นแตกต่างกันไปหลายฝ่าย โดยในจังหวัดสงขลามีการจับตาไปที่ ‘บ้านบุญญามณี’ ซึ่งถือเป็นบ้านใหญ่การเมืองในจังหวัดสงขลา ที่ขณะนี้ มีการขึ้นป้ายสวัสดีปีใหม่ 2567 ไปทั่วเมือง ในขณะที่เจ้าตัวเดินทางไปพักผ่อนกับครอบครัว จ.แม่ฮ่องสอน

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า รูปภาพสวัสดีปีใหม่ของนายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต สส.ประชาธิปัตย์หลายสมัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น ไม่ปรากฎรูปโลโก้พรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด รวมทั้งเมื่อสำรวจไปพื้นที่เขตอำเภอเมืองสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ สส.ของ นายสรรเพชญ บุญญามณี เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นลูกชายของนายนิพนธ์ก็ไม่มีโลโก้พรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผมเช่นเดียวกัน ทำให้เป็นที่พูดคุยกันในกลุ่มคอการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงเครือข่ายการเมืองต่างพูดคุยกันว่า มีความไม่ปกติใดเกิดขึ้นหรือไม่ หรืออนาคตจะไม่มี ‘บุญญามณี’ อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์?

นอกจากนี้ ยังพบว่า ภาพป้ายสวัสดีปีใหม่ 2567 ของนายนิพนธ์ บุญญามณี นั้น ยังปรากฏทั่วจังหวัดสงขลา จึงมีการจับโยงวิจารณ์ถึงวาระนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ที่จะหมดวาระลงในเดือนธันวาคม ปี 67 และจะมีการเลือกตั้งในต้นปี 68 วงร้านกาแฟวิจารณ์กันสนั่นว่า เป็นไปได้หรือไม่? ที่นายนิพนธ์จะย้อนกลับมาลงชิงนายกฯ อบจ.สงขลาอีกครั้ง โดยละทิ้งจากพรรคประชาธิปัตย์

กล่าวสำหรับนายกฯ อบจ.สงขลา ปัจจุบัน ‘ไพเจน มากสุวรรณ์’ นั่งบริหารอยู่ และถือได้ว่าเป็นทีมเดียวกับนายนิพนธ์ โจทย์ของคอการเมืองจึงยากขึ้น ในขณะที่มีการวางตัวคนที่จะมาสืบทอดต่อจากนายไพเจนแล้วด้วย รอเพียงให้เกษียณอายุราชการเท่านั้น

แต่อย่าลืมว่า ‘การเมือง’ อะไรก็เกิดขึ้นได้ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป มีเหตุผลอธิบายได้

เช็กความพร้อม ‘เจ้ต้อย’ พร้อมลงนายกฯ อบจ.เมืองคอนอีกสมัย ฟาก ‘แทน’ ยัน สส.ประชาธิปัตย์ทุกคนสนับสนุนแน่นอน

‘เจ้ต้อย’ ลั่น!! ลงรักษาแชมป์นายกฯ อบจ.นครศรีฯ อีกสมัยแน่นอน ‘แทน’ ยัน สส.ประชาธิปัตย์ทุกคนสนับสนุน เตรียมแผนเดินสายพบผู้นำทั้ง 23 อำเภอ

ย่ำค่ำของวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ ‘ชัยชนะ เดชเดโช’ และ ‘พิทักษ์เดช เดชเดโช’ สส.สองพี่น้อง แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ทายาทโดยธรรมของ ‘กนกพร เดชเดโช’ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช และ ‘วิฑูรย์ เดชเดโช’ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช นัดพบปะสังสรรค์ปีใหม่กับผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำท้องที่ในอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

“แม่ผมจะลงสมัครรักษาแชมป์นายกฯ อบจ.อีก 1 สมัยแน่นอน” ชัยชนะกล่าว ซึ่งจะต้องขอแรงสนับสนุนจากพวกเรา ที่ถือเป็นพรรคพวกเพื่อนฝูงกัน

ชัยชนะกล่าวอีกว่า ที่ แม่ ‘เจ้ต้อย’ จะลงสมัครในนามกลุ่มพลังเมืองนคร และได้รับการสนับสนุนจาก สส.ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้ง 6 คน

“เราไม่รู้ว่าคู่แข่งคือใครบ้าง เพราะยังไม่มีใครเปิดตัว แต่วาระของเราจะหมดในเดือนธันวาคมปีนี้ และจะมีการเลือกตั้งใหม่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2568”

กนกพร กล่าวยืนยันว่า จะลงสมัครอีกสมัย เราในฐานะแชมป์ก็ต้องเตรียมความพร้อมในทุกด้าน และเต็มที่กับทุกงาน

สำหรับการนัดพบปะสังสรรค์ปีใหม่ครั้งนี้ มีผู้นำท้องถิ่น ท้องที่จากทุกตำบลในอำเภอหัวไทร เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 200 คน และ 100% พร้อมให้การสนับสนุนตระกูล ‘เดชเดโช’ และน่าจะถือได้ว่าเป็นเวทีประเดิม และเจตนาของเจ้ต้อยจะไปพบกับผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ในทุกอำเภอทั้ง 23 อำเภอ

กล่าวสำหรับคู่แข่งของเจ้ต้อยในการชิงเก้าอี้นายกฯ อบจ.นครศรีธรรมราช ยังไม่ปรากฏชัดว่ามีใครบ้าง ยังไม่มีใครเปิดตัวชัดเจน แต่เชื่อว่าสำหรับนครศรีธรรมราชแล้ว จะต้องมีคู่แข่งแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากพรรคก้าวไกล หรือคณะก้าวหน้า และตัวแทนจากฝั่งตรงข้ามของเดชเดโช

ที่ต้องจับตา คือ ‘เสนพงศ์’ จะส่งใครลงชิง และอยู่สังกัดไหน แต่การออกตัวแรงของ ‘เทพไท เสนพงศ์’ อดีต สส.หลายสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งออกมาจากห้องคุมประพฤติ กับการเชียร์แนวทางของก้าวไกล และใส่เสื้อสีส้ม ก็น่าจะสะท้อนทิศทางของ ‘เสนพงศ์’ ได้ไม่น้อย เพียงแต่จะคัดสรรใครมาลงชิง และจะมีปัญหากับก้าวไกลเก่าหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นจาก ‘ฝั่งชลจิตร์’ และฝั่ง ‘ไกรสินธุ์’

แต่การขยับตัวครั้งสำคัญตั้งแต่เนิ่นของ ‘เดชเดโช’ ที่มีเวลาอีกตั้ง 11 เดือนกว่า ถือว่า ‘พร้อม’ ซึ่งหมายถึงพร้อมทั้งขุมกำลัง และปัจจัยเกื้อหนุน ที่จะนำไปสู่ชัยชนะ รักษาแชมป์ไว้ได้อีกสมัยเป็นแน่แท้

ต้องบอกก่อนว่า เป็นการเขียนตามที่เห็นด้วยตาตัวเอง และยังไม่เห็นคู่แข่งที่ชัดเจน การเมือง คือ การเมือง ที่มีโอกาสเปลี่ยนได้ทุกเวลา

“อลงกรณ์”วิพากษ์พรรคประชาธิปัตย์ในมุมที่มองไม่เห็น(Unseen Democrat Party)กับปัญหาภัยคุกคามของโลกและโอกาสของไทย

วันนี้(13 ก.พ.) นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตเลขาธิการCALDได้โพสต์ข้อเขียนวิพากษ์พรรคประชาธิปัตย์กับปัญหาภัยคุกคามของโลกและโอกาสของไทยในหัวข้อเรื่อง “พรรคประชาธิปัตย์ :มุมที่มองไม่เห็น Unseen Democrat Party”ในเฟสบุ๊คซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทระหว่างประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ที่ควรค่าต่อการรับรู้ของสังคมไทยในฐานะพรรคการเมืองเก่าแก่ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนายอลงกรณ์เขียนข้อความดังต่อไปนี้

“พรรคประชาธิปัตย์ :มุมที่มองไม่เห็น Unseen Democrat Party”

พรรคประชาธิปัตย์มีหลายมุมที่มองเห็นและมีหลายมุมที่มองไม่เห็นหรือหลายคนไม่เคยรู้

ความเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศมีอายุกว่าเจ็ดทศวรรษเป็นสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยในฐานะพรรคการเมืองของประเทศไทยได้มีบทบาทในความร่วมมือกับองค์กรทางการเมืองระหว่างประเทศหลายองค์กร

ตัวอย่างเช่นการเป็นพรรคการเมืองที่ร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิกของสภาพรรคการเมืองเสรีนิยมและประชาธิปไตยแห่งเอเชีย (CALD) หรือการเป็นสมาชิกขององค์กรเสรีนิยมนานาชาติ(LI: Liberal international) โดยพรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทอย่างสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมอุดมการณ์ประชาธิปไตยในแนวทางเสรีนิยมทั้งในมิติของอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจรวมถึงประเด็นความท้าทายใหม่ๆของโลกเช่น ปัญหาภาวะโลกร้อนปัญหาความมั่นคงทางอาหารปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันในการรับมือและร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะในระดับนโยบายทางการเมืองซึ่งแต่ละพรรคการเมืองในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ล้วนแล้วแต่มีหน้าที่ไม่ว่าในฐานะรัฐบาลหรือฝ่ายค้านในการตอบโจทย์ประเด็นสำคัญๆเหล่านี้ 
สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำขององค์กรพรรคการเมืองระหว่างประเทศในฐานะประธานและเลขาธิการCALD เช่นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ นาย อลงกรณ์พลบุตร นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ และนายเกียรติ สิทธิอมร รองประธานองค์กรเสรีนิยมนานาชาติ เป็นต้น

ดังนั้นความร่วมมือภายใต้องค์กรทางการเมืองนานาชาติจะช่วยให้เกิดพลังอย่างมีพลวัตมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา คนของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในระดับนโยบายผ่านกิจกรรมต่างๆกับพรรคการเมืองในทวีปอเมริกาทวีปยุโรปและทวีปเอเชียทั้งที่มีแนวคิดและปรัชญาทางการเมืองสอดคล้องกันและแตกต่างกันอย่างไร้พรมแดน

โลกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี รวมทั้งปัญหาประชากรที่เพิ่มขึ้น ปัญหาความขัดแย้งและสงครามในภูมิภาคต่างๆรวมถึงภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและโรคระบาดที่เกิดขึ้นเช่น โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตและทุกประเทศ

ดังนั้นความร่วมมือไม่ว่าในระดับรัฐต่อรัฐ ประชาชนต่อประชาชนและพรรคการเมืองต่อพรรคการเมืองจึงเป็นแพลตฟอร์มที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปีที่ผ่านมาโดยส่งผ่านภารกิจจากหัวหน้าพรรค นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์จนถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ด้วยความเชื่อมั่นว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องมีบทบาทสำคัญและความรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่เป็นทั้งภัยคุกคามและโอกาสประการสำคัญคือ เราไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวและเราไม่อาจที่จะละทิ้งความรับผิดชอบที่มีต่อประเทศและโลกของเรา ทั้งรุ่นนี้และรุ่นต่อไปในอนาคต.

อลงกรณ์ พลบุตร
อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
อดีตเลขาธิการCALD
จาการ์ตา , อินโดนีเซีย
13 กุมภาพันธ์ 2567
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top