Thursday, 2 May 2024
พรรคประชาธิปัตย์

'อ.อุ๋ย-ปชป.' ชี้ ศึกสองบิ๊กตำรวจ แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง  ยังมีปมอีกมากที่อยู่ใต้น้ำ แนะ!! ดึง ปชช.ร่วมตรวจสอบกาะทำงาน 

(24 มี.ค.67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร ส.ส. กทม เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นกรณีความขัดแย้งระหว่าง ผบ.ตร และรอง ผบ.ตร. จนสุดท้ายทำให้นายกรัฐมนตรีต้องเข้ามาหย่าศึก โดยการสั่งย้ายทั้งสองคนกลับเข้าสำนักนายก ฯ ว่า...

กรณีการสั่งย้ายดังกล่างเป็นแค่การลูบหน้าปะจมูก เพื่อแก้ปัญหาหาเฉพาะหน้าให้จบ ๆ ไปเท่านั้น เพราะความขัดแย้งระหว่างสองบิ๊กตำรวจ เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ออกมาพ้นน้ำให้เห็นเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกมากที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งต้องรอการสะสาง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ปัญหาการรับส่วยสินบน ปัญหาการไม่รับแจ้งความ ปัญหาเกี่ยวกับขอบเขตการใช้กำลังในการปฏิบัติหน้าที่ ฯลฯ ซึ่งตนขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ดังนี้...

1. ค่าตอบแทนและสวัสดิการของตำรวจ ต้องเพียงพอให้ดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องหาเศษหาเลย โดยเฉพาะระดับปฏิบัติการ ค่าใช้จ่ายในการทำงานต้องเบิกได้เต็มจำนวน
2. ต้องใช้ระบบคุณธรรมในการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง ใครทำดี บำบัดทุกข์บำรุงสุขเพื่อประชาชนต้องได้ดี ใครทำชั่วทุจริตกินสินบาทคาดสินบนต้องได้ชั่ว (ถูกลงโทษ)  
3. กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นที่เชี่ยวชาญกว่า (Decentralization) เช่น การสอบสวน ควรให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระและตรวจสอบถ่วงดุล รวมทั้งการย้ายภาระงานบางส่วนให้ อปท. เช่น งานจราจร หรือคดีที่มีโทษเล็กน้อยหรือปรับเพียงสถานเดียว โดยใช้วิธีกระจายอำนาจอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพิ่มอัตรากำลังและค่าตอบแทนพนักงานสอบสวนที่มีความรู้กฎหมายระดับเนติบัณฑิต
4. ออกกฎหมายกำหนดขอบเขตการใช้กำลังและหลักการการใช้กำลังขั้นถึงตาย (Use of Deadly Force) แยกต่างหากไปจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายของประชาชน เพื่อคุ้มครองตำรวจจากการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อทำให้ตำรวจมีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้นเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน
5. เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนในการตรวจสอบการทำงานของตำรวจมากขึ้น สร้างระบบให้ประชาชนสามารถรีวิว (Review) การทำงานของตำรวจได้ และมีผลต่อการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง 

ทั้งนี้ย้ำว่าที่ตนเสนอมาเป็นเพียงข้อเสนอแนะในกรอบกว้าง ๆ เท่านั้น เพราะตนเชื่อว่าทุกคนในแวดวงตำรวจรู้ปัญหาและรู้วิธีแก้ไขอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามีความกล้าที่จะลงมือทำหรือไม่ สุดท้ายแล้วตำรวจต้องตรวจสอบอยู่เสมอว่าประชาชนต้องการอะไรจากตำรวจ จากนั้นตำรวจจะต้องปรับปรุงตนเองเพื่อตอบสนองความต้องการนั้นให้ได้ ต้องพิจารณาให้ดีว่าประเทศไทย คนไทยต้องการอะไร และอยากจะปรับปรุงตำรวจไปในทิศทางไหน แล้วเลือกวิถีทางของตัวเอง

1ในผลงานของ“พรรคประชาธิปัตย์“

”เฉลิมชัย ศรีอ่อน“หัวหน้าพรรคปชป.หวัง สว.รับไม้ต่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมหลังสภาผู้แทนฯผ่านวาระ3

ทันทีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2-3 วันนี้ ( 27 มีนาคม 2567 ) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ควันนี้ว่า "ความรัก" ไม่เลือก "เพศสภาพ" ยินดีผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ดินแดนที่3 ในเอเชีย ที่ผ่านร่างกฎหมายเฉพาะนี้ ต่อจากนี้...ขอส่งไม้ต่อให้ สว.

"เพศ" ไม่ใช่ตัวกำหนด "ความเท่าเทียม" ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของเราทุกคนเท่ากัน ไม่ว่าจะชาย-หญิง หรือ LGBTQ+ ทุกเพศสมควรที่จะได้มีความรัก และมีโอกาสแสดงความรัก บนพื้นฐานสิทธิของกฎหมายสมรสได้ การหมั้น การแต่งงาน การจดทะเบียนสมรส การจัดการทรัพย์สิน การเซ็นต์อนุญาตเข้ารับการรักษา การเป็นผู้แทนทางอาญา การจัดการมรดก และการรับรองบุตรบุญธรรม รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่คู่สมรสชาย-หญิงทั่วไปได้รับ
ถึงเวลาอันสมควรแล้ว ที่คู่สมรสทุกคู่ ควรได้รับสิทธิเหล่านี้เท่ากัน ไม่เฉพาะเจาะจง แค่ชาย-หญิงเท่านั้น รวมถึง "บุพการีลำดับแรก" ในกฎหมาย จะมีสิทธิ และหน้าที่เทียบเท่าบิดามารดา หลังจากนี้ หากผ่านขั้นตอนการพิจารณาจากวุฒิสภาแล้ว จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศเป็นกฎหมายต่อไป ปีนี้เราคงได้ใช้กฎหมายฉบับนี้กัน“ สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ได้มีมติเสียงข้างมาก 369 : 10 รับหลักการร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระแรก จำนวน 4 ฉบับ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี, พรรคก้าวไกล, พรรคประชาธิปัตย์ และจากภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายกว่า 10,000 คน

โดยมีเหตุผลว่าจากบรรทัดฐานของสังคมไทยในอดีต ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม เกิดการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เพราะไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน เช่น สิทธิการตัดสินใจรักษาพยาบาล สิทธิมรดก และสิทธิการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน เป็นต้น จึงเชื่อว่า การสมรสเท่าเทียม จะเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมที่จะยอมรับความแตกต่าง ใช้สิทธิทางเพศของตนเองได้อย่างเต็มที่ และเสริมสร้างโอกาส และความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม และในเชิงเศรษฐกิจ จะช่วยสร้างรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ได้ เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทย เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย ที่ได้รายได้จากนักท่องเที่ยวกล่ม LGBTQ+ ในภูมิภาคเอเชียกว่า 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

‘ดร.เอ้’ เห็นต่าง ‘กาสิโนเสรี’ ชี้ ประเทศไทยยังไม่พร้อม ย้ำ!! ต้องศึกษาให้ละเอียด ‘ไม่ฉาบฉวย-ไม่เร่งร้อน’ เกรงกระทบต่อสังคม

(31 มี.ค.67) ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความเห็นในฐานะ พลเมืองไทยและพ่อคนหนึ่ง ที่ในขณะนี้นายกรัฐมนตรี พูดเรื่อง "กาสิโนเสรี" 

ดร.เอ้ สุชัชวีร์ กล่าวว่า ไทยเรายังไม่พร้อม ทั้งเรื่องโครงสร้างกฎหมาย และการบังคับใช้จากเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งเรายังไม่มีภูมิคุ้มกันให้แก่เยาวชน สุดท้ายจะกลายเป็น "ปัญหาร้ายแรง" ที่แก้ไขยาก เช่นเดียวกับ "กัญชาเสรี" และอาจรุนแรงกว่าด้วยซ้ำ! 

อีกทั้งไม่ได้การันตีว่า "บ่อนออนไลน์" และ "บ่อนเถื่อน" จะหมดไปแต่อย่างใด อาจเฟื่องฟูกว่าเดิมก็เป็นไปได้ โดยสุดท้าย ส่งผลให้ "คุมผลกระทบไม่ได้" เกิดการบานปลาย และสังคมพัง

ขณะเดียวกัน ยกตัวอย่างจาก “ผู้นำสิงคโปร์” เตรียมความพร้อม "ด้านการศึกษา" มาเป็นอันดับแรก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่พลเมือง และ มุ่งสร้างรายได้ประชาชาติจาก "เศรษฐกิจมูลค่าเพิ่ม" ที่แท้จริง ก่อนจะทำเรื่องอื่น

หากจะเลียนแบบสิงคโปร์ ที่มีกาสิโน ก็ควร "ศึกษาปัญหาอย่างละเอียดถี่ถ้วน" ไม่ฉาบฉวย ไม่เร่งร้อน รับฟังประชาชนรอบด้าน ทั้งสิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก พลเมืองน้อย เจ้าหน้าที่รัฐเข้มแข็ง ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ปกป้องลูกหลาน ได้อย่างเต็มที่ เราทำแบบเขาได้ไหม? 

ซึ่งให้ความคิดเห็นต่อ “นายกรัฐมนตรีไทย”  ที่เน้นแต่จะสร้าง "รายได้เฉพาะหน้า" โดยไม่คำนึงถึง “การพัฒนาคน” และจะส่งผลกระทบ ต่อเด็ก ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ซึ่งจุดนี้ตนอดห่วงในลูกหลานเสียไม่ได้

ดร.เอ้ สุชัชวีร์ ขอพูดในฐานะ พลเมืองไทยและพ่อคนหนึ่ง ที่ไม่ต้องการให้ประเทศไทย เดินทางแบบมั่วซั่ว ลองผิดลองถูก สุดท้ายลูกๆหลานๆ ต้องมาเสียคน อะไรก็ทดแทนกันไม่ได้

‘ประชาธิปัตย์’ จัดใหญ่เนื่องในโอกาส ก่อตั้งพรรคครบรอบ 78 ปี ‘เฉลิมชัย’ ลั่น พร้อม ‘ปรับตัว-เปลี่ยนแปลง’ สื่อสารให้ถึงประชาชน

(6 เม.ย. 67) พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) จัดงานเนื่องในโอกาสวันก่อตั้งพรรคครบรอบ 78 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 79 โดยในช่วงเช้าจัดพิธี 3 ศาสนา โดยเริ่มจากพิธีทางศาสนาอิสลาม จากนั้นทำพิธีพราหมณ์เพื่อบวงสรวงพระแม่ธรณีบีบมวยผม ที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรค ต่อด้วยการประกอบพิธีทางศาสนาพุทธ โดยทางพรรคได้นิมนต์สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี หรือ 'สมเด็จธงชัย' ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นองค์ประธานเจริญพระพุทธมนต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศภายในงานยังคงคึกคักเช่นปีที่ผ่าน ๆ มา มีแกนนำพรรคเข้าร่วมงาน อาทิ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ นายสุทัศน์ เงินหมื่น นายอลงกรณ์ พลบุตร นายนริศ ขำนุรักษ์ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ นายราเมศ รัตนะเชวง เป็นต้น รวมถึงบรรดาสส.ปัจจุบัน อดีต สส. ตลอดจนสมาชิกพรรคที่เดินทางมาจากทั่วทั้งประเทศ

นอกจากนั้นยังมีบรรดาศิษย์เก่า ของพรรค ได้เดินทางมาร่วมอวยพรและให้กำลังใจ อาทิ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ นายอันวาร์ สาและ อดีตสส.ปัตตานี สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เป็นต้น

อีกยังมีตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย นำแจกันดอกไม้มาร่วมอวยพรด้วย นำโดยนายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรค นายภราดรปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง รองหัวหน้าพรรค และน.ส.แนน บุณยธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี และโฆษกพรรค ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ นำโดยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคฯ และยังมีนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ รวมเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาร่วมอวยพรด้วย

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคปชป. ให้สัมภาษณ์เนื่องในโอกาสพรรคปชป. เข้าสู่ปีที่ 79 ว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงลำดับแรกเลยการมีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้นอีก 1 ปี พูดได้เต็มปากว่าพรรคของเราเป็นสถาบันทางการเมืองอยู่คู่กับประเทศไทยไปอีกนาน จึงต้องปรับตัว และอีกสิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนที่สุด คือความสดใส ที่สำคัญ พรรคตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการสื่อสาร ซึ่งถือว่าหัวใจของการเปลี่ยนแปลง และเป็นการเปิดโลกให้ปชป. ในแง่การสื่อสารถึงประชาชน นำเสนอสิ่งต่าง ๆ ถึงสังคม

เมื่อถามว่าจะมีศิษย์เก่ากลับเข้าพรรค นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ขอให้รอดูที่การประชุมใหญ่พรรคปชป. ช่วงปลายเดือนเม.ย.นี้ ในการแก้ไขข้อบังคับพรรค เพื่อเปิดกว้างให้กับคนรุ่นใหม่ พร้อมสร้างความมั่นใจว่าพรรคจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

ถามถึงการปรับครม. ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวพรรคปชป. จะเข้าร่วมรัฐบาล นายเฉลิมชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องถามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง เพราะเป็นอำนาจของท่าน และก็ควรต้องบอกให้ชัดเจนว่าใครพูดกับใคร ที่ไหน ไม่เช่นนั้นพรรคปชป.เสียหาย ถ้าไม่ใช่อย่าพูด การพูดในสิ่งที่ไม่ชัดเจน ไม่ดีกับทุกฝ่าย

ถามย้ำว่าอาจมีสมาชิกของพรรคแอบไปพูดคุยหรือไม่ หัวหน้าพรรคปชป. กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ตนไม่เคยคุยเรื่องร่วมรัฐบาล ปชป.มีหลักเกณฑ์ ข้อบังคับ ตนพูดตลอดว่านักการเมืองมีการพูดคุยกันตามปกติ แต่ต้องไปดูที่เนื้อหาสาระว่าคุยอะไร ยืนยันพรรคไม่คุยเรื่องร่วมรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าถ้ารัฐบาลต้องการให้ร่วมรัฐบาล ทางปชป.มีเงื่อนไขหรือไม่ว่าต้องได้กระทรวงใดบ้าง นายเฉลิมชัย กล่าวว่า มันมีกระบวนการที่จะพิจารณามากกว่าที่จะมานั่งคุยกัน ตกลงกัน คิดว่าต้องเข้าสู่กระบวนการของพรรคก่อน ถึงจะพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไป

เมื่อถามว่ากระบวนการปล่อยข่าวร่วมรัฐบาล เป็นการดิสเครดิตพรรคหรือไม่ นายเฉลิมชัย กล่าวว่า มั่นใจไม่ใช่คนปชป.เป็นคนปล่อยแน่นอน ส่วนจะปล่อยเพื่อดิสเครดิตหรือไม่นั้น ต้องคิดดู ปชป.ก้าวข้ามการเมืองน้ำเน่าแบบนี้นานแล้ว ลองไปคิดดูเรื่องจังหวะที่ออกข่าว แล้วมีคนออกมาพูด มีการรับลูกกัน ใครควรจะเป็นคนปล่อย

‘นิพนธ์-มาดามเดียร์-สรรเพชญ’ เปิดเวทีระดมสมอง รับฟังความคิดเห็น จากปชช.  เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนา นำปัญหาไปแก้ ย้ำ!! ทำตามอุดมการณ์ เป็นฝ่ายค้านให้ดีที่สุด

เมื่อวานนี้ 7 เม.ย.67 ที่ จ.สงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย น.ส.วทันยา บุนนาค อดีตประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต สส. และนายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา เปิดเวทีระดมความคิดหัวข้อ “อยากเห็นสงขลาเป็นแบบไหน…แหลงได้เลยน้อง” โดย นายนิพนธ์ ถามนำว่า พี่น้องอยากเห็นอะไรในเมืองสงขลา และอยากเห็นประเทศไทยเดินไปทางไหนทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมฯ

น.ส.วทันยา กล่าวว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วและประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนใหญ่กระจายอำนาจและการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์หรือประชาธิปไตย เช่น จีนมีการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ละมณฑลตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เช่น เซินเจิ้น พัฒนาเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยี ตัดสินใจเรื่องการใช้จ่ายเงินภาษีได้เอง สวิตเซอร์แลนด์มีการปกครองประชาธิปไตยแบบทางตรง ไม่ว่าจะเป็นเลือก สส. หรือผู้แทนรัฐ ประชาชนร่วมโหวตได้ทันที

“แม้ทั้งสองประเทศ มีระบอบการปกครองตรงข้ามกัน แต่ทั้งคู่กระจายอำนาจไปยังการปกครองท้องถิ่น สร้างความก้าวหน้าของประเทศ ย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย ภาคใต้หารายได้เข้าประเทศมากมาย แต่รายได้กลับเข้าไปที่ส่วนกลาง และค่อยจัดสรรมาอีกที เราควรมีสิทธิร่วมกันออกแบบเมือง และชีวิตที่เราอยากได้ อีกไม่นานจะถึงการเลือกตั้ง อบจ. เป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะผลักดันเรื่องนี้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ”

นายสรรเพชญ กล่าวว่า จะนำปัญหาไปหารือในสภา เพื่อย้ำถึงปัญหาและความต้องการของประชาชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และย้ำว่า ไม่ลืมพี่น้องที่โหวตให้เข้าไปในสภา ไม่ว่าอะไรจะขึ้นก็จะอยู่ตรงนี้ ทำตามอุดมการณ์ เป็นฝ่ายค้านให้ดีที่สุด เพราะเชื่อว่าอยู่ตรงไหนก็ทำงานได้เหมือนกัน หากเราไม่ได้แสวงหาประโยชน์เราก็พร้อมทำหน้าที่ทุกแบบอยู่แล้ว “ขายวัวขายที่ ผมขายได้ แต่ศักดิ์ศรีผมไม่ขาย ให้สมกับชาวสงขลาที่ไว้ใจผม”

ด้านนายสามารถ กล่าวถึงการแก้ปัญหาภาคใต้โดยรัฐบาล ว่า โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลหาดใหญ่ที่ นายนิพนธ์ เสนอตั้งแต่เป็นนายก อบจ. จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้อนุมัติงบประมาณ แต่ตนกลัวว่ารัฐบาลจะเอางบไปสร้างที่เชียงใหม่ ทั้งที่สงขลา-หาดใหญ่ หาเงินเข้าประเทศได้เป็นล้านล้านบาท แต่งบประมาณหมื่นล้านเพื่อรถไฟฟ้าสายแรกในต่างจังหวัดกลับสร้างไม่ได้ ค่าตั๋วเครื่องบินกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ก็มีราคาแพงเพราะรัฐบาลตั้งเพดานราคาไว้สูง โครงการแลนด์บริดจ์ก็ไม่มีคนสนใจมาลงทุนเพราะมันจะไม่คุ้มทุน รัฐบาลต้องปรับโครงการด้วยการให้ความสำคัญกับการสร้างท่าเรือน้ำลึกและมอเตอร์เวย์ รวมไปถึงโครงการรถไฟทางคู่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและโครงสร้างพื้นฐานของภาคใต้

ขณะที่เสียงจากภาคประชาชนสะท้อนว่าอยากให้ระดับด้านความปลอดภัย และพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวให้สะอาดสวยงามน่าเที่ยว ปรับภูมิทัศน์ด้วยการเอาสายไฟฟ้าลงดิน พร้อมทั้งพัฒนาระบบจราจรและขนส่งมวลนให้ง่ายต่อการเข้าถึงสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างอาชีพ และดูแลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยสวัสดิการ

ก่อนปิดการระดมความคิดเห็นนายนิพนธ์ บุญญามณีได้กล่าวสรุปว่าวันนี้คือความตั้งใจที่จะมารับฟังความคิด ความเห็นในแต่ละปัญหา ของแกนนำในอำเภอมืองสงขลาส่วนพื้นที่อื่นๆก็จะได้เปิดการรับฟังความคิดความเห็นในครั้งต่อๆไปเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาผ่านกลไกต่างๆต่อไป

‘สรรเพชญ’ แนะรัฐบาลแก้ไขปัญหา ‘ทุเรียน’ อย่างเร่งด่วน ย้ำ!! ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อความยั่งยืน

(21 เม.ย.67) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ผ่านร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับหลักปฏิบัติในการตรวจสอบและรับผลทุเรียน สำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ซึ่งร่างกฎกระทรวงนี้จะเป็นมาตรฐานบังคับในการรองรับการแข่งขันและปกป้องการส่งออก “ทุเรียน” ให้มีคุณภาพ 

โดยเนื้อหาสาระดังกล่าว เป็นการกำหนดมาตรการในการตรวจสอบคุณภาพของทุเรียน เช่น ความแก่ การคัดแยกทุเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ การห้ามนำเข้าหรือจำหน่าย อีกทั้งมีการตรวจวิเคราะห์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนที่จะต้องผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด รวมไปถึงการมีผู้ที่มีหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์หรือควบคุมการเก็บเกี่ยว จะต้องมีความรู้ความชำนาญและมีหลักฐานที่แสดงว่าได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี นายสรรเพชญกล่าวว่า การออกกฎกระทรวงในลักษณะนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณภาพของทุเรียนก่อนถึงมือผู้บริโภค

นายสรรเพชญได้กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพทุเรียนมากกว่านี้ เนื่องจากทุเรียนเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกหลายแสนล้านบาท นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาเที่ยวในประเทศไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนก็มักจะสั่งทุเรียนกลับไปที่ประเทศของตนเองครั้งละหลายหมื่นถึงหลายแสนบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของทุเรียนไทย ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายของรัฐบาลที่จะรักษาคุณภาพมาตรฐานไว้ให้ได้ ตนจึงรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับทุเรียนเท่าที่ควร เพราะรัฐบาลมุ่งแต่จะทำเรื่องกลางน้ำ และละเลยต้นน้ำ คือการให้ความสำคัญกับการเตรียมดิน เตรียมปุ๋ย เตรียมพื้นที่ของเกษตรกร ที่อาจจะถูกละเลยไป ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมีการให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพทุเรียน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ คือ พ่อค้า การขนส่ง ปลายน้ำ คือ ผู้บริโภคทั้งภายในและนอกประเทศ เพื่อให้ทุเรียนไทยมีความยั่งยืนทั้งระบบครบวงจร สามารถรักษามาตรฐานของประเทศไว้ได้

ทั้งนี้ นายสรรเพชญกล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ตนได้ยื่นญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาการส่งเสริม พัฒนา แก้ไขปัญหาทุเรียนอย่างยั่งยืนทั้งระบบ และยกร่างกฎหมายว่าด้วยทุเรียน ซึ่งขณะนี้ได้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว คาดว่าเมื่อเปิดสมัยการประชุมจะได้รับการพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาทุเรียนและให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมีหลักประกันผ่านกองทุนทุเรียนไทยต่อไป 

‘จุรินทร์’ ชี้ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เหมือนย้อนกลับไปที่เดิม หลังรัฐบาล ยื้อ ย้ำ!! ประเทศชาติต้องได้ประโยชน์ ไม่ใช่คุ้มค่า แค่พรรคการเมือง

(27 เม.ย. 67) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทันไตรมาส 4 อย่างรัฐบาลประกาศหรือไม่ว่า ในฐานะคนที่ติดตามเรื่องนี้คนหนึ่งอย่างใกล้ชิด ตนคิดว่าสถานการณ์ ณ วันนี้ มันย้อนกลับไปที่เดิม คือย้อนกลับไปในจุดที่เหมือนที่ประกาศว่าจะออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งสุดท้ายก็อาจจะไม่ได้เป็นไปตามนั้น เที่ยวนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ยังคลุมเครือ แม้ว่าจะมีมติครม.ออกมาก็ตาม แต่มติครม.ดังกล่าวเป็นมติที่เห็นชอบในหลักการ ซึ่งไม่มีอะไรใหม่ เพราะการแถลงนโยบายรัฐบาลก็พูดอยู่แล้ว ดังนั้นครม.ก็ต้องเห็นชอบตามนโยบาย แต่รายละเอียดที่จะมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ตรงนั้นคือหัวใจสำคัญ ซึ่งจนถึงขณะนี้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องโดยตรงก็ยังทำไม่เสร็จ ยังจะมีการนัดประชุมในรายละเอียดอีกว่าแหล่งเงิน วิธีการ และรายละเอียดอื่น ๆ จะทำอย่างไร ซึ่งแค่หลักการครม.ที่อยู่ด้วยกัน ให้เกียรติกันก็ต้องเห็นชอบ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ในเรื่องของรายละเอียดจะต้องติดตาม

“ผมเรียนว่ายังคลุมเครือ เพราะผู้ที่มีความรู้ เชี่ยวชาญตัวจริงทางด้านการเงิน การคลัง และด้านกฎหมายของประเทศมีไม่น้อยที่เดียวที่ออกมาให้ความเห็นว่ามีหมิ่นเหม่ในเรื่องของข้อกฎหมาย ซึ่งตรงนี้ถ้ารัฐบาลจะทำให้เกิดความชัดเจนกว่านี้ก็ทำได้ โดยส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาให้วินิจฉัยก็จบไป แต่ผมไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมต้องยื้อเวลาในการที่จะส่งกฤษฎีกาไปอีก ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเหมือนกับเดินไปบนเส้นด้าย เพราะความชัดเจนเรื่องข้อกฎหมายยังถกเถียงกันอยู่และคนที่มาเถียงกฎหมายก็ไม่ใช่ว่าคนไม่รู้เรื่อง ซึ่งเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญทั้งการเงิน การคลัง และกฎหมายที่ออกมาท้วงติง ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องรับฟังและทำความจริงให้เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นก็จะคลุมเครืออยู่อย่างนี้ ประชาชนก็รอความหวัง ด้วยความหวังในลักษณะที่ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะจริงหรือไม่จริง เพราะไม่ได้แปลว่าเมื่อครม.มีมติแล้วจะเป็นไปตามนั้น” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ที่ตนพูดต้องการให้รัฐบาลทำ แต่ตนไม่วิเคราะห์ว่าดีหรือเสียอย่างไร แต่เป็นหน้าที่พรรคการเมืองที่ต้องรับผิดชอบ เมื่อหาเสียงและได้คะแนนเสียงจากประชาชนมาแล้วก็ต้องรับผิดชอบจากเสียงที่ได้มา ต้องทำ แต่ต้องทำให้ถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่คุ้มค่าแค่พรรคการเมือง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top