Sunday, 23 June 2024
พรรคก้าวไกล

‘สมคิด’ ฟาด ‘โรม’ มาแอ็กชันที่ ‘ทำเนียบ’ เพื่อให้ตัวเองเป็นข่าว ไม่เหมาะสม ชี้!! ควรไปทำหน้าที่ในสภาฯ ย้ำ!! เพื่อไทยไม่ไร้มือกฎหมาย ใครเก่งก็เชิญมาช่วย

(1 มิ.ย.67) นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง และสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ระบุว่าถึงการที่นายกรัฐมนตรี ตั้งนายวิษณุ เครืองาม เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เพราะพรรคเพื่อไทยขาดมือกฎหมายที่เข้าใจการบริหารราชการแผ่นดิน ว่า จริง ๆ แล้วนายรังสิมันต์ โรม เป็นสส.อยู่แล้ว ถ้านายกฯทำอะไรไม่ถูกต้อง ก็มีสิทธิ์ตั้งกระทู้ถามในสภาได้ หรือถ้าไม่ไว้วางใจก็สามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้อยู่แล้ว แต่การที่จะมาไล่ยื่นที่ทำเนียบเพื่อให้เป็นข่าว เอาแอ็กชันตัวเองนั้น เป็นการกระทำที่ไม่สมควร เหมือนว่ามาบุกทำเนียบแล้วทวงถาม คุณเป็นฝ่ายค้านมีสิทธิ์ถามเต็มที่อยู่แล้ว และรัฐบาลก็พร้อมจะตอบคำถามในสภา อยากให้ต่างคนต่างทำหน้าที่ สังคมการเมืองจะได้น่าอยู่

ส่วนเรื่องที่นายกรัฐมนตรี จะตั้งนายวิษณุ หรือตั้งใคร ก็เป็นอำนาจนายกฯ เพราะคงจะมองว่าใครที่ทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้ เราก็ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ใครจะอยู่ฝ่ายไหนไม่สำคัญ สำคัญว่าเข้ามาช่วยประเทศชาติก็ดีทั้งนั้น อย่าไปตั้งอคติจนเกินไป อย่าไปคิดทางการเมืองมากนัก บ้านเมืองเราจะเดินไม่ได้

"ไม่เกี่ยวว่ารัฐบาล หรือพรรคเพื่อไทยไม่มีความพร้อมด้านมือกฎหมาย แต่เกี่ยวที่ใครมีความสามารถก็เชิญมาช่วยงานกัน เพื่อประเทศชาติบ้านเมือง ไม่ได้เพื่อใครเลย ฉะนั้นหน้าที่ฝ่ายค้านถ้าไม่วางใจยังไงค่อยว่ากันในสภา นายกฯพร้อมจะไปตอบ" นายสมคิด กล่าว

‘พิธา’ เชื่อมั่นศาลตัดสิน ‘เป็นธรรม’ ปมก้าวไกลกบฏ-ยุบพรรค ชี้!! คดีนี้ทำพรรคอ่อนแรงระยะสั้น แต่เป็นแต้มต่อระยะยาว

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567 หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย โดยเฉพาะคดียุบพรรคก้าวไกล ที่กำลังดำเนินอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ด้วยข้อกล่าวหาล้มล้างการปกครอง จากการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

นายพิธา กล่าวว่า ตนยังคงเชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาและวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลอย่างเป็นธรรม พร้อมย้ำว่า การกล่าวหาตนและพรรคก้าวไกล ว่าเป็นกบฏหรือผู้ทรยศที่มุ่งล้มล้างการปกครองนั้น ถือเป็นข้อกล่าวหาที่เกินจริง เพราะสิ่งที่ตนและพรรคก้าวไกลเสนอ คือความสมดุลทางกฎหมาย ระหว่างการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

นายพิธา กล่าวต่อไปว่า คดียุบพรรค จะทำให้พรรคก้าวไกลอ่อนแรงลงในระยะสั้นเท่านั้น แต่จะเป็นการติดเทอร์โบ (turbocharge) ให้พรรคได้แต้มต่อในแนวคิดและนโยบายแบบก้าวหน้าในระยะยาว โดยยกตัวอย่างสถานการณ์การยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2563 ซึ่งทำให้พลังของพรรคอ่อนแอลงชั่วคราว แต่ก็สามารถกลับมาฟื้นคืนแบบติดเทอร์โบได้ในการเลือกตั้งปี 2566 แสดงให้เห็นว่า แนวคิดแบบก้าวหน้า กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยพรรคก้าวไกลได้เก้าอี้ในสภา มาครองเพิ่มขึ้นเป็น 151 ที่นั่ง จากเดิมที่พรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 ได้ 81 ที่นั่ง

“ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พวกเราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แนวคิดแบบก้าวหน้าคือหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ชื่อพรรคการเมือง หรือหัวหน้าพรรคการเมืองใดๆ” นายพิธา กล่าว

นอกจากนี้ นายพิธายังกล่าวถึงสถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 ซึ่งสัปดาห์ที่แล้ว น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รออาญา ขณะเดียวกันในช่วงกลางเดือนก่อน น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 28 ปี ก็เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วง ระหว่างการถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ก่อนการพิจารณาคดีมาตรา 112 โดยระบุว่า หากพวกเราในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้รับอนุญาตให้อภิปรายเรื่องหลักความได้สัดส่วนของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างมีวุฒิภาวะ โปร่งใส และด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองก็จะคลี่คลายลงไปได้ในระดับหนึ่ง โดยไม่ผลักเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ให้จนมุม

“หากเรามีพื้นที่ในการพูดคุยถกเถียงเรื่องนี้กันได้ในรัฐสภา ก็จะไม่เกิดการกดดันให้ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ เลือกวิธีการประท้วงที่ทำร้ายตัวเอง รวมถึงคนที่พวกเขารักด้วย” นายพิธา กล่าว

'รศ.ดร.สุวินัย' มองปรากฏการณ์!! 'อำนาจ-ศรัทธา-อนาคต' ที่บางตา เกม 'ตัดวงจรอำนาจสังคมไทย' ที่ก๊วนส้มเชื่อมไม่ถึงใจด้อมอีกต่อไป

(8 มิ.ย.67) รองศาสตราจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ :วาทกรรม 'ตัดวงจรอำนาจของสังคมไทย' (Breaking the Cycle) กับปฏิทรรศน์ (Paradox) เรื่องการเปลี่ยนแปลงโลกกับการเปลี่ยนแปลงตนเอง' ระบุว่า...

>> การที่มี 'มวลชนส้ม' เข้าไปโรงหนังเพื่อดูหนังสารคดีที่เกี่ยวกับบทบาททางประวัติศาสตร์ของธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ภายใต้ชื่อ 'อำนาจ ศรัทธา อนาคต : Breaking the Cycle' ค่อนข้างบางตาอย่างผิดคาด จนถูกอีกฝ่ายเอามาแซะหรือล้อเลียนในโซเชียลนั้น ... มันบ่งชี้ชัดเจนว่า ความสัมพันธ์เชิงจัดตั้งและเชิงปฏิบัติการมวลชน (Mass Action) ระหว่างพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นทายาทของพรรคอนาคตใหม่กับมวลชนส้มของพรรคนั้น ... มันบอบบาง ชั่วคราว ไม่ถาวร และเอาแน่เอานอนไม่ได้ ก็เท่านั้นเอง

>> ปรากฏการณ์จุดกระแสไม่ติดครั้งนี้ อาจทำให้มองได้ด้วยซ้ำว่าคะแนนเลือกตั้ง 14 ล้านเสียงที่พรรคก้าวไกลได้มานั้น กว่าครึ่งคงมาจากนโยบายอภิมหาประชานิยม 'แจกเงินคนชราเดือนละ 3,000 บาท' ที่พรรคก้าวไกลออกมาในช่วงเจ็ดวันสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง มากกว่าศรัทธาในแนวทางและอุดมการณ์ปฏิกษัตริย์นิยมของพรรคก้าวไกลเป็นหลัก ... จะว่าไปแล้วนี่คือ 'คุณภาพ' ของคนที่ไปเลือกตั้งจำนวนมากที่ตัดสินใจลงคะแนนตามสิ่งล่อใจจำพวกนโยบายอภิมหาประชานิยมที่พวกนักการเมืองเอามาล่อ มากกว่าจะลงคะแนนตามหลักเหตุผลเพื่อ 'ส่วนรวม' ซึ่งเป็นจิตวิญญาณที่แท้จริงของประชาธิปไตย

>> ถ้าธนาธรหรือพรรคก้าวไกลชูธงว่า 'จะตัดวงจรอำนาจของพวกนักการเมืองที่กินเมืองให้สิ้นซาก' แทนที่จะชูนโยบายปฏิกษัตริย์นิยมที่ตั้งอยู่บนความเชื่อผิด ๆ ของพวกตนว่า "สถาบันกษัตริย์คือต้นเหตุของปัญหาอำนาจทั้งปวงของประเทศนี้ที่จำเป็นต้องตัดวงจรอำนาจนี้ให้ขาดสะบั้น" ... ผู้เขียนคิดว่าพวกเขาคงจะประสบความสำเร็จที่ยั่งยืนกว่าในปัจจุบัน

>> จะว่าไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย หรือการตัดวงจรอำนาจในสังคมไทย มันเป็นงานใหญ่ระดับพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินก็ว่าได้ ... จริงอยู่มันมิใช่เป็นไปไม่ได้ แต่ประวัติศาสตร์ของทุกประเทศทั่วโลกมันสอนเราว่ามันเป็นเรื่องยากมาก ๆ ระดับร้อยปีหรือหลายร้อยปีถึงจะเกิดสักครั้ง และกว่าจะเกิดขึ้นมาจริง มันจะต้องผ่านสงคราม ผ่านการนองเลือดสละชีวิตผู้คนนับล้าน ๆ คนก็ใช่ว่าจะทำสำเร็จได้ดังใจหวัง มิหนำซ้ำ 'ความจริงใหม่' ที่เกิดขึ้นอาจเลวร้ายยิ่งกว่าเมื่อก่อนด้วยซ้ำ ... คนส่วนใหญ่แน่ใจจริง ๆ หรือว่าอยากได้เส้นทางอนาคตที่ 'พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน' ภายใต้การนำของพรรคนี้

>> ก็เหมือนอย่างมายาคติ หรือวาทกรรมที่สร้างขึ้นมาว่า "ถ้าปิดสวิตซ์ 3 ป. คือตัดวงจรอำนาจของทหารและการรัฐประหารได้ แล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้น คนไทยจะรวยขึ้นอย่างแน่นอน" ... ความจริงใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ปิดสวิตซ์ 3 ป. ได้แล้วเป็นยังไง ก็จงเบิกตาดูความเป็นจริงตรงหน้าตอนนี้ให้ดีเถิด

>> ผู้เขียนซึ่งผ่านวัยหนุ่มวัยสาวที่มีอุดมคติอุดมการณ์ที่ร้อนแรงมาก่อนย่อมตระหนักดีว่า 'การเปลี่ยนแปลงโลก' กับ 'การเปลี่ยนแปลงตนเอง' เป็นสองสิ่งที่ต้องทำไปพร้อม ๆ กัน จะมุ่งแต่การเปลี่ยนแปลงโลกโดยไม่คิดเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน หาใช่เรื่องที่ควรกระทำไม่ เพราะมันจะนำมาซึ่งความผิดหวังและความสิ้นหวังอย่างแน่นอน

>> พรรคก้าวไกลคงจะถูกยุบค่อนข้างแน่ พรรคใหม่ของคนรุ่นใหม่ที่จะมาสืบทอดแทนพรรคก้าวไกลควรเก็บบทเรียนที่ผิดพลาดและพลาดพลั้งในอดีต เพื่อเติบใหญ่เป็นพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่สามารถตัดวงจรอำนาจของพวกนักการเมืองที่กินเมืองให้สิ้นซากได้จริง

- พรรคใหม่ของคนรุ่นใหม่ ควรชู 'นโยบายปฏิรูปตำรวจ' แบบผ่าตัดใหญ่ เพื่อตัดวงจรอำนาจในวงการตำรวจ เป็นนโยบายหลักของพรรคแทนที่จะชู 'นโยบายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์' จากจุดยืนปฏิกษัตริย์นิยม เหมือนอย่างในอดีต

- พรรคใหม่ของคนรุ่นใหม่ ควรชูนโยบายดึง 'เศรษฐกิจใต้ดิน' ที่มีขนาดใหญ่ราว ๆ 60% ของ GDP ไทย ขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจบนดินอย่างเป็นทางการ จะได้ 'ปฏิรูปการเก็บภาษี' เพื่อขยายฐานการจัดเก็บภาษีเงินได้ในระบบอย่างทั่วถึง โดยเอาเงินภาษีจำนวนมหาศาลที่รัฐเก็บเพิ่มได้ มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการทั้งระบบ รวมทั้งพัฒนาทักษะดิจิทัลให้คนไทยทั้งประเทศ

'พิธา' ดิ้นสู้คดียุบพรรค ยัน!! ไม่มีเจตนาล้มล้าง-เป็นปฏิปักษ์ อ้าง!! ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีเขตอำนาจพิจารณา-วินิจฉัยคดีนี้

(9 มิ.ย.67) ที่พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล แถลงข้อต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล ว่า จุดประสงค์ของการแถลงเพื่อเน้นข้อเท็จจริงของข้อกฎหมายและคดี เพื่อสอดคล้องกับสิ่งที่เป็นข้อกังวลของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะแบ่งเป็น 9 ข้อต่อสู้ 3 หมวดหมู่

หมวดหมู่ที่ (1.) เขตอำนาจและกระบวนการ 1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ 2.กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หมวดหมู่ที่ (2.) ข้อเท็จจริง 3.คำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 67 ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้ 4.การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ 5.การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 67 ไม่ได้เป็นมติพรรค

หมวดหมู่ที่ (3) สัดส่วนโทษ 6.โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น 7.ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 8.จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมือง ต้องได้สัดส่วนกับความผิด 9.การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับชุดกรรมการบริหารพรรคในช่วงที่ถูกกล่าวหา

เมื่อถามว่าในข้อต่อสู้มีข้อไหนที่ไม่มั่นใจ นายพิธา กล่าวว่า มั่นใจทุกข้อทั้ง 9 ข้อ แต่ละข้อก็เหมือนด่าน บันไดที่ใช้ต่อสู่ตั้งแต่ของเขตอำนาจของศาล จนถึงบทลงโทษกรรมการบริหาร แต่เรายังเชื่อว่าทั้งเจตนา และการกระทำของ สส.ในการเข้าชื่อแก้กฎหมาย ไม่ได้เป็นการล้มล้าง และไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ รวมถึงการกระทำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเป็นนายประกัน สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน การที่มีผู้ต้องหามาตรา 112 เป็นสมาชิกพรรค เป็น สส.ก็ยังไม่สิ้นสุดคดี รวมถึงการแสดงออกเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ก็กระทำทั่วไปโดยนักการเมืองในตอนนั้น โดยสภาพบังคับที่มีเรื่องเกี่ยวข้องอยู่แล้ว

“สุดท้ายการกระทำทุกอย่างเป็นเรื่องของรายบุคคลที่ขยุมรวมกันเป็นข้อกล่าวหา ไม่ได้มาจากมติพรรค ไม่ได้เป็นเรื่องของนิติบุคคล แต่เป็นเรื่องของปัจเจก ไม่ได้มีความเห็นที่ออกมาจากกรรมการบริหารว่าทั้งหมดเป็นการกระทำของพรรค ต้องแยกระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล นั้นต่างกัน ซึ่งที่มีเป็นมติของพรรคออกมาคือการบรรจุเป็นนโยบายหาเสียง แต่ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ได้ เพราะกกต.เองก็อนุญาต ซึ่งหลักเดียวกับตอนที่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ก็ไม่ได้มีจดหมายเตือน ไม่มีคำถามมาว่านโยบายนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรอย่างที่พรรคอื่นโดน” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวว่า ยืนยันตรงนี้ว่าไม่ได้มีเจตนา และไม่มีข้อกฎหมายที่เอาผิดทั้ง 44 คนที่เข้าชื่อในการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง และไม่ได้เข้าสภา และถึงแม้จะได้เข้าสภา ระบบนิติบัญญัติก็มีการเช็คแอนด์บาลานซ์เบรคในตัวเองอยู่ จะเบรคโดยกกต.ก็ได้ จะเบรคโดยสภาในการโหวตวาระ 1 , 2 , 3  หรือขั้น สว. และยังมีเวลาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในตอนสุดท้าย เพราะฉะนั้นไม่มีความเร่งด่วนสำคัญอะไรที่ต้องใช้มาตรการรุนแรงอย่างนี้ 

‘แสวง’ เผย กกต.ส่งพยานหลักฐานเพิ่ม คดียุบพรรค ‘ก้าวไกล’ ชี้!! ทำตามหน้าที่อย่างดีที่สุด ตามที่กฎหมายให้อำนาจ

(15 มิ.ย.67) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้สัมภาษณ์กรณี ศาลรัฐธรรมนูญให้ กกต. ส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมในคดียุบพรรคก้าวไกลว่า กกต. ได้ส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา ส่วนจะเป็นพยานบุคคลหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า คำวินิจฉัยเพียงพอแล้ว (ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินพรรคก้าวไกล) กกต.จึงได้ส่งเอกสารเพิ่มบางอย่างที่เป็นข้อกฎหมาย

ส่วนกรณีนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาให้ความเห็นว่า กกต. ตีความเป็นศรีธนญชัย นายแสวง ไม่ขอแสดงขอความเห็น ขอให้รอฟังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ส่วนที่คู่กรณีเห็นว่า กกต. ไม่มีอำนาจ หรือ ลุแก่อำนาจ อาจกระทบความเชื่อมั่นองค์กร นายแสวง กล่าวว่า เรารู้ว่าต้องทำอะไร ทำผิดทำเกินทำน้อยคงไม่ได้ ทุกเรื่องมีการกระทำมีข้อเท็จจริง คนที่ได้รับผลดีผลร้าย สิ่งนี้เกิดจากกฎหมายกำหนดไว้ก่อนว่า ลักษณะเช่นไรที่เป็นความผิด เมื่อมีข้อเท็จจริง กกต. ก็ดำเนินการไปตามข้อเท็จจริง ท่านไม่ได้รับผลร้าย หรือผลดีจากการตัดสินของ กกต. ท่านได้รับผลร้าย จากข้อเท็จจริงที่ท่านทำ

เรารู้ว่าเราต้องทำอะไร ส่วนความเชื่อมั่นผมว่าเราก็ทำตามกฎหมาย ประชาชนจะสงสัยก็เป็นจุดที่ทำให้เรา ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นเป็นหน้าที่ เราก็ทำอย่างดีที่สุดเท่าที่กฎหมายให้เราทำ

ขณะเดียวกันนายแสวงยืนยันว่าตั้งแต่ตนมารับตำแหน่งเลขาธิการ กกต. ไม่มีใบสั่ง หรือคำชี้นำ จาก กกต. หรือจากข้างนอก ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับคำร้อง ยื่นยุบพรรคภูมิใจไทย นายแสวง กล่าวว่าเรื่องที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เกี่ยวกับการยุบพรรคเลย หรือเกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมืองอะไรเลย แต่มีคนเอามาโยงว่าสามารถที่จะยุบพรรคได้หรือไม่ จึงทำให้มีคนคิดว่าพรรคภูมิใจไทยก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสองกรณีนั้นแตกต่างกันมาก ส่วนฐานความผิดของพรรคภูมิใจไทยคือการอำพรางเรื่องหุ้น ไม่ได้เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมืองเลย แค่มีการเอาไปโยงกันเท่านั้น

ทั้งนี้เมื่อมีคนร้องต่อ กกต.มาก็ต้องมีการดำเนินการ ตรวจสอบเงินบริจาคว่ามีที่มาจากไหน เป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากเป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่ได้ตัดสินที่คนบริจาคแต่ตัดสินด้วยกฎหมาย และคนที่มีอำนาจชี้ ซึ่งต้องรอหน่วยงานที่มีอำนาจ เป็นคนตัดสินซึ่งก็ไม่ใช่กกต. หรือนายทะเบียนโดยขณะนี้มีการตรวจสอบและถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ จนกว่าจะได้ข้อยุติ

นายแสวง ยังยกตัวอย่างกรณีการบริจาคของนายตู้ ห่าว ที่บริจาคให้กับพรรคพลังประชารัฐ มีคนบอกว่าเงินชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องมีการพิสูจน์ว่าเงินชอบด้วยกฎหมายยังไง ก็ต้องรองหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทรัพย์สินเช่นปปง. หรือป.ป.ส. เป็นต้น เป็นผู้ตัดสินมาก่อนจึงจะนำคำตัดสินมาใช้ได้ ทั้งนี้โดยกฎหมายพรรคการเมือง ไม่ได้ให้นายทะเบียนเป็นคนวินิจฉัย ว่าเงินนี้ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีอำนาจตัดสิน พร้อมยืนยันว่ากรณีการยื่นร้องพรรคภูมิใจไทยไม่ได้เป็นการยื้อเวลา เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งยื่นมาตามช่องทางของนายทะเบียนจึงมีการตรวจสอบตามมาตรา 93 ไม่ได้เข้าเกณฑ์ในมาตรา 92 ซึ่งกฎหมายก็มีหลายวิธี

‘เด็จพี่’ ฟาด ‘ก้าวไกล’ ค้านแบบขวางโลก ชี้!! กลัวรัฐบาล ‘เพื่อไทย’ จะได้ผลงาน

(22 มิ.ย.67) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ที่ปรึกษาของรองนายกฯ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีฝ่ายค้านก้าวไกล มีมติไม่รับหลักการร่างงบฯ ปี 68 วาระแรก อ้างเหตุรัฐบาลเบียดบังงบดัน ดิจิทัลวอลเล็ต เกินไป แถมขู่ร้องศาลระงับไม่ให้โครงการแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนเกิด เป็นการค้านแบบไม่มีสติหรือไม่ เหมือนไม่อยากให้ประเทศเจริญ ทั้งที่ตามระบอบประชาธิปไตย เสียงประชาชนเป็นใหญ่ วันนี้เมื่อเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล ก็สมควรที่จะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน

ประกอบกับวันนี้เศรษฐกิจกำลังแย่ หุ้นตก เพราะพิษการเมือง ประชาชนลำบากยากจน เป็นหนี้ ไม่มีรายได้ ไม่มีเงิน ในการดำรงชีพ ขาดสภาพคล่อง ขาดเงินสดหมุนเวียนในระบบ ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบรุนแรง ทำให้โรงงานทยอยปิดตัวไปเยอะ คนต้องตกงาน ครอบครัวต้องลำบาก ยากจน รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไว โดยอัดฉีดตรงให้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมกันทั่วประเทศ เติมเงินในระบบ โดยเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้ประชาชนโดยตรง คนละหมื่นบาท 50 ล้านคน ถ้าโครงการสำเร็จ จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ประชาชนมีเงิน กำลังซื้อจำนวนมหาศาลจะกลับมา รัฐบาลเชื่อมั่นว่าสิ่งที่คิดทำจะสำเร็จอย่างแน่นอน

"แต่วันนี้ก้าวไกลค้านสุดขั้ว ค้านแบบขวางโลก น่าจะเป็นเพราะกลัวรัฐบาลที่เพื่อไทยเป็นแกนนำจะได้ผลงาน ได้คะแนน โดยไม่สนความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ก้าวไกลอ้างการเมืองใหม่ รับฟังเสียงประชาชน ก็ควรให้ประชาชนตัดสิน โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตดีไม่ดี อีก 3 ปี ประชาชนจะให้คำตอบผ่านการเลือกตั้ง ถ้าดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ประชาชนต้องจดจำว่าพรรคไหนบ้าง มีส่วนค้านการช่วยเหลือประชาชน ที่กำลังลำบาก ยากจน สมัยหน้าควรพิจารณาลงโทษ ให้เป็นฝ่ายค้านตลอดไป" นายพร้อมพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

‘เจี๊ยบ อมรัตน์’ ฟาด ‘สส.รักชนก’ แสดงภาษากาย ไม่เหมาะสม ชี้!! ขนาดรองประธานสภาฯ อดีตพรรคเดียวกัน ยังไม่ให้เกียรติ

(22 มิ.ย.67) สืบเนื่องจากการอภิปรายพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ช่วงที่น.ส.รักชนก ศรีนอก สส. กรุงเทพ พรรคก้าวไกล ได้นำภาพตัดต่อรูปภาพนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มาประกอบในการอภิปรายดังกล่าว โดยนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯคนที่ 1 ได้ตักเตือน น.ส.รักชนก ว่า เป็นการเสียดสี และได้ชี้แจงประเด็นเรื่องการเปลี่ยนสไลด์ของผู้อภิปราย ว่าไม่เกี่ยวกับรัฐบาล แต่เป็นกรรมการตรวจสไลด์ของรัฐสภา ทำให้น.ส.รักชนกแสดงออกด้วยท่าทีไม่พอใจ

ต่อมามีผู้นำคลิปช่วงดังกล่าวมาเผยแพร่ในแพลตฟอร์ม X โดย นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือเจี๊ยบ ที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตสส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้แชร์คลิปนี้พร้อมแสดงความคิดเห็นประกอบว่า 

"ดิฉันเห็นด้วยว่า move นี้ไม่ ok รวมถึงการใช้ภาษากายไม่สุภาพ"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top