Tuesday, 7 May 2024
ฝ่ายค้าน

‘อัครเดช’ ดักคอ ‘ฝ่ายค้าน’ อภิปรายทั่วไป ‘2 วันพอ-ขอสาระ’ มั่นใจ!! ‘รมต.รทสช.’ ทุกคน ไม่หวั่นถูกจี้ ผลงานชัด พร้อมชี้แจง

(8 มี.ค.67) ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า การยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ของพรรคฝ่ายค้าน น่าจะยื่นเข้ามาวันที่ 3-4 เมษายน 2567 ที่จะถึงนี้ ก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ ถ้าเป็นตามนี้ น่าจะใช้เวลาอภิปรายเพียงแค่ 2 วัน น่าจะเพียงพอ เนื่องจากรัฐบาลเพิ่งเข้ามาบริหารประเทศได้ 6 เดือน และยังไม่สามารถใช้งบประมาณปี 2567 เลย เพราะยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภาฯ ในวาระ 2 - 3

ทั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดี ฝ่ายค้านจะได้ใช้เวทีของสภาฯ ชี้แนะและสอบถามการทำงานของรัฐบาล ทั้งการบริหารจัดการงบประมาณ และการบริหารประเทศ สิ่งสำคัญขอร้องให้ฝ่ายค้านนำเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์จริงๆ มาอภิปราย ไม่ต้องมาดรามากลางสภาฯ เพื่อเรียกร้องความเห็นใจ ชี้แนะได้แนะนำรัฐบาลได้ ในมุมมองของฝ่ายค้าน แต่ต้องไม่ดรามา ถึงจะเกิดประโยชน์กับประชาชน

เมื่อถามว่า ในส่วนของ รัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติอาจถูกอภิปรายด้วยกังวลหรือไม่ นายอัครเดช กล่าวว่า ไม่ได้กังวล เนื่องจากการทำงานของรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ ทุกท่านได้ทำงานอย่างเต็มที่และมีผลงาน อีกทั้งรัฐมนตรีทุกท่านของพรรค พร้อมที่จะชี้แจงหากมีการอภิปรายพาดพิงถึงกระทรวงที่รับผิดชอบ และจะได้ถือโอกาสชี้แจงผลงานที่ทำมาในช่วงเวลา 6 เดือนด้วย

เมื่อถามว่า กระทรวงพลังงานอาจจะตกเป็นเป้าหมายในการอภิปรายของฝ่ายค้านด้วย โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ไม่น่าเป็นห่วง รัฐมนตรีของพรรคทำงานอย่างเต็มที่ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา สังคมก็รับรู้อยู่แล้ว มั่นใจว่าจะตอบข้อซักถามของฝ่ายค้านในสภาฯได้อย่างแน่นอน เพราะการอภิปรายครั้งนี้ เป็นการอภิปรายทั่วไป จึงจำเป็นต้องซักถามถึงข้อสงสัยต่างๆ ที่ยังไม่เข้าใจ

"ที่ผมบอกว่าให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายในเนื้อหาสาระตรงประเด็นเท่านั้น อย่าเสียเวลาไปดรามาในสภา เนื่องจากเป็นห่วงว่า จะใช้เวลาของสภาฯ เสียเปล่า ที่มีข่าวว่าวิปฝ่ายค้านจะขอเวลาอภิปรายถึง 3 วัน คิดว่าเวลา 2 วันในการอภิปรายสอบถาม และรัฐบาลชี้แจงก็เพียงพอ จึงขอให้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ และมีค่ามากที่สุด อีกทั้งการขอเปิดอภิปรายครั้งนี้ ก็ไม่ใช่ญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอีกด้วย" โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าว

'เอกนัฏ' สวนนักแซะงบพลังงาน ยัน!! กมธ.งบฯ ทำงานหนักใต้กรอบเวลาจำกัด โต้!! ฝ่ายค้านอย่าโบ้ยทุกปัญหาให้เหมือนเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ หรือ 'ยุคลุงตู่'

เมื่อวานนี้ (21 มี.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ชี้แจงข้อสงสัยของสมาชิกในการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระ 2 ในส่วนของกระทรวงพลังงานว่า การแปรญัตติของเพื่อนสมาชิกอย่าง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ที่ขอปรับลดงบประมาณ 3% ก็ตรงกับที่กรรมาธิการฯ ขอปรับลดลงประมาณ 3% เพียงแต่ในการพิจารณาในสภาฯ วาระ 2 ไม่ได้เห็นรายละเอียดในการสงวนคำแปรญัตติ นอกจากยอดตัวเปอร์เซ็นต์คือ 3% ถ้าเราเห็นรายละเอียดเหล่านี้ก่อน การทำหน้าที่ของกรรมาธิการฯ คงจะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้

ทั้งนี้ ในส่วนของกรรมาธิการฯ ไม่ได้มีเส้นแบ่งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เราทำหน้าที่ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ประชุมกันหามรุ่งหามค่ำตั้งแต่เวลา 09.00 น. จนถึงเย็นทุกวัน มีเวลา 2 สัปดาห์ที่จะไล่สอบซักถามหน่วยงานแทนเพื่อนสมาชิก เพื่อรักษาผลประโยชน์งบประมาณของประเทศชาติ

สำหรับ ข้อสงสัยของสมาชิก ตนขอย้ำว่า กรรมาธิการฯ ไม่ได้มาทำหน้าที่แทนรัฐมนตรี หรือรัฐบาล ที่ น.ส.ศิริกัญญา ซักถามเกี่ยวกับเรื่องของแผนปฏิบัติการพลังงานในส่วนค่าจ้างที่ปรึกษา แต่เราได้รับคำชี้แจงจากหน่วยงานที่อนุกรรมาธิการเรียกหน่วยงานมาชี้แจง ได้แจ้งว่า ตัวของแผนจะประกาศใช้ ประมาณเดือนกันยายนปี 2567 ฉะนั้นในส่วนของตัวโครงการจ้างที่ปรึกษาสำหรับการประเมินติดตามก๊าซเรือนกระจก จึงมีความจำเป็นต้องอนุมัติงบประมาณแล้วก็ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อไปประกอบในแผนให้ประกาศใช้ทันภายในเดือนกันยายนปี 2567

นายเอกนัฏ ชี้แจงว่า กระทรวงพลังงานได้งบประมาณน้อยมาก หากเทียบกับกระทรวงอื่น น่าจะน้อยที่สุดด้วย เพราะไม่ใช่กระทรวงที่มีภารกิจไปจัดซื้อจัดจ้างหรือไปก่อสร้าง แต่เป็นกระทรวงที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ต้องออกนโยบาย ตรวจดูกฎเกณฑ์ทำงานร่วมกับเอกชน ทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ให้ประชาชนมีพลังงานใช้ในราคาถูก และมีคุณภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ฉะนั้นข้อสังเกตจากสมาชิก ก็เป็นข้อสังเกตในลักษณะเดียวกันกับอนุกรรมาธิการฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานีชาร์จไฟฟ้า หรือนโยบายการสนับสนุนรถอีวีรถไฟฟ้า

“นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน ทราบดีถึงความสำคัญของการทำงานของกระทรวงพลังงาน แล้วก็ไม่ติดยึดว่า เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด แต่เนื่องจากภารกิจหลักเป็นการกำกับดูแล ถ้าจะสร้างผลงานสร้างความเปลี่ยนแปลง มันต้องมีการรื้อกฎเกณฑ์กติกาหรือระบบเดิม ซึ่งท่านก็ทำมาตลอดแก้กฎระเบียบ กฎกติกาให้เหมาะสมทันสมัยในการแก้ปัญหา” นายเอกนัฏ กล่าว

นายเอกนัฏ กล่าวย้ำว่า การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่การไปบอกว่าปัญหาทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากรัฐบาลชุดนี้ หรือจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มันก็คงไม่ยุติธรรมกับทั้งรัฐบาลชุดนี้แล้วก็รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เช่น การตกลงให้สัมปทานบนพื้นที่อ่าวไทย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และไม่ได้เกิดขึ้นในยุคนี้

ส่วนหนึ่งก็เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ ที่ทำให้ประเทศไทยมีแหล่งพลังงาน แหล่งน้ำมัน แหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ แต่ส่วนที่เป็นปัญหาข้อพิพาทเมื่อเกิดขึ้นในรัฐบาลยุคไหน ตนเชื่อว่าก็อยู่ในใจของนายกรัฐมนตรีทุกคน แล้วก็อยู่ในใจพวกเรา ที่จะต้องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติให้มากที่สุด ไม่ใช่ไปดำเนินการตามองค์กรระหว่างประเทศ หรือบริษัทต่างชาติ อย่างเช่น เชฟรอน

“ผมขอยืนยันว่า ในระยะเวลาที่จำกัด กรรมาธิการฯทุกคนทำงานหนัก ได้ตัดสินใจแทนเพื่อนสมาชิกทุกคนอย่างรอบคอบ” นายเอกนัฏ กล่าว

เปิดข้อบ่งชี้สำคัญ!! เหตุใดหลังโควิด GDP ไทยเพิ่มไม่สูงเหมือนเพื่อนบ้าน ตอบ : ฝ่ายค้านในสมัยนั้นอาจจะเป็นตัวถ่วงความเจริญตัวสำคัญ

(26 มี.ค.67) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'LVanicha Liz' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

พฤติกรรมพร่ำบ่นคำว่าทศวรรษที่สูญหาย (the lost decade) กรอกหูประชาชนในทำนองที่น่าจะเป็นการดิสเครดิตการบริหารสองสมัยสองระบบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจเกิดจากการไม่มีความรู้เทคนิคการประเมินผล (รวบยอดประเมิน vs แยกประเมิน) หรืออาจเกิดจากความจงใจใช้ผลกระทบเสียหายจากวิกฤติโควิด (รวมทั้งการเข้ามามีบทบาทของฝ่ายค้าน) มาบิดเบือนหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิดในผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้พรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้ง ฯลฯ

สำหรับนายเศรษฐา ทวีสิน นอกจากจะวิจารณ์ ‘8-9 ปีที่ผ่านมา’ อย่างเผ็ดร้อนแล้ว ก็ยังได้แสดงอาการวิตกห่วงใยอย่างมาก ว่าอัตราการเพิ่ม GDP ของไทยไม่สูงเหมือนเพื่อนบ้าน แล้วเลยทำท่าคล้ายจะพาลพาโลว่าเศรษฐกิจวิกฤตจนต้องสร้างหนี้เพิ่มให้ประเทศถึงห้าแสนล้านบาท เอามาให้คนกินๆใช้ๆ โดยหวังว่าจะทำให้ตัวเลข GDP กระโดดขึ้นสู่เป้าหมาย 5% จนบุคลากรระดับสูงด้านเศรษฐกิจการเงินของชาติจำนวนมากต้องออกโรงคัดค้านกันจ้าละหวั่น 

ในความเป็นจริง เพียงดูตัวเลข GDP growth บนแกนเวลา ก็พบข้อบ่งชี้สำคัญสำหรับประเด็น #เหตุใดหลังวิกฤติโควิด GDP ไทยเพิ่มไม่สูงเหมือนเพื่อนบ้าน (อ้างอิงภาพ ‘ข้อบ่งชี้สำคัญ !! …’ และภาพขยาย)
https://www.macrotrends.net/global-metrics/countries/THA/thailand/gdp-per-capita 
หมายเหตุ : GDP ในโพสต์นี้ ใช้ตัวเลข per capita (ต่อจำนวนประชากร) เพื่อตัดผลกระทบจากอัตรา

การเพิ่มจำนวนประชากรที่แต่ละประเทศมีไม่เท่ากัน (อ้างอิงภาพอัตราการเติบโตของประชากร)        

ข้อบ่งชี้สำคัญที่แสดงในกราฟของ macrotrends.net แสดงว่า อัตราการเติบโตของ GDP ไทย 8-9 ปีหรือทศวรรษที่ผ่านมา แบ่งออกได้เป็นสองช่วง คือช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (คสช.) และช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เลือกตั้ง) โดยมีการบริหารประเทศคนละระบบ มีปัจจัยที่เป็นผลกระทบต่างกัน และมีผลการดำเนินงานแตกต่างกันอย่างชัดเจน ตามหลักการจึงควรต้องแยกประเมิน

ช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (คสช.) เป็นระบบที่บริหารโดยคณะรัฐประหาร ไม่มีฝ่ายค้าน การเติบโตของ GDP สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (contrast กับผลงานรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์-พรรคเพื่อไทย ที่การเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่องมาจนติดลบ)

ส่วนช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เลือกตั้ง) เป็นระบบที่บริหารโดยมีฝ่ายค้านเข้ามามีบทบาททั้งในและนอกสภาฯ (หลักๆ ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล) การเติบโตของ GDP ก็ตกต่ำลงอย่างชัดเจน (อ้างอิงส่วนขยายของภาพ ‘ข้อบ่งชี้สำคัญ !! …’) จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงการเติบโตของ GDP จากสูงขึ้นกลายเป็นต่ำลงนั้น เกิดพร้อมกับการเข้ามามีบทบาทของฝ่ายค้าน และคงความตกต่ำอยู่ตลอดช่วงการคงอยู่ของฝ่ายค้าน

เมื่อพิจารณาลักษณะการเปลี่ยนปลง GDP ของไทยเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน (ยกตัวอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) จากกราฟเปรียบเทียบ (อ้างอิงภาพ GDP per capita ของ ID, PH, TH, VN) สังเกตได้ว่า

1. วิกฤติโควิดทำให้ GDP ของทั้งสี่ประเทศตกลงในปี 2020 เหมือนกันหมด

2. ช่วงก่อนโควิด ซึ่งเป็นช่วงการบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ (คสช.) นอกจากไทยจะมี GDP per capita สูงที่สุดใน 4 ประเทศแล้ว ตัวเลขของไทยยังไต่สูงขึ้นโดยมีความชันมากกว่าทั้งสามประเทศอีกด้วย แสดงถึง #ศักยภาพในการบริหารที่สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน

3. หลังจาก GDP ตกต่ำลงในปี 2020 ประเทศเพื่อนบ้านสามารถฟื้นฟูยอด GDP กลับขึ้นสู่ระดับก่อนโควิดได้ทั้ง 3 ประเทศ แต่ประเทศไทยไม่สามารถกลับสู่ระดับก่อนโควิดที่ คสช. ทำไว้ได้ ข้อแตกต่างของการดำเนินงานจากช่วงก่อนหน้าโควิด หลักๆคือการเปลี่ยนระบบการบริหารประเทศไปเป็นแบบเลือกตั้ง ทำให้ฝ่ายค้านเข้ามามีบทบาททั้งในและนอกสภาฯ

การมีฝ่ายค้าน มีจุดประสงค์เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร เห็นชอบ/ไม่เห็นชอบงบประมาณ ฯลฯ แต่หากฝ่ายค้านใช้อำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ (เช่น แทนที่จะสนับสนุนระบอบการปกครอง กลับมาตั้งหน้าตั้งตาล้มระบอบการปกครอง แทนที่จะเปิดเผยความจริงต่อประชาชน กลับบิดเบือนหลอกหลวงประชาชน ฯลฯ) หรือศักยภาพไม่เพียงพอ (ดังที่ปรากฏภายหลังเลือกตั้งครั้งล่าสุด ว่ามีพรรคฝ่ายค้านที่กำหนดนโยบายหาเสียงแล้วต้องยอมรับหรือถูกตรวจพบในทันทีหรือไม่นานหลังจากได้รับเลือกตั้ง ว่าทำไม่ได้) ฝ่ายค้านก็จะกลายเป็นตัวถ่วงความเจริญขนาดใหญ่ ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าไม่ได้เท่าที่ควรแม้ฝ่ายบริหารจะมีศักยภาพก็ตาม

สรุปว่า macrotrends.net ได้ช่วยแสดงข้อบ่งชี้สำคัญสำหรับประเด็น #เหตุใดหลังวิกฤติโควิด GDP ไทยเพิ่มไม่สูงเหมือนเพื่อนบ้าน ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เลือกตั้ง) โดยชี้ให้เห็นได้ว่า ... ฝ่ายค้านในสมัยนั้นอาจจะเป็นตัวถ่วงความเจริญตัวสำคัญ

ณ เวลานี้ ฝ่ายค้านดังกล่าว 1 พรรค (เพื่อไทย) ได้เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่ปี 2023 เราจึงจะได้เห็นต่อไป ว่าอัตราการเพิ่ม GDP ของรัฐบาลใหม่นี้ แม้เพียงทำให้ได้เท่าที่ คสช. เคยทำไว้ จะทำได้หรือไม่ และเมื่อใด

อย่าให้สรุปได้ว่าทศวรรษที่สูญหายเริ่มต้นปี 2023 ก็แล้วกัน       

'สวนดุสิตโพล' เช็กเรตติง!! ‘รัฐบาล-ฝ่ายค้าน’ วัดดัชนีการเมืองไทย ชี้!! แต้มฝ่ายค้านเพิ่ม อานิสงส์ประชาชนเห็นใจจากการถูก 'ยุบพรรค'

(1 เม.ย. 67) ‘สวนดุสิตโพล’ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง ‘ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนมีนาคม 2567’ กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,254 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 21-29 มีนาคม 2567 โดยมีตัวชี้วัด 25 ประเด็นที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นต่อการเมืองไทยในด้านต่าง ๆ ซึ่งแต่ละตัวชี้วัดจะมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน สรุปผลเรียงลำดับจากค่าคะแนนสูงสุดไปถึงต่ำสุด ได้ดังนี้

1. ‘ดัชนีการเมืองไทย’ เดือนมีนาคม 2567 ภาพรวมคะแนนเต็ม 10 ได้ 5.10 คะแนน (เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ได้ 5.16 คะแนน)

2. ประชาชนให้คะแนน 25 ตัวชี้วัด ‘ดัชนีการเมืองไทย’ โดยคะแนนเต็ม 10 เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้ดังนี้


3. นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ประชาชนคิดว่ามีบทบาทโดดเด่นในเดือนมีนาคม 67
>>นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล 
1.เศรษฐา ทวีสิน 53.22%
2.อนุทิน ชาญวีรกูล 28.30%
3.แพทองธาร ชินวัตร 18.48%

>>นักการเมืองฝ่ายค้าน      
1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 59.32%
2.รังสิมันต์ โรม 20.91%
3.ศิริกัญญา ตันสกุล 19.77%

4. ผลงานของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ประชาชนชื่นชอบในเดือนมีนาคม 67
>>ผลงานฝ่ายรัฐบาล
1.สงกรานต์ 21 วัน ดัน Soft Power 47.51%
2.จับบ่อน ปราบมาเฟีย ผู้มีอิทธิพล 30.94%
3.ย้าย 2 บิ๊กตำรวจ 21.55%

>>ผลงานฝ่ายค้าน
1.อภิปรายงบประมาณ ปี 2567 48.36%
2.กระตุ้นเรื่องแก้ฝุ่น PM2.5 ดับไฟป่า 31.75%
3.ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม 19.89%

5. ปัญหาที่ประชาชนอยากให้เร่งแก้ไข คือ

(1) ยาบ้า กัญชา ยาเสพติด 50.62%
(2) เศรษฐกิจ ปากท้อง ค่าครองชีพ 31.78%
(3) ฝุ่น PM2.5 มลพิษทางอากาศ 17.60%

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าดัชนีการเมืองไทยเดือนนี้ยังคงอยู่ในระดับปานกลาง คะแนนลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน สาเหตุหลักอาจมาจากปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจที่ประชาชนกังวล ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ได้คะแนนไม่ดีนัก 

นอกจากนี้ผลสำรวจชี้ว่าฝ่ายค้านยังคงครองใจประชาชน อาจเป็นเพราะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพของฝ่ายค้านในการทำงาน แต่ฝ่ายรัฐบาลเองก็เริ่มมีผลงานที่โดนใจประชาชนมากขึ้น ทั้งการผลักดัน Soft Power การจับบ่อน และแก้ปัญหาวงการตำรวจ

ด้าน ผศ.ดร.เบญจพร พึงไชย ผู้ช่วยคณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า สำหรับการเมืองไทยในช่วงเดือนมีนาคมนี้ แม้จะมีประเด็นทางการเมืองเกิดขึ้นหลาย ๆ เหตุการณ์ อาทิ การทัศนาจรของอดีตนายกรัฐมนตรีไปยังที่ต่าง ๆ หรือประเด็นการอภิปรายของ สว. เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเศรษฐา แต่ผลการสำรวจมีคะแนนลดลงเล็กน้อยในภาพรวมเดือนมีนาคม 5.10 คะแนน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ได้ 5.16 คะแนน นั่นแสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่โฟกัสไปที่การแก้ไขปัญหาปากท้องว่ารัฐบาลจะทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งคะแนนเดือนนี้อยู่ที่ 4.80 เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา คือ 4.78 คะแนน ซึ่งแทบไม่ต่างจากเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังมีคะแนนลดลงจากเดิม 5.14 โดยในเดือนนี้ ได้เพียง 5.00 คะแนน ยิ่งชี้ชัดว่าการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ยังไม่เห็นผล

ในทางตรงกันข้าม ผลงานของฝ่ายค้านกลับได้คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 5.52 เป็น 5.56 คะแนน ซึ่งอาจมาจากความเห็นใจของประชาชนกรณีการยุบพรรค ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการที่จะให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นจะต้องแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ประชาชนอยากให้เร่งแก้ไขปัญหายาเสพติดมีคะแนนถึง ร้อยละ 50.62  อาจเป็นเพราะประเด็นข่าวหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเกิดขึ้นบ่อยครั้งในรอบเดือนที่ผ่านมา คงต้องจับตาดูกันว่าปัญหาในประเด็นนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปสำหรับเดือนหน้า

‘วิปรัฐบาล’ หัก ‘ฝ่ายค้าน’ ยึดคืนเวลา ‘ซักฟอก’  ดึงเวลาคืนรัฐตอบทุกประเด็นที่ฝ่ายค้านถาม

(1 เม.ย.67) ที่รัฐสภา นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมการประชุมวิปรัฐบาลถึงการทบทวนเวลาอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่า กรอบที่ฝ่ายค้านขอมาทั้งหมดคือ 22 ชม. ฝั่งรัฐบาลรวมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 6 ชม. เมื่อดูแล้วครม.มีเวลาชี้แจง 4 ชม. และการอภิปรายตามมาตรา 152 คือการกล่าวหารัฐบาล เมื่อฝ่ายค้านกล่าวหาก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องตอบคำถามให้กระจ่างแจ้ง แต่ปัญหาคือเมื่อเรากลับไปดูการอภิปรายตามมาตรา 153 ของวุฒิสภาที่ผ่านมานั้น พบว่ารัฐมนตรีบางคนมีเวลาตอบแค่ 2 นาที หากได้เวลาน้อยก็จะทำให้รัฐมนตรีไม่มีโอกาสชี้แจงจะทำให้เกิดความเสียหาย หากตอบไม่ครบ ฝ่ายค้านก็จะบอกว่ารัฐมนตรีไม่กล้าตอบ หนีตอบคำถาม ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยุติธรรม โดยต้องขอเวลาเพิ่มเพื่อให้รัฐบาลได้มีโอกาสตอบ ซึ่งจะต้องมีการเจรจากับฝ่ายค้านอีกครั้ง

“ผมมองว่าฝ่ายรัฐบาลอย่างน้อยต้องได้เวลา 10 ชม.ขึ้นไป ฝ่ายค้านก็ต้องลดลงมาจาก 22 ชม. อาจจะเหลือ 18 ชม. ก็ถือว่ามากกว่ากันเท่าตัว ฉะนั้น การอภิปรายก็เพื่อให้มีการตอบให้ประชาชนหายข้องใจ เพราะถ้าฝ่ายค้านเอาเวลาไป 22 ชม. แล้วให้รัฐบาล 4-6 ชม. ก็ไม่ได้ และเมื่อหักเวลาประท้วงแล้ว รัฐบาลก็ได้ไม่น่าจะเกิน 4 ชม. ซึ่งจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถตอบได้ทุกประเด็นที่ฝ่ายค้านถาม” นายวิสุทธิ์ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top