‘ชัยวุฒิ’ ลั่น ‘พปชร.’ พร้อมเป็นความหวังให้คนไม่เอา 'ส้ม-แดง' ชู 3 กรอบประเด็นตรวจสอบ มั่นใจ!! ทำหน้าที่ฝ่ายค้านแบบเต็มที่
(10 ก.ย. 67) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์กับรายการ 'สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง' ทางช่องยูทูบ 'แนวหน้าออนไลน์' ในประเด็นพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ไปต่อในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล และต้องไปเป็นฝ่ายค้าน ว่า รู้สึกสนุกขึ้น เพราะเป็นฝ่ายรัฐบาลบางครั้งก็ทำอะไรไม่ได้เต็มที่ เห็นอะไรที่ขัดใจหรือไม่ถูกต้อง คราวนี้จะได้ตรวจสอบอย่างเต็มที่ เพราะตนก็มีข้อมูลอยู่ไม่น้อย แต่ไม่มีคำว่ามือใหม่ ตนเชื่อว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทุกคนพร้อมทำหน้าที่ทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าได้คุยกับ สส. ในพรรคหรือไม่? เรื่องนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว คนที่อยู่ก็คืออยู่ พร้อมเป็นฝ่ายค้าน ส่วนคนที่ไม่อยากเป็นฝ่ายค้าน กลัวเสียผลประโยชน์ ถูกดูดไปก็ไปกันหมดแล้ว เหลือแต่คนที่เป็นเนื้อแท้พร้อมจะทำงาน ส่วนเรื่องการทำงานฝ่ายค้านร่วมกับพรรคประชาชน เบื้องต้นมีการคุยกัน เริ่มจากรัฐบาลแถลงนโยบายก็จะขอแบ่งเวลาอภิปราย ส่วนจะพูดประเด็นใดบ้างคงต้องหารือกัน ซึ่งหลังจากนี้ทางสภาก็คงจะมีเจ้าหน้าที่มาประสานการพูดคุยกันของวิปฝ่ายค้านต่อไป แต่ตนเข้าใจว่าขณะนี้คงรอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ผู้นำฝ่ายค้านคนใหม่กันก่อน
“ยังไม่มีการตั้งวิปฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการ คือปกติเจ้าหน้าที่สภาเขาจะมานัดประชุมเรื่องเกี่ยวกับการเตรียมงานของฝ่ายค้าน เพราะอย่างวิปรัฐบาลเขามีสำนักงานเลขาธิการนายกฯ หรือ ครม. เป็นคนจัดประชุมวิปรัฐบาล แต่ขอฝ่ายค้านทางสภาจะเป็นคนจัด ณ วันนี้อาจจะยังไม่ลงตัว ยังไม่เป็นทางการเท่าไร ไม่เป็นไร ทำงานได้ไม่ต้องห่วง” นายชัยวุฒิ กล่าว
นายชัยวุฒิ กล่าวต่อไปว่า พรรคพลังประชารัฐจะเป็นฝ่ายค้านอิสระ ทำงานแยกตัวกับพรรคประชาชนหรือไม่ จริง ๆ ฝ่ายค้านคืออิสระอยู่แล้ว แต่ก็ต้องคุยกัน ต้องประสานงานการแบ่งเวลาอภิปราย การลงมติว่าจะไปในทิศทางใด ส่วนการตรวจสอบรัฐบาลในการแถลงนโยบาย ประเด็นที่จะตรวจสอบ...
1.เรื่องที่พูดแล้วไม่ได้ทำ ทั้งที่เป็นนโยบายของพรรคการเมือง หรือนโยบายที่ประชาชนคาดหวัง เช่น ราคาพลังงานที่บอกว่าค่าน้ำมันและก๊าซต้องถูกลงทำไมยังทำไม่สำเร็จ หรือดิจิทัลวอลเล็ตเหตุใดยังไม่สำเร็จเสียที เป็นต้น
2.ความพร้อมของรัฐบาล ตัวบุคคลมีความเหมาะสมสามารถทำงานได้หรือไม่ เพราะอย่างที่ทราบว่ามีปัญหาและประชาชนก็รู้อยู่
3.ความผิดปกติของรัฐบาล ที่มีเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ
ส่วนคำถามว่า จะได้เห็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็น สส.บัญชีรายชื่อของพรรค อภิปรายในสภาหรือไม่ ต้องบอกว่า พล.อ.ประวิตร ไม่ถนัดเรื่องอภิปราย แต่ถนัดเรื่องประสานงาน วางแผน หรือทำงานด้านยุทธศาสตร์มากกว่า
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประวิตร คงไม่ต่างจากเดิม คือการสนับสนุนสมาชิกพรรคให้ทำงานได้อย่างเต็มที่ และช่วยประสานงานกิจกรรมต่าง ๆ ให้พรรคเดินไปข้างหน้า แต่ที่จะเข้มข้นขึ้นคือการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ตนก็ขอใช้คำว่าไม่ต้องเกรงใจกัน คือมีอะไรก็พูดกันตรง ๆ เลย ส่วนที่มีการพูดกันว่า การทำงานของพรรคพลังประชารัฐอยู่นอกสภาเสียเยอะ ก็ต้องยอมรับความจริงก่อนว่าจำนวน สส. ในสภามีไม่มาก คือแบ่งคนละครึ่งกับ สส. ฝ่ายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เฉลี่ยฝ่ายละ 20 คน คงไม่สามารถล้มรัฐบาลหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้
โดยการทำงานนอกสภา หมายถึงการที่ประชาชนหรือกลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล รวมถึงมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตต่าง ๆ อาจส่งข้อมูลมาที่พรรค เพราะคาดหวังให้พรรคพลังประชารัฐนำไปดำเนินการต่อให้ หากไม่มีใครดำเนินการก็จะถูกปล่อยค้างอยู่อย่างนั้น ก็ต้องมีคนนำไปดำเนินการให้ถึงที่สุด แต่คงไม่ต้องถึงกับตั้งทีมรับเรื่องร้องเรียนขึ้นมา เพราะในพรรครู้กันอยู่แล้วว่าใครทำหน้าที่นี้บ้าง
ส่วนที่มีการตั้งนายไพบูลย์ นิติตะวัน มือกฎหมายมาเป็นเลขาธิการพรรคคนล่าสุด มีคำถามว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าจะทำอะไรหรือไม่ ก็เป็นอย่างที่คิด คือพรรคพลังประชารัฐจะมีบทบาทขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายเยอะ อีกอย่างนายไพบูลย์ก็เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่คณะกรรมการบริหารพรรคให้ความนับถือ การทำงานก็จะราบรื่นและต่อเนื่อง ตนมองว่าเป็นผลดีต่อพรรค ส่วนนายไพบูลย์จะไปผนึกกำลังกับสมาชิกพรรคอย่าง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ หรือไม่ ก็พูดคุยกันอยู่ แต่เชื่อว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ ไม่ถึงกับต้องมาประชุมหรือประสานกัน ใครเห็นปัญหาก็ว่าไป
โดยตนก็เป็นห่วงรัฐบาล เพราะแม้จะเป็นรัฐบาลต่อเนื่อง มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำเหมือนเดิมต่อมาจากนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีหลายอย่างประชาชนผิดหวังมาจากรัฐบาลชุดก่อน จึงคาดหวังว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันที่นำโดยนายกฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะทำให้ดีขึ้น แต่เท่าที่ดูก็ยังไม่เห็นอะไรที่ชัดเจนว่าจะดีขึ้น แต่ที่น่าเป็นห่วงคือปัจจุบันหนักกว่าเดิมเพราะมีเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลที่ขัดอารมณ์คน
“ทั้งการดูด สส. ไป การเอาพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งความรู้สึกของคนกลุ่มหนึ่งก็ไม่เห็นด้วยมาร่วม และที่หนักกว่านั้นก็คือปัญหาเรื่องจริยธรรม ซึ่งมันทำให้นักการเมืองหลายคนไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ แต่รัฐบาลนี้ก็ไปเลี่ยงกฎหมาย เลี่ยงรัฐธรรมนูญด้วยการใช้นอมินี ใช้ตัวแทนมาทำหน้าที่แทน ซึ่งอันนี้มันทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ไว้วางใจ ไม่สบายใจกับสิ่งที่รัฐบาลทำ คือพอมันเริ่มต้นไม่ดี ผมว่าการเดินหน้าให้มันได้ใจประชาชนมันก็เป็นไปได้ยาก” นายชัยวุฒิ ระบุ
นายชัยวุฒิ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนคำถามว่าพรรคพลังประชารัฐจะมีทีเด็ดอะไรหรือไม่ เพราะสังคมก็จับตาดูอยู่ ก็ต้องรอดูกันไปก่อน คงจะเป็นการตรวจสอบรัฐบาล และเป็นหลักในการรวบรวมกลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลมาช่วยกันทำงานเพื่อตรวจสอบรัฐบาล และแก้ปัญหาให้ประชาชน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า สีส้มกับสีแดงเคยอยู่ด้วยกันมาก่อน หรือมาจากไข่ใบเดียวกัน จึงอาจไม่ได้ค้านกันทุกเรื่อง บางเรื่องที่เห็นด้วยเหมือนกันก็ไม่ได้ค้าน แต่พรรคพลังประชารัฐไม่ได้มาจากไข่ใบเดียวกับส้มหรือแดง ชัดเจนว่าตรงข้ามกันแน่นอนเรื่องอุดมการณ์ และการทำงาน
อย่างพรรคการเมืองสีส้ม เวลาค้านก็เหมือนนักมวยเต้นฟุตเวิร์กวน ๆ แล้วออกหมัดแย็บ แต่ไม่มีหมัดน็อก อย่างเรื่องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรื่องชั้น 14 ไม่มีการพูดถึง ในขณะที่พูดเรื่องทหารไม่ยุติธรรมบ้าง นักการเมืองเก่าไม่ดีบ้าง มันสะท้อนเรื่องการมีอยู่จริงของดีลลับระหว่างส้มกับแดง จึงต้องมีพรรคพลังประชารัฐเป็นหลักในการต่อสู้จริง ๆ ไม่มีดีลลับ ตนมองว่าเรื่องนี้เป็นความคาดหวังของประชาชนที่ไม่ไว้วางใจทั้งพรรคส้มและนายทักษิณ ซึ่งพลังนี้กำลังก่อตัวขึ้น
“วันนี้คนมีส้ม-แดง และคนที่ไม่เอาส้มกับแดง แล้วผมเชื่อว่าส้มกับแดงเขาแตะมือกัน เพราะผมก็เคยวิเคราะห์การเมืองว่าถ้ารัฐบาลนี้มีปัญหามาก โดนร้องเรียน ไปไม่รอด เขายุบสภาปุ๊บ! เลือกตั้งรอบหน้าผมก็มีความเชื่อว่าส้มกับแดงพร้อมจะรวมกันแน่นอน ถามว่าส้มจะรวมกับพลังประชารัฐไหม? เป็นไปไม่ได้เพราะเราปกป้องสถาบันฯ จะรวมกับส้มได้อย่างไร และแดงก็ชัดเจนกับเราแล้วว่าไม่เอากัน มันก็เห็นอยู่แล้ว รัฐบาลหน้าหลังเลือกตั้งก็คือเป็นส้มกับแดงรวมกัน ซึ่งเขาก็พร้อมจะยุบสภาเพื่อรักษาความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแน่นอน” นายชัยวุฒิ กล่าว