Wednesday, 1 May 2024
ประยุทธ์จันทร์โอชา

'ทิพานัน' โชว์ผลงาน 'บิ๊กตู่' ปรับกฎหมายให้ทันสมัย ปฏิวัติ 'ดอกเบี้ยโหด' ในรอบ 95 ปี ให้เป็นธรรม

'ทิพานัน' โชว์ผลงาน 'พล.อ.ประยุทธ์' ปรับกฎหมายให้ทันสมัย ปฏิวัติดอกเบี้ยโหดในรอบ 95 ปีให้เป็นธรรม ชี้ปรับปรุงกม.แพ่ง ช่วยลดอัตราดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ ประชาชนปลดหนี้ได้ไวขึ้น

(7 ธ.ค. 65) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในปี 3 ผลการดำเนินงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินหน้าในการลดข้อจำกัดด้านกฎหมายที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการทำธุรกิจและการดำรงชีวิตของประชาชน แก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ล้าสมัย โดยการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายและแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย 87 ฉบับเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด และอีก 57 ฉบับเกี่ยวกับใบอนุญาต และยังยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นด้วย 

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า หนึ่งในกฎหมายที่ส่งผลดีต่อประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง คือกฎหมายเกี่ยวกับ 'การปฏิวัติดอกเบี้ย' ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แก้ไขวิธีการคิดดอกเบี้ยใหม่ ที่ใช้มานานกว่า 95 ปี เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การคิดดอกเบี้ยในประเทศไทยแล้วยังเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อประโยชน์ของประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศได้อย่างยั่งยืน มีความเป็นธรรม คุ้มครองไม่ให้ลูกหนี้ถูกเอาเปรียบ และสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป จึงมีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 (อัตราดอกเบี้ย) ประกาศใช้ เมื่อ 10 เมษายน 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราหรือวิธีการที่ก่อให้เกิดภาระแก่ลูกหนี้สูงเกินสมควร  โดยมีสาระสำคัญ คือ...

1. หากไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในนิติกรรมให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งทำให้ชำระดอกเบี้ยลดลง จากเดิมร้อยละ 7.5 เหลือร้อยละ 3 ต่อปี และเพื่อให้มีการปรับปรุงให้เป็นธรรมกับลูกหนี้ สอดคล้องกับสภาพเหตุการณ์จึงกำหนดให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนทุก 3 ปี ให้ใกล้เคียงกับอัตราเฉลี่ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ด้วย

2. อัตราดอกเบี้ยผิดนัด ปรับเป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยผิดนัดอยู่ที่ร้อยละ 5 ต่อปี ลดจากเดิมร้อยละ 7.5 ต่อปี

'อุ๊งอิ๊ง' เชื่อคนเห็นด้านดี-ไม่ดี 'บิ๊กตู่' มาแล้ว ไม่ต้องว่ากัน ส่วนตนขอทำหน้าที่และนโยบายให้ดีที่สุด

'อุ๊งอิ๊ง' เผยประชาชนรู้ดี 'ประยุทธ์' อยู่มานานเห็นทั้งด้านดี ไม่ดี ท่องคาถาขอนำเสนอนโยบายให้ประชาชนตัดสินใจ มากกว่ามุ่งต่อสู้-ต่อว่ากัน

(7 ธ.ค. 65) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เหลือเวลาอีก 2 ปีสำหรับเส้นทางการเมือง จะเป็นเรื่องที่ดีกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ว่า ไม่สามารถตัดสินใจแทนพล.อ.ประยุทธ์ได้ แต่พรรคมีความพร้อมและมีความชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ความชัดเจนที่เกิดขึ้นมากที่สุดของประเทศ คือประชาชนเดือดร้อน ดังนั้น ควรจะชัดเจนในเรื่องที่ควรจะชัดเจนมากกว่าในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กับประชาชน

ถามว่า รู้สึกอย่างไรที่จะได้สู้กับพล.อ.ประยุทธ์ในสนามการเมืองในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า คิดว่าการแข่งขันทางการเมืองคือเป็นการเมืองอย่างหนึ่งที่เราจะต้องแข่งขันเพื่อให้ประชาชนเลือก คือการแข่งขันสำหรับตน ซึ่งการแข่งขันอื่น ๆ มันไม่ใช่การแข่งขัน มันคือการที่ต้องทำนโยบายที่ต้องทำให้ประชาชนมากกว่า เราโฟกัสตรงนั้น เกมต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นนอกเหนือจากการเลือกตั้ง คิดว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรให้ความสำคัญ ความสำคัญคือนโยบาย และปัญหาของประเทศ ส่วนการต่อสู้ทางการเมืองจะหวนนึกถึงอดีตหรือไม่ ถ้าเรามัวแต่นึกถึงอดีตเราก็จะไปข้างหน้าไม่ได้

'บิ๊กตู่' นั่งประธานประชุมใหญ่คณะกรรมการนโยบายตำรวจ ย้ำ!! ทุกความเคลื่อนไหว สตช. ต้องทำให้ปชช.กระจ่าง

(7 ธ.ค. 65) ที่ห้องประชุมศรียานนท์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และ ประชุม คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ครั้งที่ 2/2565 โดยมีพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ให้การต้อนรับ

หลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น โดยเดินตรงดิ่งไปขึ้นรถที่จอดเตรียมรอไว้ หลังจากนั้นไม่นาน พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้ออกมาแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ถึงการประชุมที่ได้หารือถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) โดยได้สรรหาและคัดเลือกในด้านต่าง ๆ จำนวน 5 คน ดังนี้...

1. ด้านยุทธศาสตร์
2. ด้านกฎหมาย
3. ด้านพัฒนาองค์กร
4. ด้านสื่อสารมวลชนหรือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือการสื่อสาร
และ 5. ด้านภาคประชาชน

‘บิ๊กตู่’ สั่ง ‘ก.แรงงาน’ เร่งพัฒนาฝีมือแรงงานภาคการเกษตร เพื่อยกระดับเป็น ‘เกษตรอัจฉริยะ’ สอดคล้อง BCG Model

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 65 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากการลงตรวจเยี่ยมพื้นที่ในทุกภูมิภาค นายกฯ ได้มีนโยบายพัฒนาศักยภาพแรงงานทุกกลุ่ม และมีความห่วงใยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภัยพิบัติต่าง ๆ รวมทั้งผลกระทบด้านพลังงาน ผลกระทบด้านการผลิต จึงต้องการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน จึงมีนโยบายและมุ่งมั่นยกระดับเกษตรกรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะ Smart Farmer โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพด้านเกษตร เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในทุกมิติ 

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า แต่การเปลี่ยนแปลงจะต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการและแรงงานในภาคเกษตรด้วย นายกรัฐมนตรี จึงมอบนโยบายไปยัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ดำเนินการพัฒนาฝีมือเพื่อเข้าตลาดแรงงานนี้โดยเร่งด่วน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงได้ดำเนินโครงการศูนย์เรียนรู้โรงเรือนเกษตรแม่นยำปลอดภัยสำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพด้านเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งเป็นโครงการพิเศษเพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานภาคการเกษตรสู่เกษตรอัจฉริยะ มีเป้าหมาย 95 โรงเรือนทั่วประเทศ และให้แรงงานภาคการเกษตรมีความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะในปี 2566 จำนวน 32,300 คน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกแบบมีโรงเรือน เช่น ระบบควบคุมอัตโนมัติสำหรับการปลูกพืช การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน ระบบพ่นหมอก ระบบกักเก็บหรือจัดน้ำ ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปใช้เพิ่มคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร ตามเป้าหมาย โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ สามารถสมัครได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือสอบถามที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

นายกฯ ไทย - ฮังการี พร้อมสานต่อความร่วมมือรอบด้าน ส่งเสริมการค้าการลงทุน พัฒนาธุรกิจด้านการเกษตร การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

เมื่อเวลา 17.45 น. วันที่ 14 ธ.ค.(เวลาท้องถิ่นกรุงบรัสเซลส์ซึ่งช้ากว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 6 ชั่วโมง) ที่อาคาร Europa กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีกับนายวิคเตอร์ ออร์บาน (H.E. Mr. Viktor Orbán) นายกรัฐมนตรีฮังการี ในโอกาสเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - สหภาพยุโรป

นายกรัฐมนตรี กล่าวยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฮังการีราบรื่นมาโดยตลอด และจะครบรอบ 50 ปี ในปี 2566 โดยขอบคุณรัฐบาลฮังการีที่ให้การสนับสนุนประเทศไทยในกรอบสหภาพยุโรปมาโดยตลอด โดยเฉพาะการเจรจาความตกลง PCA ระหว่างไทยกับ EU จนทำให้สามารถลงนามได้ ซึ่งไทยพร้อมที่จะสนับสนุนฮังการีในเวทีระหว่างประเทศในประเด็นที่ฮังการีให้ความสำคัญ โดยเฉพาะค่านิยมการยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลาง พร้อมกันนี้ พร้อมร่วมมือกับฮังการีในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ เช่น ด้านการสาธารณสุข การพัฒนาประเทศในยุคหลังโควิด-19 การค้าการลงทุน การศึกษา

ด้านนายกรัฐมนตรีฮังการี กล่าวยินดีที่ได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีไทย ชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-ฮังการี ที่เป็นไปอย่างแน่นแฟ้น และเชื่อมั่นว่าไทยและฮังการีจะสามารถต่อยอดความร่วมมือในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพได้อีกมาก ชื่นชมพัฒนาการของไทย ตลอดจนบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่เป็นไปอย่างกระตือรือร้น และสร้างสรรค์

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ ด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ความร่วมมือครอบคลุมสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยมีกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ ได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำ คณะทำงานร่วมด้านเกษตร คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อว่า กลไกดังกล่าวจะช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยไทยยินดีที่จะเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญกับฮังการีในบริบทดังกล่าว

‘ทิพานัน’ เผย ‘ภูเก็ต’ โกยรายได้ท่องเที่ยวสูงสุด ชี้!! ผลจากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของ ‘บิ๊กตู่’

‘ทิพานัน’ โชว์ผลสำเร็จ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ เปิด 10 อันดับจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุด ภูเก็ตคว้าแชมป์ 127,927 ล้านบาท สะท้อนมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวได้ผล กระจายรายได้ทั่วประเทศในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ผลักดันให้เริ่มใช้โครงการ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ เป็นจุดเริ่มต้นตามนโยบายเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ขยายออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ และนำมาสู่การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในปัจจุบัน ผนวกกับมาตรการสาธารณสุขและความร่วมมือของคนไทยและเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนส่งผลให้มีการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวแบบกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็วแบบ ‘V-Shape’ โดยเฉพาะผลสำเร็จที่เกินความคาดหมาย จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ในปี 2565 ครบ 10 ล้านคนเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยใน 10 เดือนแรกของปี 2565 ตั้งแต่เดือนมกราคม - ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก โดยมีข้อมูลรายได้จากจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ 

1.ภูเก็ต 127,927 ล้านบาท 
2.ชลบุรี 13,283 ล้านบาท 
3.สุราษฎร์ธานี 7,586 ล้านบาท 
4.เชียงใหม่ 4,246 ล้านบาท 
5.สงขลา 3,602 ล้านบาท  
6.พังงา 2,582 ล้านบาท  
7.เชียงราย 1,585 ล้านบาท
8.กระบี่ 1,408 ล้านบาท  
9.ประจวบคีรีขันธ์ 854 ล้านบาท  
10.หนองคาย 526 ล้านบาท

จังหวัดที่มีชาวต่างชาติเยือนมากที่สุด 10 อันดับ
1.ภูเก็ต 2,329,894 คน 
2.ชลบุรี 975,026 คน 
3.สุราษฎร์ธานี 606,812 คน 
4.สงขลา 581,808 คน 
5.เชียงใหม่ 496,111 คน
6.สมุทรปราการ 321,390 คน 
7.พังงา 317,353 คน 
8.หนองคาย 231,243 คน 
9.กระบี่ 217,526 คน 
10.หนองคาย 148,683 คน

บิ๊กตู่ กล่าวขณะร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน - สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม

ผมเชื่อว่าพลังแห่งความร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ จะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างคุณประโยชน์ให้กับประชาชนของอาเซียน สหภาพยุโรป และชาวโลกในภาพรวม

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! ผลสำเร็จเวทีอาเซียน-อียู ชี้!! ไทยเนื้อหอม หลายชาติให้ความสนใจ

นายกรัฐมนตรี เป็นปลื้ม​ ผลสำเร็จเวทีอาเซียน-อียู ชี้​ ไทยเนื้อหอม​ หลายภูมิภาคหันมาให้ความสนใจ ลั่น​ เมื่อไหร่ประเทศชาติยากลำบากต้องร่วมมือกันสู้ข้าศึก ไม่ใช่คนไทยมาสู้กันเอง โต้​ อย่าบอกรัฐบาลนี้ไม่ทำอะไรโวเจรจาFTA คืบหน้า ถ้าง่ายคงเสร็จมาหลายรัฐบาลแล้ว 

(15 ธ.ค. 65) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​กลาโหม กล่าวภายหลังกลับจากเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป ว่า การไปประชุมในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเป็นการประชุมครั้งพิเศษ ได้พบปะกับอียู 27 ประเทศในเวลาเดียวกัน นอกจากมีการประชุมตามวาระแล้วมีโอกาสพบภาคธุรกิจและภาคธุรกิจของอียู ซึ่งต่างพร้อมร่วมมือกับไทย 

นอกจากนี้ยังหารือถึงปัญหาอุปสรรต่างๆ ซึ่งการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ต้องเตรียมความพร้อมของเรา บางครั้งการเดินหน้าทางธุรกิจไปได้ยาก จึงต้องพยายามปรับเปลี่ยนพอสมควร แต่เราต้องไม่เสียเปรียบและต้องได้ประโยชน์ต่างตอบแทนเท่าๆ กันขอให้ช่วยกันติดตามด้วย นอกจากนี้ยังหารือทวิภาคีกับผู้บริหารอียูหลายประเทศที่ต่างให้ความสนใจ ซึ่งวันนี้หลายภูมิภาคกลับมาให้ความสนใจอาเซียนเนื่องจากเราเป็นภูมิภาคที่มีความพร้อมมีควาสงบสุข โลกกำลังเปิดกว้างเราต้องเตรียมการอาเซียนให้พร้อม ซึ่งในครั้งนี้ได้ย้ำนโยบายเศรษฐกิจของไทยเจริญเติบโตควบคู่ความยั่งยืน

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เราหวังพึ่งใครฝ่ายเดียวโดยไม่สนับสนุนไม่ร่วมมือก็ไม่สำเร็จ จึงขอทุกคนมีส่วนร่วมโดยให้ความสำคัญการเจริญเติบโตเศรษฐกิจควบคู่ความยั่งยืน โดยไม่ผลีผลามว่าจะให้เท่านั้นเท่านี้ เราต้องให้ทั้งปลาและเบ็ดตกปลา ฝากประชาชนด้วย ยืนยันรัฐบาลสนับสนุนทุกวิถีทางให้ประชาชนอยู่ดีกินดียิ่งขึ้น ถ้าเปิดใจให้กว้างจะเห็นหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศไทย ถ้าเปิดตาให้กว้างจะเห็นว่าหลายอย่างเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้นหลายอย่างอาจไม่ทันใจแต่เมื่อถึงเวลาไม่มีอะไรสำเร็จเริ่มได้วันเดียว จนพยายามทำเต็มที่ให้สำเร็จลงได้

นายกรัฐมนตรี​ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ที่จากการติดตามสถานการณ์ถือว่าดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาเราได้มีการเอาเงินส่วนหนึ่งมาชดเชยไว้เป็นจำนวนมากที่จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนชดเชยในส่วนที่ลดลงและส่วนที่ขาดทุนเนื่องจากใช้เงินกู้มาเติมเต็มในส่วนนี้ทั้งสิ้น ส่วนราคาก๊าซวันนี้มีราคาสูงขึ้นในขณะที่ราคาน้ำมันลดลงซึ่งมีความเกี่ยวพันกันทั้งคู่ เพราะเป็นแหล่งผลิตพลังงานซึ่งในยุโรปและหลายๆ ประเทศก็มีความเดือดร้อนทั้งหมดจากราคา 10 กว่าเหรียญก็ขึ้นเป็น 30 เหรียญ 50 เหรียญ 100 เหรียญ ซึ่งมีปัญหามากกว่าประเทศไทยพอสมควรจากอากาศพื้นที่อากาศหนาว แต่ประเทศไทยไม่เคยเจอสภาพนี้เราได้แต่ให้ความเห็นใจ

นายกฯ ซัด​ ส.ส.เป็นผู้ใหญ่ต้องรู้หน้าที่ตัวเอง​ ฉุนสภาฯ ล่ม​ คนโทษนายกฯ​ ทั้งที่กำชับทุกพรรคแล้ว

พลเอกประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม​ กล่าวถึง​ การขอการสนับสนุนกับต่างประเทศในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานภูเก็ต Expo​ ในปี​ 2028​ พร้อมกับระบุนี่คืออนาคต สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลังๆ 

ทั้งนี้ นายกฯ ยังได้กล่าวด้วยว่า "ใครจะเป็นรัฐบาล ก็มาทำเถอะครับ แต่ไม่ทำแล้วมาเล่นงานกันตอนนี้ จะไปวันข้างหน้าได้ไหมเล่า ตนบอกไว้แล้วว่า จะพูดในหลายๆ เรื่องเมื่อกลับมา วันนี้ก็พูดไปแล้ว การเมืองคือการเมือง การบ้านคือการบ้าน ประชาชนคือการบ้าน ที่ตนต้องทำให้เขา การเมืองเป็นการต่อสู้ในสภาก็ว่ากันไป เมื่อเลือกตั้งมาแล้วก็ให้ไปดูเอา ที่พูดกันมาที่ทำกันมา ทำไปได้มากน้อยเพียงใด​ ถึงเวลาเวลานั้น มันจะได้หรือไม่ได้ ถ้าได้ผมก็ดีใจ ถ้าไม่ได้ก็เสียใจเท่านั้นเอง คำว่าเสียใจคือทำให้ประชาชนมีความสุขไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเสียใจที่ผมไม่ได้เป็นหรือได้เป็น เข้าใจนะ อย่าถามกันบ่อยนัก"

นายกฯ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนใครจะไปใครจะมาใครจะลาออก ไปอยู่พรรคไหน ก็เรื่องของเขา เป็นเรื่องของสภาฯ สภาฯ ไม่พอสภาฯ ล่ม โทษนายกฯ​ ก็ผมบอกไปแล้วสั่งทุกพรรคไปแล้ว ให้ไปร่วมประชุมสภาฯ​ เขาก็ตอบรับว่าครับ​ ครับ​ ครับ​ ถึงเวลาไปไม่ครบนายกฯ ทำไมไม่ควบคุม ผมไม่โทษใครไม่โกรธใครอยู่แล้ว​ อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าทุกคนมีหน้าที่ ทุกคนบอกนายกฯ มีหน้าที่ มีความรับผิดชอบต้องดูแลบ้านเมือง ดังนั้นส.ส.ทุกคน ก็ต้องมีหน้าที่ของตัวเอง ในการทำงานในสภาฯ เป็นผู้ใหญ่แล้วโตกันหมดแล้วอีกเรื่องใครจะออกใครจะเข้าพรรคไหนก็เรื่องของท่าน ผมไม่เคยทะเลาะกับใคร โอเคเท่านี้แหละ

‘บิ๊กตู่’ หนุน ไทยเป็นฮับ EV ในภูมิภาคอาเซียน พร้อมตั้งเป้าผลิต 250,000 คันต่อปี ภายในปี 2568

(19 ธ.ค. 65) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญ โดยในปี 2568 วางแผนที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เป็นจำนวน 250,000 คันต่อปี ซึ่งจะทำให้ภายในปี 2573 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท

นายอนุชา กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมยานยนต์ไทย และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญ โดยตั้งเป้าให้ปี 2568 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้จำนวน 250,000 ต่อปี ซึ่งคิดเป็น 10% ของจำนวนการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศ และในปี 2573 จะเพิ่มจำนวนการผลิตเป็น 750,000 คันต่อปี หรือ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด 2,500,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) 375,000 คัน รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle: HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) 375,000 คัน ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ GDP ของประเทศไทย เป็นจำนวนเงินถึง 200,000 ล้านบาท และเพิ่มอัตราการจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ถึง 30,000 อัตราต่อปี

นายอนุชา กล่าวว่า รัฐบาลได้พัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ขับเคลื่อนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจน ออกมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือแพคเกจรถยนต์ EV มาตรการลดภาษี EV ปี 2565 - 2568 ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมการดำเนินนโยบายของรัฐบาล 

นายอนุชา กล่าวว่า โดยรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เคยออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการผลิต รถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2563 ได้แก่ กรณีที่มีขนาดการลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม กรณีขนาดการลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565 มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมจากข้อกำหนดพื้นฐาน มีปริมาณการผลิตจริงมากกว่า 10,000 คันต่อปี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top