Sunday, 19 May 2024
น้ำท่วม

'รัฐบาล' โชว์ผลงานแก้ปัญหา 'น้ำท่วม-น้ำแล้ง' มุ่งบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ

(1 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและน้ำแล้งมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี

โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริการจัดการน้ำร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ มากกว่า 48 ส่วนราชการ มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ และมุ่งเน้นขับเคลื่อนแผนงานโครงการขนาดใหญ่ ที่สามารถแก้ไขปัญหาในวงกว้างได้อย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนโครงการไปแล้ว จำนวน 44 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักรวม 1,414 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีพื้นที่รับประโยชน์ 1.48 ล้านไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 319,765 ครัวเรือน

เป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณในการดำเนินการแล้ว จำนวน 24 โครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง ตัวอย่างเช่น โครงการบรรเทาอุทกภัยนครศรีธรรมราช โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร โดยกรมชลประทาน ช่วยป้องกันพื้นที่น้ำท่วมได้ 61,000 ไร่ แม้ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่สามารถช่วยป้องกันบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรได้บางส่วนแล้ว

การดำเนินงานโครงการด้านทรัพยากรน้ำที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติโครงการสำคัญที่ได้รับการขับเคลื่อนแล้ว ในช่วงปี 2559-2565 จำนวน 241 โครงการ เมื่อโครงการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 1,371 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 1,400,000 ไร่ พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 1,250,541 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 505,828 ครัวเรือน ตัวอย่างเช่น ประตูระบายน้ำ ศรีสองรัก จ.เลย (62), อ่างเก็บน้ำลำสะพุง (พรด.) จ.ชัยภูมิ (62), ประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ จ.สกลนคร (62), ปรับปรุง คลองยม-น่าน จ.สุโขทัย (64), คลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา (62), ฟื้นฟูพัฒนา คลองเปรมประชากร (คลองผดุง-คลองรังสิต) (63), อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร จ.กรุงเทพมหานคร (63) และบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน (พรด.) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (64) เป็นต้น

การดำเนินการของรัฐบาลได้เน้นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่วิกฤต (Area-Base) ทั่วทั้งประเทศ โดยพิจารณาในทุกมิติ เช่น ด้านศักยภาพการแก้ไขปัญหาเป็นหลัก โดยมีผลการศึกษารองรับ ไม่มีปัญหาทางสังคมรุนแรง รวมถึงพิจารณาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

เร่งแก้ปัญหา!! ‘บิ๊กป้อม’ ไฟเขียว โครงการฯ ฟื้นฟู ‘คลองแสนแสบ’ พร้อมผลักดัน ช่วยน้ำท่วม กทม. ฝั่งตะวันออก

(8 มี.ค. 66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2566 

โดยที่ประชุมเห็นชอบปรับปรุงเป้าหมายโครงการสำคัญด้านทรัพยากรน้ำ ปี 66-70 เพื่อแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนงานโครงการตามนิยามและประเภทโครงการสำคัญที่กำหนดเพื่อเสนอเป็นโครงการสำคัญ ผ่านระบบ Thai Water Plan นอกจากนั้นอนุมัติหลักการ โครงการปรับปรุงคลองบางขนาก จ.ฉะเชิงเทรา ภายใต้แผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อม คลองแสนแสบ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ กทม.ฝั่งตะวันออก ช่วยระบายน้ำเสีย รักษาคุณภาพน้ำ และให้คลองแสนแสบกลับมามีระบบนิเวศ อยู่ในเกณฑ์ดี อีกครั้งหนึ่ง

‘บิ๊กตู่’ จ่อลงพื้นที่ จ.ระนอง 16 มี.ค.นี้ เร่งติดตามปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม ก่อนยุบสภาฯ

(15 มี.ค. 66) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ประกอบด้วย นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ไปยังท่าอากาศยานนราธิวาส ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เพื่อตรวจเยี่ยมราชการที่จังหวัดนราธิวาส

อย่างไรก็ตาม วันเดียวกันนี้ พล.อ.อนุพงษ์ ซึ่งเดินทางร่วมคณะไปกับนายกรัฐมนตรี สวมแว่นกรองแสงทางการแพทย์ พร้อมเปิดเผยว่า เจ็บตาเนื่องจากไปพบแพทย์และลอกตามา ซึ่งไม่เป็นอะไรมาก

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนยุบสภา พี่น้องทั้ง 3 ป. มีอาการป่วยครบแล้วทั้ง 3 คน โดย พล.อ.ประยุทธ์เจ็บมือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เจ็บขา และล่าสุด พล.อ.อนุพงษ์ เจ็บตา

โดยเวลา 13.15 น. นายกรัฐมนตรี สักการะพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล และนมัสการพระเทพศีลวิสุทธิ์ ที่ปรึกษา เจ้าคณะภาค 18 ณ พุทธมณฑลจังหวัดนราธิวาส  ตำบลลำภู อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ก่อนเป็นประธานในพิธีเปิดแพขนานยนต์ ณ ด่านศุลกากรตากใบ ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

เวลา 16.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ พบปะหัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนาในเขตพื้นทีจังหวัดนราธิวาส ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส และเดินทางกลับกรุงเทพฯ

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดระนอง ในวันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม 2566 เพื่อติดตามการดำเนินงานสำคัญตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาปรับปรุงการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนและเป้าหมายที่กำหนดไว้ เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง

โดยมีกำหนดการ ดังนี้ โดยเวลา 09.00 น. นายกรัฐมนตรีและคณะ ออกเดินทางท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานระนอง ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศ จากนั้นเดินทางไปตรวจติดตามสภาพปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และพบปะประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ณ อาคารอเนกประสงค์ ที่ว่าการอำเภอสุขสำราญ ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง

‘บิ๊กป้อม’ พอใจ บริหารจัดการน้ำคืบหน้า ย้ำ ทุกฝ่ายต้องตื่นตัว สั่งเร่งพัฒนาแหล่งเก็บน้ำทุกพื้นที่ รองรับสภาพอากาศผกผัน

(16 มี.ค. 66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/66 มีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำ หลังจากลงตรวจกำกับในหลายพื้นที่

โดยที่ประชุมเห็นชอบร่างมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 66 และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ปี 66 โดยใช้แนวทางปี 65 ไปพลางก่อน ซึ่งให้ความสำคัญกับหน่วยรับผิดชอบหลัก และหน่วยสนับสนุนการจัดเตรียมและการใช้ประโยชน์ข้อมูล, การบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดจากภาวะน้ำท่วม, การจัดทำระบบเตือนภัยและการเผยแพร่ข้อมูลกับประชาชน, วิธีการระบายน้ำที่รวดเร็วและถูกต้องตามหลักวิชาการ, การกักเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ และการประสานงานระหว่างหน่วยงาน

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ห่วงใยผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง นราธิวาส สตูล และสงขลา จัดทีมลงพื้นที่แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค รวมมูลค่า 9 ล้านบาท ในโครงการฟื้นฟูหลังน้ำลด

วานนี้ (วันที่ 16 มีนาคม 2566) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดย นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ พร้อมด้วย นายจารุรัตน์ คุณัตถานนท์ กรรมการและเหรัญญิก และนายรัชพร ประสงค์ทรัพย์ หัวหน้าแผนกสาธารณภัย ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ นำทีมลงพื้นที่แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคในโครงการฟื้นฟูหลังน้ำลด ประกอบด้วย ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋องน้ำมันพืช และน้ำปลา ให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอนาหม่อม และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รวม 3,400 ชุด โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐเป็นประธานในพิธี พร้อมทั้งมูลนิธิสงเคราะห์ 14 จังหวัดภาคใต้ และ มูลนิธิมิตรภาพสามัคคี (ท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง) หาดใหญ่ เป็นผู้ประสานงานและร่วมในพิธี รวมทั้งอาสาสมัครมูลนิธิฯ นำโดย นายสำอาง สว่างแจ้ง ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกอาสาสมัคร นางศิริวรรณ โอภาสวงศ์ อาสาสมัครกิตติมศักดิ์ และนางศิริพร โอภาสวงศ์ อาสาสมัครกิตติมศักดิ์ ร่วมลงพื้นที่แจกจ่ายสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคในพื้นที่

โดยระหว่างระหว่างวันที่ 6-18 มีนาคม 2566 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ลงพื้นที่แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค ให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง นราธิวาส สตูล และสงขลา รวม 5 จังหวัด คิดมูลค่าเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งสิ้น 9,000,000 บาท (เก้าล้านบาทถ้วน) โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐเป็นประธานในพิธี พร้อมทั้งมูลนิธิสงเคราะห์ 14 จังหวัดภาคใต้ และ มูลนิธิฯ / สมาคม ประจำจังหวัดต่างๆ เป็นผู้ประสานงานและร่วมในพิธี  

นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้จัดทีมลงพื้นที่แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเพื่อเป็นการฟื้นฟูหลังน้ำลดทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ส่วนภูมิภาค รวม 24 จังหวัด รวมงบประมาณเครื่องอุปโภคบริโภคในการแจกจ่ายไม่ต่ำกว่า 14.8 ล้านบาท

‘บิ๊กป้อม’ ลุย ‘กระบี่-พังงา’ หาแนวทาง รับมือน้ำท่วม-ภัยแล้ง พร้อมหนุน ‘ศูนย์กลางผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ’

‘บิ๊กป้อม’ โหมงาน ลุยกระบี่-พังงา ติดตามพัฒนาแหล่งน้ำ-เมืองท่องเที่ยว-ดัน พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมัน ชู ไทย ‘ศูนย์กลางผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ’ และมีหน่วยงานรองรับตรง 

(20 มี.ค. 66) เมื่อเวลา 09.30. น.ที่ จ.กระบี่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และคณะ เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.กระบี่ และพังงา โดยจุดแรก ติดตามความคืบหน้าโครงการฝายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการอนุรักษ์แหล่งน้ำในพื้นที่ มี ผวจ.กระบี่และพังงา เลขา สทนช. อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมชลประทาน และหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ให้การต้อนรับ 

โดยรับฟังการบรรยายสรุปในพื้นที่ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองไหล ต.พรุเตียว อ.เขาพนม จว.กระบี่ พร้อมพบปะรับฟังปัญหาประชาชนในพื้นที่ ภาพรวมสถานการณ์น้ำของ จว.กระบี่ปัจจุบัน ปี 61 - 65 ดำเนินการแล้ว 447 โครงการ ประชาชนได้ประโยชน์กว่า 15,000 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์กว่า 23,500 ไร่  ปี 66 อยู่ระหว่างดำเนินการ 13 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์  1,430 ไร่ ประชาชนได้ประโยชน์กว่า 1,000 ครัวเรือน และปี 67 เตรียมโครงการรรองรับ 148 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์กว่า 48,000 ไร่ ประชาชนรับประโยชน์กว่า 7,100 ครัวเรือน สำหรับปี 66 คาดการณ์มีภาวะฝนทิ้งช่วง มิ.ย.- กค. ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำสะสมน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

‘ปชป.’ ชู ‘เดลตา เวิกส์ ไทยแลนด์’ แก้ปัญหาน้ำท่วม ลั่น!! ขออาสากลับมาดูแล ปชช. - พลิกฟื้นกรุงเทพฯ

(22 มี.ค. 66) ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคฯ ดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานคร นำทีม กทม. ทั้งนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม., น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. และ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขตหลักสี่ กทม.พร้อมทีมผู้สมัคร ส.ส. กทม. และทีมยุทธศาสตร์ กทม. ของพรรคฯ ร่วมกัน เปิดนโยบาย กทม. พร้อมชม ‘Policy Exhibition’ ที่ลานพระแม่ธรณี พรรคประชาธิปัตย์

โดยนายองอาจ กล่าวว่า นโยบายของกรุงเทพฯ เดินตามนโยบายสร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ ซึ่งเป็นนโยบายที่เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน จากกระบวนการฟัง คิด ทำ และนำมาจัดทำเป็นนโยบาย ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถตอบโจทย์ของคน กทม. และเชื่อว่า ประชาชนจะเห็นความตั้งใจจริงของ ปชป.ที่จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อในเชิงโครงสร้าง กทม.ได้รับการแก้ไข พัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ยืนยันว่าพรรค ปชป.มีความพร้อมทั้งบุคคลและนโยบาย ขอให้ช่วยสนับสนุนผู้สมัครจากพรรค ปชป.โดยเลือกทั้งคนทั้งพรรคเพื่อนำนโยบายเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติ และขอให้เชื่อมั่นว่าพรรค ปชป.พร้อมที่จะกลับมาเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ

ด้านนายสุชัชวีร์ กล่าวถึงนโยบายการสร้างคน ว่า 4 ปีที่ผ่านมาพรรค ปชป.ไม่ได้ ส.ส.กทม.แม้แต่คนเดียว และ 4 ปี ที่ผ่านมา กทม. ยังคงมีปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังอยู่ในภาวะรอจมน้ำทุกวัน มีความไม่เท่าเทียม รวมทั้งโอกาสเข้าถึงการศึกษา ขนส่งสาธารณะก็ยังมีปัญหา ดังนั้น ครั้งนี้พรรค ปชป.อาสาจะแก้ปัญหาให้กับประชาชน หมดเวลารอฟ้า รอฝน แต่หากจะรอใครสักคนขอให้รอคนของพรรค ปชป.และขอให้คำมั่นสัญญาว่าจะผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5  ไม่ใช่ให้ภาครัฐพูดเองเออเอง และขอประกาศให้พื้นที่ 16 เขตชั้นในเป็นเขตมลพิษต่ำ ซึ่งในพื้นที่ชั้นในมีโรงเรียนมากกว่า 300 แห่ง และ โรงพยาบาลกว่า 40 โรงพยาบาล ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ และบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่อลุ่มอล่วย แต่ให้โบนัสกับผู้ที่ช่วยลดฝุ่นพิษ 

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังมี นโยบาย ‘เดลตา เวิกส์ ไทยแลนด์’ กรุงเทพฯ ต้องไม่จมน้ำ ที่จะมาแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วม น้ำขัง น้ำหนุน โดยจะผลักดันให้มีการทำโครงการป้องกันน้ำทะเลหนุนครั้งแรกของกรุงเทพฯ บูรณาการระบบป้องกันน้ำท่วม โดยใช้ดาวเทียม ซึ่งโครงการนี้จะไม่ได้ช่วยแค่กรุงเทพฯ แต่จะช่วยในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดด้วย

นายสุชัชวีร์​กล่าวด้วยว่า โครงการเรียนฟรีถึงปริญญาตรี ไม่มีค่าหน่วยกิต พร้อมเริ่มทำทันทีหากพรรค ปชป.ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยให้โอกาสนักเรียน นักศึกษา ได้ฝึกงานตั้งแต่อายุ 18 ปี ซึ่งจะสามารถผลิตนักศึกษาที่มีงานทำได้ 1 ล้านคนต่อปี เพื่อเงินค่าครองชีให้กับผู้กู้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จากเดือนละ 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท และมีอินเตอร์เน็ตฟรี 1 แสนจุดทั่ว กทม. และอินเตอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุด จะเกิดขึ้นทันทีทั่วประเทศ

นายสุชัชวีร์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ พรรค ปชป.สนับสนุนการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ เมื่อได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะให้รัฐบาลซื้อตั๋วรถไฟฟ้าล่วงหน้า และนำส่วนต่างจากการลดราคามาให้กับประชาชน รวมถึงนโยบายนมโรงเรียนฟรี 365 วัน และนโยบายที่จะให้ประชาชนตรวจสุขภาพฟรี  ดังนั้น ขอโอกาสให้พรรค ปชป.กลับบ้านมาดูแลลูกหลานชาว กทม. ขอให้ช่วยเลือกพรรค ปชป.ทั้งคน ทั้งพรรค ส.ส. 33 เขต

‘ดร.เอ้’ นำทัพ ‘ปชป.’ ลุยเขตประเวศ ช่วย ‘กิตพล’ หาเสียง ชู ‘Delta Works Thailand’ สานต่อนโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วม

(8 เม.ย. 66) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบายกทม.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ น.ส.เจนจิรา รัตนเพียร ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พร้อมด้วย นายกิตพล เชิดชูกิจกุล ผู้สมัคร ส.ส.หมายเลข 1 เขตประเวศ-บึงกุ่ม ลงพื้นที่ตั้งแต่เช้าที่ตลาดพัฒนาการ เพื่อพบปะพี่น้องประชาชน และมีพี่น้องประชาชนเข้าทักทายคณะเป็นจำนวนมาก

โดยนายสุชัชวีร์ กล่าวขอโอกาสให้พรรคประชาธิปัตย์และผู้สมัครของพรรคได้เข้าไปทำงาน เพื่อผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่ผ่านการตกผลึก และผ่านการคิดนโยบายมาอย่างรอบคอบ ให้ได้นำไปใช้เพื่อพี่น้องประชาชนได้รับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทุกด้าน ด้วยการ สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ ส่วนปัญหาน้ำท่วม ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยวิธีแบบเดิม ๆ พิสูจน์มาแล้วว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ น้ำยังคงท่วมอยู่ ตนขอสานต่อนโยบายที่เคยหาเสียงมาตั้งแต่สมัยลงสมัครผู้ว่า กทม.เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม กรุงเทพต้องไม่จมน้ำ ด้วยนโยบาย ‘Delta Works Thailand’ ที่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ด้านนายกิตพลกล่าวว่า ปัญหาสำคัญในพื้นที่ประเวศ คือปัญหาน้ำท่วม ถนนมีสภาพทรุดต่ำในบางช่วง ทำให้น้ำในคลองสายหลักที่มีระดับสูงไหลเข้าท่วมผิวจราจรโดยแนวทางการแก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม 8 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 3 จุดในพื้นที่ ดำเนินการขุดลอกคูคลองเปิดทางน้ำไหล ทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ทำการปรับปรุงถนนและท่อระบายน้ำใหม่แทนของเดิมที่มีการชำรุด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้ดีขึ้น ก่อสร้าง subgate แทนการบล็อกด้วยกระสอบทราย ก่อสร้างเขื่อนป้องกันดินริมคลองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ แนวทางการแก้ปัญหาเหล่านี้ ตนได้ทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน

‘คนเมืองคอน-สงขลา’ เฮ!! รับเงินช่วยเหลือน้ำท่วมปี 2565 พร้อมขอบคุณ ‘บิ๊กตู่’ เล็งเห็นความทุกข์-แก้ปัญหารวดเร็ว

(19 เม.ย.66) นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในเวลาช่วงเช้าของวันเดียวกันนี้ ชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัย เริ่มทยอยได้รับเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ซึ่งจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลาประสบกับปัญหาอุทกภัยอย่างหนัก โดยการช่วยเหลือเป็นไปตามมติ ครม. (28 ก.พ.66) อนุมัติให้จ่ายเงิน ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 เพิ่มเติม ในพื้นที่ กทม. และ 15 จังหวัด 

โดยผู้ประสบภัย จ.นครศรีธรรมราช คิดเป็นจำนวน 237,048 ครัวเรือน วงเงิน 1,190.46 ล้านบาท ซึ่งทำให้เกิดการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 39,704 ครัวเรือน รวมเป็นวงเงินช่วยเหลือ 199,510,000 บาท แบ่งเป็นดังนี้ 

อำเภอร่อนพิบูลย์ จำนวน 73 ครัวเรือน วงเงินช่วยเหลือ 365,000 บาท 
อำเภอปากพนัง จำนวน 29,483 ครัวเรือน วงเงินช่วยเหลือ 147,427,000 บาท 
อำเภอเชียรใหญ่ จำนวน 5,610 ครัวเรือน วงเงินช่วยเหลือ 17,480,000 บาท 
อำเภอชะอวด จำนวน 2,406 ครัวเรือน วงเงินช่วยเหลือ 13,008,000 บาท 
อำเภอหัวไทร จำนวน 517 ครัวเรือน วงเงินช่วยเหลือ 2,585,000 บาท 
อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จำนวน 1,615 ครัวเรือน วงเงินช่วยเหลือ 18,645,000 บาท 
ขณะที่ พี่น้องชาวสงขลา ใน 15 อำเภอที่รับผลกระทบ จำนวน 112,043 ครัวเรือน ได้รับวงเงินช่วยเหลือรวม 560,215,000 บาท

‘สทนช.’ คาด ‘เอลนีโญ’ ส่งผลกระทบทำไทยแล้งนาน 2 ปี ห่วงภาคกลางต้นทุนน้ำเหลืออยู่เพียงร้อยละ​ 17​ เท่านั้น

เมื่อวานนี้ (4 ก.ค. 66) นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการรับมือกับภาวะภัยแล้ง-น้ำท่วม โดยวิเคราะห์ว่า ปีนี้ ไทยต้องเผชิญกับภัยแล้งและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ สิ่งที่เป็นกังงวลคือเรื่องของภัยแล้ง เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันปริมาณฝนตกทั่วประเทศเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติ คือ ร้อยละ 25 โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างลงมาลุ่มเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร ไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่กลุ่มฝนจะไปตกทางภาคใต้และลุ่มแม่น้ำมูลของภาคอีสาน การบริหารจัดการน้ำจึงต้องประหยัดและทำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ พร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรองให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบันแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีน้ำอยู่ร้อยละ 29 หรือ 1 หมื่น 5 พันกว่าล้านลูกบาศก์เมตร จัดสรรปล่อยน้ำให้ประชาชนใช้ไปแล้วร้อยละ 10 หรือประมาณ 6 พันกว่าล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสิ่งที่ศุนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ เป็นกังวล คือการทำเกษตร เพราะหากประชาชนยังเพาะปลูกต่อเนื่อง โอกาสภัยแล้งมีโอกาสจะกระทบไปถึงปีหน้า

นอกจากบริหารจัดการการใช้น้ำแล้ว ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ยังประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรธณี เพื่อวางแนวทางร่วมกัน คือ การจัดหาแหล่งน้ำสำรอง ปรับแผนขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีแหล่งน้ำบาดาลสำรองสำหรับใช้อุปโภคบริโภค 200 แห่ง แหล่งน้ำบาดาลเพื่อทำเกษตรขนาดใหญ่ 200 แห่ง และยังมีแหล่งน้ำบาดาลที่ยังใช้งานไม่ได้จะต้องซ่อมแซมปรับปรุงอีก 1 พันกว่าแห่ง

ส่วนพื้นที่รับน้ำแก้มลิง มีทุ่งบางระกำและทุ่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ปัจจุบันยังจัดสรรน้ำให้ประชาชนในการเพาะปลูกอยู่เพื่อพร่องน้ำไว้รับมือกับน้ำหลากน้ำท่วมหากฝนตก คาดว่าการทำเกษตรของประชาชนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม

ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติเน้นย้ำว่าผลกระทบจากเอลนีโญ่จะส่งผลให้เกิดภัยแล้งไปอีก 2 ปี ทุกหน่วยงานจึงต้องมีความพร้อมรับมือบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน จะพยายามไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด หากพื้นที่ไหนเช่นนอกเขตชลประทาน น้ำอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอก็จะจัดหาน้ำเข้่ไปช่วย ทั้งนี้มีความกังวลในพื้นที่ภาคกลางมากสุด โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ แควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากมีการใช้น้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในปริมาณมาก โดยปัจจุบันภาคกลางเหลือน้ำต้นทุนอยู่เพียงร้อยละ 17 เท่านั้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top