Sunday, 19 May 2024
น้ำท่วม

'ศุภณัฐ-ก้าวไกล' แจงหน้าที่ สส.ไม่มีอำนาจบริหารน้ำท่วม หลังชาวเน็ตแซะ "ตอนน้ำท่วม ไปอยู่ไหน?"

(7 ส.ค. 66) นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ทวีตข้อความตอบโต้หลังถูกเข้ามาถามว่า “ทำมาเกินแอ็ค ตอนฝนตกน้ำท่วม ไปอยู่ไหน” ในโพสต์ที่เจ้าตัวลงพื้นที่ ซอยรัชดา 32 รัชดา 36 และ ตลาดเสือใหญ่

นายศุภณัฐ ระบุว่า “คอยติดตามสถานการณ์ และแจ้งหน่วยงานเนี่ยแหละครับ ขออธิบาย รัฐศาสตร์เบื้องต้นนะครับ แต่ละบุคคล แต่ละหน่วยงานมีหน้าที่ต่างกัน

‘ส.ส. ไม่ใช่ ฝ่ายบริหารจัดการน้ำท่วม’ เป็นอำนาจของมหาดไทย กทม. และเขต

ตัว ส.ส. ไม่มีอำนาจในการบริหารน้ำท่วม ไปสั่งเจ้าหน้าที่แทน ผอ.เขต ไม่ได้ เขาต้องทำตามแผนของเขา สั่งเปิดปิดประตูระบายน้ำไม่ได้ สั่งย้ายเครื่องสูบน้ำไม่ได้ สั่งลอกท่อไม่ได้ สั่งเร่งระบายน้ำในคลองไม่ได้ แปรงบลงเขตตัวเองก็ไม่ได้ และเอาจริง ๆ ส.ส. ไม่ใช่ตัวหลักที่ไว้ตรวจสอบ กทม. อันนี้เป็นบทบาทของ สก. (นิติบัญญัติ ระดับท้องถิ่น) ครับ

ผมคือฝ่ายนิติบัญญัติ (ระดับรัฐ) รับฟังความลำบากของประชาชน แล้วนำไปแจ้งให้หน่วยงานต่าง ๆ รับรู้ถึงความลำบาก เร่งให้รีบจัดการแก้ไข ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงาน และร่างกฎหมาย ที่จะทำให้การบริหารงานดีขึ้น

สำนักระบายน้ำ มีงบจัดการน้ำ 9,000 ล้าน และ เขต 50 เขต มีงบ 20,000 ล้าน ซึ่งอยู่ภายใต้ กทม. แต่ ส.ส. มีเงินเดือน 1 แสน

ถ้าผมบริหารงบเองได้ แปรงบได้ ผมคงเร่งขยายท่อระบายให้กว้างขึ้นและติด Sensor ตามท่อ เพื่อตรวจสอบ Speed ของการไหล และระดับน้ำในท่อ ตรงไหนตัน ตรงไหนระบายช้า จะได้รู้หมดครับ”

เตือน!! 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง เตรียมความพร้อม รับมือสถานการณ์ ‘น้ำ-ฝนตกหนัก’ 10-15 ส.ค.นี้

(9 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่ เน้นย้ำให้เจ้าหน้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำ เพื่อลดการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง พบว่ามีปริมาณฝนตกหนักสะสมในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และบริเวณแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่าง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงวันที่ 10-15 สิงหาคม 2566 โดย กอนช. ได้คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ดังนี้

1.สถานีเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันมีระดับน้ำ 5.42 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 7.38 เมตร เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.40 - 0.60 เมตร

2. สถานีเชียงคาน จังหวัดเลย ปัจจุบันมีระดับน้ำ 12.26 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 3.74 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 2.0 - 2.50 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 2.50 - 3.50 เมตร

3. สถานีหนองคาย จังหวัดหนองคาย ปัจจุบันมีระดับน้ำ 8.35 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 5.05 เมตร

4. สถานีนครพนม จังหวัดนครพนม ปัจจุบันมีระดับน้ำ 9.46 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 2.54 เมตรคาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 2.5 - 3.5เมตร และคาดการณ์ระดับน้ำจะมีแนวโน้มล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 11 - 15 สิงหาคม 2566

5. สถานีมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ปัจจุบันมีระดับน้ำ 8.98 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 3.52 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 2.00 - 2.50 เมตร

6. สถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันมีระดับน้ำ 10.60 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 3.50 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 1.00 - 1.50 เมตร

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว และกำชับจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี เร่งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง และแจ้งเตือนให้ประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง รวมทั้งผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง

‘ฮ่องกง’ เจอน้ำท่วมใหญ่ ‘ถนน-สถานีรถไฟใต้ดิน-ห้าง’ ได้รับผลกระทบหนัก สั่งปิดรร.-ให้ปชช.ทำงานที่บ้าน พร้อมประกาศเตือนพายุฝนอยู่ระดับสูงสุด

(8 ก.ย.66) สำนักข่าวรอยเตอร์ และเอเอฟพีรายงานว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักบนเกาะฮ่องกง ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมสูงเป็นวงกว้างในฮ่องกง ทำให้ถนนหนทาง ห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟใต้ดิน จมอยู่ใต้น้ำ ขณะที่ทางการฮ่องกงได้สั่งปิดโรงเรียน และขอให้ประชาชนทำงานอยู่ที่บ้าน

ข่าวระบุว่า ฝนที่ตกลงมาถือว่าเป็นฝนที่ตกหนักที่สุดในรอบ 140 ปี นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติมาของฮ่องกง ส่งผลให้น้ำหลายสายไหลลงมาตามพื้นที่เนินเขา ขณะที่ทางการออกประกาศเตือนความเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่ม

ทั้งนี้ มีคลิปวิดีโอที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ แสดงให้เห็นถนนหลายสายที่มีกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ขณะที่อีกคลิปหนึ่ง เป็นภาพของเจ้าหน้าที่รถไฟใต้ดินต้องเดินลุยน้ำเข้าไปในสถานี เพื่อพยายามควบคุมไม่ให้น้ำจากถนนทะลักเข้าไปภายในสถานี

โดยมีรายงานว่า อุโมงค์ข้ามท่าเรือของฮ่องกง ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางหลักที่เชื่อระหว่างเกาะฮ่องกงกับเกาลูน ก็ถูกน้ำท่วมสูงเช่นกัน รวมไปถึงย่านแหล่งข้อปปิ้งอย่างไฉหว่าน ที่ก็ปรากฏภาพของน้ำท่วมสูงด้วย

ด้านสำนักงานสังเกตการณ์ฮ่องกง รายงานว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน จนถึงเที่ยงคืนย่างเข้าสู่วันที่ 8 กันยายน อยู่ที่ระดับ 158.1 มิลลิเมตร และว่า ฝนที่ตกหนักครั้งนี้ เกิดขึ้นจากร่องความกดอากาศน้ำที่เกี่ยวข้องกับส่วนที่เหลือจากไต้ฝุ่นไห่ขุย

โดยตอนใต้ของจีนเพิ่งจะเจอกับไต้ฝุ่น 2 ลูก คือ เซาลา และไห่ขุย ขณะที่ฮ่องกงเองไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากไต้ฝุ่นทั้งสองลูกดังกล่าว

ขณะที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนพายุฝนระดับ ‘สีดำ’ ซึ่งเป็นระดับสูงสุด และว่า จะมีฝนตกลงมากว่า 200 มิลลิเมตรบนเกาะหลักของฮ่องกง เกาลูน และบางส่วนของฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของนิวเทอร์ริทอรีส์

นอกจากนี้ ยังมีรายงานปิดจุดผ่านแดนผู้โดยสารและสินค้าบางแห่ง ที่เชื่อมระหว่างฮ่องกับกับเมืองเสิ่นเจิ้นของจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากน้ำที่ท่วมสูง

‘ลิเบีย’ ประกาศภาวะฉุกเฉิน หลัง ‘พายุแดเนียล’ ถล่มหนักต่อเนื่อง รบ.เร่งให้ความช่วยเหลือ หวั่นดับทะลุ 2 พัน-สูญหายพุ่ง 6 พันคน

(12 ก.ย. 66) สำนักข่าวบีบีซี และเอเอฟพีรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ภัยพิบัติในประเทศลิเบีย หลังเผชิญหน้ากับ ‘พายุแดเนียล’ พัดถล่มพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังโจมตีหลายประเทศในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รวมถึงตุรกี บัลแกเรีย และกรีซ

อิทธิพลของพายุก่อให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง และน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง มีผู้เสียชีวิตยืนยันแล้วอย่างน้อย 200 ราย

ขณะที่รัฐบาลฝ่ายลิเบียตะวันออกแถลงกังวลว่ายอดผู้เสียชีวิตสูงกว่า 2,000 รายแล้ว พร้อมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเร่งรับมือและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิว และสั่งให้สถานศึกษาปิดการเรียนการสอน

รายงานระบุว่า พื้นที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ครอบคลุมเมืองเบงกาซี เมืองซูสส์ เมืองเดอร์นา และเมืองอัล-มาร์จ ด้านหน่วยงานกาชาดลิเบียระบุว่า นอกจากผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากแล้ว บ้านเรือนหลายร้อยหลังยังพังถล่มเสียหาย เขื่อนอย่างน้อย 2 แห่งในเมืองเดอร์นา ซึ่งมีประชากรราว 100,000 คนพังทลายลงมา เป็นเหตุให้มวลน้ำมหาศาลไหลทะลักเข้าท่วมชุมชนและพื้นที่ส่วนใหญ่จมอยู่ใต้น้ำ

ด้าน นายกรัฐมนตรีโอซามา ฮาหมัด ผู้นำรัฐบาลฝ่ายลิเบียตะวันออก แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ว่ามีผู้ประสบภัยสูญหายหลายพันคน และเสียชีวิตมากกว่า 2,000 ราย ย่านใกล้เคียงทั้งหมดในเมืองเดอร์นาถูกกระแสน้ำเชี่ยวกรากพัดหายไปพร้อมกับชาวบ้าน

ขณะที่ รอยเตอร์ รายงานจากโฆษกกองทัพฝ่ายลิเบียตะวันออกระบุว่า ผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นกว่า 2,000 ราย และมีผู้สูญหายระหว่าง 5,000-6,000 รายเฉพาะในเมืองเดอร์นา

ยอดผู้เสียชีวิตน้ำท่วมใหญ่ที่ ‘ลิเบีย’ พุ่งทะลุ 21,000 ราย ทางการเร่งช่วยเหลือ พร้อมค้นหาผู้สูญหายอีกนับหมื่น

(15 ก.ย. 66) สภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะสูงถึง 11,300 ราย แต่อาจเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากยังมีผู้สูญหายราว 10,000 คน และอาจส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตเกินกว่า 21,000 ราย มากกว่าที่นายกเทศมนตรีเมืองเดอร์นา พื้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเหตุเขื่อน 2 แห่งแตกทลาย ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่าจากการประเมินเขตที่ถูกมวลน้ำมหาศาลพัดถล่มโดยสิ้นเชิงอาจมีผู้เสียชีวิตมากถึง 20,000 ราย

ด้านทางการลิเบียฝั่งตะวันออกเปิดเผยว่ามหาอุทกภัยครั้งนี้ทำให้ประชาชนราว 30,000 คนต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน หลายฝ่ายกล่าวโทษว่า เป็นเพราะระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีสภาพทรุดโทรมและไม่ได้รับการซ่อมแซม ขณะที่นักการเมืองท้องถิ่นเรียกร้องให้รัฐบาลลิเบียฝั่งตะวันออกเร่งสอบสวนกรณีดังกล่าว

วันเดียวกัน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) แถลงว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จากน้ำท่วมสามารถหลีกเลี่ยงได้หากระบบเตือนภัยล่วงหน้าและระบบการจัดการเหตุฉุกเฉินที่เหมาะสมถูกต้อง ศาสตราจารย์เพทเตอรี ทาลาส เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก กล่าวว่าหากกองกำลังจัดการเหตุฉุกเฉินสามารถอพยพประชาชนได้ทันท่วงทีตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจต่ำกว่านี้

ขณะที่สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ระบุว่ากำลังเร่งระดมเงินมากกว่า 71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,550 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เข้าข่ายเป็นหายนะครั้งใหญ่

และว่าเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปเยียวยาผู้ประสบภัยที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุดราว 250,000 คน จากผู้ประสบภัยทั้งหมดกว่า 884,000 คน นอกจากนี้ นายมาร์ติน กริฟฟิธส์ หัวหน้าสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรม ยังประกาศกองทุนฉุกเฉินอีก 357 ล้านบาทด้วย

‘ยูเอ็น’ หวั่นโรคระบาดคุกคาม 'ลิเบีย' หลังเกิดเหตุน้ำท่วม จากการขาดสุขอนามัย เตรียมหาวิธีป้องกัน ไม่ให้เกิดวิกฤติซ้ำสอง

(19 ก.ย. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สหประชาชาติ หรือยูเอ็น เตือนว่า เมืองเดอร์นาของลิเบียที่ถูกน้ำท่วมใหญ่และมีคนเสียชีวิตจำนวนมากเมื่อสัปดาห์ก่อน เสี่ยงเกิดโรคระบาดที่จะทำให้เกิดวิกฤติร้ายแรงซ้ำสอง

ภารกิจสนับสนุนของยูเอ็นในลิเบียแถลงว่า ทีมงานของยูเอ็น 9 หน่วยงานได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากพายุแดเนียล (Daniel) และน้ำท่วม ขณะนี้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หน่วยงานบรรเทาทุกข์ และองค์การอนามัยโลกกำลังวิตกเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากน้ำปนเปื้อนและการขาดสุขอนามัย ทีมงานจึงต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เพราะจะกลายเป็นวิกฤตร้ายแรงซ้ำสอง

ชาวเมืองเดอร์นาที่รอดชีวิตจากน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นหลังจากพายุพัดถล่มเมื่อวันที่ 10 กันยายน กำลังขาดแคลนน้ำสะอาด อาหาร และสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ในขณะที่เสี่ยงจะเกิดอหิวาตกโรค ท้องร่วง ภาวะขาดน้ำ และโรคขาดสารอาหาร น้ำท่วมทำให้เมืองเดอร์นาที่มีประชากร 100,000 คน เสียชีวิตราว 3,000-11,300 ราย ไร้ที่อยู่อาศัย  30,000 คน และสูญหายอยู่หลายหมื่นคน

‘คุณลุงผู้รวยน้ำใจ’ ใช้แผ่นปูนเรียงเป็นทางเดินให้ ปชช.สัญจร หลังฝนตกหนักทำน้ำท่วมกรุง โซเชียลชม!! ลุงทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น

(27 ก.ย. 66) ชีวิตคนกรุงเมื่อต้องเผชิญกับวันฝนตก น้ำท่วม ก็จะพบกับความทุลักทุเลในการเดินทาง แต่คลิปนี้เชื่อว่าทำให้หลายคนรู้สึกใจฟูขึ้นมาบ้าง โดยผู้ใช้ติ๊กต็อกชื่อว่า ‘saiikhim_is’ ได้โพสต์คลิปคุณลุงท่านหนึ่ง กำลังช่วยเหลือผู้เดินทางหลายคนที่ต้องลุยน้ำท่วมขัง ด้วยการใช้แผ่นปูนมาเรียง ปูเป็นทางเดินบนน้ำท่วมขัง เพื่อให้ผู้คนได้เดินข้ามไปโดยที่ไม่ต้องลุยน้ำ

เจ้าของคลิปบอกว่า “เมื่อฝนตกน้ำท่วม ชาวออฟฟิศนับร้อยต้องกลับบ้าน ขอบคุณคุณลุงมากๆค่ะ ความใจดีของคุณลุง ทำให้โลกนี้ สดใสขึ้นเป็นกองค่ะ” คลิปนี้มีผู้เข้าชมแล้วกว่า 2.2 ล้านครั้ง ต่างก็ชื่นชมคุณลุงจำนวนมาก

‘เกรียง-สมคิด’ ลงพื้นที่ตามติดการกู้ขบวนรถไฟตกรางที่แพร่  เผย เย็นนี้กู้ขบวนรถไฟได้หมด-พร้อมเปิดให้บริการตามปกติ

(1 ต.ค. 66) นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อม นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และคณะ เดินทางลงพื้นที่ติดตามการกู้ขบวนรถไฟจากเหตุรถไฟด่วนพิเศษขบวนที่ 13 กรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่ตกราง เนื่องจากเกิดน้ำท่วมราง เกิดน้ำป่าทะลัก ดินสไลด์ ระหว่างสถานีแก่งหลวงถึงสถานีบ้านปิน อำเภอรอง จังหวัดแพร่ ซึ่งจากการสอบถามเบื้องต้นเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่ได้เร่งกู้ขบวนรถได้แล้ว 1 ขบวน และและคาดว่าภายในเย็นวันที่ 1 ต.ค.นี้จะสามารถเก็บกู้ขบวนรถได้ทั้งหมด และสามารถเปิดบริการให้รถไฟวิ่งได้ตามปกติ

นายเกรียง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.66 ตนเองพร้อมคณะได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยที่อ่างเก็บน้ำห้วยแม่แย้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ที่ 9 บ้านแม่ยุ้น ตำบลปงป่าหวาย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มีความเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งอ่างเก็บน้ำห้วยแม่แย้ ได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่ตกหนัก ทำให้น้ำล้นสันอ่าง สูงประมาณ 1 เมตร สันอ่างที่เป็นทำนบดินถูกน้ำป่ากัดเซาะ ได้รับความเสียหาย น้ำล้นไหลลงลำห้วยแม่ยุ้น ทำให้ประชาชน ม.9 ต.ปงป่าหวาย ได้รับผลกระทบหลายครัวเรือน รวมถึงพื้นที่ ทางการเกษตรและสิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับความเสียหาย

นายเกรียง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยโครงการชลประทานจังหวัดแพร่ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ได้สนับสนุนเครื่องจักรกลในการซ่อมแซมทำนบดินบริเวณสันอ่างที่ได้รับความเสียหายแล้ว ซึ่งได้เน้นย้ำว่า หลังจากฝนหยุดตกแล้ว ให้ดำเนินการบดอัดทำนบดินบริเวณสันอ่างเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

“สถานการณ์น้ำท่วมได้ขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมีปริมาณน้ำฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบทันต่อสถานการณ์ พร้อมกับกำชับให้เตรียมแผนเผชิญเหตุในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก นำประสบการณ์ที่ผ่านมา เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที” นายเกรียง กล่าว

‘ภูมิธรรม’ สั่ง ‘พณ.จังหวัด-DIT’ ดูแล ปชช.ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม กำชับ!! ป้องกันการกักตุนสินค้าเข้มข้น หวั่นของขาดตลาด-ขึ้นราคา

(1 ต.ค. 66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดและกรมการค้าภายใน เข้าไปดูแลช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้  ทั้งระหว่างน้ำท่วม และหลังระดับน้ำลดลง ไม่ให้สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นขาดตลาด ให้มีกระจายสินค้าอย่างทั่วถึงและไม่ให้ฉวยโอกาสขึ้นราคาเอาเปรียบประชาชน ไม่ให้มีการกักตุนสินค้า หากฝ่าฝืนให้มีการดำเนินการกฎหมายอย่างเคร่งครัด และให้กระจายสินค้า ลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะผัก เครื่องมือ น้ำยาทำความสะอาดบ้านและวัสดุก่อสร้าง เพื่อซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลดแล้ว

ขณะเดียวกันให้นำรถโมบายกระจายลงในพื้นที่ในชุมชน ขายของลดราคา จัดกิจกรรมเพิ่มรายได้ให้ประชาชน เช่น เอาสินค้าในชุมชนไปกระจายช่วยขายในพื้นที่อื่นๆ พร้อมกับขอให้เข้มงวดการติดป้ายแสดงราคาสินค้า ไม่ให้มีการฉวยโอกาส เอาเปรียบผู้บริโภค

‘สมศักดิ์’ ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมสุโขทัย กำชับทุกหน่วยเร่งช่วย ปชช. รับ สถานการณ์ยังน่าห่วง เตรียมเสนอแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวต่อ ครม.

(1 ต.ค. 66) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ โดยจุดแรก ได้เดินทางไปตรวจประตูระบายน้ำแม่น้ำยม บ้านหาดสะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก ร่วมประชุมเพื่อสรุปสถานการณ์และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดสุโขทัย กับนายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย นางสาวประภาพรทองปากน้ำ สส.สุโขทัย  นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สส.สุโขทัย และหัวหน้าส่วนราชการ

โดยนายสุชาติ กล่าวรายงานสรุปว่า สถานการณ์น้ำในจังหวัดสุโขทัย เริ่มมีความน่าเป็นห่วงตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพราะมีฝนตกเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีน้ำป่าไหลมาจากจังหวัดรอบข้าง ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในจังหวัดเวลานี้ อยู่ในจุดที่ต้องเฝ้าระวัง โดยขณะนี้ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 42 ตำบล 165 หมู่บ้าน 1,365 ครัวเรือน รวมถึงมีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 2,483 ไร่ ซึ่งทางจังหวัดได้เตรียมความพร้อม ในการดูแลช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่สั่งการอย่างเร่งด่วนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงมหาดไทย ได้เร่งลงพื้นที่แล้ว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ได้รายงานสถานการณ์และสรุปในเบื้องต้นให้รับฟังแล้ว ซึ่งขณะนี้ มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 1,365 ครัวเรือน เป็นพื้นที่กว่า 62,000 ไร่ ส่วนเรื่องการช่วยเหลือชาวสุโขทัย ในเรื่องการอพยพนั้น ยังมีน้อย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ มวลน้ำ ที่ไหลมาจากจังหวัดแพร่ โดยจากรายงานปริมาณน้ำของวันนี้ เมื่อเทียบกับของเมื่อวานที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า สูงขึ้น จาก 880 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มอีก 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมวลน้ำทั้งหมด จะไหลมารวมอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทางจังหวัดสุโขทัย ก็พยายามปล่อยน้ำออกทางด้านซ้ายของแม่น้ำยมเป็นหลัก ซึ่งสามารถปล่อยได้ 450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนในวันพรุ่งนี้ ตนได้รับรายงานว่า น้ำน่าจะเพิ่มขึ้นอีก 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อาจจะส่งผลกระทบให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในพื้นที่อำเภอเมือง ยังพบดินสไลด์ริมตลิ่ง ความยาวกว่า 100 เมตร โดยผู้ว่าฯได้นำเอาบิ๊กแบ๊คมากั้นเรียบร้อยแล้ว คาดว่า วันนี้จะสามารถหยุดการไหลของน้ำเข้าในพื้นที่ของอำเภอเมืองได้

“หลังจากนี้ ผมและคณะ จะเดินทางไปจังหวัดแพร่ เพื่อติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงมาก จึงได้กำชับให้ผมรีบลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ในช่วงเย็นวันเดียวกันนี้ ผมจะกลับมาประชุมที่จังหวัดสุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสรุปแนวทางทั้งหมด นำไปเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยขอยืนยันว่า ผมทำงานการเมืองมา 40 ปี เห็นปัญหานี้มาโดยตลอด ซึ่งจะพยายามแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top