‘บิ๊กป้อม’ ลุย ‘กระบี่-พังงา’ หาแนวทาง รับมือน้ำท่วม-ภัยแล้ง พร้อมหนุน ‘ศูนย์กลางผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ’

‘บิ๊กป้อม’ โหมงาน ลุยกระบี่-พังงา ติดตามพัฒนาแหล่งน้ำ-เมืองท่องเที่ยว-ดัน พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมัน ชู ไทย ‘ศูนย์กลางผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ’ และมีหน่วยงานรองรับตรง 

(20 มี.ค. 66) เมื่อเวลา 09.30. น.ที่ จ.กระบี่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และคณะ เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.กระบี่ และพังงา โดยจุดแรก ติดตามความคืบหน้าโครงการฝายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการอนุรักษ์แหล่งน้ำในพื้นที่ มี ผวจ.กระบี่และพังงา เลขา สทนช. อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมชลประทาน และหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ให้การต้อนรับ 

โดยรับฟังการบรรยายสรุปในพื้นที่ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองไหล ต.พรุเตียว อ.เขาพนม จว.กระบี่ พร้อมพบปะรับฟังปัญหาประชาชนในพื้นที่ ภาพรวมสถานการณ์น้ำของ จว.กระบี่ปัจจุบัน ปี 61 - 65 ดำเนินการแล้ว 447 โครงการ ประชาชนได้ประโยชน์กว่า 15,000 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์กว่า 23,500 ไร่  ปี 66 อยู่ระหว่างดำเนินการ 13 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์  1,430 ไร่ ประชาชนได้ประโยชน์กว่า 1,000 ครัวเรือน และปี 67 เตรียมโครงการรรองรับ 148 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์กว่า 48,000 ไร่ ประชาชนรับประโยชน์กว่า 7,100 ครัวเรือน สำหรับปี 66 คาดการณ์มีภาวะฝนทิ้งช่วง มิ.ย.- กค. ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำสะสมน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำว่า ภาพรวมในอนาคต มีความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ เราจึงต้องเตรียมการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญและจริงจังกับทรัพยากรน้ำอย่างมาก ทั้งด้านการพัฒนา ฟื้นฟูแหล่งน้ำ การแก้ปัญหา และการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มุ่งสู่ระดับความมั่นคงของทรัพยากรน้ำ โดยกำชับ ขอให้ทุกส่วนราชการ ต้องให้ความสำคัญ ลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในพื้นที่เสี่ยงอย่างมีพัฒนาการ และให้เร่งสำรวจแหล่งน้ำสำรองและขับเคลื่อนมาตรการรองรับฤดูแล้ง โดยให้ทำงานเชื่อมโยงกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ จว. เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายตามแผนแม่บทลุ่มน้ำของภูมิภาคร่วมกัน เพื่อให้มีแหล่งน้ำสำรองรองรับการอุปโภค บริโภค ของประชาชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่กำลังมีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

พร้อมทั้งได้ย้ำกับพี่น้องชาวสวนปาล์ม ถึง การพัฒนาและแก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน ในฐานะประธาน กนป. ที่พยายามร่วมผลักดันแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำร่วมกันจาก 2 บาท จนราคาสูงขึ้นเป็น 7.8 บาทปัจจุบัน มูลค่าการเติบโตจากปีละ 3 หมื่นล้าน เป็น 1.45 แสนล้านบาท ใน 4 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าส่งออกปาล์น้ำมันปี 66 จำนวน 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น .5 ล้านตัน พร้อมทั้งมีนโยบายผลักดันให้ไทยเป็น ศูนย์กลางการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ ( SAF ) จากน้ำมันปาล์ม และมี พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมัน ทีจะขับเคลื่อนให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษปาล์มน้ำมัน เน้นส่ง เสริมแปรรูปมูลค่าสูงและส่งออกผลิตภัณฑ์รวม 8 ชนิด มีมาตรการดูต้นทุนช่วยเหลือชาวสวนยาง สร้างรายได้ มีหน่วยงานดูแลปาล์มน้ำมันเป็นการเฉพาะในทุกมิติ และยกระดับมาตรฐานคุณภาพเทียบเท่ามาเลเซีย เพื่อให้ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของไทย