Sunday, 19 May 2024
น้ำท่วม

'อนุชา' ย้ำ 'นายกฯ' มุ่งมั่นช่วยคลี่คลายน้ำท่วมขอนแก่น ลั่น!! รัฐพร้อมจัดสรรงบฯ จัดการน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (4 ตุลาคม 2565) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมหงส์ยนตร์ อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนานาชาติขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำและปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น หลังจากจังหวัดขอนแก่นเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุโนรู ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดอุทกภัย น้ำไหลหลาก น้ำท่วมขัง จนประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการรับฟังบรรยายสรุป ว่า ได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด โดยได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งแก้ปัญหาการระบายน้ำ นายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลจะดูแลจัดสรรโครงการต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจัดงบประมาณ/แผนงาน โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ลุ่มน้ำชี 

1.) งบบูรณาการตาม พรบ.ปี 65 ลุ่มน้ำชี มีแผนงาน/โครงการ ภายใต้แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จำนวน 193 โครงการ 
2.) งบบูรณาการตาม พรบ. ปี 66 ในพื้นที่ลุ่มน้ำชี มีจำนวนโครงการทั้งสิ้น 578 โครงการ 
3.) โครงการสำคัญ ปี 66-67 จำนวน 78 โครงการ เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการร่วมกัน โดยได้กำหนดแผนงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งสำรวจดูแลความเดือดร้อน เพื่อลดและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด รวมทั้งเร่งระบายน้ำให้เร็วขึ้น เพื่อลดความเสียหายให้กับประชาชน และมีระบบการแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมความพร้อมให้ทันต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ในส่วนของบริเวณจุดที่มีความเสียหายที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก จะต้องแก้ไขปัญหาระบายน้ำทันที หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นจะต้องมีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนรับรู้สถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์และเตรียมตัวอพยพ 

รวมทั้งจะต้องมีการจัดหาสถานที่พักชั่วคราวให้ประชาชนอย่างเหมาะสมและปลอดภัย อีกทั้งขอให้เน้นการเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำทางธรรมชาติ โดยเฉพาะเส้นทางระบายน้ำเดิมที่มีสิ่งกีดขวางทำให้การระบายน้ำได้ไม่เต็มที่ต้องดำเนินการแก้ไข พร้อมทั้งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจตรวจสอบประตูระบายน้ำไม่ให้เกิดการชำรุดเสียหาย และให้ซ่อมบำรุงให้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ รวมไปถึงการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น อาทิ โครงการแก้มลิง แผนรองรับปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝน โดยขอให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อม ทั้งแผนหลัก แผนสำรอง เพื่อรองรับและแก้ปัญหาในอนาคตด้วย โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำให้สมบูรณ์ และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นายกรัฐมนตรีขอความร่วมมือให้ทุกคนเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะไม่มีใครต้องการให้เกิด ยืนยันว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการแก้ปัญหาเพื่อลดความเสียหาย และลดความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเป็นกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคน พร้อมขอความร่วมมือไปยังภาคธุรกิจ เอกชน และประชาชนทุกภาคส่วนในการร่วมกันทำงานกับภาครัฐ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ โดยแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เตรียมแผนบริหารจัดการโดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อพื้นที่เศรษฐกิจด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้กองทัพ หน่วยทหาร บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนช่วยเหลือประชาชน ให้ปลอดภัย และคลี่คลายสถานการณ์ตามแผนการช่วยเหลือ และจัดกำลังทหารสนับสนุนส่วนราชการท้องถิ่นดูแลประชาชนที่ศูนย์อพยพชั่วคราว เพื่อดูแลประชาชนให้ปลอดภัย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำท่วม ช่วยขนย้ายคนและสิ่งของจำเป็นไปยังพื้นที่ปลอดภัย ช่วยรับส่งประชาชน ก่อกระสอบทรายทำแนวกั้นน้ำ รวมทั้งร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ มอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัย และปรุงอาหารสดแจกจ่ายประชาชน ตลอดจนซ่อมแซมและเชื่อมต่อเส้นทางการสัญจรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับดำแผนงานโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ลุ่มน้ำชี ดังนี้ 

1.) งบบูรณาการ ตาม พรบ. ปี 65 ลุ่มน้ำชี มีแผนงานโครงการ ภายใต้แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จำนวน 193 โครงการ งบประมาณ จำนวน 4,631.72 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัด ผลสัมฤทธิ์พื้นที่ชลประทานรับประโยชน์ 65,997 ไร่ มีพื้นที่ได้รับการป้องกัน 25,690 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 43.40 ล้านลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 41,642 ครัวเรือน มีตัวอย่างโครงการ เช่น 

(1) แก้มลิง 3 แห่ง จังหวัดขอนแก่น วงเงิน 156.1555 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์ พื้นที่ชลประทานรับประโยชน์ 900 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 0.94 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนรับประโยชน์ 390 ครัวเรือน 
(2) น้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 4 แห่ง ที่จังหวัดขอนแก่น วงเงิน 12.7892 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์พื้นที่รับประโยชน์ 480 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 0.19 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนรับประโยชน์ 34 ครัวเรือน 
(3) ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม 2 แห่ง ที่ชุมชนเมืองขอนแก่น ชุมชนบ้านไผ่ วงเงิน 132.6667 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์พื้นที่รับประโยชน์ 1,263 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 1,990 ครัวเรือน 
(4) อาคารบังคับน้ำ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี วงเงิน 15.0000 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์พื้นที่รับประโยชน์ 300 ไร่

2.) งบบูรณาการ ตาม พรบ. ปี 66 ในพื้นที่ลุ่มน้ำชี มีจำนวนโครงการทั้งสิ้น 578 โครงการ วงเงิน 4,919.9712 ล้านบาท เมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว สามารถเพิ่มความจุกักเก็บ 5.66 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 48,932 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 40,285 ครัวเรือนพื้นที่ได้รับการป้องกัน 40,152 ไร่ มีหน่วยงานดำเนินการ 9 หน่วยงาน ครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัด โดยมีตัวอย่างโครงการ เช่น 
(1) สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ บ้านหว้า ต.บ้านโคก อ.หนองนาคำ จ.ขอนแก่น วงเงิน 50.00 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 1,300 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 200 ครัวเรือน 
(2) ฝายบ้านคำบอน ต.บัวเงิน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น วงเงิน 29.00 ล้านบาท ประชาชนได้รับประโยชน์ 300 ครัวเรือน 

'บิ๊กตู่' ชี้!! มาอุบลฯ หนนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดี ได้รับฟังเสียงประชาชน ลั่น!! เดี๋ยวน้ำ มันก็ไป รัฐกำลังพยายามอย่างเต็มที่

วันนี้ (4 ตุลาคม 2565) พลเอกประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม​ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน​ ภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชนวารินธราราม โดยระบุ การลงพื้นที่ในวันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะเดินทางเยี่ยมประชาชน มีโอกาสรับฟังความคิดเห็น การดำเนินการแผนงานโครงการต่าง ๆ ทั้งของผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ของศูนย์บูรณาการบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย ที่ประชุมเมื่อวันนี้ซึ่งก็เป็นไปตามแผน แต่ปัญหาสำคัญคือปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ฝนยังไม่หยุดตก ก็ต้องเตรียมแผนเผชิญเหตุไว้ แต่หากหยุดตกไปก็จะสามารถพร่องน้ำได้มากขึ้น ซึ่งเราก็ต้องคาดหวังให้สถานการณ์นั้นดีขึ้นนั่นแหละ แล้วเราทำเต็มที่หรือยัง หากทำเต็มที่แล้วก็คือเต็มที่แล้ว ซึ่งก็ต้องสร้างความเข้าใจประชาชนว่าเขาจะทำอย่างไรต่อไป​  

โดยนายกรัฐมนตรียังระบุว่า รัฐบาลไม่อาจประกาศได้ว่าน้ำจะไม่ท่วม​ เพราะกรมอุตุนิยมวิทยาเขาชี้แจงมาอย่างนั้น คือสภาพลมฟ้าอากาศของโลก ของประเทศของภูมิภาค ถ้าไม่ฟังตรงนี้จะไปฟังใคร ถูกหรือไม่เราต้องหามาตรการรองรับตรงนี้ ทั้งจากสถานการณ์ปัจจุบันและการคาดการณ์ล่วงหน้า หากไม่มีน้ำก็จะระบายลงไปสู่ที่ต่ำ และตนรู้สึกยินดีที่ประชาชนทั้งสองจังหวัดนั้นเข้าใจ​ เพราะเขาเจอกันมานานแล้วแต่เราก็ต้องสร้างความเข้มแข็งต่อไป

ลุงตู่คัมแบ็ค ลงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 'อุบลฯ - ขอนแก่น' ลุยให้กำลังใจ - ใส่ใจ - เข้าถึงประชาชน

ลุงตู่คัมแบ็ค ลงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 'อุบลฯ - ขอนแก่น' ลุยให้กำลังใจ - ใส่ใจ - เข้าถึงประชาชน

‘เดชรัต’ หวั่น 6-10 ต.ค. 'กทม.-นนทบุรี' เสี่ยงท่วมหนัก ชี้!! รัฐต้องแจ้งแผนโดยเร็ว ปชช.จะได้เตรียมตัวถูก

‘เดชรัตน์-ก้าวไกล’ เตือน ลุ่มน้ำเจ้าพระยาส่อวิกฤต 6-10 ต.ค. น้ำทะเลหนุนสูง กรุงเทพ-นนทบุรีเสี่ยงท่วมหนัก ชี้ รัฐบาลต้องประกาศแผนเผชิญเหตุให้ทราบโดยเร็ว

เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล ได้ออกมาเตือนสถานการณ์ สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีความเสี่ยงสูงมากที่จะมีน้ำท่วมในวงกว้างซึ่งกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะได้รับผลกระทบ 

เดชรัตกล่าวว่า ปริมาณน้ำเหนือยังคงเพิ่มมาเรื่อย แม้จะไม่มากเท่าปี 54 แต่เขื่อนต่าง ๆ เริ่มมีความสามารถในการรับน้ำได้อีกไม่มาก และยังต้องระบายออกต่อไป เพราะ ด้วยอิทธิพลของปรากฎการณ์ลานิลญา ทำให้ภาคเหนือและภาคกลางยังมีฝนต่อเนื่องจนถึงปลายเดือนตุลาคม ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ล่าสุดเขื่อนเจ้าพระยาประกาศว่า อาจจะปล่อยน้ำสูงถึง 2,800 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนป่าสักอาจปล่อยน้ำสูงถึง 800 ลบ.ม./วินาที 

สำหรับสถานการณ์น้ำในแต่ละจังหวัดในลุ่มน้ำพระยาตอนบน จากข้อมูลที่รวบรวมจากที่ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคก้าวไกล พบว่าในเขื่อนต่าง ๆ เช่น เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสัก เพิ่มการระบายน้ำเร็วมาก บางพื้นที่คันกั้นน้ำแตกเสียหาย พื้นที่ที่ไม่เคยท่วมมากก่อน ประชาชนต้องอพยพข้าวของอย่างฉุกละหุก นอกจากนี้ ยังพบว่า ประชาชนในศูนย์อพยพหลายแห่ง ยังไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ เช่น เต้นท์ไม่พอ สุขาไม่พอ

“ในพื้นที่ อ.บางบาง จ.อยุธยา ที่เป็นทุ่งรับน้ำเกิดความขัดแย้งขึ้น จากการที่มีบ่อทรายและบ่อขยะอยู่ในพื้นที่ทุ่งรับน้ำ ทำให้ไม่มีการปล่อยน้ำลงทุ่งรับน้ำแบบที่ควรจะเป็น ในขณะที่ประชาชนบางส่วนที่ได้รับควาทเดือดร้อนเรียกร้องให้ปล่องน้ำเข้าสู่ทุ่งรับน้ำ”

สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เมื่อเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักปล่อยน้ำมามากขึ้น ทำให้ปริมาณการไหลของน้ำที่จุดบางไทร ซึ่งเป็นจุดวิกฤตสำหรับพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง รวมถึงกรุงเทพและปริมณฑล ปริมาณการไหลของน้ำอาจสูงเกิน 3,300-3,500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งแปลว่า จะเต็มอัตราความจุของลำน้ำตามธรรมชาติพอดี และยังเป็นข้อจำกัดในการระบายน้ำด้วย แถมด้วยปัจจัยน้ำทะเลหนุนสูง ตั้งแต่วันที่ 6-10 ตุลาคม 2565 จะทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างมาก 

“นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จากวันนี้ไป พื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา และคลองอ้อมนนท์ จะมีความเสี่ยงสูงมาก คันกันน้ำชำรุด น้ำท่วมขังจากฝนตกหนักในหลายพื้นที่ไม่สามารถระบายน้ำได้ เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุนมาพร้อมกันทำให้ระบบระบายน้ำไม่สามารถรองรับฝนหนักมาก ที่มีปริมาณฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตรได้ดีนัก แม้ว่าตอนนี้ อปท. ต่าง ๆ ทำการพร่องน้ำในคลอง ในท่อ ยังเต็มที่ แต่ความสามารถในการสูบน้ำอาจทำได้จำกัดมากขึ้น ส่วนในกรุงเทพมหานครยังต้องระมัดระวัง การระบายน้ำไปในพื้นที่ทางตะวันออกของกรุงเทพมหานครด้วย” 

เดชรัต กล่าวต่อว่า ปัญหาในการรับมืออุทกภัยในปี 2565 โดยภาพรวมแม้ว่า พื้นที่และระดับการท่วมของน้ำจะไม่มากเท่าระดับปี 2554 แต่ก็มีพื้นที่และประชาชนที่ประสบภัยมากกว่าปี 2564 แน่นอน เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรยกระดับการเตรียมความพร้อมรับมือ การเผชิญเหตุ และการเยียวยาขั้นสูงสุด 

'นายกฯ' กร้าว!! ดูแลทุกจังหวัด พร้อมขจัดภัยทุกจุด ยัน!! เร่งคืนชีวิตปกติให้กับพี่น้องประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha' ระบุว่า...

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทุกคนครับ

ผมได้เฝ้าติดตามข่าวสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคอีสาน ด้วยความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 ต.ค. 65) ผมได้สั่งการเน้นย้ำนโยบาย 10 ข้อ ในการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัย ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ทั่วประเทศ ได้นำไปปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และเมื่อวานนี้ (4 ต.ค. 65) ผมจึงได้เลื่อนการประชุม ครม.ออกไป เพื่อปฏิบัติภารกิจลงพื้นที่ติดตามการทำงานในระดับพื้นที่ ณ จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดอุบลราชธานี อีกทั้งนำกำลังใจจากคนทั้งประเทศ ไปฝากพี่น้องผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย

จากการรายงานผลการดำเนินงานของทั้งสองจังหวัด ทำให้ผมได้รับทราบว่าได้มีการจัดการสถานการณ์อย่างเต็มที่ ตามแผนเผชิญเหตุที่รัฐบาลได้สั่งการไว้ล่วงหน้า โดยได้เตรียมการไว้ และคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ทั้งกรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย (ปภ.) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น ๆ อีกหลายแห่ง เพื่อระดมสรรพกำลัง ทั้งทรัพยากรบุคคล เครื่องมือ และสิ่งของบรรเทาทุกข์ รวมถึงการประสานงานในการส่งข่าวสารแจ้งพี่น้องประชาชนในการระมัดระวังและช่องทางการขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งทำให้ผมมีความมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้พี่น้องประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำการค้า ประกอบอาชีพ เรียนหนังสือ สัญจรไปมา ได้โดยเร็ว

ซึ่งผมได้เน้นย้ำกับทั้งสองจังหวัดว่า รัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนการปฏิบัติต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบของงบประมาณเพิ่มเติม กำลังคน เครื่องจักรกล และทรัพยากรอื่น ๆ ที่จำเป็นอย่างเต็มที่ โดยสิ่งสำคัญคือเราจำเป็นต้องระบายน้ำให้ได้เร็วและมากที่สุด เพื่อบรรเทาสถานการณ์ และเตรียมพร้อมหากจะมีพายุเข้ามาอีก

'รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์' เตือน!! น้ำท่วมยืดเยื้อ คาด!! ผลกระทบยาวถึงเดือนพฤศจิกายน

คาด!! ผลพวงสถานการณ์พายุโนรู และการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาร่วมสมทบ ทำหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เกิดฝนตกหนักและอุทกภัยหลายพื้นที่ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 มีโอกาสที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบในวงกว้าง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางทีมข่าว THE STATES TIMES ได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ถึงสถานการณ์ฝนตกและน้ำท่วมในปี 2565 ที่จะมีผลกระทบไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ความว่า...

ปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลกระทบลากยาวไปถึงเดือน พ.ย. ได้แก่ ปีนี้ฝนตกหนักกว่าปี 2564 ขณะที่ปริมาณน้ำซึ่งปล่อยผ่านเขื่อนเจ้าพระยา มีการประกาศว่าจะไปที่เพดาน 2,800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที 

นอกจากนี้ยังมีฝนตกที่อุตรดิตถ์, แพร่ และนครสวรรค์ สมทบในช่วงเวลานี้ไปจนถึงกลางเดือน ซึ่งเป็นช่วง Golden Week ที่ต้องเร่งระบายน้ำให้มากที่สุด เนื่องจากหลังจากนี้จะมีย่อมความกดอากาศเกิดขึ้นเยอะ โดยที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะพัฒนาเป็นพายุหรือไม่ แต่จะทำให้ฝนตกหนักขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการเร่งระบายน้ำและทำความเข้าใจกับภาคประชาชน 

รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า ในส่วนของสถานการณ์น้ำท่วมที่อยุธยาในปีนี้ ได้รับผลกระทบหนักกว่าปี 2554 และปี 2564 และจากนี้ไปโดยเฉพาะหลังวันที่ 15 ตุลาคมนี้ มีความกังวลในเรื่องพายุที่จะเข้ามาและทำให้มีปริมาณฝนที่ตกหนักมากขึ้นอีก ประกอบกับในวันที่ 13 - 15 และในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ น้ำจะหนุนสูงสุด หากปล่อยน้ำในช่วงนี้ ก็จะยิ่งทำให้เกิดวิกฤติสูงสุดในช่วงปลายเดือน

รศ.ดร.เสรี เตือนด้วยว่า ภาพรวมในปีนี้ทั้งภาคเหนือ, ภาคกลาง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังไว้วางใจไม่ได้จนถึงสิ้นเดือน โดยเฉพาะทางภาคใต้จะยิ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงสิ้นเดือน พร้อมเผยในส่วนของสถานการณ์พายุทึ่มีการคาดการณ์ไว้ว่า จะเกิดถึง 23 ลูก ซึ่งตอนนี้เกิดขึ้นไปแล้ว 18 ลูก และจะมีการเข้ามาในประเทศไทยอีกอย่างน้อย 1 ลูก เพียงแต่ยังไม่สามารถบอกความรุนแรงและช่วงเวลาที่จะเข้าไทยตอนไหน 

'เพื่อไทย' เตรียมฟื้นโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เหน็บ 'รัฐบาลประยุทธ์' ไม่ต้องทำอะไรเดี๋ยวพท. ทำเอง

ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยนายจิรทัศน์ ไกรเดชาส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขาธิการ และกรรมการคณะยุทธศาสตร์และการเมือง พรรคเพื่อไทย นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย นายอาทิตย์ ภาคอินทรีย์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569  

ดร.ปลอดประสพ กล่าวว่า โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร หรือเจ้าพระยา 2 เป็นส่วนย่อยของโมดูลที่ 5 ของโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยโครงการคลองลัดน้ำแห่งนี้ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ออกแบบระยะทางทั้งหมดอยู่ที่ 30 กิโลเมตร แต่รัฐบาลนี้สร้างระยะทาง 22 กิโลเมตร จะสามารถระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยทอยน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เมื่อรวมเข้ากับน้ำจากแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรี ซึ่งมีปริมาณน้ำรวมกันอยู่ที่ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เหลือน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดปริมาณน้ำไม่ให้เอ่อล้นเข้าสู่พื้นที่พระนครศรีอยุธยาตอนล่างได้ 

ทั้งนี้ คลองลัดน้ำบางบาล-บางไทร จะช่วยระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาหรือลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ทั้งผืน แต่ยังไม่เพียงพอ ต้องสร้างคลองลัดน้ำเส้นหนึ่ง โดยเริ่มที่จังหวัดนครสวรรค์ลงมาทางจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ระยะทางประมาณ 150  กิโลเมตร ซึ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้บรรจุไว้ในแผนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทไว้แล้วเช่นกัน ซึ่งการก่อสร้างจะต้องเป็นไปในแบบ (Design and Build) หรือออกแบบไปสร้างไป ซึ่งสร้างเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด โดยมีกรอบโครงการ และกรอบวงเงินงบประมาณ มีความยืดหยุ่นและปรับแบบได้ ลักษณะเดียวกันกับการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่เป็นลักษณะ Design and Build เช่นกัน 

สำหรับการบริหารสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ดร.ปลอดประสพ กล่าวว่า ขอออกความเห็นในแบบนักวิชาการ ปีนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ตัดสินใจเอาน้ำเข้าทุ่งช้าเกินไป ไม่รู้ว่าสาเหตุมาจากการประเมินสถานการณ์โดยคำนึงถึงเหตุผลทางวิชาการ หรือเหตุผลทางการเมืองกันแน่ ตอนนี้สามารถระบายน้ำเข้า 6 ทุ่ง จากทั้งหมด 11 ทุ่ง ยังเหลือพื้นที่อีกมากที่จะระบายน้ำออก  

นอกจากนี้ยังขอเตือนรัฐบาลด้วยความห่วงใยประชาชน ขณะนี้น้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานใต้น่าเป็นห่วงมาก น้ำจากแม่น้ำชีที่มาจากจังหวัดชัยภูมิ เมื่อรวมเข้ากับลำน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จะทำให้จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดร้อยเอ็ดน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานนับเดือน ส่วนแม่น้ำมูลที่มาจากจังหวัดนครราชสีมา ไหลลงสู่ถนนมิตรภาพมาที่จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดลพบุรี เข้าสู่จังหวัดศรีสะเกษ ทำให้น้ำท่วมสูงที่จังหวัดอุบลราชธานีและน้ำจะลดลงช้า ทั้งหมดเป็นเพราะรัฐบาลตัดสินใจล่าช้า จึงอยากให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีความรู้ใหม่ ๆ และปรับใช้ให้ทันการณ์ด้วย

“การวางแผนโครงการใหญ่ของประเทศ ต้องคิดกรณีเลวร้ายที่สุด ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ใช่เกิดมาเพื่อรอความเสี่ยง โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท พรรคเพื่อไทยทำเสร็จหมดแล้ว พอทำรัฐประหาร พวกท่านเอาใส่ลิ้นชักไว้ตั้งนาน ไม่ทำ กู้ไว้แล้วแต่ไม่ยอมทำ พอทำแล้วก็มาออกแบบใหม่แทนที่จะใช้แบบเดิม กว่าจะสร้างเสร็จ อีก 3 ปี จากนี้ไปประชาชนต้องทรมานสังขารแบบนี้ไปเรื่อยๆ แต่ทำแล้วก็ขอขอบคุณ ส่วนโครงการที่เหลืออีกหลายโมดูล พวกท่านไม่ต้องทำ รอให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเขามาทำจะดีกว่า” ดร.ปลอดประสพ กล่าว  

นายจิรทัศ ไกรเดชา ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเกือบเทียบเท่ากับปี 2554 พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบเกือบครึ่งจังหวัด ทั้งในอำเภอผักไห่ เสนา บางบาล บางปะอิน บางไทร ขณะที่เมื่อวานนี้ (5 ต.ค. 65) พี่น้องประชาชนมีการปะทะกันขอให้เปิดการระบายน้ำในพื้นที่ เพราะตอนนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกปล่อยเกือบ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงอยากให้กรมชลประทานสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน

เขื่อนเจ้าพระยาเข้าขั้นวิกฤต ปักธงแดงแจ้งเตือน น้ำขึ้นอีก 20 ซม.

วันที่ (7 ตุลาคม 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำ ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท กุญแจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำลงสู่ภาคกลาง พบว่าน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาผ่านจุดวัดน้ำค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณน้ำฝนจากทางตอนบนประเทศ วัดได้อัตรา 3,088 ลบ.ม./วิ โดยระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ล่าสุดวัดได้ +17.64 เมตร ระดับน้ำยกตัวขึ้น 30 ซ.ม. ใน 24 ชม. และเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนริมตลิ่งใน 3 อำเภอเหนือเขื่อนเจ้าพระยาคือ อ.เมืองชัยนาท อ.วัดสิงห์ และ อ.มโนรมย์

ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ได้ปรับเพิ่ม อัตราการระบายไปที่ 2,885 ลบ.ม./วิ เพื่อรักษาสมดุลของน้ำเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน และ เพื่อชะลอน้ำเหนือไว้ในลำน้ำเหนือเขื่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งจากการระบายน้ำในเกณฑ์ดังกล่าวส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนยกระดับขึ้นกว่า 20 ซ.ม. ใน 24 ชม. เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ผ่านมาวัดได้ +16.80 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เอ่อล้นสูงกว่าตลิ่งกว่า 40 ซ.ม. ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เขื่อนเจ้าพระยามีการปรับระดับการแจ้งเตือนจากธงเหลือง ในสถานการณ์เฝ้าระวัง ขึ้นเป็นธงแดง ซึ่งเป็นสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต

โดยคาดการณ์ว่าระดับน้ำพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จะสูงขึ้นได้อีก 15-20 ซ.ม.ใน 24 ชม. ข้างหน้า ส่วนพื้นที่เหนือเขื่อนใน อ.เมืองชัยนาท อ.วัดสิงห์ อ.มโนรมย์ ระดับน้ำจะเอ่อล้นขยายวงกว้างมากขึ้น และความสูงของระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 10-15 ซ.ม.


ที่มา : https://www.banmuang.co.th/mobile/news/region/299515

'ชัยวุฒิ' ตรวจน้ำท่วมปทุมธานี เผย รบ.เตรียมผันน้ำลงทุ่ง ชี้!! ที่ลุ่มต้องทำใจ รับคุยชาวบ้านแล้ว ต้องเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกัน

'ชัยวุฒิ' ตรวจน้ำท่วมปทุมธานี ชี้ ระดับน้ำยังคุมได้ มองจังหวัดเตรียมแผนรับมือดีเยี่ยม สิ่งสำคัญต้องอย่าให้ท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ รับที่ลุ่มต่ำต้องทำใจ เผย รบ.เตรียมผันน้ำลงทุ่ง บอกคุยกับชาวบ้านแล้ว ต้องเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกัน

(8 ต.ค.65) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ติดตามสถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดปทุมธานี พร้อมเยี่ยมผู้ประสบภัย ณ องค์การบริหารส่วนตำบลกระแซง

โดยนายชัยวุฒิ ระบุว่า วันนี้ตนได้รับมอบหมายจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมจังหวัดปทุมธานี ตนรับทราบว่าตอนนี้ระดับน้ำท่วมสูงมาก หลายจุดข้ามคันกั้นน้ำเจ้าพระยา ไปท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ เท่าที่ลงพื้นที่ ตอนนี้ยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ตน ขอฝากไปยังพี่น้องประชาชนชาวปทุมธานีว่ายังไม่ต้องเป็นห่วง สถานการณ์น้ำยังป้องกันได้ ตอนนี้น้ำท่วมแค่พื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง ตนต้องขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สามารถป้องกันน้ำได้เป็นอย่างดี

นายชัยวุฒิ บอกอีกว่า จังหวัดปทุมธานีวางแผนการรับมือน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี โดยยังไม่มีรายงานปัญหา เรื่องการตัดน้ำหรือไฟฟ้า ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมมาก มองว่าพื้นที่น้ำท่วมส่วนใหญ่มีความคุ้นชินอยู่แล้ว เพราะการอยู่นอกคันกั้นน้ำหรือผนังกั้นน้ำ เวลาน้ำล้นตลิ่ง จะเป็นชุมชนที่ได้รับปัญหาก่อนอยู่แล้ว แต่นโยบายหลักของรัฐบาลคือต้องทำไม่ให้น้ำข้ามไปท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งจะสร้างความเสียหายมาก

ทั้งนี้ ทางรัฐบาลและจังหวัดปทุมธานีก็ร่วมมือกันได้อย่างดีไม่มีปัญหา มันอยู่ที่ปริมาณน้ำด้วยว่า น้ำที่ไหลออกมาจากทางภาคเหนือ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่เท่าที่ดูจากกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ก็มีข้อมูลว่าช่วงสัปดาห์นี้น่าจะเป็นจุดสูงสุดแล้ว หากเราผ่านจุดนี้ไปได้ก็ไม่มีปัญหาแล้ว

ส่วนการนำข้อมูลกลับไปหารือกับคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว นายชัยวุฒิ ระบุว่าจะนำไปหารือคณะรัฐมนตรี แต่ยอมรับว่าพื้นที่ลุ่มต่ำบางทีอาจต้องยอมรับสภาพเพราะไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ 

“พื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำหรือพื้นที่ลุ่มต่ำก็ต้องยอมรับสภาพว่าบางทีมันไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราต้องมองว่าภาพรวมเราต้องมีระบบป้องกันน้ำท่วมที่ป้องกันพื้นที่ชุมชนพื้นที่เศรษฐกิจหรือพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ให้เสียหาย เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้ตามปกติสุข แต่ส่วนบางพื้นที่ที่เราต้องการไม่ได้จริงๆ เราก็จะดูแลเยียวยาให้มากที่สุด”

‘ชัชชาติ’ ปลื้ม!! 'บิ๊กป้อม' รับเรื่องเร่งรัดทุกหน่วยเกี่ยวข้อง ฟาก ‘กรมชลฯ’ เคาะแผนทางด่วนน้ำ ช่วยระบายให้ได้ตามเป้า

‘ชัชชาติ’ ปลื้ม บิ๊กป้อมรีบรับเรื่อง ไม่เกี่ยง ‘กรมชลฯ’ เคาะแผนทางด่วนน้ำ ขอแค่ช่วยระบายตะวันออก กทม. ให้ได้ตามเป้า 50 ลบ.ม./วินาที ไม่จำกัดเวลา

เมื่อเวลา 12.20 น. วันที่ 8 ตุลาคม ที่สำนักงานเขตดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ในกิจกรรม “ผู้ว่าฯ กทม. สัญจร เขตดินแดง” โดยเปิดเผยถึงการประชุมกับ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2565 ร่วมกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ (7 ต.ค.)

นายชัชชาติกล่าวว่า กทม.มีความกังวลเรื่องการระบายน้ำกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก จึงมีการเสนอแผนทำทางด่วนระบายน้ำ โดยการสร้างอุโมงค์จากเขตลาดกระบัง ลงไปยังคลองร้อยคิว ซึ่งระบายน้ำออกได้ 50 ลบ.ม./วินาที และอยู่พื้นนอกที่ของ กทม. แต่ทางกรมชลประทาน เสนอแผนให้ระบายน้ำในปริมาตรเท่ากัน จากคลองประเวศบุรีรมย์ ไปยังคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต โดยจะเป็นการสร้างคันกั้นน้ำแทน

“ทางกรมชลประทานยืนยันให้เราได้ในปริมาตรที่เท่ากัน และเขารู้สึกว่าทางนี้ดีกว่า ก็คงต้องฟังเขา เพราะเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ อย่างไรก็ตาม เรายืนยันว่าต้องมีการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลาดกระบังได้เร็วจากทางอื่น ที่นอกเหนือจากการเข้ามาที่คลองพระโขนง” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ส่วนโครงการเพิ่มเติมเร่งด่วนที่ กทม.เสนอไป ได้แก่การปรับปรุงสถานีสูบน้ำพระโขนง เพิ่มประสิทธิภาพการสูบน้ำให้ดีขึ้น ต่อมา คือการสร้างเขื่อนตามแนวคลองประเวศบุรีรมย์ตอนปลาย ด้านพระโขนง ให้ครบถ้วน  เพราะปัจจุบันมีเขื่อนไม่ครบทุกแนว ทำให้น้ำท่วมย่านพัฒนาการ โดยแผนที่เสนอไปจะอยู่ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567-2568 ซึ่งก่อนถึงปีงบประมาณนั้น ทาง กทม.จะทำการขุดลอกคลองเพิ่มเติม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top