'รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์' เตือน!! น้ำท่วมยืดเยื้อ คาด!! ผลกระทบยาวถึงเดือนพฤศจิกายน

คาด!! ผลพวงสถานการณ์พายุโนรู และการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาร่วมสมทบ ทำหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เกิดฝนตกหนักและอุทกภัยหลายพื้นที่ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 มีโอกาสที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบในวงกว้าง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางทีมข่าว THE STATES TIMES ได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ถึงสถานการณ์ฝนตกและน้ำท่วมในปี 2565 ที่จะมีผลกระทบไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ความว่า...

ปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลกระทบลากยาวไปถึงเดือน พ.ย. ได้แก่ ปีนี้ฝนตกหนักกว่าปี 2564 ขณะที่ปริมาณน้ำซึ่งปล่อยผ่านเขื่อนเจ้าพระยา มีการประกาศว่าจะไปที่เพดาน 2,800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที 

นอกจากนี้ยังมีฝนตกที่อุตรดิตถ์, แพร่ และนครสวรรค์ สมทบในช่วงเวลานี้ไปจนถึงกลางเดือน ซึ่งเป็นช่วง Golden Week ที่ต้องเร่งระบายน้ำให้มากที่สุด เนื่องจากหลังจากนี้จะมีย่อมความกดอากาศเกิดขึ้นเยอะ โดยที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะพัฒนาเป็นพายุหรือไม่ แต่จะทำให้ฝนตกหนักขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการเร่งระบายน้ำและทำความเข้าใจกับภาคประชาชน 

รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า ในส่วนของสถานการณ์น้ำท่วมที่อยุธยาในปีนี้ ได้รับผลกระทบหนักกว่าปี 2554 และปี 2564 และจากนี้ไปโดยเฉพาะหลังวันที่ 15 ตุลาคมนี้ มีความกังวลในเรื่องพายุที่จะเข้ามาและทำให้มีปริมาณฝนที่ตกหนักมากขึ้นอีก ประกอบกับในวันที่ 13 - 15 และในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ น้ำจะหนุนสูงสุด หากปล่อยน้ำในช่วงนี้ ก็จะยิ่งทำให้เกิดวิกฤติสูงสุดในช่วงปลายเดือน

รศ.ดร.เสรี เตือนด้วยว่า ภาพรวมในปีนี้ทั้งภาคเหนือ, ภาคกลาง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังไว้วางใจไม่ได้จนถึงสิ้นเดือน โดยเฉพาะทางภาคใต้จะยิ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงสิ้นเดือน พร้อมเผยในส่วนของสถานการณ์พายุทึ่มีการคาดการณ์ไว้ว่า จะเกิดถึง 23 ลูก ซึ่งตอนนี้เกิดขึ้นไปแล้ว 18 ลูก และจะมีการเข้ามาในประเทศไทยอีกอย่างน้อย 1 ลูก เพียงแต่ยังไม่สามารถบอกความรุนแรงและช่วงเวลาที่จะเข้าไทยตอนไหน 

รศ.ดร.เสรี กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อสภาพอากาศ 5 ประการ คือ 1.ฝนตกหนัก, 2.น้ำท่วม, 3.คลื่นความร้อน, 4.ภัยแล้ง ซึ่งในอนาคตอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้น 47- 50 องศา และ 5.ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้เกิดความกังวลเพราะอยู่ในระดับเพิ่มขึ้นแบบถาวร พื้นที่ริมทะเลจะมีปัญหามาก โดยความเสี่ยงที่ต้องรับมือ 2 อันดับแรก คือ น้ำท่วม กับ ภัยแล้ง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะเกิดภัยแล้งที่สุด จึงขอฝากให้รัฐบาลบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานที่เกิดภัยแล้งในทุกปี เพราะไม่มีที่กักเก็บน้ำ และมีการใช้น้ำเยอะโดยเฉพาะข้าวของไทยที่ใช้น้ำเยอะมากแต่ผลผลิตออกมาไม่ดี ทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหายอย่างหนัก

สำหรับน้ำในทุ่งภาคกลางในตอนนี้มีปริมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หากฝนตกจะมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หากไม่มีการปล่อยน้ำจากทุ่งภาคกลาง จะทำให้น้ำท่วมในกรุงเทพมหานครอย่างหนัก และมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย และมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมจากการที่ฝนตกหนักในฤดูฝน 

รศ.ดร. เสรี กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในทุกๆ ปี เกิดจาก Climate change เนื่องจากทุกวันนี้อุณหภูมิสูงขึ้นตลอดเวลา ทำให้ไอน้ำมีเยอะขึ้นในชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะในปีนี้ความชื้นเยอะมาก เมื่อไอน้ำระเหยออกไปและเจอความเย็นที่มาจากทะเล ทำให้เกิดฝนตกหนัก และการสร้างคันยกถนน ทำให้ประชาชนที่อยู่ริมน้ำได้รับผลกระทบ และอย่าไปติดกับดักกับปี 2554 เพราะรูปแบบของฝนที่ตกแตกต่างกัน โดยในภาคเหนือน้อยกว่าปี 2554 ทำให้ไม่มีมวลน้ำจากภาคเหนือเข้ามา แต่สถานการณ์ฝนในภาคกลางปีนี้ หนักกว่าปี 2554 ทำให้น้ำหลากเข้าท่วมทั่วพื้นที่ในภาคกลาง เนื่องจากเป็นที่ราบต่ำ