‘เดชรัต’ หวั่น 6-10 ต.ค. 'กทม.-นนทบุรี' เสี่ยงท่วมหนัก ชี้!! รัฐต้องแจ้งแผนโดยเร็ว ปชช.จะได้เตรียมตัวถูก

‘เดชรัตน์-ก้าวไกล’ เตือน ลุ่มน้ำเจ้าพระยาส่อวิกฤต 6-10 ต.ค. น้ำทะเลหนุนสูง กรุงเทพ-นนทบุรีเสี่ยงท่วมหนัก ชี้ รัฐบาลต้องประกาศแผนเผชิญเหตุให้ทราบโดยเร็ว

เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล ได้ออกมาเตือนสถานการณ์ สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีความเสี่ยงสูงมากที่จะมีน้ำท่วมในวงกว้างซึ่งกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะได้รับผลกระทบ 

เดชรัตกล่าวว่า ปริมาณน้ำเหนือยังคงเพิ่มมาเรื่อย แม้จะไม่มากเท่าปี 54 แต่เขื่อนต่าง ๆ เริ่มมีความสามารถในการรับน้ำได้อีกไม่มาก และยังต้องระบายออกต่อไป เพราะ ด้วยอิทธิพลของปรากฎการณ์ลานิลญา ทำให้ภาคเหนือและภาคกลางยังมีฝนต่อเนื่องจนถึงปลายเดือนตุลาคม ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ล่าสุดเขื่อนเจ้าพระยาประกาศว่า อาจจะปล่อยน้ำสูงถึง 2,800 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนป่าสักอาจปล่อยน้ำสูงถึง 800 ลบ.ม./วินาที 

สำหรับสถานการณ์น้ำในแต่ละจังหวัดในลุ่มน้ำพระยาตอนบน จากข้อมูลที่รวบรวมจากที่ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคก้าวไกล พบว่าในเขื่อนต่าง ๆ เช่น เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสัก เพิ่มการระบายน้ำเร็วมาก บางพื้นที่คันกั้นน้ำแตกเสียหาย พื้นที่ที่ไม่เคยท่วมมากก่อน ประชาชนต้องอพยพข้าวของอย่างฉุกละหุก นอกจากนี้ ยังพบว่า ประชาชนในศูนย์อพยพหลายแห่ง ยังไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ เช่น เต้นท์ไม่พอ สุขาไม่พอ

“ในพื้นที่ อ.บางบาง จ.อยุธยา ที่เป็นทุ่งรับน้ำเกิดความขัดแย้งขึ้น จากการที่มีบ่อทรายและบ่อขยะอยู่ในพื้นที่ทุ่งรับน้ำ ทำให้ไม่มีการปล่อยน้ำลงทุ่งรับน้ำแบบที่ควรจะเป็น ในขณะที่ประชาชนบางส่วนที่ได้รับควาทเดือดร้อนเรียกร้องให้ปล่องน้ำเข้าสู่ทุ่งรับน้ำ”

สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เมื่อเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักปล่อยน้ำมามากขึ้น ทำให้ปริมาณการไหลของน้ำที่จุดบางไทร ซึ่งเป็นจุดวิกฤตสำหรับพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง รวมถึงกรุงเทพและปริมณฑล ปริมาณการไหลของน้ำอาจสูงเกิน 3,300-3,500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งแปลว่า จะเต็มอัตราความจุของลำน้ำตามธรรมชาติพอดี และยังเป็นข้อจำกัดในการระบายน้ำด้วย แถมด้วยปัจจัยน้ำทะเลหนุนสูง ตั้งแต่วันที่ 6-10 ตุลาคม 2565 จะทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างมาก 

“นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จากวันนี้ไป พื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา และคลองอ้อมนนท์ จะมีความเสี่ยงสูงมาก คันกันน้ำชำรุด น้ำท่วมขังจากฝนตกหนักในหลายพื้นที่ไม่สามารถระบายน้ำได้ เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุนมาพร้อมกันทำให้ระบบระบายน้ำไม่สามารถรองรับฝนหนักมาก ที่มีปริมาณฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตรได้ดีนัก แม้ว่าตอนนี้ อปท. ต่าง ๆ ทำการพร่องน้ำในคลอง ในท่อ ยังเต็มที่ แต่ความสามารถในการสูบน้ำอาจทำได้จำกัดมากขึ้น ส่วนในกรุงเทพมหานครยังต้องระมัดระวัง การระบายน้ำไปในพื้นที่ทางตะวันออกของกรุงเทพมหานครด้วย” 

เดชรัต กล่าวต่อว่า ปัญหาในการรับมืออุทกภัยในปี 2565 โดยภาพรวมแม้ว่า พื้นที่และระดับการท่วมของน้ำจะไม่มากเท่าระดับปี 2554 แต่ก็มีพื้นที่และประชาชนที่ประสบภัยมากกว่าปี 2564 แน่นอน เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรยกระดับการเตรียมความพร้อมรับมือ การเผชิญเหตุ และการเยียวยาขั้นสูงสุด 

“การจัดการน้ำของรัฐบาลในปีนี้มีปัญหาทั้ง 1. การเตือนภัยที่ไม่ชัดเจน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเตรียมตัวได้อย่างถูกต้อง ต้องอพยพของหนีน้ำหลายครั้ง 2. การบริหารจัดการน้ำ ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และไม่ได้ประกาศแนวทางการจัดการน้ำที่ชัดเจน 3. การประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติที่ล่าช้า ขาดการเตรียมความพร้อมวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น กระสอบทราย หรือเต้นท์สำหรับผู้อพยพ เพราะปัญหาระบบการเบิกจ่ายงบประมาณ จากความกังวลใจปัญหาการตรวจสอบที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 4. การขาดมาตรฐานในการจัดการในศูนย์พักพิง/ศูนย์อพยพ 5. ปัญหาจากการวางผังเมือง และการก่อสร้างอาคารหรือการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นการรุกล้ำลำน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่”

สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ คือ รัฐบาล และหน่วยงานรับผิดชอบ (เช่น กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน) ต้องประกาศความชัดเจนในแนวทางการบริหารจัดการการระบายน้ำในช่วงอุทกภัยนี้ และต้องทำให้ระบบเตือนภัย การประกาศเขตภัยพิบัติ และการช่วยเหลือเยียวยาทำได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสมต่อสถานการณ์

“จากการรวบรวมปัญหาจากผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล หลายพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนทำงานในการรับมือสถานการณ์น้ำได้เร็ว เช่น การจัดการประตูระบายน้ำที่ จ.นนทบุรี เราเชื่อว่าถ้าเร่งกระจายอำนาจและงบประมาณการจัดการน้ำให้ท้องถิ่น เราจะมีขีดความสามารถในการดำเนินการต่าง ๆ เหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น” เดชรัตน์กล่าวทิ้งท้าย