Friday, 3 May 2024
นักการเมือง

ความดีที่ถูกมองข้าม เทียบมุมมองนักการเมืองที่ดีในทัศนะของคนอินเดีย ในขณะที่ไทยยังชิงอวด ‘ความเก่ง’ เหนือ ‘ความดี'

 

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเลือกตั้งในบ้านเรา ระบอบประชาธิปไตยที่ดีจะอยู่รอดได้หรือไม่ แล้วเราคนไทยเคยนึกถึงนิยามของ ‘นักการเมืองที่ดี’ แล้วหรือยัง? ทุกวันนี้ทุกพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้งบ้านเราล้วนแล้วแต่ขาย ‘ความเก่ง’ และแทบไม่มีพรรคการเมืองไหนขาย ‘ความดี’ เลย จึงขอนำเสนอบทความนี้ ซึ่งการกล่าวถึง นักการเมืองที่ดีในทัศนะของคนอินเดีย

ชาวอินเดียจะได้รับประโยชน์มากมายจากงานวิจัยในเรื่อง ‘ใครคือนักการเมืองที่ดี’ เพราะเราเคยถามกันไหมว่า ‘นักการเมืองที่ดีเป็นอย่างไร?’ อย่างไรก็ตาม ในประเทศอย่างเรา (อินเดีย) การถกเถียงกันเรื่องการเมืองเป็นเรื่องปกติที่แผงขายน้ำชาริมถนนและบนรถไฟ แต่เราบังเอิญหลีกเลี่ยงคำถามนี้ การอภิปรายเหล่านี้ส่วนใหญ่มีนัยยะเชิงวิพากษ์ มีการแบ่งขั้วตามอุดมการณ์ทางการเมืองที่ใคร ๆ มอบให้ และส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ว่าด้วย ‘การเลือกคนที่เลวที่น้อยกว่า’ แล้วอะไรล่ะที่ขัดขวางไม่ให้เราปล่อยตัวปล่อยใจไปกับความจริงที่สำคัญของคำถาม?

ผู้คนต่างพากันคลั่งไคล้ในความคิดที่ว่า รัฐบาลปล่อยให้พลเมืองไม่มีการศึกษา เพราะมันง่ายที่จะปกครองพลเมืองที่ไร้การศึกษา แต่ในปัจจุบันด้วยความสามารถของอินเทอร์เน็ต อุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลได้ถูกทำลายลง และประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เพียงแค่สัมผัสสมาร์ทโฟน สิ่งนี้น่าจะทำให้พลเมืองของประเทศหนึ่งหลงระเริงกับการคอร์รัปชั่น อัตราการเกิดอาชญากรรมสูง และทุกสิ่งที่ไม่ถูกต้องในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อค้นหานักการเมืองที่เหมาะสมเป็นตัวแทนของพวกเขา

บางคนบอกว่า ‘นักการเมืองสมัยนี้ไม่ดีพอ’ สำหรับบางคน ‘การเมืองไม่เคยสร้างประโยชน์อะไรเลย’ และในขณะที่ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งบอกว่าเป็นพวกที่ ไม่ยุ่งกับการเมือง" แม้ว่าก่อนหน้านี้จะบ่งชี้ว่าผู้คนกำลังหมดความสนใจในการเมือง แต่การเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วสู่ยุคดิจิทัลทำให้ผู้คนหันไปสนใจเรื่องการเมืองในทันที แม้ว่าจะมีทั้งเรื่องแย่และแย่กว่าก็ตาม

ระบอบประชาธิปไตยของอินเดียที่ปรารถนาจะเป็นมหาอำนาจและศูนย์กลางความรู้ของโลกได้พยายามดิ้นรนเพื่อให้ทันกับธรรมชาติของการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป คนอินเดียเคยยกย่องชื่นชมนักการเมืองรุ่นแรกที่เติบโต และเป็นผลพวงของการต่อสู้เพื่อเอกราชกับการปกครองของอังกฤษ เราบูชาเสน่ห์และวิธีการของมหาตมะ คานธี ความเรียบง่ายของศาสตรี ความมุ่งมั่นของพาเทล ความรู้และวิสัยทัศน์ของอัมเบดการ์ ความซื่อสัตย์ของชอมธารี จรัล ซิงห์ และคนอื่น ๆ เรามีชีวิตอยู่ในความถวิลหาผู้นำที่เป็นไอดอลในสมัยก่อน แต่ไม่เต็มใจที่จะพัฒนาผู้นำสำหรับอินเดียในอนาคต หากรัฐบาลชุดก่อน ๆ หรืออย่างน้อยที่สุดพรรคการเมืองได้ลงทุนเพื่อหาผู้ที่เหมาะสมลงแข่งขันในการเลือกตั้ง ประเทศจะได้ประโยชน์มากมายจากมัน แต่เราจะไปจุดนั้นได้อย่างไร?

ประเทศที่พัฒนาแล้วได้มาถึงจุดที่พวกเขาอยู่ เพราะพวกเขาเข้าใจถึงความสำคัญของการวิจัยและได้ลงทุนกับมัน เราต้องเข้าใจว่าความรู้มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ความรู้เกี่ยวกับกลไกที่ยั่งยืนในการระบุประเภทผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เหมาะสมจะให้ผลลัพธ์ดังที่คาดหวัง แต่ในอินเดีย ทั้งประชาชนและพรรคการเมืองไม่ได้ทำงานเพื่อริเริ่มวาทกรรมว่า 'ใครเป็นนักการเมืองที่ดี' เป็นเพียงตำนานหรือสามารถกำหนดคุณลักษณะของ 'นักการเมืองที่ดี' ได้จริงหรือไม่?

งานวิจัยก่อนหน้านี้โดย ศ. Rainbow Murray (สำนักการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วิทยาลัย Queen Mary มหาวิทยาลัยแห่ง London) ในปี ค.ศ. 2010 และ ค.ศ. 2015 และ Reuven Hazan & Gideon Rahat ในปี ค.ศ. 2010 แสดงให้เห็นว่า บรรดาพรรคการเมืองใช้เกณฑ์อัตวิสัยหลายอย่างในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่น ฝีปาก ความฉลาด และความสามารถพิเศษ พวกเขาอาจเลือกผู้สมัครตามตัวแปรที่ไม่มีความชัดเจน เช่น ความภักดีต่อพรรค ความสัมพันธ์ในครอบครัว และอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ศ. Murray ให้เหตุผลว่าการใช้ตัวแปรอื่นแทน เช่น 'ความสำเร็จทางการศึกษา' และ 'เส้นทางอาชีพ' เพื่อวัดความเก่งกาจและความสามารถพิเศษเป็นการสร้างปัญหา เนื่องจากการศึกษาที่ใช้เกณฑ์เหล่านี้อาจพบว่า เป็นการยากที่จะแยกแยะระหว่างผู้ที่ได้รับสถานะทางสังคมสูงระหว่างผู้ที่บรรลุและผู้ที่ได้รับมาโดยสิทธิพิเศษ การวิจัยของ ศ. Murray ทำให้เธอสรุปได้ว่า ผู้สมัครที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเลือกตั้งคือ บุคคลที่มีความรู้จริง และพิสูจน์ได้สามารถจัดการปัญหา โดยเฉพาะปัญหาที่ผู้คนต้องเผชิญและอุทิศตนเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านั้น บุคคลนั้นควรมีทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ที่โดดเด่น และควรสามารถต่อสู้เพื่อให้ได้เหตุผลและสามารถเจรจาประนีประนอมได้เมื่อจำเป็น ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่า คุณสมบัติที่เธอระบุสำหรับนักการเมืองที่ดีคือ ความรู้ ทัศนคติในการแก้ปัญหา ความตั้งใจในการทำงาน และทักษะในการสื่อสารและได้รับสนับสนุนที่ดี

‘สาธิต’ เผย สงกรานต์ปีนี้ ‘นักการเมือง’ ต้องมีจิตสำนึก งดช่วยเหลือคนทำผิดกฎจราจร เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ

(10 เม.ย.66) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. กล่าวในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวสงกรานต์ 2566 ยึดหลัก “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ว่า ตนอยากกำชับว่ามีการรณรงค์เรื่องการลดอุบัติเหตุทางท้องถนนในทุกปี แต่ยังพบว่ามีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นปีละประมาณ 26,000 ราย ทั้งนี้ มั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงอยากฝากถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เรื่องการบังคับใช้กฎหมายในช่วงเวลานี้ ให้เคร่งครัด ไม่ประนีประนอม ได้แก่ 1.การขับขี่ด้วยความเร็ว 2.การตรวจวัดแอลกอฮอล์ ซึ่งให้มีการควบคุมตัว 3.การคาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกกันน็อก และ 4.การจำหน่ายแอลกอฮอล์ให้เด็ก หรือจำหน่ายนอกช่วงเวลาที่อนุญาต ตนจึงอยากให้ ตร. ออกหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ ให้เคร่งครัดและไม่ประนีประนอมในข้อหาดังกล่าว

‘ดร.เสรี’ ซัด!! ตอนอายุ 20 ดูใสๆ น่ารัก  แต่พอ 40 มาทำงานการเมือง ดูน่ารังเกียจ

(28 เม.ย.66) ดร.เสรี วงษ์มณฑา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า…

“น่าเสียดาย เรียนก็เก่ง มหาวิทยาลัยที่เรียนก็ชั้นนำ หน้าตาก็ดี ตอนยังไม่เข้ามาทำการเมืองพูดจาใสๆ ดูน่ารักน่าเอ็นดู แต่พอเข้ามาทำงานการเมืองเท่านั้นแหละ เปลี่ยนไปเลย

ก่อนมาเป็นนักการเมือง ก็สร้างวีรกรรมให้คนเขาดรามากันไปทั่ว เมียมีเพื่อนเป็นกะเทยก็ไม่ได้ ถึงขนาดทำร้ายร่างกายเมีย เป็นเรื่องลบติดตัวมาถึงเวลานี้

เคยพูดว่างบประมาณสำหรับข้าราชการบำนาญว่าเป็นงบช้างป่วย พอโดนต่อต้าน และจะทำให้เสียคะแนนของผู้สูงวัย ก็บอกว่าไม่ได้พูด

ชั้นเชิงสุดเคี่ยวของนักการเมืองทรงไทย ตรงไหน 'ไม่ชัวร์-ไม่คุ้ม-ไม่ยุ่ง' ส่วนนักการเมืองจุ้น ทะลึ่งสั่งการปูติน ถูกเครมลินจ้องเรียบร้อย

(7 พ.ค.66) จากเฟซบุ๊ก 'สมเกียรติ โอสถสภา' ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ 'ข้อดีของนักการเมืองแบบไทย ๆ คือมีความคุ้นเคยกับวิถีนักเลงกันเป็นอย่างดี' ระบุว่า...

วิถีนักเลงแบบไทย ๆ ตรงไหนไม่ชัวร์ ไม่คุ้ม ไม่ยุ่ง

อะไรฝากได้ก็ฝากไว้ก่อน ค่อยว่ากันอีกที 

ก็เหมือนมวยไทยชั้นดี ต้องหยั่งเชิงกันก่อนซัก 2-3 ยก 

ถ้ายกแรกเดินเข้าแลกเลย ถือว่าเป็นมวยวัด 

ตอนปูตินยกทัพบุกยูเครน มีนักการเมืองไทยคนเดียว ที่ทะเล่อทะล่าออกไปสั่งการปูติน

บอกปูตินไปอย่างหนักแน่นว่า ประชาธิปไตยยูเครนของข้า ใครอย่าแตะ

ลงชื่อกำกับไว้ด้วย คงคิดว่าเหมือนประท้วงแถวนี้ ถ่ายรูปชูนิ้วแล้วแยกย้ายกลับบ้าน

ข่าวกรองรัสเซียวิ่งกันให้วุ่น ทำแฟ้มประวัตินักการเมืองไทยคนนี้ ส่งเข้าระบบทำเนียบเครมลิน

ส่วนนักการเมืองไทยคนอื่น ไม่มีใครสนใจจะแสดงจุดยืน

นอกจากจุดยืนที่ว่า ไม่ต้องมีจุดยืนกันนะพวกเรา นั่งนิ่ง ๆ ทรงจะสวยกว่า

เค้าล่อกันอยู่ตั้งไกล ยังไงเราก็ไม่โดน

เป็นความรู้ที่ได้มาจากชีวิตจริง ไม่ต้องไปเรียนจากไอวีลีก

ฉลาดแต่ไม่เฉลียว สำหรับยุคนี้มันอันตราย

กองเรือสหรัฐล้อมยาว ตั้งแต่ไต้หวันลงมาถึงอ่าวไทย 

ญี่ปุ่นเตรียมพร้อมเป็นสำนักงานนาโต้สาขาสอง 

มีคนส่งจดหมายฟ้องสภาสหรัฐ ว่าการเลือกตั้งไทยไม่โปร่งใส

เปิดช่องให้สหรัฐบีบไทย เรื่องตั้งฐานทัพ

จริง ๆ ควรส่งฐานทัพสหรัฐไปให้สิงคโปร์ เพราะเป็นชาติที่รับลูกสหรัฐและยุโรปทุกเรื่องเป็นประจำอยู่แล้ว

ยินดีกับผู้ประกอบการและลูกจ้างโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ไกด์ทัวร์ คลับบาร์ รถเช่า รถทัวร์ ด้วยครับ

‘เจ๊จุก คลองสาม’ แชร์คำบอกเล่าผู้ร่วมชุมนุมกับกลุ่มทะลุแก๊ส ชี้!! ไม่เด่นไม่ดัง ปั่นกระแสไม่ได้ นักการเมืองไม่มีทางมาช่วย

(10 พ.ค. 66) ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ‘KopGap Jirapas’ ได่โพสต์ข้อความระบุว่า วันนี้มาเยี่ยมเพื่อนเราที่เรือนจำครับ ทั้งหมด 5 คน ที มาย ต๊ะ ม๊ะ แน๊ก ทุกคนกำลังใจดีมาก มีแน๊กคนเดียวที่น้ำตาซึมจะร้องไห้ เพราะน้องบอกว่ารับสารภาพไปแล้ว รอตัดสินวันที่ 31 นี้ ที่แน๊กตัดสินใจยอมรับผิด ทั้งที่เขาไม่ได้เป็นคนทำ เพราะน้องบอกว่าโดนทิ้ง ทนายที่ทำคดีก็ไม่รู้ว่าคนไหน มีทนายเข้ามาเยี่ยม ฝากให้โทรหาแม่ ทนายก็บอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของเขา และตัดสินใจยอมรับสารภาพเพื่อหวังจะ ได้ลดโทษ 

เพื่อไม่ให้น้องรู้สึกโดดเดี่ยว ผมได้สัญญากับน้องไว้ว่า 31 นี้ผมจะปฟังคำตัดสินเป็นเพื่อนน้องที่ศาลอาญารัชดา

ต่อมาเพจ ‘เจ๊จุก คลองสาม’ ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า ตัดสินใจยอมรับสารภาพ เพื่อได้ลดโทษ คดีครอบครองวัตถุระเบิด 

"น้องบอกว่าโดนทิ้ง ทนายที่ทำคดีก็ไม่รู้ว่าคนไหน ทนายที่เข้าเยี่ยมบอกให้โทรหาแม่ด้วยเพราะไม่ใช่
หน้าที่เขา"

ก็นั่นสินะคะ ไม่ดังเหมือนเด็กหยก ปั่นกระแสไม่ได้ว่าเป็นคดีการเมือง นกม.ก็คงไม่มาช่วยหรอกคะ มันเจ็บจี้ดด!!!

นอกจากนี้ยังได้แชร์รูปภาพโควทคำพูดของ แน๊ค ทัตพงศ์ ผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดี ที่ระบุว่า “กับการเลือกตั้ง ผู้รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกอะไร อยู่ข้างในนี้มันทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ผมไม่ได้คาดหวังกับการเมืองขนาดนั้น ตอนนี้ผมคิดแค่เรื่องของผมแล้้ว ไม่ได้อยากฝากคำถามถึงใคร (นักการเมือง) ด้วย ถ้าเขาอยากช่วยเหลือ เขาคงช่วยแล้ว”

ทั้งนี้ แน๊ค ทัตพงศ์ ถูกจับกุมจากม็อบช่วงประชุม APEC ตามหมายจับของศาลอาญา จากการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มทะลุแก๊สที่ถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 แจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวเนื่องกับการครอบครองวัตถุระเบิดและยุทธภัณฑ์ในช่วงการชุมนุมของทะลุแก๊ส

เมื่อการเมืองไทย สร้างนักการเมืองที่มุ่งหาแต่ผลประโยชน์ และประชาชนที่ยอมซื้อสิทธิ์ ขายเสียง เพื่อแลกกับเงินเล็กๆ น้อยๆ

อนิจจา… ประเทศไทย : อาชีพใหม่กับการเลือกตั้ง

มองในมุมลบ กับการเมือง นักการเมืองในประเทศไทย ปัจจุบันนี้ไม่น่าจะดีไปกว่าเดิมมาก นักการเมืองก็ยังหวังแต่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานอำนาจ แสวงหาประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ประชาชนเองก็หวังแต่เงินเล็ก ๆ น้อย ๆ จากนักการเมืองที่มาหว่านซื้อเสียง รับจ้างฟังปราศรัย

การเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา น่าสะพรึงกลัว เดี๋ยวนี้ มีทั้ง

- มีหัวคะแนนหมู่บ้านฯละ 3-4 คน /ผู้สมัครที่ 1 พรรคการเมือง
- มีคนรับจ้างฟังปราศรัย ค่าหัวครั้งละ 300 บาท มีนายหน้าคอยจัดการส่งสัญญาณ ไปยังเครือข่าย ทุกพรรคที่มีการปราศรัย และต้องการระดมคนฟัง จะมีสายรับงานระดมคนให้ พร้อมรับค่าจ้าง ค่าจัดการ
- ซื้อสิทธิ์ นักการเมืองหว่านเงินลงมาจำนวนมหาศาล ซื้อสิทธิ์จากประชาชน หัวละ 300 ไม่ต้องพูดถึง รอบแรก 500 รอบสอง 500 รวมเป็นหัวละ 1000 บาท ต้องซื้อ 4-50,000 หัว หวังผล 50% พูดถึงตัวเลขเงินที่ใช้กันแล้ว ‘ขนลุกขนพอก’
- ขายเสียง ประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์ พร้อมจะขายเสียงแลกกันเงินเล็กน้อย เพื่อประทังชีวิต รับจ้างปราศรัยครั้งละ 300 ก็เท่ากับหมู 2 กิโลกรัม
- จ่ายเงินกันมโหฬาร นักการเมืองไม่รู้เอาเงินมาจากไหน จ่ายกันจริงจ่ายกันจัง จ่ายกันแบบผิดกฎหมาย แต่ กกต.ไม่มีปัญญาจับมือใครดม หรือเอาผิดได้ตามกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่การใช้เงินก็โฉงเฉง
- ถึงเวลานักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ก็ใช้ตำแหน่ง-อำนาจ ที่ได้มาจากประชาชนด้วยการซื้อ ถอนทุนคืน หรือเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง
- ถอนทุนคืน การถอนทุนคืนก็ต้องมีกำไรด้วย เพื่อรองรับไว้เลี้ยงทีมงาน และรองรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วยกับช่วงเวลา 4 ปีระหว่างอยู่ในตำแหน่ง (ถ้าไม่ยุบสภาเสียก่อน)

ลองคิดดูประเทศมันจะดีขึ้นอย่างไร นักการเมืองไม่มีเวลาคิดเรื่องชาติ-บ้านเมือง คิดแต่หาช่องทางถอนทุนคืน คนที่น่าสงสารคือคนสอบตก จ่ายเงินไปพอๆกับคนที่ชนะการเลือกตั้ง แต่แพ้ ไม่มีตำแหน่งหน้าที่-อำนาจ ให้ไปใช้ถอนทุน เว้นแต่เป็นพรรครัฐบาล อาจจะมีตำแหน่งทางบริหารอื่น ๆ ตอบแทนคะแนนปาตี้ลิสต์ ก็พอจะมีหน้ามีตา มีตำแหน่ง-อำนาจให้ก้าวเดินไปในสังคมได้บ้าง และอาจจะพอมีช่องทางใช้อำนาจแสวงหาได้บ้าง

บอกตามตรงว่า ผมเองรักและศรัทธาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันเป็นระบอบตัวแทน ประชาชนเลือกตัวแทนไปทำหน้าที่แทน เรียกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แต่ไม่ศรัทธาต่อการได้มาซึ่ง ส.ส. ในสถานการณ์ปัจจุบัน มันไร้เกียรติ์ ไร้ศักดิ์ศรี การประพฤติปฏิบัติของ ส.ส. ก็ไม่น่าศรัทธา ผมจึงไม่ศรัทธาต่อการเลือกตั้งในปัจจุบัน กับการกำกับการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามคำขวัญ ‘สุจริต เที่ยงธรรม’

มันเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตจริงหรือ ชาวบ้านร้านตลาดรู้กันหมดว่า ใคร พรรคไหน ซื้อเสียงหัวละเท่าไหร่ มีการปราศรัยรับปากว่าจะให้ มีการจัดเลี้ยง มีกาาข่มขู่หัวคะแนนฝ่ายคู่แข่ง และสุดท้ายคือ ซื้อหัวคะแนนคู่แข่ง

มันเที่ยงธรรมจริงหรือ อยากจะถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และทุกกลไกของ กกต. เช่น ผู้ตรวจการเลือกตั้งว่า พอใจต่อผลการจัดการเลือกตั้งแล้วหรือ

กลไกลของ กกต. ทุกองคาพยพ พอจะพูดได้เต็มปากเต็มคำอย่างไม่อายใครได้จริงหรือ ว่า เป็นการเลือกตั้งที่ ‘สุจริต เที่ยงธรรม’ ในฐานะองค์กรหลักของประเทศ

‘ด้อมการเมือง’ ผลิตผลจากนักการเมืองหิวแสง หน่วยพิทักษ์สุดคลั่ง หนักถึงขั้นถวายชีวิต

‘Political Fandom’ หรือปรากฏการณ์แฟนด้อมการเมือง ที่เริ่มมีส่วนร่วมในการเมืองสมัยใหม่นั้น เริ่มถูกพูดถึงในวันที่ ‘นักการเมือง’ ไม่ใช่แค่บุคคลที่มีชื่อเสียง แต่เริ่มกลายเป็นบุคคลที่มีผู้คนตาม ‘กรี๊ด’ 

มีบางคำถามผุดขึ้นมาว่า ‘นักการเมือง’ ควรอยู่ในสภาพของการให้ความสำคัญแบบที่ ศิลปิน ดารา นักร้อง นักกีฬา ได้รับกันหรือไม่? เพราะนักการเมืองถือเป็นบุคคลที่ต้องคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือ สุขุม หรือจะพูดแบบตรงๆ ก็คือ ต้องทำตัวให้แตะต้องยากหน่อย 

>> เรื่องนี้ เดี๋ยวมีคำตอบ!! แต่ก่อนอื่นอยากให้ลองทำความเข้าใจกันก่อนว่า แฟนด้อมการเมืองมันคืออะไร? และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ต้องยอมรับก่อนว่า ในวันที่โซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลต่อการถ่ายทอดตัวตนของใครก็ได้ในโลกให้คนทั้งโลกได้รู้จักตัวเองและสินค้าบริการของตน เนื่องจากมันประหยัดตังค์มากกว่า การนำเงินก้อนโตไปโอ๋สื่อช่องใหญ่ ที่จ่ายไปก็อาจจะได้ยอดคนรับรู้กลับมาแค่น้อยนิดนั้น ทำให้ทุกวงการ ศิลปิน ดารา นักร้อง นักกีฬา หรือแม้แต่ประชาชนคนธรรมดา เริ่มขยายขอบเขตความรู้จักของตนได้กว้างขึ้นผ่านช่องทางนี้

โลกของการเมือง ก็ไม่ต่างกัน ไอ้ที่จะใช้หัวคะแนน หรือเอาเงินไปหว่านแห่ซื้อแบบแต่ก่อน มันก็ไม่ค่อยได้ผล เพราะจ่ายไป ใช่ว่าคนจะเลือก หรือจะรัก

ดังนั้นนักการเมืองในทศวรรษใหม่ จึงแปลงร่างตัวเองเป็น ‘นักการเมืองแบบเซเลบริตี้’ (Celebrity Politics) ที่เค้นคุณสมบัติที่สร้างแรงกระเพื่อมต่ออารมณ์คนติดตามได้ดี เช่น ภาพลักษณ์ที่ดี คำพูดคมๆ การสร้างตัวตนที่สะท้อนถึงการเป็นคนร่วมสมัย เอาใจคนรุ่นใหม่ และต่อต้านสิ่งที่กระแสสังคมโดยรวม โดยเฉพาะในโลกออนไลน์กำลังต่อต้าน อารมณ์ว่า แสงอยู่ไหน ฉันอยู่นั่น สถานการณ์ใด กิจกรรมใดที่กำลังป็อบปูลาร์ในสังคม จะต้องมีฉันไปยืนอยู่ท่ามกลาง และไม่จำเป็นต้องใช้เงินหว่านตรงๆ ให้คนมาติดตาม แต่อาจจะส่งเงินไปเปลี่ยนเป็นความงามทางภาพลักษณ์ในรูปแบบของการใช้สื่อ เพื่อกระพือความนิยมของตนเอง

ทีนี้ ลองมาดูคำจำกัดง่ายๆ ของแฟนด้อมการเมือง กันสักนิด ความหมายของมันก็คือ กลุ่มแฟนคลับของนักการเมืองและ/หรือแคมเปญทางการเมืองก็ได้ ซึ่งลักษณะมันก็จะคล้ายๆ กับแฟนด้อมของป๊อปคัลเจอร์ทั่วไป เช่น แฟนด้อมศิลปินเกาหลี แฟนด้อมซีรีส์ หรือแม้แต่แฟนด้อมทีมกีฬา 

>> ข้อดีของการมีแฟนด้อม คืออะไร?
แต่ละแฟนด้อม มักจะมีพื้นที่ไว้แลกเปลี่ยนพูดคุยถึงเรื่องของแต่ละแฟนด้อมเอง เรียกภาษาชาวบ้านก็ ‘ชุมชน’ (Community) นั่นแหละ โดยแต่ละชุมชนของแฟนด้อม มักจะมีการหยิบเรื่องราวมุมดีๆ ของคนดังนั้นๆ มาเผยแพร่ เช่น รูปภาพสวยๆ ข่าวสารอัปเดต รวมถึงกิจกรรมที่คนดังนั้นๆ ไปทำ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็อย่างวงฮอต BlackPink หรือแม้แต่ตัว ‘ลิซ่า’ ศิลปิน BlackPink เอง ที่ด้อมนั้นพร้อมจะปั่นทั้ง Hashtag และแชร์เรื่องราวดีๆ ให้แบบตัวคนดังนั้นๆ แทบไม่ต้องไปทำอะไรเลย ขอแค่คนดังนั้นๆ ตอบสนอง และลงมาโปรยยาหอม โบกมือให้ กอดนิดกอดหน่อย มอบลายเซ็น หรือพาตัวเองไปหา ‘ด้อมต้นทาง’ เพื่อสร้างความประทับใจ รัก หลง แบบตราตรึง สักนิด ที่เหลือ ‘ด้อมต้นทาง’ ก็จะไปสร้าง ‘ด้อมเครือข่าย’ ต่อให้ ยังกะแชร์ลูกโซ่ ขยายใหญ่จนกลายเป็นความเหนียวแน่นแบบโงหัวไม่ขึ้น

>> เทคนิคปั้น ‘แฟนด้อมทางการเมือง’!!
บริบทของแฟนด้อมการเมือง ก็ไม่ได้แตกต่างกันกับด้อมกลุ่มอื่นๆ แต่มันจะมีตัวแปรอยู่ที่บรรดา ‘นักการเมืองแบบเซเลบริตี้’ ที่ใช้เทคนิคของการสร้างแฟนด้อมการเมือง ซึ่งถ้าจะให้อธิบายอย่างง่ายที่สุด ก็คงเป็นการพา ‘การเมือง’ เข้าไปผูกกับสิ่งที่คนสนใจ เช่น บันเทิง กีฬา ไลฟ์สไตล์ โดยเน้นการสื่อสารและใช้เทคนิคทางการตลาดในการเพิ่มชื่อเสียงและอำนาจทางการเมืองให้แก่ตัวเอง อาทิ การชักชวนดารา นักแสดงมาช่วยโปรโมตแคมเปญทางการเมือง เน้นขายรูปลักษณ์ ภาพลักษณ์ของนักการเมืองแทนนโยบายพรรค การหันไปออกรายการวาไรตี้เพื่อพูดคุยเรื่องอื่นที่ไม่ใช่การเมืองมากขึ้น หรือแม้แต่การที่ดาราผันตัวเป็นนักการเมืองโดยใช้ชื่อเสียงของตัวเองมากรุยทางการเมือง

ตัวอย่างนักการเมืองที่หันมาทำการเมืองแบบนี้ชัดมากๆ จนถูกเรียกว่า นักการเมืองแบบเซเลบริตี้ (Celebrity Politician) ก็มีให้เห็นทั่วโลกอย่าง แต่ขอยกคร่าวๆ เช่น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา (Barack Obama) ที่พาตัวเองเข้าไปอยู่กับตลาดนักกีฬาอย่างวงการบาส NBA หรือแม้แต่อดีตนักแสดงชื่อดัง อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) ที่เอาความเป็นดาราของตัวเองชูเชิดจนผันตัวมาเป็นผู้ว่าการรัฐฯ ได้

>> การเมือง = การแสดง
ทีนี้กลับมาตอบ คำถามที่ค้างไว้ข้างต้น…เพราะความเบื่อหน่ายในการเมืองเก่า ของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกนี่แหละ ที่เป็นแรงเร้าให้นักการเมืองเริ่มหันมาปรับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการวางตัวที่คนทั่วไปมักจะมองว่า นักการเมืองเข้าถึงได้ยาก เหินห่าง ไม่ค่อยรับฟังและตระหนักถึงความเดือดร้อนของมวลชน ดังนั้นเพื่อดึงดูดคนให้กลับมาสนใจการเมืองมากขึ้น นักการเมือง จึงต้องหันมาแข่งขันกันอย่างหนัก โดยอาศัยการใช้โซเชียลมีเดีย และการเสนอภาพลักษณ์ของตัวเองให้แตกต่างจากภาพลักษณ์นักการเมืองแบบเดิมๆ ให้มากที่สุด จึงเกิดเป็นภาพนักการเมืองแบบใหม่ แบบเซเลบรีตี้ที่เน้นภาพลักษณ์ที่เข้าถึงง่าย มีมุมชิลๆ ขายความเป็นตัวเองมากขึ้นอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้

จากจุดนี้เอง ที่พอจะทำให้สรุปได้ว่าการเมืองในปัจจุบัน เริ่มกลายเป็นเรื่องของ ‘การแสดง’ ไปแล้ว กล่าวคือนักการเมืองกลายเป็นดารา ส่วนมวลชนก็กลายเป็นผู้ชมโดยสมบูรณ์

>> ผลดี-ผลเสีย ‘แฟนด้อมการเมือง’ ต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบใหม่
คำถามใหญ่ที่หลายคนคงติดใจ แล้วเอาเข้าจริงๆ แฟนด้อมการเมือง คือ ผลผลิตของผู้คนที่อยากมีส่วนร่วมทางการเมืองแท้จริงแค่ไหน? หรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมืองเซเลบริตี้...คำตอบนี้เชื่อว่าผู้อ่านคงมีอยู่ในใจ...

แต่หากให้มองผลดีของเรื่องนี้ คือ การมีอยู่ของแฟนด้อมการเมือง ได้ส่งผลให้มวลชนที่เลิกสนใจการเมืองหรือไม่เคยสนใจการเมืองเดิม เริ่มหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น เนื่องจากชุมชนของแฟนด้อมมักใช้ภาษาที่เข้าถึงหมู่คนได้มากกว่า เช่น บทความสรุปนโยบายต่างๆ วิดีโอไฮไลต์งานปราศรัย และมีมนักการเมืองต่างๆ รวมไปถึงการเป็นแฟนด้อมการเมืองยังส่งผลต่อการแสวงหาข้อมูลและข่าวสารทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ แฟนด้อมการเมืองยังส่งผลดีต่อการเรียนรู้วัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากแฟนด้อมเป็นการรวมตัวของคนที่มีความสนใจเดียวกัน ไม่ได้เกิดจากสายสัมพันธ์ดั้งเดิม เช่น เพื่อน คนรู้จัก หรือ ครอบครัว จึงช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ผ่านการมีส่วนร่วมในชุมชนหรือแฟนด้อม การเป็นอาสาสมัครในกิจกรรมต่างๆ การวางแผนยุทธศาสตร์ และการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ

แต่...ในทางกลับกัน ผลกระทบเชิงลบที่น่ากังวล คือ แฟนด้อมการเมือง จะกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดด้อยค่าการเมืองหรือไม่ เรื่องนี้น่าห่วง เพราะบางครั้งการมุ่งความสนใจไปที่ตัวนักการเมืองคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว อาจจะทำให้ประเด็นทางการเมืองหรือนโยบายของพรรคถูกมองข้ามไป ซึ่งเรื่องนี้ก็อยากให้ผู้อ่านลองตอบข้อสงสัยนี้ดูอีกข้อว่าจริงเท็จแค่ไหน?

ท้ายสุด ขอบเขตของแฟนด้อมการเมือง จะมีจุดสิ้นสุดที่ตรงไหน จะขยายไปจนเริ่มหาแก่นสารไม่ได้ เช่น เริ่มจับนักการเมืองด้วยกันเองไปจิ้นบ้างหรือไม่ หรือแฟนด้อมควรมอง นักการเมือง พรรคการเมือง อุดมการณ์พรรคการเมือง นโยบายพรรคการเมือง และความถูกต้องในสังคมแบบใด? 

เรื่องนี้คงต้องรอวันเวลามาช่วยตอบ เพียงแต่สิ่งที่โคตรน่าห่วงในตอนนี้ คือ หากจะเปรียบการส่งมอบความรัก ความรู้สึก การตามติด การเก็บหอมรอมริบเงินทอง หรือหาซื้อสิ่งของมากองให้คนดังอันเป็นที่รักของเหล่าแฟนด้อมสายอื่นๆ… ‘เหล่าด้อมการเมือง’ ที่ถูกปลุกปั่นจนสุกงอม อาจจะพร้อมมอบ ‘ชีวิต’ ให้กับอุดมการณ์ที่ ‘นักการเมืองเซเลบฯ’ ชี้นำไปได้ไม่ยาก

อันนี้น่าห่วง...

และมันก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริงในสังคมตอนนี้ด้วย…

จาก ‘ฟ้ารักพ่อ’ สู่ ‘ด้อมส้ม’ สะเทือนแผ่นดิน เกมชิงมวลชน ถีบอนุรักษ์นิยมแพ้ตกขอบ

ปรากฏการณ์แฟนด้อมการเมืองในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้ว่าเราเพิ่งมาเริ่มคุ้นกับปรากฏการณ์ ‘ฟ้ารักพ่อ’ ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในปี 2019 แต่จริงๆ แล้ว แฟนด้อมการเมืองในไทยเริ่มปรากฏให้เห็นมานานแล้วในรูปแบบ ‘แม่ยก พ่อยก’ ของบรรดานักการเมืองรุ่นเก่าๆ เช่น แม่ยกของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนวันนี้ก็ถึงคิวของ ‘ส้มรักพ่อ’ / ‘รักก้าวไกล’ / ‘รักพิธาจนหมดใจ’

อันที่จริง ถ้าจะให้พูดแบบไม่แอบอิง ปรากฏการณ์นี้ ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วย ชื่นชอบ ชื่นชม หรือแม้แต่อุดมการณ์เป็นที่ตั้ง แต่เป็น ‘ความหลงใหล’ 

ทั้งนี้หากมองวิวัฒนาการ ‘แฟนด้อมการเมืองในไทย’ แล้ว จะพบว่า มันถูกขับเคลื่อนผ่าน Pop Culture และ โซเชียลมีเดีย ที่ถูกนำมาใช้อย่างจริงจังจากช่วง ‘ฟ้ารักพ่อ’ ซึ่งเป็นประโยคเด็ดจากละคร ‘ดอกส้มสีทอง’ มาใช้ในการพูดถึงแฟนด้อมและความนิยมของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 

อีกตัวแปรที่ทำให้วัฒนธรรมแฟนด้อมเติบโตขึ้นมากในการเมืองไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือ วัฒนธรรมแฟนด้อมเกาหลีในหมู่วัยรุ่นไทย ที่เติบโตมาพร้อมกับพวกเค้า ภายใต้การอิงกายอยู่ภายใต้บรรยากาศการเมืองในระบอบที่ถูกอ้างกันว่าเป็น ‘เผด็จการ’ 

เด็กรุ่นใหม่จำนวนมากที่เติบโตมาในช่วงกระแสธารนี้ พัฒนาและปรับประยุกต์ผลงานที่เกี่ยวกับศิลปินที่ชอบ ผ่านงานอาร์ต บทความ กิจกรรม และแฮชแท็กต่างๆ เพื่อส่งเสริม รวมถึงเรียกร้องความไม่เป็นธรรมให้ศิลปินของตน จนกลายเป็น ‘วัฒนธรรม’ ใหม่ของเด็กยุคใหม่ 

>> ตรงนี้สำคัญ...เพราะเมื่อถึงเวลาที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง พวกเขาจึงเลือกแสดงออกด้วยวัฒนธรรมที่พวกเขาคุ้นเคยอย่างที่กล่าวมาข้างต้นต่อ ‘พรรคการเมืองใหม่’ ที่พวกเขาไว้ใจ ผ่านโซเชียลมีเดีย ช่วยมอบสิ่งดีๆ ให้เกิดการแชร์ในวงกว้าง และทำลายล้างสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อโซเชียลนิยมด้วยความเต็มใจ

ฉะนั้น ปรากฏการณ์ ‘ส้มรักพ่อ’ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนจากผลพวงของ ‘แฟนด้อมทางการเมือง’ ที่ทำให้ "ก้าวไกล" คว้าเส้นชัยอันดับ 1

แน่นอนว่า ‘ตบมือข้างเดียว’ ยังไงก็ไม่ดัง!!

เมื่อแฟนด้อมของ ‘ก้าวไกล’ ตอบสนอง เพราะเบื่อการเมืองแบบเก่าๆ เบื่อความไม่ชัดเจน การหาประเด็นจี้จุดตรงประเด็น และใส่วาทกรรมเติมแต่งให้น่าเชื่อถือ ด้วยการสร้างความ ‘หลงใหล’ ให้ ‘ด้อมส้ม’ จึงเกิดขึ้นแบบที่ ‘อนุรักษ์นิยม’ ที่ได้สัมผัสยังแอบเคลิ้มตาม

>> หลงใหลที่ 1: วาทกรรม
‘มีลุง ไม่มีเรา’ 
‘แก้ไขมาตรา 112’
‘ทลายทุนผูกขาด’
‘รีดพุงงบกองทัพ’
‘สุราต้องเสรี’
‘คนเราต้องเท่าเทียม’

เหล่านี้กลายเป็นความหลงใหลที่เกิดจากวาทกรรม ที่ไม่ต้องพูดชื่อ ‘พรรคก้าวไกล’ ใครๆ ก็นึกออกว่าเป็นบริบทที่เกิดขึ้นจากพรรคนี้

>> หลงใหลที่ 2: ชายที่ชื่อ ‘พิธา’
รูปร่างหน้าตาหล่อเหลา พูดจาฉะฉาน ภาษาอังกฤษเป๊ะ น่ามองไปเสียทุกตรง คือ ความหลงใหลที่ ‘ด้อมส้ม’ พร้อมถมความภักดีให้กับ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ซึ่งเราต้องยอมรับว่า ในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา หน้าตาของทุกสื่อ ทุกเวทีดีเบต ต้องมีภาพจำของพิธา และภาพจำสุดน่าปลื้มเหล่านั้น ก็ถ่ายเทไปถึงบรรดาผู้สมัครในพรรคท่านอื่นๆ ที่แม้จะโนเนม แต่ก็คว้าคะแนนปาดหน้าแชมป์เก่าในผู้สมัครเขตอื่นๆ ได้เพียงเพราะประชาชนมีภาพ ‘พิธา’ ติดตา ติดหู ฝังสมองไปแล้ว

>> หลงใหลที่ 3: ความเป็นกันเอง
พรรคก้าวไกลฝึกฝนบุคลิกทุกคนให้พรรค ไม่ว่าจะเด็กหรือแก่ ให้เข้าถึง เป็นเพื่อน เป็นครอบครัวเดียวกันกับคนทุกคน อย่างที่เห็นชัดเจนคือ การดีเบตครั้งสุดท้ายที่พรรคก้าวไกลเลือกจะทำเวทีแบบวงกลมกลางสนาม และให้คนมานั่งล้อมรอบ สร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวระหว่างพรรคและคน 

นอกจากนี้การที่พรรคก้าวไกลมักจะบอกว่า พรรคตนเองไม่มีเงิน เพื่อสร้างความโปร่งใส ขจัดปัญหาการซื้อเสียง เรื่องเดิมๆ ที่ต้องมาพร้อมกับการเลือกตั้ง สร้างประสบการณ์ใหม่ที่แฝงด้วยการแก้ปัญหาพื้นฐานของการเลือกตั้งให้คนรับรู้ ก็เป็นกระแสความนิยมในการเมืองใหม่จากพรรคนี้

1.วาทกรรมที่โดนใจ 2.ผู้นำที่ต้องตา 3.การวางตัวที่ใครๆ เขาอยากเข้าหา นี่มันองค์ประกอบของ ‘ดารา’ ชัดๆ (หลายคนอาจจะคิดแบบนี้) และมันก็เข้าองค์ประกอบของการต้องมี ‘แฟนคลับ’ ที่ถาโถมเข้ามาร่วมกับ ‘ด้อมส้ม’ ก่อนหน้า 

และถ้าเจาะเข้าไปเนื้อใน 3 ข้อนี้ ก้าวไกล และ พิธา ไม่ได้แค่ทางการวางตัวให้คนรู้สึกว่าเข้าถึงง่าย ติดดิน แต่พยายามเข้าใจถึงปัญหาปากท้องที่แท้จริง พร้อมรับฟังเสียงทุกเสียง และเลือกสื่อสารแบบเปิดเผย เพื่อลดช่องว่างระหว่างนักการเมืองกับ ‘ด้อมส้ม’ ของเขา 

สังเกตไหมว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกล เป็น แทบไม่ต่างอะไรจาก ไอดอลชั้นนำ ที่สร้าง ‘ความหลงใหล’ แก่แฟนคลับแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่เขาเป็นพรรคการเมือง และควรต้องมีนโยบายที่มีประโยชน์อย่างแท้จริง เป็นตัวชี้นำ แต่ถ้านโยบายนั้นๆ มีความเป็นไปได้ว่าจะ แป๊ก!! ‘แฟนด้อมส้ม’ ก็ยังให้อภัย เพราะอย่างไรก้าวไกลก็จะแก้มาตรา 112 มาตราโดนใจที่ตอบโจทย์ สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการอย่าง ‘คนเราต้องเท่าเทียม’

ดังนั้น ปรากฏการณ์ ‘แฟนด้อมทางการเมือง’ ผู้ซึ่งเป็น ‘หัวคะแนนธรรมชาติ’ นี้ ไม่ใช่แฟนคลับที่คลั่งกรี๊ดแล้วจบ แต่อาจยอมสยบให้กับ ทุกวาทกรรม ทุกท่วงท่า ความงามของภาพลักษณ์ และความแนบชิด (การแสดง) จนพร้อมจะเป็นแรงหนุนให้ ‘พรรคก้าวไกล’ ต้องลุล่วงทุกภารกิจ 

และเมื่อถึงวันที่ ‘พรรคก้าวไกล’ ถึงทางตัน ชวดนายกฯ ยุบพรรค ผู้สมัครถูกตัดสิทธิ์ ก็เป็นไปได้ว่า ‘แฟนด้อมส้ม’ อาจจะเปลี่ยนเป็น ‘ม็อบส้ม’ แค่สัญญาณ 3 นิ้วชูเหนือหัวพลพรรคก้าวไกล ก็เป็นได้...

‘พรรค JRP’ ญี่ปุ่น ลงดาบนักการเมืองสาวในสังกัด หลังโพสต์ภาพเซ็กซี่ ขายภาพโป๊เปลือยในสื่อออนไลน์

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อญี่ปุ่นได้รายงานเรื่องราวสุดอื้อฉาวของ ‘เอริกะ ซาโต้’ นักการเมืองท้องถิ่นสาววัย 37 ปี ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาเมืองอาเงโอะ ในจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น

โดย ซาโต้ เป็นอดีตสมาชิกวงไอดอลและเป็นนางแบบแนวเซ็กซี่ ต่อมาในปี 2562 เธอได้ลงสมัครสภาเมืองอาเงโอะ ในนามพรรคปกป้องประชาชนจากเอ็นเอชเค และได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยแรก จากนั้นเธอได้ลาออกจากพรรคและย้ายมาอยู่กับพรรค JRP เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

หลังจากเข้าสู่เส้นทางการเมือง ซาโต้ มีทวิตเตอร์ทางการในนามสมาชิกสภาเมือง และเธอยังมีทวิตเตอร์อีกแอ็กเคานต์ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 8,000 คน โดยเธอมักโพสต์รูปภาพสุดเซ็กซี่ เปิดเผยเรือนร่างอย่างชัดเจน นอกจากนี้มีการซื้อขายภาพลับให้กับแฟนคลับอีกด้วย

สำหรับเรื่องนี้ ซาโต้ ให้สัมภาษณ์กับทางบุนชุนว่า เธอขายภาพส่วนตัวให้แฟน ๆ จริง โดยขายในราคาไม่ได้สูงนัก เริ่มต้นเพียง 1,000 เยน หรือราว ๆ 240 บาท แต่เมื่อพรรคทราบเรื่อง ทางพรรคได้สั่งห้ามเธอแล้ว เธอจึงขายภาพลับให้กับแฟน ๆ ได้เพียง 3 คนเท่านั้น

ต่อมา ซาโต้ ได้ประกาศขอโทษทางทวิตเตอร์ โดยเธอน้อมรับคำวิจารณ์และจะปรับปรุงตัว อย่างไรก็ตาม ในสองวันถัดมา ทางพรรค JRP ได้ประกาศว่าจะไม่สนับสนุนเธอลงเลือกตั้งสมัยหน้า ซึ่งหลายคนคาดว่านี่ถือเป็นการกดดันให้เธอลาออกจากพรรคไปเอง

เหตุผล สั้น ๆ ที่นักการเมือง 'กลัว' รัฐธรรมนูญ 2560

ถูกปลุกปั่นให้กลายเป็นกฎหมายเผด็จการ แต่หากมองเหตุผลอย่างถ่องแท้ ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 สร้างความ 'หวาดกลัว' ต่อบรรดานักการเมือง จนต้องต้องหาแนวร่วม 'ประชาชน' มาช่วยกัน 'ล้มล้าง' ให้สิ้น

อ้างอิง : ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top