จาก ‘ฟ้ารักพ่อ’ สู่ ‘ด้อมส้ม’ สะเทือนแผ่นดิน เกมชิงมวลชน ถีบอนุรักษ์นิยมแพ้ตกขอบ

ปรากฏการณ์แฟนด้อมการเมืองในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้ว่าเราเพิ่งมาเริ่มคุ้นกับปรากฏการณ์ ‘ฟ้ารักพ่อ’ ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในปี 2019 แต่จริงๆ แล้ว แฟนด้อมการเมืองในไทยเริ่มปรากฏให้เห็นมานานแล้วในรูปแบบ ‘แม่ยก พ่อยก’ ของบรรดานักการเมืองรุ่นเก่าๆ เช่น แม่ยกของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนวันนี้ก็ถึงคิวของ ‘ส้มรักพ่อ’ / ‘รักก้าวไกล’ / ‘รักพิธาจนหมดใจ’

อันที่จริง ถ้าจะให้พูดแบบไม่แอบอิง ปรากฏการณ์นี้ ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วย ชื่นชอบ ชื่นชม หรือแม้แต่อุดมการณ์เป็นที่ตั้ง แต่เป็น ‘ความหลงใหล’ 

ทั้งนี้หากมองวิวัฒนาการ ‘แฟนด้อมการเมืองในไทย’ แล้ว จะพบว่า มันถูกขับเคลื่อนผ่าน Pop Culture และ โซเชียลมีเดีย ที่ถูกนำมาใช้อย่างจริงจังจากช่วง ‘ฟ้ารักพ่อ’ ซึ่งเป็นประโยคเด็ดจากละคร ‘ดอกส้มสีทอง’ มาใช้ในการพูดถึงแฟนด้อมและความนิยมของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 

อีกตัวแปรที่ทำให้วัฒนธรรมแฟนด้อมเติบโตขึ้นมากในการเมืองไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือ วัฒนธรรมแฟนด้อมเกาหลีในหมู่วัยรุ่นไทย ที่เติบโตมาพร้อมกับพวกเค้า ภายใต้การอิงกายอยู่ภายใต้บรรยากาศการเมืองในระบอบที่ถูกอ้างกันว่าเป็น ‘เผด็จการ’ 

เด็กรุ่นใหม่จำนวนมากที่เติบโตมาในช่วงกระแสธารนี้ พัฒนาและปรับประยุกต์ผลงานที่เกี่ยวกับศิลปินที่ชอบ ผ่านงานอาร์ต บทความ กิจกรรม และแฮชแท็กต่างๆ เพื่อส่งเสริม รวมถึงเรียกร้องความไม่เป็นธรรมให้ศิลปินของตน จนกลายเป็น ‘วัฒนธรรม’ ใหม่ของเด็กยุคใหม่ 

>> ตรงนี้สำคัญ...เพราะเมื่อถึงเวลาที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง พวกเขาจึงเลือกแสดงออกด้วยวัฒนธรรมที่พวกเขาคุ้นเคยอย่างที่กล่าวมาข้างต้นต่อ ‘พรรคการเมืองใหม่’ ที่พวกเขาไว้ใจ ผ่านโซเชียลมีเดีย ช่วยมอบสิ่งดีๆ ให้เกิดการแชร์ในวงกว้าง และทำลายล้างสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อโซเชียลนิยมด้วยความเต็มใจ

ฉะนั้น ปรากฏการณ์ ‘ส้มรักพ่อ’ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนจากผลพวงของ ‘แฟนด้อมทางการเมือง’ ที่ทำให้ "ก้าวไกล" คว้าเส้นชัยอันดับ 1

แน่นอนว่า ‘ตบมือข้างเดียว’ ยังไงก็ไม่ดัง!!

เมื่อแฟนด้อมของ ‘ก้าวไกล’ ตอบสนอง เพราะเบื่อการเมืองแบบเก่าๆ เบื่อความไม่ชัดเจน การหาประเด็นจี้จุดตรงประเด็น และใส่วาทกรรมเติมแต่งให้น่าเชื่อถือ ด้วยการสร้างความ ‘หลงใหล’ ให้ ‘ด้อมส้ม’ จึงเกิดขึ้นแบบที่ ‘อนุรักษ์นิยม’ ที่ได้สัมผัสยังแอบเคลิ้มตาม

>> หลงใหลที่ 1: วาทกรรม
‘มีลุง ไม่มีเรา’ 
‘แก้ไขมาตรา 112’
‘ทลายทุนผูกขาด’
‘รีดพุงงบกองทัพ’
‘สุราต้องเสรี’
‘คนเราต้องเท่าเทียม’

เหล่านี้กลายเป็นความหลงใหลที่เกิดจากวาทกรรม ที่ไม่ต้องพูดชื่อ ‘พรรคก้าวไกล’ ใครๆ ก็นึกออกว่าเป็นบริบทที่เกิดขึ้นจากพรรคนี้

>> หลงใหลที่ 2: ชายที่ชื่อ ‘พิธา’
รูปร่างหน้าตาหล่อเหลา พูดจาฉะฉาน ภาษาอังกฤษเป๊ะ น่ามองไปเสียทุกตรง คือ ความหลงใหลที่ ‘ด้อมส้ม’ พร้อมถมความภักดีให้กับ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ซึ่งเราต้องยอมรับว่า ในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา หน้าตาของทุกสื่อ ทุกเวทีดีเบต ต้องมีภาพจำของพิธา และภาพจำสุดน่าปลื้มเหล่านั้น ก็ถ่ายเทไปถึงบรรดาผู้สมัครในพรรคท่านอื่นๆ ที่แม้จะโนเนม แต่ก็คว้าคะแนนปาดหน้าแชมป์เก่าในผู้สมัครเขตอื่นๆ ได้เพียงเพราะประชาชนมีภาพ ‘พิธา’ ติดตา ติดหู ฝังสมองไปแล้ว

>> หลงใหลที่ 3: ความเป็นกันเอง
พรรคก้าวไกลฝึกฝนบุคลิกทุกคนให้พรรค ไม่ว่าจะเด็กหรือแก่ ให้เข้าถึง เป็นเพื่อน เป็นครอบครัวเดียวกันกับคนทุกคน อย่างที่เห็นชัดเจนคือ การดีเบตครั้งสุดท้ายที่พรรคก้าวไกลเลือกจะทำเวทีแบบวงกลมกลางสนาม และให้คนมานั่งล้อมรอบ สร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวระหว่างพรรคและคน 

นอกจากนี้การที่พรรคก้าวไกลมักจะบอกว่า พรรคตนเองไม่มีเงิน เพื่อสร้างความโปร่งใส ขจัดปัญหาการซื้อเสียง เรื่องเดิมๆ ที่ต้องมาพร้อมกับการเลือกตั้ง สร้างประสบการณ์ใหม่ที่แฝงด้วยการแก้ปัญหาพื้นฐานของการเลือกตั้งให้คนรับรู้ ก็เป็นกระแสความนิยมในการเมืองใหม่จากพรรคนี้

1.วาทกรรมที่โดนใจ 2.ผู้นำที่ต้องตา 3.การวางตัวที่ใครๆ เขาอยากเข้าหา นี่มันองค์ประกอบของ ‘ดารา’ ชัดๆ (หลายคนอาจจะคิดแบบนี้) และมันก็เข้าองค์ประกอบของการต้องมี ‘แฟนคลับ’ ที่ถาโถมเข้ามาร่วมกับ ‘ด้อมส้ม’ ก่อนหน้า 

และถ้าเจาะเข้าไปเนื้อใน 3 ข้อนี้ ก้าวไกล และ พิธา ไม่ได้แค่ทางการวางตัวให้คนรู้สึกว่าเข้าถึงง่าย ติดดิน แต่พยายามเข้าใจถึงปัญหาปากท้องที่แท้จริง พร้อมรับฟังเสียงทุกเสียง และเลือกสื่อสารแบบเปิดเผย เพื่อลดช่องว่างระหว่างนักการเมืองกับ ‘ด้อมส้ม’ ของเขา 

สังเกตไหมว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกล เป็น แทบไม่ต่างอะไรจาก ไอดอลชั้นนำ ที่สร้าง ‘ความหลงใหล’ แก่แฟนคลับแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่เขาเป็นพรรคการเมือง และควรต้องมีนโยบายที่มีประโยชน์อย่างแท้จริง เป็นตัวชี้นำ แต่ถ้านโยบายนั้นๆ มีความเป็นไปได้ว่าจะ แป๊ก!! ‘แฟนด้อมส้ม’ ก็ยังให้อภัย เพราะอย่างไรก้าวไกลก็จะแก้มาตรา 112 มาตราโดนใจที่ตอบโจทย์ สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการอย่าง ‘คนเราต้องเท่าเทียม’

ดังนั้น ปรากฏการณ์ ‘แฟนด้อมทางการเมือง’ ผู้ซึ่งเป็น ‘หัวคะแนนธรรมชาติ’ นี้ ไม่ใช่แฟนคลับที่คลั่งกรี๊ดแล้วจบ แต่อาจยอมสยบให้กับ ทุกวาทกรรม ทุกท่วงท่า ความงามของภาพลักษณ์ และความแนบชิด (การแสดง) จนพร้อมจะเป็นแรงหนุนให้ ‘พรรคก้าวไกล’ ต้องลุล่วงทุกภารกิจ 

และเมื่อถึงวันที่ ‘พรรคก้าวไกล’ ถึงทางตัน ชวดนายกฯ ยุบพรรค ผู้สมัครถูกตัดสิทธิ์ ก็เป็นไปได้ว่า ‘แฟนด้อมส้ม’ อาจจะเปลี่ยนเป็น ‘ม็อบส้ม’ แค่สัญญาณ 3 นิ้วชูเหนือหัวพลพรรคก้าวไกล ก็เป็นได้...