Sunday, 5 May 2024
ชลบุรี

ชลบุรี - กองทัพเรือโดย ทัพเรือภาคที่ 1 จัดกิจกรรมบริจาคโลหิต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ระหว่างเวลา 09.00 – 12.00 น. พลเรือโท โกวิท  อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 จัดกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ ในสังกัดกองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 รวมทั้งเรือในหมวดเรือเฉพาะกิจทัพเรือภาคที่ 1 และเรือในหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน ร่วมบริจาคโลหิตในโครงการ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และแก้ปัญหาการขาดแคลนโลหิตเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้กับสภากาชาดไทย โดยมีเจ้าหน้าที่จากภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 3 จว.ชลบุรี เดินทางมาให้บริการรับบริจาคโลหิต ณ อาคารอเนกประสงค์ ทัพเรือภาคที่ 1

ในกิจกรรมนี้ มีกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ ที่มาร่วมกิจกรรมบริจาคโลหิต รวมทั้งสิ้น 58 นาย รวมจำนวนโลหิตที่บริจาค 26,100 มิลลิลิตร สนับสนุนให้แก่สภากาชาดไทย ทั้งนี้ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ยังคงให้ความสำคัญกับกิจกรรมสาธารณประโยชน์ รวมไปถึงกิจกรรมการบริจาคโลหิตเพื่อช่วยแก้วิกฤตของชาติ เช่นนี้เสมอ


ภาพ/ข่าว  กองกิจการพลเรือนทัพเรือภาคที่ 1

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - ตลาดใหม่ชลบุรีปิด แม่ค้าบ่นอุบ พริกแพง 3 เท่าตัว ตลาดข้างเคียงวอนให้มาซื้อสินค้า

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งถือว่าเป็นวันแรกที่ตลาดใหม่ชลบุรี อ.เมือง จ.ชลบุรี ปิดการค้าขายไปจนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม เนื่องจากมีการตรวจพบคัสเตอร์การแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ซึ่ง 2 วันที่ผ่านมาพบไปแล้วทั้งหมด 18 ราย จึงได้ทำการปิดตลาดเพื่อฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งทำความสะอาดไปด้วย ส่งผลให้บริเวณตลาดเงียบเหงาเพราะถือว่าเป็นตลาดค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก นอกจากนี้ยังได้ส่งผลกระทบกับตลาดข้างเคียง อาทิ ตลาดใหม่พงษ์ศักดิ์ ตลาดนิยมสุข ส่งผลให้ตลาดเงียบเหงาไปด้วย เนื่องจากประชาชนเริ่มมีความหวาดกลัวเกรงว่าจะเกิดคัสเตอร์แห่งใหม่ บรรดาพ่อค้าแม่ค้าวิงวอนให้มาซื้อสินค้า เพราะยังเปิดขายตามปกติ

จากการสอบถาม น.ส.อทิสดา กาฬสินธุ์ แม่ค้าขายอาหารตามสั่งในพื้นที่ อ.เมืองชลบุรี กล่าวว่า มาซื้อเครื่องประกอบอาหารตามสั่ง จากการที่ปิดตลาดใหม่ชลบุรี ทำให้เกิดผลกระทบเหมือนกัน เพราะต้องซื้อเครื่องประกอบอาหารแพงขึ้น โดยเฉพาะพริก จากการที่ซื้อในราคากิโลกรัมละ 20 บาท พุ่งขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 70 บาท สูงถึง 3 เท่าตัว ปกติไม่มีเงินเก็บ ซื้อ-ขายวันต่อวัน แต่หยุดไปถึง 7 วัน เดือดร้อนมาก เพราะหาแหล่งซื้อสินค้าราคาขายส่งไม่ได้


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - ชมรมภริยาทกองเรือยุทธการ ร่วมส่งกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ สู้โควิด

ชมรมภริยาทกองเรือยุทธการ (กร.) ร่วมส่งกำลังใจ มอบอาหาร น้ำดื่ม แก่บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ในช่วงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของ COVID–19 ให้มีพลังปฏิบัติงานเพื่อประชาชน

คุณสุนันท์ สมานรักษ์ ประธานชมรมภริยากองเรือยุทธการ นำคณะภริยากองเรือยุทธการ มอบอาหาร และน้ำดื่มให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ร่วมสู้วิกฤต "โควิด-19"

โดยมี พล.ร.ต.ชลธร สุวรรณกิตติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ รับมอบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษา และดูแลผู้ป่วย ทั้งประชาชนทั่วไปและกำลังพลของกองทัพเรือ ได้อย่างเต็มที่ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID–19  อีกทั้งช่วยลดภาระในการจัดหาอาหารระหว่างวันของเจ้าหน้าที่ ซึ่งชมรมภริยากองเรือยุทธการ ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ที่เปรียบเสมือนด่านหน้าในการเผชิญกับวิกฤต COVID-19 อย่างต่อเนื่อง เป็นแนวหลังที่ขอร่วมต่อสู้จนกว่าจะผ่านวิกฤตในครั้งนี้ ไปด้วยกัน เมื่อวันที่ 25 พ.ค.64 ที่ผ่านมา


ภาพ/ข่าว กองกิจการพลเรือน กองเรือยุทธการ

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - เมืองพัทยา เตรียมชงแผนเปิดเมืองรับ นทท.ต่างชาติ แบบไม่กักตัวหากแผนการฉีดวัคซีนตรงเป้า 70 %

เมืองพัทยา ร่วม ททท.พัทยา และภาคธุรกิจ เตรียมชงแผน SOP แผน Pattaya move on  เปิดเมืองรับท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว ไตรมาส 4 ให้ ศบค.พิจารณาก่อนกลางเดือน มิ.ย.นี้ หากแผนการฉีดวัคซีนประชาชนตรงเป้า 70 %

ที่ ศาลาว่าการเมืองพัทยา นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เป็นประธานประชุมแผน Pattaya move on  พร้อมด้วย นายขจรเดช อภิชาตตรากุล ผอ.ททท. สำนักงานพัทยา นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี นายพิสูจน์ แซ่คู นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก นายบุญอนันต์ พัฒนสิน เป็นนายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา และตัวแทนภาคท่องเที่ยว เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

โดยในที่ประชุมได้มีการหารือและข้อสรุปการจัดทำแผน Pattaya move on  ในการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ได้รับวัคซีนแล้วมายังพื้นที่เมืองพัทยา อำเภอบางละมุงและอำเภอสัตหีบ โดยไม่ต้องกักตัวแต่ต้องอยู่หรือในพื้นที่ 2 อำเภอนี้อย่างน้อย 7 วัน ก่อนออกเดินทางไปยังพื้นที่อื่น ๆ ภายใต้แนวคิด Neo Pattaya ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่เน้นสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับรับนักท่องเที่ยว โดยกลุ่มประเทศที่จะเปิดรับเข้ามาในพื้นที่นั้นจะเป็นกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำ ตามรายชื่อจากกระทรวงสาธารณสุข และเป็นนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉัดวัคซีนครบตามเกณฑ์วัคซีนแต่ละชนิดแล้วในระยะเวลาการฉีดวัคซีนมากกว่า 14 วันแต่ไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้วัคซีนที่นักท่องเที่ยวได้รับจากประเทศต้นทางนั้นจะต้องรับรองโดนรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ ส่วนเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12-18 ปี จะต้องได้รับการตรวจโควิด-19 มาแล้วก่อนเดินทางไม่เกิน 72 ชั่วโมง พร้อม Covid-19 free Certificate

โดยนักท่องเที่ยวต้องพักอาศัยอยู่ในโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA+และสามารถทำกิจกรรมใช้บริการได้จากสถานประกอบการตามพื้นที่ที่กำหนดที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ เท่านั้น อีกทั้งจะต้องรายงานตัวผ่านระบบแอพพลิเคชั่นที่รัฐบาลกำหนดทุกวันตลอดเวลา 7 วัน ที่พักอยู่ในพื้นที่ ซึ่งแผน Pattaya move on เป็นการดำเนินการ ภายใต้มาตรการ SOP หรือ Standard Operation Procedure  12 มาตรการ อาทิ 1.มาตรการรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศของ่ทาอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและสุวรรณภูมิ 2.มาตรการเดินทางจากสนามบินเข้าที่พัก 3. มาตรการบริการบริการระหว่างลูกค้าเมื่อมาถึงจุด Check in ของโรงแรม 4.มาตรการท่องเที่ยวชายหาด 5.มาตรการจัดการสำหรับพื้นที่พักผ่อนแบบองค์รวม 6.การท่องเที่ยวและการเดินเรือ และ 7.มาตรการสำหรับผู้ให้บริการ โดยสถานประกอบการ หรือโรมแรมที่จะเข้าร่วมต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน SHA+ เป็นหลัก ซึ่งการดำเนินการตามแผนดังกล่าว จะบรรลุเป้าหมายนั้นประชากรและแรงงานในพื้นที่เมืองพัทยา อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 70 % ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อจะสามารถเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวในฤดูกาลท่องเที่ยวปลายเดือนตุลาคม 2564 โดยมีกลุ่มประเทศเป้าหมายหลัก คือเยอรมันและรัสเซีย

ด้านนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า สำหรับแผน Pattaya move on เป็นความร่วมมือระหว่างเมืองพัทยา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานพัทยา โดยได้มีการนำเสนอผ่าน ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการหารือเพื่อจะเดินหน้าต่อด้านการท่องเที่ยว อย่างเมืองพัทยา ที่เชื่อมโยงไปกับเรื่องของวัคซีนที่จังหวัดชลบุรี จะต้องได้รับการจัดสรรวัคซีน เพื่อจะนำมาฉีดวัคให้กับประชาชนตามเป้าหมาย 70% โดยในส่วนของแผน Pattaya move on เป็นการโฟกัสไปยังพื้นที่ท่องเที่ยว โดย ททท.พัทยา ได้นำพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวติดต่อในอำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ เป็นหลัก ในการจัดทำแผนดังกล่าว โดยประชากรที่จะได้รับวัคซีนโควิดตามเป้าหมาย 70 % นั้นจะต้องได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวน 900,000 โดส ตามแผนของ Pattaya move on ซึ่งได้มีการวางแผนจัดฉีดวัคซีนวันละ 15,000 โดส ในพื้นที่พัทยา และพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้สามารถเปิดเมืองพัทยารับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว ในไตรมาสที่ 4 ตามแผนที่รัฐบาลกำหนดไว้

ทั้งนี้แผน Pattaya move on ที่เมืองพัทยา ททท.พัทยา และภาคธุรกิจ ได้ร่วมกันจัดทำขึ้นหลังจากนี้จะได้มีการนำเสนอให้ทางสาธารณสุขเห็นชอบ ก่อนจะผ่านไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) และส่งต่อไปให้ ศบค.พิจารณาอนุมัติ ก่อนกลางเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อให้สอดรับกับแผนการฉีดวัคซีน ที่ทางรัฐบาลได้กำหนดไว้ โดยในส่วนเมืองพัทยาและภาคท่องเที่ยว ได้มีการเสนอแผนการพิจารณาและการเพิ่มสัดส่วนของวัคซีน ที่จะมีการจัดสรรให้กับจังหวัดชลบุรี เพื่อจะสามรรถขับเคลื่อนการป้องกันการแพร่ะระบาดและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัดชลบุรี เดินหน้าต่อไปได้


ภาพ/ข่าว นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี – สัตหีบพายุฝนพัดถล่ม หลังคาตลาดปลิว เสาไฟพังเสียหาย แม่ค้าลูกค้าวิ่งหนีตาย

จากกรณีช่วงเช้าของวันที่ 28 พ.ค. 64 ที่ผ่านมาได้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง และคลื่นลมแรงครอบคลุมทุกพื้นที่ใน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ส่งผลให้หลังคาร้านค้าขายของสด ในตลาดเช้า อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ถูกแรงลมพัดจนหลังคาปลิวได้รับความเสียหาย และยังพบมีเสาไฟฟ้าหักโค่น 1 ต้น 

โดยล่าสุดนายสิทธิชัย เกียรติมนตรี สมาชิกสภาเทศบาลเมืองสัตหีบ ได้เข้ามาตรวจสอบและประสานให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น พร้อมกับแจ้งไปยังเจ้าของพื้นที่ ฐานทัพเรือสัตหีบ กองทัพเรือ เข้ามาดูแลและซ่อมแซมเสาไฟฟ้าที่หักโค่น เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนที่จับจ่ายซื้อสินค้าภายในตลาดต่อไป ซึ่งชาวบ้านได้เล่าเหตุการณ์ว่า ขณะกำลังยืนขายของได้มีลมพายุมาจากทางทะเล ก่อนจะพัดหลังคาร้านค้าในตลาด หลายร้านปลิวไปทั่ว ก่อนที่จะไปเกี่ยวสายทำให้เสาไฟในตลาดหักโค่นอีก ซึ่งตอนนั้นแม่ค้าต่างพากันวิ่งหนีตาย

ซึ่งหลังจากกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศจะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่เกิดขึ้นในระยะนี้  สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรงดการเดินเรือ ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง อนึ่ง พายุไซโคลน “ยาอาส” (YAAS) บริเวณรัฐกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในระยะต่อไป


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี /นันทพล  ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ชลบุรี - ทัพเรือภาคที่ 1 จัดกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ เปิดปฏิบัติการปูพรมทำความสะอาดหาดดงตาล ครั้งที่ 2/2564

สืบเนื่องจากช่วงวันที่ 23-26 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง กับมีฝนตกหนักลมกระโชกแรงในหลายพื้นที่ คลื่นลมทะเลได้หอบพัดเอาขยะมูลฝอยที่อยู่ในทะเลขึ้นมาบริเวณชายหาดดงตาล ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี เป็นจำนวนมาก

ในวันนี้ 30 พ.ค.64  เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ พลเรือโท โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ยังคงเห็นถึงความสำคัญในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเล และสถานที่สาธารณประโยชน์ จึงได้มอบหมายให้ นาวาเอก วีระชัย  บุญมาก ผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือน ทัพเรือภาคที่ 1 จัดกำลังพลจิตอาสาทัพเรือกองทัพเรือ จำนวน 61 นาย ได้แก่ กำลังพลจากกองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ร่วมกับกำลังพลจากหมวดเรือเฉพาะกิจทัพเรือภาคที่ 1 และเรือในหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน เปิดปฏิบัติการ ปูพรมทำความสะอาดชายหาดดงตาล ตั้งแต่ทางเข้าออกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งบริเวณสะพานคลองถูป จนถึงอุทยานเรือประวัติศาสตร์เรือของพ่อ ต.91

สำหรับปฏิบัติการปูพรมทำความสะอาดหาดดงตาลในครั้งนี้ สามารถกำจัดขยะมูลฝอยบริเวณชายหาด และที่ฝังอยู่ใต้พื้นทราย ได้เป็นจำนวนมาก โดยมีขยะที่ถูกกำจัด ได้แก่ ถุงพลาสติก หลอดกาแฟ แก้วพลาสติก ขวดน้ำดื่ม ขวดแก้ว กระสอบ ถุงขนม ฯลฯ รวมปริมาณขยะมูลฝอยที่สามารถกำจัดได้ในครั้งนี้คิดเป็นน้ำหนักขยะจำนวนมากกว่า 600 กิโลกรัม ในการนี้ผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือนได้กล่าวขอบคุณกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ ที่เสียสละเวลาส่วนตัวในวันหยุดราชการ มาร่วมกันทำความดีเพื่อสังคม ซึ่งเป็นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเล และสถานที่สาธารณประโยชน์ ตามที่ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ได้มอบนโยบายให้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างจิตสำนึกให้แก่กำลังพลในสังกัดทัพเรือภาคที่ 1 ให้ร่วมกันทำความดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อีกด้วย

การปฏิบัติการทำความสะอาดชายหาดดงตาลในครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะทางทะเล และชายหาด นั้น ยังคงมีขยะมูลฝอยเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ครัวเรือนไปจนถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะต้องหันมาร่วมกันรณรงค์ “งดการทิ้งขยะลงทะเล” อันจะทำให้สภาพแวดล้อมทางทะเลเกิดความสะอาด ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล อีกทั้งจะทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามบริเวณชายหาด ใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สะอาดได้อย่างยั่งยืน


ภาพ/ข่าว : กองกิจการพลเรือน ทัพเรือภาคที่ 1 / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานเครื่อง Oxygen High Flow แก่ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เพิ่มศักยภาพรักษาผู้ป่วยโควิด-19

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่อง Oxygen High Flow แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ จำนวน 10 เครื่อง เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการดูแลรักษาและเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 มากขึ้น

โดยมี พล.ร.ต.ชลธร สุวรรณกิตติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลฯ ทำพิธีรับพระราชทาน หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ที่หอประชุมโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นล้นพ้นที่ทรงมีต่อ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ตลอดจนประชาชนทั่วไปและบุคลากรของโรงพยาบาล กราบถวายบังคมแทบเบื้องพระยุคลบาท และขอเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมเป็นสรรพสิริมงคล และจักมุ่งมั่นดำเนินภารกิจดูแลผู้ป่วย ประชาชนที่ทุกข์ร้อน โดยใช้ประโยชน์สูงสุดจากเครื่อง Oxygen High Flow พระราชทาน ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วย เพื่อพัฒนางานบริการทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย ในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อไป

จากนั้น พล.ร.ต.ชลธร สุวรรณกิตติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้นำข้าราชการผู้ร่วมพิธี รับพระทานจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชีนีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจป้องกันเชื้อโรค (PAPR) หรือ Powered Air-Purifying Respirators จำนวน 6 ชุด แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เพื่อให้บุคคลากรทางการแพทย์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้เกิดความปลอดภัยและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาอย่างสูงสุดต่อไป

ปัจจุบัน โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ด้วยเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูง เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวและมีนิคมอุตสาหกรรม การใช้แรงงานจำนวนมาก ขณะนี้มีผู้ที่ได้รับการยืนยันติดเชื้อโควิดที่รักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งเคสเบาและหนักรวมกว่า 20 ราย แต่มีศักยภาพในการรองนับผู้ป่วยโควิด-19 ถึง 70 เตียง โดยอุปกรณ์ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานถือว่า มีความสำคัญอย่างมาก ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ชลบุรี - กองเรือยุทธการ ร่วมทดสอบการปฏิบัติการของอากาศยานไร้คนขับ MARCUS ที่พัฒนาโดย สวพ.ทร. เตรียมนำมาใช้ในภารกิจรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม รองผู้บัญชาการทหารเรือ ชมการสาธิตการปฏิบัติการของอากาศยานไร้คนขับที่ดำเนินการพัฒนาโดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ (สวพ.ทร.) ภายใต้ชื่อโครงการอากาศยานไร้คนขับเพื่อการลาดตระเวนทางทะเล กองทัพเรือ (Maritime Aerial Reconnaissance Craft Unmanned System:MARCUS) โดยมี พล.ร.อ.สุทธินันท์  สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ, พล.ร.ท.โกวิท  อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 1, พล.ร.ต.อะดุง  พันธุ์เอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ, พล.ร.ต.อาภา ชพานนท์ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ ตลอดจนผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองเรือยุทธการ ให้การต้อนรับ บน ร.ล.อ่างทอง ท่าเทียบเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

โดยกำหนดสถานการณ์สมมติเป็นการปฏิบัติของ ศรชล.ภาค 1 สั่งการให้ ร.ล.อ่างทอง ที่กำลังลาดตระเวนในพื้นที่รับผิดชอบ ค้นหา พิสูจน์ทราบ และจับกุมเรือต้องสงสัยว่าจะลักลอบนำเข้าสารอันตรายเพื่อใช้สร้างสถานการณ์ในพื้นที่สำคัญทางภาคตะวันออก ต่อมา ร.ล.อ่างทอง ได้ตรวจพบเรือ 1 ลำ มีพฤติกรรมต้องสงสัย จึงใช้ MARCUS เข้าพิสูจน์ทราบ ก่อนที่จะส่งชุดตรวจค้นเข้าปฏิบัติการต่อไป

จากวัตถุประสงค์ในการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ MARCUS ตามที่ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในวงเงิน 10 ล้านบาท ที่ได้ทำการพัฒนาให้มีขีดความสามารถ

             -ขึ้น-ลงในพื้นที่จำกัด (ทางดิ่ง) ที่อากาศยานแบบปีกนิ่งทั่วไปไม่สามารถทำได้

             -พัฒนาระบบควบคุมและสั่งการทางยุทธวิธีทางอากาศ (Tactical-Based Aerial Command Control System:TBACCS) ให้สามารถสั่งการพ้นระยะสายตา หรือในบริเวณจุดอับสัญญาณของการสื่อสารได้

การสาธิตในครั้งนี้ได้นำกล้องตรวจการณ์ของ UAV นารายณ์ ติดตั้งเข้ากับระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับเป้าในทะเลอีกด้วย ซึ่งการปฏิบัติการในครั้งนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

คุณลักษณะของอากาศยานไร้คนขับ MARCUS ประกอบด้วย

             -ความกว้างปีก 3.4 เมตร

             -น้ำหนักขึ้นบิน 24 กิโลกรัม

             -ความเร็ว ประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

             -ระยะเวลาปฏิบัติการบนอากาศ ประมาณ 1 ชั่วโมง

             -ระยะบินไกลสุด 15 กิโลเมตร และกำลังพัฒนาในรุ่นต่อไปให้สามารถบินได้ไกลสุด 40 กิโลเมตร

อากาศยานไร้คนขับ MARCUS ได้ผ่านการทดสอบทดลองจากหน่วยปฏิบัติงานทั้งทัพเรือภาค , ศรชล.เขต และหน่วยบิน ว่าสามารถสนับสนุนการปฏิบัติการตรวจสอบและถ่ายภาพเป้าหมายในทะเล ได้ตามวัตถุประสงค์ อย่างไรก็ตามเพื่อให้ MARCUS มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องพัฒนาระยะเวลาในการปฏิบัติงานในอากาศให้ได้มากกว่า 1 ชั่วโมง  ซึ่งคณะวิจัยฯ กำลังดำเนินการปรับโครงสร้างลำตัว , เพิ่มประสิทธิภาพของแบตเตอรี่และอื่น ๆ เพื่อให้ MARCUS สามารถตอบสนองความต้องการทางยุทธวิธีได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นต้นแบบงานวิจัยที่จะสามารถนำเข้าสู่สายการผลิตให้แก่กองทัพเรือ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากจะเปรียบเทียบ MARCUS ที่กองทัพเรือวิจัยจนเป็นผลสำเร็จในครั้งนี้สามารถเทียบคุณสมบัติได้ใกล้เคียงกับอากาศยานไร้คนขับแบบ ORBITER-3B ที่กองทัพเรือจัดหาจากประเทศอิสราเอล โดยปล่อยยิงแบบ Launcher ในวงเงิน 50 ล้านบาท ต่อ 1 ชุด (อากาศยาน 1 เครื่อง และชุดควบคุม 1 ชุด) แต่ MARCUS จะใช้งบประมาณในการผลิตเพียงไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อชุด อีกทั้งยังสามารถขึ้นลงทางดิ่งที่จะสามารถตอบสนองการปฏิบัติการร่วมในทะเล ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

อากาศยานไร้คนขับ MARUS จะถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของงานวิจัยที่เข้าสู่สายการผลิต ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือ ประจำปี งบประมาณ 64 ที่มอบให้ว่า “ขับเคลื่อนงานวิจัยของกองทัพเรือให้สามารถนำไปสู่ภาคการผลิต และเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม”


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

ชลบุรี - กระทบหนัก ร้านเสริมความงาม ร้านสัก ร้านอินเทอร์เน็ต กว่า 50 คน พบ ผวจ.ชลบุรี ขอผ่อนผันเปิดกิจการ หลังหนี้สินล้น จากพิษโควิด

เจ้าของกิจการสถานเสริมความงาม ร้านอินเตอร์เน็ต ร้านสักผิวหนัง ประมาณ 50 คน ทนไม่ไหว หลังโดนปิดมานานกว่า 7 เดือน ในการระบาดแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 รวม 3 ครั้ง โดนทวงหนี้ค่าเช่าและหนี้สินล้น เดินทางเข้าขอพบผู้ว่าราชการ จ.ชลบุรี ขอผ่อนผันให้เปิดกิจการ โดยยอมทำตามมาตรการของ ศคบ.ทุกอย่าง

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 14 มิ.ย. 64 ที่หน้าศาลากลาง จ.ชลบุรี น.ส.ณัฐวรันทร์ ศรีประไหม อายุ 34 ปี เจ้าของสถานเสริมความงามแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี พร้อมเจ้าของร้านอื่น มีทั้งเจ้าของร้านอินเทอร์เน็ตและร้านรับสักผิวหนัง ในภาคตะวันออก ประมาณ 50 คน ได้นัดรวมตัวกันเดินทางเข้าพบนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผวจ.ชลบุรี เพื่อยื่นหนังสือขอผ่อนผันให้เปิดบริการ หลังโดนสั่งปิดกิจการ 3 ครั้ง รวมกว่า 7 เดือน

ต่อมานายนริศ นิรามัยวงค์ รอง ผวจ.ชลบุรี ได้เดินทางลงมารับมอบหนังสือจากตัวแทน และให้ตัวแทนรวม 6 คน เข้าพูดคุยในห้องประชุมศาลากลาง จ.ชลบุรี โดยในหนังสือมีข้อความว่า “เรียน ท่านผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จังหวัดชลบุรี สิ่งที่แนบมาด้วยมาตรการแนวทางในการ ปฏิบัติตามเงื่อนไข การป้องกันโรคระบาด เนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบกับปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสไคโรน่า 2019 จึงส่งผลให้กิจการต่าง ๆ ภายในประเทศ ต้องหยุดกิจการลง เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส รวมไปถึงกิจการคลินิกเสริมความงาม ที่หยุดกิจการตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 2 เดือนแล้ว ซึ่งรวม 3 ครั้ง ปิดไปประมาณ 7 เดือน ทำให้ผู้ประกอบการคลินิกได้รับผลกระทบ จากรายจ่ายของกิจการที่ยังคงดำเนินอยู่ อาทิ ค่าเช่าสถานที่เปิดร้าน ด่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าจ้างพนักงานเฝ้าร้านที่ให้ช่วยสอดส่องคูแลทรัพย์สินภายในร้าน ในช่วงที่ปิดกิจการ ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการเล็งเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศดีขึ้น

โดยพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในโรงงานและแคมป์แรงงานต่างด้าว ไม่มีการระบาดเป็นวงกว้างในชุมชนปกติทั่วไป รวมถึงห้างสรรพสินค้า ดังนั้น ข้าพเจ้ากลุ่มผู้ประกอบการผู้ให้บริการคลินิกเสริมความงาม (คลินิกเวชกรรม) จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากท่าน เพื่อพิจารณาอนุญาตให้ร้านเปิดคำเนินกิจการ โดยกลุ่มผู้ประกอบการได้จัดทำมาตรการ ในการให้บริการภายในร้านดังนี้

ผู้ให้บริการคลินิกเสริมความงาม (คลินิกเวชกรรม)

1.พนักงานประจำร้านสวมหน้ากากอนามัย และ Face Shicd ตลอดเวลาที่ทำงานภายในร้าน และมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้เข้าใช้บริการทุกท่าน

2.จัดทำ QR Code ของไทยชนะ เพื่อให้ลูกค้าลงทะเบียนเข้าใช้บริการ

3.มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือตามจุดต่าง ๆ ภายในร้าน

4.จำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ เพื่อให้มีระยะห่างอย่างเหมาะสม (Social distancing) อย่างน้อย 3 ตารางเมตรเมตรต่อ 1 คนและผู้ใช้บริการ 1 คนต่อ 1 เครื่องเท่านั้น

5.จัดเก็บข้อมูลถูกค้าที่เข้าใช้บริการ ชื่อ-นามสุกล / วัน-เวลาเข้าใช้บริการ และเบอร์โทรศัพท์

6.ทำความสะอาดเครื่องมือทันที และทุกครั้งหลังถูกค้าใช้บริการเสร็จสิ้น หรือทุก 2 ชั่วโมง โดยทำความสะอาดตามจุดสัมผัสต่าง ๆ ภายในร้าน เช่น อุปกรณ์ต่าง ๆ เดียง โต๊ะ เก้าอี้ ที่มีการสัมผัส มือจับประตู ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและดวบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ในสถานประกอบการ ร้านเกม/อินเทอร์เน็ต

1.การเว้นระยะห่างเปิดให้บริการแบบเครื่องเว้นเครื่องและทำฉากกั้นที่มั่นคงแข็งแรงโดยมีความสูงไม่น้อยกว่า 50 ซม.และให้บริการลูกไม่เกิน 50% ของจำนวนเครื่องที่ให้บริการ (ร้านขนาดเล็กให้บริการได้ไม่เกิน 10 คน ,ขนาดกลางและขนาดใหญ่ให้บริการได้ไม่เกิน 25 คน)

2.พนักงานและผู้เข้าใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม ตลอดเวลาที่ใช้บริการ งดการมีปฏิสัมพันธ์ งดผู้ชม ใช้บริการได้เฉพาะผู้เข้าใช้คอมพิวเตอร์เท่านั้น

3.มีการตรวจวัดอุณหภูมิตัดกรอง สแกนไทยชนะ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าใช้บริการ งดให้บริการผู้ที่มีอาการไข้ไอจาม หอบเหนื่อย หรือเป็นหวัด และในระหว่างให้บริการ พนักงานต้องคอยหมั่นสังเกตและสอดส่องอย่างเคร่งครัด หากพบลูกค้ามีอาการไองามสามารถแจ้งให้หยุดใช้บริการได้ทันที

4.ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่เพียงพอ

5.มีแบบฟอร์มบันทึกการเข้าใช้บริการและแบบสอบถามการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง (โดยทางร้านมีการติดตามข้อมูลรายละเอียดพื้นที่เสี่ยงจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีทุกวัน)

6.ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อประตูทางเข้าออก ประตูห้องน้ำ ทำความสะอาดทุก 1 ชั่วโมง อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั้งหมดรวมไปถึงโต๊ะเก้าอี้เช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุก 2 ชั่วโมง และทุกครั้งหลังลูกค้าเลิกใช้บริการ ถูพื้นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อวันละ 2-3 ครั้งทำความสะอาดห้องน้ำด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำทุก 1 ชั่วโมง

7.เปิดประตูเพื่อระบายอากาศทุก 2 ชั่วโมง (เป็นเวลา 10-15 นาที) และทำความสะอาด เครื่องปรับอากาศ แผ่นกรองอากาศให้ได้อย่างสม่ำเสมอ

8.หลีกลี่ยงการสัมผัสเงินโดยตรงโดยใช้ภาชนะเพื่อรับเงินหรือการใช้ e-payment

9.หากผู้ประกอบการ หรือพนักงานให้บริการ หรือผู้เกี่ยวข้องมีอาการไข้หรือเป็นหวัด ให้หยุดงานและ ไปพบแพทย์โดยทันที และ

10.กำชับบุคคลที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการค้านสาธารณสุข D-M-H-T-T

นายวุฒิพงษ์ หมื่นจำนงค์ อายุ 44 ปี กิจการร้านอินเตอร์เน็ต เผยว่า วอนท่านผู้ว่าได้ทบทวนคำสั่งเพื่อช่วยเหลือพวกเราด้วย เราพร้อมที่จะทำตามคำสั่งขอให้เปิดบริการได้ เพราะเราไม่ไหวแล้วจริง ๆ

น.ส.ศุภนิจ ก๊กรัมย์ อายุ 40 ปี เจ้าของสถานเสริมความงาม เผยว่า อยากให้ท่านผู้ว่าทบทวนคำสั่งใหม่ ขนาดท่านนายกฯยังยอมผ่อนผันในบางแห่งเลย ธุรกิจต้องดำเนินต่อไป เรามาครั้งนี้เพราะทนไม่ไหวแล้ว ปิดนานแต่เรามีรายจ่าย ทุกวันทุกเดือน เพราะต้องจ้างคนดูแลร้าน ส่วนลูกน้องนั้นก็จะโดนยึดหมดแล้วทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เขาปิดเราแต่ไม่มีการเยียวยาใด ๆ เลย เจ้าของธุรกิจเขาก็ต้องดูแลน้อง ๆ เขา แต่ว่ามาถึงจุดตอแนนี้ก็ดูแลไม่ไหวแล้วเหมือนกันจึงมาของอนุเคราะห์ผ่อนผันให้เปิดได้ด้วยนายนริศ นิรามัยวงค์ รอง ผวจ.ชลบุรี เปิดเผยว่า ก็จะนำหนังสือไปมอบให้ท่านผู้ว่าฯ เพื่อนำเข้าที่ประชุม ศคบ.ชลบุรี ในวันพฤหัสนี้ เพื่อขอผ่อนผันให้เปิดต่อไป ซึ่งก็เห็นใจทุกฝ่าย คาดว่าทางคณะที่ประชุม ศคบ.ชลบุรี ก็คงพิจารณาอีกครั้ง    


ภาพ/ข่าว  นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - ฐานทัพเรือสัตหีบ นำกำลังพลพร้อมอุปกรณ์ ขุดลอกคูคลองเปิดทางระบายน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณโรงสิงห์สมุทร

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.64 พลเรือโท อนุชาติ อินทรเสน ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ การปฎิบัติงานของกำลังพล ซึ่งได้ร่วมกันนำอุปกรณ์ ขุดลอกคูคลองบริเวณโรงเรียนสิงห์สมุทร หลังปั้มน้ำมันบางจากแยกสัตหีบ เนื่องจากมีเศษกิ่งไม้ ใบหญ้า และวัชพืชขึ้นรกทำให้ทางระบายน้ำไม่สะดวก เกิดน้ำท่วมขังบริเวณทางเข้าโรงเรียนสิงห์สมทุร หลังกิจการสถานีบริการยานยนต์ (ปั๊มน้ำมันบางจาก)

โดยทางฐานทัพเรือสัตหีบ จัดกำลังพลพร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ ได้แก่ รถแบ็คโฮ รถบรรทุก ดำเนินการขุดลอกคูคลอง ทางระบายน้ำ กำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเป็นการเปิดทางระบายน้ำให้ไหลออกจากพื้นที่บริเวณโรงเรียนสิงห์สมุทรซึ่งเป็นเขตต่อเนื่องระหว่าง ฐานทัพเรือสัตหีบ และหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังซึ่งเกิดจากการระบายน้ำไม่ทันในช่วงฤดูฝน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการคมนาคมของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนข้าราชการ นักเรียนโรงเรียนสิงห์สมุทร บริเวณพื้นที่แยกสัตหีบ ถนนสุขุมวิท และเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ฤดูฝน และการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนสิงห์สมุทร

ในการนี้ นาย คงเดช โชติจำลอง ผู้อำนวยการโรงเรียนสิงห์สมุทร ซึ่งได้เดินทางมาให้การต้อนรับพร้อมคณะครูโรงเรียนสิงห์สมุทร กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ตรงบริเวณนี้มีขยะ เศษไม้ และวัชพืชทับถมมาเป็นเวลานานหลายปี จึงทำให้เกิดการอุดตัน กีดขวาง ทางระบายน้ำ น้ำระบายไม่ทัน เวลาฝนตกจึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง จึงขอขอบคุณฐานทัพเรือสัตหีบ โดย พลเรือโท อนุชาติ อินทรเสน ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ ที่จัดกำลังพลพร้อมด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ มาร่วมพัฒนา ขุดลอกคูคลอง เปิดทางระบายน้ำ จะทำให้แก้ปัญหาน้ำท่วมได้ต่อไป


ภาพ/ข่าว สมนึก เชื้อสนุก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top