Saturday, 4 May 2024
ชลบุรี

ชลบุรี - ทัพเรือภาคที่ 1 จัดพิธีส่งหมู่เรือ ไปปฏิบัติราชการหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน

พลเรือโท โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 มอบหมายให้ นาวาเอก เกียรติกูล สุวรรณ รองเสนาธิการ ทัพเรือภาคที่ 1/ผู้บังคับหมวดเรือตระเวนขายแดน เป็นประธานในพิธีส่งหมู่เรือไปปฏิบัติราชการในหมวดเรือลาดตระเวนชายแดนส่วนที่ 1 ณ ท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.64 เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่รักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล บริเวณพื้นที่ชายแดนทางทะเลไทย - กัมพูชา ประกอบด้วย เรือหลวงตากใบ , เรือ ต.113 , เรือ ต.237 และ เรือ ต.272 พร้อมให้โอวาทและมอบกระเช้า เพื่อให้กำลังพลมีขวัญและกำลังใจที่ดี ในการเดินทางไปปฏิบัติราชการชายแดนในครั้งนี้

นาวาเอก เกียรติกูล สุวรรณ กล่าวว่า การส่งหมู่เรือเข้าปฏิบัติราชการ หมวดเรือลาดตระเวนชายแดน มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการปฏิบัติการทางเรือ บริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบบริเวณ จว.จันทบุรี และ จว.ตราด รวมถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดกฎหมายต่าง ๆ หน้าที่สำคัญที่จะต้องยึดมั่น คือการบรรลุภารกิจให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะต้องเสริมสร้างความร่วมมือกับมวลชนในทะเล เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ และเน้นย้ำให้กำลังพลทุกนายปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ความซื่อสัตย์ และความบริสุทธิ์ยุติธรรม

สำหรับความสำคัญของการจัดพิธีส่งหมู่เรือฯ ก็คือ การบำรุงขวัญและกำลังใจของเหล่าทหารหาญผู้กล้า ที่กำลังจะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่บริเวณชายแดน ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการปะทะ อีกทั้งยังเป็นการอวยพรให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ รวมถึงสามารถปฏิบัติภารกิจที่กองทัพเรือมอบหมาย ได้สำเร็จลุล่วงต่อไป


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี  

ชลบุรี - ประกอบพิธีถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีฯ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ

ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อม รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรีและหัวหน้าส่วนราชการ ประกอบพิธีถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 4 กรกฎาคม 2564

วันที่ 2 ก.ค. 64 ที่ห้องโถงชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดชลบุรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี นายภัครธรณ์  เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อม รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี และหัวหน้าส่วนราชการ ประกอบพิธีถวายสักการะ และลงนามถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 4 กรกฎาคม 2564 เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย

โดยกิจกรรมภายในงาน ประธานในพิธี เปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนแพถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์ฯ พร้อมกล่าวถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติฯ ลงนามถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และเยี่ยมชมนิทรรศการ อันเป็นการเสร็จสิ้นพิธี

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่ประชาชนชาวไทยรัก เทิดทูน และศรัทธา พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ ผู้มีผลงานดีเด่นของโลก ในสาขาสารเคมีก่อมะเร็ง และพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ทรงตั้งกองทุนจุฬาภรณ์ มูลนิธิจุฬาภรณ์ขึ้น เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุข รวมถึงนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่มีคุณภาพจึงเป็นที่มาในการก่อตั้ง "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" โดยมีพระประสงค์ให้เป็นสถาบันวิจัยวิชาการชั้นสูงและจัดการศึกษาทางวิชาการ วิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม การแพทย์และการสาธารณสุข

อีกทั้งยังทรงตระหนักถึงปัญหาผู้ป่วยยากไร้ และปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ จึงทรงดำริให้ก่อตั้ง "ศูนย์การแพทย์ภัทร มหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์" ขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชน ผู้มีรายได้น้อย เข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างครบวงจร

รวมทั้งเป็นโรงเรียนผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ นอกเหนือจากนี้ พระองค์ทรงก่อตั้งมูลนิธิ หน่วยงานและโครงการในพระอุปถัมภ์ โครงการบำเพ็ญพระกุศล และด้วยพระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและพสกนิกรเป็นอเนกประการ  รวมทั้งเข้าถึงการให้บริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง

โดยเฉพาะวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ ทรงมีความห่วงใย และได้พระราชทานความช่วยเหลือต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น เครื่องช่วยหายใจ ยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจน เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้ระบบสาธารณสุขไทย และบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ตลอดจนเป็นขวัญและกำลังใจแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย เสมอมา


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล  ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - พัทยา แจงภาพ ปชช.รอรับแจกของในโซเชียล เป็นการวางระบบตามมาตรการป้องกันโควิด

ตามที่มีภาพนำเสนอ ในสื่อโซเชียลเป็นภาพผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังเข้าคิวรอรับแจกอาหารบริเวณชายหาดเมืองพัทยา จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานา และเป็นที่สนใจต่อสาธารณชนอยู่ในขณะนี้นั้น

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า จากภาพที่เห็นหากมองมุมเดียวก็จะเห็นถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านจากผลกระทบโควิด-19 แต่ถ้ามองภาพรวมจะเห็นได้ว่าในสถานการณ์เช่นนี้ยังมีคนไทยผู้ใจบุญอีกเป็นจำนวนมากที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยาก ในภาพก็จะเป้นกลุ่มลูกหลานของเพื่อนของตนเองที่ขออนุญาตทางเมืองพัทยาเตรียมอาหารมาแจกจ่ายให้ประชาชน

ซึ่งในทุกระลอกของการแพร่ระบาดก็จะเห็นคนไทยใจดีออกมาช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ให้สังคมมากขึ้น แต่ต้องมีการขออนุญาตกับทางเมืองพัทยาเพื่อเป็นไปตามมาตรการการควบคุมและป้องกันโรคระบาดของ ศบค. เป็นการเน้นย้ำการรักษาและปฏิบัติตามาตรการเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้นในพื้นที่เมืองพัทยา ซึ่งประชาชนที่มารับแจกจะมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก ดูแลไม่ให้เกิดภาวะเสี่ยงตลอดจนจบกิจกรรม


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี – นายกเมืองพัทยา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33

สำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรีร่วมกับเซ็นทรัลพัฒนา เปิดหน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้กับประชาชนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยใช้พื้นที่ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลมารีนา พัทยา จ.ชลบุรี เป็นสถานที่ให้บริการวัคซีน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีประชาชนในเขตอำเภอบางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 37,000 คน ได้ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมเพื่อแสดงความประสงค์ในการรับบริการวัคซีน ตามระบบและแนวทางการจัดสรรวัคซีนของภาครัฐ ก่อนวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 13,000 โดส จะถูกจัดสรรมาในวันนี้

สำหรับการให้บริการัคซีนสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในครั้งนี้ จะเริ่มตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. ของทุกวันยกเว้นวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยจะให้บริการประชาชนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ด้วยการแบ่งฉีดวันละ 660 คน

ข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับในวันนี้ นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจในการให้บริการวัคซีน ม.33 โดยทางศูนย์การค้าเซ็นทรัลมารีนา พัทยา ได้กำหนดใช้พื้นที่ Party House บริเวณชั้น 1 ของศูนย์การค้าเป็นสถานที่ให้บริการวัคซีนสำหรับประชาชนผู้ประกันตน ม.33 ที่พากันมารอคิวตามระบบคัดกรองตั้งแต่ช่วงเช้า


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - เมืองพัทยา ลุยเดินหน้าพ่นยาฆ่าเชื้อสร้างความอุ่นใจแก่ประชาชน หลังพบมีจำนวนผู้ป่วยเกิดขึ้นในพื้นที่

รองนายกเทศมนตรี จับมือ เลขานุการนายก ลุยเดินหน้าพ่นยาฆ่าเชื้อ เร่งสร้างความอุ่นใจแก่ประชาชนในพื้นที่ หลังพบมีจำนวนผู้ป่วยเกิดขึ้นในพื้นที่  

วันที่ 10 ก.ค. 64 ที่เทศบาลตำบลบางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี คณะผู้บริหารเทศบาลตำบลบางละมุง  นำโดย นางณัฐธินีย์ เฉิดฉาย , นางสาวทิพย์วิมล หอมขจร รองนายกเทศมนตรี , นายกัณป์ชสาน รัตนะ เลขานุการนายกเทศฒนตรีตำบลบางละมุงได้เตรียมอุปกรณ์การพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อทำการลงพื้นที่ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อสร้างความอุ่นใจแก่ประชาชนในพื้นที่ หลังจากที่พบว่าในพื้นที่ตำบลบางละมุง พบผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยในวันนี้รองนายกเทศฒนตรี และเลขานุการนายกเทศมนตรี ลงพื้นที่ฉีดยาฆ่าเชื้อให้กับประชาชนด้วยตัวเอง

นางณัฐธินีย์ เฉิดฉาย รองนายกเทศมนตรีตำบลบางละมุง เผยว่า สำหรับภภารกิจในการพ่นยาฆ่าเชื้อป้องกันไวรัสโควิด-19  ตามแหล่งชุมชนและบ้านพักอาศัย ถือว่าเป็นภาระกิจสำคัญที่ทางเทศบาลเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชานในพื้นที่ ถึงแม้ว่าเรื่องของการพ่นยาในส่วนของภาครัฐจะไม่ได้สนับสนุน แต่ก็ถือว่าเป็นการสร้างความอุ่นใจแก่ประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี 

 ซึ่งการที่จะตัดวงจรการเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ดีที่สุดก็คือการเว้นระยะห่าง การสวมใส่หน้ากากอนามัย และการหมั่นทำความสะอาดและใช้อุปกรณ์น้ำยาฆ่าเชื้อผสมน้ำ เพื่อทำการชุบและเช็ดตามพื้นที่สาธารณะ ซึ่งในส่วนของน้ำยาฆ่าเชื้อนั้นทางเทศบาลได้ทำการสนับสนุนและแจกให้กับประชาชนทุกหลังคาเรือนที่ต้องการ โดยสามารถเดินางมารับน้ำยาฆ่าเชื้อได้ที่เทศบาลทุกวันในวันและเวลาราชการ  

ซึ่งในส่วนของกองสาธารณสุขเทศบาลตำบลบางละมุง ปัจจุบันพบว่าได้ออกปฏิบัติหน้าที่กันอย่างหนัก  ต่อเนื่องมาโดนตลอด ดังนั้นในส่วนของภาคประชาชนเองก็ต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค.อย่างเข้มข้น  เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่ลงให้ได้ต่อไป


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ร่วมออกเรือกับ ร.ล.สายบุรี เพื่อติดตามการทดสอบความพร้อมหลังการซ่อมทำกำลังทางเรือที่มีความพร้อมรบ และพร้อมปฏิบัติการในทุกภารกิจ

วันที่ 12 ก.ค. 64 พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ , พล.ร.ท.สมัย ใจอินทร์ รองผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ , คณะฝ่ายอำนวยการฯ และผู้บังคับบัญชาของกองการฝึกกองเรือยุทธการ  ร่วมออกเรือ เพื่อทดสอบความพร้อมหลังการซ่อมทำของ ร.ล.สายบุรี ทั้งในด้านองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธี เนื่องจากเรือเข้ารับการซ่อมทำเป็นเวลานาน จึงต้องมีการตรวจสอบความพร้อมของเรือ เพื่อนำข้อมูลส่งให้หน่วยเทคนิคในฐานะหน่วยซ่อมบำรุง (ทางองค์วัตถุ) และทัพเรือภาคต่าง ๆ ในฐานะหน่วยผู้ใช้งาน โดยกองการฝึกกองเรือยุทธการจัดผู้ประเมินการทดสอบ โดยใช้พื้นที่บริเวณอ่าวไทยตอนบน

ความพร้อมของเรือและอากาศยาน ถือเป็นนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการกองเรือยุทธการให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งในห้วงเดือนที่ผ่านมา ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการได้เชิญกองเรือต่าง ๆ มาบรรยายและนำเสนอข้อมูลความพร้อมของเรือที่อยู่ในความรับผิดชอบ ปัญหาอุปสรรคข้อขัดข้องต่าง ๆ รวมทั้งความก้าวหน้าของการซ่อมทำเรือ เพื่อที่จะร่วมหาแนวทางแกัไข และเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

หลังจากที่รับฟังข้อมูลจากกองเรือต่าง ๆ แล้ว เมื่อวันที่ 18 และ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็ได้ลงพื้นที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ จ.ชลบุรี และอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ จ.สมุทรปราการ เพื่อประสานการปฏิบัติรวมทั้งเยี่ยมกำลังพล และตรวจดูสภาพของเรือที่อยู่ในระหว่างการซ่อมทำ เพื่อรับทราบปัญหา ข้อขัดข้องต่าง ๆ สำหรับประเมินความพร้อมของเรือภายหลังจากการเข้ารับการซ่อมทำ ต่อไปเรือที่เข้ารับการซ่อมทำจากหน่วยเทคนิค เมื่อซ่อมทำเสร็จ และส่งมอบเรือ ให้กองเรือยุทธการแล้ว จะให้มีการตรวจสอบความพร้อมของเรือโดยให้กองการฝึกกองเรือยุทธการดำเนินการตรวจสอบในสาขาต่าง ๆ เพื่อเป็นกระจกเงาสะท้อนความพร้อมของเรือภายหลังการซ่อมทำ ก่อนจะออกปฏิบัติราชการ เพื่อจะได้ช่วยกองเรือตรวจสอบ และรายงานผลของการซ่อมทำไปให้กับหน่วยเทคนิคต่าง ๆ ที่ดำเนินการซ่อมทำในแต่ละสาขาที่เกี่ยวข้องได้รับทราบต่อไป


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

ชลบุรี - สวนนงนุชพัทยา ประกอบพิธีเปลี่ยน “ธงมนตรา” 9 ผืน จากประเทศภูฏาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ

วันนี้ (14 ก.ค. 64)  เวลา 09.00 น. นายกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา พร้อมด้วยผู้บริหารสวนนงนุชพัทยา ได้ร่วมกันประกอบพิธีเปลี่ยน “ธงมนตรา” จากประเทศภูฎาน จำนวน 9 ผืน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ

นายกัมพล กล่าวว่า ที่ได้รับมอบธงมนตรามาจากสถานทูตภูฎาน ประจำประเทศไทย “เมื่อปี พ.ศ.2561” อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณ สถานทูตภูฎาน ประจำประเทศไทย ที่มอบธงมนตราและจะทำการเปลี่ยนธงตามอายุการใช้งาน สำหรับธงมนตรา ของประเทศภูฎาน ถือเป็นธงแห่งโชคลาภ โบกสะบัดปัดสิ่งที่ดีให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในสวนนงนุชพัทยา

ธงมนตรา เป็นธงที่จารึก บทสวดมนต์ไว้บนธง ธง 5 สี หมายถึง 5 ธาตุ ซึ่งจะพัดผ่านสายลม นำสิ่งดี ๆ มาสู่ชีวิต ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่ได้มีโอกาสเข้ามาท่องเที่ยว ณ สวนนงนุชพัทยา นอกจากจะได้เข้าชมความสวยงามของสวนนงนุชพัทยาอย่างหลากหลายแล้ว  

ทั้งนี้ จากการที่สวนนงนุชพัทยา ทำการเปลี่ยนธงมนตราในวันนี้ เพื่อสื่อถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศแล้ว สวนนงนุชพัทยา ยังคงพัฒนาสวนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ สำหรับเยาวชนและบุคคลที่สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชมอีกด้วย

ชลบุรี - กองทัพเรือเร่งแก้ไขปัญหาการให้บริการไฟฟ้าในพื้นที่อำเภอสัตหีบ แจงดำเนินการของกิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ เป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงทางทหาร เช่นเดียวกับความมั่นคงด้านพลังงานเชื้อเพลิงปิโตรเลียม ที่ถือเป็นยุทธปัจจัย

วันนี้ (14 กรกฎาคม 2564) พลเรือเอก เชษฐา โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงกรณีที่ ผู้ใช้บริการไฟฟ้าในพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ร้องเรียนถึงกรณีการเกิดปัญหา ไฟตกและไฟดับบ่อยครั้ง ซึ่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความปลอดภัย ของประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ มีการปรับปรุงแก้ไข โดยเรียกร้องให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้ามาดำเนินกิจการแทน ผู้ให้บริการรายเดิมนั้น โฆษกกองทัพเรือได้ชี้แจงว่า

ปัจจุบัน หน่วยงานที่ให้บริการไฟฟ้าในพื้นที่อำเภอสัตหีบจังหวัดชลบุรี คือ กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ซึ่งก่อตั้งด้วยเหตุผลความจำเป็นทางยุทธปัจจัยด้านปิโตรเลียม พลังงานไฟฟ้า พร้อมทั้งสาธารณูปโภคอื่น ๆ ที่ทุกฐานทัพ หรือเขตปลอดภัยทางทหารของเกือบทุกชาติในโลก ต่างต้องดำรงความพร้อมให้แก่กำลังทหารและยุทโธปกรณ์ โดยก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2483   เริ่มต้นได้สร้างเป็นโรงกำเนิดไฟฟ้า ประกอบด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน 3 เครื่อง เครื่องละ 275 กิโลวัตต์ เดินเครื่องจำหน่ายไฟฟ้าให้กับหน่วยราชการทหาร ฐานทัพเรือ ตลอดจนหน่วยราชการฝ่ายพลเรือน และตลาดสัตหีบ ซึ่งในขณะนั้น บ้านเรือนราษฎรยังเบาบาง มีเฉพาะหน่วยงานทางทหารเป็นส่วนใหญ่ และในพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีไฟฟ้าใช้ อยู่ในสภาวะกันดารด้วยเหตุที่การไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 Officer Incharge Construction Center (O.I.C.C.) ของ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาช่วยเหลือด้านกิจการทหารของประเทศไทย โดยได้เพิ่มขีดความสามารถในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ทำให้ฐานทัพเรือสัตหีบ กองทัพเรือ บริการกระแสไฟฟ้าให้แก่ประชาชนในตำบลสัตหีบได้เพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งในปี พ.ศ.2510 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ขยายเขตจำหน่ายไฟฟ้ามาถึงอำเภอสัตหีบ โดยได้ตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยที่ 1 ขึ้นที่ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี กองทัพเรือ จึงได้ยกเลิก การเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และได้ซื้อกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มาใช้ในหน่วยราชการทหาร และจำหน่ายให้แก่ประชาชนบริเวณใกล้เคียงที่มาร้องขอใช้บริการ

ทั้งนี้ กองทัพเรือ ได้รับสัมปทานให้ประกอบกิจการไฟฟ้าในการดำเนินการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2514 เป็นต้นมา มีการต่ออายุสัมปทานมาแล้วจำนวน 4 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี โดยมีข้อกำหนดและเงื่อนไขตามสัมปทานประกอบกิจการไฟฟ้าซึ่ง กองทัพเรือ ได้รับจากกระทรวงกระทรวงมหาดไทยให้สัมปทานประกอบกิจการไฟฟ้า จำนวน 4 ครั้ง ในปี พ.ศ.2513, 2524, 2533 และ2541 และกระทรวงพลังงานให้สัมปทานประกอบกิจการไฟฟ้า จำนวน 1 ครั้ง ในปี พ.ศ.2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแทน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในเขตปลอดภัยในราชการทหารของฐานทัพเรือสัตหีบ กองทัพเรือ และประชาชน ในเขตที่ได้รับสัมปทาน โดยมีอาณาเขต ดังนี้ ทิศเหนือจรดเขตบ้านอำเภอ ทิศใต้จรดกรมปืนต่อสู้อากาศยาน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ทิศตะวันออกจรดเขตคลองบางไผ่ ทิศตะวันตกจรดเขตฝั่งตะวันออกทั้งหมด   

การดำเนินการของกิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ มีวัตถุประสงค์เป็นตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชน ได้มีกระแสไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง และถูกต้องตามประกาศคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการไฟฟ้า พ.ศ.2558 และเรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ พ.ศ.2561 ซึ่งในประกาศดังกล่าวได้ให้นิยาม ผู้ให้บริการไฟฟ้าว่า หมายถึง การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ (กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัตหีบ) ผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าเอกชนหรือผู้รับใบอนุญาตอื่นที่ กกพ. กำหนด

โฆษกกองทัพเรือกล่าวต่อไปว่า สำหรับ กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ได้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าและใบอนุญาตระบบจำหน่ายไฟฟ้าจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยกองทัพเรือยังคงมีความจำเป็นในการดำเนินการคือการไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงและปลอดภัยในราชการทหาร เช่นเดียวกับความมั่นคงด้านพลังงานเชื้อเพลิง หรือการปิโตรเลียมและสาธารณูปโภคที่สำคัญอื่น ๆ อีก โดยเฉพาะในเขตฐานทัพ ท่าเรือ และเนื่องจากเขตอำเภอสัตหีบเป็นเขตปลอดภัยในราชการทหาร ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณเขตปลอดภัยในราชการทหารแห่งกองทัพเรือ ในท้องที่อำเภอบ้านค่าย อำเภอบ้านฉาง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง และอำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ.2536 โดย กิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ มีฐานทัพเรือสัตหีบเป็นหน่วยดูแลรับผิดชอบ 

นอกจากที่กล่าวแล้วปัจจุบันยังมีภารกิจที่กองทัพเรือได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสำหรับการเตรียมการรองรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ต้องดูแลสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาซึ่งเป็นทั้งสนามบินเชิงพาณิชย์และสนามบินทางทหารในพื้นที่เดียวกัน และท่าเรือจุกเสม็ดที่เป็นทั้งท่าเรือพาณิชย์และท่าเรือทางทหารที่สำคัญอีกด้วยซึ่งจะทำให้ยิ่งต้องเพิ่มมาตรการต่าง ๆ ในเขตปลอดภัยทางทหาร ที่กองทัพเรือดูแลและถือเป็นพื้นที่ทางความมั่นคงทางทหารที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจาก เป็นที่ตั้งของหลาย ๆ หน่วยขนาดใหญ่  ทั้งหน่วยกำลังรบและหน่วยสนับสนุนต่าง ๆ อันได้แก่ กองเรือยุทธการ ฐานทัพเรือสัตหีบ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กรมสรรพาวุธทหารเรือ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กรมอู่ทหารเรือ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ซึ่งรับผิดชอบทั้งกำลังทางบก กำลังทางเรือ อากาศยาน ตลอดจนยุทโธปกรณ์พาหนะ และเครื่องมืออุปกรณ์รวมถึงการส่งกำลังบำรุงต่าง ๆ และเขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ  ไม่ใช่เพียงการมีขีดความสามารถทางความมั่นคงด้านไฟฟ้านี้ไว้สำหรับหน่วยขนาดเล็กๆ โดยการไฟฟ้า นับได้ว่าเป็นอีกยุทธปัจจัยหนึ่งที่กองทัพเรือต้องควบคุมให้ดำรงไว้ให้มีใช้ได้อย่างต่อเนื่องในพื้นที่สำคัญด้านความมั่นคง พื้นที่ปลอดภัยทางทหารของกองทัพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเขตที่เป็นฐานทัพ  และทั้งนี้ กองทัพเรือโดยกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือได้มีการปรับปรุงและพัฒนาระบบจำหน่าย   การบริหารจัดการและการให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานที่ผู้ให้บริการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายกำหนด

จากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่ทำให้ผู้รับบริการไฟฟ้าในพื้นที่ ได้รับความเดือดร้อนนั้น โฆษกกองทัพเรือกล่าวว่า กองทัพเรือไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้สั่งการให้กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือเร่งแก้ไขและ ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  พร้อมทั้งได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เพื่อปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่มีความชำรุด รวมถึงได้ทำการวิเคราะห์ หาสาเหตุของไฟฟ้าขัดข้องจากอุปกรณ์ตรวจจับที่มีความทันสมัย

สำหรับเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างติดต่อกันเมื่อช่วงวันที่ 8 - 11 กรกฎาคม 2564 บริเวณซอยจามจุรี ถึงกิโลเมตรที่ 6 ในพื้นที่อำเภอสัตหีบนั้น มีสาเหตุมาจากเหตุฝนฟ้าคะนอง ทำให้อุปกรณ์ชำรุด อีกทั้งระบบจำหน่ายบริเวณดังกล่าว เป็นพื้นที่ต้นไม้ชุกทำให้กระทบกับอุปกรณ์แรงสูงและช่วงเวลาฝนตกทำให้มีความเสี่ยงในการดำเนินการ และระบบตรวจจับไม่สามารถ แจ้งพิกัดได้ เนื่องจากสายไฟฟ้าไม่ได้ขาดออกจากกัน ซึ่งจะสามารถตรวจสอบได้ง่ายกว่า ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องทำการวิเคราะห์ และกำหนดตำแหน่งเข้าตรวจสอบ จึงไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบสาเหตุไฟฟ้าดับบริเวณดังกล่าวได้ และเมื่อวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2564 กิจการไฟฟ้าฯ ได้ดำเนินการ ตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าบริเวณดังกล่าว พบว่าบริเวณดังกล่าวต้นไม้ชุกและส่งผลกับอุปกรณ์แรงสูง อีกทั้งในพื้นที่ใกล้เคียงมีอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูงชำรุดจึงได้เร่งดำเนินการแก้ไข และมีความจำเป็นต้องดับไฟในบางส่วนเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้จะดำเนินการดับไฟอีกครั้งในวันพุธที่ 14  กรกฎาคม 2564 ระหว่างเวลา 12.00 -  13.00 น.  เพื่อซ่อมทำอุปกรณ์แรงสูงที่ชำรุดบริเวณสถานีไฟฟ้าแรงสูง พร้อมทั้งได้มีการแจ้งกับผู้ใช้บริการในพื้นที่แล้ว ในการนี้กิจการไฟฟ้าฯ ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้ และขอยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการและพัฒนาศักยภาพของกิจการไฟฟ้าฯ ในทุกรูปแบบเพื่อสร้างความพึงพอใจในการให้บริการแก่พี่น้องประชาชน  โดยคำนึงถึง ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ โดยกองทัพเรือได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าในพื้นที่สัตหีบให้มีเสถียรภาพมาอย่างต่อเนื่องด้วยการสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 3 พร้อมทั้งปรับปรุงสถานีที่ 1และ 2 ในปี 2561 - 2563 และจะดำเนินการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง4 เชื่อมกันทุกสถานีให้แล้วเสร็จในปี 2566


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

ชลบุรี - ปันน้ำใจ สโมสรโรตารี่ มิตรภาพสัตหีบร่วมกับ ชมรมผู้สูงอายุ รพ.สิริกิติ์ มอบข้าวน้ำดื่มให้กับ รพ.อาภากรเกียรติวงศ์

วันนี้ 14 ก.ค.64 ที่โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี สโมสรโรตารี่ มิตรภาพสัตหีบ ร่วมกับ ชมรมผู้สูงอายุ รพ.สิริกิติ์ ปันน้ำใจ นำอาหาร ขนม น้ำดื่มมามอบให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ โดยมี นาวาเอก ก่อพงษ์ หังสพฤกษ์ รอง ผอ.โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ เป็นผู้รับมอบ

ในการนี้ นางรัมพาพรรณ์ อินมะโรง นายกสโมสรโรตารี่ มิตรภาพสัตหีบ พร้อมสมาชิก นาวาเอก สมศักดิ์ พรหมมาลี ประธานชมรมผู้สูงอายุ รพ.สิริกิติ์ และสมาชิก ร่วมมอบสิ่งของเพื่อเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์

สำหรับทาง สโมสรโรตารี่ มิตรภาพสัตหีบและชมรมผู้สูงอายุ รพ.สิริกิติ์ ขอเป็นกำลังใจให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ จึงร่วมกันมอบนำอาหาร ขนม น้ำดื่ม ในครั้งนี้เพราะหวังเป็นกำลังใจ ส่งพลังเล็ก ๆ จากพวกเรา ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าอยู่ในตอนนี้ อย่างไรก็ตามทาง สโมสรโรตารี่ มิตรภาพสัตหีบ และชมรมผู้สูงอายุ รพ.สิริกิติ์ ฝากความห่วงใยถึง ประชาชาชน ขอให้ประชาชนชาวสัตหีบ ระมัดระวังป้องกันตนเองจาก โควิด-19 ให้มากขึ้น สวมใส่แมสให้มิดชิด ทำความสะอาดมืออยู่บ่อย ๆ ไม่ไปในที่แออัด เราขอเป็นกำลังใจให้กับประชาชนทุกคน เราจะผ่านไปด้วยกัน


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล ทิพย์ศรี อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ชลบุรี - น้ำท่วมชุมชนบางเสร่ นายกตั้ม ลุยน้ำนำทีมงานป้องกัน บรรเทาความเดือดร้อน

โดยเมื่อเวลา 11.00 น. ของวันที่ 14 ก.ค. 64 พื้นที่ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้เกิดฝนตกกระหน่ำลงมาอย่างหนักนานติดต่อกัน ประมาณ 1 ชม. หลังกรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศ ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความ เร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร จนทำให้ ในพื้นที่ชุมชนบางเสร่ เกิดน้ำท่วมขังเป็นวงกว้าง มีระดับน้ำสูงหลายเซนติเมตร

โดยบ้านเรือนประชาชนหลายครัวเรือน ที่อยู่ในพื้นที่ราบต่ำ ได้รับผลกระทบ สาเหตุจากน้ำระบายลงทะเลไม่ทัน และประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าว น้ำทะเลหนุน ร่วมไปถึงถนนสุขุมวิทช่วงทางเข้าตลาดบางเสร่  เป็นช่วงที่กำลังก่อสร้างถนนสุขุมวิทและวางท่อระบายน้ำใหม่ ส่งผลให้ ผู้ใช้เส้นทางดังกล่าว รวมถึงชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เทศบาลตำบลบางเสร่ ต่างได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน จากฝนตกในวันนี้

ล่าสุด นายชัยวัฒน์ อินอนงค์ นายกเทศมนตรีตำบลบางเสร่ ได้นำทีมคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา และ เจ้าหน้าที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารภัยเทศบาลตำบลบางเสร่ เดินลุยน้ำลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นก่อนลงดู ทุกสถานที่ที่เกิดปัญหาเพื่อรับทราบถึงปัญหาทันที โดยเตรียมเรียกประชุม กองช่างและส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้นเป็นการเร่งด่วน และจะได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการแก้ปัญหาน้ำท่วมทางถนนสุขุมวิทที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีกในระยะยาวต่อไป


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล ทิพย์ศรี อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top