Thursday, 23 May 2024
ชลบุรี

ชลบุรี - ‘นายกปลื้ม’ เมืองพัทยา แจงโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดพัทยา หลังจากมีผู้ไม่เห็นด้วย

นายกเมืองพัทยา แจงโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดพัทยา ศึกษาต่อยอดโครงการเสริมทรายขยายชายหาด ด้วยงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาล  พัฒนาเมืองพัทยา สู่ศูนย์กลาง EEC ย้ำอยากให้มองภาพรวม ยันต้นไม้เก่ายังอยู่ 75%

จากกรณีเมืองพัทยา ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดเมืองพัทยาระยะทาง 2.7 กม. โดยว่าจ้าง บริษัท นงนุชแลนด์สเคป แอนด์ การ์เด้นดีไซน์ จำกัด ด้วยงบประมาณกว่า 166 ล้านบาท โดยดำเนินการปรับพื้นที่เปิดหน้างาน ก่อนมีกระแสเรียกร้องให้หยุดและพิจารณาโครงการใหม่ เนื่องจากมองว่าเป็นการทำลายธรรมชาติ และอยากให้มองในส่วนของความจำเป็นในการนำงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น

วันที่ 17 ส.ค.64 นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้เปิดห้องรับรองศาลาว่าการเมืองพัทยา เพื่อแถลงข่าวชี้แจงและสร้างความเข้าใจต่อโครงการพัฒนาดังกล่าวผ่านสื่อมวลชนว่า โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดเมืองพัทยาระยะทาง 2.7 กม.ตั้งแต่ชายหาดพัทยาเหนือถึงหาดพัทยาใต้ เป็นโครงการที่มีการศึกษาต่อยอดมาจากโครงการเสริมทรายขยายพื้นที่ชายหาดเมืองพัทยา ตามที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยได้ร่วมกับ กรมเจ้าท่า สำรวจข้อมูลการพัฒนาไปตั้งแต่ปี 2562

โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบอุดหนุนมาจากรัฐบาล ในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC โดยผลักดันให้เมืองพัทยาเป็นศูนย์กลางของ EEC ที่มีระบบการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐาน ซึ่งได้ทำการศึกษาต่อเนื่องไปจนถึงชายหาดจอมเทียน ที่จะมีการเสริมทรายขยายชายหาดและปรับปรุงภูมิทัศน์ด้วยเช่นกัน โดยได้ทำการสำรวจต้นไม้ทุกต้นที่มีอยู่ว่าอยู่ในจุดไหน บริเวณใด และได้มีการศึกษาออกแบบปรับแต่ง เคลื่อนย้าย และปลูกใหม่ เพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามระยะเวลาที่ได้ศึกษาไว้

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวด้วยว่า ในกรณีที่มีการรื้อถอนต้นหูกวางนั้น จะทราบกันดีในกลุ่มผู้ประกอบการชายหาดว่า ต้นหูกวางเป็นไม้เนื้ออ่อนที่ปลูกง่ายโตเร็ว ผู้ประกอบการจึงนำมาปลูกเพื่อให้ร่มเงา แต่ก็มีปัญหาในส่วนของต้นไม้ที่มีอายุมากขึ้น กิ่งไม้หักโค่นเวลาลมแรง ลูกและใบต้นหูกวางที่ผลัดลงมา รวมทั้งหนอนและวัชพืชเหล่านี้ ก็สร้างปัญหาในกลุ่มผู้ประกอบการเรื่อยมาเช่นกัน ซึ่งจำเป็นต้องปรับแต่งในส่วนที่หักโค่นและปลูกเพิ่ม เพื่อให้เกิดความงดงาม รวมทั้งให้ร่มเงา และพื้นที่ยังสามารถใช้จัดกิจกรรมได้ ซึ่งอยากให้ประชาชนมองภาพรวมในการพัฒนา

สิ่งสำคัญคือ การศึกษาออกแบบจะเน้นเรื่องการปรับภาพลักษณ์และทัศนียภาพให้เข้ากับบรรยากาศของชายทะเล ไม่ใช่ปลูกแต่ต้นปาล์มตามที่มีบางสื่อได้นำเสนอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยการดำเนินการโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดเมืองพัทยา จะรักษาต้นไม้เดิมไว้ไม่ต่ำกว่า 75% แต่มีการปรับปรุงให้มีความสวยงามและเหมาะสมในเรื่องของการใช้พื้นที่อย่างเกิดประโยชน์

นายกเมืองพัทยา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาได้มีการทำประชาพิจารณ์เรื่องดังกล่าวไปแล้ว ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ไม่สามารถจัดการประชุมให้ประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมได้ จึงจัดทำประชาพิจารณ์โดยตรงกับกลุ่มเป้าหมายตามรัศมีของการดำเนินโครงการ รูปแบบเดียวกับโครงการอาคารจอดรถนาเกลือ  เป็นการสำรวจข้อมูลในช่วงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยตรงกับประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ

จากประเด็นในเรื่องของการช่วยเหลือในเรื่องของโควิด-19 นั้น ที่ผ่านมา เมืองพัทยาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณจัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นวัคซีนทางเลือก มาให้บริการประชาชนท้องถิ่นเมืองพัทยา การปฏิบัติงานเชิงรุกในการค้นหาผู้ติดเชื้อเข้ารักษาในระบบ  Hospitel การช่วยเหลือแจกจ่ายเยียวยา สนับสนุนถุงยังชีพ ให้ประชาชนตามบ้านเรือน รวมทั้งผู้ป่วยกักตัวไปแล้วนับหมื่นหลังคาเรือน

“อยากให้แยกมองว่าเป็นคนละส่วนกัน ระหว่างการพัฒนาและการควบคุมโรค ซึ่งหากประชาชนมีข้อข้องใจก็พร้อมจะตอบทุกคำถามเพื่อความกระจ่างชัด ขอยืนยันว่าเมืองพัทยา จะไม่ใช้จ่ายงบประมาณในเรื่องอื่นที่ไม่จำเป็น” นายกเมืองพัทยา ระบุ


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - ชาวเมืองสัตหีบ แห่ลงทะเบียนจองคิววัคซีนซิโนฟาร์ม วันแรกจำนวน 3,000 คน

ตามที่เทศบาลเมืองสัตหีบ ได้ดำเนินการจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมเปิดให้ประชาชนในพื้นที่ได้ลงชื่อจอง ได้แล้ว วันแรกจำนวน 3,000 คน โดยประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจ มาลงทะเบียนกันตั้งแต่เช้าจำนวนมาก

โดยบรรยากาศ ที่ตลาดสหชัย อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้มีประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองสัตหีบ ทยอยเข้ามาต่อคิวเพื่อลงทะเบียนจองสิทธิฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ในวันนี้เป็นวันแรกมีประชาชนยื่นเอกสารประสงค์จองสิทธิ์ฉีดวัคซีนกันตั้งแต่เช้า โดยมีกำหนดเปิดรับในวันที่ 16-20 สิงหาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. ทั้งหมด 5 จุด ได้แก่ ศาลาชายทะเล (หน้าอำเภอ) ,ตลาดสหชัย,วัดเตาถ่าน,ศูนย์ซ่อมบำรุงเทศบาลเมืองสัตหีบ(ซอยสุขุมวิท 89) และ อีฟรีสอร์ท (กม.5) โดยมีคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา เจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม งานรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง(งานเทศกิจ) อสม. เมืองสัตหีบ มากำกับดูแลการจัดระเบียบให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคโควิด -19  และเมื่อครบ 3,000 คน ก็จะปิดรับลงทะเบียนทันที และรอเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนในรอบต่อไปหลังจากได้รับวัคซีนมาเพิ่มเติม

ตามที่ นายณรงค์ บุญบรรเจิดศรี นายกเทศมนตรีเมืองสัตหีบ ได้เสนอญัตติขออนุมัติใช้จ่ายเงินสะสมของเทศบาลเมืองสัตหีบ เพื่อจ่ายเป็นค่าจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยได้รับการอนุมัติจาก สภาเทศบาลเมืองสัตหีบ ให้ใช้จ่ายเงินสะสมของเทศบาลเมืองสัตหีบ จำนวน 30 ล้านบาท  ล่าสุดได้มีการจัดซื้อ วัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รอบแล้วจำนวน 6,000 โดส ได้ 3,000 คน  เพื่อเตรียมฉีดให้ประชาชนในพื้นที่เทศบาลเมืองสัตหีบ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากที่สุด โดยก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศ ให้ประชาชนที่ประสงค์จะลงทะเบียน อายุ 18 ปีขึ้นไป ต้องมีทะเบียนบ้านภายในเขตเทศบาลเมืองสัตหีบเท่านั้น และต้องเตรียมเอกสาร สำเนาบัตรประชาชน , สำเนาทะเบียน และต้องเป็นผู้ไม่มีการลงทะเบียนซ้ำซ้อนผ่านแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม

ทั้งนี้ทางเทศบาลเมืองสัตหีบ ยังได้รับการสนับสนุนวัคซีนซิโนฟาร์ม จาก อบจ.ชลบุรี โดยนาย วิทยา คุณปลื้ม นายก อบจ.ชลบุรี อีกจำนวน 1,000 คน (2,000โดส) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้คนเมืองสัตหีบ โดย นาย กำชัย ตั้งธรรมสถิตย์ ส.อบจ.ชลบุรี เป็นผู้ประสานงานมาลงในพื้นที่  

ทั้งนี้เทศบาลเมืองสัตหีบ จะได้มีการจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไปจนกว่าประชาชากรในเขตเทศบาลเมืองสัตหีบ จะได้รับวัคซีนครบทุกคนและต้องได้รับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเสี่ยง เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่พี่น้องประชาชน ในเขตเทศบาลเมืองสัตหีบโดยเร็ว โดยจะฉีดวัคซีนให้แก่ กลุ่มเสี่ยงเป้าหมายหลักก่อน คือ พ่อค้า แม่ค้า ธุรกิจโรงแรม กลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้าง และพ่อแม่พี่น้องประชาชน รวมทั้งคนกลุ่มด้อยโอกาส ในเขตเทศบาลเมืองสัตหีบ อีกด้วย


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล  ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ชลบุรี - รัฐมนตรีแรงงาน ตรวจเยี่ยมผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เกาะสีชัง พร้อมแจกถุงยังชีพผู้สูงอายุ มอบเงิน 5 แสน ศูนย์เรียนรู้ธนาคารทะเลเกาะสีชัง

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 23 สิงหาคม ที่ศาลาอเนกประสงค์ เทศบาลตำบลเกาะสีชัง อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงแรงงานได้เดินทางตรวจเยี่ยมการรับสมัครผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยมีการนำรถโมบายมาให้บริการ นอกจากนี้ยังได้พบปะผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งได้มอบถุงยังชีพ โดยมีนายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมชาวเกาะสีชังให้การต้อนรับ นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทน บริษัท คิงส์ แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด และผลิตภัณฑ์ตราฮีโร่ มอบเงิน 500,000 บาท ให้กับศูนย์เรียนรู้ธนาคารทะเลเกาะสีชัง โดยชุมชนเพื่อชุมชนยั่งยืน เพื่อช่วยในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลและพืชทะเล

หลังจากนั้นนายสุชาติกล่าวว่า การเดินทางมาเกาะสีชังในครั้งนี้ เนื่องมาจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้มีความห่วงใยประชาชน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สร้างความลำบากในการดำรงชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงจัด 29 จังหวัด รวมทั้ง จ.ชลบุรี จึงได้เปิดให้มีการประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อให้สิทธิพื้นฐานกับประชาชนที่ทำงานอิสระ

 

สำหรับ ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ให้ความห่วงใยผู้ประกอบอาชีพอิสระ สำหรับเกาะสีชังประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน และอาชีพดูแลนักท่องเที่ยวสกายแลป การเดินทางมาเกาะสีชังเพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประกันตนตามมาตรา 40 ซึ่งวันที่ 24 สิงหาคมจะหมดเขตแล้ว โดยเฉพาะอาชีพประมงจะลำบากมาก เพราะนักท่องเที่ยวไม่มาเกาะสีชัง ชาวประมงก็ขายอาหารทะเลไม่ได้ ซึ่งเป็นวงจรเศรษฐกิจบนเกาะสีชัง

ส่วนกรณีที่จะเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายสุชาติกล่าวว่า "จากการที่ทำงานทุกวันสามารถตอบคำถามได้ ไม่กังวลใจแต่อย่างใด เพราะรู้อยู่แล้วว่าเราทำอะไร ถือว่าเป็นสีสันทางการเมือง เป็นเรื่องความสวยงามในระบอบประชาธิปไตย ที่ฝ่ายค้านต้องตรวจสอบฝ่ายบริหาร ชาวบ้านที่ดูอยู่ทางบ้านจะรู้ว่าใครทำงาน ใครไม่ทำงาน"

กรณี ที่มีการลงในโลกโซเซียลเกี่ยวกับการท้าชกระหว่างรัฐมนตรีเฮ้งกับนายมงคลกิตติ์ หรือเต้ สุขสินธารานนท์ นั้น นายสุชาติกล่าวว่า ตนเองกับเต้นั้นรู้จักกัน จากการที่เต้ออกมาท้านายกรัฐมนตรีชกกันนั้น ผมมองว่าเป็นการก้าวร้าว เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำประเทศ ตนเองก็ต้องออกมาพูดว่าสิ่งที่ออกมาทำนั้นไม่ถูกต้อง จึงได้บอกเต้ไปว่ากำลังนั้นไม่ได้มีไว้แก้ปัญหา ในเรื่องกีฬานั้นไม่เป็นไร ตนพร้อมในเรื่องกีฬา


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ รับมอบเงินจากการจำหน่ายเสื้อที่ระลึก ‘เรือของพ่อ เรือ ต.91’ จากชมรมภริยา กองเรือยุทธการ เพื่อใช้ในการบำรุงรักษาอุทยานประวัติศาสตร์ฯ สัญลักษณ์สำคัญของเมืองสัตหีบ

วันที่ 24 ส.ค. 64 พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พร้อมด้วยคณะกรรมการกองทุนอุทยานประวัติศาสตร์ เรือของพ่อ เรือ ต.91 รับมอบเงินจากการจำหน่ายเสื้อที่ระลึก เรือของพ่อ เรือ ต.91 จากคุณสุนันท์ สมานรักษ์ ประธานชมรมภริยากองเรือยุทธการ เป็นจำนวนเงิน 300,091 บาท เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษา และดำเนินโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ฯ ณ สนามหน้าสโมสรสัญญาบัตรกองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

การจัดทำเสื้อที่ระลึกฯ โดยชมรมภริยากองเรือยุทธการ มีที่มาจากการที่เรือ ต.91 เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งพระเมตตาและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ทรงมีต่อกองทัพเรือ และกองเรือยุทธการ ที่ได้ทรงพระราชทานพระราชดำรัส และทรงให้คำแนะนำแก่กองทัพเรือ จนกระทั่งกองทัพเรือได้จัดสร้างเรือ ต.91 ขึ้นเอง สามารถใช้ในราชการเป็นเวลาถึง 51 ปี จึงได้ออกแบบเสื้อที่ระลึกให้บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของเรือ ต.91 ที่เข้าถึงได้ง่าย โดยได้ทำการจำหน่ายตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ให้ความสนใจ เช่น กองเรือต่าง ๆ , กำลังพลในกองทัพเรือ และประชาชนทั่วไป ที่ได้ให้การสนับสนุนร่วมกันซื้อเสื้อที่ระลึก ทำให้มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 300,091 บาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการมอบรายได้ให้แก่คณะกรรมการกองทุนอุทยานประวัติศาสตร์เรือของพ่อ เรือ ต.91 เพื่อนำเข้ากองทุนฯ และนำไปใช้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการตั้งกองทุนต่อไป

ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ เรือของพ่อ เรือ ต.91 ตั้งอยู่กลางอ่าวดงตาล หน้าสโมสรสัญญาบัตรกองเรือยุทธการ ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของเมืองสัตหีบ ที่ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างการรับรู้ถึงความเป็นมา และวัตถุประสงค์ของการสร้างอุทยานให้กำลังพลกองเรือยุทธการ และประชาชนทั่วไปร่วมรำลึกสืบไป


ภาพ/ข่าว  กองกิจการพลเรือน กองเรือยุทธการ

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ชลบุรี

ชลบุรี - ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการมอบต้นกล้าผักสวนครัวจาก “สวนผักรักษ์สุข” ให้กำลังพล เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์เริ่มต้นตามแนวทางศาสตร์พระราชาสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

วันที่ 24 ส.ค. 64 พล.ร.อ.สุทธินันท์  สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นประธานในพิธีมอบต้นกล้าผักสวนครัวจากผลผลิตของ “สวนผักรักษ์สุข” ให้กับ น.อ.กฤษฎา จิระไตรพร ผู้บังคับการกองสนับสนุน กองเรือยุทธการ เพื่อนำไปมอบให้กับกำลังพลกองเรือยุทธการ โดยมีคุณสุนันท์  สมานรักษ์ ประธานชมรมภริยากองเรือยุทธการ พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชากองเรือยุทธการ ร่วมในพิธี ณ สวนผักรักษ์สุข บ้านพักนายทหารผู้ใหญ่กองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

กองเรือยุทธการได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตกำลังพลของกองเรือยุทธการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากนโยบายผู้บัญชาการกองเรือยุทธการประจำปี งบประมาณ 2564 กำหนดให้มีการส่งเสริม สนับสนุนหน่วยขึ้นตรงกองเรือยุทธการ และ ครอบครัว ปลูกผักสวนครัว โดยได้น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ หรือ “ศาสตร์พระราชา” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนารถบพิตร รัชกาลที่ ๙ มาเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่กำลังพลกองเรือยุทธการ และได้มีแนวทางปฏิบัติ ให้หน่วยขึ้นตรงกองเรือยุทธการ พิจารณาใช้พื้นที่บริเวณรอบอาคารกองบัญชาการของหน่วยปลูกผักสวนครัว ประกอบกับใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางจัดการต่อผลผลิตเพื่อใช้เป็นอาหารในครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลให้ประหยัดค่าใช้จ่ายของครอบครัว

ในการนี้ชมรมภริยากองเรือยุทธการ ได้น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ พัฒนาพื้นที่โดยนำ “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่ว่างบริเวณบ้านพักนายทหารผู้ใหญ่ กองเรือยุทธการ จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ “สวนผักรักสุข” ตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2564 ปัจจุบัน พืช ผัก ผลผลิตเจริญงอกงาม สามารถจำหน่าย ทำให้เกิดรายได้ และนำมาแจกจ่ายให้แก่กำลังพลของกองเรือยุทธการได้อีกด้วย

การมอบต้นกล้าผักสวนครัวที่ปลูกใน “สวนผักรักษ์สุข” จำนวนกว่า 800 ต้น ประกอบด้วยฟ้าทะลายโจร , มะเขือ , พริก และโหระพา เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ครอบครัวที่มีความตั้งใจในการดำเนินกิจกรรมแต่ขาดปัจจัยการผลิต ได้มีปัจจัยต้นทุนของการผลิตเริ่มต้น ซึ่งจะทำให้กำลังพลและครอบครัวของกองเรือยุทธการ สามารถเริ่มต้นปลูกผักสวนครัว ในพื้นที่บริเวณบ้านพักตนเอง เพื่อใช้เป็นอาหารในครัวเรือน ส่งผลให้ประหยัดค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้อย่างดี เป็นจุดเริ่มต้นของการน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้อย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของกำลังพลสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืนต่อไป


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

ชลบุรี - กฟผ.มอบเสื้อชูชีพ 200 ตัว เงิน 50,000 บาท สนับสนุนอุทยานใต้ทะเลเกาะขาม ทัพเรือภาคที่ 1

ทัพเรือภาคที่ 1 รับมอบเสื้อชูชีพ จำนวน 200 ตัว พร้อมเงินจำนวน 50,000 บาท จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสนับสนุนให้แก่ อุทยานใต้ทะเลเกาะขาม ทัพเรือภาคที่ 1 ในพื้นที่ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันที่ 30 สิงหาคม 2564 พลเรือโท โกวิท  อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 มอบหมายให้ พลเรือตรี อภิชัย สมพลกรัง รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 พร้อมด้วย นาวาเอก วิวัฒน์  ขวัญสูงเนิน ผู้อำนวยการกองข่าวทัพเรือภาคที่ 1 เป็นผู้แทนรับมอบเสื้อชูชีพ จำนวน 200 ตัว พร้อมรับมอบเงินจำนวน 50,000 บาท จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดย นางสุภาวิณี นาควิเชตร หัวหน้าหมวดประชาสัมพันธ์ (มปส.-ปส.) โครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน  (อค.-ปส.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นผู้แทนส่งมอบ ณ กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

การรับมอบเสื้อชูชีพ พร้อมด้วยเงินในครั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้มอบให้ทัพเรือภาคที่ 1 เพื่อสนับสนุนให้แก่ อุทยานใต้ทะเลเกาะขาม ทัพเรือภาคที่ 1 ตามโครงการสร้างสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติเทิดพระเกียรติ ระยะที่ 3 ซึ่งอุทยานใต้ทะเลเกาะขาม เป็นหนึ่งในพื้นที่ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเสื้อชูชีพ จำนวน 200 ตัว ที่ได้รับมอบในครั้งนี้ อุทยานใต้ทะเลเกาะขาม ทัพเรือภาคที่ 1 จะนำใช้ไปทดแทนเสื้อชูชีพที่เก่าและเสื่อมสภาพเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำแก่ประชาชนทั้งในระหว่างการเดินทาง และการเยี่ยมชมอุทยานใต้ทะเลเกาะขาม ทัพเรือภาคที่ 1 อีกทั้งจะนำเงินจำนวน 50,000 บาท ไปปรับปรุงโครงสร้างสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติเทิดพระเกียรติ และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมใต้ทะเล ณ อุทยานใต้ทะเลเกาะขาม ทัพเรือภาคที่ 1 ตามเจตนารมณ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อไป


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - กองเรือยุทธการร่วมกับอำเภอสัตหีบ รวมพลังสามัคคีจัดกิจกรรม “มีแล้วแบ่งปัน” ร่วมเติมเครื่องอุปโภคบริโภคใส่ตู้ มอบให้กับประชาชนชาวสัตหีบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19

วันที่ 30 ส.ค.64 พล.ร.อ.สุทธินันท์  สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นประธานในการจัดกิจกรรม “มีแล้วแบ่งปัน” ร่วมกับ นายกิตติพงษ์ กิติคุณ นายอำเภอสัตหีบ พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาในกองบัญชาการ กองเรือยุทธการ , ผู้บริหารอำเภอสัตหีบ และชมรมภริยากองเรือยุทธการ นำของอุปโภค บริโภค ที่จำเป็นเติมใส่ตู้ “มีแล้วแบ่งปัน” เพื่อส่งมอบพลังใจให้กับประชาชนชาวสัตหีบที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 ณ หน้าที่ว่าการอำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี

จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้างทั่วประเทศ โดยเฉพาะโดยเฉพาะรายได้ครัวเรือนที่ลดลงเป็นระยะเวลานาน ในการนี้ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการได้มีดำริให้จัดตั้งตู้ “มีแล้วแบ่งปัน” ขึ้น เป็นหนึ่งในโครงการให้ความช่วยเหลือ โดยร่วมกับอำเภอสัตหีบ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.64 พร้อมกับเชิญชวนให้หน่วยขึ้นตรงกองเรือยุทธการ และส่วนต่าง ๆ ของอำเภอสัตหีบ ร่วมกันนำสิ่งของอุปโภคบริโภคตามขีดความสามารถที่มี เติมใส่ตู้อย่างต่อเนื่อง เป็นการแสดงออกซึ่งความห่วงใย  พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เป็นการส่งผ่านธารน้ำใจของของการให้  การแบ่งปัน ทั้งนี้กองเรือยุทธการ และอำเภอสัตหีบ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องจนกว่าวิกฤตนี้จะคลี่คลาย สอดคล้องกับนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือที่มุ่งให้กองทัพเรือได้ร่วมพลังสามัคคีพลังราชนาวี เป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์อันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

ชลบุรี - ‘นายกปลื้ม’ มั่นใจ คนพัทยาฉีดวัคซีนครบ 70 % ทันตุลาคมนี้ หลังรับชิโนฟาร์ม 60,000 โดส ระดมแพทย์ฉีดให้ประชาชนวันละ 2,000 คน หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ก่อนเตรียมเปิดเมืองท่องเที่ยว

วันนี้ (31 ส.ค.) ที่โรงพยาบาลเมืองพัทยา นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา พร้อมด้วย คณะผู้บริหารเมืองพัทยา ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่ที่แพทย์ พยาบาล และประชาชนที่เดินทางมาเข้ารับวัคซีนซิโนฟาร์มเมืองพัทยาเข็ม 1 ในวันแรกจำนวน 2,000 คน ซึ่งเป็นวัคซีนซิโนฟาร์มที่เมืองพัทยาได้ตั้งงบประมาณไว้เพื่อทำการจัดซื้อจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ฯ จำนวน 100,000 โดส เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนเมืองพัทยาหวังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยปัจจุบันเมืองพัทยาได้รับการอนุมัติวัคซีนซิโนฟาร์มจากสถาบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในล็อตแรกจำนวน 60,000 โดส

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่าสำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มของเมืองพัทยาวันแรกที่โรงพยาบาลเมืองพัทยา สามารถดำเนินการได้วันละ 2,000 คน ซึ่งพบว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หลังจากที่ทางโรงพยาบาลได้นำประสบการณ์ปัญหาอุปสรรคในการให้บริการจัดฉีดวัคซีนที่ผ่านมาปรับแก้เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และไม่แออัดเหมือนที่ผ่านมา โดยทางเจ้าหน้าที่จะมีการนัดหมายเวลากับประชาชนที่จะการเข้ารับวัคซีนด้วยการส่ง SMS เพื่อไม่ให้มารอรับบริการเป็นเวลานาน ทั้งนี้คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ในการจัดฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มครบทั้ง 30,000 คน

นายสนธยา กล่าวอีกว่านอกจากวัคซีนที่ภาครัฐจัดสรรมาให้ทั้งในส่วนของซีโนแวค แอสตร้าวีเนก้า รวมทั้งวัคซีนชิโนฟาร์มที่เมืองพัทยาตั้งงบประมาณจัดซื้อมานั้น ถือว่ามีปริมาณเพียงพอต่อจำนวนประชากรในพื้นที่เกือบทั้งหมด และหากดำเนินการฉีดวัคซีนครบตามเป้าหมายก็คาดว่าจะสามารถให้วัคซีนแก่ประชาชนในพื้นที่ได้จำนวนที่กำหนดหรือ 70 % หลังจากที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่รับการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 40%  จึงคาดว่าจะสามารถมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัยด้านการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในเดือนตุลาคมนี้ หรืออย่างช้าสุดก็ภายในเดือนมกราคม 2565 ซึ่งหลังจากนั้นก็จะได้เร่งตามแผนการเปิดเมืองท่องเที่ยวหรือแผน Pattaya Move On  ที่จะเปิดการรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง


ภาพ/ข่าว  อนันต์ สุขวัฒนะ / เอกชัย สุขวัฒนะ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค พัทยา จ.ชลบุรี

ชลบุรี - สัตหีบ เปิดศูนย์ CI แยกกักตัวผู้ป่วยโควิด-19 หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น

เมื่อเวลา 10.00 น วันที่ 31 ส.ค.64 นายกิตติพงษ์ กิตติคุณ นายอำเภอสัตหีบ เป็นประธานเปิดศูนย์พักคอยและแยกกักตัวสำหรับคนในชุมชน (Community Isolation :CI) ณ ศูนย์การเรียนรู้เทศบาลตำบลบางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

หลังพบการแพร่ระบาดในพื้นที่อำเภอสัตหีบ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกวัน ล่าสุดเมื่อ 30 ส.ค.64 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16 ราย ยอดสะสม 1,780 ราย กำลังรักษา 411 ราย หายป่วย 1,350 ราย เสียชีวิต 19 ราย และผู้ติดเชื้อในเขตเทศบาลตำบลบางเสร่ เมื่อ 30 ส.ค.64 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 รายยอดสะสม 132 ราย รักษาหาย 95 ราย อยู่ระหว่างรักษาในโรงพยาบาล36 ราย เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ทำให้เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาล ในการรับดูแลผู้ป่วย จึงมีความจำเป็นในการจัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับแยกกักตัวคนในชุมชน (CI) เพื่อดูแลผู้ป่วย กรณีที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 และแพทย์ผู้ดูแลรักษาของหน่วยบริการพิจารณาแล้ว เห็นสมควรให้ผู้ป่วยได้กลับมาดูแลรักษาในศูนย์พักคอยและแยกกักตัว สำหรับคนในชุมชนจนครบกำหนด ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

โดยมี นายชัยวัฒน์ อินอนงค์ นายกเทศมนตรีตำบลบางเสร่ พร้อมคณะผู้บริหาร ผู้แทน สส.ชลบุรี เขต 8 ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สาธารณสุขอำเภอสัตหีบ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางเสร่ ร่วมในพิธีเปิดโครงการและนำนายอำเภอสัตหีบ เข้าเยี่ยมชมศูนย์พักคอยและแยกกักตัว สำหรับคนในชุมชน ในครั้งนี้ จำนวน 15 เตียง แบ่งเป็นผู้ป่วยหญิง 8 เตียง ผู้ป่วยชาย 7 เตียง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน

นายกิตติพงษ์ กิตติคุณ นายอำเภอสัตหีบ กล่าวว่าโครงการจัดตั้งศูนย์พักคอยและแยกกักตัวสำหรับคนในชุมชน (Community Isolation) มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับพี่น้องประชาชนชาวบางเสร่ เพื่อให้ชุมชนปลอดโรคและปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ด้วยการได้รับการป้องกัน เฝ้าระวัง ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการส่งตัวมาจากโรงพยาบาล ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ผ่านภาวะเฉียบพลันหรือวิกฤต และมีอาการดีขึ้นคงที่ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และเพื่อให้ประชาชนผู้ติดเชื้อ ได้รับการคัดแยกอาการและรักษาดูแลตามแนวทางการปฏิบัติ ด้านสาธารณสุข ในการป้องกันแพร่ระบาดและติดเชื้อโควิด-19

และขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ปฏิบัติตนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณะสุขอย่างเคร่งครัด ด้วยการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ลดกิจกรรมต่าง ๆ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือ เช็คอุณหภูมิร่างกาย ไม่มั่วสุมรวมกลุ่มดื่มสุรา ซึ่งเราจะผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 นี้ ไปให้ได้ ด้วยการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ ในทุกภาคส่วนขอให้พี่น้องประชาชน สบายใจได้


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ชลบุรี - พัทยา เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ ป่วย 7 โรค เกิน 80 % แล้ว หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ก่อนเตรียมเปิดเมืองท่องเที่ยว มีนักร้องขับกล่อมแก่ผู้ใช้บริการเพื่อลดความเครียด

วันนี้ 1 ก.ย.64 ที่โรงเรียนเมืองพัทยา 2 นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา พร้อมด้วย คณะผู้บริหารเมืองพัทยา ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล และประชาชนที่เดินทางมาเข้ารับวัคซีนซิโนฟาร์ม เมืองพัทยาเข็ม 1 ในวันแรก จำนวน 1,000 คน  ซึ่งเป็นวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่เมืองพัทยา ได้ตั้งงบประมาณไว้เพื่อทำการจัดซื้อจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ฯ จำนวน 100,000 โดส เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนเมืองพัทยาหวังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยปัจจุบันเมืองพัทยา ได้รับการอนุมัติวัคซีนซิโนฟาร์ม จากสถาบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในล็อตแรกจำนวน 60,000 โดส โดยบรรยากาศวันนี้มีผู้ที่ลงทะเบียนออนไลท์ มาฉีดวัคซีนชิโนฟาร์ม และผู้ที่มาตรวจหาเชื้อโควิด ATK จำนวน 200 คน โดยบรรยากาศมีเพลงขับกล่อม เพื่อระบายความเครียดแก่ผู้ที่มาใช้บริการ

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า สำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ของเมืองพัทยาวันที่สอง ที่โรงเรียนเมืองพัทยา 2  ซึ่งพบว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเมืองพัทยา เร่งฉีดวัคซีนชิโนฟาร์ม ที่เมืองพัทยาตั้งงบประมาณจัดซื้อมานั้น ถือว่ามีปริมาณเพียงพอต่อจำนวนประชากรในพื้นที่เกือบทั้งหมด รวมถึงวัคซีนที่ภาครัฐจัดสรรมาให้ ทั้งในส่วนของซีโนแวค แอสตร้าเซเนก้า วันนี้สามารถฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคไปแล้ว มากกว่า 80% ส่วนประชาชนทั่วไปนั้น ได้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้จำนวนที่กำหนดหรือ 70 % เพื่อเร่งเปิดเมืองท่องเที่ยวหรือแผน Pattaya Move On สามารถมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่มีความปลอดภัยด้านการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในเดือนตุลาคมนี้ หรืออย่างช้าสุดภายในเดือน มกราคม 2565 ซึ่งหลังจากนั้นจะได้เร่งตามแผนการที่จะเปิดการรับนักท่องเที่ยว อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top