Saturday, 18 May 2024
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

‘อ.เจษฎา’ โต้ ‘น้าแอ๊ด’ ปมอุเทนฯ-จุฬาฯ เสมือนพี่น้องกัน ชี้!! อยู่ในรั้วจุฬาฯ มา 30 ปี ไม่เคยรู้สึกแบบนั้นสักนิด

(28 ก.พ. 67) จากกรณี นายยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง วงคาราบาว ศิษย์เก่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กหนุนศิษย์เก่าและนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.) วิทยาเขตอุเทนถวาย คัดค้านการย้ายที่ตั้งสถาบันไปยังพื้นที่อื่น 

โดยระบุตอนหนึ่งว่า อุเทนถวายกับจุฬาลงกรณ์ เป็นเสมือนพี่น้องกันที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานแผ่นดินคนละผืน (อุเทนฯ ผืนเล็ก จุฬาฯ ผืนใหญ่) เพื่อมุ่งหวังให้ช่วยกันสร้างบ้านแปลงเมืองให้รุ่งเรืองมาตราบจนทุกวันนี้ 

ล่าสุด ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเรื่องดังกล่าวว่า

"อุเทนถวายกับจุฬาลงกรณ์ เป็นเสมือนพี่น้องกัน"

“ผมอยู่ในรั้วจุฬาฯ มาตั้งแต่เด็กประถม จนถึงทำงานตอนนี้ ก็ร่วมจะ 30 กว่าปีแล้ว ไม่เคยรู้สึกสักนิดเลยครับ ว่าเป็นพี่น้องกับเค้า หึๆๆ”

“รอดูต่อไป ว่า #กฎหมู่จะอยู่เหนือกฎหมาย หรือเปล่า”

จากนั้น ดร.เจษฎา โพสต์อีกว่า “อยากถามทั้งศิษย์เก่าจุฬาฯ และอุเทน ว่าเคยรู้สึกเป็น "พี่น้อง" กันมั้ยครับ ผมไม่เคยนะ หึๆ (แล้วใครเป็นพี่ ใครเป็นน้องเนี่ย)”

'วิทิตนันท์ โรจนพานิช' คนไทยคนแรกผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ปลื้ม!! 'ศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ' เชิดชูเกียรติในฐานะผู้มีคุณูปการ-นิสิตเก่าดีเด่น

(1 มี.ค.67) นายวิทิตนันท์ โรจนพานิช คนไทยคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ยอดเขาที่สูงที่สุดใน 7 ทวีป และเป็นคนที่ 179 ของโลก เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 พร้อมทั้งเป็นนิสิตเก่าดีเด่น ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ขอบคุณทางคณะฯ ที่ได้จัดงาน 'พิธียกย่องเชิดชูเกียรติผู้มีคุณูปการและนิสิตเก่าดีเด่น' โดยระบุว่า...

กราบขอบพระคุณท่านคณาจารย์ผู้ก่อตั้งสถาปนา อาจารย์ผู้พร่ำสอนสรรพวิทยา เจ้าหน้าที่ทุกๆ ท่านที่ร่วมกันเดินทางมาจนถึงปีที่ ๔๐ ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันนี้กระผมได้รับเกียรติอันสูง จึงขอกราบแสดงความคารวะและกราบขอบพระคุณทุกท่านด้วยหัวใจครับ กระผมคงเป็นศิลปกรรมหนึ่งเดียว (ในตอนนี้) ที่เรียนจบภาควิชาทัศนศิลป์ เอกปีนเขา ซึ่งไม่มีใครรู้ว่า มันเป็นศิลปะ ! สิ่งนี้คืองาน Happening Art ที่โหดที่สุดในชีวิตครับ ดีใจมากกว่าการได้รับการเชิดชูคือ ได้ทำประโยชน์และทำตามความฝัน และสิ่งที่ได้เพิ่มเติมคือชื่อ ที่คนศิลปกรรมเค้าเรียกกระผมว่า 'หนึ่งบ้า'

'คอลัมนิสต์ดัง' ถาม 'จุฬาฯ' ผลสอบวิทยานิพนธ์บิดเบือน 'ณัฐพล ใจจริง' ชัด แต่ทำไมทางสถาบันยังไม่จัดการถอดปริญญาจากผู้มีมลทินเสียที

(7 มี.ค. 67) จากกรณีศาลอาญายกฟ้อง อ.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คดีหมิ่นประมาท นายณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้เขียนหนังสือ ‘ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ’ และ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งอ้างอิงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ‘การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)’ ของนายณัฐพล ใจจริง ซึ่งกำลังถูกทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสอบสวนวิทยานิพนธ์

ล่าสุด นายสุรวิชช์ วีรวรรณ คอลัมนิสต์ประจำเครือผู้จัดการ แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก Surawich Verawan ระบุว่า แว่วว่าผลสอบวิทยานิพนธ์ผิดจริง แต่ไม่ถอนปริญญาเพราะไม่มีระเบียบ

การสอบสวนวิทยานิพนธ์ที่บิดเบือนเสร็จสิ้นไปนานแล้ว แต่ถึงวันนี้จุฬาก็ยังเก็บงำอยู่

นิสิตเก่าจุฬาฯ ร่อนหนังสือถึงอธิการบดีฯ จุฬาฯ ถาม 6 ข้อคืบหน้าถอดถอนวิทยานิพนธ์ 'ณัฐพล ใจจริง'

(8 มี.ค. 67) นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 ทำหนังสือถึง นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเนื้อหาดังนี้…

เรียน อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์  

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2567 ศาลอาญายกฟ้อง ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีนายณัฐพล ใจจริง ยื่นฟ้องหมิ่นประมาท เรื่องที่ ศ.ดร.ไชยันต์ ได้วิพากษ์วิจารณ์นายณัฐพล ว่าใช้ข้อมูลที่ไม่มีอยู่จริงมาอ้างอิงเป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ และพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างกระแสความรู้สึกให้ผู้อ่านเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์

ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่าคณะกรรมการสอบสวนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญและเป็นกลาง ขึ้นมาตรวจสอบวิทยานิพนธ์ดังกล่าวตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 โดยผู้ทรงคุณวุฒิได้ส่งผลการสอบสวนให้ท่านประธานคณะกรรมการฯ เรียบร้อยแล้ว เรื่องดังกล่าวได้ถูกนำเข้าสู่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภาฯ ได้มีมติรับรองผลการสอบสวนวิทยานิพนธ์แล้ว

บัดนี้เวลาได้ผ่านไป 3 ปี จนศาลอาญายกฟ้อง ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร แล้ว แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังไม่มีการประกาศผลการสอบสวนออกมาเพื่อเปิดเผยให้สังคมที่กำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมากได้รับทราบ ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญเนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของประเทศ การเก็บเรื่องที่สำคัญมากเช่นนี้อย่างเงียบโดยไม่ชี้แจงแสดงผล และการที่มีข่าวลือว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจถอดถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายณัฐพล ใจจริง เนื่องจากไม่มีระเบียบให้ถอดถอนปริญญาในกรณีตกแต่งข้อมูลเท็จ ทำให้มีผู้กล่าวถึงผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในทางที่เสียหาย ข้าพเจ้าในนามนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเรื่องนี้ไม่เพียงทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียง และผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถูกติฉินนินทา แต่เป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนของชาติเข้าใจสถาบันพระมหากษัตริย์ผิด ซึ่งจะมีผลลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของชาติ จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรสำเหนียกให้มาก

เพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิและความน่าเชื่อถือในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพื่อสืบสานพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงประดิษฐานให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 ซึ่งระบุถึงภารกิจหลักของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า เพื่อให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมี "คุณธรรมกำกับความรู้ เพียบพร้อมด้วยสติปัญญาและจริยธรรม ใฝ่รู้ กอปรด้วยวิจารณญาณ จิตใจเสียสละ และความสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงต้องดำเนินการโดยยึดหลัก ความมีคุณธรรมควบคู่ไปกับความเป็นเลิศทางวิชาการ มาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการอันเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ การนําความรู้ที่ถูกต้องสู่สังคม ความรับผิดชอบต่อรัฐและสังคม ตลอดจนประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารที่โปร่งใส เปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนได้รับทราบและสามารถตรวจสอบได้ตามนโยบายการบริหารงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายใต้แนวคิด ‘Open to Transparency’

ข้าพเจ้าจึงขอกราบเรียนท่านอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้ :

1. ขอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยมติของคณะกรรมการสอบสวนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของนายณัฐพล ใจจริง เรื่อง ‘การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491 - 2500)’ ให้ข้าพเจ้าและสาธารณชนทราบ

2. ขอทราบว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการอย่างไรแล้วบ้าง หลังสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับรองมติดังกล่าว

3. ถ้ายังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ขอทราบว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะดำเนินการเมื่อใด และอย่างไร

4. ถ้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจถอดถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายณัฐพล ใจจริง เนื่องจากไม่มีระเบียบให้ถอดถอนปริญญาในกรณีตกแต่งข้อมูลเท็จ ข้าพเจ้าขอทราบว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะ ‘ถอดถอนวิทยานิพนธ์’ ของนายณัฐพล ใจจริง แทนได้หรือไม่ เนื่องจากการถอดถอนวิทยานิพนธ์ก็น่าจะมีผลต่อวิทยฐานะของของนายณัฐพล ใจจริง โดยไม่ต้องถอดถอนปริญญา ข้าพเจ้าจึงขอร้องเรียนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ‘ถอดถอนวิทยานิพนธ์’ นั้นโดยเร็วที่สุด แล้วแจ้งให้ข้าพเจ้าและสาธารณชนรับทราบด้วย 

5. ถ้าข่าวลือว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่สามารถถอดถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายณัฐพล ใจจริง เนื่องจากไม่มีระเบียบในเรื่องนี้ เป็นความจริง ข้าพเจ้าขอร้องเรียนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปรับปรุงระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้รัดกุมและครอบคลุมบทลงโทษเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

6. ขอทราบนามอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล ใจจริง

จึงกราบเรียนมาเพื่อขอคำตอบทุกข้อภายใน 15 วัน ตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ. 2540

ขอแสดงความนับถือ
นางวิรังรอง ทัพพะรังสี            
นิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30
หมายเหตุ : หนังสือนี้ทำ 2 ฉบับ
ส่งถึงอธิการบดี 1 ฉบับ
และสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ฉบับ
มีเนื้อหาข้อความตรงกัน

'ศิษย์เก่าจุฬาฯ' ถามหามาตรฐานจุฬาฯ ปม 'ณัฐพล ใจจริง' ยังเชื่อ 'จุฬาฯ' เป็นเลิศด้านวิชาการ เคียงคู่คุณธรรม-จริยธรรม

(8 มี.ค. 67) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Sompob Pordi’ หรือ ‘สมภพ พอดี’ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า…

“ผมเป็นนิสิตเก่าธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ไม่ได้เป็นครูอาจารย์ ไม่ได้เป็นนักวิชาการ ไม่ได้เป็นผู้บริหารสถาบันการศึกษา และไม่มีคุณสมบัติใด ๆ ที่จะเป็นครูอาจารย์ นักวิชาการ หรือผู้บริหารสถาบันการศึกษาได้แน่นอน

แต่ผมรู้ว่า หน้าที่และความรับผิดชอบคืออะไร ผมสามารถแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ เช่นเดียวกับมนุษย์ปกติทั่วไป

แล้วผมก็รู้ด้วยว่า จุฬาฯ ไม่ได้มีนโยบายผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในด้านวิชาการเท่านั้น หากจุฬาฯ ยังได้ให้ความสําคัญในด้านคุณธรรม จริยธรรมของบัณฑิตที่จบจากจุฬาฯ

จุฬาฯ โดยสํานักบริหารกิจการนิสิตจึงได้ดําเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ด้านต่าง ๆ ให้แก่นิสิต เพื่อที่นิสิตจะได้ฝึกการใช้ชีวิตร่วมกับส่วนรวมและสําเร็จการศึกษาออกไปเป็นบัณฑิตที่เปี่ยมคุณภาพทั้งความรู้และคุณธรรม 

ที่ผมรู้เพราะผมคัดลอกข้อความนี้มาจากหน้าแรกของคู่มือนิสิตจุฬาฯ พ.ศ.2564 

ถึงตรงนี้ จุฬาฯ ช่วยตอบนิสิตเก่าอย่างผม ตอบนิสิตเก่าคนอื่น ๆ ตอบสังคมไทยที่อุดหนุนกิจการของจุฬาฯ ผ่านภาษีของชาติด้วยว่า 

นิสิตจุฬาฯ ในระดับปริญญาเอกที่ใช้การโกหก ใช้ข้อมูลเท็จ ใช้การแต่งเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ทำวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษา มีคุณธรรม มีจริยธรรม ตามเจตนารมณ์ของจุฬาฯ หรือไม่? วิทยานิพนธ์ดังกล่าวมีคุณภาพทางวิชาการตามมาตรฐานของจุฬาฯ หรือไม่?

และหากพฤติกรรมดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ วิทยานิพนธ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของจุฬาฯ จุฬาฯ จะปล่อยผ่าน จะวางเฉย จะไม่เพิกถอนปริญญาเอกที่ว่า หรือไม่? เพราะอะไร?

หากจุฬาฯ ตอบว่าไม่สามารถเพิกถอนปริญญาเอกนั้นได้ ไม่ว่าจะเพราะอะไรก็ตาม ผมขอให้จุฬาฯ เปิดคู่มือนิสิตจุฬาฯ พ.ศ. 2564 อ่านให้ดี ๆ ดูที่ข้อ 2) การสอบของนิสิต จะพบข้อความต่อไปนี้

2.2) แนวทางในการพิจารณาการกระทำผิดเกี่ยวกับการศึกษา
1. ทุจริต และส่อทุจริตในการสอบ
 2. การคัดลอกผลงานทางวิชาการโดยไม่อ้างอิงแหล่งที่มา
 3. การให้ข้อมูลเท็จ การปลอมแปลงเอกสาร
 4. การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

การโกหก การใช้ข้อมูลเท็จ การแต่งเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ในการทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกที่เป็นคดีความเป็นข่าวนั้น เป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับการศึกษาตามข้อ 3 อย่างชัดเจนโดยปราศจากข้อสงสัย

ถึงตรงนี้ จุฬาฯ ช่วยตอบนิสิตเก่ารวมทั้งผมด้วย นิสิตปัจจุบัน และสังคมไทยด้วยว่า 

จะเพิกถอนปริญญาเอกของผู้ที่กระความผิดทางการศึกษา ตามกฎ กติกา ของจุฬาฯ เอง หรือไม่? เมื่อไหร่? และหากไม่เพิกถอนปริญญาเอกดังกล่าว ทำไมถึงไม่เพิกถอน? ทำไมถึงไม่ปฏิบัติไม่บังคับใช้กฎกติกาที่จุฬาฯ กำหนดขึ้นมาเอง? และจะรับผิดชอบต่อความเสียหายของเกียรติภูมิ ชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือของจุฬาฯ อย่างไร?

ผมแน่ใจและมั่นใจว่า คำถามของผมไม่ยากเกินความรู้ ความสามารถ และสติปัญญาของครูอาจารย์ ของนักวิชาการ ของผู้บริหารจุฬาฯ ที่มีหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อจุฬาฯ อย่างแน่นอน

'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' ทวงผลสอบจุฬาฯ ปม 'ดุษฎีนิพนธ์' บิดเบือนประวัติศาสตร์ เผย!! เคยทวงไปก่อนหน้า แต่ 'จุฬาฯ' แค่ลดความเสียหาย ด้วยการแจ้งระงับเผยแพร่

(8 มี.ค. 67) นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ในฐานะนิสิตเก่าจุฬาฯ รุ่นปี 2512 ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า เรียนนายกสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตามที่ผมและคณะได้เคยทำหนังสือเรียกร้องให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลงวันที่ 12 มกราคม 2564 ให้ทางบัณฑิตวิทยาลัยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจสอบความคลาดเคลื่อนและความไม่ถูกต้อง ของดุษฎีนิพนธ์ของนายณัฐพล ใจจริง ในหัวข้อเรื่อง การเมืองไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม การจัดระเบียบโลกของสหรัฐ 2491-2500 นั้น

คณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งขออนุญาตเอ่ยนามสองท่าน คือ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และ ดร.สุจิต บุญบงการ ได้ขอให้ผมให้ปากคำผ่านการประชุมทางซูมไปแล้วนั้น บัดนี้ เวลาล่วงเลยมามากพอสมควร และทราบว่าคณะกรรมการได้รายงานผลการสอบให้ทางมหาวิทยาลัยทราบแล้ว

ผมขอเรียกร้องผ่านสื่อเพื่อทวงถามผลการสอบ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเคยรับปากว่าจะแจ้งผลให้ผมทราบในฐานะผู้ร้องเรียน แต่เกรงว่าทางมหาวิทยาลัยจะลืม เลยขอทวงถามผ่านสื่อโซเซียล และคาดหวังว่าทางมหาวิทยาลัยจะแจ้งผลการสอบให้ผมได้ทราบ

แม้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะได้พยายามลดความเสียหาย ด้วยการแจ้งไปยังเครือข่ายห้องสมุดให้ระงับการเผยแพร่ แต่ก็ได้มีการตัดตอนบางส่วนของดุษฎีนิพนธ์ไปจัดพิมพ์จำหน่าย

ความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์การเมืองไทย พาดพิงองค์พระประมุข สร้างข้อสงสัยว่า สถาบันจะนำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชกลับมา ด้วยการให้ผู้สำเร็จราชการเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อครอบงำการประชุม ซึ่งสร้างความเสียหายให้สถาบันที่ไม่มีโอกาสชี้แจงใดๆ

จึงขอทวงถามผลการสอบสวนมา ณ ที่นี้

26 มีนาคม พ.ศ. 2459 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ มหาวิทยาลัยไทยแห่งแรกที่มีการศึกษาแบบตะวันตก ตามพระราชดำริ ‘ในหลวง ร.5’

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นการก่อกำเนิดมหาวิทยาลัยครั้งแรกในเมืองไทยที่มีการศึกษาตามแบบตะวันตก ถือกำเนิดจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ณ ตึกยาวข้างประตูพิมานชัยศรีในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2442 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2445

ทั้งนี้เพื่อผลิตบุคลากรให้รับราชการ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบรมราโชบายในสมเด็จพระบรมชนกาธิราชที่จะ “ให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาวสยาม” พอที่จะช่วยให้กิจการปกครองท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยดำเนินไปได้

เมื่อสมควรขยายการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของ กระทรวง ทบวง กรมอื่น ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า ‘โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2453

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์แน่ชัดในการตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในอนาคต เห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานในวันก่อศิลาพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 ทรงดำรัสไว้ว่า

“วันนี้เรายินดีที่ได้รับเชิญให้มาวางศิลาฤกษ์สำหรับมหาวิทยาลัยนี้ เพราะเป็นกิจอันหนึ่งซึ่งเราปรารถนาอยู่นานแล้ว ที่จะยังให้เป็นผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระราชปรารถนามานานแล้วในเรื่องที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้น สำหรับเป็นสถานอุดมศึกษาของชาวสยาม…ตัวเราเป็นรัชทายาท จึ่งรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่งที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตามพระราชประสงค์…เรามีความยินดีที่ได้เห็นการดำเนินล่วงมาได้มากแล้ว ในบัดนี้เราได้วางศิลาฤกษ์ด้วยความหวังที่ได้เห็นแลความดีงามในอนาคตกาลแห่งมหาวิทยาลัยนี้”

ในปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พร้อมกับโอนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไปขึ้นกับกระทรวงธรรมการในวันเดียวกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมมหาวิทยาลัยขึ้นอีกกรมหนึ่ง ขึ้นตรงต่อกระทรวงธรรมการ มีตำแหน่งหัวหน้าเป็นชั้นอธิบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นกับกรมนี้ โดยมี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยเป็นพระองค์แรก และมีพระยาอนุกิจวิทูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนแรก (ต่อมาตำแหน่งนี้เปลี่ยนไปเรียกเป็นอธิการบดี ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 เป็นต้นมา)

28 มีนาคม พ.ศ. 2451 วันคล้ายวันประสูติ ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์’ ผู้ทรงสร้าง ‘ตึกจักรพงษ์’ สถานที่พบปะเรียนรู้-ทำกิจกรรม ในรั้วจุฬาฯ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นพระโอรสพระองค์เดียวในสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กับหม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก (สกุลเดิม เดสนิตสกายา) พระชายาชาวรัสเซีย ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2451 เมื่อเวลา 23.58 น. ที่ห้องแดง ภายในวังปารุสกวัน ถือเป็นบุคคลเดียวที่ถือกำเนิดบนตำหนักวังปารุสกวัน

พระองค์ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จนพระชันษาครบ 13 ปี ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่ โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2466 - 2470 จากนั้นทรงศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่วิทยาลัยตรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้านประวัติศาสตร์ ทรงได้รับปริญญาตรี (ศศ.บ. เกียรตินิยม) เมื่อปี พ.ศ. 2473 และปริญญาโท (ศศ.ม. เกียรตินิยม) นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสนพระทัยในงานประพันธ์และประวัติศาสตร์ ทรงพระนิพนธ์หนังสือไว้ 13 เล่ม โดยเล่มที่สำคัญคือ เกิดวังปารุสก์, เจ้าชีวิต, ดาราทอง, ไทยชนะ

ทั้งนี้ ในปีพุทธศักราช 2475 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เสด็จพระราชดำเนินไปยัง สหราชอาณาจักร เพื่อทรงสำรวจว่า จะทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยใด โดยครั้งนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งตามเสด็จ ได้กราบทูลว่า ต้องการช่วยเหลืออาจารย์และนิสิตจุฬาฯ ให้มีสถานที่พบปะและทำกิจกรรมร่วมกัน 

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จึงพระราชทานคำแนะนำว่า ควรสร้างสโมสรสถาน ให้อาจารย์และนิสิตใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ และเล่นกีฬาในร่ม เพราะช่วงเวลานั้นนิสิตไม่มีอาคารเพื่อทำกิจกรรมดังกล่าว พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ จึงประทานเงินจำนวน 20,000 บาท ให้สร้างขึ้นในปี 2475 และเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระบิดาของพระองค์ ไปในคราวเดียวกัน 

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ตึกจักรพงษ์ได้กลายเป็นสถานที่ให้นิสิตได้รวมตัวใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีการจัดตั้งสโมสรต่าง ๆ ให้นิสิตได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ เรียนรู้การใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับคนอื่น รวมถึงเป็นสถานที่เชื่อมการสมาคมในหมู่อาจารย์ นิสิตเก่า นิสิตใหม่ เข้าหากัน หรือแม้แต่เป็นสถานที่พักอาศัยของเหล่าเด็กกิจกรรม ที่ทำงานกันจนดึกดื่น ไม่ยอมกลับหอพัก 

ดังนั้น ตึกจักรพงษ์เป็นแหล่งรวมความทรงจำดี ๆ มากมาย และตึกจักรพงษ์ไม่เคยเงียบเหงา กลายเป็นสถานที่บ่มเพาะเหล่านักคิด นักทำอย่างแท้จริง และล้วนมีผู้คนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาอยู่เสมอ 

จวบจนเมื่อ พ.ศ. 2528 เมื่อสโมสรย้ายออกไปยังสถานที่แห่งใหม่ ตึกจักรพงษ์จึงได้เปลี่ยนหน้าที่มาเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของทรงคุณค่า และน่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจุฬาฯ ภายใต้ชื่อ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

‘ดร.อานนท์’ ติง!! ‘งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ 67’ ในแง่งานอีเวนต์ ไม่ผ่าน!! ‘ขาดความละเอียดอ่อน-ไร้เอกภาพ’

เมื่อวานนี้ (31 มี.ค. 67) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ ครั้งที่ 75 ปี 2567 โดยระบุว่า…

“งานฟุตบอลยูนิตี้จุฬา ธรรมศาสตร์อะไรนี่ ทางสมาคมนิสิตเก่า สมาคมนักศึกษาเก่าเขาไม่เอาด้วย พวกอบจ กับ อมธ ก็จัดงานกันไป เอาเงินมาจากไหนผมก็ยังงง ปกติ นิสิต นักศึกษา จัดกิจกรรมใหญ่ ๆ ต้องขอเงินรุ่นพี่ศิษย์เก่าทั้งนั้น

“พักเรื่องเงินก่อนนะครับ ผมได้ดูไลฟ์สดการจัดงาน โห พูดไม่ออกบอกไม่ถูกครับ

“ในแง่ของการจัดอีเวนต์ (Event management) คือไม่ผ่านอย่างแรง เละเทะ ไม่มีเอกภาพ ไม่มีธีมอะไรเลย มั่วไปหมด แล้วดูไร้ระดับ ไม่มีคลาส ไม่มีรสนิยมเอาเสียเลย หรือคำว่าดีงามของเรากับของน้อง ๆ จะต่างกันก็ไม่ทราบ

“คือสุนทรียรส กุสุมรส หายไปไหนก็ไม่ทราบ 

“เป็นการจัดงานและขบวนแห่ที่ดูราคาถูก เลอะเทอะมากมายจริง ๆ ครับ”

ผศ.ดร. อานนท์ กล่าวต่อว่า “ได้ดูแป๊บเดียวแล้วถอนหายใจ คือไม่ใช่เรื่องแนวคิดนะครับ เช่น ความหลากหลาย สิทธิเสรีภาพ กระทั่งต่อต้านมาตรา 112 ผมก็คิดว่านำเสนอได้ แต่ฝีมือในการนำเสนอมันไม่ไหวจริง ๆ ลวก ๆ ไม่เรียบร้อย ไร้ฝีมือ ไร้รสนิยม”

“สรุปคือมันเป็นงานหยาบกระด้างขาดความละเอียดอ่อนงดงามในจิตใจของคนจัดงานจริง ๆ นะครับ” ผศ.ดร. อานนท์ ทิ้งท้าย

'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' เผย!! พระเกี้ยวเป็นเครื่องสูง จึงต้องใช้เสลี่ยงอัญเชิญ ชี้!! อย่านำ 'การเมือง-เสรีภาพ' มาเกี่ยว หากไม่เคารพอย่าหลู่เกียรติ

(1 เม.ย.67) นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'ขอตราพระเกี้ยวยั่งยืนยง' ระบุว่า...

นิสิตจุฬาเห็นภาพนี้แล้วรู้สึกอย่างไร
นี่มันคือการเทิดพระเกียรติพระเกี้ยว
หรือนี่มันคือหลู่เกียรติพระเกี้ยว
หากไม่เต็มใจที่จะเทิดพระเกียรติ
ก็ไม่ต้องอัญเชิญพระเกี้ยวออกมา

พระเกี้ยวคือ ของสูง 
เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศา
เป็นเครื่องประดับของพระจุลจอมเกล้าฯ
เป็นสัญญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทาน

เนื่องจากพระเกี้ยวเป็นเครื่องสูง
การอัญเชิญจึงต้องใช้เสลี่ยง
ไม่ใช่เรื่องการเมือง หรือสิทธิเสรีภาพ
ไม่รักไม่เคารพก็อย่าหลู่เกียรติ

นิสิตจุฬาทุกคนต้องมีความภาคภูมิใจ
ในสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
หากไม่รักไม่ภูมิใจ อย่าอยู่เลย 

ขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง
นิสิตประสงค์เป็นธงชัย
ถาวรยศอยู่คู่ไทย เชิดไชย ชโย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top